วิเคราะห์ระบบตลาดพระเครื่อง: จาก “พระแท้ดูง่าย” ถึง “พระเก๊ดูง่าย”


พระแท้ดูง่าย ใครๆ หรือคนส่วนใหญ่ก็ดูเป็น แล้วใครจะยอมขายพระแท้ดูง่ายราคาถูกๆให้เรา เขาต้องตั้งราคาสูง ใครมีเงินมากก็รับได้ ธรรมดาอย่างเราคงสู้ไม่ไหวครับ

บทความนี้ ผมมีเจตนาที่จะช่วยอธิบายศัพท์และความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในวงการพระเครื่อง ที่อาจช่วยให้คนที่เข้ามาในวงการใหม่ลดการสับสนลงได้บ้าง

คำที่หลายท่านได้ยินบ่อยที่สุดคือคำว่า

“พระแท้ดูง่าย”

เป็นคำที่มักนิยมใช้ในการโฆษณาพระของตัวเอง โดยไม่มีความหมายอะไรมากนัก เพราะ  จะดูง่ายหรือยาก อยู่ที่ว่า ดูเป็น หรือ ไม่เป็นมากกว่า

เพราะ คนที่ยังดูพระไม่เป็น จะง่ายจะยาก ยังไงก็ดูไม่ออกเช่นเดิม

คำนี้จึงเป็นคำที่ “คนดูเป็น”และมีความรู้พอ เขาใช้กัน

ที่หมายถึง พระที่มี

  • ผิวเปิด
  • เนื้อ และผิวมาตรฐาน ต้องตามหลักการทุกประการ
  • มีความละเอียด ยากแก่การทำโดยช่างฝีมือโรงงาน
  • มีความหนึกนุ่มของผิว
  • มีตำหนิชัดเจน ครบถ้วน
  • ฯลฯ

ที่ต่างจากพระแท้ดูยาก”

  • ผิวปิด มีวัสดุอื่น คราบกรุ สนิมต่างๆปิดบัง ทำให้ดูผิวจริงๆได้ยาก ต้องอาศัยความสามารถในการเดา และการอ่านเนื้อที่ซ่อนอยู่จากการสังเกตผิวที่ปรากฏ ที่เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
  • ทำให้ดูส่วนต่างๆ ได้ยาก
  • มีตำหนิไม่ชัดเจน หรือไม่ครบถ้วนโดยบังเอิญ ที่ต้องสังเกตส่วนอื่นประกอบ

 

ต่อจากนั้นก็จะมี

“พระเก๊ดูยาก” ที่เป็นพระโรงงาน ระดับ “ฝีมือจัด” ทำได้ใกล้เคียงของจริงมาก ทั้งพิมพ์ทรง ผิว และเนื้อที่ทำได้ดีเยี่ยม ถ้าตาไม่ถึง มีโอกาสหลงหรือพลาดไปหยิบได้ง่ายมาก ที่ยังทำให้แม้แต่คนเดินตลาดบ่อยๆ ก็ยังอาจพลาดได้

การตรวจสอบพระ “ฝีมือจัด” เหล่านี้ ต้องใช้ทั้งความรู้ ประสบการณ์ และกล้องกำลังขยายสูง ที่มีแสงสว่างพอเพียง ก็จะช่วยได้ระดับหนึ่ง ที่สำคัญที่สุดก็เป็นความรู้และประสบการณ์ที่ต้องเดินตลาดบ่อยๆ ดูการพัฒนาการของพระโรงงาน ว่าเขาทำได้ถึงไหนแล้ว ดูและเก็บข้อมูลเป็นเรื่องๆ ตามชนิดเนื้อ และพิมพ์ของพระ ก็จะช่วยได้มากทีเดียว

สุดท้ายก็คือ “พระเก๊ดูง่าย” ที่ในตลาดเราเรียกกันว่าเป็นระดับ “ของเล่น” ที่แท้จริง เป็นพระโรงงานที่มีราคาทุนมาอย่างมากก็หลักสิบบาท เขาใช้ประดับร้านให้ดูมากๆ น่าซื้อ แบบเดียวกับร้านขายมือถือที่มีกล่องเปล่า หรือเปลือกเครื่องเปล่าๆ ไว้วางประดับร้านเท่านั้น

ต่างกันตรงที่ร้านมือถือเขาจะไม่ขายให้ลูกค้า แต่แผงพระเขามีไว้ “ดักหมูสนาม” ที่อาจหลงมาบ้าง ที่ถือว่าวันที่โชคดีของคนขายพระเครื่อง

แต่หลักๆ เขาเก็บไว้หยิบแถมแบบทอนสตางค์เวลาแลกพระที่มีราคาหรือมูลค่าต่างกัน ประมาณนั้น

ดังนั้นจึงไม่ควรไปหลงหยิบให้รกบ้าน

แต่เป็นธรรมดาอีกนั่นแหละ ทุกคนที่เรียนรู้ก็มักจะต้องเดินผ่านจุดความเป็น “หมูสนาม”นี้ ไม่มากก็น้อย

ขึ้นอยู่กับความเร็วของการเรียนรู้

ที่มักถือว่าเป็นค่าลงทะเบียนเรียนเรื่อง “การดูพระเครื่อง”

ใครที่ไม่ยอมเสียก็มักเรียนรู้ช้า

หรือกลับกัน แม้จะยอมเสียก็ยังเรียนรู้ช้า ถ้าไม่ทำตัวเป็นนักเรียนที่ดี

ดังนั้นในตลาดพระเครื่องก็จะมีพระเครื่องอยู่ ๔ ประเภทนี้แหละครับ

ทีนี้กลับมาสู่ความจริงของระบบการตลาดพระเครื่อง

พระแท้ดูง่าย ใครๆ หรือคนส่วนใหญ่ก็ดูเป็น แล้วใครจะยอมขายพระแท้ดูง่ายราคาถูกๆให้เรา เขาต้องตั้งราคาสูง ใครมีเงินมากก็รับได้ ธรรมดาอย่างเราคงสู้ไม่ไหวครับ

ทางเลือกอีกทางก็คือ เป็นเพื่อนกับสายเดินพระมากๆ และหวังว่าสายของเราไปหยิบมาจากคนที่ดูไม่เป็นมาให้เรา หรือไม่เราก็โชคดีบังเอิญไปพบคนที่ดูพระไม่เป็น เป็นไม่มาก หรือเป็นน้อยกว่าเรา

แต่ก็ต้องระวังสายโหด กลับเอาพระที่ได้มาทุบเราเสียเอง อันนี้ก็ต้องเลิกคบกันไปเลย

นี่คือความเป็นจริงของสังคมตลาดพระ

สำหรับอีกขั้วหนึ่งก็คือ

พระเก๊ดูง่าย ใครก็ไม่อยากหยิบ นอกจากจะใช้เป็นพระแถม พระทอนเงิน เท่านั้น ใครตั้งใจหยิบก็ได้ชื่อว่า “หมูสนาม” ทันที

จุดสำคัญของเรื่องจึงมาอยู่ที่ เราต้องมาหาความแตกต่างระหว่าง “พระแท้ดูยาก” กับ “พระเก๊ดูยาก”

ว่ามีจุดแบ่งอยู่ตรงไหน

เรื่องนี้ผมได้เขียนบันทึกไว้ครบทุกเนื้อแล้ว

แต่เพียงความรู้ยังไม่พอครับ

ยังต้องอาศัยประสบการณ์ ออกสนามบ่อยเท่านั้นจะช่วยได้

ไม่งั้นยากที่จะตามการพัฒนาการของ “ฝีมือช่าง” ของโรงงานพระเก๊ได้

นี่แหละประเด็นสำคัญของระบบตลาดพระ และการพัฒนาการทางความรู้ด้าน “พระกรุ” ครับ

ขอให้โชคดีครับ

 

หมายเลขบันทึก: 411267เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2010 16:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 06:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

มาอ่านและเอาดอกไม้มาฝากครับอาจารย์


ชอบประโยคนี้ครับ.....ใครที่ไม่ยอมเสียก็มักเรียนรู้ช้า

หรือกลับกัน แม้จะยอมเสียก็ยังเรียนรู้ช้า ถ้าไม่ทำตัวเป็นนักเรียนที่ดี

เป็นเรื่องการดูพระแท้...ไม่แท้ ได้ความรู้ดีสำหรับคนชอบ เห็นเป็นเรื่องพระๆเลยแวะมาอ่านครับ เจริญธรรม

นมัสการครับท่าน

ผมก็พยายามสร้างความโปร่งใส และสร้างวิชาการให้กับมุมที่เป็นแหล่งผลประโยชน์มหาศาลของคนบางกลุ่ม

ในอีกมุมผมก็พยายามใช้พระกรุเป็นแหล่งความรู้ในการอธิบายประวัติศาสตร์ในดินแดนสุวรรณภูมินี้ครับ

บางคนเกรงว่าผมจะไปขัดขวางผลประโยชน์ของเขา

แต่ผมไม่มีเจตนาในมุมนั้นเลย เพียงเพื่อให้ทุกคนมีโอกาสศึกษาของจริง แทนที่จะอยู่กับพระโรงงาน ที่ไม่ผูกพันกับประวัติศาสตร์ใดๆ

ผมเสียดายความรู้ที่ซ่อนแฝงอยู่กับพระกรุที่มีอย่างไม่น่าเชื่อ

ผมก็เพิ่งทราบ จากการเรียนรู้ และเข้าใจดีขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อจังหวะเหมาะ ผมจะค่อยสรุปบทเรียนออกมาเรื่อยๆครับ

ผมคิดว่าจะทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ดีขึ้น และน่าจะชัดเจนกว่าประวัติศาสตร์เชิง "ชาตินิยม" ครับ

ขอกราบขอบพระคุณที่ท่านมาเยี่ยมครับ

ลุย! เลยครับอาจารย์ ผมเอาด้วย เป็นไงเป็นกัน

เห็นด้วยครับ....สู่ต่อไปครับอาจารณ์ ( เป็นกำลังใจให้ครับ )

ขออยู่กับความรู้ที่แท้จริง ด้วยความศรัทธาอาจารย์ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท