ชีวิตที่พอเพียง : ๑๑๖๒. ไทยสู้เอดส์


 

          ประเทศไทยจัดได้ว่าประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโรคเอดส์ในระดับดี ที่น่าภาคภูมิใจ   โดยมีกลไกคือ คณะกรรมการเอดส์ชาติ  หนุนด้วยกลไกสร้างความรู้ คือ ศรอ. (ศูนย์ประสานงาน พัฒนารูปแบบและกลไกการรณรงค์ป้องกันเอดส์)   ซึ่งดำเนินการโดยใช้  ๓ กลยุทธ์   แล้ว สวรส. จัดโครงการวิจัยเข้าไปหนุน  เท่ากับมีมาตรการสร้างความรู้เชิงระบบ เอาไปป้องกันเอดส์

          ผมชอบมาก ที่ประเทศไทยเน้นการทำงานแบบกระจายความรับผิดชอบให้แก่พื้นที่  ให้อิสระในการคิดรูปแบบของตนเอง   ส่วนกลางไม่กำหนดรูปแบบการดำเนินการอย่างตายตัว   แล้วใช้กลไกการประเมินดำเนินการค้นหาความสำเร็จ   ทีมประเมินดำเนินการใน ๘ จังหวัด

          หัวใจของความสำเร็จ คือระบบข้อมูลและวิชาการ   ในการประชุมคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขเมื่อวันที่ ๒๐ ธ.ค. ๕๓ ผศ. ดร. ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ แห่งคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มารายงานผลการวิจัย “การสร้างกลไกที่ยั่งยืนของจังหวัด ในการขับเคลื่อนการเป็นเจ้าของงานป้องกันเอดส์ในพื้นที่”  ผมชื่นชมยุทธศาสตร์สำคัญคือ กำหนดให้พื้นที่หาทรัพยากรมาใช้เพื่อการนี้ได้จริง 

          และชื่นชมการประเมินโดย ดร. ชนวนทอง ที่ประเมินแบบเสริมพลัง ทำให้ผู้ทำงานมีความสุข    ข้อเรียนรู้คือเคล็ดลับอยู่ที่ PLD (Participatory Learning for Development)   ซึ่งให้บทเรียนว่า กลไกของความยั่งยืนที่เราต้องการนั้น มีความซับซ้อนมาก   ต้องการปัจจัยหลากหลายปัจจัยมาประกอบกัน จึงจะเกิดกลไกป้องกันเอดส์ ที่ยั่งยืนได้   และกลไกของการประเมินแบบเสริมพลังเป็นกลไกหนึ่ง   ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐด้านสาธารณสุขน่าจะเป็นผู้ดำเนินการ

          ผศ. ดร. สุคนธา คงศีล แห่งศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการประเมินผล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอผลของโครงการวิจัยการควบคุมกำกับและประเมินผลโครงการพัฒนารูปแบบและกลไกรณรงค์เพื่อป้องกันปัญหาเอดส์ในกลุ่มเยาวชนและกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ กลยุทธที่ ๒ การเสริมสร้างศักยภาพและการมีส่วนร่วมของเครือข่าย 

          วิธีการป้องกันโดยมอบให้แกนนำป้องกันเอดส์ไปดำเนินการ ๒๒ โครงการ ใช้เงินประมาณ ๑๕๐ ล้านบาท  ใน ๒๖ จังหวัด   โดยที่แกนนำนี้มักจะเป็น NGO ในพื้นที่ และมีวิธีทำงานแบบเดิมๆ ไม่มีอะไรใหม่  ผลที่ได้ไม่น่าประทับใจ   ผลการทำ marginal analysis  บอกว่าการดำเนินการในเยาวชนให้ผลคุ้มค่ากว่าในชายรักชาย และผู้ใช้ยาเสพติด

          ในกลุ่มชาติพันธุ์ต้องเข้าผ่านโครงการประวัติศาสตร์ชุมชน ให้เกิดความไว้วางใจก่อน

          ผมมองว่า เรื่องการป้องกันเอดส์นี้ น่าจะเป็นหัวข้อของ PBL (Project-Based Learning) ของนักเรียน เริ่มตั้งแต่ชั้น ม. ๑  หรือ ป. ๕   ให้นักเรียนรวมกลุ่มกันทำโครงการป้องกันเอดส์ในชุมชนหรือในกลุ่มนักเรียน   และมีการจัด contest สำหรับนักเรียนแต่ละช่วงอายุ   และสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายกลุ่ม  ถือเป็นการเรียนรู้สาระวิชาสุขศึกษา   และฝึกทักษะชีวิตที่ซับซ้อน 

 

 

วิจารณ์ พานิช
๒๖ ธ.ค. ๕๓


                                     

 

หมายเลขบันทึก: 420015เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2011 10:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 08:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท