ไปเยี่ยมกลุ่มเกษตรอินทรีย์


ปลูกปรับผักจีนลงดินปุ๋ยเคมีเป็นอินทรีย์...กับ...ปลูกปรับผักพื้นบ้านไทยลงดินเป็นอินทรีย์

                กลุ่มนี้อยู่ที่ตำบลวังยาว  อำเภอด่านช้าง  จังหวัดสุพรรณบุรี  มีเกษตรกรรวมกันทำสิบกว่าราย  ได้มีการจัดกระบวนการเรียนรู้เกษตรอินทรีย์เป็นเวลานาน  โดยมีโครงการในเรื่องการบ่มเพาะนวัตกรรม ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดย อาจารย์บำเพ็ญ  เขียวหวาน  และคณะ  และมีเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นเลขานุการศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล คือ  คุณยุทธศิลป์      ทวีสุข  เป็นชุดของการทำงานในลักษณะนี้           

                ซึ่งถ้าวิเคราะห์ตัวกลุ่มแล้วในขณะนี้ก็จะเป็นในเรื่องของการกำหนด    ตัวชนิดสินค้าที่จะทำงานเพื่อให้เกิดตัวรายได้  การจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเกษตรกรในเรื่องที่จะพัฒนาเกษตรกรให้รู้จักการคิด  ทดสอบในการปฏิบัติ  จนถึงขั้นของการค้นหาตัวความรู้ในการทำงาน  สิ่งที่พบก็คือ  เกษตรกรในกลุ่มนี้ได้พัฒนาจิตสำนึก  ได้พัฒนาความคิดความมั่นใจมั่นคงในเรื่องของเกษตรอินทรีย์ค่อนข้างจะสูงมาก  โดยยอมรับและเชื่อมั่นว่า เกษตรอินทรีย์เป็นวิถีทางที่จะทำให้เขาดำรงชีวิตอยู่ได้  โดยมีคำพูดของเกษตรกรบางคนน่าคิดและน่าตัดสินใจมากว่า ในอดีตเคยทำในเรื่องเคมีมา...ทำอย่างเต็มที่...ทำอย่างเชิงปริมาณค่อนข้างมาก  แต่สิ่งที่พบก็คือว่า...ไม่รวย...แต่ในขณะเดียวกันก็ได้กลับมาทำเกษตรอินทรีย์...ทำอย่างเต็มที่ สิ่งที่ค้นพบมาก็คือว่า...ยังไม่รวย  ฉะนั้น  ทั้งเกษตรอินทรีย์และเกษตรเคมี เกษตรกรคนนี้ก็ตอบว่า ก็ยังไม่รวยอยู่ดี               

                 ฉะนั้น  จึงชวนเขามามองอีกมิติหนึ่งว่า แล้วเกษตรเคมีนอกจากเราไม่รวยแล้ว...ทำอะไรอีก?...เป็นอะไรอีก?  ก็พบว่า เขายังมีหนี้อีก  แต่เกษตรอินทรีย์ เมื่อมาคิด มาวิเคราะห์แล้วเขาบอกว่า หนี้มันไม่มี...หนี้มันน้อยลงอีก     นี่คือมิติที่สอง  ส่วนมิติที่สาม นั้นเป็นเรื่องสุขภาพ เขาก็พบว่า สุขภาพเขาดีขึ้น  อันนี้คือสิ่งที่เป็น กรอบคิดใหม่ของเกษตรกร" ที่ได้รับการจัดกระบวนการเรียนรู้ว่า...การทำงานในเรื่องเกษตรอินทรีย์นั้น ประการที่ ๑ คือ เรื่องสุขภาพ ๆ เขาจะดีขึ้น  ประการที่ ๒ ในเรื่องค่าใช้จ่าย  เขาจะมีความจำเป็นที่ต้องใช้เงินในการลงทุนน้อยลง  และบทสรุปของกลุ่มก็คือว่า...ในขณะนี้...เขาก็ไม่มีรายได้พอที่จะใช้เพื่อการอย่างอื่น มิได้ใช้เพื่อการยังชีพ  เช่น  การส่งลูกเรียนก็ตาม  การสร้างบ้านพักก็ตาม  พูดง่าย ๆ ก็คือ ไม่มีเงินสด               

              ทีนี้ก็มาลองวิเคราะห์ว่า ตัวสินค้าที่กลุ่มเขาทำอยู่เนี่ย...ซึ่งพยายามทำอินทรีย์ให้ได้...มันเกิดจากอะไร?  ปรากฎว่า...มันก็เกิดมาจากคำว่า ตลาด  โดยตลาดนำเข้ามาว่า ตลาดต้องการกินผักคะน้าที่เป็นผักอินทรีย์...ต้องการกินมะเขือที่เป็นอินทรีย์...ต้องการกินผักหลาย ๆ ตัวที่เป็นอินทรีย์  แต่ในขณะเดียวกัน  เกษตรกรในขณะนั้นก็ไม่ได้คิดว่า...สิ่งที่เขากำลังทำอยู่นั้น...ไม่ว่า...ผักกวางตุ้ง    ผักคะน้า  หรือผักอะไรก็ตาม...มันเป็นผักที่ถูกผลิตขึ้นมา หรือถูกค้นหาพันธุ์ขึ้นมา หรือถูกพัฒนาขึ้นมา โดยภายใต้วิธีคิดในเชิงของเกษตรเคมี  ฉะนั้น เมื่อมาปรับผักเหล่านั้นให้เป็นเกษตรอินทรีย์...มันจึงเป็นสิ่งที่ยากมาก  ทำอย่างไรก็ยาก  ยิ่งในระยะเริ่มต้นนั้น...ดินของเราก็ขาดความอุดมสมบูรณ์แล้ว...จะทำให้ผักคะน้ามีความอุดมสมบูรณ์  งดงามเหมือนปลูกในเชิงเคมียิ่งเป็นไปไม่ได้ใหญ่                ฉะนั้น  จึงตั้งคำถามกับเกษตรกรใหม่ว่า ถ้ามันเป็นอย่างนั้นนะ...เราก็อยู่ไม่รอด เพราะเราก็รู้อยู่ว่า...ผักพวกนี้ปลูกในเชิงลักษณะอินทรีย์...อย่างน้อยที่สุดมันก็พยายามเติบโตไม่ได้  อย่างน้อยที่สุดมันก็ไม่มีความต้านทานเรื่องโรคแมลง  เลยถามเขาว่า มันมีผักในบ้านเรามั้ย? ที่เรารู้จักกิน...แต่คนอื่นยังไม่รู้จักกิน...แต่มันสามารถอยู่รอดในระบบธรรมชาติได้?  เกษตรกรก็ตอบว่า มันมี...มีเยอะด้วย  ซึ่งถ้าจัดอยู่ร่วมกับโครงการการเลี้ยงสัตว์ในเกษตรอินทรีย์ ในบ้านเรามีผักที่จะกินได้อยู่ร่วมกว่า ๕๐ ๖๐ ชนิด  ฉะนั้น จึงบอกว่า ถ้ามันมีอยู่แล้ว...มีข้อมูลอยู่แล้ว...ลองคิดซิ...มีสักตัวใดตัวหนึ่งมั้ย? ที่เราจะยกขึ้นมาเป็นพืชเศรษฐกิจของบ้านเราว่า...คนทั่วไปกินได้  เราสามารถดึงออกมาจากธรรมชาติ...แล้วก็มาทำในเชิงของการเพาะปลูกได้...ชาวบ้านคนหนึ่งก็ยกตัวอย่างเช่น  ผักกูด...บ้านเรามีเยอะมาก  แล้วก็ถามเขาต่อว่า เอ๊ะ...แล้วทำไมเราไม่เอาผักกูด...มาเป็นตัวสินค้าเราละ? เพราะมันมีอยู่แล้วในธรรมชาติ  คำตอบก็คือว่า ผักกูดมันมีแค่ประมาณ ๒ เดือน...หลังจากเมื่อน้ำในลำธารแห้ง...ผักกูดก็จะหายลง  ก็จะหายไปเพราะการเจริญเติบโตไม่ได้  ก็ถามต่อว่า แล้วผักกูดที่ว่า...มันอยู่ในลำธารนั้น...มีคนบ้านเรา...เอามาปลูกที่บ้านเพื่อกินบ้างมั้ย?  คำตอบก็คือ มี...เพื่อปลูกไว้กิน  ฉะนั้น ก็ถามต่อว่า งั้น...สรุปแล้ว...ไอ้ผักกูดนี้...นอกจากมันขึ้นในธรรมชาติแล้ว...เราสามารถเอาเข้ามาสู่ระบบการจัดการทางด้านการเกษตรได้มั้ย? อย่างเช่น  เรามาปลูกซะ...เรามาดูแลรักษาซะ...เป็นไปได้มั้ย?  คำตอบก็คือ เป็นไปได้  แล้วจึงถามต่อว่า แล้วมันยากกว่าผักจีนมั้ย?  ก็บอกว่า มันง่ายกว่า  ถามว่า มันง่ายกว่ายังงัย?  ก็ตอบว่า ผักกูดตัวนี้...ถ้าเกิดว่า...สามารถให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ  การให้อินทรีย์วัตถุที่มีความเหมาะสมสมบูรณ์...มันก็ไม่ต้องฉีดยา  มันก็จะเจริญเติบโต...สามารถเก็บเกี่ยวได้ทุกวัน  เราก็บอก สรุปว่า...ผักตัวนี้เป็นไปได้มั้ย? ที่จะเหมาะจะเป็นผักเศรษฐกิจ  คนกินเป็นมั้ย?  ก็บอกว่า...คนกินเป็น   แล้วก็มีคนอีกคนหนึ่งก็ตอบว่า มันมีผักอีกตัวหนึ่ง...ผมเป็นคนใต้แถวบ้านผมเรียกว่า...ผักกาดนกเขา...เป็นผักที่คนใต้นิยมกินกันมาก  เป็นผักที่ค่อนข้างแพง  กิโลหนึ่งประมาณเกือบจะร้อย ๆ บาท...ผักชนิดนี้มันมากลายเป็นวัชพืชในแปลงหน่อไม้ฝรั่ง  แล้วก็ถามว่า อย่างนี้มันใช่มั้ย? ถ้าเกิดผักที่มันขึ้นอยู่ที่นี่...มันก็ใช่                 

                 ฉะนั้น  เราก็จะเห็นได้ว่า ผักบ้านเรา ๆ เราก็สามารถทำเป็นผักในลักษณะเกษตรอินทรีย์ได้  คนอีกคนก็ถามว่า แล้วเราจะเอาไปขายที่ไหนกันละ? เพราะผักพวกนี้คนไม่รู้จักว่า...เป็นผักอะไร  คนอีกคนก็ตอบว่า คนกรุงเทพฯ จริง ๆ แล้ว ไม่ใช่คนกรุงเทพฯ...คนกรุงเทพฯ มาจากภาคเหนือก็มี  มาจากภาคใต้ก็มี  มาจากภาคอีสานก็มี...ฉะนั้น  ความรู้หรือประสบการณ์ในการกินผักเขาย่อมรู้จักมาจากพื้นที่  เพียงแต่ว่า...ในขณะนี้ในกรุงเทพฯ ไม่มีกินเท่านั้นเอง  สรุปแล้ว  กลุ่มนี้ก็เลยตัดสินใจว่า...ฉะนั้น  เรามาช่วยกันค้นหาผักพื้นบ้านบ้านเราดีกว่า...แล้วก็มองดูว่า...ผักตัวไหนที่สามารถยกระดับขึ้นมาเป็นผักแบบเศรษฐกิจ  แล้วก็สามารถสร้างเป็นเอกลักษณ์ของบ้านเราว่า...ผักบ้านเรานั้นจะประกอบไปด้วย...ผักกูดนะ  ผักนั้นนะ ๆ ๆ ๆ แล้วก็ไปนำขึ้นขายในตลาดในกรุงเทพฯ เพื่อพัฒนาเกษตรอินทรีย์  โดยใช้สิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติกลับมาสู่การเชื่อมด้วยระบบวิธีคิดในเชิงของเศรษฐกิจ...ออกมาเป็น สินค้าหลัก ของตำบลวังยาว.

หมายเลขบันทึก: 42237เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2006 08:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 17:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท