ความเป็นชุมชนและกลุ่มประชาคม : กลุ่มปฏิบัติการสังคมอย่างมีส่วนร่วมในงานวิจัยแบบ PAR


การวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม หรืองานวิจัยแบบ PAR มุ่งดำเนินการวิจัยที่นำไปสู่การแก้ปัญหาของกลุ่มผู้มีส่วนร่วมกลุ่มต่างๆ ซึ่งมีแนวคิดและแนวปฏิบัติการในหลายลักษณะ และในแต่ละลักษณะก็จะมีความเป็นเหตุผลกับสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้อง นับแต่ลักษณะของสภาพปัญหาและความจำเป็น สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น ศักยภาพและทุนทางสังคมภายในชุมชนท้องถิ่น ระบบและโครงสร้างของสังคมที่เป็นระบบใหญ่และมีอิทธิพลอย่างใกล้ชิดต่อสิ่งนั้น เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ก็จะมีผลต่อการที่จะต้องออกแบบกระบวนการวิจัยให้ยืดหยุ่นและสนองตอบต่อสภาพความเป็นจริงดังกล่าวนั้นให้มากที่สุด รวมทั้งการค้นหาคนเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการวิจัยและปฏิบัติการสังคมแบบ PAR

  การเสริมสร้างพลังปฏิบัติการสุขภาวะสังคมของกลุ่มปัจเจก 

การค้นหาคนเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการวิจัยและปฏิบัติการสังคมแบบ PAR โดยเน้นองค์ประกอบความเป็นชุมชนและการมีความเป็นกลุ่มประชาคม ตลอดจนมีพื้นฐานความเป็นกลุ่มการรวมตัวและเชื่อมโยงกันให้มีความเป็นชุมชนในเงื่อนไขแบบใหม่ในลักษณะต่างๆ เช่น ชมรม สมาคมวิชาชีพ กลุ่มสนใจ สถาบันและองค์กรประชาสังคมแบบต่างๆ เป็นแนวคิดและวิธีดำเนินการในเชิงวิธีวิทยาสำหรับการเลือกกลุ่มเป้าหมายและกลุ่มตัวอย่างการวิจัยแบบ PAR วิธีหนึ่ง ที่เน้นการบรรลุจุดหมายของปัจเจกผ่านการสร้างสุขภาวะและความเป็นส่วนรวมของชุมชน

อธิบายภาพ : การวิจัยแบบ PAR เพื่อขับเคลื่อนกลุ่มประชาคม เป็นแนวหนึ่งในการวิจัยเชิงปฏิบัติการสังคมที่สามารถระดมพลังการแก้ปัญหาที่ยากหรือสามารถสร้างความเป็นส่วนรวมที่ซับซ้อนได้เป็นอย่างดี เพราะลักษณะปัจเจกที่มีวัฒนธรรมรวมกลุ่มแบบกลุ่มประชาคมนั้น จะมีภาวะผู้นำแบบรวมกลุ่มซึ่งมีพลังการระดมสมองที่หลากหลายและมีพลังจากความร่วมมือที่สามารถจัดการความเปลี่ยนแปลงในคราเดียวกันได้หลายด้านและหลายระบบ อีกทั้งมีวิถีการทำงานด้วยใจ จึงทำให้กลุ่มการรวมตัวจำนวนเพียงเล็กในลักษณะนี้สามารถทำงานส่วนรวมได้อย่างมีพลัง

วิธีเลือกกลุ่มปฏิบัติการและกลุ่มผู้มีส่วนร่วมในลักษณะดังกล่าวนี้ เป็นวิธีที่มีนัยยะทางวิธีวิทยาด้วย ดังนั้น ก็จะมีความสัมพันธ์กับการออกแบบกระบวนการต่างๆที่ให้น้ำหนักความสำคัญกับการทำงานกับกลุ่มประชาคมและกลุ่มปฏิบัติการบนฐานความเป็นชุมชน แนวิดและกระบวนการวิจัยในทางปฏิบัติต่างๆ จะมุ่งดำเนินการผ่านการขับเคลื่อนและเสริมกำลังของกลุ่มประชาคม เพื่อครอบคลุมทั้งจุดหมายจำเพาะความสนใจของกลุ่มประชาคมผู้มีส่วนร่วม ขณะเดียวกันก็มุ่งครอบคลุมความเป็นสาธารณะที่อธิบายผ่านวิธีคิด การให้ความหมาย และการปฏิบัติการทางสังคมด้วยภูมิปัญญาปฏิบัติ ความรู้ ความสำนึกทางสังคมทั้งท้องถิ่นและโลกาภิวัตน์ ตลอดจนความมีจิตสาธารณะ ของกลุ่มประชาคมและกลุ่มการรวมตัวที่เชื่อว่ามีความเป็นชุมชนในเงื่อนไขใหม่ๆของสังคมปัจจุบัน

  ความเป็นกลุ่มประชาคมและกลุ่มการรวมตัวของปัจเจกบนความเป็นชุมชน 

การดำเนินการวิจัยเชิงปฏิบัติการสังคมโดยทำกับกลุ่มประชาคมและกลุ่มการรวมตัวกันของปัจเจกในลักษณะต่างๆซึ่งจัดว่าเป็นชุมชนหรือการรวมกลุ่มที่มีความเป็นชุมชนอีกแบบหนึ่ง ดังในแนวทางนี้ เป็นการระบุและเลือกกลุ่มผู้มีส่วนร่วมโดยวิธีวิทยา โดยเชื่อว่าความเป็นกลุ่มประชาคมและชุมชนหรือกลุ่มก้อนอันเกิดจากการรวมตัวกันของปัจเจกนั้น เป็นตัวบ่งชี้ความเป็นสาธารณะของชุมชนภายใต้สภาพแวดล้อมหนึ่งๆ ทั้งเนื่องจากลักษณะของกลุ่มการรวมตัวและลักษณะของสมาชิกนั้น จะมีความเป็นภาพสะท้อนมิติส่วนรวมและโครงข่ายความซับซ้อนที่กระทบและครอบคลุมไปถึงผู้คนทั้งชุมชนด้วย เช่น กลุ่มปัจเจกในความเป็นชุมชนแบบนี้จะมีความเป็นผู้นำทางทัศนคติหรือ Opinion Leader มีความเป็นผู้นำทางข่าวสารและความรู้อันทั่วถึงของชุมชน มีความเป็นผู้นำทางการปฏิบัติด้วยความสำนึกต่อส่วนรวม เป็นผู้มีจิตสาธารณะ มีอิสรภาพในตนเองในขณะที่ก็มีวัฒนธรรมการทำงานเป็นกลุ่มก้อนอย่างเสมอภาคกับผู้อื่น มีความสมดุลของการเป็นผู้ให้และเป็นผู้รับ ร่วมริเริ่มและร่สสมให้ความร่วมมือ ทำให้กลุ่มก้อนมีภาวะผู้นำเป็นกลุ่ม และสามารถปฏิบัติการสังคมได้อย่างทัดเทียมทั้งต่อความจำเป็นและต่อความซับซ้อนของชุมชนภายใต้ประเด็นความสนใจของกลุ่มนั้นๆ

การวิจัยเชิงปฏิบัติการสังคมกับกลุ่มในแนวทางนี้ กลุ่มนักวิจัยจากภายนอกและกระบวนการทางวิชาการ ก็จะอยู่ในฐานะเป็นภาคีหนึ่งหรือเป็นชุมชนอย่างหนึ่งที่ทำงานทางความรู้และเข้าไปเป็นเครือข่ายปฏิบัติการต่อปัญหาและความจำเป็นต่างๆด้วยกัน หรืออาจกลุ่มได้ว่า เป็นการวิจัยในแนวที่เดินเข้าหากันเยี่ยงกลุ่มคนที่มีความสำนึกทางสังคมและความมีจิตสาธารณะร่วมกัน แม้จะมีจุดมุ่งหมายจำเพาะต่างกัน ตลอดจนมีแนวคิดและมีวิธีปฏิบัติการต่อความเป็นส่วนรวมต่างกัน แต่ก็มุ่งเรียนรู้ที่จะทำงานให้เชื่อมโยงกัน เสริมกำลังปัญญาและกำลังการปฏิบัติสะท้อนกันและกัน ให้ความเป็นส่วนรวมแข็งแรงและก่อเกิดสุขภาวะดียิ่งๆขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังคงมีความเป็นตัวของตัวเอง คงแตกต่างหลากหลายและสามารถบรรลุจุดหมายจำเพาะของปัจเจกและกลุ่มย่อยๆไปด้วยได้ดีกว่าเดิม แง่มุมดังกล่าวเป็นจุดเด่นและความเข้มแข็งของการวิจัยแบบ PAR ในแนวทางนี้

  การเข้าถึงและเชื่อมต่องานกับกลุ่มประชาคมและกลุ่มการรวมตัวของปัจเจกบนความเป็นชุมชน 

กลุ่มคนท้องถิ่นและกลุ่มปัจเจกที่เป็นกลุ่มซึ่งมีวิถีทำงานส่วนรวมด้วยการรวมตัวกันในลักษณะดังกล่าวในท้องถิ่นต่างๆ มักจะมีวัฒนธรรมการพบปะและวิถีแห่งการรวมตัวกันในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ในชุมชนชนบท ในชุมชนเมืองพื้นที่ชนบท ในชุมชนเมือง และในสังคมเมืองใหญ่ เหล่านี้ ก็จะมีพื้นที่และกิจกรรมเพื่อการรวมกลุ่มในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งในการค้นหา เข้าถึง ประสานความร่วมมือและเชื่อมโยงการทำงานด้วยกัน ก็จะสามารถดำเนินการในลักษณะต่างๆ ได้หลายรูปแบบ คือ

  • แหล่งข้อมูลในระบบจัดเก็บ : ค้นหาจากแหล่งข้อมูลที่มีการเจ็ดเก็บรวบรวมไว้แล้ว เพื่อทำการเรียนรู้ชุมชนและประสานงานเพื่อดำเนินการต่อไป วิธีดังกล่าวนี้มักจะสะดวกและมีผู้ใช้วิธีนี้มาก แต่สำหรับการทำงานกับกลุ่มปัจเจกในลักษณะนี้ วิธีติดต่อและทำความรู้จักในลักษณะนี้ได้รับความไว้วางใจและร่วมมือทำงานไปด้วยกันได้น้อยที่สุด เพราะเป็นวิธีที่ลดการได้ปฏิสัมพันธ์และขาดการติดต่อสื่อสารกันแบบเห็นหน้า
  • การค้นหาและเข้าถึงโดยสื่อกิจกรรม : จัดกิจกรรมเพื่อสื่อสารและประชาสัมพันธ์เพื่อให้เป็นที่รู้จักโครงการ พร้อมกับแสดงตนให้ชาวบ้านได้มีข้อมูลสร้างความเข้าใจ ก็จะสามารถติดต่อและเชื่อมโยงการทำงานกับคนในลักษณะนี้ได้
  • การค้นหาและเข้าถึงโดยการเดินสอบถามไปในชุมชน : ใช้ตนเองเป็นสื่อบุคคลสำหรับการทำงาน เดินทำความรู้จัก สอบถาม หาข้อมูลจากการแนะนำบอกต่อกันไปแบบปากต่อปาก หรือวิธี Snow-Ball Technique พร้อมกับเรียนรู้บุคคลกับชุมชนและเก็บรวบรวงมข้อมูลผ่านการทำสังคมมิติ หรือ Socio-Gram (จะกล่าวถึงในโอกาสต่อไปอย่างเป็นการเฉพาะ) วิธีดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ซึ่งมีความหลากหลายในสังคมและมีความขัดแย้งแผกต่างกันสูง
  • การเข้าถึงโดยการร่วมงานชุมชน : ผู้วิจัยและผู้ประสานงานทีมหรือเครือข่ายวิจัย ใช้วิธีนำตนเองเข้าไปสัมผัสชุมชนผ่านกิจกรรมต่างๆด้วยตนเอง ซึ่งจะทำให้เกิดการเรียนรู้ความเป็นชุมชนอย่างค่อยเป็นค่อยไปบนรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ ก่อให้เกิดความไว้วางต่อกัน และสามารถได้ข้อมูลระดับการใช้วิจารณญาณ รู้ความเป็นกาละเทศะของชุมชน ทำให้ทำงานไปด้วยกันอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่ เผชิญปัญหาและร่วมกันแก้ปัญที่มีความยุ่งยากได้ต่อเนื่อง ทำงานในระยะยาวได้ดี
  • การเข้าไปอยู่อาศัยเพื่อเรียนรู้ชุมชนและพัฒนาความคุ้นเคยด้วยตนเอง :  ผู้วิจัยและผู้ประสานงานทีมหรือเครือข่ายวิจัย เข้าไปอยู่ในชุมชนและเรียนรู้ความเป็นชุมชนผ่านการดำเนินชีวิตสักระยะหนึ่ง

กลุ่มปัจเจก รวมทั้งกลุ่มคนอันเกิดจากการรวมตัวกันบนฐานความเป็นส่วนรวมและการมีประเด็นความสนใจร่วมกันในลักษณะดังกล่าวในชุมชนต่างๆ ที่เราได้เรียนรู้เพื่อทำความรู้จักคุ้นเคยในลักษณะดังกล่าวนี้ ควรเน้นการได้พบปะและติดต่อประสานงานด้วยตนเองหรือผ่านกิจกรรมที่ให้ความมีประสบการณ์ต่อความเป็นกิจกรรมส่วนรวมด้วยกันที่ลึกซึ้งและเข้มข้นมากกว่าการติดต่อประสานงานด้วยจดหมายและเอกสาร

  วิธีออกแบบกระบวนการวิจัยให้เป็นวิธีปฏิสัมพันธ์เพื่อสร้างเครือข่ายปฏิบัติการด้วยกัน 

เมื่อผ่านกระบวนการทำความรู้จักและเรียนรู้ข้อมูลชุมชนจนสามารถที่จะระบุกลุ่มคนและปัจเจกที่จะมีวิถีการทำงานส่วงนรวมในลักษณะนี้แล้ว การเชื่อมโยงและระดมพลังการรวมตัวสำหรับกลุ่มปัจเจกในลักษณะนี้ จะต้องให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการเดินเข้ามามีส่วนร่วมในเวทีประชาคมเพื่อระดมพลังวิจัยปฏิบัติการสังคมด้วยความเป็นตัวของตัวเอง พร้อมทั้งมีแนวคิดและข้อมูลสำหรับจัดวางตนเองบ้างพอสมควร ดังนั้น วิธีที่เหมาะสมสำหรับการเตรียมเวทีก่อนก็คือ

  • ถอดบทเรียนกลุ่มและถอดบทเรียนรายบุคคล ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลและทำให้ประสบการณ์ของทุกคนเป็นสื่อสร้างความรู้จักกันและกันในมิติต่างๆ
  • ถอดบทเรียนชุมชน ผ่านบนเรียนและประสบการณ์ของกลุ่มคนที่เข้าถึง โดยถอดบทเรียนแบบสรุปภาพรวม

กระบวนการดังกล่าวจะก่อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์เชิงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พร้อมกับได้น้อมตนเข้าไปเรียนรู้ชุมชน ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูและบทเรียนให้ชุมชน ซึ่งจะให้ผลสำหรับเตรียมการทำงานที่สำคัญ ๓ ประการซึ่งมีความสำคัญมาก คือ

  • ได้ข้อมูลสำหรับทำประเด็นเวทีให้สะท้อนวาระความเป็นส่วนรวมที่เป็นประเด็นความใส่ใจของทุกคนและทุกกลุ่มที่เราต้องการประสานงานเชิญเข้าร่วมเวทีขับเคลื่อนการวิจัยต่อไป
  • ได้ข้อมูลสรุปบทเรียนหลายมิติ เพื่อทำเป็นสื่อและข้อมูลสำหรับเป็นปัจจัยป้อนบนเวทีที่จะดำเนินการในลำดับต่อๆไป พร้อมกับเห็นประเด็นและกรอบเนื้อหา ในอันที่จะระดมการทบทวนข้อมูลและจัดการความรู้สนับสนุนตามความจำเป็นได้อย่างเหมาะสมกับพัฒนาการวุฒิภาวะของเวที
  • เป็นการสื่อสาร บอกกล่าวทางอ้อม และเตรียมทุกคนให้เป็นผู้รู้ข้อมูลล่วงหน้าหรือ ได้กลุ่มคนที่มีคุณลักษณะเป็น Informed Participant พอสมควร ทำให้สามารถกำหนดตนเองและเตรียมตนเองเพื่อมีส่วนร่วมต่างๆได้เป็นอย่างดี

กลุ่มประชาชมและปัจเจกผู้มีจิตสาธารณะ ที่จะเชื่อมประสานและระดมพลังการทำงานผ่านการวิจัยปฏิบัติการสังคมในแนวทางดังกล่าวนี้ จะเป็นกลุ่มขนาดเล็กแต่มีพลังการทำงานต่างๆเพื่อสร้างสรรค์สุขภาวะสาธารณะมาก กลุ่มที่เหมาะสมในแต่กลุ่มอาจจะมีเพียงไม่เกิน ๑๐ คน และเมื่อรวมกันแล้วก็เป็นกลุ่ม ๔๐-๕๐ คน ก็สามารถเป็นเครือข่ายปฏิบัติการสังคมระดับอำเภอและจังหวัด เมื่อสามารถค้นหาและเข้าถึงได้แล้ว ก็จะสามารถออกแบบกระบวนการวิจัยให้เป็นขั้นตอนปฏิบัติการสังคมเป็นขั้นย่อยๆ นับแต่เริ่มการเรียนรู้ตนเอง การระบุประเด็นความสนใจ การพัฒนาโจทย์และตั้งคำถามการวิจัย พร้อมกับปฏิบัติการสังคมไปบนกระบวนการวิจัย ด้วยรูปแบบการเป็นกลุ่มประชาคม และวิจัยปฏิบัติการสังคมไปด้วยกันกับนักวิจัยและกลุ่มผู้มีส่วนร่วมกลุ่มอื่นๆ

ทั้งกลุ่มจะเป็นทั้งเครือข่ายปฏิบัติการวิจัย กลุ่มสร้างความรู้ เรียนรู้ และใช้ความรู้เพื่อปฏิบัติการทางสังคม ซึ่งก็จะเป็นแนวทางหนึ่งของการวิจัยปฏิบัติการสังคมแบบ PAR ที่ทำให้ชุมชนและสังคมท้องถิ่นในแหล่งนั้นๆ บรรลุจุดหมายความเป็นสุขภาวะอันพึงประสงค์ร่วมกันได้.

หมายเลขบันทึก: 408677เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2010 16:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณค่ะ..พี่ขอร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากเรื่องเล่าในบันทึกนี้ค่ะ..

http://gotoknow.org/blog/nongnarts/339902

 มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)โดยโครงการพัฒนาเยาวชนตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง หนึ่งในภาคีขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงของกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้การสนับสนุนสาขาประชากรศึกษา ภาควิชาศึกษาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนการวิจัยในโรงเรียนขึ้นโดยมีผู้บริหารและครูแกนนำในสถานศึกษาพอเพียงในเครือข่าย ๑๗ แห่งเข้าร่วมกิจกรรมนี้

 

  • ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมกิจกรรมเวทีอยู่ครั้งหนึ่งครับ
  • ตอนนี้เครือข่ายนักวิจัยและทีมวิทยากรของมหาวิทยาลัยมหิดลที่เป็นพี่เลี้ยงและเครือข่ายสนับสนุนให้กับเครือข่ายครูเครือข่ายนี้ ก็ยังให้ความสำคัญที่จะทำงานแนวนี้กับสถานศึกษาและเครือข่ายครูนักวิจัย สำหรับปฏิบัติการโครงการเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนอย่างนี้อยู่ครับ เป็นทีมมือหนึ่งทั้งของมหิดลและของประเทศทีมหนึ่งเลยละครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท