KM ข้างเวที 'ยิ่งให้ ยิ่งได้รับ' ใน NKM5 : ศาสตราจารย์ ดร.อิคูจิโร โนนากะ กับแนวคิดสมานฉันท์ทุนนิยมต่างขั้วของสังคมโลก


ผมได้เขียนเชิงอรรถไว้ในบันทึก เวทีจัดการความรู้แห่งชาติ NKM5 กับเวที'ยิ่งให้ยิ่งได้รับ'ของ GotoKnow : วิธีเชิงรุกของวัฒนธรรมความรู้สู่ Life Style คนเมือง เพื่อให้ผู้อ่านได้ทำความรู้จัก ศาสตราจารย์ ดร.อิคูจิโร โนนากะ (Professor Dr.Ikujiro Nonaka) ซึ่งได้รับเชิญเป็นผู้แสดงปาฐกถาพิเศษในเวทีมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๕ แต่เกรงว่าจะยาวไป อีกทั้งเชื่อว่าจะมีผู้คนเป็นจำนวนไม่น้อยที่คงจะเคยได้ยินคำว่า 'การจัดการความรู้' 'องค์กรแห่งการเรียนรู้' 'ชุมชนแห่งการเรียนรู้' 'การจัดการความรู้เพื่อสร้างนวัตกรรม' และอื่นๆที่เกี่ยวกับ 'การจัดการความรู้' อยู่เสมอๆ แต่ก็อาจจะไม่มีโอกาสทำความเข้าใจได้มากนักว่าแนวคิดเบื้องหลังและความเป็นมาเป็นอย่างไร และมีความสำคัญอยู่อย่างไรกับบริบทของสังคมการทำงาน ผมจึงขอนำเอามาทำเป็นบันทึก KM ข้างเวที เพื่อเผยแพร่ให้แก่ผู้สนใจต่อไป

ศาสตราจารย์ ดร.อิคูจิโร โนนากะ จบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์ สหรัฐอเมริกา เป็นนักวิชาการด้าน International Corporate Strategy อยู่ที่บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัย Hitosubashi และเป็นอาจารย์ นักวิชาการ ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญอีกหลายแห่งของประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาที่สร้างความสำเร็จให้กับบริษัทระดับโลกของญี่ปุ่นหลายบริษัทด้วยยุทธศาสตร์การจัดการความรู้และนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมขององค์กร ก่อให้เกิดความสำเร็จขึ้นที่อีกมิติหนึ่งขององค์กรสมัยใหม่ด้วยการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ระดับปฏิบัติการและการลงทุนทางความรู้กับภูมิปัญญาปฏิบัติ ซึ่งสอดคล้องกับการจัดการความรู้จากประสบการณ์การปฏิบัติและการสร้างองค์ความรู้จากบทเรียนที่เป็นความสามารถทำได้ในตัวคนให้เป็นพลังสร้างสรรค์นวัตกรรมขององค์กร

ศาสตราจารย์ ดร.อิคูจิโร โนนากะ และเพื่อน ศาสตราจารย์ ดร.ฮิโรตากะ ทาเกอูชิ (Hirotaka Takeuchi) ได้ร่วมกันพัฒนาและนำเสนอทฤษฎีการจัดการความรู้อย่างบูรณาการ[๑]ระหว่างความรู้แบบ Tacit Knowledge : ความรู้ฝังลึก และ Explicit Knowledge : ความรู้ชัดแจ้ง ด้วยกิจกรรมและกระบวนการใน ๓ องค์ประกอบที่สำคัญคือ องค์ประกอบแรก SECI : เซกิ ซึ่งจะแจงรายละเอียดต่อไป, องค์ประกอบที่สอง Ba : บา คำญี่ปุ่นซึ่งหมายถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างบริบทจำเพาะร่วมกันของผู้มีประสบการณ์และบทเรียนในบริบทที่แตกต่างหลากหลาย[๒] ผ่านกระบวนการสร้างปฏิสัมพันธ์ด้วยกิจกรรม พื้นที่การเรียนรู้ พื้นที่เสมือน[๓] เวทีเรียนรู้ และพื้นที่การเรียนรู้ทางสังคมต่างๆ และองค์ประกอบที่สาม Knowledge Assets : คลังความรู้

กิจกรรมและกระบวนการใน ๓ องค์ประกอบดังกล่าว จะบูรณาการและยกระดับความรู้ ๒ แบบทั้งความรู้ฝังลึกกับความรู้ที่ชัดแจ้งอย่างมีพลวัตรด้วยการหมุนเกลียวซึ่งอธิบายด้วยโมเดลเซกิ : SECI model (Nonaka Takeuchi,1995) ดังนี้

  • S - Sociallization ประกอบด้วยกิจกรรมซึ่งเป็นกระบวนการแบ่งปันแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติผ่านการปฏิสัมพันธ์และสร้างประสบการณ์ทางสังคม สร้างการสมาคม ถ่ายทอดประสบการณ์และสิ่งที่ไม่สามารถถ่ายทอดสื่อสารกันได้อย่างทั่วไป แต่สามารถเรียนรู้ผ่านนิสัยใจคอและการได้สัมผัสความเป็นทั้งหมดในตัวคน การได้เห็นน้ำใจ ความสามารถเข้าใจระบบวิธีคิด การได้เห็นการปฏิบัติ ซึ่งไม่สามารถ่ายทอดสื่อสารกันได้โดยตรงแต่สามารถส่งผ่านกันได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม
  • E - Externailzation ประกอบด้วยกระบวนการสร้างและจัดเก็บความรู้ในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นบันทึก เอกสาร และสิ่งที่สามารถเก็บรักษาเพื่อเข้าถึง ใช้ร่วมกัน และสามารถบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ
  • C - Combination ประกอบด้วยกิจกรรมและกระบวนการเพื่อผสมผสานและบูรณาการความรู้ในประสบการณ์ของตัวคนและความรู้ชัดแจ้งที่จัดเก็บรวบรวมได้ เพื่อสร้างความรู้สำหรับพัฒนาสิ่งใหม่และเพื่อการใช้งานในวัตถุประสงค์ต่างๆ
  • I - Internalization ประกอบด้วยกิจกรรมและกระบวนการลงมือปฏิบัติเพื่อใช้ความรู้แก้ปัญหา หรือใช้ความรู้ชี้นำการปฏิบัติ ทำให้เกิดประสบการณ์และเกิด Tacit Knowledge ชุดใหม่ขึ้นในตัวคนต่อเนื่องเป็นวงจร ซึ่งสามารถหมุนเกลียวต่อไปอีกได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

แนวคิดทฤษฎีการจัดการความรู้ของศาสตราจารย์ ดร.อิคูจิโร โนนากะ นั้น เป็นการบูรณาการและต่อยอดแนวคิดของ ปีเตอร์ เซงเก้ (Peter Senge)[๔] และ ปีเตอร์ ดรัคเกอร์ (Peter Drucker) [๕] ผู้นำเสนอแนวคิดองค์กรแห่งการเรียนรู้ซึ่งเป็นที่ยอมรับแพร่หลายทั่วโลก (ปีเตอร์ ดรัคเกอร์ เพิ่งจะถึงแก่กรรมเมื่อ ๒-๓ ปีที่ผ่านมาด้วยอายุ ๙๖ ปี)

ปีเตอร์ เซงเก้ เป็นผู้นำเสนอโมเดลการจัดการความรู้ด้วยวิชา ๕ อย่าง : The Fifth Discipline ซึ่งเน้นการเรียนรู้เพื่อถ่องแท้เป็นนายตนเอง การทำงานและเรียนรู้เป็นทีม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันของคนในองค์กร การสร้างเครือข่าย การคิดอย่างเป็นระบบและมีความเชื่อมโยง การพัฒนาจิตวิธีคิด ส่วน ปีเตอร์ ดรัคเกอร์ นั้นเป็นนักกฏหมายชาวออสเตรียแต่ทำงานประกันภัย ทำให้มีความสนใจพัฒนาความรู้ทางด้านสังคม จนได้รับการยอมรับว่าเป็นนักสังคมวิทยาที่ให้แนวทฤษฎีทางสังคมหลังยุคอุตสาหกรรมใหม่[๖]ที่มีพลังมากที่สุดคนหนึ่ง รวมทั้งเป็นที่ยอมรับว่าเป็นผู้สามารถบูรณาการมิติสังคมวิทยา มานุษยวิทยา นิเวศวิทยามนุษย์และชุมชน และศาสตร์อีกหลายแขนงเข้าสู่ศาสตร์และศิลป์ด้านการบริหารจัดการ

ในทรรศนะผู้เขียนนั้น เชื่อว่าไม่เกินความเป็นจริงนักหากจะให้นิยามความเป็น ปีเตอร์ เซงเก้ ว่าเป็นผู้เติมความเป็นชุมชน (Community Dimension) เข้าไปบูรณาการสู่ความเป็นเนื้อเดียวกันขององค์กรสมัยใหม่ ส่วน ปีเตอร์ ดรัคเกอร์ นั้นก็นับว่าเป็นผู้ทำให้มิติชีวิตและระบบนิเวศวิทยาทางสังคมมนุษย์ (Human Ecology) เข้าไปแทนที่ความเป็นเครือข่ายในความหมายเดิมของเครือข่ายธุรกิจ และทั้งสามท่าน ซึ่งรวมทั้งศาสตราจารย์ ดร.อิคูจิโร โนนากะ ด้วยนี้[๗] ก็นับว่าเป็นผู้สถาปนาความมีที่ทางอันแน่นอนของ ปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม หรือ Socio-Cultural and Environmental Determinants ขึ้นในศาสตร์และศิลป์การบริหารจัดการของวงการธุรกิจ

ในอดีตนั้น องค์ประกอบเหล่านี้จะมีการนำมาใช้ในวงการธุรกิจและการวางแผนโครงการทางเศรษฐกิจเพียงเป็นข้อมูลวางแผนทำการตลาดและกระตุ้นการบริโภคสินค้า และในระดับมหภาคนั้นก็ถือว่าเป็นความรับผิดชอบของภาครัฐ ไม่ใช่เป็นมิติหนึ่งที่ภาคธุรกิจและการลงทุนทางอุตสาหกรรมของธุรกิจเอกชนจะต้องรับผิดชอบให้เป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนและมุ่งสร้างให้เป็นผลกำไรที่จะได้รับร่วมกันของสังคม ทว่า ในปัจจุบันและด้วยวิธีคิดดังกล่าวนี้ ก็ทำให้ความเป็นทุนมนุษย์ ทุนทางสังคม ทุนทางสิ่งแวดล้อม และทุนทางด้านอื่นๆที่ไม่ใช่ผลกำไรและตัวเงิน ได้รับการยอมรับถึงความเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของการดำเนินงานในทุกมิติขององค์กร [๘]

นอกจากนี้ ในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า ตลอดจนการสร้างเครือข่ายเพื่อรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า ก็มีคุณค่าและมีความหมายต่อสังคมที่หนักแน่นแตกต่างจากการทำโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการตลาดและสร้างภาพพจน์องค์กรเชิงการโฆษณาอย่างในอดีต ในหลายองค์กร โดยเฉพาะองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมของนักธุรกิจรุ่นใหม่ๆทั้งของโลกและของท้องถิ่นประเทศต่างๆนั้น การมุ่งบรรลุเป้าหมายเพื่อมนุษย์ สังคมและสิ่งแวดล้อม ก็กลับจะกลายเป็นเป้าหมายและอุดมการณ์หลักภายใต้วิสัยทัศน์ของการทำธุรกิจ ส่วนการทำธุรกิจก็จะกลายเป็นวิธีการและเครื่องมือ มิใช่เป้าหมายสูงสุดแบบการทำธุรกิจในยุคอดีต ทำให้เกิดองค์กรและการทำธุรกิจอีกแบบหนึ่งที่จะก่อเกิดในแนวทางนี้เพิ่มมากยิ่งๆขึ้น[๙] ซึ่งศาสตราจารย์โนนากะก็ได้เน้นย้ำให้เห็นประเด็นนี้ในช่วงสรุปของการบรรยาย

แนวของ ปีเตอร์ เซงเก้ นั้นจะให้ความสำคัญกับมิติชุมชนและพลังการเรียนรู้เป็นทีม หรือความเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่สะท้อนอยู่ในมิติต่างๆของการจัดการความรู้ หากเป็นองค์ประกอบด้านวิสัยทัศน์องค์กรและเครือข่าย ก็จะเน้นวิสัยทัศน์ที่ร่วมกันสร้างขึ้นจากกลุ่มคนและกลุ่มผู้ปฏิบัติซึ่งเรียกว่า Shared Vision [๑๐] ในด้านการบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงก็เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมและภาวะผู้นำเป็นกลุ่มหรือ Collective Leadership ดังนี้เป็นต้น ผู้นำองค์กรที่บริหารและประสานพลังการผลิตของเครือข่ายในแนวทางดังกล่าวนี้ ก็จะต้องเป็นกลุ่มบริหารระดับกลางที่มีสไตล์การจัดการความรู้แบบผู้นำจากข้างหลัง หรือ Lead from behind,Lead from back และมีความเป็นผู้จัดกระบวนการร่วมคิดร่วมทำหรือเป็น Facilitator ให้กับชุมชนผู้ปฏิบัติ มากกว่าการเป็นผู้นำแบบ Directing ดังเช่นองค์กรในยุคอดีต

ส่วน ปีเตอร์ ดรัคเกอร์นั้น เป็นผู้นำเสนอรูปแบบองค์กรจัดการบริษัทแบบร่วมทุนและมีความเป็นหุ้นส่วนกัน โดยเน้นเป้าหมายขององค์กรธุรกิจที่ไม่มุ่งผลประโยชน์และกำไร เป็นที่ยอมรับเป็นอย่างสูงของทั่วโลกโดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ของโลก แนวคิดในการดำเนินงานต่างๆแแบบเครือข่ายภาคีและความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาต่างๆนั้น โดยมากแล้วก็จะเป็นแนวคิดที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของปีเตอร์ดรัคเกอร์นี้นั่นเอง

สิ่งที่ ปีเตอร์ เซงเก้ และปีเตอร์ ดรัคเกอร์ จะให้ความสำคัญและกล่าวถึงอยู่เสมอเหมือนกันก็คือ การให้บทบาทการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปองค์กรโดยกลุ่มแรงงานและผู้นำระดับกลางโดยเพิ่มกระบวนการเรียนรู้ การจัดการความรู้ และการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมบูรณาการเข้าไปในกระบวนการผลิตทั้งหมดขององค์กร ซึ่งก็สะท้อนสู่แนวคิดของศาสตราจารย์โนนากะเช่นกัน

ที่สำคัญคือ การจัดการความรู้ หรือ KM : Knowledge Management ของนักวิชาการทางด้านนี้ของโลกทั้ง ๓ ท่าน ต่างก็เน้นประสิทธิภาพของระบบข้อมูลสารสนเทศและใช้ความก้าวหน้าของระบบไอทีให้เป็นองค์ประกอบสำคัญของการจัดการความรู้อย่างยิ่ง แต่แนวคิดกลับไม่ได้เน้นการเริ่มต้นที่ระบบไอทีหรือใช้เทคโนโลยีไอทีเป็นตัวตั้ง ทว่า กลับมุ่งให้ความสำคัญต่อการลงทุนพัฒนาคน สร้างความรู้องค์กร และการดึงศักยภาพภายในตัวคนออกมาอย่างสูงสุด พัฒนาการเรียนรู้และให้ความเข้าใจตัวตนของคนอย่างถ่องแท้ ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และการจัดการความรู้เพื่อสร้างนวัตกรรมขึ้นจากกลุ่มบุคลากรที่เป็นแรงงาน จากนั้น ระบบไอทีและเทคโนโลยีต่างๆจึงจะถูกระดมมาใช้อย่างบูรณาการผ่านการมีส่วนร่วมวางระบบของเครือข่ายจัดการความรู้ ซึ่งก็จะเป็นองค์กรเรียนรู้ที่มีความทันสมัยก้าวหน้าเช่นกัน แต่บูรณาการและมีความยั่งยืนในการพัฒนามากกว่า[๑๑]

ในวิธีคิดทั้งของศาสตราจารย์โนนากะ รวมทั้งปีเตอร์ เซงเก้ และปีเตอร์ ดรัคเกอร์นั้น เราจะสังเกตได้ว่ามีการกล่าวถึง 'แรงงาน' 'กลุ่มผู้บริหารระดับกลาง' 'คนทำงาน' และ 'เครือข่ายผู้คนที่ปฏิสัมพันธ์กันบนระบบการผลิต' ตลอดจนงานบริการต่างๆขององค์กรที่นำมากล่าวถึงอยู่เสมอๆ สิ่งเหล่านี้มิใช่การกล่าวถึงอย่างทั่วไป ทว่า เป็นภาพสะท้อนระบบวิธีคิดอันเป็นสาระสำคัญของการออกแบบกระบวนการจัดการความรู้ รวมทั้งบ่งบอกถึงการปรับเปลี่ยนกระบวนทรรศน์ของการพัฒนาองค์กรธุรกิจและสื่อสะท้อนวิธีคิดต่อภาคธุรกิจอุตสาหกรรมในบริบทที่ต่างไปจากอดีตของสังคมโลก

ถ้าหากเราไม่เห็นนัยยะและวิธีคิดภายใต้ประเด็นเหล่านี้แล้ว ก็เชื่อว่าจะไม่เข้าใจประเด็นแนวโน้มสำคัญๆของสังคมโลกและสังคมท้องถิ่นในอีกหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นสันติวิถี  องค์กร CSR ความเป็นธรรมาภิบาล การพัฒนาที่ยั่งยืน วิถีเศรษฐกิจพอเพียง การกระจายอำนาจ รวมทั้งคำว่า การจัดการความรู้ ซึ่งในแง่วิธีคิดแล้วไม่ได้มีเพียงมิติการจัดการความรู้เท่านั้น ทว่า เป็นการปรับกระบวนทรรศน์อย่างลึกซึ้งต่อพลังอำนาจจากที่เคยมุ่งใช้ความรุนแรงแบบเก่าๆและการพัฒนาเครื่องมือทางอำนาจอย่างอื่นที่ล้าสมัย มาสู่การใช้อำนาจทางปัญญา พลังแห่งความรู้ และพลังการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง ให้เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาภายใต้ความซับซ้อนและเชื่อมโยงถึงกันหมดของสังคมโลก

ทางเศรษฐศาสตร์การเมือง และในทางสังคมวิทยาการผลิต รวมทั้งสังคมวิทยาชุมชนการผลิตนั้น 'แรงงาน' ถือเป็นพลังการผลิตที่แท้จริง จึงเป็นปัจจัยและพลังอำนาจของมนุษย์ที่ติดตัวมาอยู่โดยธรรมชาติทุกคน ดังนั้น ชนชั้นแรงงาน จึงเป็นชนชั้นเพื่อการขับเคลื่อนพลังทางประวัติศาสตร์ หรือเป็นพลังก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอันแท้จริง ทว่า แนวคิดดังกล่าวก็มีความแตกต่างกันในวิถีปฏิบัติของสังคม โดยในสังคมที่มีความเป็นทุนนิยมของการผลิตที่ไม่ก้าวหน้าและไม่ยุติธรรมนั้น กำลังการผลิตกลับจะไปอยู่ที่การสะสมทุนโดยสะสมส่วนเกินจากผลผลิตผู้ใช้แรงงานและหน่วยสังคมการผลิตต่างๆ จากนั้น ก็ใช้ทุนที่เหนือกว่าลงทุนภาคการผลิตต่างๆเพื่อทำผลกำไรให้มากยิ่งๆขึ้นต่อๆไปอีก

ดังนั้น ก็จะเห็นได้ว่า การมีโอกาส การได้บริโภคสินค้าและผลิตภัณฑ์คุณภาพดี และเข้าถึงสิ่งต่างๆได้มากจึงอาจจะไม่ใช่หมายถึงการเป็นผู้ได้ทำมาก แต่กลับจะเป็นการมุ่งทำแต่น้อยให้ได้กำไรสะสมมาก มีกำลังทุน มีกำลังซื้อ มีกำลังแข่งขันเอาตัวรอด ในที่สุด เมื่อแข่งขันกันมากขึ้นก็จะกลายเป็นมุ่งแต่ผลประโยชน์ ลดการลงทุน เพิ่มผลกำไร และมองข้ามการดำรงอยู่ของคนส่วนใหญ่ คนใช้แรงงานกลับจะไม่มีรายได้เพียงพอ ไม่มีกิน คุณภาพแห่งชีวิตไม่ดี การต่อสู้กันระหว่างทุนกับแรงงานจึงเป็นแรงกดดันของสังคมที่อยู่ในโครงสร้าง และมีธรรมชาติที่จะก่อเกิดโครงสร้างความรุนแรงอยู่ในระบบของสังคมทุนนิยมได้อยู่เสมอ

ด้วยเหตุนี้ นัยสำคัญจากแนวคิดดังทฤษฎีทุนมนุษย์ (Human Capital) และความเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization : LO) ดังที่ศาสตราจารย์ ดร.อิคุจิโร โนนากะนำเสนอนั้น จึงจัดว่าอยู่ในกระแสความคิดหนึ่งที่สามารถปลดล็อคการเผชิญหน้ากันของอุดมการณ์ต่างขั้ว ของการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจ ซึ่งก็จะเป็นแนวคิดที่จะสามารถช่วยทำความเข้าใจและใช้อธิบายการผสมผสานทุนนิยมเสรีกับสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ และเห็นความเป็นองค์กรรับผิดชอบทางสังคม หรือ CSR ซึ่งก็คือความเป็นสังคมนิยมและความเป็นคอมมิวนิสต์ในสังคมทุนนิยมเสรี ผสมกลมกลืนกันอยู่บนการเคลื่อนตัวของสังคมโลกในปัจจุบัน

เราจึงจะสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนว่าแนวคิดดังกล่าวนี้ เป็นวิธีคิดที่ให้ความลงตัวในการนำเอาทฤษฎีทุนนิยมมาใช้กับอุดมการณ์และวิธีการของสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ ซึ่งต่างก็มีจุดแข็งและจุดอ่อนต่างกัน อีกทั้งเคยเป็นฐานคติของสงครามเย็นต่างขั้ว มาสร้างทางออกให้กับโลกในอนาคต จากการแบ่งขั้วและเผชิญหน้ากัน มาสู่ความต้องพึ่งพิงอาศัยกัน เป็นทั้งเหตุผลเบื้องหลัง อุปสรรคปัญหา และปัจจัยแห่งความสำเร็จของกันและกัน [๑๒]

กล่าวได้ว่า เป็นวิธีคิดที่มุ่งปรับเปลี่ยนการมุ่งสร้างมูลค่าผลกำไรและผลประโยชน์แบบแข่งขันเอาตัวรอดของกลุ่มคนส่วนน้อย ไปสู่การสร้างคุณค่าและความมีบทบาทต่อสังคม สะท้อนการให้ความสำคัญต่อมิติความเป็นมนุษย์ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเน้นการมีคุณค่าทางจิตใจมากยิ่งๆขึ้น กล่าวได้ว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่อยู่ในกระแสความคิดแนวปฏิรูปสังคม และเป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนทรรศน์การพัฒนาสังคมเศรษฐกิจของสังคมยุคหลังอุตสาหกรรมของโลก.

....................................................................................................................................................................

เชิงอรรถและหมายเหตุของบทความ :

[๑] ในความเป็นจริงนั้น ศาสตราจารย์ ดร.อิคูจิโร โนนากะ และศาสตราจารย์ ดร.ฮิโรตากะ ทาเกอุชิ ไม่เห็นด้วยกับการใช้คำว่า 'การจัดการความรู้' หรือ 'Knowledge Management' แต่จะใช้คำว่า 'การจัดการบนฐานความรู้' หรือ Knowledge-Based Management เพราะเห็นว่าความรู้และสติปัญญานั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจัดการได้ แต่สามารถนำมาเป็นองค์ประกอบเพื่อบริหารจัดการปัจจัยอื่นๆให้กอปรไปด้วยการใช้ความรู้และวิถีแห่งปัญญาได้ ศึกษาเพิ่มเติม แนวคิดทฤษฎี พัฒนาการ และการร่วมสะท้อนทรรศนะจากเครือข่ายเรียนรู้นานาชาติ ใน 12 Manage Excutive Fast Track http://www.12manage.com/methods_nonaka_seci.html
[๒] ในทางวิธีวิทยาของการสร้างความรู้และทฤษฎีความรู้นั้น จะมีการแบ่งทรรศนะแม่บทของการสร้างความรู้ออกเป็นแนวทางที่สำคัญ ๒ แนวทาง ประกอบด้วย ความรู้และวิทยาศาสตร์แบบปฏิฐานนิยม หรือ Positivism และความรู้และวิทยาศาสตร์แบบ ภววิสัย หรือ Subjectivism แนวทางแรก เน้นให้สิ่งที่เป็นหลักฐานและข้อเท็จจริง (Fact and Evidence) ซึ่งสามารถประเมินและวัดได้ด้วยวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบ บอกเล่าและแสดงความจริงด้วยตนเอง ต้องปราศจากอคติของมนุษย์ ส่วนแนวทางที่สอง เน้นคุณค่าและการมีความหมายเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์สังคมและองค์ประกอบความเป็นมนุษย์ รวมทั้งสภาวะการดำรงอยู่ ในเงื่อนไขและข้อตกลงที่มีขอบเขตจำเพาะ ต้องอาศัยการให้ความหมายของหลักฐาน ข้อเท็จจริง ตีความ (Intrepretation) และสร้างความรู้ความเป็นจริงภายใต้ความมีบริบททางสังคมวัฒนธรรม ปัจจุบันนี้ แนวคิดที่แยกส่วนกันเด็ดขาดมีบทบาทน้อยลง และให้ความสำคัญกับแนวทางที่ ๓ คือ การบูรณาการและผสมผสานวิธีวิทยาให้เหมาะสมไปตามความจำเป็น
[๓] เครือข่ายการเรียนรู้ทางอินเทอร์เน็ต ดังเช่นเครือข่ายใน GotoKnow จัดว่าเป็นพื้นที่การเรียนรู้ หรือ Learning Space เป็นการสร้างความรู้ควบคู่ไปกับการเชื่อมโยงความหมายและการสร้างวิสัยทัศน์ รวมทั้งระบบวิธีคิดระดับสัมพันธบริบทของกลุ่มคนที่หลากหลาย ในชุมชนเสมือนและเครือข่ายสังคมในโลกอินเทอร์เน็ตก็มีความรู้ที่เชื่อมโยงกันจากหลายบริบทเช่นเดียวกันเรียกว่า Hyper-Text ซึ่งก็วางอยู่บนหลักคิดของการสร้าง
ปฏิสัมพันธ์ที่ยังมีความแตกต่างหลากหลายระดับตัวบทหรือ Text แต่จะมีกรอบและประสบการณ์ทางสังคมร่วมกันหรือมีบริบทเชื่อมโยงกัน
[๔][๕] เราอาจพบจากงานเขียนของนักวิชาการและนักเขียนแนวสังเกตการณ์ทางสังคมบางแห่งที่ให้ทรรศนะว่า ปีเตอร์ เซงเก้ และ ปีเตอร์ ดรัคเกอร์ เป็นนักเขียนฝ่ายซ้ายของโลกทุนนิยมเสรี ที่เป็น กลุ่มซ้ายพิราบ ซึ่งมุ่งแสดงจุดยืนที่แตกต่างในทางตรงกันข้ามด้วยวิธีการที่ไม่รุนแรง ไม่ก้าวร้าว ไม่ใช้อาวุธ แต่จะมุ่งใช้วิธีปรึกษาหารือ เขียนและเผยแพร่หนังสือ ใช้ความเป็นเหตุผล วิธีการพูดคุยต่อรอง และการใช้ความรู้ 
[๖] ทฤษฎีสังคมวิทยาหลังยุคอุตสาหกรรม Post-Industrial Sociology จะโดดเด่นในการนำเสนอทรรศนะและการอธิบายระบบสังคมวัฒนธรรมบนระบบการผลิตและหน่วยการผลิตขนาดต่างๆ นับแต่ระดับการรวมกลุ่มบนปัจจัยและกิจการการผลิต ไปจนถึงองค์กรเหนือรัฐชาติ และเครือข่ายปฏิสัมพันธ์กันขององค์กรระดับโลกซึ่งเหนือความเป็นชาติ รวมทั้งการก่อเกิดปรากฏการณ์ทางสังคมที่สืบเนื่องมากับความเปลี่ยนแปลงทางวิทยาการ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม เช่น ชุมชนในอินเทอร์เน็ต ความเป็นชุมชนในองค์กรสมัยใหม่ รวมทั้งชุมชนในความหมายที่แตกต่างจากสังคมการผลิตในยุคเกษตรกรรมและยุคอุตสาหกรรม
[๗] แนวคิดและทฤษฎีทางสังคมวิทยาในแนวทางดังกล่าวนี้ สะท้อนภาวะความทันสมัยและความเป็นภาวะหลังสมัยใหม่ทางสังคมและประชากรศึกษาด้วย เช่น ลักษณะชุมชนในบริบทหลังยุคอุตสาหกรรมและยุคอุตสาหกรรมใหม่จะมีลักษณะหลากหลายกว่าความเป็นชุมชนในอดีต โดยจะเป็นกลุ่มวิชาชีพ กลุ่มแรงงาน และกลุ่มการรวมตัวด้วยเงื่อนไขของระบบการผลิตและบริการของยุคหลังอุตสาหกรรม แนวคิดทางสังคมหลังอุตสาหกรรมและหลังภาวะความทันสมัยถือว่าการครองชีวิตโสด การไม่มีลูก หรือการแต่งงานสร้างครอบครัวในหมู่คนเพศเดียวกัน เป็นรูปแบบเพื่อสนองตอบชีวิตความเป็นอยู่ในเงื่อนไขใหม่และยอมรับเป็นความทันสมัย ในขณะที่วิธีคิดและวิธีอธิบายในอดีตจะเห็นว่าเป็นบาปและเป็นพฤติกรรมแปรปรวนไปจากปทัสฐานของสังคม เหล่านี้เป็นต้น
[๘] จะสังเกตได้ว่าแนวคิดและศัพท์ที่ใช้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเรื่องทุน แรงงาน กำไร การสะสมคลังความรู้เป็นการสะสมทุน เหล่านี้ ล้วนเป็นศัพท์ธุรกิจและศัพท์ทางทฤษฎีสังคมทุนนิยม กับศัพท์ทฤษฎีวิทยาศาสตร์สังคมของมาร์กซ์และเองเกลทั้งสิ้น เพียงแต่นำมาใช้ในบริบทที่เปลี่ยนไป ทำให้อุดมการณ์เปลี่ยนไปแต่สามารถใช้ทฤษฎีความรู้ของโลกที่มีแต่เดิมได้
[๙] ตัวอย่างเช่น องค์กรธุรกิจการจัดการทางสังคม องค์กรผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม สถาบันธุรกิจเพื่อพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม องค์กรแบบ Philanthrophy ซึ่งเป็นการจัดตั้งและบริหารจัดการเชิงธุรกิจและการประกอบการเชิงธุรกิจแต่ไม่มุ่งผลกำไร
[๑๐] วิสัยทัศน์อีกแนวทางหนึ่ง เป็นวิสัยทัศน์ที่สร้างขึ้นก่อน ทั้งโดยผู้บริหารและโดยการใช้ข้อมูล วิสัยทัศน์แบบนี้จะเรียก Vision ไม่เรียกว่าวิสัยทัศน์ร่วม จะมีความเป็นวิสัยทัศน์ของผู้นำมากกว่าจะเป็นวิสัยทัศน์ขององค์กรแบบ Self-Organized และองค์กรแบบ Corporate ซึ่งกระบวนการที่จำเป็นหลังสร้างวิสัยทัศน์ในลักษณะนี้ขึ้นแล้ว ก็จะต้องมุ่งถ่ายทอดให้เป็นวิสัยทัศน์ขององค์กรผ่านการอบรมประชุมชี้แจง การพบปะกลุ่มผู้ปฏิบัติและสื่อสารประชาสัมพันธ์องค์กร ในขณะที่ Shared Vision จะทำเป็นกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นก่อนทั้งองค์กรแล้วจึงผุดวิสัยทัศน์ขึ้นเหมือนเป็นข้อตกลงแบบพันธสัญญาทางใจต่อกันเพื่อดึงพลังของ Collective Leadership ของกลุ่มแรงงานและหัวหน้าระดับกลาง หัวหน้าผู้บริหารจะเป็นเพียงผู้มีวิสัยทัศน์ของตนและนำองค์กรทั้งหมดเหมือนเป็น Conductor ซึ่งท่วงทำนองของบทเพลงทั้งหมดไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่งในวงเลย ซึ่งทั้งสองแนวก็จะเหมาะสมต่อสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป
[๑๑] เป็นแนวการเคลื่อนไหวและระดมพลังทางสังคมโดยสร้างกระบวนการสื่อสารเรียนรู้และพัฒนามิติทางวัฒนธรรมให้เกิดขึ้นก่อน ทำให้คนและบุคลากรรักความรู้ เห็นคุณค่าและความจำเป็นของความรู้และการจัดการความรู้ก่อน แล้วจึงกำหนดปัจจัยดำเนินการที่จำเป็นต่างๆออกมา ซึ่งก็จะมีความหมายและสื่อสะท้อนออกมาจากจิตวิญญาณของคนทำงาน ในขณะที่แนวทางในกระแสหลัก เช่น ในแนวทฤษฎีการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Transfer of Technology Theory) จะเชื่อว่าทัศนคติ ค่านิยม และมิติสังคมวัฒนธรรมจะพัฒนาตามหลังวิทยาการและเทคโนโลยี ซึ่งในความเป็นจริงก็อาจจะทำให้เกิดภาวะความทันสมัยเพียงรูปแบบแต่ไม่สามารถพัฒนามิติทางสังคมและวัฒนธรรม จัดการความรู้ในฐานะเป็นงานอย่างหนึ่งโดยอาจจะไม่ซาบซึ้งและไม่เห็นคุณค่าความสำคัญของความรู้ อีกทั้งไม่มีความยั่งยืนในการพัฒนา
[๑๒] ในบางทรรศนะอาจจะให้ข้อสังเกตว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นเพียงอุดมคติและเพ้อฝัน ไม่สามารถเกิดขยายผลปฏิบัติขึ้นได้จริงในสังคม และในบางทรรศนะก็อาจจะเห็นว่าเป็นการบิดเบือนแนวทฤษฎีเพื่อสร้างการยอมรับให้แก่ความอยุติธรรมทั้งในระบบสังคมทุนนิยมเสรี และความอยุติธรรมในระบบสังคมนิยมและสังคมคอมมิวนิสต์

หมายเลขบันทึก: 411249เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2010 14:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (45)
  • เห็นกระบวนการทำงาน
  • ที่ไม่ได้เน้นกำไร อย่างเดียว
  • แต่ไปลงที่การสร้างคุณค่าและบทบาททางสังคม
  • ขอบคุณอาจารย์มากครับ

สวัสดีครับอาจารย์ขจิตครับ
แนวคิดนี้คงเหมาะมากสำหรับเจนเนอเรชั่นอาจารย์ซึ่งเป็นรุ่น New Age นะครับ
อาจารย์สบายดีนะครับ 

อาจารย์คะ

บันทึกนี้ทำให้หนูได้เรียนรู้มุมมองที่กว้างขึ้นเกี่ยวกับ KM

ขอบคุณมากๆ ค่ะ

  • สวัสดีค่ะ อาจารย์
  • ป้าแดง ปิ๊งแว๊บกับ คำวา wisdom ค่ะ ดูเหมือนทหใสขุมและชาญฉลาดอ่ะค่ะ
  • ขอบคุณอาจารย์ค่ะ
  • ดีใจครับคุณมะปรางเปรี้ยว
  • ถ้าอย่างนั้นก็ถือว่าเป็นการให้อย่างหนึ่งเพื่อขอบคุณทีมงานของคุณมะปรางเปรี้ยวและ GotoKnow ที่ส่งของที่ระลึกและเสื้อไปให้ผมอีกนะครับ
  • ได้รับแล้วครับด้วยความประทับใจ เสื้อสวยเก๋มากๆครับ
  • สวัสดีครับ padaeng ครับ
  • ผมกำลังพยายามเขม็งตามองเพื่อจะเดาว่า padaeng ต้องการพิมพ์ว่าอย่างไรอยู่นะครับ

เนื้อหาดีมากค่ะอาจารย์ ถูกใจ ได้ความรู้ค่ะ คนเรามุ่งแต่หาเทคโนโลยี น้อยคนนักที่มองมาที่สังคมส่วนรวม อย่างว่าแหละค่ะ เพื่อความอยู่รอด เพื่อปากท้อง ถ้าไม่พอกินพอใช้ก็ให้สังคมไม่ได้ค่ะ

  • สวัสดีครับคุณจิราพัชร์ครับ
  • นำมาถ่ายทอดแบ่งปันกันเพื่อได้วิธีคิดดีๆสำหรับการทำงานน่ะครับ
  • ขอบพระคุณที่มาแลกเปลี่ยนทรรศนะกันครับ
  • มีความสุขมากๆครับ
  • ท่านถอดบทเรียนได้อย่างแยบยล
  • กลับมาอ่านอีกรอบนะคะ
  • เต็มเปี่ยมสาระที่มอบให้เพิ่มเติม.....
  • ขอบพระคุณยิ่ง

สวัสดีครับคุณอุ้มบุญครับ
มาร่วมแบ่งปันความคิดและต่างเสริมกำลังความรู้ให้กันน่ะครับ
ตอนนี้ทางอีสานหนาวน่าดูเลยใช่ไหมครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

กำลังจะอ่าน มีเหตุให้แว่บแล้ว

ไว้มาอ่านอีกทีนะคะ

เหมือนชะเง้อคอข้ามรั้วมาทักทายกันเลยนะครับ
ผมแวะไปดูในบล๊อกโอเคเนชั่น คุณณัฐรดายังคงเข้าไปดูอยู่เลยนะครับ มีคนเข้ามาดูเป็นแสนคนแล้ว
แล้วก็มีสื่อกับคนอ่านติดตามอย่างเหนียวแน่นดีจังเลยนะครับ

สวัสดีครับ ภก.เอนก ครับ คุยสั้นแต่รู้สึกได้ถึงความจริงจัง ลุ่มลึก และจริงใจในการทักทายนะครับ
เลยได้ขออนุญาตเข้าไปทำความรู้จักนะครับ มุมมองต่อการงานและชีวิตของคุณเอนก เป็นมุมมองแบบเดียวกัน ศ.โนนากะและกลุ่มคนทำเรื่อง KM ในแนวนี้เลยนะครับ เขาจะให้ความสำคัญต่อสิ่งที่เป็นคุณค่าด้านในของคน และการทำหน้าที่ชีวิตต่อสังคมนั้น จะสะท้อนสู่การทำงานที่เป็นมากกว่าการทำกิจกรรมตามหน้าที่ แต่มุ่งทำออกมาจากชีวิตจิตใจและทำอย่างเป็นวิถีชีวิตเลย

  • สวัสดีครับอาจารย์
  • ตามมาเรียนรู้ข้างเวทีด้วยคน
  • .......ผมสรุปจากทั้งสามท่านที่อาจารย์กรุณาถอดบทเรียนว่า
  • ...การพัฒนาองค์กร สิ่งสำคัญอยู่ที่การพัฒนา "คนทำงาน"
  • ให้ได้มีความสัมพันธ์ ร่วมแรงร่วมใจเรียนรู้และพัฒนาเพื่องาน
  • เพราะตัวองค์กรนั้น "เรียนรู้ไม่ได้" "คนทำงาน"ต่างหากที่ต้องเรียนรู้
  • โดยมีเป้าหมายร่วมกันไม่มองไปที่ "กำไร" ที่เป็นตัวเงินเป็นตัวตั้งเท่านั้น
  • แต่มองไปถึงสังคม และความอยู่รอดของคนส่วนใหญ่ด้วย
  • ..ฯลฯ
  • ผมเคยไปร่วมเวทีฯครั้งหนึ่ง  สรุปได้ว่า หากจะพัฒนาและแก้ปัญหาต่างๆ ของสังคมปัจจุบัน
  • ควรใช้หลักการของศาสนาที่มีอยู่แล้ว นำมาปรับใช้(ปฏิบัติ)ให้มากที่สุด
  • สังคมจึงจะเกิดสันติสุขอย่างยั่งยืนได้...
  • ผมว่าเชื่อมถึงกันได้ ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยต่อท่อให้ด้วยนะครับ
  • ขอบคุณมากครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

การจัดการความรู้ หรือ KM : Knowledge Management ของนักวิชาการทางด้านนี้ของโลกทั้ง ๓ ท่าน ต่างก็เน้นประสิทธิภาพของระบบข้อมูลสารสนเทศและใช้ความก้าวหน้าของระบบไอทีให้เป็นองค์ประกอบสำคัญของการจัดการความรู้อย่างยิ่ง แต่แนวคิดกลับไม่ได้เน้นการเริ่มต้นที่ระบบไอทีหรือใช้เทคโนโลยีไอทีเป็นตัวตั้ง ทว่า กลับมุ่งให้ความสำคัญต่อการลงทุนพัฒนาคน สร้างความรู้องค์กร และการดึงศักยภาพภายในตัวคนออกมาอย่างสูงสุด พัฒนาการเรียนรู้และให้ความเข้าใจตัวตนของคนอย่างถ่องแท้ ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และการจัดการความรู้เพื่อสร้างนวัตกรรมขึ้นจากกลุ่มบุคลากรที่เป็นแรงงาน จากนั้น ระบบไอทีและเทคโนโลยีต่างๆจึงจะถูกระดมมาใช้อย่างบูรณาการผ่านการมีส่วนร่วมวางระบบของเครือข่ายจัดการความรู้ ซึ่งก็จะเป็นองค์กรเรียนรู้ที่มีความทันสมัยก้าวหน้าเช่นกัน แต่บูรณาการและมีความยั่งยืนในการพัฒนามากกว่า

  • เป็นย่อหน้าที่อยากให้นักเทคโนฯ ที่กำลังหลงทาง หรือมุ่งไปในทิศทางของการแข่งขันชิงความเป็นเลิศทางด้านไอทีอย่างเดียวจนหลงลืมอะไรไป ให้ได้เข้ามาขบคิดตีความเป็นอย่างยิ่ง ..
  • ขอบคุณสำหรับบทวิเคราะห์หน้านี้ค่ะ +๑

สวัสดีครับคุณสิงห์ป่าสักครับ

  • ทั้งสามท่านมุ่งเน้นไปที่คนทำงานและเป้าหมายทางสังคมอย่างมุมมองคุณสิงห์ป่าสักเลยนะครับ
  • การยืมทรรศนะทางศาสนามาให้เป้าหมายและอุดมการณ์ทางสังคมที่พึงประสงค์ในกระบวนทัศน์การพัฒนาที่ดีกว่าและยั่งยืนกว่านี่ เป็นแนวโน้มของสังคมโลกหลังยุคความทันสมัยและหลังเข้าสู่ยุคสังคมแห่งความรู้ทีเดียวเลยละครับ
  • แต่ในระดับปฏิบัติ โดยเฉพาะในชุมชนระดับต่างๆนั้นก็มีพื้นฐานที่แตกต่างหลากหลายกันมากครับ

สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ

  • มีการให้ +๑ด้วยนี่ สงสัยเป็นวัฒนธรรมโหวตแบบคลับเอเอฟ หรือจากโอเคเนชั่นแน่เลยนะครับ
  • ฟัง ดร.โนนากะพูดถึงการจัดการความรู้ว่าเป็นการทำให้การบริหารและการจัดการความเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการสร้างสิ่งสร้างสรรค์ต่างๆ ให้เป็นวิถีชีวิตนี่ มีความเป็นเรื่องของวิธีคิดและการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจมากเลยนะครับ แต่ส่วนใหญ่เมื่อมาพูดถึงกันในสังคมการทำงาน ก็อาจจะกลายเป็นเรื่องเทคนิคปฏิบัติและมุ่งไปที่เรื่องการใช้เทคโนโลยีไอที ไปได้เหมือนกันนะครับ
  • อันที่จริงนั้น โมเดลเซกิ ของดร.โนนากะและเพื่อนนั้น เป็นการบูรณาการวิธีจัดการความรู้ด้วยวิทยาการสมัยใหม่กับวิธีการเชิงสังคมซึ่งเป็นกระบวนการธรรมชาติของมนุษย์ เรียกว่าเป็นแนวคิดที่นักเทคโนฯการศึกษา น่าจะเป็นผู้คิดค้นบุกเบิกและริเริ่มในเรื่องนี้ได้อย่างดีที่สุดสาขาหนึ่งเลยนะครับ
  • ผมขอร่วมด้วยในแนวทางนี้เลยนะครับ

อาจารย์ถ่ายทอดได้ชัดเจนมากครับ ขอบพระคุณมาก

ผมถูกจัดให้ไปอยู่ KM ทีมของสำนักงานอัยการเขต ๘ พยายามที่จะกระตุ้นให้น้องๆใช้ KM ในการทำงาน ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง แต่สิ่งที่เราทำให้เห็นจากการทำงาน รวบรวมประสบการณ์การดำเนินคดีแพ่ง จากการตรวจพบข้อบกพร่องจากการทำงาน นำมาเล่าสู่กันฟัง จัดทำเอกสารแจกจ่ายให้ทราบ และนำประสบการณ์จากอัยการพิเศษฝ่าย รองอธิบดี และอธิบดี มาจัดทำแบบตรวจสอบ ปรากฏว่าได้ผลดี เห็นได้ชัดว่าข้อผิดพลาดจากสำนวนลดลงอย่างทันตาเห็น กระตุ้นให้ทำ KM กันต่อ

ข้อเสียของ KM บ้านเราคือถูกบังคับให้ทำเพื่อให้เป็นไปตามตัวชี้วัด มันก็เลยไม่เป็นธรรมชาติ

ความจริงงานอัยการสมัยก่อน นั่งทำงานอยู่แห่งเดียวกันหลายคน ทั้งรุ่นพี่รุ่นน้อง จึงมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน เพียงไม่ได้บันทึกให้เป็นรูปเล่ม และงานไม่ค้างเพราะสามารถหารือได้ตลอดเวลา แต่ปัจจุบันสร้างสำนักงานอัยการ มีห้องส่วนตัวให้อัยการคนละห้อง เวลามีปัญหาก็เอาสำนวนเก็บไว้ก่อน หยิบสำนวนที่ไม่มีปัญหามาทำก่อน งานก็เลยค้าง ตอนนี้ก็เลยต้องมานั่งแก้ปัญหาคดีค้าง ก็ได้ทำ KM กับผู้ใหญ่อีกรอบสนุกดี

ขอบพระคุณบทความนี้ที่ได้ทำให้ทบทวนบทบาทการทำงานด้วยครับ

สวัสดีครับท่านอัยการชาวเกาะครับ

ในวงสังคมกลุ่มเพื่อน กลุ่มผู้ร่วมงาน และกลุ่มสนทนาอย่างไม่เป็นทางการนั้น บางทีก็เป็นชุมชนการเรียนรู้ที่ให้สติปัญญาและความรู้ที่ลึกซึ้ง ไม่เพียงใช้ทำงานและดำเนินชีวิตได้เท่านั้น แต่สามารถหล่อหลอมและให้ความแยบคายระดับโลกทัศน์และชีวิทัศน์มากขึ้นเรื่อยๆเลยทีเดียวนะครับ บ้านเรามองข้ามการศึกษาเรียนรู้ที่อยู่ในวิถีชีวิตและกระบวนการเรียนรู้ผ่านการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่มีการส่งเสริมให้มีการจัดการอย่างแยบคาย ไปพึ่งแต่การศึกษาที่เป็นทางการและการศึกษาในระบบ อีกทั้งคาดหวังเกินเหตุ จนมักตกเป็นเหยื่อของสังคมอยู่เสมอนะครับ

เห็นด้วยมากเลยครับว่าการเคลื่อนไหวเรื่องการจัดการความรู้ในบ้านเรานั้นมากก็จริง แต่ไปทำให้มันเป็นงานไปเสียหมด ความจริงเรื่องของความรู้ต้องไปได้ไกลและสะท้อนมิติทางจิตวิญญาณทั้งของปัจเจกและของสังคม

ขอบพระคุณที่แวะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้นะครับ
ผมชอบเรื่องราวอัยการชาวเกาะถ่ายทอดเกี่ยวกับคุณพ่อและพี่ๆน้องๆมากเลยครับ
นี่ไม่ใช่เรื่องของภายในครอบครัวเท่านั้น แต่เป็นการใช้ประสบการณ์ของหน่วยทางสังคมเล็กๆมาเป็นกรณีตัวอย่างเปิดประเด็น แล้วเดินเข้าหาสิ่งที่เราต้องการสร้างความรู้ขึ้นมาอธิบายปรากฏการณ์ที่เราสนใจ

ในทางสังคมวิทยาและทางมานุษยวิทยา รู้จักวิธีแบบนี้ว่าเป็นวิธี Explore สิ่งที่ไม่มีในแหล่งอื่นๆขึ้นมา แล้วบรรยายออกมาเป็นเรื่องเป็นราวด้วย Auto-Ethnography ผมเคยศึกษาวิธีนี้แล้วใช้ศึกษาเรื่องชุมชนที่รวมตัวกันบนประเด็นต่างๆที่เราสนใจ เช่น วิถีทำกิจกรรมสาธารณะที่สนใจ การทำมาหากิน การทำกิจกรรมสุขภาพ

ชอบอ่านในความเป็นชีวิตแห่งวิถีการเรียนรู้และอ่านแล้วก็ให้วิธีคิดที่ดีมากจริงๆครับ ขอชื่นชมครับ

ขอบคุณสำหรับความรู้นี้ เป็นเรื่องราวของKM ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน

..สนใจเรื่องนี้มานาน ได้เห็นความต่างที่ดีกว่าจากการอ่าน ขอบคุณมากนะครับ

สวัสดีครับคุณจันทรวดีครับ

ดีใจครับที่มีคนอ่านอย่างคุณจันทรวดีอยู่ด้วย ทำให้ได้รู้สึกว่าเป็นความเหน็ดเหนื่อยและการได้ให้เวลากับสิ่งที่มีความหมายครับ ผมนี่ก็คงจะเหมือนกับความเปรียบเปรยในคติของเล่าจื๊อครับ ที่ว่าไก่ป่ากับไก่ในสุ่มหรือไก่ในเข่ง  

ไก่ในเข่งหรือไก่ในสุ่มชอบกินข้าวเปลือกเยอะๆและด้วยวิธีง่ายๆ แต่ไก่ป่าชอบมรรควิธีออกเดินไปหาข้าวเปลือก ข้าวเปลือกเพียงเมล็ดเดียวแต่ได้มาด้วยวิถีดังกล่าว แม้นต้องฝ่าข้ามป่าเขาหมื่นลี้ ก็ทำให้อิ่มถึงจิตวิญญาณที่เป็นพลังชีวิตข้ามไปภพหน้าได้ ดูเวอร์อย่างกับหนังจีนหรือหนังสือการ์ตูน แต่คุณมะปรางเปรี้ยวกับคุณจันทรวดีและลุงพร ทำให้ผมนึกถึงความเชิงเปรียบเทียบอย่างนี้จริงๆครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์วิรัตน์

สุขสันตํํวันเกิดนะค่ะ

อ่านเรื่องนี้แล้วได้รับความรู้ เข้าใจ KM มากขึ้น และเห็นด้วยกับมุมมองของคุณสิงห์ป่าสักค่ะ

ขอบคุณสำหรับสิ่งดีๆ ค่ะ

เรียนท่านอ.วิรัตน์

กราบขอบพระคุณที่ไปเยี่ยมเยี่ยนให้กำลังใจยามเจ็บไข้

รับรู้ถึงเมตตาธรรมที่ท่านส่งมาให้

และอยากเรียนว่าวันนี้โชคดีที่ได้เกาะเวทีเรียนรู้

และดีใจที่สิ่งหนึ่งในบทความนี้เหมือนสิ่งหนึ่งที่ตัวเองกำลังทำ

และดูเหมือนว่ามีพลังที่ผลักดันให้คืบคลานต่อไปบนเส้นทางที่ได้วาดหวังไว้

หนองบัวยังคงเป็นฝันที่แน่วแน่วต้องไปร่วมเวทีให้ได้ค่ะ

เกริ่นกับน้องอ.ขจิตไว้ว่าหากเป็นช่วงเมษาละก็...แหล่มเลยค่ะ

และขออนุญาตนำบันทึกนี้ไปเผื่อแผ่เพื่อนคอเดียวกันนะคะ

ขอบคุณค่ะ

 

สวัสดีครับคุณจิ้มจุ่ม !!!
ผมอ่าน-เดาชื่อคุณไม่ออก เลยยกให้เป็นจิ้มจุ่มก็แล้วกันนะครับ
ขอบคุณในอวยพรวันเกิดครับ
เห็นด้วยกับคุณสิงห์ป่าสักและคุณจิ้มจุ่มมากด้วยเช่นกันครับ

ดีใจครับที่ครูต้อยติ่งหายเจ็บไข้และแวะมาเยือนบอกกล่าวกัน
สำหรับเวทีหนองบัวนั้น กำลังคุยกับเพื่อนๆ ก็ได้แนวคิดสองแนวครับ
คือถือเอากิจกรรมประเพณีวัฒนธรรมเป็นหลัก แล้วก็จัดเวทีให้ตรงกัน ก็เป็นวิธีหนึ่งที่เหมาะสมมาก เช่น จัดให้ตรงกับงานงิ้ว ซึ่งจะอยู่ในช่วงเดือนมีนาคมและปลายๆเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี แล้วก็ช่วงสงกรานต์ ซึ่งทั้งสองช่วงนี้ คนชนบทรวมทั้งคนหนองบัวโดยมากก็จะกลับบ้านกันเป็นส่วนใหญ่

แต่พรรคพวกก็บอกว่า ช่วงเวลาดังกล่าวนี้จะดีสำหรับคนหนองบัวและลูกหลานคนหนองบัว แต่สำหรับคนภายนอกเพื่อนฝูงแขกเหรื่อแล้วละก็คงจะลำบากแน่ เพราะหนองบัวจะร้อนและแห้งแล้งที่สุดในหน้าร้อน เขากลัวจะดูแลเพื่อนๆและแขกที่ไปเยือนได้ไม่ดี ซึ่งผมเองนั้น แต่เดิมชอบช่วงที่ว่านี้ เพราะเราสามารถทำให้ทั้งหนองบัวคึกคักไปด้วยกันได้ดี ทำงานกันก็ดี ชาวบ้านจะทำมาค้าขายก็คงจะดีอีก แต่พอมีคนทักท้วงเรื่องนี้ก็ค่อนข้างจะเห็นด้วยเสียด้วยครับ

เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็เลยมีคนเสนอทางเลือกที่สอง คือ จัดกิจกรรมอื่นๆเป็นเวทีกิจกรรมย่อยๆ ไปก่อนทั้งปี แล้วก็ไปจัดเวทีรวมในหน้าหนาวปี ๒๕๕๔ ไปเลย

เลยก็คิดว่าเหมาะสมทั้งสองแนวคิด อย่างไรก็ได้ครับ เพราะในความเป็นจริงแล้วจะทำอยู่เรื่อยๆตลอดไปตามจังหวะที่มีเหตุปัจจัยให้พอทำกันได้น่ะครับ

พอดีออกจากระบบแล้ว...เห็นบันทึกนี้

ตั้งใจว่า จะsave ไว้อ่านก่อนนอน

....

ขณะที่พิมพ์หนังสือฝากร่องรอยไว้ ฝนกำลังตก

ปีนี้ทางใต้ฝนชุก จริง ๆ ครับอาจารย์

...อากาศที่นี่ คงจะหนาว

รักษาสุขภาพด้วย นะครับ อาจารย์

อาจารย์เขียนได้ดีมากค่ะ เป็นประโยชน์มาก จะได้นำไปใช้ในการเรียนการสอนค่ะ

สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดีครับ
เมื่อวานก่อนทางกรุงเทพฯก็เหมือนกับฝนจะตกหนักเลย
แต่ตอนนี้ ตั้งแต่เมื่อคืนนี้ อากาศเย็นๆเหมือนกัน กลายเป็นกลับมาหน้าหนาวอีกแล้วครับ
เดี๋ยวนี้สัปดาห์หนึ่งก็มีสามฤดูไปเลยนะครับ

สวัสดีอาจารย์โรสครับ

ดีครับอาจารย์ เพราะส่วนใหญ่ตอนนี้คนมักจะคุยกันถึงเรื่องจัดการความรู้ ในแง่ที่เป็นสูตรสำเร็จจนเป็นเพียงเรื่องเทคนิคไปหมดแล้วครับ มองข้ามความเป็นวิธีคิดและกระบวนทรรศน์การพัฒนาระบบความเป็นส่วนรวมไปอย่างน่าเสียดาย ทำให้ความเคลื่อนไหวเรื่องนี้ของสังคมไม่เป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมแห่งความรู้ มีแต่เคลื่อนไหวแบบแข็งท่อเกินไป

เมื่อวานนี้ผมได้ไปร่วมจัดและร่วมการประชุมวิชาการเนื่องใน ๔๑ ปีของคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เลยก็ได้นั่งรับฟังการบรรยายและอภิปรายหลายเรื่องในการประชุมสัมมนา การปฏิรูปสังคมไทย : ความคาดหวังกับความเป็นจริง และแทบจะในทุกเรื่องก็มีการนำเอาปัจจัยความเป็นสังคมฐานความรู้และความเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ รวมทั้งบทบาทของโลก ICT มาเป็นมิติหนึ่ีงในการวิเคราะห์สถานการณ์และนำไปสู่การมองไปในอนาคต การจัดการความรู้จึงเป็นคลื่นความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากกว่าเป็นเรื่องเทคนิคการปฏิบัติงานในบางสาขา หรือจำเพาะในองค์กรที่เป็นทางการเท่านั้น

                         

ที่ถูกใจมากเลยก็คือ ได้ฟังท่านศาสตราจารย์ ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์คลื่นความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกที่ดำเนินมาเป็นลำดับในยุคต่างๆ กระทั่งถึงประเด็นแนวโน้มโลกที่สำคัญในปัจจุบัน ก่อนที่จะเสนอแนะต่อที่ประชุมว่า ประเด็นอนาคตของการปฏรูปสังคมไทยที่ควรคาดหวังนั้นเป็นอย่างไร และตั้งอยู่บนความเป็นจริงทั้งของโลกและของสังคมไทยอย่างไร

อาจารย์ได้พูดถึงพัฒนาการระบบสังคมเศรษฐกิจของจีน  อินเดีย และอเมริกา รวมทั้งของฮ่องกงและสิงคโปร์ ในแง่ของการเกิดระบบขนาดใหญ่เหนือรัฐ โดยก่อนที่จะกล่าวถึงบางประเด็นที่จะเกี่ยวกับสังคมไทยด้วย อาจารย์ก็ท้าวความกลับไปถึงพัฒนาการของสังคมโลก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจารย์เริ่มจากฉายภาพให้เห็นตั้งแต่ตอนที่เกิดความล่มสลายของรัสเซีย พร้อมกับทบทวนความทรงจำให้ด้วยว่า ก่อนหน้านั้น นักวิชาการทั้งของไทยและต่างประเทศ  รวมไปจนถึงนักวิชาการที่ได้ชื่อว่าเชี่ยวชาญในรัสเซียศึกษาของโลก ก็ไม่เคยมีใครคิดและกล่าวว่ารัสเซียกับสังคมคอมมิวนิสต์จะเปลี่ยนแปลงมาสู่สภาพอย่างที่เห็นดังปัจจุบันนี้ แต่แล้วโลกก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง และอเมริกาก็มุ่งไปลงทุนกับจีน ทุนนิยมจีนก็รุกเข้าไปในอเมริกาและทั่วโลก จักรวรรดนิยมยุโรปอย่างรัสเซียก็ไม่มีอีกแล้วในแผนที่โลก และอีกหลายเรื่อง ผมเคยเขียนรำลึกเรื่องนี้ไว้ด้วยครับ : เยลซิน วิถีโลกใหม่ และหมายเหตุสังคมท้องถิ่นไทย

ประเด็นที่ผมอยากนำมากล่าวไว้ในนี้ด้วยก็คือ สังคมไทยเคยแบ่งซ้ายแบ่งขวา แล้วก็ถืออุดมคติแบ่งขั้วเป็นฝักฝ่ายมากมาย เดี๋ยวนี้ก็ยิ่งหนักเข้าไปอีก ที่สำคัญคือการเดินตามลูกพี่แบบเป็นขั้วๆ ซึ่งถ้าหากพูดภาษาจัดการความรู้ก็ต้องเรียกว่าดูทางลมมากกว่าตั้งอยู่บนฐานความรู้ที่เป็นตัวของตัวเอง ในบางยุคก็ทำร้ายป้ายสีพวกที่บอกว่าเป็นฝ่ายซ้าย พวกที่เป็นฝ่ายซ้ายก็ตีตราอีกฝ่ายว่าเป็นพวกศักดินา ตีหัวกันเอง พร้อมกับดูลูกพี่หรือถือขั้วประเทศมหาอำนาจอย่างเอาเป็นเอาตาย

แต่ที่ไหนได้ วันดีคืนดีที่เขาก็อยากรักษาวิกฤติของตนเองให้รอดก่อน เหล่ามหาอำนาจทั้งหลายก็เดินเข้าจับมือกันและรวมตัวกันได้อย่างลงตัวเป็นปี่เป็นขลุ่ยหน้าตาเฉย ไม่เห็นอะไรต้องเคอะเขิน ไม่มีปัญหาแบ่งขั้ว เหมือนกับเหล่าประเทศเล็กประเทศน้อยที่มัวแต่ตีหัวและเข่นฆ่าทำลายล้างกันเอง

ปัญหาของวิธีคิดต่อการสร้างความรู้และวิธีคิดต่อสิ่งที่รู้นี่ สำคัญมากจริงๆครับ ก็เลยเขียนมิตินี้ไว้ คิดอยู่ครับว่าต้องมีคนที่มองระดับนี้ด้วยเหมือนกัน

จะปฏิรูปโลก หริออะไรก็ตาม ต้องให้คน คนนั้นเองเห็นตนทั้งในด้านบวกและลบ จนถึงเข้าใจชีวิตตนอย่างแท้จริง ( ไม่ใช่จริงแบบตามความเห็นของ ซึ่งอาจเป็นมิจฉาทิฐิได้) แล้วก็จะเข้าใจทุกอย่างในโลก มนุษย์เราพยามยามแก้ปัญหา (แก้ที่คนอื่น แก้ที่ระบบ แก้ระเบียบ แก้....) เมื่อไหร่มนุษย์ จะหันมาแก้ปัญหาที่ตนเองทุกทุกมนุษย์ เห็นปัญหาของ...ฯลฯ แต่ปัญหาของตนที่แท้จริงกลับไม่เห็นว่าเป็นปัญหาที่ต้องรีบแก้ไข เพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ของโลกด้วย

  • เคยเห็นแนวคิดระบบโลกบาลและปฏิรูประบบสังคมโลกด้วยเหมือนกันครับ แต่นานมาก หลายปีแล้วกระมังครับ เข้าใจว่าเดี๋ยวนี้คงจะไม่มีใครคิดในระดับนี้กระมังครับ หรืออาจจคิดได้ในวงคุยกันเล็กๆ คุยแบบพอให้มืดค่ำแล้วก็นอนหลับกันไปสบายๆไปแต่ละวันก็พอได้
  • แต่คุยแบบจริงๆจังๆนี่ คงจะไม่ง่ายอย่างนั้นน่ะสิครับ แค่บอกให้คนคิดดีๆทำดี ที่สุดโลกก็จะดีเอง อย่างความคิดดีๆอย่างนี้ ได้สักสิบคนก็คงเหงื่อแตกแล้วครับ ทว่า โลกนี้มีคนตั้งกว่า ๗ พันล้านคนในกว่า ๑๘๐ ประเทศน่ะสิครับ ความยากมันเลยอยู่ตรงที่ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนคิดดีๆและทำดีๆอย่างที่ว่ามานี้แหละครับ
  • แต่ก็พอจะมีคนช่วยกันคิดในระดับที่พอจะช่วยกันทำสิ่งต่างๆได้ครับ ที่คิดและหารือกันอยู่เสมอๆอย่างนี้ในสังคมนี่ ก็เป็นภารกิจของผู้คนในสังคมเมื่อต้องอยู่ในฐานะช่วยกันดูระบบส่วนรวมเพื่อให้คนที่แตกต่างกันๆได้อยู่ด้วยกัน แต่เชื่อว่า เมื่อจัดการเรื่องปฏิบัติระดับส่วนบุคคล ก็ต้องคิดและใช้ความรู้อีกชุดหนึ่งให้ถูกกับเงื่อนไข
  • เป็นต้นว่า แทนที่จะทำให้คนทุกคนคิดเหมือนกันและทำสิ่งต่างๆเหมือนกันไปหมด ซึ่งคงจะเป็นไปได้ หรือถ้าหากเป็นไปได้ โลกนี้ก็คงจะประหลาดและไม่น่าอยู่พิลึกเลยละครับ ...ก็หาวิธีให้คนที่แตกต่างกัน ได้เรียนรู้วิธีคิดและดำเนินชีวิตอยู่ด้วยกัน โดยมีความเป็นส่วนรวมชนิดที่พออยู่ด้วยกันได้ พร้อมกับยังมีความเป็นตัวของตัวเองอยู่บ้างพอสมควร
  • แนวคิดที่ใช้ทำความเข้าใจที่หน่วยทางสังคมระดับหนึ่ง อาจจะไม่สามารถนำไปใช้เข้าใจสิ่งที่เป็นระบบและความซับซ้อนต่างกันได้เพียงพอนะครับ เช่น เรานั่งแบกของอย่างหนักด้วยความเมตตาและจิตเป็นบุญกุศล บนรถสามล้อของคนถีบสามล้อที่ยากจน อดอาหาร ผอมกร่องแกร่ง แล้วจะบอกว่า เราได้ช่วยแบกขอกหนักอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งมีจิตใจที่ดีมากมาย คนถีบสามล้อเมื่อถีบสามล้อให้เรานั่ง ก็จะเบาสบายมากกว่าถีบสามล้อโดยสารให้กับคนคิดไม่ดีนั่ง อีกทั้งไม่หนัก ไม่ทุกข์ยาก เพราะเรานั่งแบกของทั้งหมดและเป็นผู้รับน้ำหนักให้แล้วระหว่างที่นั่งบนสามล้อ เรื่องราวมันซับซ้อนคนละระดับน่ะครับ 
  • แต่วิทยากรเกือบทุกท่านนี่ แม้จะมีรายละเอียดในแง่มุมต่างๆ แตกต่างกัน แต่โดยสรุปแล้วก็ให้ความสำคัญในประเด็นเดียวกับที่คุณสุภาพรกล่าวถึงนี้เลยละครับ คือการปรับวิธีคิด ความเป็นสัมมาทิฏฐิ และเน้นการพัฒนามิติจิตใจ
  • หากมองอย่างสนับสนุนความคิดคุณสุภาพร รวมทั้งคิดแบบเข้าข้างตนเองของคนไทยนี่ ผมว่าสังคมไทยมีทุนสังคมทางด้านนี้เยอะนะครับ แต่ก็ต้องเรียนรู้ตนเองบนความเป็นตัวของตัวเองอย่างที่คุณสุภาพรว่ามาแหละครับ แต่ก็อย่างว่าแหละครับ สังคมไทยก็เป็นหน่วยทางสังคมที่เล็กจิ๊บจ๊อยมากในระบบโลกครับ

เห็นด้วยกับอาจารย์เรื่องมุมมองในการ share ว่าควรมีหลากหลายมิติ ขอบคุณที่ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้ผู้ด้อยโอกาสให้เข้าถึงและรับรู้ได้จากโลกciber

ขอบคุณคุณปราณี๔๒๐ครับ
เป็นการช่วยกันสร้างสังคมความรู้ทางหนึ่งเหมือนกันเลยนะครับ

ศุภลัคน์ ชาตฺวัฒนสุคนธ์

มีความเห็นว่าการเรียน ป.โทมีความสำคัญมากข้าพเจ้าเลยอยากจะให้ทุกท่านได้รู้มากขึ้นค่ะ ^^

ในฐานะรุ่นอาวุโสในองค์กร คนทำงานวิชาการ และในฐานะทีมบริหารขององค์กร ผมก็เคยอบรมน้องๆของผมอยู่เสมอๆ โดยพูดแบบเป็นหลักการทั่วไปอย่างนี้เหมือนกันสำหรับองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยความรู้ของสังคมและบริการวิชาการแก่สังคมว่า...........

  • ต่ำกว่าปริญญาตรีต้องทำงานปฏิบัติการเก่ง : หากเป็นเจ้าหน้าที่ จบการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ในระดับอนุปริญญาว่าก็ควรจะเป็นผู้ที่มีความสามารถทำงานด้วยทักษะการปฏิบัติขององค์กรจัดการสมัยใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากทำงานในสาขาของตนเองได้แล้ว ก็ควรมีทักษะการเรียนรู้ดี สามารถเรียนรู้งานใหม่ๆได้ ร่วมประชุมและนำเสนอความคิดเห็น นำเสนอรายงานกิจกรรมที่ตนเองทำและเข้าไปเกี่ยวข้องเป็น ตั้งเรื่องและตอบโต้จดหมายเป็น ทำรายงานกิจกรรมและรายงานการประชุมเป็นโดยอาจจะสามารถสรุปด้วยความเข้าใจตนเองได้บ้าง
  • ปริญญาตรีต้องทำงานโดยใช้ความรู้ วางแผนและบริหารจัดการทีมปฏิบัติได้ : หากจบปริญญาตรี ก็ควรมีทักษะและความรู้พื้นฐานในการปฏิบัติ วางแผน และบริหารจัดการ งานในสาขาของตนเองรวมทั้งงานในสาขาอื่นๆขององค์กร พัฒนาทีมปฏิบัติการต่างๆที่จำเป็นได้ ใช้เทคโนโลยีและวางระบบปฏิบัติการในกิจกรรมจำเพาะด้านในความรับผิดชอบได้ รายงานและนำเสนอความคิดเห็นในที่ประชุมในองค์กรได้ เขียนโครงการและรายงานระดับแผนกได้
  • ปริญญาโทต้องวิจัยและใช้ความรู้ทำงานเป็น : หากจบปริญญาโท ก็ต้องใช้ข้อมูลและใช้ความรู้ทำงานระดับวางแผนทางด้านต่างๆได้ พัฒนาโครงการและบริหารจัดการระดับแผนงานภายในองค์กรได้ ประสานงานและทำงานเครือข่ายได้ เป็นแหล่งวิทยาการ จัดประชุมและดำเนินการประชุม เป็นวิทยากรของหน่วยงานได้ พัฒนางานและตั้งองค์กรจัดการเพื่อดำเนินการกิจกรรมในองค์กร ดำเนินการและประเมินผลองค์กรได้ ทำวิจัยและนำเสนอรายงานได้
  • ปริญญาเอกต้องสร้างความรู้และพัฒนาเครือข่ายทางวิชาการเพื่อการทำงานต่างๆได้ : หากจบปริญญาเอก ต้องสามารถระบุปัญหา ตั้งคำถาม วิจัย และสร้างความรู้ขึ้นมาทำงานได้ตามที่ต้องการได้ วางแผนและทำงานเชิงวิชาการได้ พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ เครือข่ายเชิงนโยบาย เป็นแหล่งวิทยาการ เป็นที่ปรึกษาทางวิชาการได้

ขอบพระคุณอย่างสูงครับที่ให้วิทยาทาน ผมอยากให้อาจารย์พูดถึงการจัดการความรู้ในโรงเรียน หรือความรู้ของนักเรียน เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาครับ

อาจารย์คะ ได้รับความรู้ดีมากค่ะ แต่อยากให้แนะนำการนำการจัดการความรู้ไปใช้กับครูได้อย่างไรค่ะเพราะครูในโรงเรียนบ้านนอกส่วนใหญ่ไม่ชอบอ่านหนังสือ โดยเฉพาะแถบห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้

ตามอ่านเก็บความรู้ต่อค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

สวัสดีครับครูไทยครับ
ตั้งใจไว้ว่าจะเขียนเป็นระยะๆอยู่พอดีด้วยเหมือนกันครับ
แต่ก็มีสอดแทรกอยู่แทบในทุกหัวข้อบล๊อกของผมอยู่บ้างแล้วเลยละครับ

สวัสดีครับคุณประชิตครับ
หากมองจากทฤษฎีการศึกษา ประสบการณ์ การเรียนรู้ และความรู้ ก็ไม่ได้อยู่ในรูปของตัวหนังสือและหนังสืออย่างเดียวนะครับ ครูในชนบทที่ทำงานในท้องถิ่น และแก้ปัญหาไปกับมิติอื่นๆได้ด้วย ก็มีการจัดการความรู้ที่จริงจังและเป็นของจริงในชีวิต จะลองรวบรวมจากประสบการณ์นะครับ ข้อมูลและตัวอย่างดีๆมีอยู่เยอะเหมือนกันครับ

สวัสดีครับ ดร..ยุวนุชครับ
นี่ถ้าหากเป็นโรงเตี๊ยมหรือร้านก๋วยเตี๋ยวปากซอย
ก็ต้องรับกุลีกุจอสบัดเสื่อและเช็ดโต๊ะเก้าอี้กันอย่างดีอกดีใจ เพื่อสันถาวะท่าน ดร.ยุวนุชที่แวะมาเยือนในครั้งนี้เลยทีเดียวละครับ
ผมก็ชอบแวะไปอ่านบันทึก ดร.ยุวนุชมากเลยละครับ อ่านเพลิน ได้ความรอบรู้ และได้ทรรศนะที่สอดแทรกสิ่งชวนสังเกตไปด้วยอยู่เสมอๆ

เพิ่งมีโอกาสอ่านเรื่องKMของอาจารย์ทำให้เข้าใจ ระบบคุณภาพของอาจารย์อีก2ท่านมากขึ้นค่ะ ขอบคุณที่อาจารย์สรุปให้อ่านสั้นๆได้ดีมากๆค่ะ

สวัสดีครับคุณหมอครับ
ด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่งครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท