เราทิ้ง "เด็ก" ไม่ได้


พวกเขาพร้อมหรือยัง มีความเป็นทีมกันสักกี่มากน้อย ถ้าพร้อมก็ให้เดินจูงมือกลับมาพบผมอีกรอบ จะดึกแค่ไหนก็ให้มา.

ช่วงวันเด็กแห่งชาติที่ผ่านมา  มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ผมและทีมงานยังหยิบยกมาถกคิดกันอย่างต่อเนื่อง  อันเป็นกระบวนการหนึ่งของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ผ่านกระบวนการของการทบทวนการปฏิบัติการ เพื่อก่อให้เกิด “บทเรียน” ด้วยหวังว่าจะใช้ผลลัพธ์ของบทเรียนที่ได้มาเป็น “ทุน” ต่อยอดสู่การเป็นกลยุทธการพัฒนานิสิตผ่านกิจกรรนอกหลักสูตรอย่างมีทิศทางและยุทธวิธี

 

 

ก่อนหน้าที่กิจกรรมวันเด็กแห่งชาติจะเกิดขึ้น ผมเคยได้สะกิดเตือนคณะกรรมการองค์การนิสิตให้วางแผนการดำเนินงานอย่างนานยาว  โดยยกตัวอย่างให้เห็นอย่างกว้างๆ ว่าโดยปรกติแล้ว จะมีการตระเตรียมงาน ร่วมคิดร่วมวางแผนมาตั้งแต่เดือนธันวาคมของทุกปี

กระบวนการวางแผนร่วมคิดร่วมทำนั้น หมายถึงการสร้างเวทีแบบให้ภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการทำงานร่วมกัน ทั้งองค์การนิสิต สภานิสิต สโมสรนิสิต (18 คณะ) ชมรมและกลุ่มนิสิตอีกไม่น้อยกว่า 50 องค์กร ไม่ใช่คิดและทำอยู่แต่เฉพาะคณะกรรมการบริหารองค์การนิสิตเพียงไม่กี่คน ซึ่งประเด็น หรือภาพแห่งการก่อร่างทางความคิดที่ว่านี้ ผมได้เขียนบันทึกไว้อย่างชัดเจนในบล็อก g2k ของแต่ละปี

แต่จนแล้วจนรอดกระบวนการดังกล่าวก็ไม่ได้เกิดขึ้น การคิดงานและวางแผนงานแบบมีส่วนร่วมยังคงนิ่งงันราวกับจะไม่มีกิจกรรมวันเด็ก ผมเองก็ไม่ขยับเข้าไปใกล้มากกว่านั้น ปล่อยให้เป็นเวทีการสะสางทางความคิดของอาจารย์ที่ปรึกษาและสมาชิกขององค์การนิสิตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยแอบลุ้นและเกาะติดสถานการณ์อย่างเงียบๆ...พร้อมกับการตั้งสมมุติฐานถึงปัญหาในองค์กร  ทั้งเชิงบุคคล ทีมงานและระบบการคิด

กระทั่งเหลือเวลาเพียงไม่ถึง ๒ วันโครงการก็ถูกนำเสนอผ่านมายังผมอย่างเงียบๆ บังเอิญผมเป็นคนประเภทเน้นกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ จึงชะลอโครงการไว้อย่างฉะฉาน จากนั้นก็เรียกพบผู้เกี่ยวข้องเพื่อสอบถาม และตั้งประเด็นให้เขาได้ขบคิด ทบทวนบทบาท สถานะและความรับผิดชอบในงานที่กำลังจะเกิดขึ้น...

ผมตั้งประเด็นง่ายๆ ว่าวันเด็กแห่งชาติเป็นกิจกรรมที่ถูกระบุวันเวลาไว้ชัดเจนในแต่ละปี ไฉนเลยคนทำงานละเลย ปล่อยปละให้การเตรียมงานเลื่อนไหลมาไกลถึงเพียงนี้ หรือเพราะคนในองค์กรมีปัญหาขัดแย้งกัน จึงไม่มีใครหันหน้ามาทำงานร่วมกันเหมือนก่อนเก่า หรือเพราะงานนี้เป็นงาน “เด็กๆ” ที่ใครๆ ก็มองว่าเน้นความบันเทิงเป็นหลัก ไม่จำเป็นต้องตระเตรียมอะไรมากก็ได้ จนกลายเป็นเรื่องเฉยชาและทองไม่รู้ร้อนไปโดยปริยาย หรือไร-

นั่นเป็นเพียงไม่กี่ประเด็นที่ผมสะท้อนกลับไปยังคนทำงานเพียงไม่กี่คน  ซึ่งมันเหมือนเข็มเล็กๆ ที่ถูกปักลงตรงกลางหัวใจของพวกเขาอย่างไม่ทันตั้งตัว ใครบางคนคล้ายกับน้ำตาจะหยาดไหลออกมาจากหัวใจผ่านออกมาสู่ดวงตา ใครบางคนหม่นเศร้าราวกับถูกสะกิดแผลที่ยังไม่แห้งสนิทอีกรอบ...

 

ครับ ทุกอย่างเป็นไปตามที่ผมคาดการณ์ไว้อย่างไม่ผิดเพี้ยน ผมไม่มีเวลาที่จะสะสาง หรือเข้าไปเยียวยาบาดแผลของพวกเขาเท่าใดนัก แต่ก็ตั้งมั่นและสัญญากับตัวเองหรือแม้แต่น้องๆ นิสิตว่า เสร็จงานนี้เราต้องมา “ถอดบทเรียน” แบบ “เปิดเปลือย” กันอย่างจริงจัง ทั้งเรื่อง “ทีม” ซึ่งหมายถึงความสัมพันธ์ของคนในองค์กร และเรื่อง “กระบวนการของการขับเคลื่อนงาน” อันหมายถึงวิธีคิด วิธีทำงาน เพราะสองอย่างนี้สำคัญมาก หากคลายปมนี้ได้ “ผลลัพธ์” อันดีงามและมีประสิทธิภาพก็จะตามมาเอง

ดังนั้น ผมจึงคืนเวทีให้กับพวกเขาอีกรอบ โดยฝากให้เขากลับไปถามตัวเองว่าเหลือเวลาเพียงวันเดียวนั้น “พวกเขาพร้อมหรือยัง  มีความเป็นทีมกันสักกี่มากน้อย ถ้าพร้อมก็ให้เดินจูงมือกลับมาพบผมอีกรอบ จะดึกแค่ไหนก็ให้มา.."  (ผมจะรอ...และให้เชื่อว่าผมรอพวกเขามานานแล้ว และที่สำคัญเด็กในหมู่บ้านใกล้ๆ กับมหาวิทยาลัย ก็กำลังรอพวกเขาอย่างใจจดใจจ่อเหมือนกัน)

 

 

คืนนั้นเป็นคืนวันพฤหัสบดีที่ ๖ ...พวกเขากลับมาอีกทีในเวลา ๔ ทุ่มเศษ พวกเขากลับมาประมาณ ๕-๖ คน ดูแววตาสดชื่น มีความหวังต่างจากกลางวันอย่างชัดเจน ผมใช้เวลาเพียงน้อยนิดในการหยั่งถามในเรื่องราวก่อนหน้านั้นว่าเผชิญกับอะไรบ้าง

ผมถามทั้งๆ ที่รู้ว่ามันคืออะไร ! ถามทั้งรู้ว่าพวกเขาเผชิญอะไรมาบ้าง  แต่ก็จำต้องถาม เพราะปรารถนาให้พวกเขาได้ระบายความอัดอั้นตันใจออกมาบ้าง  จะได้รู้สึกผ่อนคลาย และลุกขึ้นทำงานอย่างไม่รู้สึกค้างๆ คาๆ...

 

 

แน่นอนครับ คำถามที่ว่านั้น ไม่ได้หมายถึงทางออกของการคลี่คลายปัญหาในองค์กรแบบเสร็จสรรพ แต่เป็นเพียงกระบวนการเล็กๆ ที่ผมหยิบมาเยียวยาเบื้องต้นเท่านั้น และเป็นกระบวนการของการปลุกเร้าให้เขา “ควักใจ” ออกมาทำงาน เพื่อให้งานที่ว่านั้นเป็นงานแห่ง “ความสุข” เป็นงานแห่งการ “เรียนรู้ตัวเอง เพื่อนและคนอื่น” เป็นงานแห่งการให้ “บริการแก่สังคม” ดังที่พวกเขาเคยตั้งปณิธานไว้ร่วมกันว่า “กิจกรรมเพื่อส่วนรวมและสังคมที่ดีกว่า”....

จากนั้นก็ร่วมคิดและร่วมจัดแจงกระบวนการที่เหลือร่วมกับพวกเขา โดยชวนให้พวกเขาหลับตามอง “งาน” ให้รอบด้านที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้กำหนดทิศทางของการเคลื่อนงานในเวลาอันจำกัดได้อย่างรวดเร็ว ทั้งการขออนุมัติโครงการ การหาแหล่งทุน การจัดเตรียมของรางวัล การจัดวางรูปแบบ การประสานชมรม การประสานให้ได้มาซึ่งสิ่งของโดยไม่ต้องชำระเงินสด  การประสานชุมชน การเร่ประชาสัมพันธ์ การจัดเตรียมสถานที่ และอื่นๆ อีกจิปาถะ...

 

เสร็จจากนั้นก็ปล่อยให้พวกเขากลับไปพักผ่อน โดยไม่ลืมที่จะอวยพรให้พวกเขาฝันดี ตื่นขึ้นมาพร้อมกับ “เพื่อนและพลังใจ” อันดีงามในการที่จะทำงาน...รวมถึงการนัดหมายให้ทุกคนกลับมาพบผมอีกครั้งในเช้าชื่นของพรุ่งนี้

และก่อนนอนคืนนั้น  ผมได้ส่งข้อความไปบอกข่าวกับลูกทีมทั้งหมดกลางดึกที่กำลังคล้อยเช้าวันใหม่ว่า “มาทำงานแต่เช้า...มีงานเข้า” 
 


 

เช้าวันศุกร์ที่ ๗ ... ผมและทีมงานจับเข่าคุยกันแบบพี่แบบน้อง โยงประเด็นเรื่องราวๆ ต่างๆ ให้ทุกคนรับรู้ร่วมกัน ทั้งประเด็นปัญหาการความเป็นทีมขององค์การนิสิต ปัญหาการวางแผน ปัญหาการบริหารจัดการ ปัญหาการกำกับดูแลของอาจารย์ที่ปรึกษาและกองกิจการนิสิต  ตลอดจนการวางกรอบแนวทางที่จะช่วยให้งานขับเคลื่อนไปได้ในเวลาอันจำกัด ซึ่งจะว่าไปแล้วมันหนักมาก เนื่องจากวันนั้นทั้งวัน หน่วยงานของเรา ก็มีกิจกรรมอบรมกันทั้งวันเลยทีเดียว จึงจำต้องบริหารคนและบริหารเวลาเพื่อเด็กๆ ให้ลงตัวที่สุด ไม่งั้นก็ได้อย่างเสียอย่าง หรือแม้แต่อาจต้องสูญเสียทั้งสองอย่างด้วยก็เป็นได้-

 

 

และเมื่อนิสิตมาถึงตามเวลาที่นัดหมายกันไว้  ผมก็เปิดเวทีร่วมกันอีกรอบ พร้อมๆ กับการมอบหมายภารกิจให้เจ้าหน้าที่แต่ละคนได้ช่วยประคองและขับเคลื่อนงานไปกับนิสิต อันเป็นแนวคิดที่ผมเคยปักธงว่า “พูดให้ฟัง...ทำให้ดู..อยู่เป็นเพื่อน” ....

 

 

ครับ มันเป็นการทำงานภายใต้บริบทอันจำกัดหลายอย่าง ทั้งปัญหาในองค์กรของนิสิต ปัญหาเวลาอันจำกัด แต่ผมและลูกทีมก็ยืนยันว่า "เราทิ้งเด็ก” ไม่ได้  โดยเด็กที่ว่านั้นก็คือ “นิสิต” และ “เด็กนักเรียน” ที่กำลังลังรอคอย "วันเด็ก" อย่างใจจดใจจ่อ...

และที่สำคัญคือ ผมยังยืนยันว่า ผมเน้นกระบวนการ ไม่เน้นผลลัพธ์ หากกระบวนการดี มีระบบ มีขั้นตอน ผลลัพธ์ที่ตามมาย่อมแปรไปตามกระบวนการ และการงานนั้นในองค์กรนั้น “ถึงแม้งานไม่สัมฤทธิ์ผลตามเป้าทั้งหมด ผมก็ไม่ถือว่าล้มเหลว ขออย่างเดียวคืออย่าสูญเสียความเป็นทีม..”

นั่นคือโจทย์ที่ผมต้องติดตามไปสร้างกระบวนการอะไรสักอย่างให้กับเด็ก ซึ่งคราวนี้หมายถึง “นิสิต” หรือ “องค์การนิสิต” ล้วนๆ

 

 

หมายเหตุ...

๑.     สองถึงสามปีให้หลัง ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมวันเด็กที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามมากขึ้นทุกปี มีกิจกรรมที่สร้างสรรค์โดยนิสิต หน่วยงานในมหาวิทยาลัยให้การสนับสนุนหลากหลาย

๒.     งานวันเด็กแห่งชาติที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๔ ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยองค์การนิสิต มีผู้เข้าร่วมประมาณเกือบๆ จะ ๔ พันคน  มีองค์กรนิสิตเข้าร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมเกือบๆ ๕๐ องค์กร....

 

 

หมายเลขบันทึก: 420444เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2011 13:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:39 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

คุณแผ่นดิน ครับ

คุณธรรม ความดี งอกงามขึ้นใจมนุษย์ ทั้งที่เป็นเด็กโต(นิสิต) และเด็กเล็กๆพร้อมๆกันเลย ความเติบโต ทางจิตวิญญาณของอาจารย์ก็โตตามไปด้วย น่าชื่นชมมากครับ ..เราทิ้งเด็ก ไม่ได้..ผมชอบประโยคนี้มากครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • การทำงานเป็นทีม เป็นสิ่งสำคัญ ถ้ามีการขัดแย้งกันงานก็สะดุด
  • เท่าที่ครูอิงทราบ ระดับมหาวิทยาลัยมักไม่ค่อยให้ความสำคัญกับวันเด็ก
  • โรงเรียนระดับมัธยม ก็ไม่ค่อยจะมีเรื่องการจัดงานวันเด็ก
  • อ่านบันทึกของอาจารย์คร่าว ๆ แล้ว ไม่แน่ใจตัวเอง ต้องย้อนกลับไปอ่านโดยละเอียด
  • ขอบพระคุณแทนเด็ก ๆ เหลือเกินค่ะ ขอบพระคุณเหล่านิสิตนักศึกษาและคณะทำงานทุก ๆ ท่าน
  • ขออำนาจแห่งคุณงามความดีนี้ ดลบันดาลให้ทุกท่านมีความสุขนะคะ

เกมคือเสน่ห์ของวันเด็ก ความสนุกแบบเด็กๆ ที่ผู้ใหญ่ต้องคิดหาทางยั่วยุให้เขามีส่วนร่วมมากๆครับ

สวัสดีค่ะ

เห็นชื่อบันทึกแล้ว....ไม่กล้าเปิดเข้ามาอ่าน

ในที่สุดก็ตัดใจจะแวะมาบอกว่า "พี่คิมทิ้งเด็ก..เพราะอ่อนแอเกินไป"

พี่คิมอยากให้วันเด็กของทุกโรงเรียนจัดตรงกันคือวันเสาร์ที่ ๒ ของเดือนมกราคม มีครูพานักเรียนไปเที่ยวเหมือนตอนพวกเราเป็นเด็กค่ะ

ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้น้อง ๆ นิสิตค่ะ

สวัสดีครับ อ.สันติสุข สันติศาสนสุข

กิจกรรมวันเด็ก ถือเป็นกิจกรรมบริการวิชาการอีกทางหนึ่งของมหาวิทยาลัย เพียงแต่เป็นกิจกรรมที่ขับเคลื่อนโดย "นิสิต"  งานปีนี้มีเวลาจัดเตรียมน้อยมาก แต่สุดท้ายก็ต้องปรับกลยุทธกันในทุกรูปแบบ  มีการพุ่งตรงไปประชาสัมพันธ์ในตัวหมู่บ้านต่างๆ รวมถึงพุ่งเข้าสู่โรงเรียนในห้วงสุดท้าย และก็ไม่ใช่เรื่องวิตกอันใด เพราะเด็กๆ เขาก็พร้อมอยู่แล้ว เพียงแต่รอความชัดเจนจากทางมหาวิทยาลัยเท่านั้นว่าจะจัด หรือไม่จัด

แต่สิ่งที่ผมไม่อาจละข้ามไปได้ก็คือ ทำไมถึงตระเตรียมกันล่าช้าเอามากๆ มันหมายถึงการตระหนักถึงความสำคัญของวันเด็กที่นิสิตมองข้าม หรือเพราะนิสิตกำลังเผชิญกับปัญหาอะไรสักอย่าง  ด้วยวิธีคิดเช่นนั้น ผมจึงต้องสร้างกระบวนการต่างๆ มารองรับ เพื่อนำตัวเองและทีมงานเข้าไปร่วมขับเคลื่อนและค้นหาปัจจัยเหตุต่างๆ เพื่อหยิบยกมาแก้ไข ทั้งในมิติขององค์กร ทีม และเนื้อหาของงาน หรือกิจกรรม

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับ อ.อิงจันทร์

  • จริงดังว่านะครับ ปัจจุบันโรงเรียนต่างๆ จัดงานวันเด็กกันน้อยมาก
  • ในอดีต ต้องรอจนถึง ป.5-ป.6 ถึงจะมีโอกาสได้ไปร่วมกิจกรรมกับทางกลุ่มโรงเรียน หรือไม่ก็ไปทัศนศึกษาในตัวจังหวัด
  • สำหรับม.มหาสารคาม จัดต่อเนื่องกันมายาวนานมาก  ถือเป็นกิจกรรมหลักของนิสิตที่ัจัดขึ้นเพื่อให้บริการแก่ชุมชน โดยมุ่งเน้นกลุ่มชุมชนที่อยูารายรอบมหาวิทยาลัย
  • ในแต่ละปี จะขอรับของรางวัลจากผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ผู้บริหารในระดับคณะ เน้นสิ่งของเครื่องใช้ที่เป็นรูปธรรม ใช้ได้ในครัวเรือน และเน้นไปในเรื่องอุปกรณ์ทางการศึกษา
  • รวมถึงการจัดแสดงผลงานของแต่ละคณะ หรือผลงานของนิสิต เพื่อให้เด็กๆ ได้ดูชม แตะต้องสัมผัส เผื่อเป็นแรงจูงใจให้เขาใฝ่รู้ ใฝ่เรียน...
  • จริงๆ ก็เหมือนเปิดมหาวิทยาลัยให้เด็กเข้ามาเที่ยวเล่น ด้วยเหมือนกัน
  • ...ขอบคุณครับ...

สวัสดีครับ อ.พรชัย

ผมเคยตอบคำถามแบบกวนๆ นิสิตไปเมื่อหลายปีที่แล้วว่า ถ้าอยากรู้ว่ากิจกรรมวันเด็กควรจัดในรูปแบบใด ผมก็มักจะตอบไปในทำนองว่า "ให้หลับตาคิดถึงสมัยที่ตนเองเป็นเด็กสิว่าชอบแบบไหน" ...

แต่ที่สำคัญ ผมอยากให้นิสิตหลายๆ ร้อยคนได้ร่วมคิดรูปแบบด้วยกัน จะได้ออกแบบความสุขได้หลากหลายรูปแบบ รวมถึงการนำเอาศักยภาพของนิสิตทั้งในเชิงปัจเจก และองค์กรออกมาโชว์และให้บริการด้วยตนเองอย่างเต็มที่ ภายใต้แนวคิด "บันเทิง..เริงปัญญา"  คือได้ทั้งความสนุกและสาระความรู้...หรือสาระชีวิต นั่นเอง...

ขอบคุณครับ

ขอบคุณครับสำหรับมุมมองสำคัญของประเทศนี้ ;)...

สวัสดีครับ พี่ครูคิม นพวรรณ

จริงๆ แล้วตอนนี้ในจังหวัดมหาสารคาม มีงานวันเด็กใหญ่ๆ อยู่เพียง 2 แห่ง คือที่ศาลากลางจังหวัดและที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ระยะหลังวันเด็กของมหาวิทยาลัยก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทั้งรูปแบบและขนาดของงาน เพื่อรองรับกับจำนวนของผู้คนที่สัญจรเข้ามาร่วมงานอย่างล้นหลาม และเป็นกลุ่มที่มาแล้ฝังตัวจนจบ ไม่ใช่กลุ่มที่มาแล้วทยอยไปที่อื่นๆ ...

ปีนี้การงานกระชั้นชิดมาก  แต่ก็อาศัยประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่เข้าไปผยุงและช่วยหนุนนำให้นิสิตได้ทำงานได้ง่ายขึ้น   ประสิทธิภาพอันด้อยลง แต่รอยยิ้มของเด็กๆ ที่มาร่วมงานก็ไม่ด้อยไปกว่าทุกปีที่ผ่านมา

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ อ.Wasawat Deemarn

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ...
ขอให้บ้านนี้เมืองนี้ มีวันเด็ก...และวันผู้ใหญ่ในทุกๆ วัน...ด้วยเทอญ...
วันเด็กนะชัดมากว่าควรมีกิจกรรมอะไร  ส่วนวันผู้ใหญ่ อาจารย์ฯ คิดว่า จะเป็นรูปแบบใดดีครับ

สวัสดีครับ ครูเนาะ ฐานิศวร์ ผลเจริญ

ถ้าจะบอกว่าครูเป็นอีกหนึ่งลมหายใจของแผ่นดินก็คงไม่ผิดนัก เพราะครูคือคนแบกรับภาระการสร้างคนเพื่อแผ่นดินอย่างหนักหน่วง..

วันครูปีนี้ ขอให้ครูมีสวัสดิการที่ดี มีพลังทางปัญญา มีแรงบันดาลใจในการพัฒนาต้นกล้าของสังคม นะครับ

กรุณามารับคำตอบที่เชียงใหม่ด้วยครับ อิ อิ ;)...

ยังไงก็คงต้องไปกระมังครับ  ฟิตร่างกายไปยกโต๊ะทุกวัน จะล้มเลิกได้ไง...

ขอบคุณแทนเด็กๆ ที่มีผู้ใหญ่ให้ความสำคัญแก่พวกเขา ด้วยหัวใจที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้ค่ะ..

สวัสดีครับ พี่ นงนาท สนธิสุวรรณ

ขอบพระคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ ...ดีใจและชื่นนะครับที่ยังยืนหยัดกับการเพาะ "กล้าใหม่..ใฝ่รู้" ให้กับสังคมอย่างไม่หยุดหย่อน นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท