ต่อเพลง "ใบความรู้"


ใบความรู้ KM / ถ่ายทอดประสบการณ์ความคิด / น้อมนำไปทำจริง

ผมถือเป็นภารกิจที่จะต้องเข้ามาสานต่อและแสดงความคิดเห็นในเรื่อง ใบงาน เพราะเป็นผู้หนึ่งที่ริเริ่มก่อการคิดเรื่องนี้ร่วมกับทีมงานอีก 3-4 ท่าน จนกลายมาเป็น ใบความรู้ KM เกษตรชุมพร โดยคุณประสงค์ บุญเจริญ

หลังจากการฝึกอบรมใช้คอมพิวเตอร์เพื่อให้รู้วิธีการสร้าง Blog ผมก็ตระหนักว่า ทีมงานของเราหลายคนไม่คล่องตัวเรื่องของการใช้ไอทีพิมพ์ข้อมูลความรู้ออกมาแลกเปลี่ยนกันผ่านทาง Blog มือของเราค่อนข้างแข็ง หาตัวอักษรบนแป้นพิมพ์ (keyboard) ก็ไม่ค่อยจะเจอ จิ้มอะไรลงไปถ้ามันหายไปหมดแล้วจะทำยังไง ? ...

แต่ประสบการณ์จริงจากการปฏิบัติงานในพื้นที่ของท่านเหล่านี้ คือ ความรู้ฝังลึกที่ทรงคุณค่า การได้มีโอกาสถ่ายทอดออกมาว่า วันนี้ได้ไปตรวจเยี่ยมเกษตรกรที่ไหนบ้าง พบเห็นแนวทางพัฒนาแก้ปัญหาใด ๆ  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคพืช, เทคนิคการบำรุงรักษา, การผลิต, การเก็บเกี่ยว ฯลฯ โดยมีความคิดเห็นที่กลั่นกรองมาจากประสบการณ์ตรง เป็นตัวอธิบายเหตุปัจจัยของเรื่องเหล่านั้น ผมว่า ตรงนี้สำคัญที่สุด

อย่าลืมว่าในกระบวนการ KM เราให้ความสำคัญที่พัฒนาเป็นความเชื่อ ความศรัทธา ว่า ความรู้อยู่ที่ผู้ปฏิบัติ

โดยเฉพาะ ความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) คือ สาระสำคัญ 80% ที่เราต้องดึงขึ้นมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผ่านช่องทางต่าง ๆ จนกลายเป็น ความรู้เชิงประจักษ์ (Explicit Knowledge) ถ่ายทอด, เก็บกัก, นำไปประยุกต์ใช้, สร้างเสริม, เติมต่อ จนกลายเป็น ภูมิปัญญาของแผ่นดิน

พี่ ๆ เกษตรตำบล นำความรู้ที่ได้รับจากการทำงานร่วมกับเกษตรกรมา สุ-จิ-ปุ-ลิ ได้แน่นอน และยังสามารถกระตุ้นให้เกษตรกรที่มีศักยภาพถ่ายทอดความรู้ผ่าน การเล่าเรื่อง (Storytelling) ได้อีกด้วย แต่เราต้องมีเครื่องมือมาช่วยรองรับการถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ นั่นคือ ใบความรู้ KM เกษตรชุมพร ที่กล่าวถึง

เรามีภาพในใจว่า เมื่อพี่ ๆ เกษตรตำบล ได้เขียนเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับงานลงไปในใบความรู้ ภาษาที่ใช้ไม่จำเป็นต้องสละสลวย เรียงร้อยถ้อยคำตามระเบียบหนังสือราชการ ขอให้ จริงและตรง อ่านรู้เรื่องเข้าใจ ผมว่าน่าจะเป็นถ้อยคำที่ มีพลังเข้าถึงความจริง ได้มากกว่าถ้อยคำที่ปรุงแต่งประดิษฐ์ประดอย

ใบงานนี้ก็จะถูกนำไปใช้เข้าสู่ระบบผ่านทาง Blog โดยพี่ ๆ เกษตรตำบล อาจจะเดินเข้าไปที่ อบต. ซึ่งปัจจุบันนี้มีอินเตอร์เน็ทสาธารณะให้ใช้ทุกแห่ง บอกสาว ๆ จะเป็นฝ่ายวิเคราะห์ หรือฝ่ายบริหารให้เข้าไปใน Blog ของ gotoknow.org ตามเส้นทาง (URL) ที่เขียนไว้เป็นภาษาอังกฤษ อย่าไปห่วงเรื่อง User Name หรือ Password ว่าเขาจะรู้แล้วเอาไปทำมิดีมิร้ายเลยครับ ถือคติว่าใครเอาไปใช้แสดงว่าเขาคิดถึงเรา...กลัวห่างเหิน ว่างั้นเหอะ

อ้อ...อย่าลืมหิ้วสับปะรด หรือทุเรียน ไปฝากเขาบ้างนะ ต่อไปจะได้ไม่ต้องขอร้องกันอีก มีแต่...ร้องขอ...ตามมาแน่นอน

ความรู้ที่ถูกพิมพ์ใส่ลงไปใน Blog จะถูกถ่ายทอดเข้าไปในระบบ ได้รับการเก็บกัก และแสดงตัวออกมาเมื่อมีการค้นหาโดย Search Engine ที่ทรงพลังอย่าง google ซึ่งถูกออกแบบให้มีบริการโดยตรงสามารถเลือกค้นหาเฉพาะใน gotoknow.org ก็ย่อมได้

ใครบ้างครับที่จะเข้ามาอ่าน ผมท้าเลยว่าเราจะได้เห็นการเข้ามาติดตามอ่านอย่างใกล้ชิดจากทุกระดับของ Functional Structure ในสายงานส่งเสริมการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นระดับกรม, กอง, ฝ่าย, สนง.เกษตรจังหวัด, เกษตรอำเภอ ฯลฯ สายงานอื่นก็จะเข้ามาถักทอเครือข่าย ขอเรียนรู้เทคนิคประสบการณ์ เมื่อการเชื่อมต่อเริ่มเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและได้ประโยชน์ ในอนาคตเราจะได้เห็น Knowledge Mapping มาพร้อม ๆ กับ Human Mapping หน้าตาคล้าย ๆ อย่างนี้

ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแน่นอนอีกอย่างหนึ่งก็คือ หน่วยงานของเรา โดยเฉพาะ สนง.เกษตรอำเภอ จะสามารถรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ในการทำงานโดยเฉพาะปัญหาและโอกาสอย่างชัดเจน และถ้ามีความต่อเนื่องสม่ำเสมอ เราก็มีแหล่งข้อมูลภายในระบบให้เข้ามา Capture คว้า-จับ เอามาตั้งเป็นประเด็นความรู้ เมื่อถึงเวลาที่มาพบปะกัน อาจจะในช่วงของการประชุมประจำเดือน หรือวาระอื่น ๆ การหยิบยกเอาประเด็นเหล่านี้มาพูดคุยกันโดยผ่านเรื่องเล่า ตั้งต้นที่ผู้นำเสนอใน Blog แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนอื่น ๆ ในทีมงาน ทำควบคู่ไปกับเทคนิคการพูดคุยอย่างสุนทรียสนทนา, การฟังแบบ Deep Listening, การจดบันทึกของคุณลิขิต สรุปและถ่ายทอดลงในแหล่งเก็บกักของเรา gotoknow.org เกิดเป็น สินทรัพย์ความรู้ (Knowledge Asstes) ให้นำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที

ทำได้อย่างนี้ก็จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งให้กระบวนการ KM เกษตรชุมพร ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อีกก้าวหนึ่ง เพื่อมุ่งไปสู่ผลสัมฤทธิ์การบรรลุ ยุทธศาตร์เจ้าของหัวปลา ที่เราได้ร่วมกันสร้างเป็น วิสัยทัศน์ร่วม (Shared Vision)  ของพวกเรา.

คำสำคัญ (Tags): #km#เกษตรชุมพร
หมายเลขบันทึก: 41015เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2006 17:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ไม่ได้เข้ามาทักทายคุณไอศูรย์นานแล้ว สวัสดีค่ะ :)

รูปด้านบนที่คุณทำไว้นั่นใช่เลยค่ะ Social network รูปแบบหนึ่ง และหากแต่ละท่านในรูปเข้าไปอ่านและแสดง comment ไว้ หรือ มีคนอื่นเข้ามา comment จะยิ่งเป็นการขยายเครือข่ายทางสังคมนี้ออกไปอีกค่ะ

เครือข่ายที่คุณไอศูรย์ทำไว้นี้เป็นการเจอแบบ face2face ใช่ไหมค่ะ ลองบอกให้ท่านเหล่านี้ติดป้ายที่บล็อก ติดป้ายที่ประวัติ ก็จะเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายแบบอัตโนมัติค่ะ http://gotoknow.org/blog/tutorial/tag/ป้าย

ในอนาคต GotoKnow จะแสดงให้เห็นการเชื่อมโยงเครือข่ายในรูปแบบเป็น graphic ค่ะ

ขอบคุณครับ ดร.จันทวรรณ

  • จะตามเข้าไปศึกษาเรื่องของ tag ที่วาง Link เอาไว้
  • ได้ผลอย่างไรเรียนเชิญท่านอาจารย์เข้ามาเยี่ยมชมบ้างนะครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท