วิสัชนา : เรื่องตลาดกับคนซื้อ


สร้างวัฒนธรรมความสะดวกสบายนับตั้งแต่ในมุ้งจนกระทั่งบั้นปลายของชีวิต, "ฉันจะปลูกผัก เก็บผัก แล้วทำกับข้าวกินเองดี หรือว่าจะเอาเงินมาหาซื้อผัก ซื้ออาหารสำเร็จรูปไปกินดี" อันไหนดีกว่ากัน

ก่อนอื่นต้องขอขอบพระคุณทุก ๆ ท่านที่เข้ามาร่วมปุจฉาและวิสัชนาในเรื่อง "ปุจฉา : ตลาดกับคนซื้อใครเกิดก่อนกัน?" ครับ

และต้องขออภัยคุณชายชอบเป็นอย่างสูงครับ ที่เข้ามาให้รางวัลจากคำตอบที่ถูกต้องช้าเกินไปครับ ขออภัยอย่างสุดซึ้งครับ

เพราะสิ่งที่คุณชายขอบตอบมาว่า

"ผมเชื่อว่าตลาด (ตามนัยยะที่คุณปภังกรณ์ กล่าวถึง) เกิดก่อนครับ"

รวมถึงข้อคิดเห็นจากคุณจรัณธร น้องพิไล และคุณจันทรรัตน์ ทุกคนต้องได้ถูกต้องทั้งหมดเลยครับ เพราะสิ่งต่าง ๆ นั้นสามารถมองได้หลายมุมหลายมิติ

แต่สิ่งที่ผมขอขออธิบายในบันทึกนี้ก็ขออธิบายตาม "ทุน" ที่ผมมีอยู่และนัยยะที่แฝงไว้ตอนที่ตั้งคำถามครับ (ฝากคุณจรัณธร คุณจันทรรัตน์ น้องพิไลและคุณชายชอบอธิบายพร้อมเติมในมิติอื่น ๆ ครับ) นั่นก็คือ "มิติของนักการตลาด"

นักการตลาดเชื่อว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคนั้น สามารถกำหนดและรังสรรค์ได้โดยส่วนประสมทางการตลาดทั้ง 4 ตัว (Product, Price, Place และ Promotion) ซึ่งส่วนประสมทางการตลาดทั้ง 4 ตัวนั้นก็เปรียบเสมือนวาทกรรมที่ นักการตลาดและผู้บริโภคร่วมกันเขียนขึ้นมาเป็นเวลายาวนาน

(ขออภัยวัยรุ่นในตลาดสดด้วยนะครับ ที่บันทึกนี้อาจจะอ่านยากสักนิดหนึ่งครับ)

นักการตลาด พยายามจัดสรรสิ่งต่าง ๆ ที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของ "คน" ซึ่งเขาเรียกว่า "ผู้บริโภค" เพื่อทำอย่างไรก็ได้ให้เขา "ควักเงินออกจากกระเป๋า" มาซื้อสินค้าหรือบริโภคสิ่งต่าง ๆ ที่นักการตลาดจัดทำขึ้น

จากแนวคิดดังกล่าว ทำให้เกิดสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย เพื่อเติมเต็มจุดอ่อนต่าง ๆ ของมนุษย์ ที่ความกระหายในการอยากได้ อยากมี และอยากสบาย จนมีคำพูดคำหนึ่งที่ว่า

"ความต้องการของมนุษย์ไม่มีวันสิ้นสุด"

ดังนั้นตลาด ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่นักการตลาด ที่มาในชื่อของ "พ่อค้า และแม่ค้า" เห็นช่องในการที่จะเข้าโจมตีจุดอ่อนของผู้บริโภค ในการจับจ่ายหาซื้อ ปัจจัย 4 นั่นก็คืออาหาร ที่เน้นความสะดวกสบาย ความรวดเร็วในการหาสิ่งต่าง ๆ มาเพื่อการอุปโภคและบริโภค สร้างวัฒนธรรมความสะดวกสบายนับตั้งแต่ในมุ้งจนกระทั่งบั้นปลายของชีวิต

ซึ่งตลาดในปัจจุบันมีทั้ง "ตลาดเชิงรับ" และ "ตลาดเชิงรุก"

ตลาดเชิงรับ ก็จะเป็นอย่างที่เราเห็นโดยทั่ว ๆ ไป ก็คือ การจัดหาสถานที่ต่าง ๆ ให้เป็นแหล่งรวมตัวกันของการซื้อขายสินค้าที่ผู้บริโภคจะเดินทางมาได้โดยสะดวกที่สุด ไม่ว่าจะเป็น ตลาดริมแม่น้ำ ตลาดน้ำ ตลาดบก และโดยเฉพาะ ตลาดบริเวณสถานีรถไฟซึ่งเป็นแหล่งชุมชนสำหรับผู้คนที่เดินทางขึ้นเหนือล่องใต้กันไม่เว้นแต่ละวัน

ซึ่งตลาดแบบนี้ พ่อค้าแม่ขาย ก็จะทำการจัดเตรียมความสะดวกสบายของสถานที่ โดยเฉพาะแข่งขันในด้านของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอขายต่อผู้บริโภคที่จะเดินเข้าไปจับจ่ายซื้อของ

สิ่งแรกก็จะต้องคิดถึงว่า 

"จะทำอย่างไรดีน๊า ให้เขามาที่ตลาดของเรา"

ต่อมา "จะทำอย่างไรดีน๊า เมื่อเขามาแล้วจะให้ซื้อของที่ร้านของเรา"

ต่อมาอีก "จะทำอย่างไรดีน๊า ให้พรุ่งนี้เขามาซื้อของของเราอีก"

พ่อค้าแม่ขายก็จะทำการปรับปรุงและพัฒนาเทคนิคการขายของตนเองต่อไปเรื่อย ๆ เสนอความสะดวกสบาย เสนอสิ่งที่ดี ๆ อาหารเพื่อสุขภาพ ความสะอาด ความรวดเร็ว รสชาดต่าง ๆ อาหารที่แปลกหูแปลกตา อาหารตามสมัยนิยม เพื่อสร้างทางเลือกในการตัดสินใจว่า

"ฉันจะปลูกผัก เก็บผัก แล้วทำกับข้าวกินเองดี หรือว่าจะเอาเงินมาหาซื้อผัก ซื้ออาหารสำเร็จรูปไปกินดี" อันไหนดีกว่ากัน

ถ้าคนตัดสินใจว่า ปลูกผักกินเองอยู่บ้าน ก็เตรียมปิดตลาดได้เลย

ซึ่งถ้าเป็นตามนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งกระตุ้นในการใช้จ่ายเงินของผู้บริโภค นโยบายต่าง ๆ ก็จะออกมาในรูปของการที่จะต้องให้ผู้บริโภค "ซื้อ ซื้อ ซื้อ แล้วก็ซื้อ" เพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ซึ่งจะทำให GDP ที่รัฐบาลเน้นนักเน้นหนาว่า จะทำให้ GDP ปีนี้ โตมากขึ้นเท่าไหร่

ถ้าคนทำอยู่ทำกิน ทำสิ่งต่าง ๆ ใช้เองในบ้าน ก็จะไม่เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยน เมื่อไม่เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนก็จะส่งทำให้กิจกรรมที่ต่าง ๆ เหล่านั้น ไม่ก่อให้เกิด GDP

ดังนั้นนโยบายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายทางตรงหรือทางอ้อม ก็จะออกมาในรูปของการส่งเสริมให้เกิดการค้าการขาย

ซึ่งในปัจจุบันนี้ ความยากจนของประเทศเราหลัก ๆ ไม่ได้อยู่ที่คนมีรายได้น้อย น้อยที่ไม่พออยู่พอกิน  แต่อยู่ที่มีรายได้น้อยที่ไม่พอซื้ออยู่ ซื้อกิน รายได้ไม่พอที่จะตอบสนองแรงกระตุ้นทางการตลาดที่มีมากมายเหลือเกิน ทั้งในเรื่องสิ่งจำเป็นหลัก ๆ ในชีวิต ปัจจัย 4 (Needs) ที่มีแรงกระตุ้นออกมาอย่างมากมาย ให้ซื้อ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ และยิ่งรวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ (Want) อีกล่ะก็ แรงกระตุ้นยิ่งทำให้เกิดขึ้นมาอย่างมหาศาล จนทำให้รากฐานของการตลาดแข็งแรงยิ่งกว่าสมัยใด ๆ ที่ผ่านมาในอดีต

แนวความคิดของทุนนิยม ผสมกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย กับความเก่งกล้าเกินใครของคนไทยในปัจจุบัน "กำไร กำไร กำไร" "หาเงิน หาเงิน หาเงิน" เพื่อมาตอบสนองกิเลศและตัณหา การแข่งขันทางด้านหน้าตาและฐานะทางสังคม เพื่อให้ประเทศมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

"เศรษฐกิจเติบโต ประเทศเติบใหญ่ ประชาชนซื้อจนหนี้ท่วมหัวตาย ไม่เป็นไร ช่างหัว....."

การตลาดเชิงรุก

สำหรับบุคคลที่มี "ภูมิต้านทาน" ต่อการกระตุ้นทางการตลาดมากหน่อย รวมถึงอยู่ไกลเกินไปที่จะเข้าถึงสถานที่ที่นักการตลาดจัดให้ไว้ให้

"ไม่เป็นไร เดี๋ยวผมจัดให้"

"รถโชเล่ย์ ตลาดนัด ตลาดคลองถม การขายตรง เราส่งตรงถึงเตียงนอนท่าน"

"ท่านอยู่บ้าน ไม่ต้องออกไปไหน เดี๋ยวเราจัดการกระชากเงินออกจากกระเป๋าท่านให้ นี่แหละสุดยอดของนักการตลาด (ในอดีต เอ๊ะหรือว่าในปัจจุบันก็เป็นครับ)"

ที่เขียนบันทึกนี้มาเพื่อเชื่อมโยงให้ทุก ๆ ท่านเห็นในเรื่องของ "ทวิลักษณ์" ของคนในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะฝ่ายบริหาร ที่ทำงานสองด้านไปพร้อม ๆ กัน

ด้านหนึ่งก็กระตุ้นเศรษฐกิจ อยากทำให้เศรษฐกิจเติบโต ก่อให้ SMEs กระตุ้นให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต เป็นฐานการลงทุนของต่างประเทศ กระตุ้นให้บ้านที่เราอยู่ กลายเป็นบ้านที่รองรับนักท่องเที่ยว เพื่อนำมาซึ่ง "เงิน เงิน เงิน แล้วก็เงิน" จะได้นำเงินมาปรนเปรอความสุขของตนเองนิดหน่อย ส่วนที่เหลือก็สร้างให้ผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการ "รวย รวย รวย แล้วก็รวย" คนในชุมชนมีเอกลักษณ์ภูมิปัญญาอะไรที่เคยทำอยู่ทำใช้  "ขายสิขาย จะได้ได้เงิน"

 

อีกด้านหนึ่ง "แก้ไขปัญหาความยากจน"

"ทุก ๆ คนต้องเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง"

"ทุก ๆ คนต้องนำแนวคิดเรื่องทฤษฎีใหม่ไปใช้"

"ทุก ๆ คนต้องประหยัดเพื่อช่วยชาติ"


วันนี้อบรมเรื่องการตลาดสำหรับกลุ่มอาชีพ

กลุ่มเดิมอบรมเรื่องการทำบัญชีครัวเรือน เพื่อลดและควบคุมรายจ่าย

อบรมเรื่องการทำหีบห่อผลิตภัณฑ์ 1 วัน และอบรมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอีก 1 วัน

อบรมเพื่อให้ขาย 1 วัน และอบรมเพื่อไม่ให้ซื้อ 1 วัน "งงจังเลยครับ"

 


แล้วทุก ๆ ท่าน งงกันไหมครับว่า

เอ๊! ตกลงประเทศเราจะไปทางไหนหว่า

วันนี้กระตุ้นเศรษฐกิจการลงทุน

อีกวันมาให้เราประหยัด

เราประหยัดกัน ก็ลดดอกเบี้ย จัดโปรโมชั่นเสนอขายออกมากระตุ้นเรา

พอเราไปออกไปซื้อของ ก็มารณรงค์ให้เราประหยัด

พอเราประหยัด ธุรกิจ องค์กรก็จะตาย

ธุรกิจองค์กรจะตาย ก็ปรับปรุงโครงสร้างหนี้

ปรับปรุงโครงสร้างหนี้เสร็จ ก็เกิดผู้ประกอบการรายใหม่

ผู้ประกอบการรายใหม่ก็มาหาลูกค้าหน้าทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่

และเราลูกค้าทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่

"จะซื้อหรือจะประหยัดดีล่ะครับ"

หมายเลขบันทึก: 40748เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2006 10:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

"ทุก ๆ คนต้องเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง"

"ทุก ๆ คนต้องนำแนวคิดเรื่องทฤษฎีใหม่ไปใช้"

"ทุก ๆ คนต้องประหยัดเพื่อช่วยชาติ"

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ

ถ้าจะให้ได้ผลมันต้องเริ่มจากตัวเราก่อนเสมอค่ะ

เพื่อเป็นการยืนยัน"ทฤษฎี" ว่าใช้ได้ผล

   

ขอบคุณมาก ๆ ครับน้องพิไล

ถ้าเข้าใจแล้วอย่าลืมนำไปใช้ด้วยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท