ตลาดนัดความรู้กรมอนามัย ... Shopping KM สไตล์ สบาย สบาย (11)


เราจะต้องทำให้เกิดทิศทางของการที่จะจัดการความรู้ให้มันสอดคล้องกัน เพื่อให้เกิดการไปในทางเดียวกัน ไปในทางของเป้าหมายของหน่วยงานเดียวกัน

 

ของแถมสักเล็กน้อยนะคะ สำหรับประเด็นคำถามรวม ในช่วงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ "เส้นทางสู่ความสำเร็จ : ประสบการณ์การทำงาน KM"

  1. คำถามแรก เรื่องของ KM Spy : SPY ของศูนย์อนามัยที่ 5 เปิดเผยตัวตนหรือเปล่า ถ้ามี Spy อยู่ในที่นั้นแล้ว คนอื่นจะหวาดระแวงหรือไม่ ที่ไปล้วงความรู้

    คุณโจ้ : ตอบให้รู้ว่า SPY ของศูนย์อนามัยที่ 5 เป็นลักษณะของการชื่นชม ความรู้ที่เราได้มา เราเอามาบันทึก แต่ที่เราเขียนลงไปจะเป็นการชื่นชมคนทำ เขาจะเกิดความภาคภูมิใจในผลงานของเขาว่า เอ๊ะ ข้อความที่เราเอาพัดมาแจกเป็นยังไง ทุกคนจะดูว่า ความรู้ที่เราไปเก็บของเขามา ถูกบันทึกอยู่ข้างหลังพัดของเราหรือเปล่า หรือว่าถูกอยู่ใน จดหมายข่าวไหม หรือว่า ถูกนำเข้าไปอยู่ใน Intranet หรือ Internet หรือเปล่า ซึ่งตอนนี้ SPY ของเรานี้ แม้แต่คนที่เคยถูกล้วงความลับ เขาก็ยังอยากให้เราเข้าไปถามหน่อย เพราะว่าตอนนี้มีเรื่องดีดี อยากจะเล่า ก็ให้มาช่วยบันทึกเรื่องของฉันหน่อย ก็กลายเป็นสิ่งที่เขาภาคภูมิใจ ก็คือ เรามีความคิดเชิงบวกในการทำงาน เพราะฉะนั้นในเรื่องของการเป็น Spy จะไม่ใช่จุดที่ทำให้เขาอยู่ในความหวาดระแวง

    พญ.นันทา : แสดงว่า คำว่า SPY นี้ก็คงไม่ใช่คำพูดในเชิงลบ แต่ก็เป็น คน ค้น คน ... มันมีอะไรกลับมา เพื่อการเผยแพร่ และจากประสบการณ์ คือ เทคนิคการเอาเรื่องราวลง blog ก็จะมีเทคนิคการนำรูปของเขามาลงด้วย และไปบอกเขา เขาก็จะมีความรู้สึกมีส่วนร่วม เพราะว่าบางทีผลของการจัดการความรู้นั้น เราเอาหลักการของการเล่าเรื่อง ความสำเร็จ ที่มันอาจมีผ่านอุปสรรค แต่ก็เป็นเรื่องดีดี โดยทั่วไป เท่าที่เห็นมา ทุกคนก็มีความยินดีอยากจะเล่า และอยากจะเล่าเพิ่มขึ้น บางทีพอเริ่มต้นก็บอกว่า ไม่มีเรื่องจะเล่า แต่พอได้เล่าก็บอกว่า ขอเล่าอีกเรื่องได้ไหม ทำนองนี้ละค่ะ
  2. คำถามคุณสิงห์ป่าสัก : เรื่องการถอดบทเรียน และการสรุปบทเรียน

    สิงห์ป่าสัก :
    ขอแลกเปลี่ยนเรื่อง การทำกระบวนการ หรือว่าเป็น Note taker ซึ่งขอเสริมสักหน่อยก่อนนะครับ

    ผมคิดว่ามันเป็นองค์รวมในเรื่องของกระบวนการ ที่เราต้องคำนึงถึง ก็คือว่า เราต้องดูอารมณ์ งาน และการเรียนรู้ 3 อย่างนี้จะไปด้วยกัน ... อารมณ์ คือ ทั้งสิ่งที่เราทำ และสิ่งที่นำมาแลกเปลี่ยน งาน ก็คือ จุดเป้าหมายที่เราต้องการ และการเรียนรู้ก็ไม่ใช่ว่าเราทำงานอย่างเดียวนะครับ เราเกิดการเรียนรู้ไปด้วย 3 อย่างนี้ต้องไปด้วยกัน ในการที่เราจะทำอะไรก็แล้วแต่ พวกผมมีหลักคิดที่ว่า 3 คำเหมือนกันครับ คือ คิด ทำ และ เทียบ เป็นวงอย่างนี้ตลอด ถ้าจะจัดกระบวนการก็ BAR (Before Action Review) ก่อน เสร็จแล้วก็ Action แล้วก็ AAR (After Action Review) ก็เป็นการเรียนรู้ ทีนี้มันก็จะเชื่อมโยงถึงคำถาม คือ สรุปบทเรียน กับถอดบทเรียน

    ผมก็เคยสับสนนานมาแล้ว เรื่องการสรุปบทเรียน และการถอดบทเรียน ไปหาข้อมูลที่ไหนก็ไม่มี ผมก็ได้ไปศึกษาใน blog ไปเจอของ อ.กาญจนา เขียนใน blog ของน่าน ท่านสรุปบทเรียนนี้เป็นเรื่องของปัจเจก ถ้าถอดบทเรียน คือ การแกะกระบวนการทั้งหมด ทำทั้งหมด คือ ทำในลักษณะของการมีส่วนร่วม มีแค่นี้ละครับ เช่น ผมมาวันนี้ผมได้อะไร นี่ก็คือสรุปบทเรียนของผม แต่ถ้ากระบวนการในวันนี้ ผมก็จะไปถอดบทเรียน ตั้งแต่นับ 1 ถึงนับ 10 สุดท้ายนี้ละครับ ถอดบทเรียนมาว่า ได้เรียนรู้เรื่องอะไร และอะไรจะต้องเป็น Do / Don’t อะไรเป็นหลัก สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผมได้เรียนรู้มาอีกทีครับ
  3. คำถาม : คุณเอื้อ คุณอำนวย คุณกิจ เกิดมาได้ยังไง และยึดยังไง

    ผอ.ดาริณี : คุณเอื้อเกิดจากภาคบังคับส่วนหนึ่งนะคะ แต่ก็เป็นหน้าที่ที่น่าภูมิใจ เพราะได้เกิดการพัฒนาน้องๆ และก็ได้กระตุ้นให้มีส่วนร่วมในการทำ KM

    … สำหรับคุณอำนวย ... ก่อนที่เราจะแต่งตั้ง เราก็ต้องเลือกมาก่อนจากคุณอำนวยคนหนึ่ง ที่มีความกระตือรือร้น กระฉับกระเฉง และมีคำพูดที่สามารถชักจูง หรืองัดแงะน้องๆ ได้ ซึ่งกองคลังเราได้ตั้งพี่เปี๊ยก เพราะว่าพี่เปี๊ยกมีแบบความไวในตัว มีควมคิดล่วงหน้าก่อน พี่เปี๊ยกเธอจะมีนิคเนมว่า เสียงดัง แต่ว่าใจดี เพราะว่าบางคนมาเจอเสียงดัง ก็ว่า เอ๊ะ พูดอะไรอย่างนี้ แต่พอฟังไปๆ ก็จะพบว่า พี่เปี๊ยกใจดี ทีนี้พี่เปี๊ยกก็จะมีความชำนาญในการชวนน้องๆ คุย

    แต่ว่ามีบทเรียนของกองคลังอยู่อย่างหนึ่งว่า ถ้าเราจะประชุมอะไรในภาพรวมนี้ เราจะไม่ค่อยบ่น และน้องๆ บางคนเข้ามา เขาก็จะมาประมาณความรู้ที่เล่าได้ อธิบายได้ แต่เขาจะประชุมกลุ่มใหญ่ทีไร น้องๆ ประมาณครึ่งห้องจะไม่ค่อยพูดอะไรกันมาก เพราะฉะนั้นตอนนี้บางทีเราก็แบ่งกันเป็นกลุ่มเล็ก น้องๆ ที่จะมาเป็นคุณกิจก็จะแบ่งเป็นกลุ่มเล็ก บางทีก็จะไปนั่งที่โต๊ะด้วย เราก็จะได้ในส่วนความมีส่วนร่วมนี้มากขึ้น

    ครูนง : ผมอยากเรียนถึงจุดที่น้องฐิฎาพูดถึงว่า กว่าจะได้มาถึงข้อมูล มันก็ต้องใช้หลายๆ ทาง รวมถึง Notebook, Notepad กล้องถ่ายรูป มีเยอะแยะมากมาย ทีนี้ข้อมูลที่เราได้มาทั้งหมดนี้ เวลาที่เราพูดกันตรงนี้น้อยในเรื่องของการบันทึก ข้อมูลตรงนี้ มันต้องผ่านการตีความ ถ้าไม่ผ่านการตีความแล้ว คุณค่าของข้อมูลมันก็ไม่เกิดเท่าไรประสบการณ์ที่ผมเขียนบันทึกมาประมาณ 3 เดือน ผมเริ่มเขียนวันที่ 5 พฤษภาคม ที่ผ่านมานี้ ผมใช้หลักว่า

    1. ต้องมีข้อเท็จจริง (Fact) ในทุกเหตุการณ์ที่ไปนี้ ผมบันทึกมา ผมจำมา มีปรากฏการณ์ มีสิ่งที่เกิดขึ้นจริง อย่างน้อยก็มีตรงนั้น
    2. บวกกับอีกอันที่สำคัญมาก คือ จินตนาการ

    ตรงนี้ก็คุยกับสิงห์ป่าสัก น้องก็บอกว่า กว่าจะมาเป็นตรงนี้ได้ เขาก็ทุ่มตัวมาแล้วกว่า 30 ปี ตรงนี้เป็นทุนความรู้ ถ้าเราไม่มีจินตนาการตรงนี้แล้ว เราสกัดไม่ออก ถ้าท่านลองไปอ่าน ครูนอกโรงเรียน ใน GotoKnow ... ทุก Blog ทุกบันทึก มีข้อเท็จจริงหมด แล้วบวกด้วยจินตนาการครับ ซึ่งเป็นความคิด เป็นทุนของผมเอง ใครเข้ามาเป็นผมไม่ได้ ผมคิดว่าชาวกรมอนามัยที่มาสัมมนากันในวันนี้ทุกท่าน ก็มีสิ่งนี้อยู่ ให้ไปลองทบทวนตนเองว่า ถ้าหากจะลองนำเสนอ จะเป็นบันทึกที่ไหน หรือใน blog GotoKnow อะไรก็แล้วแต่ ตรงนี้มันเป็นส่วนที่สำคัญ

    ผมยกตัวอย่างว่า บันทึกของผมก่อนหน้าที่ผมจะมาที่นี้ มีคณะจากจังหวัดหนองบัวลำภู ประมาณ 30 คน เป็นผู้อำนวยการ จังหวัด อำเภอ อะไรเยอะแยะมากมาย ไปดูงานแก้จนที่นครฯ ก็คือ ตัวอย่างเรื่องจากข้อเท็จจริงที่ผมคิดแว๊บขึ้นมา ผมก็นำไปเขียนได้มิใช่หรือ ประเด็นมันก็เป็นลักษณะ KM แบบนี้เหมือนกัน และเป็นการแลกเปลี่ยนแบบ Face to Face (F2F) ผมก็ปิ๊งขึ้นมาว่า เดี๋ยวนี้ GotoKnow เป็นชุมชนเสมือน เป็นที่แลกเปลี่ยนกัน สิ่งนี้ก็เป็นจินตนาการแล้วที่ผมจะนำไปเขียน เพราะว่าเป็นบันทึกหนึ่งที่ผมไปทำขึ้น

    ก่อนที่ผมจะมาก็มีความคิดว่า ในการที่จะทำ KM มันก็ต้องนำกระบวนการได้ ต้องเป็นหลักสูตรเฉพาะ ต้องอบรม ต้องมีหลักสูตรพิเศษ ต้องอบรมจะกี่ครั้ง แต่ถ้าไม่อบรมก็ไปทำงานไม่ได้เลยนะ ... ก็มีความคิดจากคนๆ หนึ่งที่เขาไปดูงานจากคณะที่หนองบัวลำภู ที่ไปดูงานที่นครฯ พอพูดถึงว่า แบบ In-class น่ะ มัน classic เกินไป มันไม่ได้นะของอย่างนี้ ต้องลุยเลย เหมือนที่ท่านอาจารย์ชูศรีพูดว่า ปิดตำราเถอะพี่ แบบเดียวกันเลย เขาใช้คำว่า อบรมแบบ ATM หมายถึงว่า Action Based Training Model คือ คุณไปลุยในหน้างานของคุณเลย คุณจะลิขิตยังไง คุณก็ลองผิดลองถูก ไปเอาตรงนั้น และจะรู้เอง

    ไอ้ที่ว่า อบรมแบบ ATM นี่ ผมคิดแล้ว ว่า เออ แนวคิดนี้ ถ้าเอามาแก้จนเมืองนครฯ ของเรา เพราะแก้จนนครฯ ออกแบบไว้ว่า ต้องอบรมการเป็นนักฟังที่ดี, Deep listening นำกระบวนการ คุณลิขิต ผมว่ากว่าจะทำตรงนั้น ด่านจะยาวมากเลย มันจะไม่ถึงคุณกิจซะที ผมเอาอย่างนี้ดีแล้ว ไม่ต้องอบรม ลุยทำไปเลย ไปหาแบบฉบับของคุณเองเลย ว่าอย่างนี้จะนำกระบวนการกันยังไง จะเป็นคุณประสานจากหน่วยงานของคุณยังไง ต่างก็ได้ประสบการณ์จากพื้นที่กันมา จึงเอาแนวคิดของทางคณะที่มาดูงาน KM นี้ละไปเขียนเป็นโครงการนครฯ ว่าโครงการนครฯ ของเราคงจะต้องพลิกวิกฤต เป็นโอกาสแล้วละ ก็ไหนๆ ไม่ได้อบรมแล้ว ก็มาสัมมนา เอาประสบการณ์จากที่ทีมคุณอำนวยตำบลไปทำ ทั้งจังหวัดมาสัมมนา เพื่อที่จะดูว่า ตนไปพัฒนาทักษะในระดับที่ว่านี้กันอย่างไร เพื่อที่ว่าจะเติมเต็ม

    อยากจะเรียนว่า ต้องถือข้อเท็จจริงเสียก่อน ให้สิ่งนั้นปรากฏ และอ้างอิงได้ ว่า เสวนาที่เวทีไหน ยังไง แปลว่ายังไง เรื่องนั้นก็ต้องเป็นเรื่องเล่านะครับ ไม่ใช่เป็นบันทึกราชการ คือมันต้องเขียนให้คนอ่านด้วย และต้องใช้ตัวเราเอง อันนี้เป็นตัวตนของผมเลย ในการเขียนบทความของผมก็จะเป็นลักษณะนี้ครับ

    พญ.นันทา และก็ขอเสริมตรงคุณอำนวยสักนิดหนึ่งว่า ตอนเลือกครั้งแรก คงต้องเลือก Fa ที่มองไกล มองอนาคต มองคนที่ขยันขันแข็ง active และเวลาที่เราจะต้องเตรียมคุณอำนวยต่อไป ก็ต้องเป็นการลุยทำเลย และเรียนรู้จากการทำ และให้ BAR (Before Action Review) และ AAR (After Action Review) เพื่อที่จะได้เรียนรู้ว่า ก่อนทำควรเตรียมการอย่างไร และหลังทำประสบผลอย่างไร และคุณอำนวยก็ต้องมีความสามารถในการประสานงานได้หมด เพราะว่าจะเป็นคนที่นำกิจกรรมต่างๆ และได้รับการยอมรับ
  4. เรื่องของการยกระดับความรู้

    ครูนง : ในข้อเท็จจริง ผมเริ่มบันทึกเมื่อ พค.49 ในบันทึกแรก ถ้าผมตีความรอบใหม่ สิ่งเดิมนั้นจะเป็นวัตถุดิบ และหลายๆ เรื่อง และอย่างที่เราทำเวทีแต่ละครั้ง เราได้ความสำเร็จ และได้ข้อเท็จจริงมามากมาย ถ้าเวลาผ่านไป เราไปอ่านใหม่ ก็จะเกิดจินตนาการใหม่ในข้อมูลเดิม เพราะว่า คุณค่าของข้อมูลที่เราเก็บมานั้น เป็น Notebook Notepad อะไรก็แล้วแต่ มาเรียงร้อย และร่วมกันดู ตั้งวงเรียนรู้เรื่องข้อมูลนั้น ความหมายที่มันมีคุณค่าเพิ่มขึ้นตรงนั้น มันจะเป็นวงรอบการทำงานที่มีคุณค่า ยกระดับการทำงานให้มีคุณค่ามากยิ่งขึ้น ไปสู่เป้าหมายใหม่เรื่อยๆ

    คุณโจ้ : จากประสบการณ์ส่วนตัวของการยกระดับของฐานความรู้ พอดีอยู่ในห้องแลป และมีน้องผู้ช่วยอยู่ 2 ท่าน ทีนี้เราจะสร้างคุณค่าของการทำงาน จริงๆ แล้ว เขาไม่ได้จบด้านนี้โดยตรง ผู้ช่วยเราจบ ม.6 เราก็ต้องการให้เขารู้ว่า เขารู้ในสิ่งที่ทำงานเท่าไร เขาได้คุณค่าจากสิ่งที่เขาทำงานตรงนั้นไหม เราก็เลยให้เขามีการบันทึกในแต่ละวัน

    ลักษณะของการบันทึกก็คือว่า ตอนที่เขาทำงานนั้น วิธีการทำงานของเขา เขาทำยังไง ทำแล้วเขาได้อะไร 3 ข้อนี้ เขาสามารถเขียนมา พอเขาเขียนมาแล้ว ก็มาดูกันว่า อะไรที่เป็นคุณค่าตรงนั้น ตอนแรกเขาก็ถามว่า ทำไมเขาต้องเขียน คือเขายังไม่ค่อยเข้าใจ พอหลังจากที่บอกว่า คุณค่าที่เขาทำงานแต่ละชิ้นน่ะ เขาสามารถยกระดับของความรู้ เพราะว่าในตอนแรกๆ เขาอาจจะเขียนมาแค่นี้ พอเราทำไปเรื่อยๆ ปรากฏว่า ความรู้ของเขามีการพัฒนาขึ้น ซึ่งบางครั้งเขาก็สามารถทำงานแทนเราได้ ในส่วนตรงนี้มันก็คือหลักในเรื่องของการที่จะทำให้กลุ่มสมาชิกเห็นคุณค่าในเนื้อหา ก็เป็นการปรับความรู้ของเขาเพิ่มขึ้นมาได้

    พญ.นันทา : นี่ก็คือ ตัวอย่างที่คุณอำนวยไปกระตุ้นคุณกิจ แทนที่จะให้เขาทำไปเรื่อยๆ ก็ให้เขาในสิ่งที่ทำให้เกิดความก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ และถ้าเขาเขียนแล้วมีใครมาอ่านก็จะมีความหมาย และมีใครมาช่วยจินตนาการต่อ อีกหน่อยเขาก็จะคิดเองได้มากขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นการที่ คนสร้างคน ซึ่งตรงนี้ก็มีตัวอย่างจากศูนย์ฯ 1 เช่น ในคนงาน บางทีที่เราคิดว่า การจัดการความรู้นั้น ทำในเฉพาะนักวิชาการหรือเปล่า แต่จริงๆ แล้ว การจัดการความรู้นั้น เราทำได้ทุกระดับ คนที่ทำความสะอาด คนที่ไม่ได้เรียนหนังสือสูงๆ เราก็สามารถไปกระตุ้นให้เขาเอาความสำเร็จมาเล่า เขาก็จะรู้เรื่องการทำงาน เพราะว่าเขาก็รู้เรื่องการทำงานอย่างอัตโนมัติ พอมาเล่า เขาก็ต้องมาเรียบเรียง หรืออะไรสักอย่างที่ทำให้เกิดความคิด ก็ทำให้เขาได้รับความชื่นชม และเกิดความคิดที่จะทำเรื่องอื่นๆ ต่อ เพราะฉะนั้น การที่จะจัดการความรู้และความสำเร็จก็คงไม่ใช่ทำไปเฉพาะส่วนให้มันเสร็จ ก็มีคนที่เสริม ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และจะได้ประโยชน์ร่วมกัน

ข้อสรุปค่ะ

  • ความสำเร็จจากประสบการณ์ของทั้ง 6 ท่าน ก็จะพบว่า เราต้องรู้เป้าหมายอะไร KM ไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายของความสำเร็จ เครื่องมือที่จะทำให้เป้าหมายของเรา หรือองค์กรของเรา ประเทศชาติของเราสำเร็จได้ หลายคนพูดถึงวงดนตรี เวลาที่เราจะจัดการความรู้ ก็ประหนึ่งว่า ต้องพร้อมเพรียงกัน แม้ว่าเราจะเก่งหลายเพลง เพียงแต่ว่า เราจะต้องทำให้เกิดทิศทางของการที่จะจัดการความรู้ให้มันสอดคล้องกัน เพื่อให้เกิดการไปในทางเดียวกัน ไปในทางของเป้าหมายของหน่วยงานเดียวกัน
  • ถ้าดูวิธีการต่างๆ เราจะเห็นว่า ตั้งแต่การเลือกคน สิ่งที่เราจะต้องทำให้ได้ คือ จะต้องหาคนที่มีใจก่อน ส่วนปลายที่ความสามารถ หรืออื่นๆ นั้น สร้างกันได้ และก็สถานที่ที่จะจัด KM ก็มีหลากหลาย และการจัดให้มีชุมชนนักปฏิบัติ ก็ไม่ใช่อย่างเดียว เรามีความคิดใหม่ๆ ก็ทำได้ แต่ด้วยเป้าหมายที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้
  • อีกประเด็นที่สำคัญมาก สำหรับการจัดการความรู้อย่างที่หลายท่านพูด คือ การเป็นนักฟังที่ดี นำมาก่อนเลย และถ้าสังเกตจะเห็นว่า นักวิชาการบางทีเล่าแบบสรุปรวบยอดเลย แทนที่จะบอกว่าไปหากำนัน ก็กลายเป็นไปหาผู้บริหาร แต่ว่าสรุปไปเลยเสียก่อน แทนที่จะเล่าเป็นเรื่องเล่า
  • สิ่งที่สำคัญ KM ก็คือ “กู” กับ “มึง” ต้องไปด้วยกัน เพื่อประโยชน์ขององค์กร หรืองาน

พญ.นันทา อ่วมกุล และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ 

ขอบคุณท่านวิทยากรผู้มาเล่าทุกท่านค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 41051เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2006 22:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เรียน คุณหมอนนทลี

         คำถามที่ 2 ก่อนที่จะตอบผมเสริมในการทำกระบวนการ ขอแก้จาก PR เป็น BAR (Before Action Review) ครับ ผมอาจจะพูดเร็วไปต้องขออภัยด้วยที่พูดไม่ชัดเจนครับ (อาจเป็นเพราะตื่นเต้นที่ได้นั่งท่ามกลางสาวน้อยสาวใหญ่ของกรมอนามัยครับ)

ได้ค่ะ คุณสิงห์ป่าสักคงพูดไม่ผิดหรอก แต่ว่าคน edit ชักเบลอละมากกว่า ... เรื่องของเรื่อง คือ ได้ตั้งเป้าฯ ไว้ว่า ควรจะสรุป ตลาดนัดฯ นี้ให้เสร็จภายในอาทิตย์นี้ละค่ะ เพราะว่าถ้าปล่อยทิ้งไว้ละก็ 1) จะค่อยๆ ไม่ in กับบรรยากาศ และ 2) ภารกิจอาทิตย์หน้าจะมาครอบงำค่ะ ทำนองว่าอาทิตย์หน้าก็จะมีงานใหม่เข้ามาทำนองนั้นละค่ะ

เพราะฉะนั้น ช่วยด้วยนะคะ ถ้ามีอะไรที่คิดว่าไม่ตรงละก็ ท้วงเข้ามาได้เลยค่ะ

ขอบคุณอาจารย์หมอนนทลีครับ

ผมขอให้กำลังใจอาจารย์(อีกแล้ว)  เพราะ บันทึกอาจารย์เขียนได้ละเอียด และ ผมยังได้ Print ออกไปอ่าน (เพราะมันยาว ครับ) ได้ประโยชน์และแนะนำให้น้องๆได้อ่านและแลกเปลี่ยน

ชอบคุณค่าของข้อมูล ที่ครูนงได้ถ่ายทอดออกมาตรงใจ เรื่องของ ข้อมูล และเสริมด้วย จินตนาการ  ตรงนี้เป็นกระบวนการที่ผมใช้ครับ มีคนแซวผมว่า เป็น หนุ่มพันโปรเจคค์  นั่นอาจหมายถึงว่า ผมมีข้อมูลจากการเก็บข้อมูล(มากพอสมควร) และเสริมด้วยจินตนาการที่ไม่เหมือนใคร...(คิดทางขวาง)

KM  คงเป็นทั้ง วิธีการและจุดสำเร็จ-เป้าหมาย ด้วย หากเปรียบ KM เหมือนอาจารย์ใช่เลย...เป็นท่วงทำนองดนตรีที่มี หลาย เสียง และทำนอง ขับขานด้วยสอดคล้อง ไพเราะและน่าฟัง ...

 

หมายเหตุ...ขอตามอาจารย์ Shoping ออนไลน์ก็แล้วกันครับ ไม่มีโอกาสไปงาน
ขอบคุณค่ะ อ.จตุพร ที่ติดตาม และให้กำลังเสมอมา และดีใจค่ะ ที่เปิด Shopping KM Online สำเร็จ ... มีสิ่งใดชี้แนะเพิ่มเติม ช่วยบอกด้วยนะคะ
พิมพ์ตก คำว่า กำลัง "ใจ" ค่ะ อาจารย์ ... เอ้อ ตอนนี้ความคิดมันสัมพันธ์กับมือค่ะ คือ ใจคิดไปแล้ว เลยคิดว่ามือพิมพ์ไปแล้วด้วย ... แหะ แหะ ชักเบลอจริงๆ แล้ว
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท