วิธีศึกษาทางอ้อมและตัวแปรแทน : ความแตกฉานทฤษฎีปฏิบัติและความแยบคายของนักวิจัยแบบ PAR


วิธีศึกษาทางอ้อม Indirect Study : ผมเป็นที่ปรึกษาของโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมในแนวประชาสังคมของกลุ่มประชาคมบางกอกฟอรั่ม : Bangkok Forum ซึ่งในโครงการย่อยโครงการหนึ่งของบางกอกฟอรั่ม ทีมงานก็ได้ขอเสนอการพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนรอบศูนย์เรียนรู้แห่งหนึ่งซึ่งสำนักงานกองทุนส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส จะสร้างขึ้นเป็นสำนักงานในแหล่งชุมชนเมืองของสำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร

เมื่อมีกิจกรรมการประชุมและกิจกรรมต่างๆของโครงการกับเครือข่ายคนทำงานทั้งของ สสส และกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง ผมก็สังเกตเห็นว่าในทีมจะมีบี : ชื่อสมมุติ ซึ่งเป็นเด็กหนุ่มคนหนึ่งติดตามมากับกลุ่มพร้อมกับถือกล้องวิดีโอและเครื่องบันทึกเสียงติดตัวมาด้วย บีเป็นบัณฑิตที่เพิ่งจบปริญญาตรีมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่วงท่านอบน้อม ตื่นตัว ปราดเปรียว และขอสมัครเข้ามาทำงานอยู่ในทีมบางกอกฟอรั่ม เมื่อทำกิจกรรมต่างๆ บีก็จะทำไปกับเขาอย่างคล่องแคล่ว ขณะเดียวกัน พี่ๆก็จะให้บีคอยทำหน้าที่ถ่ายวิดีโอ บันทึกเสียง และจัดห้องประชุม บีทำกิจกรรมเหล่านี้อย่างทะมัดแทมง มีชีวิตชีวา

เมื่อมีโอกาสนั่งประชุมปรึกษาหารือ หรือนั่งระดมความคิด ทบทวนบทเรียน บีก็จะขมักเขม้นอยู่กับการถ่ายวิดีโอ หากผมไปเป็นวิทยากรให้เขาก็จะมาช่วยผมอยู่บนเวที ผมสังเกตว่าบีมีความคล่องตัวและรู้จังหวะของกิจกรรมต่างๆ ซึ่งบ่งบอกว่าเขาเรียนรู้และพัฒนาความรู้ความเข้าใจงานทั้งหมดของทุกคนไปด้วยอยู่ตลอดเวลาระหว่างการถ่ายวิดีโอและบันทึกเสียง ดังนั้น ไม่ว่าผมหรือใครจะทำกระบวนการต่างๆอย่างไร บีก็มักจะจัดวางตนเองเข้าไปลงไม้ลงมือช่วยได้อย่างไม่ขัดเขิน เมื่อให้สะท้อนความคิดเห็นและร่วมคิดร่วมทำ ก็มักแสดงความคิดเห็นได้เป็นอย่างดี

อยู่มาวันหนึ่ง ผมก็ได้รับโทรศัพท์ประสานงานจากบางกอกฟอรั่มเพื่อไปร่วมประชุมในฐานะกรรมการที่ปรึกษาที่สำนักงาน สสส กับกรรมการอีกหลายท่าน มีประเด็นการติดตามความคืบหน้าและวาระการปรึกษาหารือกันหลายเรื่องพอสมควร และผู้ที่ติดต่อประสานงานผมในครั้งนี้ ซึ่งปรกติจะเป็นพี่ๆซึ่งมีประสบการณ์และเป็นผู้ใหญ่ ก็กลายเป็นบี เสียงเขาตื่นๆ แต่มีความชัดเจนกับสิ่งที่กำลังประสานงาน

ผมขอทราบรายละเอียดต่างๆ รวมทั้งขอสำรองเวลาในกรณีติดงานอื่นๆว่าจะมีแนวคิดยืดหยุ่นไปอย่างไรได้อีก บีก็แจกแจงข้อมูลให้ผมได้ทราบเบ็ดเสร็จได้ด้วยตนเองคนเดียว บ่งบอกว่าเขาเป็นเด็กทำงานอย่างคนที่เรียนรู้งานทั้งระบบ พร้อมทั้งรับทราบข้อมูลสำหรับนำไปปรับให้ยืดหยุ่นเข้ากับกรรมการและคนอื่นๆ เขาเป็นคนตัวเล็กๆแต่สามารถทำงานด้วยความรับผิดชอบแทนองค์กรในสถานการณ์ที่เผชิญได้

ผมเคยทำงานจัดประชุมวิชาการและอบรมสัมมนามาเป็นจำนวนมาก จึงตระหนักเป็นอย่างดีว่า คนที่จะทำงานลักษณะนี้ได้นั้น ต้องใช้ทักษะและภาวะผู้นำในตนเองมาก บีเป็นเด็กเพิ่งจบจากมหาวิทยาลัย เขาได้แปรโอกาสอาสาทำกิจกรรม ถ่ายวิดีโอ และบันทึกเสียง เรียนรู้และพัฒนาตนเองเพื่อเป็นคนทำงานชุมชนในวิถีใหม่ๆ พร้อมทั้งหาประสบการณ์ชีวิต ประสบการณ์ทางสังคม และบ่มภาวะผู้นำทางวิชาการ ผ่านการทำงานปฏิบัติที่ให้การเรียนรู้ไปด้วย วิธีทำงานลักษณะนี้จึงกลายเป็นการสอนงานและพัฒนาคนรุ่นใหม่ โดยไม่ต้องมีคนมาคอยสอนทีละส่วนซึ่งจะเหมาะสมกับงานที่มีมิติการปฏิบัติและต้องการคนทำงานเป็นทีมที่มีความบูรณาการอยู่ในตนเอง

ในแง่ของการวิจัยแบบ PAR แล้ว กิจกรรมที่ได้มีการมอบให้ปฏิบัติเชิงการเรียนรู้อย่างนี้ สามารถใช้เป็นวิธีศึกษาเพื่อเห็นมิติต่างๆของกระบวนการสร้างคนรุ่นใหม่ด้วยวิธีอย่างไม่เป็นทางการ หากนั่งสนทนาและวางแผนแฏิบัติการกับบีเกี่ยวกับการถ่ายวิดีโอ นอกจากจะทำให้ได้งานทำสื่อแล้ว ผู้อื่นที่มีประสบการณ์ก็จะเป็นครูของบีโดยไม่ต้องทำหน้าที่สอนแต่ก็เป็นครูของบีและเป็นเครือข่ายกัลยาณมิตรทางการเรียนรู้ให้บีผ่านการทำงานไปด้วยกัน ขณะเดียวกันบีก็สามารถสื่อสะท้อนความรู้ รวมทั้งการวางแผนทำงานอย่างเป็นระบบรอบด้านโดยไม่ต้องกังวลใจต่อการที่จะต้องศึกษาเนื้อหาและระบบปฏิบัติการต่างๆที่เกี่ยวข้องมากมาย ซึ่งก็ทำให้ผู้อื่นได้เรียนรู้ผ่านการสอนและอธิบายตนเองด้วยงานของบีเช่นกัน

จากกรณีที่ยกมาเพียงเป็นตัวอย่างเพื่อศึกษานี้ ลักษณะของสิ่งที่นอกจากจะมีจุดมุ่งหมายและมีความชัดเจนอยู่ในตนเองแล้ว ขณะเดียวกัน ก็สามารถสื่อสะท้อนรายละเอียดของสิ่งซึ่งจำเป็นต้องนำมาอยู่ในกิจกรรมการวิจัย ทว่า มีข้อจำกัดที่นักวิจัยและทีมผู้เกี่ยวข้องจะไม่สามารถศึกษาเรียนรู้ได้โดยตรงเพราะต้องใช้เวลานาน อีกทั้งคงจะต้องใช้เงินและทีมจำนวนมากให้ทัดเทียมกับระบบที่เกี่ยวข้องอีกหลายอย่าง จึงทำการศึกษาผ่านทางอื่นหรือวิธีอื่นที่สามารถเข้าถึงปรากฏการณ์ที่สนใจได้อย่างเหมาะสม อย่างนี้ ก็นับว่าเป็นการศึกษาและปฏิบัติการสังคมบนตัวแปรชนิดหนึ่ง เรียกว่า ตัวแปรโดยอ้อมหรือวิธีศึกษาทางอ้อม : Indirect Study 

ตัวแปรแทน Proxy Variable : ตัวแปรแทนในการวิจัยแบบ PAR นั้น จะเป็นตัวชี้วัดที่มีพลังในการอธิบายความสัมพันธ์เชิงระบบของชุดเหตุปัจจัยและปัจจัยเงื่อนไขอันซับซ้อนได้เป็นอย่างดี การเลือกตัวแปรแทนเพื่อทำการศึกษาในงานวิจัยแบบ PAR จึงมีแนวคิดเชิงทฤษฎีบูรณาการกับวิธีคิดสำหรับออกแบบยุทธศาสตร์เพื่อทำให้เป็นปฏิบัติการสังคมโดยวิถีความรู้ ๓ ประการเช่นกัน ดังนี้

  • เรียบง่ายแต่มีพลัง : ทำให้สามารถระบุประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ที่เป็นจุดคานงัดได้อย่างเหมาะสมกับลักษณะการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ที่สำคัญคือ เล็กกระทัดรัด มีความเจาะจงและเป็นจุดเน้นที่โดดเด่น ระดมคนและทรัพยากรต่างๆให้มามีส่วนร่วมและทุ่มเทการปฏิบัติได้โดยไม่ต้องมากแต่จะมีพลัง หรือทำให้เวลาและทรัพยากรต่างๆไม่กระจายเป็นเบี้ยหัวแตก
  • เครือข่ายเชื่อมโยงสู่ระบบอันซับซ้อน : ตัวแปรแทนที่ดีจะมีความเชื่อมโยงกับมิติอื่นๆของสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างซับซ้อน สามารถถือเป็นตัวชี้วัดในการประเมินและเข้าถึงสิ่งต่างๆได้อย่างกว้างขวาง เช่น การระดมสมองพัฒนายุทธศาสตร์การคิดและการวางแผนปฏิบัติการชุมชน เป็นตัวบ่งชี้ทุนทางสังคมของกลุ่มคนและชุมชนมิติต่างๆ รวมทั้งบ่งชี้ความมีวัฒนธรรมจัดการความเป็นส่วนรวมด้วยตนเองของชาวบ้าน บ่งชี้แนวโน้มในอนาคตของชุมชน รวมทั้งสามารถวิเคราะห์ถึงระบบวิธีคิดของชาวบ้าน จัดเวทีปฏิบัติการและศึกษาแผนปฏิบัติการดังกล่าวกับชาวบ้านก็จะสามารถเห็นความรู้ความเข้าใจสำหรับอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆในโลกทรรศน์ของชาวบ้านในชุมชนนั้นๆอย่างกว้างขวางโดยไม่ต้องไปศึกษาแยกส่วนอีกหลายอย่าง, บ้านหลังคาสังกะสีในชนบท แทนฐานะทางสังคม เศรษฐกิจ และเครือข่ายสังคม นกกระจาบทองและหิ่งห้อย เป็นตัวแปรแทนควาสมดุลทางระบบนิเวศน์ รวมทั้งการใช้สารเคมีต่ำในพื้นที่นั้นๆ ยิ่งเห็นจำนวนมากก็บ่งชี้ความสมบูรณ์ของระบบต่างๆที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอยู่, ความหลากหลายของผีเสื้อ บ่งชี้ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ ความชุ่มชื้นและความหลากหลายของพืชพรรณในถิ่นนั้น, ความหลากหลายของอาหารปิ่นโตและสำรับภัตตาหารของพระ บ่งชี้ผลผลิต เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของครัวเรือนในชุมชนโดยรอบ, การเขียนรายงานสรุปและการตอบโต้จดหมาย บ่งชี้ความเป็นคนรู้งานและมีความรู้ความสามารถระดับหัวหน้าแผนงานและผู้บริหารจัดการโครงการกิจกรรมของบุคลากร เหล่านี้เป็นต้น การศึกษาและค้นหาอย่างเป็นระบบกระทั่งได้ตัวแปรแทนในลักษณะนี้มาศึกษาและปฏิบัติการ โดยมากแล้วก็จะมักมีความแม่นยำยิ่งกว่าการศึกษาขนาดใหญ่อีกด้วย
  • สะท้อนความสนใจของกลุ่มคนหลากหลาย : ตัวแปรแทนของการวิจัยแบบ PAR จะสื่อสะท้อนการมีความสนใจร่วมกัน รวมทั้งมีความเชื่อมโยงต่อความต้องการและความจำเป็นต่างๆ อันแตกต่างกันไปของกลุ่มคนที่หลากหลาย เช่น คลองในหมู่บ้าน เป็นเส้นทางพายเรือของพระบิณฑบาตร เป็นแหล่งน้ำของคนทำสวน เป็นแหล่งเลี้ยงปลาในกระชังของชุมชนริมคลอง เป็นแหล่งเล่นน้ำของกลุ่มเด็กในท้องถิ่น เป็นแหล่งถ่ายเทน้ำของคนทำนากุ้ง กล่าวได้ว่าคลองเป็นฐานทรัพยากรเดียวกันก็จริง แต่กลุ่มคนหลากหลายในชุมชนนั้นกลับมีแง่มุมความสนใจและต่างมุ่งใช้ประโยชน์จากสิ่งเดียวกันคนละระบบคุณค่า ระบบคิดและการปฏิบัติต่างๆก็ย่อมแตกต่างกันทั้งในทางส่งเสริม แตกต่างและขัดแย้งกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การค้นพบและปฏิบัติการวิธีจัดการคลองร่วมกันดังกล่าวนี้ จึงเป็นตัวแปรแทนการบริหารจัดการความขัดแย้งของผู้คนทั้งชุมชนได้เป็นอย่างดี ทำสิ่งนี้สิ่งเดียว ก็เป็นประเด็นร่วมของผู้คนอีกหลายกลุ่ม ทำให้ไม่ต้องแยกส่วนปฏิบัติการอีกหลายอย่างได้ เหล่านี้เป็นต้น

คุณลักษณะดังกล่าวนี้ จะเห็นได้ว่าความเป็นตัวแปรแทน หรือ Proxy Variable ในการวิจัยแบบ PAR ดังที่กล่าวมาโดยลำดับนี้ จะมีความเป็นประเด็นปัญหาเชิงระบบ รวมทั้งสะท้อนความแตกฉานทางความรู้ทั้งในเชิงลึกและความรอบด้าน แตกฉานทางทฤษฎีสำหรับการวิเคราะห์เป็นชุดตัวแปรอย่างเชื่อมโยง มีองค์ความรู้ทางการปฏิบัติ มีความรู้จากแหล่งประสบการณ์หลายอย่าง ทั้งจากประสบการณ์ชีวิต ประสบการณ์ทางสังคมทั้งระดับจุลภาคและมหภาค การเป็นผู้ศึกษาค้นคว้าและอ่านอย่างรอบด้าน มีการเรียนรู้ที่สัมผัสอย่างเป็นส่วนหนึ่งกับชีวิตชาวบ้าน-ชาวเมืองของสังคมนั้นๆ อีกทั้งสะท้อนถึงการพิจารณาสิ่งต่างๆด้วยความลึกซึ้ง ละเอียดอ่อนและแยบคาย ซึ่งนักวิจัยปฏิบัติการสังคมแบบ PAR ควรมุ่งพัฒนาตนเองในแนวทางดังกล่าวนี้อยู่เสมอ

ในงานวิจัยแบบทั่วไป ก็มีการใช้วิธีศึกษาทางอ้อมในกรณีความจำเป็นต่างๆอยู่เสมอ เช่น ใช้วิธีสนทนาเชิงลึกเกี่ยวกับรายรับรายจ่ายประจำวันทุกชนิดของชาวบ้าน รวมไปจนถึงกิจกรรมการบริโภคและใช้สอยเล็กๆน้อยๆในการดำเนินชีวิตแต่ละวัน เพื่อทำการประเมินและคำนวณข้อมูลเชิงเศรษฐกิจรายได้ของชาวบ้านหรือครัวเรือนที่ไม่ได้มีเงินเดือนประจำที่แน่นอน ทำให้ได้ข้อมูลที่อธิบายความเป็นจริงของสังคมได้ถูกต้อง ซึ่งความสามารถในการระบุวิธีศึกษาทางอ้อมก็จะเป็นทั้งศิลปะและความเชี่ยวชาญของความเป็นนักวิจัยแบบทั่วไปเช่นกัน ในการวิจัยแบบ PAR นั้น นอกจากจะมีความสำคัญในลักษณะดังกล่าวนี้เช่นกันแล้ว วิธีศึกษาทางอ้อม จะมีความหมายและมีนัยสำคัญอย่างบูรณาการมากขึ้นไปอีก ทั้งในแง่ของการศึกษาทางอ้อมในมิติการวิจัย และเป็นการพัฒนาการเรียนรู้ รวมทั้งได้แก้ปัญหาที่จำเป็นให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการไปด้วย

ดังนั้น การเลือกตัวแปรแทนและการเลือกวิธีศึกษาทางอ้อมสำหรับนักวิจัยแบบ PAR จึงต้องพัฒนาตนเองให้ไปได้ไกลมากกว่าเป็นเพียงการดำเนินการทางเทคนิควิจัย ทว่า ต้องเห็นความหมาย ความสำคัญ สามารถเลือกตัวแปรแทนและวิธีศึกษาทางอ้อมในฐานะที่เป็นวิธีคิดและการจัดวางทางระเบียบวิธีของการวิจัย ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติการแก้ปัญหา มีความเป็นกิจกรรมชีวิตเชิงการเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง ทุ่มเทได้อย่างเข้มข้นเพราะมีความกระทัดรัดเรียบง่าย ทว่า ให้ความรู้และภูมิปัญญาปฏิบัติที่รอบด้าน กว้างขวาง เชื่อมโยงเป็นระบบ ลึกซึ้งและแยบคาย  ได้ความสำเร็จที่ดีหลายด้านต่อสังคม พร้อมกับได้ความงอกงามเติบโตภายในประหนึ่งปฏิบัติธรรมผ่านการดำเนินชีวิตและทำการงาน.

หมายเลขบันทึก: 407372เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2010 17:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะอาจารย์

มาเรียนรู้ด้วยคนค่ะ...

  • งั้นถือว่าได้แบ่งปันตอบแทนที่มาตายี : ดร.ศศินันท์ เขียนเรื่องไปเยือนเกาหลีมาให้อ่านนะครับ
  • ชอบอ่าน ดูรูป สนุกไปกับมุมมองและการสะท้อนคิดของมาตายีนะครับ

ขอบคุณค่ะ..พี่อ่านแล้วคิดถึงการเรียนรู้ทางอ้อมจาก พ่อ-แม่ ที่ได้ถ่ายทอดประสบการณ์มากมายให้แก่ลูกๆด้วยวิถีเหล่านี้:

*ทำให้เห็น อยู่ให้เป็น ในทุกมุมแง่ของชีวิตที่จำเป็นต่อการอยู่รอดอย่างมีความสุข..ทั้งคุณธรรมและความรู้..จากง่ายๆ ไปสู่เรื่องยากๆ..ค่อยซึมซับลงไปในจิตสำนึกอย่างยั่งยืน

* ฝึกให้ช่วยงานทุกอย่างด้วยความไว้วางใจ..ผิด-ถูก ..ถือเป็นบทเรียนชีวิต

*ไม่เอาเป้าหมายของ พ่อ-แม่ มาครอบงำทางเดินชีวิตของลูกๆจนไม่เหลือช่องว่างให้คิดเอง..ลูกๆทุกคนจึงมีอาชีพตามที่เลือกบนความถนัดและความพอใจ..ทั้งยังเลี้ยงดูลูกหลานของตนเองสืบต่อมาในแนวทางเดียวกัน

สวัสดีครับพี่นงนาทครับ

  • เห็นการแลกเปลี่ยนจากประสบการณ์ตรงของพี่แล้วผมก็มีอันต้องนั่งยิ้มเลยละครับ เพราะแต่เดิมนั้น ผมว่าจะยกตัวอย่างจากสิ่งที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยอย่างที่พี่ยกตัวอย่างมานี้เลยครับ เป็นตัวอย่างของตัววิธีศึกษาทางอ้อม หรือ Indirect Study ได้เป็นอย่างดีครับ 
  • อย่างสังคมไทยมักกล่าวว่า ....ดูวัวให้ดูหาง ดูช้างให้ดูงา ดูผู้หญิงที่จะมาเป็นภรรยาก็ให้ดูแม่ ..... วิธีคิดและแนวการสร้างความรู้ที่สะท้อนอยู่ในคำกล่าวอย่างนี้แหละครับ ที่เรียกว่าเป็นวิธีศึกษาทางอ้อมและตัวแปรอ้อม เนื่องจากมีข้อจำกัดที่จะทำให้เราไม่สามารถศึกษาสิ่งที่ต้องการได้ เช่น ไม่สามารถจะนำเอาวัวไปทดลองทำงานลากของเพื่อดูความเป็นงาน ซึ่งอาจจะต้องเฝ้าดูถึง ๑ ฤดูทำนาและมีกระบวนการยุ่งยากมากมายตามมา ก็เลยต้องดูลักษณะหางซึ่งสบัดพ้นขาดูแคล่วคล่อง, หรือไม่สามารถเอาช้างไปลากซุงหรือออกทำศึกสงครามในขณะนั้นได้  ก็ต้องพิจารณาทางอ้อมโดยดูลักษณะงาที่มีปลายสองข้างเสมอกัน อ่อนโค้งและพุ่งออกขนานกันเพราะย่อมหมายถึงเหมาะแก่การงัดซุงและชนช้าง, รวมทั้งไม่สามารถเสียมารยาทละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นที่เราสนใจได้ ก็ต้องดูผ่านอัธยาศัยของแม่ คนรอบข้าง หรือเพื่อนของผู้ที่หนุ่ม-สาวสนใจ อย่างนี้แหละครับ
  • ขอบพระคุณที่แบ่งปันครับ ต้นส้มดูสดใสและให้ความมีชีวิตมากเลยนะครับ เป็นสภาพแวดล้อมที่ให้ความแช่มชื่นใจดีจัง ต้องเรียกว่าเกิดจากศิลปะในการถ่ายรูปด้วยนะครับ

พี่กลับมาอีกรอบเพื่อนำประสบการณ์ การเรียนรู้ “หนูทำได้ หนูทำเป็น หนูอยากทำ” ของ ครูใหม่ มาฝากไว้ที่บันทึกของอาจารย์ด้วยค่ะ..

Ico64
วิมลศรี ศุษิลวรณ์
ครู
โรงเรียนเพลินพัฒนา

 

สวัสดีครับพี่นงนาทครับ

  • ขอบพระคุณครับ นำมาฝากในนี้นอกจากโทนจะเสริมกันได้เป็นอย่างดีแล้ว ประสบการณ์ของคุณครูใหม่ก็จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อคนหนองบัวและคนทำงานทั่วไปด้วยครับ
  • ผมก็มีโอกาสได้ติดตามอ่านบทเรียนของครูใหม่อยู่เสมอเหมือนกันครับ งานของคุณครูใหม่เป็นการทำงานกับเด็กๆและคนอื่นที่แยบคายและมีกุศโลบายดีอยู่ด้วยเสมอครับ รวมทั้งถ่ายทอดให้ได้ความบันดาลใจและเห็นวิธีคิดที่ดีด้วย
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท