จับภาพ ต. วัดดาว อ. บางปลาม้า สุพรรณบุรี


ประชาคมที่เข้มแข็ง... ร่วมกันฝัน ร่วมกันทำ ร่วมกันแก้ไข ร่วมมือ ร่วมใจ....คงไม่ไกลเกินฝัน

      ในวันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม 2549 ช่างเป็นโอกาสอันดีที่ได้เข้าไปจับภาพที่วัดดาว สุพรรณบุรี กับน้ำ (ทีมประชาสัมพันธ์ของสคส.) และครูใหม่.. KM Intern…… แค่ชื่อวัดดาว......จ๊ะจ๋าก็วาดภาพไปไกลแล้วว่าที่นี่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันยังไง....ชุมชนมีมุมมองในการดำเนินการจัดการความรู้อย่างไร...............จ๊ะจ๋าก็มีความตั้งใจว่าจะไปดูการนำกระบวนการ KM ลงสู่ชุมชนมีลักษณะเช่นไร  ของคุณทรงพล เจตนาวณิชย์ ผอ.สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) และ มีโอกาสได้พบกับผู้นำชุมชน ซึ่งมีทั้ง อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้าน รวมทั้งจะไปดูว่ามีการนำ KM เข้าไปใช้บ้างแล้วหรือไม่  และที่สำคัญคือเราได้ลองนำเกณฑ์ของ KM Inside เข้าไปพิจารณาเพื่อให้รางวัล KM Inside ด้วย 

     ซึ่งครั้งนี้เป็นการประชุม การจัดการความรู้สู่การทำประชาคมอย่างมีส่วนร่วม ตามโครงการโรงเรียนผู้นำตำบลวัดดาว ครั้งที่ 3 ณ ศาลาการเปรียญวัดดาว ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการนี้มี 3 กลุ่มได้แก่  กลุ่มบริหารอบต. วัดดาว กลุ่มข้าราชการฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และกลุ่มผู้นำธรรมชาติ ซึ่งเป็นแกนนำชาวบ้านทั้ง 10 หมู่บ้าน เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน 

     สิ่งที่พบเจอคือ

     1.       ได้เห็นกระบวนการ KM ลงสู่ภาคชุมชนว่ามีลักษณะการนำ KM สอดแทรกเข้าไปในกิจกรรม ซึ่งในครั้งนี้ คุณทรงพลได้นำ VCD ของการประชุมครั้งที่ 1 และ 2 มาฉายให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ดูกัน  ส่วนใหญ่นางเอกและพระเอกของ VCD เป็นกลุ่มคนที่มาร่วมประชุมในครั้งที่ 3 ส่งผลให้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ทุกคนตั้งใจดูกันเต็มที่......และที่น่าสนใจคือ 

VCD เวทีพัฒนาศักยภาพวัดดาว วันที่ 9 - 11 พ.ย. 48 ครั้งที่ 1 การนำกิจกรรมแทรกเข้ากระบวนการเรียนรู้โดยมีทีมของเสมสิกขาลัยเป็นวิทยากรกระบวนการ และมีหลักการออกแบบกระบวนการเรียนรู้คือ

  • การทำงานเป็นทีมและการสื่อสาร ผ่านกิจกรรม  แม่น้ำพิษ
  • การทำความเข้าใจเรื่องความหลากหลายของคน ผ่านกิจกรรม ตัวต่อมหาสนุก และ สี่ทิศ (หมี-กระทิง-เหยี่ยว-หนู)
  • การไว้วางใจซึ่งกันและกัน  ผ่านกิจกรรม เดินฝ่าตะปู
  • การรับฟังอย่างลึกซึ้ง ผ่านกิจกรรม สายธารชีวิต
  • การออกจากความคุ้นชินและฝึกสติ ผ่านกิจกรรม การนั่งสมาธิ และ นอนพักตระหนักรู้    

     เมื่อฉาย VCD จบ คุณทรงพลได้เข้าสู่กระบวนการโดยสรุปบทเรียนที่ผ่านมาและฉายภาพรวมให้กับทีมแกนนำโดยเน้นการเป็นผู้นำที่ไม่ใช่แค่การสวมหมวกเท่านั้น...แต่การทำงานต้องมาจากใจ รวมทั้งการวางตัวตน บทบาท /หน้าที่ของตน และ การสร้างความเชื่อมโยงและมองตัวตนของตน บทบาทหน้าที่ และทุนที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น คน ดิน น้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ …..ชุมชนมีการจัดการทรัพยากร จัดการเศรษฐกิจที่ดี หรือไม่ ไม่ใช่ด้านเงินอย่างเดียว แต่เป็นด้านการจัดการปัญญา ..นั่นคือ ความรู้...และที่สำคัญมักละเลยสิ่งที่ดีๆ ภายในชุมชน ไม่เชื่อชุมชนตนเอง..ไม่ค่อยเรียนรู้สิ่งที่อยู่ใกล้ตัว  ทั้งๆ ที่ความรู้อยู่รอบตัวเรา ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือ สร้างศรัทรา สร้างทีมงาน และความหลากหลายของทีมงาน ให้นำจุดเด่นดึงออกมาพัฒนาการบริหารชุมชน /กลุ่ม/ทีมงาน...การเปรียบเทียบการมีความคิดนอกกรอบ ไม่ตกร่องเดิม ดั่งคำพูดที่ว่า ไม่เปลี่ยนความคิด ชีวิตจะเปลี่ยนได้อย่างไร ซึ่งยังจำเป็นต้องมีพี่เลี้ยงที่ช่วยประคับประคอง การเรียนรู้ต้องผ่านการปฏิบัติ ต้องมีคุณอำนวยคอยประคับประคอง

     และคุณทรงพล ให้ 2 โจทย์แก่แกนนำในช่วยกันระดมความคิดและนำเสนอว่า ทบทวน บทบาทและหน้าที่ ของเราจะทำอะไรบ้าง และ ประชาคมหมู่บ้านที่ดี ต้องเป็นอย่างไร ซึ่งให้แกนนำได้ฝึกคิด ฝึกพูด ฝึกนำเสนอ  แสดงความคิดเห็น เปิดโอกาสในการเก็บชั่วโมงบิน ผ่านเวทีประชาคมหมู่บ้านให้บรรลุผลสำเร็จ ซึ่งในการนี้ได้สอดแทรกสาระ KM โดยเป็นการพูดคุยแบบเชิงบวกเพื่อดึงพลังด้านบวกของแต่ละคน ซึ่งในการพูดคุยต้องไม่มีผิดไม่มีถูก เน้นการฟัง ให้ฟังอย่างตั้งใจ ฟังอย่างลึกซึ้ง มีสมาธิ หรือ ภาษา สคส. คือ Deep listening  และ จับเรื่องที่สำคัญ ไม่โต้แย้ง เคารพความคิดเห็นของเพื่อนทุกคน การกล้าพูด ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ฝ่ากำแพงการไม่กล้าคิด เน้นว่า คำบ่นห้ามมีเด็ดขาด และการมีคนคอยชวนคุยและมีคนจดบันทึก ซึ่งก็คือคุณอำนวยและคุณลิขิตในกลุ่มนั่นแหละคะ ...แหมเป็นการนำกระบวนการที่เนียนอยู่ในเนื้องานจริงๆ 

      2. การได้สัมภาษณ์กับนายก อบต. วัดดาว คือ คุณปะทิว รัศมี   พบแนวคิดของการสร้างให้คนในชุมชนเกิดการเรียนรู้ ซึ่งมีมุมมองของผู้นำที่อยากให้แกนนำของตนติดอาวุธนั่นคือ ปัญญา และความต้องการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการทำงาน และให้ความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐาน และมุ่งเน้นในเรื่องคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน เช่น การสร้างโรงเรียนชาวนา (วัดดาว โพนตะกอน สันดอน ดอนตาจีน คูบัว) โครงการศูนย์เด็กเล็ก  แก้ปัญหาเด็กเข้าไปเรียนในเมืองเกือบ 100 %  และนำกระบวนการ BBL สร้างสมองให้เด็ก  

      3. เนื่องจากทีมแกนนำยังไม่เคยได้นำกระบวนการจัดการความรู้ไปลองใช้ในกลุ่มตน เพราะ 2 ครั้งที่ผ่านมาเป็น การติดอาวุธ และในครั้งที่ 3 นี้เป็นการวางแผนและการสร้างความเข้าใจในการเตรียมความพร้อม นั่นคือ ปัจจัยต่างๆ ที่จะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของแกนนำ เพื่อนำไปใช้ในกลุ่มของตน และเมื่อนำไปใช้แล้วจะกลับมาประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในภายหลัง  ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนอบต.  และมีพี่เลี้ยงคือสรส. ในการให้คำแนะนำทั้งเรื่องของการหาข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล สอนให้เขียนโครงการ และเข้าไปร่วมด้วยในบางครั้ง เพื่อให้ทีมแกนนำมีความมั่นใจ ตลอดการเดินทางการเป็นประชาคมที่เข้มแข็ง

      4. ความร่วมมือของชุมชนในการร่วมใจที่จะพัฒนาชุมชนของตนให้มีความเข้มแข็ง และสัมพันธภาพที่ดีระหว่าง สรส. อบต. และชาวบ้าน รวมทั้งวิสัยทัศน์ของคุณเอื้อที่มีความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือชาวบ้านของตนให้มีความอยู่ดีกินดี คิดเป็น ไม่ใช่...มีเงินแต่ขาดการจัดการที่ดี...ดั่งคำพูดของนายก อบต. วัดดาว ที่ว่า...รวยแต่โง่...และในตอนนี้เราต้องการติดอาวุธให้ชาวบ้านมีปัญญาในการแก้ไขปัญหาและความต้องการทุกเรื่องมาจากชุมชนเอง...ไม่ใช่การยัดเหยียดจากหน่วยงานราชการจากความเห็นของทุกคนที่มีส่วนร่วม สู่ประชาคมที่เข้มแข็ง... ร่วมกันฝัน ร่วมกันทำ ร่วมกันแก้ไข ร่วมมือ ร่วมใจ....คงไม่ไกลเกินฝัน  

หมายเลขบันทึก: 41882เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2006 21:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 07:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท