ขรก.-วุฒิฯ รับเงินใหม่ เม.ย.54 นายกฯ ชี้ ส.ส.รอหลังเลือกตั้ง


ครม.ไฟเขียวขึ้นเงินเดือน "ข้าราชการ-ส.ว." มีผล 1 เม.ย. ขณะที่ ส.ส.รอหลังเลือกตั้งใหม่ เบรกมหาดไทยขอขึ้นเงินเดือน อบต. สั่งคลังศึกษาเพิ่ม "อภิสิทธิ์" ยันปรับตามค่าครองชีพ ไม่ใช่ "ซานตาคลอส" ธปท.ยันขึ้นเงินเดือน-ค่าจ้างกระทบเงินเฟ้อน้อย เชื่อใช้ดอกเบี้ยคุมได้
ครม.ไฟเขียวขึ้นเงินเดือน "ข้าราชการ-ส.ว." มีผล 1 เม.ย. ขณะที่ ส.ส.รอหลังเลือกตั้งใหม่ เบรกมหาดไทยขอขึ้นเงินเดือน อบต. สั่งคลังศึกษาเพิ่ม "อภิสิทธิ์" ยันปรับตามค่าครองชีพ ไม่ใช่ "ซานตาคลอส"  ธปท.ยันขึ้นเงินเดือน-ค่าจ้างกระทบเงินเฟ้อน้อย เชื่อใช้ดอกเบี้ยคุมได้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบขึ้นเงินเดือนข้าราชการและข้าราชการการเมือง โดยขึ้นเงินเดือนและค่าตอบแทนให้ข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ 5% เป็นการปรับตามค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น และเป็นไปตามหลักการ ซึ่งไม่ได้เป็นการทำบัญชีใหม่  "ทุกครั้งที่มีการเพิ่มเงินเดือน ตามหลักแล้วคณะกรรมการเงินเดือนแห่งชาติ (กงช.) จะโยงกับบุคลากรภาครัฐที่ไม่ใช่ข้าราชการ เช่น ประธานศาลฎีกา นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา จะอยู่ในระดับเงินเดือนที่เท่ากัน"
       ส่วนที่เงินเดือนลดหลั่นลงมาจะเป็นประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประธานสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และองค์กรอิสระ ซึ่งการขึ้นเงินเดือนส่วนนี้เป็นการยึดโยงของระบบ "มีความยุ่งยากในบางส่วน เช่น กรณีของตำรวจและครู ที่มีกฎหมายค้างในสภา  ครม.จึงบอกว่าในเมื่อทั้งหมดจะมีผลในวันที่ 1 เม.ย. 2554  จึงให้ดูว่ากฎหมายที่ค้างในสภาทั้งสองฉบับหรือฉบับใดฉบับหนึ่ง ผ่านสภาก่อนวันที่ 1 เม.ย. 2554 หรือไม่ แล้วจึงต้องมาดูว่าพระราชกฤษฎีกาที่ไปเกี่ยวข้องกับตำรวจหรือครูจะต้องมีการปรับหรือไม่อย่างไร”
       นายกฯ กล่าวขยายความว่า กรณีของ ส.ส.ที่ ครม.เห็นว่ายังไม่ให้ขึ้นในวันที่ 1 เม.ย. 2554 แต่ให้ขึ้นเมื่อมีการเลือกตั้งใหม่เป็นสภาชุดต่อไป เพราะไม่มีเจตนาที่จะขึ้นเงินเดือนให้กับสภาในชุดปัจจุบัน  ฉะนั้นเงินเดือน ส.ส.ก็จะขึ้นเอาหลังจากมีการเลือกตั้ง แต่ไม่ก่อนวันที่ 1 เม.ย. “ถ้าฟังไม่ชัดจะได้เข้าใจว่าถ้ามันมีสภาหลัง 1 เม.ย.  ก็ไปขึ้นตอนมีสภาใหม่ ถ้ามีสภาใหม่ก่อนวันที่ 1 เม.ย. สภาใหม่ก็ยังไม่ได้ ต้องได้ตอน 1 เม.ย. อันนี้จะได้ชัดเจนว่าเป็นแนวทางที่เราได้กำหนดเอาไว้”  ส่วนกรณีสิทธิประโยชน์สวัสดิการของ ส.ส.ยังไม่เห็นชอบให้กระทรวงการคลังและสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนฯ พิจารณาอีกครั้ง
       นายกฯ กล่าวถึงการตีกลับขึ้นค่าตอบแทนของ อบต. ว่า กระทรวงมหาดไทยเสนอตัวเลขเข้าที่ประชุม ครม. มีการตั้งข้อสังเกตและคำถามหลายเรื่อง  ที่สำคัญคือกระทบงบประมาณในท้องถิ่นของ อบต. “จึงเป็นห่วงว่าใน อบต.ที่มีเงินสำหรับการพัฒนาน้อยอยู่แล้ว การนำไปเพิ่มค่าตอบแทนตรงนี้ จะกระทบกับการพัฒนาหรือไม่ ครม.จึงให้ รมว.คลังและสำนักงบประมาณดูแลรายละเอียดในส่วนนี้ร่วมกับ รมว.มหาดไทยภายใน 1 สัปดาห์ เพราะกระทรวงมหาดไทยตั้งใจจะประกาศให้มีผลในวันที่ 1 ม.ค. 2554” นายกฯ กล่าว
       นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องดูว่าตัวเลขทั้งหมดจะมีผลกระทบกับงบพัฒนาท้องถิ่นของ อบต.แค่ไหน เพราะมหาดไทยชี้แจงยังไม่สามารถทำให้เกิดความกระจ่างได้ แม้จะเห็นว่ากระทบไม่มาก แต่ขอให้ไปดูในรายละเอียดเพราะฐานะของแต่ละ อบต.ไม่เท่ากัน อีกทั้งเงินอุดหนุนที่เราจัดให้ไปท้องถิ่นในการจัดทำงบประมาณไม่ได้มีการคิดเรื่องการเพิ่มค่าตอบแทนเอาไว้ จึงต้องไปกินในส่วนของงบพัฒนาท้องถิ่น  เมื่อถามว่า นายกฯ ถูกมองว่าเป็นซานตาคลอสแจกเงินปลายปี นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า “คงไม่ใช่ เพราะหุ่นผมไม่ให้  ค่าแรงเป็นการขึ้นประจำปีอยู่แล้ว”
       นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ. การปรับบัญชีเงินเดือน ค่าจ้าง และค่าตอบแทนรายเดือนบุคลากรภาครัฐ ได้แก่ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ข้าราชการทหาร ข้าราชการครูและบุคลากรการศึกษา ข้าราชการอัยการ ในอัตรา 5% จากบัญชีเงินเดือนในปัจจุบัน โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2554  พร้อมเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ โดยปรับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) ให้แก่ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญในอัตรา 5% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2554  พร้อมกันนั้น ครม.เห็นชอบปรับเพิ่มอัตราเงินเดือนประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ปรับเพิ่มอัตราเงินเดือนประธานศาลฎีกา ประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประธานกรรมการและกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และปรับเพิ่มอัตราเงินเดือนตุลาการศาลปกครองตามร่างกฎหมายที่เสนอมา มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2554
       นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบปรับเพิ่มเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นแก่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และกรรมาธิการในอัตราเฉลี่ย 14.3-14.7% เนื่องจาก ส.ว.และ ส.ส.ไม่ได้ปรับเพิ่มเงินเดือนและค่าตอบแทนอื่นมาตั้งแต่ปี 2548 ขณะที่ฝ่ายบริหารมีการปรับเพิ่มเงินเดือนมา 2 ครั้งแล้ว คือ วันที่ 1 ต.ค. 2548 และวันที่ 1 ต.ค. 2550  ในส่วนการปรับเพิ่มเงินเดือนของ ส.ส.ให้มีผลบังคับใช้กับ ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งสมัยหน้า ส่วนการปรับเพิ่มเงินเดือน ส.ว.ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2554 เนื่องจาก ส.ว.สรรหาจะสิ้นสุดวาระและมีการสรรหาในระยะอันใกล้นั้น ดังนั้น เพื่อให้เป็นธรรมกับ ส.ว.จึงให้ปรับเพิ่มเงินเดือนในวันดังกล่าว เพราะไม่เช่นนั้น ต้องรอนานถึง 3 ปีกว่าจะมีการปรับเพิ่มเงินเดือน ที่ประชุมมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าเงินเดือนของเลขาธิการนายกรัฐมนตรีต่ำกว่าเลขาธิการคณะรัฐมนตรี น่าจะปรับเพิ่มให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสม
       นายวัชระ ระบุว่า สำหรับการปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ ข้าราชการการเมือง และประธานศาลต่าง ๆ จะใช้งบประมาณปีละ 1.3 หมื่นล้านบาท
       นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุว่า กระทรวงมหาดไทยรายงานการศึกษาผลการเปรียบเทียบอัตราค่าตอบแทนผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นโดยพบว่า ค่าตอบแทนของผู้บริหารและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ต่ำกว่าเทศบาลประมาณ 200-300% ขณะที่การปรับเพิ่มค่าตอบแทนให้ผู้บริหารและสมาชิก อบต. มีการปรับปรุงครั้งสุดท้ายเมื่อ ปี 2547 หลังจากนั้น ไม่มีการปรับปรุงอีกเลย  ในส่วนการปรับเพิ่มค่าตอบแทน อบต.นั้น ครม.มีมติให้กระทรวงการคลังศึกษาเรื่องนี้ เพราะการปรับเพิ่มค่าตอบแทน จะมีผลกระทบต่องบพัฒนาพื้นที่ โดยให้ ครม.พิจารณาสัปดาห์หน้า
       นายวัชระ กล่าวว่าครม.พิจารณาร่าง พ.ร.ฎ. เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการแต่ ครม.มีมติให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณไปทบทวนสิทธิประโยชน์และผลประโยชน์ตอบแทนจากร่าง พ.ร.ฎ.ที่เสนอมาใหม่ เนื่องจากมีหลายประเด็นที่ยังมีข้อถกเถียงอยู่ เช่น สิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาล อาทิเช่น การประกันสุขภาพ ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และอัตราเบี้ยประชุมต่าง ๆ   ที่ประชุมมีการตั้งข้อสังเกตและเสนอว่า การเพิ่มค่าตอบแทนดังกล่าวน่าจะพิจารณาครอบคลุมไปถึงข้าราชการการเมืองอื่น ๆ ด้วยหรือไม่
       นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้น 8-17 บาท รวมถึงการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ไม่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อมากนัก ถ้านโยบายดอกเบี้ยยังเป็นขาขึ้นรัฐบาลสามารถดูแลไม่ให้ผู้ประกอบการปรับขึ้นราคาสินค้าที่สูงกว่าต้นทุนแท้จริง  ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 8-17 บาท แม้จะสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ แต่ก็ไม่มากนัก และเป็นไปตามที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ อีกทั้งแรงงานไทยมีศักยภาพสูงขึ้น ดังนั้น ธปท.จึงไม่ห่วงเงินเฟ้อ  เชื่อว่าปีหน้าเงินเฟ้อน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 0.5-3% “การที่เราปรับขึ้นค่าจ้าง เงินเดือนข้าราชการ ซึ่งเป็นการปรับขึ้นทั้งระบบ ก็อาจมีโอกาสที่พ่อค้าใช้จังหวะนี้ขึ้นราคาสินค้า เพราะถือว่าประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น ตรงนี้ก็คงเป็นหน้าที่ของราชการที่เกี่ยวข้องที่ต้องดูแลการปรับราคาสินค้าให้เหมาะสม สอดคล้องกับความเป็นธรรม ถ้าทำได้ ก็คงไม่ส่งผลกระทบกับเงินเฟ้อมากนัก”  
       นายวัชระ กล่าวอีกว่า ครม.เห็นชอบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2554 ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 5) โดยปรับเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำอีก 8-17 บาทต่อวัน โดยจังหวัดภูเก็ตได้ปรับเพิ่มอัตราค่าแรง 17 บาทต่อวัน และเป็นจังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูงสุด คือ 221 บาทต่อวัน ส่วนจังหวัดพะเยาได้ปรับเพิ่มอัตราค่าแรงที่ 8 บาทต่อวัน และเป็นจังหวัดที่มีค่าแรงต่ำสุด คือ 159 บาทต่อวัน ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑลปรับเพิ่มขึ้น 9 บาท ทำให้มีค่าแรงขั้นต่ำ 215 บาทต่อวัน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2554
       แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า รู้สึกเสียดายที่ไม่สามารถปรับเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำให้ได้ 250 บาทต่อวัน เพราะเมื่อฟังเหตุผลแล้วก็พบว่าปรับได้เต็มที่เพียงเท่านี้ ขณะที่รายงานผลการหารือของคณะกรรมการค่าจ้างกลางพบว่าผู้แทนนายจ้างระบุว่า ฝ่ายนายจ้างเห็นชอบการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำของคณะกรรม-การ ซึ่งเป็นอัตราที่นายจ้างสามารถจ่ายได้ แต่หากรัฐบาลต้องการให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 250 บาทต่อวัน รัฐบาลควรจ่ายส่วนที่ขาดเพื่อเป็นเงินอุดหนุนค่าจ้างขั้นต่ำให้ลูกจ้างเหมือนข้าราชการ
       นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า รายงานผลกระทบจากการปรับเพิ่มแรงขั้นต่ำที่มีผลต่อต้นทุนสินค้าให้นายกฯรับทราบว่าจะกระทบต่อสินค้าใน 3 กลุ่ม ได้แก่ ต้นทุนการผลิตหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ต้นทุนการผลิตหมวด สินค้าเกษตรและต้นทุนการผลิตหมวดสินค้าทั่วไป โดยในหมวดสินค้าทั่วไปพบว่าจะทำให้ต้นทุนการผลิตชุดนักเรียนเพิ่มขึ้นสูงที่สุด ส่วนหมวดสินค้าเกษตรพบว่าต้นทุนการผลิตข้าวเปลือกเพิ่มขึ้น 200 บาทต่อตัน
 
กรุงเทพธุรกิจ ASTV ผู้จัดการรายวัน  สยามรัฐ  มติชน  และไทยรัฐ  15 ธันวาคม 2553
หมายเลขบันทึก: 413877เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2010 13:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 11:03 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท