การประชุมโซนใต้ประจำเดือนกรกฎาคม (2)


       วันนี้มาอ่านต่อกันดีกว่าค่ะว่าการประชุมประชุมประจำเดือนกรกฎาคม  2549 ของโซนใต้เป็นอย่างไร

       อ.นวภัทร์ บ้านเหล่าเป็นกลุ่มน้องใหม่ที่เข้ามาเป็นสมาชิกเครือข่ายฯ ในช่วงหลังมีการปรับในเรื่องการเฉลี่ยความเสี่ยง (ค่าเฉลี่ยศพ) กลุ่มของเราคิดอย่างละเอียด เครือข่ายฯบอกว่าต้องจ่ายเท่าไหร่ เราก็จ่ายไปเรื่อยๆ ไม่เคยติด จ่ายไปทั้งหมดประมาณ 45,000 บาท แต่เราเบิกมาแค่ 30,000 บาท พอมาช่วงหลังเครือข่ายฯแจ้งมาอีกว่าต้องจ่าย 60,000-70,000 บาท ถ้าเป็นอย่างนี้กลุ่มของเราก็แย่ ทำอย่างนี้ก็เท่ากับเอาเงินของชาวบ้านเราไป กลุ่มอื่นก็ไม่ขยายสมาชิก เมื่อไม่ยอมขยายสมาชิก มันก็มากินทุนของพวกเรา ซึ่งเราก็ขยายไปเรื่อยๆ จาก 200 กว่าคน ตอนนี้มีสมาชิก 700 กว่าคนแล้ว เพราะ เราถือว่าถ้ายิ่งมีคนมากขึ้น ค่าเฉลี่ยความเสี่ยงก็จะน้อยลง แต่ถ้ามีสมาชิกน้อย ค่าเฉลี่ยก็จะสูง ตอนนี้พอจะเคลียร์เงินคืนมาให้เรา กลับบอกว่าเงินของกลุ่มเราติดลบ เราก็คิดว่ามันเกิดอะไรขึ้น เราจ่ายไปหมดแล้ว เราไปเอาเงินค่าเฉลี่ยศพมาแค่ 30,000 บาท แต่เราจ่ายไปมากกว่านั้น

          คุณยุพิน ได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องการเฉลี่ยศพเพิ่มเติมว่า เมื่อก่อนตนเองเป็นผู้รับผิดชอบดูแลกองทุนนี้ในระดับเครือข่ายฯ รูปแบบโดยสรุป คือ สมมติว่าเดือนนี้มีสมาชิกตาย ซึ่งต้องจ่ายค่าทำศพเป็นจำนวนเงินรวม 50,000 บาท เครือข่ายฯนอกจากจะเก็บค่าเฉลี่ยศพจากกลุ่มต่างๆให้ได้ครบ 50,000 บาทแล้ว ยังเก็บเงินค่าบริหารจัดการกองทุนนี้อีก 5% แสดงว่าแต่ละกลุ่มไม่ได้จ่ายค่าเฉลี่ยศพรวม 50,000 บาท แต่ต้องจ่ายรวมเป็นเงิน 50,000 กว่าบาท ซึ่งในส่วนนี้กลุ่มที่มีสมาชิกมากก็ต้องจ่ายมาก ส่วนกลุ่มที่มีสมาชิกน้อยก็จ่ายน้อย ตรงนี้เป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ากลุ่มต้องรับผิดชอบถึง 2 ส่วน คือ ส่วนของค่าเฉลี่ยศพ และ ส่วนของการบริหารจัดการ ดังนั้น จึงเกิดความคิดว่าทำไมกลุ่มจึงไม่จัดการตัวเองเลย การจัดการกันเองในกลุ่มน่าจะช่วยแก้ไขปัญหาได้ เพราะ มีความรวดเร็ว รู้ปัญหา นอกจากนี้แล้วแต่ละกลุ่มยังมีลักษณะทางวัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน เราเชื่อว่าถ้าเราทำอย่างนี้เราจะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้

          คุณภีม ตั้งคำถามขึ้นมาว่าตอนนี้โซนใต้มีสมาชิกทั้งหมดกี่คน?

          คุณยุพิน ตอนนี้ทางโซนใต้มีสมาชิกทั้งหมด 4 กลุ่ม คือ

          1.บ้านดอนไชย (เถิน) จำนวน 2,468 คน

          2.บ้านเหล่า (เถิน) จำนวน 725 คน

          3.แม่พริก (แม่พริก) จำนวน 946 คน

          4.พระบาทวังตวง (พระบาทวังตวง) จำนวน 233 คน

           รวมทั้งสิ้น 4,372 คน

           กำลังพยายามที่จะผลักดันให้ตำบลแม่วะ (เถิน) เกิดขึ้นให้ได้ ซึ่งในตอนนี้กลุ่มแม่วะก็เริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างแล้ว โดยมีสมาชิกเกือบ 100 คน แต่ตอนนี้นำสมาชิกเหล่านั้นมาสมทบกับกลุ่มดอนไชยหากกลุ่มมีคณะกรรมการที่เป็นรูปเป็นร่างก็จะให้แยกตัวออกไปบริหารจัดการเอง

          อ.ธวัช กล่าวว่า กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่พริกก่อตั้งขึ้นในวันที่ 16 กรกฎาคม 2546 จนถึงปัจจุบันดำเนินการมาแล้วกว่า 3 ปี มีสมาชิกเริ่มแรก 113 คน แต่สมาชิกก็เพิ่มทุกเดือน เดือนละประมาณ 20-30 คน ตอนนี้มาสมาชิก 946 คน ในส่วนของคณะกรรมการนั้น เดิม ทางกลุ่มได้เชิญข้าราชการบำนาญมาร่วมเป็นคณะกรรมการจำนวน 9 คน จนถึงปัจจุบันมีคณะกรรมการเป็นชุดที่สามแล้ว แต่ก่อนคณะกรรมการจะดำรงตำแหน่งวาระละ 1 ปี มาตอนนี้เปลี่ยนกฎใหม่เป็นดำรงตำแหน่งวาระละ 2 ปีแล้ว โดยในการเปลี่ยนกฎได้นำเข้าที่ประชุมใหญ่เพื่อขอความเห็นชอบจากสมาชิก

          สำหรับในส่วนของการทำงานนั้น ผู้ที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการสามารถทำงานได้ แต่ยังทำได้ไม่ดี มีข้อบกพร่องหลายประการ แม้แต่ตัวของคณะกรรมการเขาก็เห็นว่าตัวเองมีข้อบกพร่อง ซึ่งแต่ละคนเห็นว่าความบกพร่องของตัวเองมาจากความแก่ หูตาไม่ดี คิดเลขไม่ทัน เหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคในการทำงาน แต่หากพิจารณาในส่วนของใจ ทุกคนมีใจเต็มร้อยที่จะทำงาน ดังนั้น จึงมีคณะกรรมการบางคนลาออก เราก็ต้องสรรหาและเชิญคนใหม่เข้ามาเป็นคณะกรรมการแทน ตอนนี้ก็พยายามที่จะหาคนรุ่นหนุ่มสาวให้มาทำงาน จะได้ทำงานคล่อง ขณะนี้มีคณะกรรมการ 12 คน

           การบริหารจัดการของกลุ่มนั้น ทุกเดือนจะส่งเงินไปที่เครือข่ายฯตลอด เป็นเงินกว่า 300,000 กว่าบาทแล้ว เราส่งเงินไม่เคยขาด แต่เราได้เงินค่าศพจากเครือข่ายฯ ประมาณ 50,000 บาท จุดเปลี่ยนของเรื่องนี้อยู่ตรงที่เดือนมกราคม 2549 สมาชิกของเราตายไป 3 ศพ เราขอเบิกเงินจากเครือข่ายฯแค่ 30,000 บาท แต่เครือข่ายฯไม่ยอมให้ โดยเครือข่ายฯให้เหตุผลว่ากลุ่มของเรายังติดค่าเฉลี่ยความเสี่ยงอยู่ 48,000 บาท ผมก็เลยต่อรองว่าถ้าอย่างนั้นผมขอจ่ายค่าศพไปเลย 30,000 บาท เท่ากับผมติดเครือข่ายฯ 18,000 บาท พอมาถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปรากฎว่าผมเป็นหนี้เพิ่มขึ้นมาเป็น 40,000 กว่าบาท ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่าเขาคิดกันอย่างไร แต่ผมก็ไม่ได้ถามหรือโต้ตอบ คิดอยู่ในใจว่าเราคงต้องถอยหลังออกมา ถ้าเรายังอยู่ร่วมกับเครือข่ายฯอยู่ ต่อไปกลุ่มของเราคงอยู่ไม่ได้ คงจะกินเนื้อเราไปตลอด ลองคิดดูง่ายๆก็ได้ว้าเราส่งเงินไปเป็นแสน แต่ได้คืนมาแค่ไม่กี่หมื่นบาท แล้วเราจะอยู่ได้อย่างไร พอไปเบิกเงินก็มีปัญหา ทั้งๆที่เป็นเงินของเรา ไปขอเบิกก็ไม่ยอมให้เรา

           ผมเป็นคณะกรรมการเครือข่ายฯอยู่ประมาณ 1 ปีเศษ ผมเป็นคณะกรรมการกองทุนกลาง ปรากฏว่ามีสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ มีบางกลุ่มที่ไม่เคยส่งเงินในส่วนของกองทุนกลางมาที่เครือข่ายฯเลยเป็นเวลาเกือบ 1 ปี กลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรกๆที่ก่อตั้งขึ้นมา เมื่อเป็นอย่างนี้ผมจึงไปรายงานให้ประธานเครือข่ายฯ ทราบ ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ในเดือนถัดมาผมถูกปลดออกจากตำแหน่งคณะกรรมการกองทุนกลาง แล้วย้ายผมไปเป็นคณะกรรมการฝ่ายตรวจสอบ แล้วตั้งคนของกลุ่มที่ไม่ยอมส่งเงินมาเป็นคณะกรรมการแทนผม ที่สำคัญ คือ ไม่ยอมพูดจา ไม่ยอมบอกผม แล้วทำอย่างนี้ การที่ผมนำเรื่องนี้ไปรายงาน เพราะ หวังดีกับเครือข่ายฯ อยากเห็นเครือข่ายฯอยู่รอด กลุ่มอยู่ได้ แต่กลับทำอย่างนี้ ผมก็ไม่รู้ว่าเขามีอะไรกันอยู่หรือเปล่า ตั้งแต่นั้นมาทำให้กลุ่มของเราเริ่มไม่สนิทใจกับเครือข่ายฯแล้ว ผมได้เคยพูดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปางแล้วในเรื่องนี้ มีหลายอย่างที่ผมเคยเสนอเครือข่ายฯไปแล้ว เขาก็ฟัง แต่ไม่เคยนำไปปฏิบัติ ทั้งที่เป็นเรื่องที่ดี คนอื่นก็เห็นด้วย เหมือนเราเสนออะไรไปก็หายเข้ากลีบเมฆไปหมด ขวัญ กำลังใจของพวกเราก็ไม่ดี เราจึงต้องกลับมาตั้งหลัก ค่อยๆถอยออกมาเพื่อพึ่งตนเอง ถ้าอยู่ไปก็คงจะมีหนี้สินเพิ่มพูนขึ้นมาอีกมากมาย นี่คือ สถานการณ์ของกลุ่มแม่พริกที่เราไปร่วมกับเครือข่ายฯแล้วถอยออกมา

          ในส่วนของการจ่ายสวัสดิการนั้น ตั้งแต่เริ่มต้นตั้งกกลุ่มจนถึงปัจจุบันจ่ายสวัสดิการในส่วนของค่าทำศพไปแล้ว 229,313 บาท ค่าเยี่ยมไข้ 37,200 บาท ค่าทำขวัญบุตร 2,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 268,513 บาท รวมผู้ได้รับสวัสดิการทั้งสิ้น 93 ราย

           ประธานกลุ่มพระบาทวังตวง เป็นผู้กล่าวรายละเอียดเกี่ยวกับกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล พระบาทวังตวง ว่ากลุ่มเริ่มก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2549 เดิมสมาชิกของตำบลเราเข้ามาเป็นสมาชิกของกลุ่มแม่พริกก่อนแล้วประมาณ 100 กว่าคน ตอนแรกเราก็นึกว่ากลุ่มแม่พริกจะคืนสมาชิกเหล่านี้ให้เรา แต่ก็ยังไม่ได้รับคืน เราก็หาสมาชิกมาเรื่อยๆ ตอนเปิดใหม่ก็มีสมาชิกน้อยแค่ 80 กว่าคน เดือนนี้เป็นเดือนที่เจ็ดแล้วมีสมาชิกประมาณ 233 คน แต่เสียชีวิตไป 2 คน ดังนั้นจึงมีสมาชิกอยู่ประมาณ 231 คน

           อ.ธวัช ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เดิมสมาชิกของตำบลพระบาทวังตาวงเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มแม่พริกประมาณ 113 คน เราก็พยายามประสานงานกับทางตำบลว่าเราไม่อยากรับสมาชิกของพระบาทวังตวงแล้ว แต่เราอยากส่งเสริมให้เขาไปตั้งกลุ่มกันเอง ก็เลยมีการจัดตั้งกลุ่มพระบาทวังตวงขึ้นมา เราไปช่วยประชุมชาวบ้าน ตอนแรกเราคิดว่าจะโอนสมาชิกทั้ง 113 คนคืนไปให้พระบาทวังตวง แต่มันทำได้ยากเหลือเกิน เพราะ ต้องทำบัญชีย้อนหลัง การเข้ามาเป็นสมาชิกของแต่ละคนก็ไม่พร้อมกัน ทำให้โอนคืนยังไม่ได้ ตอนนี้สมาชิกทั้ง 113 คนก็มาเบิกสวัสดิการที่กลุ่มเรา แต่สมาชิกใหม่ก็ต้องไปเข้ากลุ่มใหม่ ทางแก้ปัญหาในการโอนคืนสมาชิกนั้น คงจะต้องทยอยโอนคืนเป็นรายๆไป ถ้าไปพร้อมกันทั้ง 113 คน คงทำได้ยากมาก

           คุณยุพิน ได้ขอกล่าวเสริมในการโอนย้ายสมาชิกว่า ถ้าหากย้ายไปทั้งชุด ระบบบัญชีจะเปลี่ยนไปทั้งหมด แล้วชาวบ้านกับระบบบัญชีเป็นศัตรูคู่อาฆาตกัน การที่ยังโอนย้ายไม่ได้ เพราะ มันไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการจัดสวัสดิการ สมาชิกบางคนก็ได้รับสวัสดิการไปแล้ว เพราะฉะนั้น ก็เลยมีความคิดว่าน่าจะหาทางแก้ไขอย่างอื่น เช่น ในกรณีของถินนั้น บ้านเหล่ากับบ้านดอนไชยอยู่ในตำบลล้อมแรดเหมือนกัน บ้านดอนไชยเกิดกลุ่มขึ้นมาก่อน ก็มีสมาชิกของบ้านเหล่าเข้ามาเป็นสมาชิกบ้านดอนไชยจำนวนหนึ่ง ทีนี้เมื่อบ้านเหล่าไปเปิดกลุ่มใหม่ เราก็ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับสมาชิก คือ เวลาถึงวันออม สมาชิกที่เป็นชาวบ้านเหล่าและสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกของกองทุนวันละบาทบ้านดอนไชย ก่อนที่บ้านเหล่าจะตั้งกลุ่มขึ้นมา ไม่ต้องเดินทางมาออมที่บ้านดอนไชยแล้ว ให้ออมที่บ้านเหล่าได้เลย คณะกรรมการของทั้ง 2 กลุ่มได้พูดคุย ประสานงานกันเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อต้องมารับสวัสดิการ ต้องเอาหลักฐานมายื่นรับสวัสดิการที่บ้านดอนไชย เพราะ หลักฐานต่างเกี่ยวกับสมาชิกคนนั้นอยู่ที่บ้านดอนไชย การทำอย่างนี้ทำให้สมาชิกของบ้านเหล่ารู้สึกว่าตัวเองได้ออมที่บ้านขชองตนเอง

           อ.ธวัช กล่าวต่อไปว่า สำหรับในส่วนของแม่พริกกับพระบาทวังตวงนั้น ตอนนี้เมื่อถึงวันออม กลุ่มแม่พริกจะส่งคณะกรรมการ 1 คน ไปบริการเก็บเงินออมที่กลุ่มพระบาทวังตวงเลย เราทำอย่างนี้ได้เพราะ พื้นที่ไม่ไกลกันมาก ขี่รถไปได้ แต่อย่างบ้านดอนไชยกับบ้านเหล่าแม้จะอยู่ตำบลเดียวกัน แต่ระยะทางค่อนข้างไกลกัน ก็ใช้วิธีการให้คณะกรรมการกลุ่มบ้านเหล่าจัดการให้ แค่บอกหมายเลขบิลก็ไม่มีปัญหาอะไรแล้ว

           คุณยุพิน บอกว่า ในกรณีของกลุ่มแม่วะ ซึ่งตอนนี้มีสมาชิกอยู่จำนวนหนึ่งแล้ว หากแยกกลุ่มออกไปก็คงแยกได้เลย เพราะ ยังไม่มีการจ่ายสวัสดิการ ต่อไปคงต้องทำบัญชีแยกกัน เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาหากจะแยกไปตั้งกลุ่มใหม่

          อ.ธวัช บอกว่า รู้สึกเสียดาย หากเรารู้ตั้งแต่แรกว่าเราจะดำเนินการแบบนี้ เราก็แยกบัญชีตั้งแต่แรก พอแยกกลุ่มออกไปก็เอาเงินไป เอาสมาชิกไปได้เลย จะได้ไม่มีปัญหาอะไร ดังนั้น ต่อไป เมื่อมีสมาชิกของตำบลอื่นมาสมัครเป็นสมาชิกเราก็จะต้องแยกบัญชีเอาไว้ เมื่อเขาต้องการแยกตัวออกไปก็จะได้ไม่มีปํญหาด้านบัญชี นอกจากนี้ อ.ธวัช ยังได้กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการบริหารจัดการแบบใหม่นี้ พวกเราได้เคยเสนอไปที่เครือข่ายฯหลายครั้งแล้ว แต่เขาไม่สนใจ ไม่คิดจะทำ สมาชิกก็เลยไม่ขยายซะที

          คุณสุวัฒนา ได้เสนอความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า การที่เครือข่ายฯไม่รับแนวคิดนี้ไปทำ เพราะ ไม่มีใครช่วยเขาทำหรือเปล่า เมื่อเปรียบเทียบกับโซนของพวกเรา ซึ่งมีคณะกรรมการที่เข้มแข็ง ทุกคนเห็นประโยชน์ของกองทุนและเห็นว่าการขยายสมาชิกเป็นสิ่งที่ดี อย่างบางแห่ง เชื่อหรือไม่ว่าเราไปคุยมา 5 ครั้งแล้ว ยังไม่สามารถที่จะตั้งกลุ่มขึ้นมาได้เลย

          คุณกู้กิจ บอกว่า ปัญหาของเครือข่ายฯ คือ พูดแล้วไม่ทำ อย่างเรื่องอบรมวิทยากรขยายผล เสริมสร้างประสบการณ์ต่างๆ เขาก็พูดอยู่นั่นแหละ แต่เขาไม่ทำ พอไม่ทำมันจะเติบโตได้อย่างไร

          คุณสุวัฒนา กล่าวต่อไปว่า เชื่อว่าโซนใต้ คือ เถินกับแม่พริกมีศักยภาพอยู่แล้ว คงไม่ต้องมีใครมาช่วย แต่คนเรามีศักยภาพไม่เท่ากัน บังเอิญคนที่นี่มีความรัก ความสามัคคีกัน แต่ทางเครือข่ายฯอาจไม่มีสิ่งนี้ก็เลยทำให้เป็นอย่างนี้ หรือ บางที่ไปส่งเสริมให้ชุมชนต่างๆตั้งกลุ่มขึ้นมา แต่ไม่ยอมเข้าไปดูแล เมื่อไม่เข้าไปดูแล สมาชิกก็เลยไม่ขยาย มียู่เท่าไหร่ก็เท่านั้น

          คุณกู้กิจ แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งผมเคยพูดในที่ประชุมว่าที่กลุ่มบ้านดอนไชยเกิดขึ้นมาได้ เพราะ แกนนำของเครือข่ายฯมาเผยแพร่ พวกเราถึงทำ แต่ตอนนี้มาดูสิ กลุ่มที่มีปัญหา ก็คือ กลุ่มของแกนนำที่มาเผยแพร่ ทำไมกลุ่มของตนเองมีปัญหาแล้วไม่แก้ไข ผมจำเป็นต้องพูด แม้ว่าเขาอาจไม่พอใจผมก็ตาม

          คุณยุพิน เสริมในเรื่องการประชุมเครือข่ายฯว่า ที่ผ่านมาเวลาไปประชุม เราไปแต่เช้า แต่กว่าจะได้เริ่มประชุมเกือบเที่ยง ทั้งๆที่พื้นที่ของเถินและแม่พริกอยู่ห่างจากในเมืองมาก แต่เราก็ยังไปแต่เช้า พอไปถึงเราต้องไปขนเก้าอี้ ไปกวาดสถานที่ กลุ่มที่อยู่ในเมืองอยู่ใกล้แท้ๆแต่กลับไปช้า แล้วกว่าจะประชุมเสร็จก็เย็น เราก็ต้องเดินทางกลับ ซึ่งเป็นระยะทางไกลมาก

          คุณภีม ได้กล่าวเสริมว่า เมื่อตอนวันที่ 19 เดือนที่แล้ว ซึ่งเราไปประชุมรวมกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศ่าสตร์ ศูนย์ลำปาง ผมเห็นว่ากลุ่มทางโซนใต้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะขยายสมาชิกให้ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเถินกับอำเภอแม่พริกทั้งหมด แต่ยังไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะต้องมีสมาชิกทั้งหมดกี่คน

         อ.ธวัช บอกว่า ถ้าหากเครือข่ายฯยังมีวิธีการบริหารจัดการแบบนี้ ไม่ว่าจะขยายสมาชิกออกไปได้อีกกี่กลุ่ม ปัญหาก็จะไม่หมดไป

         คุณภีม ถามต่อว่า บทเรียนที่เราได้รับในครั้งนี้คืออะไรที่จะทำให้เราไม่เดินทางไปสู่หายนะ?

         อ.ธวัช ตอบว่า สิ่งแรก คือ การขยายผล ส่วนข้อท่าสอง คือ การบริหารจัดการ ต้องอาศัยหลักจิตวิทยา การทำงานในระบบราชการกับระบบชาวบ้านไม่เหมือนกัน ระบบชาวบ้านเราจะคุยกันทุกเรื่อง ต้องขอความร่วมมือกัน ขอความช่วยเหลือกัน เอาแต่ความคิดของตัวเองไม่ได้

       วันนี้ขอจบเอาไว้แค่นี้ก่อนนะคะ  แล้วพรุ่งนี้จะเข้ามาเล่าต่อค่ะ

หมายเลขบันทึก: 40855เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2006 21:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท