มโนทัศน์สิทธิสตรีคือสิทธิมนุษยชน (1)


“เราไม่ได้เกิดมาเป็น แต่กลายมาเป็นผู้หญิง”

แนวความคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเป็นที่ยอมรับในระดับสากลอย่างกว้างขวาง นับตั้งแต่มีการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) เมื่อ ปี ค.ศ. 1948  อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าในส่วนประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิสตรีไม่ได้กล่าวไว้โดยตรงมากนัก ตามมาตรา 2 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนกำหนดสิทธิโดยรวมไว้สรุปความได้ว่าสิทธิและเสรีภาพที่กำหนดไว้ในปฏิญญาฉบับนี้ จะไม่มีความแตกต่างในเรื่องชาติพันธุ์ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความเห็นทางการเมืองหรือความเห็นอื่นใด ที่มาทางสังคมหรือเชื้อชาติ รวมทั้งทรัพย์สิน แหล่งกำเนิดหรือสถานะอื่นใด[1] Eleanor Roosevelt และกลุ่มสตรีละตินอเมริกันได้ทำการต่อสู้ที่จะรวมเอาเรื่องเพศภาวะไว้ในปฏิญญาดังกล่าว เพื่อที่จะให้สังคมโลกตระหนักถึงปัญหาสถานะของผู้หญิงที่ด้อยกว่าชาย[2] อันจะส่งผลให้มีการปฏิบัติต่อสตรีอย่างเหมาะสมและมีความเท่าเทียมกันกับชายมากยิ่งขึ้น                    

 

ต่อมา สหประชาชาติซึ่งได้ตระหนักถึงปัญหาที่สถานภาพของผู้หญิงในประเทศต่าง ๆ และนำไปสู่การกีดกันในหลาย ๆ เรื่องนั้น จึงให้มีการประชุมและส่งผลให้บรรดาประเทศต่าง ๆ มีมติรับรองอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women- CEDAW) ขึ้นโดยข้อมติที่ 34/180 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2522 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2534[3] เป็นต้นมา โดยประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าวเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2528                                                                  

 

หลังจากที่ประเทศไทยเป็นพันธกรณีตามอนุสัญญาดังกล่าว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ก็ได้นำหลักความเสมอภาคระหว่างชายและหญิงมาบัญญัติไว้ใน มาตรา 30 วรรค 2 รวมถึงกำหนดให้มีการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างชายและหญิง และการคุ้มครองแรงงานหญิงให้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐด้วย ซึ่งหลักความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิงนี้ได้ปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 (ฉบับปัจจุบัน) ด้วยเช่นกัน แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่มีกระแสเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเคลื่อนไหวของสตรีในการผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายในหลายเรื่องเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันให้สอดคล้องกับหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริงนั้น ในความเป็นจริงแล้วสิทธิมนุษยชนกับสิทธิสตรีมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างไร และหากมองว่าสิทธิสตรีคือสิทธิมนุษยชนจะทำให้เกิดมุมมองใหม่ในการเปลี่ยนแปลงมโนทัศน์เกี่ยวกับสิทธิสตรีอย่างไรบ้าง

 

 

เนื่องจากในความเป็นจริงแล้ว ความพยายามของกลุ่มสตรีนิยมคงไม่ได้มุ่งเน้นที่การเปลี่ยนแปลงกฎหมายซึ่งเป็นรูปธรรมชัดเจนที่จะรับรองสิทธิสตรีได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น  แต่ในระยะยาวแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนมโนทัศน์ที่มองผู้หญิงตามแบบฉบับดั้งเดิมให้เป็นผู้หญิงที่มีโอกาสและสถานะทางกฎหมายในทุกเรื่องที่พึงเท่าเทียมกับชายโดยไม่ยึดติดกับวัฒนธรรม จารีตประเพณี และการเมืองที่ประกอบสร้างความหมายให้กับผู้หญิง   ตามคำกล่าวของ Simone de Beauvoir ที่ว่า “เราไม่ได้เกิดมาเป็น แต่กลายมาเป็นผู้หญิง” (one is not born, but, rather, becomes a woman,)   และการสะท้อนความคิดของ Merleau-Ponty ไว้ในหนังสือ “The Phenomenology of Perception” ที่ว่า “ร่างกายเป็นความคิดทางประวัติศาสตร์” (the body is "an historical idea)[4] ซึ่งเป็นถ่ายทอดความเชื่อใด ๆ ก็ตามเกี่ยวกับผู้หญิงจนกลายเป็นประสบการณ์ที่มีการรับรู้ร่วมกันของคนในสังคม (intersubjectivity)  เช่น การทำแท้งเป็นบาป เป็นแนวคิดดั้งเดิมที่มีที่มาจากศาสนาและฝังรากลึกเกือบทุกสังคม ต่อเมื่อเวลาผ่านไป อิทธิพลความคิดในเรื่องบาปของบางสังคม/บางประเทศกลับลดน้อยถอยลง จนเกิดชุดความรู้ใหม่ที่ว่าผู้หญิงควรมีสิทธิในร่างกายตนเอง  ซึ่งเป็นแนวคิดที่กลุ่มสตรีนิยมบางกลุ่มเชื่อว่าสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ความรู้ชุดนี้จะปรากฎเป็นวาทกรรมกระแสหลักก็เฉพาะในบางประเทศเท่านั้น สำหรับประเทศที่เคร่งครัดทางศาสนา ก็ยังคงมองร่างกายสตรีอยู่ภายใต้บงการที่รัฐและสังคมจะเข้ามาทำการควบคุมให้อยู่ในร่องในรอยของศีลธรรมตามความเชื่อของสังคมนั้น ๆ หากมองออกมานอกบริบทสังคมเรา ก็จะเห็นถึงความไม่เหมือนของค่านิยม ความเชื่อ  ข้อสังเกตนี้ชี้ให้เห็นถึง "ความผิดถูก" สำหรับบางเรื่องไม่ใช่ความคิดที่เป็นสากล

 

ประเด็นปัญหาที่ว่าสิทธิมนุษยชนกับสิทธิสตรีมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างไร และหากว่าเรามองว่าสิทธิสตรีคือสิทธิมนุษยชน โดยมโนทัศน์ดังกล่าวนี้จะทำให้เกิดคุณูปการอย่างไรบ้างในการส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างเพศหญิงและชาย  ดังนั้น  ผู้เขียนจึงได้ทำการศึกษาค้นคว้างานวิจัยและบทความต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  เพื่อสำรวจมโนทัศน์สิทธิสตรีคือสิทธิมนุษยชนอย่างไร


[1] สรุปจากภาษาอังกฤษ Article 12  of Universal Declaration of Human Rights ที่กำหนดไว้ดังนี้ "the rights and freedoms set forth in this Declaration, without distinction of any kind, such as race, colour, sex, language, religion, political or other opinion, national or social origin, property, birth or other status."

[2] โปรดดูรายละเอียด Blanche Wiesen Cook, "Eleanor Roosevelt and Human Rights: The Battle for Peace and Planetary Decency, "Edward P. Crapol, ed. Women and American Foreign Policy: Lobbyists, Critics, and Insiders (New York: Greenwood Press, 1987), 98-118; Georgina Ashworth, "Of Violence and Violation :      Women and Human Rights," Change Think book II (London, 1986) อ้างใน Bunch, “Women's Rights as Human Rights: Toward a Re-Vision of Human Rights,” p. 487.

[3] กนกวรรณ ภิบาลชนม์, “สิทธิสตรีตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ,” หน้า 105.

[4]Butler, Judith, “Performative Acts and Gender Constitution: An Essay in Phenomenology and Feminist Theory,” p. 520.

 

                                      บรรณานุกรม

กนกวรรณ ภิบาลชนม์. “สิทธิสตรีตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติ  ต่อสตรีในทุกรูปแบบ,”          สิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย, กรุงเทพฯ: โครงการศูนย์กฎหมายสิทธิ                   มนุษยชนและสันติศึกษา สาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2543: 105-109.

 

Bunch, Charlotte. “Women's Rights as Human Rights: Toward a Re-Vision of Human Rights,” Human Rights Quarterly, 12, no. 4, November 1990: 486-498.

Butler, Judith. “Performative Acts and Gender Constitution: An Essay in Phenomenology and         Feminist Theory,” Theatre Journal,  40, no. 4, December 1988: 519-531.

 

หมายเหตุ  รายละเอียดของงานศึกษาเรื่องนี้จะนำเสนอเป็นระยะ ๆ ในโอกาสต่อไป

          

หมายเลขบันทึก: 420022เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2011 11:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 15:59 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีครับ คุณ sila

"ความผิดถูก" สำหรับบางเรื่องไม่ใช่ความคิดที่เป็นสากล

การทำแท้งเป็นบาป ในบางบริบทในความหมาย

ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมและจารีตประเพณี ในบันทึกใช่มั้ยครับ

เมื่อวาน ผมนั่งคุยกับเพื่อนพยาบาลด้วยกัน

ประเด็นเสรีภาพในการเปลี่ยนคำนำหน้านาม และการใช้นามสกุล ประเด็นแบบนี้ เข้าข่ายความเป็นสากลมั้ยครับ คุณsila

เพื่อนพูดว่า โชคดีที่ยังใช้นามสกุลเดิมหลังแต่งงาน และตอนนี้ หย่าขาดกับสามี จึงเป็นความรู้สึกดี ที่สามารถใช้ คำนำหน้านาม เป็นนางสาว และนามสกุลเดิม ของตน

..

ผมมองครับว่า...เป็นความภูมิใจในเกียรติและศักดิ์ของสตรี ประเด็นหนึ่ง ไม่ทราบคุณsila มีความเห็นอย่างไรบ้าง ครับ

..

มาเยี่ยมด้วยความระลึกถึง

 

เกิดอะไรขึ้นกับอาจารย์นพลักษณ์ ๙ ครับเนี่ย ...

อาจารย์นพลักษณ์ ๙ ได้เดินทางมาเขียนบันทึกแล้วครับ เย้ !!!

  พี่หญิงศิลาณีจ๋า

 เห็นด้วยกับสิทธิสตรีที่ควรเท่าเทียมกับผู้ชายในทุกๆ ด้านดีๆค่ะ

 และสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความคิดของทั้งผู้ชาย ผู้หญิงในเรื่อง ศักดิ์ศรีของลูกผู้หญิง ความรักและนับถือตัวเอง ความภาคภูมิใจ  จะเป็นเกราะป้องกันปัญหาต่างๆ ในเรื่องเพศ ให้รู้เท่าทัน และไม่ไปสร้างปัญหาลูกโซ่ที่เชื่อมโยงไปอีกหลายๆ ประเด็น

 ว่างวันไหนบ้างเอ่ย แล้วจะเมลไปหานะคะ คิดถึงจัง ฝันดีค่ะ :)

ช่วยอธิบายพร้อมกับเชื่อมโยงสิทธิสตรีที่ติดเชื้อเข้ากับแนวคิดสิทธิสตรเสรีนิยมให้หน่อยได้ไหมคะ คือพอเข้าใจค่ะแต่ไม่รู้ว่าจะนำมาวิเคราะห์เหตุการณ์สิทธิหญิงติดเชื้อเข้ากับทฤษฎีต่างๆอย่างไร ช่วยหน่อยนะคะ ขอบคุณมากค่ะ

  • ขอบคุณคุณแสงแห่งความดีIco48 ที่แวะมาทักทายและให้แง่คิดที่น่าสนใจค่ะ ทั้งเรื่องชื่อสกุล และเรื่องการทำแท้งเป็นส่วนหนึ่งของการเรียกร้องสิทธิสตรีที่หลายประเทศต่อสู้มาอย่างยาวนานค่ะ ตอนนี้หลายประเทศต่างยกเลิกระบบข้อบังคับการใช้ชื่อสกุลสามีโดยให้อิสระหญิงมีสามีใช้ชื่อสกุลตนเองหรือของสามีก็ได้ค่ะ ส่วนเรื่องทำแท้งบางประเทศอนุญาตให้เสรีได้โดยนอกจากจะขึ้นอยู่กับสุขภาพกับปัญหาทางอาชญากรรม (หญิงถูกข่มขืนจนตั้งครรภ์) แล้ว ยังขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ว่าช่วงไหนให้ทำแท้งได้ อย่างนี้เป็นต้น
  • รายละเอียดหากสนใจก็คุยกันหลังไมค์ได้ค่ะ หากเป็นการแลกเปลี่ยนก็ยินดีค่ะ จริง ๆ แล้วไม่ได้ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ แต่รู้วิธีการค้นคว้าหาจุดเชื่อมโยงค่ะ
  • ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

ขอบคุณท่านอาจารย์นพลักษณ์ ๑๐ Ico48ที่กรุณามาเชียร์ค่ะ ทุกครั้งที่เห็นมาเยี่ยมเยียนรู้สึกว่าเหมือนได้ดื่มน้ำส้มเย็น ๆ สบายใจยังไงไม่ทราบค่ะ

  • หวังว่าน้องปู Ico48 คงมาเที่ยวกรุงเทพอย่างสบายใจมีความสุขนะคะ คราวหน้าขอแก้ตัวใหม่ ช่วงสามเดือนนี้ พี่งานรัดตัวจริง ๆ ค่ะ แล้วคุยกันทาง email ก็ได้นะคะ ขอบคุณมากค่ะ
  • สวัสดีค่ะ คุณ beenice จะลงข้อมูลเกี่ยวกับเรื่ืองนี้ในบันทึก G2K ประมาณ 3 ตอนจบ โดยจะมีการอ้างอิงหนังสือที่ศึกษาค้นคว้ามาด้วย ถ้าอย่างไรแล้วลองอ่านประกอบหนังสือที่อ้างมาด้วยก็จะช่วยได้อีกทางค่ะ เพราะหลายท่านที่ยกมาอ้างอิงจะเป็นผู้เชี่ยวชาญกว่า โดยส่วนตัวแล้ว ในส่วนของกฎหมาย จะเชี่ยวชาญกฎหมายนิติกรรมสัญญาโดยเฉพาะข้อตกลง/สัญญาระหว่างประเทศ แต่สามารถศึกษาประเด็นอื่นได้ หากสนใจเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม ก็คงไม่เชี่ยวชาญเท่ากับผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการนั้น ๆ โดยตรง
  • หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมและหารือเป็นการส่วนตัว ติดต่อผ่าน facebook ได้ค่ะ ในชื่อ "sila phuchaya" ส่งข้อความมาแนะนำตัวด้วยจะเป็นพระคุณยิ่งค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท