ปัญหาในการทำงาน และทัศนคติเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม


เข้าใจว่าผู้ที่นำคำพูด (คำสอน) ของครูบาอาจารย์มากรอกหูพนักงานนั้นต้องการจะสื่อสารเพื่อให้กำลังใจ
            ที่องค์กรแห่งหนึ่ง พนักงานมักจะบ่นว่า “งานยุ่งมาก มีเรื่องยุ่งยาก มีปัญหาให้แก้ตลอดเวลา” หลังจากที่ผู้บริหารได้คุยกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ ส่วนใหญ่มีความเห็นคล้ายๆ กันว่า “น่าจะต้องมีเวลาพูดคุยประสานงานกันให้มากขึ้นหรือต้องมีการประชุมวางแผนให้มากกว่าที่ผ่านมา” แต่ปรากฏว่าพนักงานส่วนใหญ่กลับไม่เล่นด้วย (ไม่เห็นด้วย) กลับมีเสียงสะท้อนออกมาว่า “ที่ผ่านมาก็แทบจะไม่มีเวลาแล้ว ยังจะต้องมาเสียเวลานั่งประชุมกันอีกหรือ?”  ซึ่งผลสุดท้ายก็กลายเป็นว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น ทุกอย่างยังเป็นเหมือนเดิม ทุกคนยังยุ่งเหมือนเดิม ยุ่งอยู่กับปัญหาไม่มีเวลาพูดคุยประชุมกัน

 

            สิ่งที่น่าเป็นกังวล เป็นผลพวงอันเนื่องมาจากที่ระยะหลังๆ นี้ มีคำพูด (คำสอน) ที่ได้ยินกันบ่อยๆ ว่า “ปัญหามา ปัญญาเกิด” หรือ “การทำงานคือการปฏิบัติธรรม” ซึ่งเข้าใจว่าผู้ที่นำคำพูด (คำสอน) ของครูบาอาจารย์มากรอกหูพนักงานนั้นต้องการจะสื่อสารเพื่อให้กำลังใจ คือมีความหมายไปในทำนองที่ว่า “อย่าได้ท้อต่อปัญหา อย่ามองว่าการทำงานเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ” อะไรทำนองนั้น โดยที่ท่านไม่รู้เลยว่าสำหรับพนักงานแล้ว คำสอนเพื่อเตือนใจเหล่านี้กลับมีความหมายไปในทำนองที่ว่า “จงทนต่อไปเถอะ” หรือ “ให้นึกซะว่ากำลังปฏิบัติธรรมก็แล้วกัน”
            
            ผมฟังแล้วก็อดเป็นห่วงคนเหล่านั้นไม่ได้ คิดว่าท่านอาจไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของคำสอนดังกล่าว ดูเหมือนท่านเหมาเอาว่าถ้าเป็นเรื่องที่ยากๆ เป็นเรื่องที่ลำบากก็ให้นึกถึงการปฏิบัติธรรม ผมว่านี่เป็นทัศนคติที่ผิดต่อคำว่า “ปฏิบัติธรรม” เพราะสำหรับผมแล้วการปฏิบัติธรรมคือการฝึกรู้ตัว ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นกลาง ไม่มีลบไม่มีบวก ตัวอย่างเช่น ในขณะที่ทำงานเจอปัญหามีความหนักใจก็ให้ “รู้สึกตัว” (รู้สึกถึงความหนักใจนั้น) หรือเมื่อทำงานได้ผลดีมีคนชม หัวใจพองโตก็รู้ได้ถึงความรู้สึกอันนั้น ไม่ได้ตีกรอบไว้ว่าถ้าเป็นเรื่องปัญหาหรือเรื่องที่น่าเบื่อถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรม และที่สำคัญคือต้องเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมไม่ใช่การสอนให้เรา “ทำใจ” สอนให้เรา “ทน” กับสภาพปัญหาเหล่านั้นให้ได้ เพราะถ้าเราฝึกทำแบบนั้นไปเรื่อยๆ วันหนึ่งข้างหน้าใจของเราก็คงจะด้านชาไม่รู้สึกรู้สาอะไร ซึ่งผมว่ามันน่าจะไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับการสอนให้มีสติรู้ตัว (รู้กาย รู้ใจ) ซึ่งเป็นการปฏิบัติธรรมตามที่ผมเข้าใจ . . แต่บางทีผมอาจจะผิดก็ได้ . . แชร์กันเข้ามานะครับเผื่อจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน !
หมายเลขบันทึก: 408679เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2010 17:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:30 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เรียน ท่านอาจารย์ด้วยความเคารพ

  • ได้อ่านบันทึกท่านแล้วดีมากและตรงกับที่กำลังหาคำตอบพอดีครับ ยังไม่พบคำตอบที่ชัดแต่ก็ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดังนี้ครับ
  • ผมเห็นว่า การปฏิบัติธรรมนั้นคือการรู้กายกับใจตามจริง การจะรู้ตามจริงได้ชัด ๆ นั้นก็ดูกายดูใจในชีวิตประจำวัน หรือการปฏิบัติงานนั้นเองครับ
  • ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นประมาณนี้ก่อนนะครับ แล้วจะกลับมาใหม่ครับ

                           

รูปนี้ดูแล้วสะท้อนใจดี เพราะหลายๆ ที่ "คนไม่ค่อยมีใจช่วยกัน (ทำ)" คนที่พูด ที่ออกความเห็นมีมาก แต่หาคนทำค่อนข้างยาก

ที่ท่านอาจารย์ "ภูฟ้า" กล่าวไว้ ผมว่า "ใช่เลยครับ" แต่ก็รอฟังอีกว่า ใครจะมีคำอธิบายอะไรแบบอื่นบ้างไหม? . . .

เห็นด้วยกับอาจารย์อย่างยิ่งค่ะ คำว่าปฏิบัติธรรมคือให้เรารู้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่ากำลังทำอะไร ไม่ใช่ให้ทำใจและทนกับสิ่งนั้น จะเห็นว่ามีคนเข้าใจผิดอยู่เยอะมากกับคำว่าปฏิบัติธรรม

. . หรือว่าการ (ฝึก) ปฏิบัติธรรม ต้องให้ผู้ที่ฝึกปฏิบัติ ผ่านกระบวนการที่ยากลำบาก (คือต้องให้เห็นทุกข์ก่อน จึงจะเห็นธรรมได้) . . ซึ่งหากต้องเป็นเช่นนั้น แสดงว่าผมน่าจะเข้าใจอะไรผิดพลาดไป !

คำว่าปฏิบัติ mislead หรือเปล่าคะอาจารย์ น่าจะใช้คำว่า ฝึกสติแทนคำว่าปฏิบัติธรรม

เท่าที่ตัวเอง(ผู้รู้น้อยมากๆเรื่องนี้)เข้าใจคือ เป็นการฝึกรู้กาย หรือ ใจ ณ ปัจจุบันขณะ ไม่ใช่การเข้าไปทำอะไร(ปฏิบัติ)กับกาย กับใจ

ถ้าเข้าไปบังคับกาย ใจ โดยบังคับเขามาก กระบวนการฝึกปฏิบัตินั้นๆจะขัดกับหลักการเดินสายกลาง นะคะ

เข้าใจถูกไหม คะ

ดิฉันได้อ่านบทความข้างต้นและเห็นว่ามีประโยชน์มาก

ที่มีประโยชน์ที่สุด ก็เห็นจะเป็นเพราะผู้หลักผู้ใหญ่อย่างท่านเจ้าของกระทู้ เป็นผู้ที่เข้าใจปัญหาของผู้ใต้บังคับบัญชา ว่าการที่เรายิ่งไปสอน อาจจะทำให้เขาตีความกันไปอีกแบบว่าเรากำลังบอกเขากลายๆ ว่าให้ทนต่อไป ตรงนี้ดิฉันเห็นใจคนที่ได้รู้ได้เห็นธรรมและพยายามจะเอา่ิสิ่งดีๆ เหล่านั้นไปบอกต่อคนอื่นๆ เพราะมันไม่ง่ายเลยคะ (จากองค์ประกอบหลายๆ ประการ เช่นว่า เราเองยังดีไม่พอให้เขานับถือ เรายังไม่อยู่ในฐานะที่จะสอนเขาได้ หรือ คนรับฟังไม่เปิดใจรับฟัง )

ดิฉันเองเจอปัญหาแล้วก็เอามาเป็นตัวทดสอบสติตัวเองเสมอคะ เลยเข้าใจส่ิงที่ท่านเจ้าของกระทู้พูดถึงเป็นอย่างดี

ดิฉันข้อเพิ่มความเห็นว่า การจะให้คนๆ หนึ่ง ( หรือพนักงานผู้ใต้บังคับบัญชา ) เข้าใจเรื่องเหล่านี้ จะได้ผลดดีกว่าหากคนสอน

เป็นบุคคลที่สามคะ คือไม่ใ่่ช่คนในองค์กร อาจจะเป็นพระ หรือวิทยากรท่านอื่นๆ เรื่องแบบนี้มันต้องฝึกเองรู้เอง หากคนที่เขารู้สึก

ต่อต้าน(หรือเขารู้สึกว่าผู้บังคับบัญชาเป็นต้นตอของปัญหา ไปสอนเขา (คุณอาจจะไม่ได้เป็นปัญหา แต่เขาคิดว่าคุณเป็นปัญหา ) ) เขาก็จะยิ่งปิด และไม่รับฟังคำสอนที่มีประโยชน์เหล่านั้น ยกเว้นเสียแต่ว่าคนเหล่านั้นมีฐานการปฏิับัติหรือมีทัศนคติการมองโลกให้แง่บวกอยู่ก่อนแล้วคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท