การเรียนรู้แบบการคิดเชิงมโนทัศน์และการคิดอย่างเป็นระบบ : สอนและหาบทเรียนกับบัณฑิตศึกษาเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร


เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา หลักสูตรปริญญาโทสาขาเทคโนโลยีการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตทับแก้ว ได้ขอให้ผมไปสอนแก่นักศึกษาในเรื่อง แผนภาพการคิดสำหรับการพัฒนาการเชิงระบบและการคิดเชิงมโนทัศน์วิชา Instructional Design and Curriculum Development ซึ่งเป็นวิชาพื้นฐานวิชาหนึ่งของการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาในภาคทฤษฎีปีแรก เนื้อหาการเรียนรู้และกระบวนการพานักศึกษาเข้าถึงประสบการณ์และได้การเรียนรู้ดังกล่าวในรายละเอียดอยู่ในสื่อพาวเวอร์พ๊อยต์ที่ผมได้ออนไลน์ให้แก่นักศึกษาและเผยแพร่ให้ผู้สนใจด้วย

คุณลักษณะสำคัญของการเรียนรู้แบบการคิดเชิงมโนทัศน์

การคิดเชิงมโนทัศน์เป็นการเรียนรู้เชิงนามธรรมและเป็นการให้บทสรุปแก่ตนเองและมีความจำเพาะตนแตกต่างหลากหลายไปตามพื้นประสบการณ์ของแต่ละคน จึงต้องเกิดจากความสามารถสังเคราะห์และให้บทสรุปในเรื่องเดียวกันจากการมีประสบการณ์หลายๆชุดและหลากหลายบริบทที่สุด อีกทั้งเป็นการเรียนรู้ที่ต้องเกิดขึ้นตลอดชีวิต ไม่สามารถสอนให้จำและให้คำตอบอย่างเบ็ดเสร็จ ดังนั้น การเรียนรู้การนำเอาแผนภาพการคิดมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาแบบการคิดเชิงระบบและการคิดเชิงมโนทัศน์ นอกจากโดยตัวของแผนภาพการคิดจะเป็นเครื่องมือและวิธีการอย่างง่ายในการทำงานความคิด ระดมสมอง วางแผน และเป็นวิธีบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมของการทำงานเป็นกลุ่มแบบต่างๆแล้ว ก็สามารถนำมาทำให้เป็นกระบวนการเรียนรู้กระบวนการคิดเชิงมโนทัศน์และการคิดอย่างเป็นระบบได้อย่างสอดคล้องกับชนิดของการเรียนรู้

นอกจากนี้ ก็สามารถออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนและกลุ่มผู้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการทำงานใช้เป็นวิธีสร้างประสบการณ์ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง สร้างปฏิสัมพันธ์แนวราบระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนและภายในหมู่ผู้เรียน รวมทั้งเป็นวิธีที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเรียนการสอนอย่างยืดหยุ่น ผสมผสาน ให้ทักษะคนและกระบวนการเรียนรู้ โดดเด่นเป็นศูนย์กลาง

บทบาทและความสำคัญต่อการพัฒนาการเรียนรู้และการปฏิรูปการเรียนรู้ของสังคม

ผู้ที่ศึกษาเรียนรู้ทางด้านเทคโนโลยีการศึกษา รวมทั้งในสาขาศึกษาศาสตร์และการพัฒนาการเรียนรู้ทุกแขนงย่อมทราบเป็นอย่างดีว่า การเรียนรู้และก่อเกิดมโนทัศน์ต่อสิ่งต่างๆนั้น เป็นคุณลักษณะและองค์ประกอบพื้นฐานของทักษะการเรียนรู้ในทุกด้านและในทุกลำดับขั้นของการเรียนรู้ นับแต่ความรู้ความจำ ความเข้าใจ ทักษะปัญญาและกระบวนการคิด การเรียนรู้ทักษะปฏิบัติและความซาบซึ้ง การเรียนรู้หลักการ การเรียนรู้กฏ การพัฒนาทัศนคติ เจตคติ การประเมินและให้คุณค่า ตลอดจนการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ในวิธีคิดของวิถีแห่งมรรคแปดก็ถือเอาการทำความคิดและความเห็นให้เป็นสัมมา เป็นองค์ประกอบที่อยู่ในวิถีปฏิบัติของมรรคทั้งแปด กระบวนการคิดและกระบวนการเรียนรู้เพื่อเกิดมโนทัศน์ในสิ่งต่างๆ จึงเป็นเหมือนซอล์ฟแวร์กำกับการทำงานและการดำเนินชีวิตให้บรรลุผลโดยเกิดความงอกงามทางสติปัญญาและจิตใจไปด้วย

ต้นทุนและข้อจำกัดกับการออกแบบดำเนินการให้เหมาะสม

แต่ผมก็มีเวลาเพื่อที่จะให้ประสบการณ์และทำให้นักศึกษาได้บทเรียนเกี่ยวกับเรื่องนี้เพียงสองชั่วโมงเศษ ซึ่งเป็นการยากที่จะทำให้ผู้เรียนก้าวเดินเข้าไปรู้จักและสามารถได้ทักษะปฏิบัติติดตัวไปได้ด้วยตนเองอย่างเหมาะสม จึงออกแบบและวางแผนแบบยืดหยุ่นหลากหลายเพื่อให้นักศึกษาได้ประสบการณ์ตรง พร้อมกับมีสภาพแวดล้อมเพื่อเสริมการเรียนรู้ให้ตามความต้องการและตามประสบการณ์ที่ตนเองได้รับ

กระบวนการและกิจกรรมการปฏิบัติเพื่อเรียนรู้

ผมได้ออกแบบและจัดกระบวนการเพื่อให้นักศึกษาได้ประสบการณ์และเกิดการเรียนรู้ระดับพอเข้าใจ ทำได้ และเห็นนัยสำคัญสำหรับนำไปศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองต่อไปในอนาคต โดยให้ได้ประสบการณ์และก่อเกิดพัฒนาการอย่างเป็นลำดับขั้นและมีความเชื่อมโยงกันเองอย่างเป็นระบบภายใน ๒-๓ ชั่วโมง ประกอบด้วย

  • บรรยาย นำเสนอพาวเวอร์พ๊อยต์ แนะนำเอกสารและสื่อออนไลน์ที่จัดเตรียมให้ : ให้การเตรียมวิธีคิดและสร้างพื้นฐานความพร้อมเพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นกลุ่ม
  • กิจกรรมปฏิบัติรายบุคคลชิ้นงานที่ ๑ : การให้ประสบการณ์ตรงเพื่อสร้างบทเรียนและได้หยั่งจากประสบการณ์เพื่อตระหนักรู้ด้วยตนเองอย่างลึกซึ้ง
  • ศึกษาเรียนรู้ผู้เรียนและจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสม : เนื้อหาการนำเสนอและข้อมูลที่ให้นักศึกษาทำกิจกรรมการเรียนรู้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับตนเองของนักศึกษา ดังนั้น นอกจากตัวกิจกรรมจะเป็นกระบวนการเรียนรู้อยู่ในตนเองแล้ว การนำเสนอผลงานของนักศึกษาก็จะเป็นช่วงที่ผู้สอนเพิ่มบทบาทเป็นผู้เรียนรู้ ทำให้สามารถประเมินพื้นฐานและได้รู้จักความเป็นตัวของตัวเองของผู้เรียน ได้สำรวจความพร้อม ความสนใจ สไตล์การทำงานและเรียนรู้ และตั้งสมมุติฐานในใจเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ทั้งระดับกลุ่มและรายบุคคลให้แก่นักศึกษาได้ในระยะเวลาสั้นๆและมีความเป็นธรรมชาติ
  • กิจกรรมปฏิบัติรายบุคคลชิ้นงานที่ ๒ : การให้ประสบการณ์เพื่อสะท้อนผลการเรียนรู้ นำเอาบทเรียนจากการได้สัมผัสจากกิจกรรมการเรียนรู้ครั้งแรกผสมผสานกับทุกสิ่งที่มีติดตัวอยู่แต่เดิม มาปฏิบัติอีกครั้งเพื่อศึกษาการปรับปรุงและพัฒนาตนเองอย่างบูรณาการ
  • การนำเสนอ อภิปราย สังเคราะห์บทเรียน ๒ รอบ
  • การเสริมทฤษฎีและประเด็นที่มีนัยสำคัญต่อสังคมแห่งการเรียนรู้

วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือและวิธีการเพื่อการเรียนรู้

  • กระดาษปรู๊ฟแผ่นใหญ่คนละ ๓ แผ่น และสำหรับผู้สอน ๓ แผ่น
  • ปากกาปากสักหลาดสีสันหลากหลายชุดละ ๒-๓ สีคนละ ๑ ชุด
  • เทปกาวสำหรับติดตั้งผลงานกับผนัง
  • เครื่องฉายภาพดิจิตัล LCD
  • คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค

เอกสารและสื่อประกอบการสอนและกระบวนการฝึกฝนเพื่อเรียนรู้

การประเมินและสะท้อนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความก้าวหน้าทางประสบการณ์

  • ประเมินผลรวมประสบการณ์ทั้งมวล : ประเมินผลแบบสังเคราะห์และสะท้อนบทเรียน Synthesis Evaluation Through Works and Presentation โดยดูจากผลงานรายบุคคลและการนำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้สองครั้ง ก่อนการเรียนรู้และได้แนวคิด และหลังจากถอดบทเรียนตนเองเพื่อปรับปรุงและพัฒนาบนฐานประสบการณ์ตนเอง
  • ประเมินทักษะปฏิบัติอย่างเป็นองค์รวมจากผลงาน : สังเกตดูการแสดงผลของชิ้นงานและพัฒนาการที่เกิดขึ้นทางด้านต่างๆของการปฏิบัติกิจกรรมเพื่อพัฒนาการเรียนรู้สองครั้งในระยะห่างกันประมาณ ๔๐ นาที ครอบคลุมองค์ประกอบด้านความครอบคลุมระบบวิธีคิด แบบแผนการคิด เนื้อหาการคิด ความสวยงามและสื่อสะท้อนความรู้สึกนึกคิด ความง่าย ความสามารถช่วยการสื่อสารและเรียนรู้ การใช้ทรัพยากร กระดาษา และการบริหารจัดการตนเองในฐานะสื่อบุคคล
  • ประเมินความรู้ ความคิด ความเข้าใจ และทักษะการแสดงผลการเรียนรู้ : สังเกตดูการพูดอธิบาย บุคลิกภาพการแสดงออก การถ่ายทอด การนำเสนอ ความเชื่อมั่น ความประสานกลมกลืน ความเป็นลำดับ ความเชื่อมโยง และความสามารถในการอธิบายแจกจงเพื่อสื่อสารเรียนรู้

กิจกรรมและการดำเนินการ

การให้ทำกิจกรรมเพื่อสร้างประสบการณ์พื้นฐานขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยใช้ความรู้ ความเข้าใจ และวิธีที่คุ้นเคยอย่างทั่วไปมาเป็นวิธีทำงาน โจทย์และกิจกรรมสำหรับสร้างประสบการณ์เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวที่สุดคือให้เขียนแผนภาพเพื่อแสดงตนเองโดยสรุปความเป็นตนเองออกมาเป็นแนวคิด การวาดรูป และการใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ตามที่ต้องการ ที่คิดว่าจะสามารถสื่อแสดงตนเองและบอกเล่าเกี่ยวกับตนเอง ให้ผู้อื่นสามารถเดินเข้าไปรู้จักได้ดีที่สุด ให้เวลา ๑๕ นาทีและเขียนเป็นภาพบนกระดาษพับครึ่งแผ่นใหญ่ นักศึกษาทำกิจกรรมอย่างจริงจัง ตั้งอกตั้งใจ

การนำเสนอและอภิปรายรอบแรก

เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงจัดให้นักศึกษาแต่ละคนยืนนำเสนอและพูดเกี่ยวกับตนเองโดยใช้แผนภาพที่วาดขึ้นอย่างพิถีพิถันและนำเสนอคนละ ๓-๕ นาที นับว่าใช้เวลากระชับแต่ก็ครอบคลุมประสบการณ์ที่ต้องการให้แก่นักศึกษาได้เป็นจำนวนมาก ทดแทนการบรรยายที่อาจจะต้องใช้เวลาต่อเนื่อง ๑-๒ วันได้ดีพอสมควร

นักศึกษาให้ข้อสรุปและอธิบายประสบการณ์ที่ได้รับครอบคลุมหลายแง่มุม จัดว่าเป็นการเรียนรู้ที่สร้างขึ้นได้ภายในตนเองของแต่ละคน ขณะเดียวกัน ก็เป็นประสบการณ์ตรงที่เหนือความสามารถอธิบายให้เบ็ดเสร็จได้ แต่ก็เป็นชุดบทเรียนที่นักศึกษาสามารถสัมผัส สอนตนเองและเกิดความตระหนักรู้ได้ด้วยตนเองว่าธรรมชาติของสิ่งที่เป็นการเรียนรู้และก่อเกิดมโนทัศน์นั้น มีกระบวนการและคุณลักษณะจำเพาะอย่างไร ซึ่งทำให้การนำเสนอบทเรียนของนักศึกษามีพลังต่อการได้เรียนรู้ไปด้วยกัน อีกทั้งเห็นหัวข้อเพื่อใช้เปิดประเด็นการอภิปรายร่วมกันในภายหลังต่อไปได้ดีขึ้น นักศึกษาได้เห็นบทบาทตนเองที่มากกว่าการเป็นผู้นั่งรับการถ่ายทอดจากผู้อื่นฝ่ายเดียว

นอกจากนี้ ก็สามารถเห็นได้จากผลงาน รวมทั้งได้ใช้ประสบการณ์ตรงและผลงานที่มองเห็นได้ มาเป็นเครื่องมืออภิปรายสร้างกระบวนการคิด สร้างความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนค้นพบคำตอบและให้ความกระจ่างแก่ตนเองว่าแผนภาพการคิดจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ได้อย่างไร เช่น ข้อดีคือสามารถคิดให้ชัดแจ้งและลำดับความสำคัญของตนเองได้อย่างเป็นระบบ ส่วนข้อจำกัดคือ ใช้พื้นที่กระดาษทำงานความคิดได้ไม่เพียงพอกับที่ต้องการ และไม่สามารถสื่อสะท้อนให้เห็นระบบวิธีคิดได้บนภาพความคิดที่วาดลงไปบนกระดาษ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผุดประเด็นและเกิดข้อสรุปขึ้นจากการเรียนรู้จากประสบการณ์ของกลุ่มนักศึกษาเอง

ระหว่างที่นักศึกษานำเสนอและอภิปราย ผมได้บันทึกและสรุปเป็นภาพวาดลงบนกระดาษแผ่นใหญ่ได้ ๑ แผ่นเพื่อทำเป็นสื่อการเรียนการสอนจากสถานการณ์จริงของเราและจะใช้ประกอบการอภิปรายกันในภายหลัง หลังการทำงานและนำเสนอในรอบที่สองของนักศึกษา

จากนั้น จึงใช้บทเรียนและความมีประสบการณ์ในรอบแรกนี้ อภิปรายและเรียนรู้ในเชิงทฤษฎีเกี่ยวกับประเด็นแนวคิด ความรู้ความเข้าใจ และวิธีทำงานต่างๆ อธิบายให้รู้จักการเรียนรู้แบบมโนทัศน์ การสร้างความคิดรวบยอด ทฤษฎีการเรียนรู้และกระบวนการเรียนรู้ในแนวทางที่แตกต่างหลากหลาย สาระสำคัญภายใต้การออกแบบและจัดกระบวนการเรียนรู้ แล้วจึงให้ทำงานในรอบที่สองโดยใช้เวลามากกว่าเดิมเป็นคนละ ๒๐ นาที

การทำงานเพื่อพัฒนาปรับปรุงและนำเสนอรอบที่สอง

ผู้สอนให้นักศึกษาเลือกเอาบางประเด็นจากรอบแรกมาคิดวิเคราะห์และนำเสนออย่างเป็นระบบ ให้เห็นวิธีคิด มโนทัศน์ และความเชื่อมโยงกันในมิติต่างๆ โดยเลือกทำเชิงลึกในบางหัวข้อ และขอเจาะจงให้นักศึกษา ๑ คนวิเคราะห์ความคิดและการวางแผนเพื่อไปศึกษาหรือหาประสบการณ์ชีวิตที่ประเทศฝรั่งเศสซึ่งเป็นความสนใจที่ผุดขึ้นจากการทำงานในรอบแรกและทำได้ดีแล้วมาทำกิจกรรมต่อไปอีก เพื่อเป็นตัวอย่างสาธิตให้เห็นความหลากหลายไปในตัวของการใช้กระบวนการคิดทำงานวางแผนเพื่อจุดหมายต่างๆที่ต้องการ

ระหว่างการทำงานในรอบที่สองนี้ ผมใช้วิธีแบบ Coaching และ Mentorship คอยกำกับจังหวะและเป็นพี่เลี้ยง พาทำและชี้ให้เห็นข้อปรับปรุงไปตามเงื่อนและข้อเด่นของตนเองเป็นรายบุคคล บรรยากาศเป็นการทำงานด้วยกัน แลกเปลี่ยนความคิดและวัสดุเครื่องใช้เพื่อให้ได้งานอย่างที่ต้องการเต็มที่

ภาพบนเป็นผลงานที่หาประสบการณ์จากการปฏิบัติกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ในรอบแรก และล่างผลงานของนักศึกษาจากการทำงานความคิดและนำเสนอในรอบที่สอง จะเห็นได้ว่าสามารถเห็นผังการคิด แบบแผนการคิด รวมทั้งความสามารถทำมโนภาพให้ปรากฏเป็นภาพวาดที่เป็นระบบ มีภาษาของการเห็นและความเชื่อมโยงมิติต่างๆอย่างเป็นระบบดีกว่าวิธีคิดและการทำงานความคิดที่เคยทำมาแต่เดิมจากการทำงานในรอบแรกได้อย่างชัดเจน

เมื่อนำเอาผลงานของนักศึกษา ติดผนังและเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างของผลการทำงานในรอบแรกกับผลการทำงานที่หลังจากถอดบทเรียนตนเองในรอบแรกแล้วทดลองทำอีกครั้ง พร้อมทั้งอภิปรายและเรียนรู้อย่างกว้างขวางแล้ว ก็เห็นถึงความแตกต่างของทักษะและพัฒนาการในทุกด้านของนักศึกษา ทั้งการพูด แสดงความคิด การอธิบายผ่านการนำเสนอผลงาน ตอลดจนการมีความเชื่อมั่น และมีความสามารถในการคิดอย่างเชื่อมโยง

นักศึกษาใช้เวลาพูดและนำเสนอคนละไม่ถึง ๕ นาทีแต่ต่างก็สะท้อนการเรียนรู้ของตนเองว่าทำได้ดีกว่าในรอบแรก การวาดระบบวิธีคิดออกมาเป็นรูปและสามารถอธิบายแจกแจงได้ด้วยตนเอง เป็นเครื่องบ่งชี้การเรียนรู้แบบการคิดเชิงมโนทัศน์ของตนเองได้เป็นอย่างดี 

จากนั้น จึงจัดโอกาสให้ร่วมกันสรุปและอภิปรายเพื่อทำการเรียนรู้ให้มีความรอบด้าน แล้วถ่ายภาพกับผลงานตนเอง ผลงานที่ทำได้อย่างดี และการนำเสนอความคิดต่อประเด็นที่นำมาวิเคราะห์เป็นกรณีศึกษาได้อย่างเป็นระบบ แสดงให้เห็นผลการเรียนรู้อย่างบูรณาการที่เกิดขึ้นของนักศึกษาและได้ข้อสรุปด้วยตนเองผ่านประสบการณ์ตรงของทุกคน

สรุปบทเรียนและการเรียนรู้

พิจารณาจากการสะท้อนระบบวิธีคิด นักศึกษาทั้ง ๔ คนต่างมีแบบแผนการคิดและมโนทัศน์ต่อสถานการณ์ที่หยิบยกให้เป็นกรณีศึกษาเพื่อการเรียนรู้ ในทิศทางที่แตกต่างกัน กล่าวคือ มุ่งบรรลุจุดหมายในการยกระดับการพัฒนาด้านในของตนเอง ๑ คน มุ่งการเรียนรู้และแสวงหาความเป็นตัวของตัวเอง ๑ คน มุ่งการทำงานและดำเนินชีวิตในแนวทางการอุทิศตนต่อสังคม ๑ คน มุ่งทำงานสร้างสรรค์และได้ใช้ศักยภาพของตนเองเพื่อสร้างความสุขให้แก่ผู้อื่น ๑ คน ซึ่งกล่าวได้ว่า กระบวนการเรียนรู้แบบการคิดเชิงมโนทัศน์นั้น มีความเชื่อมโยงกับความแตกต่างระหว่างบุคคลและสะท้อนภาวะปัจเจกภาพได้อย่างใกล้ชิด

การสะท้อนบทเรียนของนักศึกษา พบว่ากระบวนการเรียนรู้แบบการคิดเชิงโนทัศน์โดยใช้แผนภาพการคิดและกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้สอนจัดให้ ก่อให้เกิดประสบการณ์และการพัฒนาทักษะทางด้านต่างๆแก่กลุ่มนักศึกษาหลายประการด้วยกัน ที่สำคัญคือ

  • เข้าใจทักษะการเรียนรู้เชิงมโนทัศน์ได้ดีขึ้น
  • ทำให้คิดใคร่ครวญอย่างเป็นระบบ ครอบคลุม เชื่อมโยง และรอบด้าน
  • สามารถลำดับความสำคัญได้อย่างมีเหตุผลมากขึ้น
  • ช่วยการนำเสนอ ถ่ายทอด และอธิบายแจกแจงสิ่งที่เกิดจากประสบการณ์ได้อย่างเป็นระบบ ซับซ้อน ต่อเนื่อง ซึ่งช่วยส่งเสริมบทบาทความเป็นนักวิชาการด้านการศึกษาและนักเทคโนโลยีการศึกษาได้ดีขึ้น
  • ในด้านผู้เรียน ก็ช่วยให้สามรถเห็นภาพระบบคิดและช่วยในการจำได้ดีขึ้น

ปัจจัยและองค์ประกอบที่ส่งเสริมการเรียนรู้ให้นักศึกษาสามารถบรรลุผลการเรียนรู้ตามที่ต้องการได้ดีพอสมควรโดยพิจารณาจากผลการปฏิบัติและนำเสนออธิบายแจกแจงด้วยความเข้าใจ ที่สำคัญคือ

  • กระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์และกิจกรรมการปฏิบัติเป็นรายบุคคล
  • การถอดบทเรียนและให้ประสบการณ์ตรงเป็นครูแก่ตนเองไปด้วย
  • การทบทวนและปฏิบัติการซ้ำเพื่อใช้ความรู้ซึ่งทำให้เกิดความชำนาญและสามารถปรับปรุงตนเองได้อย่างมีหลักเกณฑ์
  • การใช้สื่อและเทคโนโลยีการศึกษาผสมผสานและมีความยืดหยุ่นหลากหลายโดยเน้นความโดดเด่นของสื่อบุคคลกับความเป็นศูนย์กลางของผู้เรียน
  • การจัดสภาพแวดล้อมและทรัพยากรสนับสนุนที่เอื้อต่อการคิดและแสดงออกทางการปฏิบัติอย่างเหมาะสม

นักศึกษามีข้อจำกัดเกี่ยวกับทฤษฎีและความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกระบวนการทางการศึกษา ทฤษฎีการเรียนรู้และจิตวิทยาการเรียนการสอน โดยเฉพาะพื้นฐานที่เกี่ยวกับชนิดการเรียนรู้แบบการคิดเชิงมโนทัศน์ อันได้แก่ทฤษฎีเกี่ยวกับชนิดและลำดับขั้นของการเรียนรู้ตามแนวทรรศนะต่างๆ ทำให้มีข้อจำกัดในการสร้างความรู้ด้วยการถกอภิปรายกันเชิงวิชาการ ซึ่งอาจจะเกิดจากพื้นฐานการศึกษาในขั้นปริญญาตรีที่แตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อจัดเวลาให้พื้นฐานความเข้าใจอย่างเหมาะสม ความหลากหลายทางประสบการณ์และพื้นฐานทางการศึกษาดังกล่าวก็กลายเป็นจุดแข็งอยู่ในตัว โดยมีส่วนอย่างสำคัญในการทำให้ทรรศนะของนักศึกษามีความหลากหลาย รวมทั้งขยายกรอบและพรมแดนทางความรู้ในการเห็นความเป็นจริงที่กว้างขวางมาก

ดังนั้น การให้ประสบการณ์ชุดหนึ่งร่วมกันก่อนเพื่อเป็นพื้นฐานการเข้าสู่การเรียนรู้สิ่งใหม่ไปด้วยกัน จึงย่อมมีความสำคัญต่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นสอดคล้องกับกลุ่มผู้เรียนในยุคปัจจุบันที่มักจะมีคุณลักษณะที่หลากหลายดังกลุ่มนักศึกษาในครั้งนี้.

หมายเลขบันทึก: 421018เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2011 09:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2013 08:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

กลุ่มเมฆและลีลาของต้นไม้กับกิ่งไม้ก็สวยมากเลยนะครับ

  • เป็นการเรียนรู้ที่ทรงพลังมาก
  • ถ้าครั้งหน้าอาจารย์มาแถวศิลปากรบอกบ้างนะครับ
  • วันก่อนท่าน ผศ. ดร.สุเทพ โทรศัพท์มาเรื่องนักศึกษาปริญญาโทเหมือนกัน
  • มีนักศึกษาทั้งหมด 4 ท่านใช่ไหมครับ
  • ดีจังเลยนักศึกษาได้ฝึกกระบวนการคิด การบรรยาย การออกแบบแผนผังมโนทัศน์
  • ขอบคุณครับที่แบ่งปัน

ทราบว่านักศึกษาทั้งกลุ่มมี ๗ คนครับ แต่ว่ามาเข้าเรียนกัน ๔ คน และอีกท่านหนึ่งที่เห็นในภาพคือรองศาสตราจารย์สมหญิง เจริญจิตรกรรม อดีตหัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีการศึกษาและเป็นเจ้าของวิชาครับ อันที่จริงท่านชวนให้ผมได้มีโอกาสไปสอนและแลกเปลี่ยนแบ่งปันกับนักศึกษาของท่านในหัวข้อนี้และอีกหลายหัวข้อทั้งในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกอยู่ทุกปีแหละครับ เป็นโอกาสให้ผมยังได้ผูกพันอยู่กับวงการนักเทคโนและได้ใช้วิชาความรู้ของครูอาจารย์ในสาขานี้บวกกับประสบการณ์การทำงานมาถ่ายทอดสู่การสร้างคนรุ่นใหม่ๆที่ดีมากเลยทีเดียวละครับ

การสอนและการพัฒนาการเรียนรู้เพื่อความเป็นผู้นำทางวิชาการระดับบัณฑิตศึกษา

มีหมายเหตุเป็นของแถมเล็กๆน้อยๆด้วยครับ การไปสอนและบรรยายครั้งนี้ผมชวนคู่หูของผมซึ่งกำลังจะเดินทางไปต่างประเทศกันในวันรุ่งขึ้นไปด้วย นอกจากเพื่อจะได้ช่วยเป็นทีมทำกิจกรรมต่างๆให้แก่นักศึกษาด้วยกันสักหน่อยด้วยแล้ว ก็จะได้พากันไปหาประสบการณ์และจะได้เป็นเพื่อนคุยประเมินการสอน

ดังนั้น หลังจากการสอนและบรรยายแล้วเราก็เลยนั่งคุยกัน คู่หูผมสะท้อนข้อสังเกตดีๆให้เพื่อปรับปรุงในโอกาสต่อไปได้หลายอย่าง และส่วนหนึ่งก็ให้ข้อสังเกตว่า ตอนเริ่มต้นยังอธิบายแนวคิด การเรียนรูปแบบการคิดเชิงมโนทัศน์ ให้เข้าใจได้ง่ายๆ ไม่ค่อยดี แต่ตอนท้ายและช่วงสรุปจึงค่อยเข้าใจ

ผมบอกว่าเป็นการสะท้อนข้อสังเกตที่ดี แต่ก็ไม่ควรสร้างบทสรุปลงไปที่ประเด็นอย่างนี้ให้เป็นสาระสำคัญ อีกทั้งย้ำให้มองไปอีกทางหนึ่งด้วยว่า การเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษา ทั้งปริญญาโทและปริญญาเอกนั้น ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะสรุปบทเรียนว่าเกิดความเข้าใจและได้ความรู้มากน้อยเพียงใดและอย่างไร แต่ต้องมุ่งสรุปเป็นวิธีคิดหรือมโนทัศน์ใหม่ๆลงไปว่าได้เกิดความคิดอะไรและได้ประเด็นความสนใจ แตกความคิด เผยให้เห็นพรมแดนการคิดว่าได้มีสิ่งที่ชวนให้เกิดคำถามและความน่าสนใจ เพื่อไปศึกษาค้นคว้าและเรียนรู้ด้วยตนเองต่อไป อย่างไรบ้าง จึงจะเรียกได้ว่าเป็นวิถีการเรียนรู้ที่ดีในระดับนี้

การศึกษาเรียนรู้ในระดับนี้ต้องวางจุดสนใจที่ไปไกลมากกว่าการได้คำตอบสำเร็จรูป แต่ต้องฝึกฝนความลุ่มลึกทางวิชาการเผื่อผุดทรรศนะ ประเด็นความสนใจ การตั้งคำถามและการเกิดแนวคิดเพื่อแสวงหาคำตอบด้วยตนเองที่เป็นระบบต่อไปอย่างไม่มีหยุดนิ่ง ต้องเป็นการหาวิธีคิดและๆได้คำถามใหม่ๆ มากกว่ามุ่งหาคำตอบและได้ความรู้ความจำไปง่ายๆ

แหม วิชานี้น่าเข้าไปนั่งฟังเล็คเชอร์มากครับ แต่ไม่เป็นไรอ่านบันทึกท่านพี่นี่แหละพอแล้ว ;)

เอ ท่านอาจารย์ที่ยืนข้าง ๆ ท่านพี่ คือ ท่านอาจารยสมหญิง ใช่หรือไม่ครับ ;)

ขอบคุณครับ

ใช่แล้วครับอาจารย์ Wasawat Deemarn ครับ ท่านที่สวมเสื้อสีน้ำเงินยืนขวามือผมนั้นคือท่านอาจารย์สมหญิงน่ะครับ อาจารย์เป็นอาจารย์อาวุโสแต่อ่อนโยนและให้เกียรติแก่ผู้คนมากเลยครับ ไปสอนให้อาจารย์และได้คุยกับคนเทคโนฯทีไรก็เหมือนได้อยู่กับชุมชนที่คุ้นเคยดีครับ

สวัสดี ครับ อาจารย์วิรัตน์

เที่ยงแล้วครับ ฝากอาหารเพื่อสุขภาพมาเป็นอาหารเที่ยงมื้อนี้ นะครับ

อาหารเพื่อสุขภาพอีกชนิดหนึ่งของไทยภาคกลาง มักนิยมรับประทานเป็นอาหารจานเดียวกับสลัดแขก และบรรดาผักลวกต้มทั้งหลาย ผักอาจจะสูญเสียวิตามินไปบ้าง แต่ให้ประโยชน์มากสำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย เพราะเมื่อนำผักมาลวกจะทำให้เส้นใยในผักอ่อนตัว ทำให้ย่อยง่าย ท้องไม่อืด ขับถ่ายสะดวก และมีรสหวานตามธรรมชาติ

ที่มา: ยำทวาย

สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดีครับ
เห็นตั้งแต่เมื่อกลางวันนี้แล้วครับ ขอบคุณครับผม
ชื่อยำทวายนี่ หากเป็นชื่อผลไม้ก็จะหมายถึงมีให้กินทุกฤดูกาลเลยใช่ไหมครับ

ขอบคุณค่ะ..อ่านแล้วคิดถึงการจัดเวที "กล้าใหม่-ใฝ่รู้" ที่ให้ความอิสระแก่เยาวชนในการร่วมกันวาดภาพระบายสี ..จินตนาการเพื่อสังคมบน theme ที่กำหนดเชื่อมโยงไว้เป็น คำ 5 คำ..ผลงานสวยงามสะท้อนแนวคิดดีๆมากมายค่ะ

 

สวัสดีค่ะอาจารย์

มาขอบคุณค่ะที่กรุณาเป็นธุระเรื่องพัสดุของ อ.เหมียว

และขอโทษด้วยค่ะที่ทำให้วุ่นวายค่ะ

อาจารย์คงสบายดีนะคะ

สวัสดีครับพี่ใหญ่ครับ
แค่เห็นชื่อ 'กล้าใหม่....สร้างสรรค์ชุมชน' ก็น่าสนใจมากเลยครับ
โดยเฉพาะเมื่อหัวข้อที่สื่อสะท้อนการมีแนวคิดอย่างนี้อยู่ด้วย
นำมาบูรณาการกับบทบาทของศิลปะและการพัฒนาการเรียนรู้เพื่อสร้างปัจเจกภาพ
ให้แก่เด็กและเยาวชนสำหรับสังคมไทย ในแวดวงศิลปะทั้งของไทยและนานาประเทศนั้น
เราจะทราบกันเป็นอย่างดีว่า หลังเข้าสู่สังคมสมัยใหม่แล้ว ศิลปะก็เหมือนกับพัฒนาการทางด้านอื่นๆของสังคมที่มุ่งเสริมความเป็นปัจเจกและเสรีชน เพราะยุคก่อนหน้านั้นมนุษย์ติดกรอบอยู่กับการผูกขาดความคิดความเชื่อและความศรัทธาต่างๆอยู่กับคนส่วนน้อย เดี๋ยวนี้ได้ผ่านยุคดังกล่าวนั้นไปไกลมากแล้ว แต่ผู้คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ตั้งคำถามใหม่ต่อความเป็นสังคมและภาวะปัจเจกภาพที่สอดคล้องกลมกลืนกับสิ่งที่กำลังก่อเกิดและกำลังจะดำเนินไปของสังคมโลก

การกระตุกความคิดให้คนนึกถึงผู้อื่นและเดินออกจากตัวกูของกูเพื่อกลับเข้าสู่การสร้างความเป็นชุมชน ซึ่งไม่ต้องเหมือนเดิมเพราะโลกมันไม่เหมือนเดิมอยู่แล้ว ก็จะเป็นการมุ่งคลายแรงกดดันสังคมของการแยกส่วนและแข่งกันเอาตัวรอดแบบตัวใครตัวมันของปัจเจกอยู่ในตนเองบนการปฏิบัติ เหมือนกับไม่ต้องมัวเสียเวลาไปกับการพูดบ่นว่าสังคม รวมทั้งปัจเจกและพลเมืองเห็นแก่ตัว แต่ทำสิ่งต่างๆให้มันเป็นกระบวนการที่เปลี่ยนแปลงไปเลยตั้งแต่ฐานความคิด ให้เนื้อหาของมันต่างออกจากกระแสสังคมไปเลยอย่างนี้แหละครับ ซึ่งก็นับว่ามีศิลปะมากอย่างยิ่งวิธีหนึ่งเหมือนกันเลยนะครับ

สวัสดีครับคุณณัฐรดาครับ
ตอนนี้ผมกำลังอยู่ที่สันป่าตอง เชียงใหม่ นะครับเนี่ย
หนาวเย็นเอาเรื่องทีเดียว ยิ่งตอนดึกๆนั้นก็ยิ่งหนาวชนิดที่เรียกว่าทั้งร้องเพลงและฟังเพลงก็ไม่เหลืออารมณ์สุนทรีย์กันเลย
ไปเสาะหาพัสดุที่คุณณัฐรดาส่งไปให้อาจารย์ณัฐพัชร์นั้นไม่วุ่นหรอกครับ ที่ช้าไปหน่อยก็เนื่องจากช่วงที่พัสดุไปถึงนั้นกำลังเป็นช่วงติดพันต่อเนื่องกับการที่ผมไปมาเลเซียกับสิงคโปร์เกือบทั้งอาทิตย์พอดี พอกลับมาก็ชนกับวันหยุดอีก กลับเป็นของเน่าเสียได้อย่างเดียว แต่ตอนหลังก็ได้ทราบว่าเป็นรูปเขียน พอไปรับมาแล้วก็เลยเวียนกันดูอย่างเพลิดเพลินกันไปเลย

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์ที่เคารพ

ครูแอ้ก็เป็นนักศึกษา ป เอก ม ศิลปากรอีกคนหนึ่ง
และได้เรียนกับอาจารย์สมหญิงในเทอมที่ผ่านมา

เสียดายมาก ๆ เลยค่ะที่ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้กับอาจารย์แบบในบันทึกนี้
เคยนำวิธีแบบนี้ไปใช้กับเด็ก ปวส. เพื่อฝึกวิธีคิดแต่ก็ไม่มั่นใจว่า
การนำไปใช้นั้นจะถูกหลักการและสมบูรณ์หรือไม่
เพราะไม่เคยเรียนหลักการเลยค่ะ

สวัสดีครับครูแอ้ครับ

  • พื้นฐานสำหรับคนเรียนเทคโน โดยเฉพาะ System Approach จะนำมาใช้กับการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิดได้เป็นอย่างดีเลยครับ
  • วิธีคิดและนัยต่อกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญที่จะต้องให้ผู้เรียนได้ทำออกมาอย่างเข้าใจมีหลายด้านด้วยกันครับ ที่ต้องเน้นเลยคือ ......
  • System Thinking การคิดอย่างเป็นระบบและการคิดให้เห็นความเชื่อมโยงอย่างรอบด้าน จะแผ่ออกและหลอมรวมเข้าสู่ประเด็นร่วม หรือหมุนไปทางไหนก็เห็นได้ทั่วถึงไปหมด
  • Symplified but powerful Communication for Learning ทั้งระดับบุคคลและการคิดด้วยกันเป็นกลุ่มก้อน
  • Group Participative and Interactive Learning
  • Community Mobilization and Participatory Management by group working
  • สำหรับคนที่ทำเรื่องศิลปะได้ด้วย ก็สามารถเป็นวิธีให้ประสบการณ์ต่อเรื่อวสุนทรียภาพและความงามที่ผสมผสานอยู่ในกระบวนการเรียนรู้และงานทางความรู้ได้เป็นอย่างดีครับ

พอเห็นบล๊อกนี้แล้วก็เลยนึกขึ้นได้น่ะครับ
เจ้าเกตุสกลและเพื่อนๆน่ะครับ เธออย่าลืมเอา thumdike ไปให้อาจารย์ด้วยนะ ในนั้นมีข้อมูลที่อาจารย์บันทึกสดๆผลงานและการอภิปรายของพวกเธอ มันไม่มีในไฟล์เดิมที่อยู่ในเครื่องของอาจารย์น่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท