เรื่องเล่าจากปัตตานี (๓)


เป็นภาพประทับใจที่ผู้ป่วยให้ความร่วมมือ เพื่อการนำความรู้ที่ได้ให้กลับไปดูแลตนเองและญาติ

การให้ความรู้ผู้ป่วยเบาหวาน โรงพยาบาลโคกโพธิ์


คลินิกเบาหวานโรงพยาบาลโคกโพธิ์ เป็นคลินิกนอกเวลาราชการตั้งแต่เวลา 6.00 – 8.30 น.  เริ่มมีคลินิกมาประมาณปี  2543   ตัวดิฉันเริ่มมารับดูแลงานผู้ป่วยนอกเมื่อปี  2545   ในคลินิกนี้ผู้ป่วยจะได้รับความสะดวกไม่ต้องอดอาหารนาน  มาตรวจเลือดแต่เช้าแล้วรับยากลับบ้านไป  รอการมาตรวจเลือดและมารับยาตามนัดอีกในครั้งต่อๆไป

จนเมื่อปี  2547  ดิฉันมีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมวิชาการหลักสูตรพื้นฐานผู้ให้ความรู้โรคเบาหวานที่โรงพยาบาลราชวิถี ได้รับความรู้มากมายที่สามารถทำให้ผู้ป่วยเบาหวานอยู่กับโรคเบาหวานได้อย่างปกติสุข  ดังนั้นระยะเวลาประมาณปีกว่าๆ หลังจากนั้นโรงพยาบาลโคกโพธิ์จึงมีทีมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวานเป็นทีมสหวิชาชีพ  ช่วยกันดูแลผู้ป่วย 

เริ่มจากการจัดโครงการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน  มีการตรวจสุขภาพประจำปี และคัดกรองภาวะแทรกซ้อนให้กับผู้ป่วยทุกราย  ปรากฏว่าในครั้งนั้นมีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการร้อยละ  70  ซึ่งทีมงานยอมรับได้  เพราะผู้ป่วยและญาติแต่ละรายกว่าจะยอมมาเข้าร่วมโครงการทีมงานแทบจะท้อ 

แต่ดิฉันและทีมงานก็หายท้อ และพร้อมที่จะให้ความรู้แก่ผู้ป่วยอื่นๆ เมื่อพบว่าผู้ป่วยที่มาเข้าร่วมโครงการทุกคนให้ความร่วมมือดีมาก ภาพของผู้สูงอายุลุกขึ้นมาออกท่าทางการออกกำลังกายพร้อมด้วยรอยยิ้มที่มีความสุข  ภาพที่ผู้ป่วยตั้งใจดูและฟังว่าผลไม้ชนิดนี้เขาสามารถรับประทานได้กี่ผล  หรือทำไมถึงรับประทานขนมหวานไม่ได้  หรืออาการหวาดเสียวที่ปรากฏเมื่อเห็นภาพเท้าเปื่อย  นิ้วเท้าถูกตัด  หรือคำถามต่างๆ ที่ผู้ป่วยสนใจสอบถาม  เป็นภาพประทับใจที่ผู้ป่วยให้ความร่วมมือ  เพื่อการนำความรู้ที่ได้ให้กลับไปดูแลตนเองและญาติของเขาได้  และผลที่ได้ในโครงการครั้งนั้นทำให้ได้ทราบถึงภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยที่ดูแลอยู่  นำมาซึ่งโครงการและความรับผิดชอบของทีมงานแต่ละวิชาชีพในการดูแลผู้ป่วยทั้งที่เข้าโครงการและไม่ได้เข้าร่วมโครงการในต่อๆ ไป 

ผู้ป่วยได้รับการดูแลเท้า  ตรวจสภาพเท้าโดยใช้ Monofilament  ผู้ป่วยได้รับการส่งต่อไปตรวจตาโดยจักษุแพทย์ที่โรงพยาบาลปัตตานี  หรือการตรวจหาภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ  แต่ผลพลอยได้จากการที่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วยในครั้งนี้  คือผู้ป่วยเกิดความไว้วางใจในตัวดิฉันและทีมงาน  แม้เมื่อพบปะผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลที่ไม่ได้อยู่ในชุดยูนิฟอร์ม    ผู้ป่วยยังเข้ามาหาเพื่อสอบถามข้อสงสัยต่างๆ 

แรงบันดาลใจในการดูแลผู้ป่วยที่ได้ทำไปนั้น ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ดีขึ้นบ้าง  อาจจะไม่ไช่ทุกรายที่สามารถทำได้ แต่ก็ทำให้มีกำลังใจที่จะทำเพื่อผู้ป่วยต่อไป

เล่าโดย คุณเจ๊ะฮาลือเมาะ   พันทรกิจ  พยาบาลวิชาชีพ  7  
              โรงพยาบาลโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี

หมายเลขบันทึก: 40739เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2006 09:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท