ประเพณีของไทยที่ถูกลืม


การอยู่ไฟ / การโกนผมไฟ

         สวัสดีครับ  หากจะพูดถึงประเพณีไทยที่เคยมีมาแต่ครั้งเก่าก่อนแต่ถูกลืมหรือมิได้นำมาใช้ปฏิบัติในปัจจุบัน  ก็คงจะเป็นประเพณีการอยู่ไฟและการโกนผมไฟครับลองมาอ่านดูกันนะคร๊าบว่าทั้งสองประเพณีเป็นอย่างไร  ขอเชิญติดตามอ่านตามท้องเรื่องก็มีอยู่ว่า

          1. การอยู่ไฟ  สมัยก่อนขณะที่ภรรยาครรภ์แก่ใกล้จะคลอด สามีต้องไปหาฝืนมาเตรียมไว้ให้ภรรยาสำหรับอยู่ไฟหลังคลอด  ห้ามคนอื่นตัดฟืนแทน  ฟืนที่ใช้ในการอยู่ไฟมักใช้ไม้สะแกหรือไม้มะขาม  เพราะเป็นไม้หาง่ายและเมื่อไหม้เป็นถ่านแล้วจะมีขี้เถ้าน้อย  นอกจากนี้ควรจะมีไม้ทองหลางด้วย  เพราะเชื่อว่ากันปวดมดลูกและแก้พิษเลือด  แต่ถ้าเป็นท้องสาวให้ใช้ฟืนไม้เบญจพรรณ  จะได้คุ้นกับการอยู่ไฟด้วยไม้ต่าง ๆ  ได้ดีเมื่อคลอดลูกคนหลัง ๆ เมื่อมารดาคลอดบุตรแล้วต้องรับประทานส้มมะขามเปียกกับเกลือก่อนนอนไฟ  แล้วอยู่ไฟด้วยเตาเชิงกรานนานถึง 15 - 30 วัน   โดยมีหมอผู้ประกอบพิธีทำน้ำมนต์ประพรมเตาไฟ  เสกข้าวกับเกลือพ่นหลังพ่นท้องผู้ที่จะอยู่ไฟ และพ่นเตาไฟด้วย  พิธีนี้เรียกว่า  ดับพิษไฟ  นอกจากนี้ในพิธีจะต้องประกอบด้วยธูปเทียน ข้าวตอกดอกไม้ หมากพลู และกระทงเล็ก ๆ  ใส่กุ้งพล่าปลายำวาง  4 มุมของเตาไฟ แล้วมารดาต้องกราบไหว้เตาไฟเพื่อระลึกถึงคุณพระเพลิง พระพาย  พระธรณี  และพระคงคา  จากนั้นหมอจะเสกขมิ้นกับปูนทาหลังทาท้อง  แล้วมารดาจึงจะขึ้นไปอยู่ไฟบนกระดาน  และรับประทานยาแก้โลหิตเช้าเย็นจนกว่าจะออกไฟ

         2.  การฝังรก  ในสมัยโบราณเมื่อทารกคลอดออกมาแล้ว  หมอตำแยจะตัดรกล้างให้สะอาด  แล้วใส่หม้อตาลใส่เกลือทับรกไว้  เพราะเชื่อกันว่าจะป้องกันไม่ให้ทารกเจ็บป่วยหรือพุพองได้  จากนั้นจึงนำหม้อตาลวางไว้ริมเตาไฟที่มารดาใช้อยู่ไฟ เชื่อกันว่าจะทำให้สายสะดือทารกแห้งเร็ว  เมื่อครบ 3 วัน บิดาจะนำหม้อรกไปฝังซึ่งเป็นวันเดียวกับวันที่ทำพิธีตั้งชื่อเด็ก  ในการฝังรกต้องกำหนดที่ฝั่งโดยดูว่าเด็กเกิดวันใด จะต้องฝังรกไว้ที่ใด เพราะถือว่าจะเกิดสิริมงคลแก่เด็ก หลังจากบิดาฝังรกเสร็จแล้วขากลับบ้านจะต้องเก็บพืชไร่  พืชผลติดมือมาด้วย เพื่อเป็นเคล็ดว่าเมื่อเด็กโตจะได้สมบูรณ์ด้วยทรัพย์สิน เป็นคนขยัน และรู้จักทำมาหากิน

         3.  การตั้งชื่อทำขวัญ  เมื่อบุตรนอนอยู่ในกระด้งครบ 3 วัน  บิดามารดาก็จะมีพิธีบายศรีปากชามทำขวัญ และยกบุตรจากกระด้งเพื่อเอาลงนอนเปล  ซึ่งภายในเปลจะมีถุงใส่ข้าวตอก ข้าวเปลือก ถั่วเขียว งา และเมล็ดฝ้ายอย่างละหนึ่งกำมือ มีหินบดสำหรับแม่และลูก และมีฟักเขียวหนึ่งลูก  จากนั้นจึงอาบน้ำทาแป้งเด็กให้ขาวแล้วเอานอนเปล  ถ้าเป็นเด็กชายจะใส่สมุดดินสอลงไป  แต่ถ้าเป็นหญิงก็จะใส่เข็มใส่ด้าย  จากนั้นจึงทำพิธีเวียนเทียนจนครบ  3 รอบ  แล้วเอาสายสิญจน์ปัดเคราะห์โศก โรคภัย  ออกไปทางปลายมือข้างละ  3 ที  แล้วจึงนำสายสิญจน์ใหม่ผูกข้อมือเด็ก  เอากระแจจันทน์เจิมที่หน้าผากแล้วอวยพรหลั่งน้ำมนต์ลงในเปล  เอาใบมะตูมวางลงในเปลแล้วเจิมที่หัวนอน  นำถุงต่าง ๆ ที่เตรียมไว้ลงเปลทั้งสองข้าง  เอาหินบดวางไว้ข้างหนึ่ง เอาฟักวางไว้อีกข้างหนึ่ง จากนั้นนำแมวที่ตกแต่งสวยงามวางลงในเปล สิ่งของที่วางในเปลล้วนมีความหมายทั้งสิ้น  เช่น  ต้องการให้เด็กเจริญงอกงามเหมือนถั่ว ให้เนื้อเย็นเหมือนฟัก ให้หนักเหมือนหิน และให้รู้อยู่รู้กินเหมือนแมว  เป็นต้น  พิธีนำเด็กลงเปลนี้มักนิยมทำพร้อมกับการตั้งชื่อ  โดยดูจากวันเดือนปีเกิด และเวลาตกฟาก  แล้วนำมาผูกดวงตามหลักโหราศาสตร์ เพื่อจะตั้งชื่อให้เป็นสิริมงคลต่อไป

          4. ประเพณีการโกนผมไฟ

            คนส่วนใหญ่มีความเชื่อกันว่า ผมของเด็กที่ติดมากับครรภ์มารดานั้น ไม่ค่อยสะอาดนัก จึงต้องโกนทิ้งเพื่อให้ผมขึ้นมาใหม่ แต่จะโกนเมื่อแรกคลอดเลยนั้นก็ไม่สะดวก เนื่องจากยังต้องวุ่นอยู่กับการเลี้ยงดูและจัดหาข้าวของเครื่องใช้ ตัวมารดาเองเพิ่งคลอดบุตรยังไม่ค่อยแข็งแรงนักอีกสาเหตุหนึ่งคือเด็กที่คลอดใหม่ๆ กะโหลกศีรษะยังบอบบาง แม้เมื่อมีอายุครบ 1 เดือนแล้วก็ยังไม่ค่อยแข็งเท่าไรนัก การทำพิธีโกนผมไฟจึงควรระมัดระวัง และให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญโกนผมให้จะดีกว่าทำกันเอง

   สิ่งของเครื่องใช้ในการประกอบพิธีกรรม
 
           สำหรับเรื่องการจัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้ที่ใช้ในพิธีนั้น เนื่องจากมักนิยมทำพิธีโกนผมไฟพร้อมกับพิธีทำขวัญเดือน จึงจัดเตรียมข้าวของเช่นเดียวกันกับการทำขวัญเดือน สำหรับพิธีโกนผมไฟนั้น ต้องมีพิธีของพราหมณ์ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คือ
พิธีสงฆ์ ได้แก่ การสวดมนต์เย็น รับอาหารบิณฑบาตรเช้า และพิธีพราหมณ์ ได้แก่ การรดน้ำ
          ดังนั้นจึงต้องเตรียมจัดสถานที่และข้าวของเครื่องใช้สำหรับพระที่จะสวดเจริญพระพุทธมนต์ และตระเตรียมหม้อน้ำมนต์ เครื่องสระศีรษะ (สำหรับใส่ในหม้อน้ำมนต์) สังข์ บัณเฑาะว์ (สำหรับตีและเป่าในพิธี ส่วนใหญ่พราหมณ์ผู้ทำพิธีจะจัดเตรียมมาเอง) นอกจากนั้นยังมี เครื่องสำหรับโกนศีรษะเด็ก อันได้แก่ มีดโกน ใบบัว ดอกไม้ธูปเทียน ฯลฯ    หากเจ้าภาพเป็นผู้ที่ฐานะหรือมีหน้ามีตาก็จะบอกข่าวออกบัตรเชิญ ไปยังญาติสนิทมิตรสหาย ตลอดจนผู้ที่เคารพนับถือให้มาเป็นเกียรติในงาน ผู้มาร่วมงานก็จะนำของขวัญหรือเงินทองมาให้ร่วมรับขวัญ เรียกว่าเป็นการ "ลงขัน" เสร็จพิธีแล้วก็มีการเลี้ยงฉลองกันตามสมควร

  ขั้นตอนในพิธีกรรม
 
           เมื่อถึงฤกษ์งามยามดี ผู้กระทำพิธีก็นำเด็กออกมาวางต่อหน้าพระสงฆ์ โดยหันศีรษะเด็กไปทางทิศที่โหรกำหนด ส่วนใหญ่จะนำออกมาก่อนได้ฤกษ์เล็กน้อย เพื่อให้ญาติมิตรได้ชื่นชมในตัวเด็ก ครั้งถึงฤกษ์โหรก็ทำการลั่นฆ้องชัย ผู้ที่ได้รับเชิญมาเป็นประธานในงานทำการหลั่งน้ำจากหอยสังข์รดไปบนศีรษะของเด็ก แล้วหยิบมีดโกนแตะบนศีรษะเด็กพอเป็นพิธีพร้อมอวยชัยให้พรพระสงฆ์สวดบทชยันโต พราหมณ์เป่าสังข์และไกวบัณเฑาะว์ บรรดาพิณพาทย์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์มหาชัย ต่อจากนั้นจึงให้ทำการโกนผมไฟ

             เป็นอย่างไรบ้างคร๊าบ  ว่าตามท้องเรื่องก็มีแต่เท่านี้คร๊าบ....ขอบคุณที่ติดตาม

คำสำคัญ (Tags): #ประเพณี
หมายเลขบันทึก: 411259เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2010 15:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท