วิธีใช้ dialog box เพื่อพัฒนาการเรียนรู้และสร้างความรู้เชิงมโนทัศน์จากการอ่านบล๊อก


อธิบายภาพ : ตัวอย่างการพัฒนาประเด็นย่อย คำหลัก และดัชนีคำสืบค้น เพื่อเป็นเครื่องมือและวิธีประมวลความรู้จากการอ่านบล๊อก ใส่ลงไปใน dialog box ซึ่งจะทำให้บล๊อกเป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ และพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ รวมทั้งพัฒนาการอ่านของพลเมืองได้เป็นอย่างดี (ตัวอย่างจากบล๊อกเวทีคนหนองบัว)

  ความรู้เชิงมโนทัศน์ Conceptual Knowledge 

ความรู้ รวมทั้งงานความคิดที่มีความจำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตการงานของเรานั้น หลายอย่างจะเป็นความรู้เชิงมโนทัศน์ มีองค์ประกอบที่บูรณาการและผสมผสานกันของความรู้และข้อเท็จจริงจากภายนอกและแหล่งอื่นๆเพียงบางส่วน ขณะเดียวกัน ก็ต้องอาศัยการสร้างเป็นความรู้และความเข้าใจที่เป็นของตนเองและมีความจำเพาะตนขึ้นด้วยตนเอง ซึ่งจะไม่เหมือนกับผู้อื่นไปเลยเสียทั้งหมด แต่จะมีความแตกต่างหลากหลายไปตามความแตกต่างระหว่างบุคคล ซึ่งมนุษย์ทุกผู้ทุกนามย่อมมีเงื่อนไขแวดล้อมจำเพาะตนที่แผกต่างกันได้อยู่เป็นธรรมชาติ

ความรู้ในลักษณะดังกล่าวนี้ ในศาสตร์และทฤษฎีว่าด้วยความรู้ หรือ Theory of Knowledge เรียกว่า ความรู้เชิงมโนทัศน์ Conceptual Knowledge ไม่สามารถจดจำเป็นชุดประสบการณ์แบบเบ็ดเสร็จหรือท่องจำเป็นข้อมูลสารสนเทศแบบตายตัว อีกทั้งไม่ได้มีอยู่โดยตนเองในธรรมชาติ แต่สามารถสร้างให้เป็นกฏเกณฑ์โดยต้องเกิดแนวคิดและเข้าถึงมโนทัศน์ที่จำเป็นต่อสิ่งนั้นก่อน อีกทั้งสามารถมีพลวัตร เติบโต เปลี่ยนแปลง และสร้างความเป็นจริงชุดใหม่ขึ้นมาแทนกันได้ เช่น ระบบสังคม กฏจราจร การรู้จักสีสัน และการจัดประเภทความเป็นจริงต่อสิ่งต่างๆ เป็นความจริงที่ไม่แน่นอนเนื่องจากต้องขึ้นต่อบริบทและกาละเทศะทางความรู้ เช่น เป็นจริงในสถานการณ์และสังคมหนึ่ง แต่อาจจะไม่มีความหมายเลยในสังคมหนึ่ง มีประโยชน์ในยุคสมัยหนึ่ง แต่ก็อาจจะเป็นโทษในอีกยุคหนึ่ง เหล่านี้เป็นต้น

ความรู้ในสาขาสังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมวัฒนธรรม เหล่านี้ เป็นความรู้เชิงมโนทัศน์ ต้องเข้าถึงและสร้างขึ้นด้วยการเปรียบเทียบข้อเท็จจริง(Comparative Analytical Method) ตลอดจนจำเป็นต้องได้กรณีศึกษาและเกิดประสบการณ์อันหลากหลายให้มากที่สุด จากนั้น จึงสังเคราะห์และสร้างบทสรุปเป็นหลักการ กฏเกณฑ์ และทฤษฎีปฏิบัติหลายระดับ หลายกรอบ และหลายบริบท ทั้งระดับความเป็นส่วนรวมและระดับปฏิบัติจำเพาะตน เป็นความรู้ความจริงที่มีบริบท (Contextual Knowledge) ซึ่งมีธรรมชาติที่ต้องมุ่งสร้างความรอบด้านและแตกต่างหลากหลาย มากกว่าจะมุ่งหาข้อสรุปเบ็ดเสร็จตายตัว

  การอ่านเพื่อเรียนรู้และสร้างความรู้เชิงมโนทัศน์ Conceptual Learning 

การอ่านเพื่อสร้างความรู้เชิงมโนทัศน์ จะเป็นการอ่านเชิงเปรียบเทียบ ตรวจสอบประสบการณ์ วิเคราะห์ สังเคราะห์ และสร้างบทสรุปขึ้นในสามทิศทาง กล่าวคือ

  • ความรู้เดิมเข้มแข็งหนักแน่นมากขึ้น : ยืนยันและได้กรอบที่เข้มแข็งขึ้นเมื่อข้อมูลและกรณีตัวอย่างชุดใหม่สอดคล้องและเชื่อมโยงกับประสบการณ์และความรู้ที่มีอยู่แต่เดิม
  • ได้ความรอบด้านมากขึ้น : ได้มนโนทัศน์และความรอบด้านเพิ่มขึ้นเมื่อข้อมูลและประสบการณ์ชุดใหม่มีรายละเอียดมากกว่าที่เคยได้รู้
  • ได้ความรู้และความเข้าใจชุดใหม่ : ได้ความรู้และมโนทัศน์ชุดใหม่ เมื่อความรู้และประสบการณ์ชุดใหม่ให้วิธีคิดและข้อเท็จจริงที่ไม่เคยมีอยู่ในความรู้ของตนเอง

โดยกระบวนการเรียนรู้และการอ่านเพื่อสร้างความรู้ในลักษณะดังกล่าวนี้ วิธีอ่านหนังสือและบทบาทของหนังสือจึงมีความแตกต่างจากการอ่านเพื่อถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจ หรือ Transfer of Knowledge แต่การอ่านจะเป็นวิธีสร้างประสบการณ์และวิธีสร้างความรู้ อีกทั้งหนังสือก็มิใช่แหล่งประสบการณ์ แต่จะเป็นแหล่งข้อมูล และเป็นสภาพแวดล้อมเงื่อนไขที่จะก่อให้เกิดวิธีคิดและการเรียนรู้เชิงมโนทัศน์ขึ้นภายในตัวคน

  การใช้ dialog box เป็นเครื่องมือประมวลความรู้ 

วิธีอ่านเพื่อสร้างความรู้ในลักษณะนี้ จะสามารถพัฒนาขึ้นให้เป็นศิลปะการเรียนรู้ของแต่ละคน รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาวิธีอ่านโดยใช้ประเด็นและมโนทัศน์ต่อสิ่งต่างๆเป็นกรอบในการอ่าน ซึ่งเราสามารถใช้เป็นแนวคิดในการพัฒนาวิธีใช้ dialog box เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพการอ่านเพื่อการเรียนรู้ดังกล่าวนี้ได้เป็นอย่างดี

วิธีอ่านในลักษณะนี้จะเป็นการอ่านศึกษาค้นคว้าโดยใช้ประเด็นทางความคิดและประเด็นเชิงนโนทัศน์ของเรื่องราวต่างๆ เป็นเครื่องมือชี้นำการอ่านเพื่อรวบรวมข้อมูล เช่น การอ่านโดยใช้คำหลัก การอ่านไปตามหัวข้อย่อยที่ต้องการ การอ่านโดยอ่านย้อนหลังจากดัชนีคำหลักของหนังสือ (Index) อาจจะไม่ใช่การอ่านไปตามลำดับเนื้อความเพื่อถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจของผู้เขียนเข้าสู่ในตัวผู้อ่าน วิธีอ่านโดยตรวจสอบเข้ากับประสบการณ์และมโนทัศน์ของผู้อ่าน จะทำให้การอ่านหนังสือบรรลุจุดหมายได้ทั้งการเข้าใจในสิ่งที่ผู้เขียนต้องการ ขณะเดียวกัน ก็สามารถใช้ข้อมูลและความรู้ในหนังสือหรือบันทึก สร้างความรู้ขึ้นเป็นของตนเองด้วย วิธีใช้ dialog box เพื่อพัฒนาการอ่าน อีกทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการอ่านและสร้างความรู้จากบันทึก จึงมีความสำคัญและสามารถพัฒนาเป็นวิธีใช้อย่างหนึ่งในการเขียนบันทึกในแนวนี้ได้

  การสร้างประเด็น มโนทัศน์ และ Index ใส่ลงไปใน dialog box 

หน้าเพจเพื่อเขียนบันทึก จะมีรายการสำหรับทำกล่องสนทนา หรือ dialog box เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆของผู้เขียนบันทึกได้ เราสามารถพัฒนาวิธีใช้ให้เป็นเครื่องมือชี้นำและช่วยค้นหาประเด็นในการอ่านของผู้อ่านได้ ซึ่งประเด็นสำคัญเหล่านี้ จะนอกเหนือรายการคำหลักที่อยู่ในตอนท้ายของบันทึกซึ่งก็มีความสำคัญด้วยเช่นกัน

การแสดงประเด็นคำค้นในกล่องสนทนา จะช่วยให้ผู้อ่านกวาดสายตาตรวจสอบเพื่ออ่านไปรอบหนึ่งเร็วๆให้ได้ความคิดและมีแนวทางสำหรับการอ่านให้เห็นภาพโดยรวมได้ดีขึ้น เราควรดึประเด็น หัวข้อย่อยๆ และคำสำคัญ ออกมาให้ครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมดของบันทึก จากนั้น ก็พิมพ์ใส่ไว้ในกล่องสนทนา

วิธีการดังกล่าวนี้ จะเป็นประโยชน์มากสำหรับผู้ที่ต้องใช้ความรู้ทำงาน รวมทั้งนักอ่านหนังสือที่ต้องการอ่านและต้องศึกษาค้นคว้าเป็นจำนวนมากอยู่เสมอ ซึ่งต้องมุ่งศึกษาค้นคว้าให้ได้ทั้งความรอบด้านและความลุ่มลึกเชิงเนื้อหาจากการอ่าน จึงเป็นการพัฒนาเครื่องมือและวิธีการจัดการความรู้ผ่านบล๊อกและการบันทึก เพื่อพัฒนาการอ่านและส่งเสริมการสร้างความรู้จากการอ่านให้แพร่หลายและมีความเข้มแข็งมากยิ่งๆขึ้น.

หมายเลขบันทึก: 413883เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2010 14:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2013 08:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

มาสารภาพกับอาจารย์ว่า สมัยก่อนใส่ทุกบันทึก แต่ต่อมามันดันข้อความให้บันทึกไม่สวยเลยไม่ได้ใส่ ต่อไปจะใส่เพิ่มครับ ขอบคุณครับ

  • ขอบพระคุณข้อคิด  คำแนะนำที่มีคุณค่า  ต่อการพัฒนาการเขียนบันทึก
  • คงต้องย้อนกลับไปดูบันทึกเก่าที่เคยบันทึกไว้ 
  • เพื่อให้เกิดประโยชน์สำหรับผู้อ่านอย่างสูงสุด
  • และขอบพระคุณ ภาพประทับใจ มีคุณค่ามิอาจประเมินค่าได้  ที่ฝากให้ ในบันทึก ✿อุ้มบุญ✿ เป็นรางวัลและกำลังใจในการ สร้างสรรค์สิ่งดีดีต่อไปค่ะ
  • ขอบมอบภาพ นี้แทนคำขอบพระคุณ ในกิจกรรมทำมือ ให้พิเศษแด่ "คนโดนใจ....."

 

 

:) ... แบบว่าเมนูที่ปรุงไว้ส่วนใหญ่ ไม่ค่อยมีเนื้อเท่าใดค่ะ เลยเขียนสูตรได้ยากเจ้าค่ะ :)  เมนูบันทึกต่อไป จะพยายามเคี่ยว หาเนื้อมาใส่เพิ่มรสชาติ ขอบคุณค่ะ ... :)

จริงอย่างที่อาจารย์ขจิตว่าด้วยครับ
เมื่อก่อนผมก็พยายามทำไว้ทุกบันทึกในรูปแบบต่างๆ แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งมันทำให้เนื้อความแตกกระจายไปหมด เลยยังไม่ค่อยกล้าเข้าไปใช้เหมือนกันครับ อาจารย์สบายดีนะครับ

สวัสดีครับคุณอุ้มบุญครับ
ขอบคุณภาพที่มีหนึ่งเดียวในโลกนี้นะครับ
แต่ดูแล้ว พอรู้ว่าเป็นดอกกระโดนก็เกิดอาการน้ำลายไหลน่ะสิครับ
เคยพาอาจารย์จติไปกินข้าวแถวศาลายา ในเมนูที่เรากินกันนั้นมีเต้าเจี้ยวหลนกับดอกกระโดนด้วยครับ

สวัสดีครับคุณปูครับ
หลากหลายแนวอย่างที่มีอยู่นี่ผมว่าดีนะครับ
เหมือนหนังสือแมกกาซีนฉบับครอบครัว ได้ครบทุกรส
วิธีอย่างที่ผมบันทึกไว้นี้ ก็เหมาะสำหรับบางเรื่องและสำหรับงานบางแนวน่ะครับ
โดยเฉพาะการบันทึก สร้างความรู้ จัดการความรู้ไปบนการทำงานและกิจกรรมชีวิตต่างๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท