แม่พิมพ์ของชาติคือครู แล้วใครคือผู้ แกะแม่พิมพ์?


เคยคิดกันไหมครับว่าครูผู้ได้ชื่อว่าเป็นแม่พิมพ์ของชาติไทยนั้น ใครกันหนอเป็นคนออกแบบลวดลายรูปแบบของแม่พิมพ์ ใครกันที่บรรจงลงมือแกะสลักแม่พิมพ์เหล่านี้ออกมา? คิดไปคิดมาผมว่างานแกะสลักนั้นก็ถือเป็นงานศิลปะประเภทหนึ่ง ซึ่งก็คงสืบสาวหาต้นตอได้จากงานศิลปะแขนงอื่นๆ ที่เราคุ้นเคยกัน ผมเลยออกเดินทางแกะรอยต้นแบบงานแกะสลักแม่พิมพ์ชิ้นนี้จากศิลปะแขนงใกล้เขียนในบ้านเรา

เริ่มจากงานภาพยนตร์กันดีไหม? ลองย้อนหลังกลับไป เรามีภาพยนตร์ต้นแบบครูอย่าง ครูบ้านนอก (2521)(2553) และมีซีเควลในปีถัดมาคือ หนองหมาว้อ (2522) ในภาคแรกนั้นเป็นเรื่องราวของครูปิยะ ซุปเปอร์ครูผู้อัดแน่นด้วยอุดมการณ์ทั้งในและนอกห้องเรียน ในขณะที่เพื่อนรุ่นเดียวกันเฮฮาปริญญาปาร์ตี้ ครูปิยะตัดสินใจเลือกชีวิตครูอีสานบ้านหนองหมาว้อ ซึ่งนอกจากจะทุ่มเทชีวิตให้กับนักเรียนแล้ว ครูปิยะยังปฏิบัติภารกิจลับจับไม้เถื่อน จนได้ค่าตอบแทนก้อนสุดท้ายเป็นลูกตะกั่ว!

แม่พิมพ์ครูปิยะที่ทุ่มเทและเสียสละนั้นมีครูคำหมาน คนไค (ผู้เขียนนิยาย) และคุณสุรสีห์ ผาธรรม (ผู้กำกับ) ร่วมกันแกะสลักครับ (ส่วนเรื่อง ครูวิบาก ในปี 2524 และ ครูดอย ในปี 2525 โดยคุณสุรสีห์ ผาธรรมคนเดิมนั้นผมหาข้อมูลไม่ได้จริงๆ)

ในปลายทศวรรษนั้นคนไทยก็ได้รู้จัก ครูสมศรี (2529) ที่ท่านมุ้ยสลักเรื่องราวของครูสลัมที่เป็นผู้นำการต่อสู้อำนาจมืดเพื่อปกป้องชุมชนสลัมถิ่นเกิด และได้รับค่าจ้างก้อนสุดท้ายไม่ต่างจากครูปิยะ

ทศวรรษต่อมาหนังสะท้อนชีวิตครูก็ยังคงมีให้ชมกันอยู่ หัวหอกครูอุดมคติก็พี่แหม่มจินตราที่เหมาบทแม่พิมพ์ของชาติไปถึงสามเรื่องสองรส ได้แก่ ครูจันทร์แรมประทีปแห่งแม่น้ำสาย (2535) ม.6/2 ห้องครูวารี (2537) และซีเควล ม.6/2 ห้องครูวารี เทอม 2 - 6 เดือนไม่ขาดเพื่อนสักวัน (2539) แต่ในทศวรรษนี้ครูไทยคนอื่นๆ ก็เริ่มเปลี่ยนสถานะจากพิมพ์ใหญ่กลายเป็นพิมพ์เล็กเมื่อกระแสภาพยนตร์วัยรุ่นมาแรง และก็ได้พี่แหม่มนี่ละครับที่กลายร่างมาเป็นนักเรียนมัธยมปลายในภาพยนตร์สะท้อนสิทธิสตรีอย่างส.อ.ว.ห้อง 2 รุ่น 44 (2533) และอีกเรื่องที่จะลืมไม่ได้คือ กลิ้งไว้ก่อนพ่อสอนไว้ (2534) ภาพยนตร์ยุคบุกเบิกของหนังวัยรุ่น

ทศวรรษ ’40 ที่เพิ่งผ่านมาหมาดๆ นั้นวงการภาพยนตร์ไทยยกเอาวัยรุ่นเป็นศูนย์กลาง (หรือกระแส child centered!) ครูในภาพยนตร์เลยกลายเป็นตัวประกอบอาชีพ ไม่ว่าจะวัยรุ่นน่ารัก เกิร์ลเฟรนด์ 14 ใสกำลังเหมาะ (2545) วัยรุ่นรักเพื่อนและรักดนตรีอย่าง ซีซันส์เชนจ์ เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย (2549) หรือแม้แต่วัยรุ่นสับสนค้นหาตัวเองอย่าง รักแห่งสยาม (2550)

เมื่อลองมองกลับไปในสามทศวรรษแม่พิมพ์ของชาติที่โลดแล่นบนแผ่นฟิล์ม ภาพยนตร์แนวเชิดชูคุณครูดูจะเป็นที่นิยมในยุค ’20 จนมาถึงปลายยุค ’30 กระแสเริ่มจะหันเหไปทางนักเรียนทั้งระดับประถมและมัธยม บทบาทของครูในภาพยนตร์เลยลดความสำคัญลงไปตามลำดับ ผมเดาเอาว่าน่าจะเกิดจากสาเหตุใหญ่ๆ สองประการ ประการแรกคือครูหลายคนหันมาทำร้ายตัวเองและเพื่อนร่วมวิชาชีพด้วยการบิดเบือนความหมายของคำว่าครูที่ว่า “เฝ้าแนะเฝ้าเน้นมิได้อำพราง” อย่างที่เราได้ยินในเพลงพระคุณที่สาม เพราะครูกลุ่มนี้มักจะอำพรางความรู้บางส่วนเอาไว้เพื่อจะได้ไปเน้นตอนสอนพิเศษ ไม่ว่าจะตอนเย็นหรือวันหยุดสุดสัปดาห์ ผมเคยเห็นขนาดที่ว่าเด็กทั้งห้องที่เรียนต้องตามไปเรียนพิเศษกับครูคนเดิมอีกก็มี! ปรากฎการณ์นี้เป็นจุดเริ่มต้นความเสื่อมของทุนทางสัญลักษณ์ที่ครูเคยมีอยู่ ส่วนประการที่สองนั้น ผมคิดเอาว่าวิกฤตต้มยำกุ้งนั้นน่าจะมีส่วนเร่งปฏิกริยาความเสื่อมนี้อีกทาง อย่างที่เรารู้กันว่าต้นทศวรรษ ’40 นั้นธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาเติบโตสวนกระแสเศรฐกิจที่ซบเซา เข้ามายึดพื้นที่ธุรกิจอื่นๆ ที่ล้มหายตายจากไปโดยเฉพาะบริเวณสยามสแควร์ บทบาทครูในโรงเรียนเลยถูกแทนที่ด้วยครูพิเศษ ที่ดูจะทันสมัยและตอบโจทย์ของการศึกษาบ้านเราได้ดีกว่าด้วยการส่งให้น้องๆ นักเรียนสอบเข้ามหาวิทยาลัยดี มหาวิทยาลัยดัง งานครูตามโรงเรียนเลยกลายเป็นงานที่ไม่ค่อยเท่ห์และสังคมเองก็ไม่เรียกร้องหาอุดมการณ์ครูมากเหมือนเมื่อก่อน จุดสนใจก็เปลี่ยนจากครูไปสู่นักเรียนทั้งวัยเด็กและวัยรุ่นในทศวรรษที่ผ่านมาเพื่อสนองนโยบายกระทรวงศึกษาในระบบการสอนแบบมีเด็กเป็นศูนย์กลาง แม้นโยบายของกระทรวงเสมาจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ผมเชื่อว่ากระแสเด็กเป็นศูนย์กลางในภาพยนตร์ไทยก็คงจะแรงต่อเนื่องในทศวรรษนี้

ลองหันมาดูลวดลายงานสลักในบทเพลงกันบ้าง เพลงคุณครูในบ้านเรานั้นเนื้อหาค่อนข้างจะคงที่ครับ ออกไปทางสำนึกบุญคุณ เทิดทูนบูชาครู โดยมีเพลงระดับคลาสสิกอย่าง พระคุณที่สาม, แม่พิมพ์ของชาติ, ครูบนดอย  และเพลงเพื่อชีวิต ที่นี่ไม่มีครู (แฮมเมอร์) จนมาถึงเพลงครูยุคใหม่อย่าง คุณครูกระดาษทราย (ทราย เจริญปุระ), เรือจ้างกลางใจ (เท่ห์ อุเทน และ ปนัดดา เรืองวุฒิ) และซีรีย์เพลงครูของพี่ไมค์ ภิรมย์พร อย่าง ตามรอยไม้เรียว, นักสู้ครูไทย, และครูในดวงใจ

แม้ความหมายของครูโดยรวมนั้นจะไม่เปลี่ยนแปลงในเนื้อเพลง แต่กลุ่มผู้บริโภคที่เชื่อในความหมายเหล่านี้เปลี่ยนไป เห็นได้จากพื้นที่ของครูไทยในเพลงนั้นเขยิบออกห่างเมืองหลวงออกไปเรื่อยๆ เพลงไทยสากลที่พูดถึงครูนั้นแทบจะไม่มี (นึกได้ก็แค่เพลง คุณครูครับ ของน้องพลับ ฮา!) ผมเดาเอาว่าน่าจะเกิดจากความสัมพันธ์ของครูกับนักเรียนในเมืองที่เปลี่ยนไป จากที่เคยเป็นแม่แบบและเป็นผู้อบรมบ่มนิสัยกลายเป็นนักธุรกิจบริการความรู้เพื่อส่งนักเรียนเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาเป็นหลัก โดยไม่ต้องรับผิดชอบในมิติอื่นๆ ความซาบซึ้งในบทบาทของครูในเมืองก็ลดลงไปตามลำดับ ความหมายในสองด้านของครู (หนึ่งคือวิชาชีพ สองคือแนวคิดอุดมคติ) ก็ดูจะถูกถ่างให้ห่างจากกันมากขึ้นทุกขณะ ครูในความคิดของหลายๆ คนจึงตัดขาดจากคำว่าโรงเรียนโดยสิ้นเชิง ดังที่ครูเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ว่าไว้

ใครคือครูครูคือใครในวันนี้      ใช่อยู่ที่ปริญญามหาศาล
ใช่อยู่ที่เรียกว่าครูอาจารย์       ใช่อยู่นานสอนนานในโรงเรียน

ถ้าผมจะตอบคำถามที่ตั้งเอาไว้ตอนต้นที่ว่า ใครเป็นผู้ลงมือสลักแม่พิมพ์ของชาติ? ผมว่าน่าจะเป็นสำนึกร่วมของสังคม และในหลายทศวรรษที่ผ่านมาลวดลายของแม่พิมพ์อันนี้ก็ถูกปรับไปตามความคาดหวังที่แปรเปลี่ยน และคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าลวดลายที่บ่งบอกถึงทุนทางสัญลักษณ์ของครูก็ค่อยๆ จางลงทุกที จนผมสงสัยว่าในปัจจุบันสำนึกร่วมของสังคมที่มีต่อครูนั้นเป็นอย่างไร? ในเมื่อภาพความเป็นครูที่สื่อศิลปะแขนงอื่นสะท้อนออกมานั้นเริ่มถอยห่างจากความเป็น “ครู” ในอุดมคติ ครูไทยก็พบว่าตัวเองตกอยู่ในสภาพเดียวกับเด็กไทย

ที่สังคมให้ความสำคัญ… แค่วันเดียว

ข้อมูล
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=383052
http://th.wikipedia.org/wiki/ครูบ้านนอก
http://movie.sanook.com/movie/movie_16472.php
http://krugarn.exteen.com/20090310/entry
http://th.wikipedia.org/wiki/ครูสมศรี
http://th.wikipedia.org/wiki/เกิร์ลเฟรนด์_14_ใสกำลังเหมาะ
http://th.wikipedia.org/wiki/ซีซันส์เชนจ์_เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย
http://th.wikipedia.org/wiki/รักแห่งสยาม
http://www.oknation.net/blog/butsabong/2008/05/23/entry-5 แม่พิมพ์ของชาติ (2501)
http://th.wikipedia.org/wiki/ส.อ.ว.ห้อง_2_รุ่น_44
http://th.wikipedia.org/wiki/ม.6/2_ห้องครูวารี
http://th.wikipedia.org/wiki/ม.6/2_ห้องครูวารี_เทอม_2_ตอน_6_เดือนไม่ขาดเพื่อนสักวัน
http://www.thaifilmdb.com/th/tt00348 ครูจันทร์แรมประทีปแห่งแม่น้ำสาย (2535)

ภาพยนตร์เกี่ยวกับครูที่ไม่ได้กล่าวถึงในบทความนี้ (และยังมีเรื่องอื่นๆ ที่ผมพลาดไป)
ครูเสือ (2527)
ครูไหวใจร้าย (2532)
แบบว่าโลกนี้มีน้ำเต้าหู้และครูระเบียบ (2537)
มอ ๘ (2549) http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/newmovie/mor8/m8.html
หนึ่งใจ..เดียวกัน (2551) http://th.wikipedia.org/wiki/หนึ่งใจ..เดียวกัน
http://www.thaifilmdb.com/th/tt04173 พลเมืองจูหลิง (2552)

(ปล. ด้วยความที่อาชีพอย่างเป็นทางการของผมคืออาจารย์มหาวิทยาลัย ผมเชื่อว่าสังคมก็ไม่ปล่อยให้ผมลอยนวลออกไปจากอุตสาหกรรมแม่พิมพ์นี้ ผมคิดและเขียนบทความนี้ก็เพราะอยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมออกแบบแม่พิมพ์ใน ทศวรรษนี้และทศวรรษหน้าครับ)

หมายเลขบันทึก: 420584เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2011 02:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 ธันวาคม 2012 09:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ผู้แกะแม่พิมพ์ของชาตินั้นคือใคร     พระพุทธองค์นั้นไซร้ได้สร้างสรรค์

บรมครูผู้ออกแบบไว้หลายกัปป์กาล  พระสงฆ์นั้นรับถ่ายทอดเป็นยอดครู

การศึกษาของไทยเริ่มในวัด            พระสงฆ์จัดการศึกษาไว้ได้เลิศหรู

ให้ศีลธรรมสร้างนิสัยไทยน่าดู         ได้เป็นผู้เป็นคนจนใหญ่โต

เมื่อใหญ่โตกลับกลายหายจากวัด    ทำเคืองขัดเห็นวัดไทยให้โมโห

ถอดศีลธรรมทำลายไม่ให้โชว์         แม่พิมพ์โง่โชว์กิเลสอาเพทไป

ขอบพระคุณคุณวิโรจน์ สำหรับบทกลอนดีๆ พร้อมคำตอบที่ชัดเจนและจริงใจครับ

สุขสันต์วันครูและทุกๆ วันครับ

ครูที่มีอุดมการณ์ คือ จน (ซีขยับช้าจนตัน แต่มีความสุขในการเกิดเป็นคนชาติหนึ่ง)

ครูที่ไร้ซึ่งอุดมการณ์ คือ รวย (ได้ซีสูง แต่ศักยภาพสวนทางกัน)

หลังปฏิรูปการศึกษา ครูประเภทที่สองเยอะขึ้น เศรษฐกิจครูฟุ้งเฟ้อตามกระแส

ศธ. คิดดี แต่ทำไม่ได้ ล้มทั้งยืน

แอบเศร้าข้ามปี อิ อิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท