สถิติเวทีคนหนองบัว : ความเป็นสากลและนานาชาติด้วยชุมชนแห่งการเรียนรู้ท้องถิ่น


  ความเป็นมา ๑ ปี ๑ เดือนของเวทีคนหนองบัว   : เวทีคนหนองบัว เป็นบันทึกที่มีพัฒนาการต่อเนื่องมากว่า ๑ ปี โดยเริ่มจากการที่ผมได้พยายามบันทึกเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับชุมชนอันเป็นถิ่นฐานบ้านเกิด อันได้แก่อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ รวมทั้งเรื่องราวแง่มุมต่างๆของสังคมบ้านตาลิน [๑] ตำบลห้วยร่วมหมู่บ้านอันเป็นบ้านเกิดของผมเอง และโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) [๒] ซึ่งเป็นสถานศึกษาแห่งหนึ่งที่สร้างขึ้นด้วยเงินบริจาคของครูทั่วประเทศในวันครูปี ๒๕๐๔ และนำเอาเงินดังกล่าวไปสร้างโรงเรียนประชาบาลเพื่อให้การศึกษาแก่เด็กชนบทที่อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

เรื่องราวดังกล่าวเป็นที่สนใจทั้งแก่คนทั่วไปและคนท้องถิ่นที่มีความสามารถเข้ามายังโลกไซเบอร์ เมื่อได้มาเห็นเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนบ้านเกิดของตนเองก็ติดตามอ่านและเริ่มช่วยกันเขียนบันทึก รวมทั้งพระมหาแล อาสโย(ขำสุข) คนหนองบัว ซึ่งท่านได้แนะนำตนเองว่าเป็นคนบ้านเนินตาโพ บ้านหนองกลับ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ และได้บวชเรียนมาเกือบ ๓๐ พรรษาแล้ว ท่านรู้จักอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ตลอดจนวัดและครูอาจารย์ต่างๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งในจังหวัดนครปฐม ภูเก็ต นครสวรรค์ รวมทั้งที่จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นแหล่งที่ท่านได้พำนักและจำพรรษาอยู่ที่วัดศรีโสภณ กระทั่งปัจจุบัน

  เดินเสริมกำลังกันโดยเริ่มต้นเท่าที่มีและเท่าที่เป็นบนสำนึกความเป็นคนท้องถิ่นด้วยกัน  

ท่านพระมหาแลได้เป็นผู้บุกเบิก ริเริ่มเข้ามาสนทนา รวมทั้งใช้บันทึกที่ผมได้เปิดไว้สำหรับเขียนและรวบรวมข้อมูลต่างๆที่สนใจเกี่ยวกับอำเภอหนองบัว ท่านได้นำเอาข้อมูลต่างๆมาเผยแพร่ ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าสนใจและสมควรมีการส่งเสริมให้แพร่หลายมากยิ่งๆขึ้น ผมจึงได้เปิดหัวข้อบันทึกขึ้นสำหรับท่านอย่างเป็นการเฉพาะ เมื่อ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๒ โดยใช้ชื่อบันทึกว่า ทุนสังคมวัฒนธรรม อ.หนองบัว : ข้อมูล | เรียนรู้ชุมชน..พระมหาแล ขำสุข(อาสโย) [๓] และเพื่อรักษาความเหมาะสมให้แก่ท่านในสิ่งที่สังคมไทยโดยเฉพาะในชนบท ยังไม่มีการทำกิจกรรมในลักษณะนี้ให้เป็นที่แพร่หลายจนเป็นส่วนหนึ่งของการทำหน้าที่การงานอย่างทั่วไปหรือเป็นกิจกรรมธรรมดาในชีวิตประจำวัน รวมทั้งให้ท่านได้มีความอิสระที่จะเรียนรู้จากการได้ลงมือทำเองอย่างเต็มที่ ซึ่งจะเป็นคุณูปการในการที่ท่านจะได้ทำกิจต่างๆเพื่อสังคมด้วยการพึ่งตนเองได้มากยิ่งๆขึ้น โดยเฉพาะสำหรับสังคมท้องถิ่นในชนบท ผมจึงให้ท่านได้มีแหล่งเผยแพร่และเขียนบันทึกร่วมกับผม หัวข้อดังกล่าวได้มีผู้เข้ามาอ่านอยู่ตลอดเวลาและได้กลายเป็นแหล่งให้คนอื่นๆนำเอาข้อมูลของอำเภอหนองบัวมาเก็บรวบรวมไว้

กลุ่มผู้เข้ามาร่วมกันเขียนซึ่งเป็นคนหนองบัวนั้น แม้จะยังมีจำนวนไม่มากนัก แต่ก็เป็นลูกหลานคนหนองบัวจากหลายชุมชนซึ่งเครือข่ายเครือญาติยังมีความเป็นปึกแผ่น สานสำนึกและสานความผูกพันถึงกันได้อย่างกว้างขวาง อีกทั้งเป็นลูกหลานบ้านนอกที่มีการศึกษาดีและทำหน้าที่การงานให้กับสังคมได้อย่างน่าภาคภูมิใจ ทั้งเป็นวิศวกร เจ้าหน้าที่ศุลกากรระหว่างประเทศ คุณครู บุคลากรขององค์กรท้องถิ่น พนักงานของโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งยังคงผูกพันใกล้ชิดกับถิ่นฐานบ้านเกิด พร้อมกับใช้เวทีคนหนองบัวนี้เป็นทางหนึ่งของการทำหน้าที่ต่างๆตามความสนใจได้มากยิ่งๆขึ้น จึงเป็นกลุ่มเล็กๆแต่มีกำลังความรู้ความสามารถและมีภาวะผู้นำที่มุ่งทำสิ่งสร้างสรรค์ด้วยใจ ทำให้มีพลังในการทำสิ่งต่างๆด้วยตนเองให้เป็นตัวเพิ่มความแตกต่างหลากหลาย อีกทั้งสามารถเสริมกำลังความคิดริเริ่มกันและกัน ทำให้เวทีคนหนองบัวมีสิ่งต่างๆเพิ่มพูนขึ้นจากการช่วยกันทีละเล็กละน้อยตามความสะดวก

เมื่อเห็นว่ามีข้อมูลเป็นจำนวนมาก และมีผู้เข้ามาสนทนามากกว่า ๒๐๐ ครั้ง ผมจึงเปิดหัวข้อ เวทีคนหนองบัวนี้ขึ้นอย่างเป็นการเฉพาะอีกเมื่อ ๖ กันยายน ๒๕๕๒ โดยหน้าแรกของเว๊บเพจนี้ได้รับความอนุเคราะห์จากคุณครูวัชรี โชติรัตน์ ครูโรงเรียนเทศบาล ๔ (เชาวนปรีชาอุทิศ) ของจังหวัดนครปฐม ซึ่งได้ร่วมมือกับผมและพระมหาแลทำภาพกราฟิคให้โดยติดต่อประสานงานกันทางอินเทอร์เน็ต จากนั้นก็เป็นแหล่งสื่อสารและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันโดยถือเอาเรื่องราวของอำเภอหนองบัวเป็นแกน ถึงวันอาทิตย์ที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ นี้ ก็นับเป็นเวลา ๑ ปีกับ ๑ เดือนพอดี

  การจัดการความรู้เพื่อเรียนรู้ความเป็นเวทีคนหนองบัว  

เวทีคนหนองบัวซึ่งได้เกิดจากความริเริ่มและความร่วมมือกันทีละเล็กละน้อยดังที่ได้กล่าวมาโดยลำดับนี้ เป็นแหล่งเรียนรู้การได้ทำบทบาทหน้าที่ต่อสังคมด้วยกันของเครือข่ายบล๊อกเกอร์ทั้งที่เป็นคนหนองบัวและผู้สนใจจากทั่วประเทศ ตลอดจนจากประเทศต่างๆทั่วโลก ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๓ นี้ ผมจึงได้ติดตั้งเครื่องนับจำนวนผู้เยี่ยมชมและแสดงธงของประเทศที่มีผู้เข้ามาเยือนเวทีคนหนองบัวนี้ [๔] นับถึงวันนี้แล้วก็เป็นเวลา ๗ เดือนหรือเป็นครึ่งหนึ่งของระยะเวลาที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๒

  ภาพที่ ๑  สถิติผู้อ่านและการเขียนสนทนาในเวทีคนหนองบัว  (จำเพาะสถิติการเข้าอ่านนี้ เป็นสถิติเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ เวลา ๒๐.๐๐ น.หลังสถิติอื่นๆที่จะนำเสนอต่อไปนี้ ๑ วัน) : นับแต่การเปิดเวทีคนหนองบัวขึ้นเมื่อ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ถึงปัจจุบัน เวทีคนหนองบัว มีพัฒนาการและความเคลื่อนไหวด้านข้อมูลข่าวสาร การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสร้างความรู้และร่วมกันรวบรวมข้อมูลชุมชนโดยสรุป ดังนี้
                                               จำนวนบันทึก  ๓๒ บันทึก และหน้าหลักมีผู้สนทนารวมกัน  ๘๘๔  ครั้ง
                                               ผู้เข้ามาอ่านแล้ว                ๑๕,๙๐๑           คน-ครั้ง 
                                               เฉลี่ยประมาณ                     ๑,๒๒๓          คนต่อเดือน 
                                               สัปดาห์ละประมาณ                  ๓๐๖           คน
                                               เดือนละประมาณ                      ๔๓           คน
                                               และประมาณ ๓ วันต่อ                  ๕           คน

  ภาพที่ ๒    สถิติผู้อ่านจำแนกโดยประเทศ   (สถิติเริ่มนับจำนวนหลังเปิดเวทีไปแล้ว ๖ เดือนและเริ่มนับจำนวนเมื่อ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๓ ถึงปัจจุบัน ๗ เดือน) : เวทีคนหนองบัวมีผู้อ่านทั้งในประเทศไทยและจากประเทศต่างๆ ๓๐ ประเทศทั่วโลก โดยสูงสุด จำนวน ๙,๐๔๖ คนคิดเป็นร้อยละ ๙๘.๒ เป็นผู้อ่านชาวไทย รองลงไปคือจากอเมริการ้อยละ ๐.๗ (๕๙ คน) ญี่ปุ่นร้อยละ ๐.๒(๑๗ คน) และไต้หวันร้อยละ ๐.๑ (๑๒ คน) เกาหลี (๑๐ คน) เยอรมัน (๗ คน) ออสเตรเลีย (๖ คน) สิงคโปร์ (๖ คน) สหราชอาณาจักร (๖ คน) แต่ละประเทศคิดเป็นร้อยละ ๐.๑ และอื่นๆอีก ๒๑ ประเทศซึ่งมีผู้เข้ามาอ่านประเทศละ ๑-๔ คนและไม่ทราบประเทศอีกจำนวนหนึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ ๐.๓ หรือประมาณ ๕ คน

เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มประเทศปลายทางของผู้อ่านที่ให้ความสนใจต่อเวทีคนหนองบัวจากมากที่สุดและรองลงมาเป็นลำดับนั้น มิใช่ประเทศที่มีสภาพสังคมเป็นชนบทดังที่เป็นเนื้อหาส่วนใหญ่ของเวทีคนหนองบัว ทว่า กลับเป็นตรงกันข้าม โดยเป็นกลุ่มประเทศที่มีความเป็นเมืองมากกว่าร้อยละ ๙๕ เช่น อเมริกา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เยอรมัน เกาหลี ออสเตรเลีย ไปจนถึงมีความเป็นเมือง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เช่น ไต้หวัน สิงคโปร์ ซึ่งอาจจะตั้งข้อสังเกตเพื่อศึกษาต่อไปได้ ๒ แนวคิด คือ แนวคิดแรก อาจจะมีความเชื่อมโยงกับการที่ประเทศไทยมีการติดต่อกับกลุ่มประเทศเหล่านี้สูง ทั้งการไปทำงานและใช้แรงงานต่างประเทศ รวมทั้งการไปศึกษาเล่าเรียน ทำให้เป็นกลุ่มผู้อ่านจากต่างประเทศรวมทั้งร่วมเป็นสื่อกระตุ้นให้เกิดความสนใจแก่กลุ่มผู้อ่านที่ประเทศปลายทาง 

อีกแนวคิดหนึ่ง ก็อาจจะเชื่อมโยงกับอัตราการใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง รวมทั้งการที่กลุ่มประเทศดังกล่าวนี้มีความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการศึกษาค้นคว้าท่องโลกการศึกษาเรียนรู้ทางไซเบอร์

นอกจากนี้ ควรตั้งข้อสังเกตอีกบางประการไปด้วยว่า ในโลกแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และปฏิสัมพันธ์กันด้วยกิจกรรมทางความรู้เกี่ยวกับตนเองนั้น ความเป็นท้องถิ่นและชุมชนชนบท ดังเช่นชุมชนอำเภอหนองบัว กลับเป็นสิ่งซึ่งจะได้รับความสนใจจากผู้อ่านจากนานาชาติอันเป็นประเทศปลายทางที่มีความทันสมัยและก้าวหน้าของสังคมโลก ความน่าสนใจมากก็คือ แบบแผนดังกล่าวนี้แตกต่างจากความเชื่อและปรากฏการณ์โดยทั่วไปในโลกภายนอก กล่าวคือ การจัดความสัมพันธ์กันในโลกภายนอกนั้น ความเป็นชนบทจะมีลำดับการปฏิสัมพันธ์ต่อความทันสมัยและความก้าวหน้าลดหลั่นกันไปเป็นลำดับ คนในสังคมเมืองจะมีโอกาสการติดต่อสื่อสารกับคนในสังคมเมืองที่ทันสมัยและก้าวหน้ากว่าในประเทศ คนในเมืองที่ก้าวหน้ากว่าในประเทศก็มีโอกาสติดต่อสื่อสารกับโลกกว้างได้มากกว่า

แต่ในกรณีของเวทีคนหนองบัวและเครือข่ายการเรียนรู้ต่างๆนี้ กลับเป็นปรากฏการณ์ในอีกทางหนึ่งโดยมีการปฏิสัมพันธ์ทางการเรียนรู้กับคนในประเทศที่ก้าวหน้าและทันสมัยมากที่สุดเป็นอันดับแรกก่อนเป็นลำดับลดหลั่นกันลงไป ประเทศซึ่งยังคงมีสภาพสังคมเป็นชนบทแบบหนองบัวมากที่สุดก็กลับมีโอกาสติดต่อปฏิสัมพันธ์กันน้อยที่สุด ดังนี้เป็นต้น

แง่มุมดังกล่าวนี้มีนัยยะต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเพื่อยกระดับการเปลี่ยนผ่านในมิติต่างๆของชุมชนในชนบทให้มีความเป็นสากล ส่งเสริมความเป็นนาชาติของชนบทและสังคมท้องถิ่น ด้วยรูปแบบที่เน้นการสร้างสรรค์ความเป็นตัวของตัวเองและการแลกเปลี่ยนแบ่งปันความแตกต่างหลากหลายภายในความเป็นท้องถิ่น โดยไม่ต้องทำให้ทันสมัยเหมือนกันและเป็นแบบเดียวกันก่อนจึงจะสามารถก้าวไปยังจุดนั้นได้ เมื่อสามารถมีกิจกรรมและปฏิสัมพันธ์เชิงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้แล้ว พัฒนาการและการสร้างความเปลี่ยนแปลงตนเองในมิติอื่นๆก็จะก่อเกิดอย่างเป็นธรรมชาติบนเงื่อนไขแวดล้อมอันหลากหลายของท้องถิ่น ซึ่งก็จะส่งเสริมความเกื้อหนุนกันของความเป็นท้องถิ่นกับความเป็นโลกาภิวัตน์ในอีกแนวทางหนึ่งได้อย่างน่าสนใจ เวทีคนหนองบัวและเครือข่ายสร้างการสื่อสารเรียนรู้ชนบทและความเป็นท้องถิ่นทางเว๊บล๊อกในลักษณะนี้ สามารถตอบโจทย์ดังกล่าวนี้ได้

บน : จำนวนผู้อ่านและผู้เข้ามาเยือนรายใหม่ในแต่ละวันของ ๒๐ วันแรกเมื่อเริ่มติดตั้งเครื่องนับจำนวน เมษายน ๒๕๕๓

บน : จำนวนผู้อ่านและผู้เข้ามาเยือนรายใหม่ในแต่ละวันของ ๒๐ วันหลัง หลังติดตั้งเครื่องนับจำนวนไปแล้ว ๗ เดือนถึง ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ 

  ภาพที่ ๓  พัฒนาการเพิ่มขึ้นของผู้อ่านและผู้ชมในรอบ ๑ ปี   : เมื่อเปรียบเทียบของช่วง ๒๐ วันแรกของการเริ่มเปิดบันทึกเมื่อ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๒ และ ๒๐ วันหลังของเดือนสุดท้ายเมื่อเวทีคนหนองบัวดำเนินการได้ ๑ ปี ๑ เดือนในวันที่ ๗ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๓ ก็พบว่าจำนวนผู้อ่านต่ำสุดเมื่อเริ่มต้น ๙ คนเพิ่มเป็นต่ำสุด ๒๖ คนของช่วง ๒๐ วันในเดือนสุดท้ายของรอบการวิเคราะห์ ๑๓ เดือนนี้ คิดเป็นอัตราส่วนขยายตัว ๓ เท่า และสูงสุด ๕๓ คนในรอบ ๒๐ วันแรกก็เพิ่มเป็นสูงสุด ๙๙ คนของ ๒๐ วันหลัง คิดเป็นอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้น ๕ เท่า กล่าวได้ว่าในระยะที่ผ่านมาของเวทีคนหนองบัวนี้ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาตัวเองผ่านการเพิ่มจำนวนการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับผู้คนได้มากขึ้น โดยหลังเริ่มติดตั้งเครื่องนับจำนวนและเปิดบันทึกไปแล้ว ๖ เดือน ก็มีผู้เข้ามาอ่านรายใหม่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย ๔ เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับ ๒๐ วันของอีก ๗ เดือนต่อมา ซึ่งนับว่าเป็นอัตราการเติบโตที่พอเพียงทีเดียว

 ภาพที่ ๔  ความเคลื่อนไหวของจำนวนผู้อ่านเวทีคนหนองบัวในรอบ ๑ ปี ๑ เดือนที่ผ่านมา : โดยเฉลี่ยแล้วเวทีคนหนองบัวมีคนติดตามอ่านอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมออยู่ในช่วงประมาณเดือนละ ๑๐๐-๒๐๐ คน แต่ก็มีอยู่ ๓ ช่วงที่จะมีผู้อ่านสูงมากว่าช่วงเวลาอื่นโดยจะเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วง ๓๐๐-๕๐๐ คน ได้แก่ ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์, สิงหาคม-กันยายน ซึ่งเป็นช่วงวันแม่, และตุลาคม-พฤศจิกายน เป็นช่วงที่เกิดน้ำท่วมหนองบัว อาจตั้งเป็นข้อสังเกตเป็นเบื้องต้นได้ว่า กิจกรรมทางสังคมวัฒนธรรมทั้งของท้องถิ่นและของสังคมโดยรวม รวมทั้งประเด็นวิกฤติปัญหาความเป็นส่วนรวมด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม มีนัยสำคัญต่อความตื่นตัวในการใช้สื่อเว๊บบล๊อกของเครือข่ายความสนใจในเวทีคนหนองบัว

  ภาพที่ ๕    จำนวนผู้อ่านในรอบ ๑ เดือน   : การวิเคราะห์จากการสุ่มข้อมูลของเดือนสุดท้าย หรือเดือนที่ ๑๓ ของรอบ ๑ ปี ๑ เดือนแรกนี้ พบว่าผู้ที่เข้ามาอ่านเวทีคนหนองบัวรายใหม่จะมีอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉลี่ยประมาณวันละ ๔๗ คน และอ่านโดยเฉลี่ยมากกว่าวันละ ๑๕๐ หน้า หรือคนละประมาณ ๓๐ หน้า เมื่อเทียบกับอัตราการอ่านหนังสือโดยเฉลี่ยของพลเมืองและประชากรทั้งประเทศซึ่งประมาณคนละ ๘ บรรทัดต่อปีแล้ว หากถือเอา ๑ หน้ากระดาษ เอ ๔ มีจำนวนมาตรฐานทั่วไป ๓๒ บรรทัด เวทีคนหนองบัวสามารถส่งเสริมให้เกิดการอ่านและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันมากกว่ามาตรฐานเฉลี่ยของทั้งประเทศกว่า ๑๒๐ เท่า

  ภาพที่ ๖   จำนวนผู้อ่านในรอบ ๑ สัปดาห์ของเวทีคนหนองบัว : ในรอบ ๗ วันของ ๑ สัปดาห์ เวทีคนหนองบัวจะมีผู้อ่านและเข้ามาเยือนวันละประมาณ ๑๕๐-๒๐๐ คน และสูงสุดมากกว่า ๓๕๐ คนในช่วงวันจันทร์ และในช่วงวันหยุดอันได้แก่เสาร์-อาทิตย์จะเป็นช่วงที่มีผู้เข้าอ่านต่ำสุดในรอบสัปดาห์หนึ่งๆและมีจำนวนเท่าๆกัน ซึ่งอาจตั้งข้อสังเกตไว้เป็นเบื้องต้นได้ในหลายประการด้วยกัน ที่สำคัญคือ ในช่วงวันหยุดอาจเป็นช่วงเวลาของการพักผ่อนหรือการไปทำกิจกรรมชีวิตอื่นๆ และเมื่อสูงขึ้นในวันเริ่มต้นของสัปดาห์ ก็อาจบ่งชี้ถึงการมีจุดมุ่งหมายในการใช้บันทึกเวทีคนหนองบัวเป็นแหล่งทบทวนโลกรอบข้างรายสัปดาห์ก่อนเริ่มต้นทำงานในแต่ละสัปดาห์ รวมทั้งอาจจะหมายถึงผู้อ่านส่วนใหญ่เข้าถึงความรู้ในโลกไซเบอร์ของเวทีคนหนองบัวและ GotoKnow นี้ผ่านคอมพิวเตอร์ของที่ทำงานมากกว่าจะมีระบบการสื่อสารสนเทศนี้เป็นของตนเอง

  ภาพที่ ๗  ความเป็นสากลของเครือข่ายชุมชนเรียนรู้ท้องถิ่นในเวทีคนหนองบัว  : เวทีคนหนองบัวมีผู้เข้ามาเยือนในรอบ ๑ ปี ๑ เดือนที่ผ่านมาแล้ว ๓๐ ประเทศ ประกอบด้วย อเมริกา ญี่ปุ่น ไต้หวัน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีเหนือ เยอรมันนี สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นอรเวย์  สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ฝรั่งเศส สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน อียิปต์ เวียดนาม อินโดนีเชีย ฟินแลนด์ สวีเดน เบลเยี่ยม ตุรกี สวิสเซอร์แลนด์ กัมพูชา อิตาลี เดนมาร์ค สเปน เนเธอร์แลนด์ มาเลเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรต การ์ตา อิสราเอล และไม่ทราบเครือข่าย ๓ ประเทศ และไม่ทราบประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอีก ๒ ประเทศ

จะเห็นได้ว่า ความเป็นท้องถิ่นและความเป็นชุมชนหนองบัวซึ่งเป็นชุมชนที่มีความเป็นชนบทและกันดารพอสมควรแห่งหนึ่งของประเทศนั้น ได้รับความสนใจและสามารถเข้าถึงผ่านเครือข่ายการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์เชิงการเรียนรู้ จากกลุ่มผู้สนใจซึ่งกระจายอยู่ในประเทศต่างๆทั่วโลก ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วจากหลายประเทศในยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น และจีน รวมทั้งประเทศกำลังพัฒนาทั้งในเอเชีย เอเชียแปซิฟิก อเมริกาใต้ และแอฟริกา ซึ่งในภาพรวมแล้วล้วนมีความแตกต่างกันอย่างหลากหลาย ทั้งเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม ภูมิศาสตร์สังคมและสิ่งแวดล้อม

แง่มุมดังกล่าวนี้ สะท้อนให้เห็นวิธีแก้ปัญหาเพื่อสร้างความเป็นสากลและความเป็นนานาชาติในเชิงเนื้อหา อันเกิดจากการมีความเชื่อมโยงและปฏิสัมพันธ์กันผ่านกิจกรรมและการสื่อสารที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ได้หลายวิธี ทั้งภาพถ่าย การวาดรูป ภาพกราฟิค การจัดองค์ประกอบต่างๆในรายละเอียดที่เพิ่มโอกาสการสื่อให้เข้าใจเชิงสัญลักษณ์หลากหลาย และระบบช่วยแปลข้ามภาษาอย่างไม่จำกัด เพื่อได้เห็น เรียนรู้ และได้ประสบการณ์ความประทับใจต่อสังคมที่ตนเองสนใจ

 ภาพที่ ๘   เรียนรู้สังคมไทยและสังคมโลกผ่านเครือข่ายมิตรภาพจากนานาประเทศทั่วโลก  : ในเวทีคนหนองบัว ได้ติดตั้งเครื่องนับจำนวนผู้อ่านและแสดงประเทศของผู้อ่าน เมื่อมีผู้อ่านจากประเทศใดๆก็จะแสดงธงชาติของประเทศนั้นๆได้ทั้งหมด มีเพียงบางส่วนที่จะแสดงหมายเหตุให้ทราบว่าไม่ปรากฏชื่อและข้อมูลประเทศ ซึ่งอาจจะเป็นประเทศเกิดใหม่หรืออยู่ในเขตปลอดการปกครอง No man land ในลักษณะต่างๆ เช่น อยู่ตามแนวชายแดน อยู่ในแหล่งที่ยังไม่ได้มีการสำรวจอย่างเป็นทางการ เป็นต้น

ธงชาติที่ปรากฏขึ้นทุกผืน นอกจากจะนับจำนวนและจัดหมวดหมู่ประเทศของผู้อ่านและผู้เข้าชมแล้ว ก็จะเป็นลิงก์ให้ท่านผู้อ่านและคนหนองบัว สามารถคลิ๊กเข้าไปศึกษาและทำความรู้จักกับมิตรประเทศต่างๆได้ พร้อมกับมีข้อมูลระบุให้ทราบด้วยว่าเพื่อนของเวทีคนหนองบัวจากประเทศดังกล่าวนั้นมีอยู่กี่คน ซึ่งถ้าหากผู้อ่านสังเกตรายละเอียดจากภาพที่ ๒ แล้วก็จะเห็นได้ว่า ผู้อ่านเวทีคนหนองบัวโดยเฉลี่ยวันละ ๔๗ คน-ครั้งนั้น เมื่อเข้ามาอ่านเวทีคนหนองบัวแล้ว ก็เกิดความสนใจที่จะไปรู้จักประเทศต่างๆผ่านธงชาติ โดยเฉลี่ยแล้วถึงวันละ ๑๘๒ คน-ครั้ง และเข้าไปสูงสุดถึงวันละ ๔๘๙ คน-ครั้งเมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๓ การเรียนรู้ท้องถิ่นและการจัดการการเรียนรู้สังคมโลกผ่านการเรียนรู้ท้องถิ่น จึงกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดความสนใจขยายการเรียนรู้ด้วยตนเองสู่ความเป็นสากล ได้เป็นอย่างดียิ่ง

 บทสรุป   และการเรียนรู้  

ความริเริ่มของเวทีคนหนองบัว ก่อเกิดโดยการเสริมความคิดกันผ่านการสนทนาเกี่ยวกับข้อมูลอันเป็นความดีงามและความภาคภูมิใจของท้องถิ่น ผสมผสานกันทั้งจากแหล่งประสบการณ์ชีวิตและการมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลเอกสารซึ่งคนทั่วไปไม่มีโอกาสเข้าถึง ผู้ริเริ่มเป็นพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติศึกษาเรียนรู้ เป็นพระชาวบ้าน มีความอาวุโสทางพรรษา มีพื้นฐานเป็นคนทำงานและใช้ชีวิต รวมทั้งเป็นพระนักปฏิบัติที่ใส่ใจสังคมชาวบ้านและวัตรปฏิบัติต่อครูอุปปัชฌาจารย์ ร่วมกับคนท้องถิ่นที่ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนและทำงานในสาขาต่างๆ โดยแนวความสนใจที่มีอย่างสอดคล้องกันที่สำคัญคือประสบการณ์ตรงต่อชุมชนผ่านการดำเนินชีวิตในชุมชนและการทำมาหากิน ความประทับใจในการดำเนินชีวิต กิจกรรมศาสนาและกิจกรรมชีวิตชุมชน ตลอดจนการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนและการเรียนรู้แง่มุมต่างๆจากชุมชนอันเป็นถิ่นฐานบ้านเกิด ซึ่งเป็นแกนหลักของการสนทนาและร่วมมือกันเขียนความรู้ รวมทั้งรวบรวมข้อมูลต่างๆสะสมเพิ่มพูนเป็นเวทีคนหนองบัว

กลุ่มผู้อ่านและเขียนบันทึกช่วยกันในเวทีคนหนองบัวโดยเฉลี่ยวันละ ๑๕๐-๒๐๐ คน จัดว่าค่อนข้างเป็นที่สนใจ และบางวาระอันได้แก่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันแม่ รวมทั้งการเกิดประเด็นซึ่งเป็นวาระทางสังคม สิ่งแวดล้อม และปัญหาส่วนรวม จะมีผู้อ่านสูงกว่าปรกติเป็น ๒ เท่า สะท้อนถึงความสามารถเป็นสื่อเคลื่อนไหวความตื่นตัวและสนองตอบด้านคุณธรรมความสำนึกต่อส่วนรวมของประชาชนได้อย่างน่าสนใจ 

ขณะเดียวกัน เวทีคนหนองบัวก็ได้รับการส่งเสริมเกื้อหนุนเป็นสภาพแวดล้อมและแรงสนับสนุนจากเครือข่ายการเรียนรู้จากทั่วประเทศผ่านเว๊บล๊อก GotoKnow ซึ่งทำให้เวทีคนหนองบัวเป็นคลังข้อมูลและคลังความรอบรู้ของชุมชนท้องถิ่นระดับอำเภออีกแห่งหนึ่งของประเทศ ซึ่งมีผู้ร่วมกันเขียนอย่างต่อเนื่อง มีความโดดเด่นด้านข้อมูลและความรอบรู้เกี่ยวกับชีวิตชุมชน สังคมชาวบ้าน และพัฒนาการของเมืองหนองบัวในด้านความริเริ่มและการมีส่วนร่วมของประชาชน ภาคราชการท้องถิ่น วัด ผู้นำชุมชน กลุ่มการรวมตัว กลุ่มพริกเกลือของคนหนุ่มสาว และการรวมกลุ่มทางวัฒนธรรมเพื่อทำสาธารณประโยช์

ข้อมูล องค์ความรู้ ตลอดจนสื่อ ภาพวาด ในเวทีคนหนองบัว เป็นทรัพยากรความรู้และส่งเสริมให้คนทำงานได้นำไปใช้ในลักษณะต่างๆ อันได้แก่เป็นสื่อพัฒนาการเรียนการสอน เป็นสื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านและคนในชุมชนได้มีเรื่องราวชุมชนตนเองอ่าน เป็นสื่อจัดกิจกรรมวิชาการของสถาบันวิชาการ เป็นสื่อและแหล่งค้นคว้าวิธีการทำงานกับชุมชนชาวบ้าน ทั้งสำหรับคนท้องถิ่นและจากหลายแหล่งของประเทศ

ในแง่การสนองตอบต่อสภาวการณ์ความเปลี่ยนแปลงอย่างเหมาะสม โดยแปรวิกฤติการสูญเสียความเป็นชุมชนจากการขยายตัวและการย้ายถิ่นเพื่อการศึกษาและทำงานต่างถิ่น ซึ่งเป็นความล่มสลายเชิงโครงสร้างชุมชนของประเทศต่างๆทั่วโลกให้เป็นโอกาสเชิงบวกมากขึ้นนั้น เวทีคนหนองบัวมีบทบาทต่อการเป็นสื่อออนไลน์เอนกประสงค์ให้คนหนองบัวในท้องถิ่นและคนหนองบัวที่ไปทำงานในกรุงเทพมหานครและทั่วประเทศ ตลอดจนสถานศึกษา ชุมชน และองค์กรท้องถิ่น ได้ใช้สื่อสารเผยแพร่ เชื่อมโยงการปฏิสัมพันธ์กันได้ใกล้ชิดมากขึ้นอย่างข้ามข้อจำกัดทั้งความห่างไกล เวลา และสถานที่ ก่อให้เกิดการรวมตัวกันทำสิ่งดีในลักษณะต่างๆ ทั้งต่อสังคมส่วนรวมและต่อบ้านเกิดที่ชุมชนหนองบัว

นอกจากนี้ ชุมชนแห่งการเรียนรู้ในเวทีคนหนองบัวมีอัตราการอ่านและเขียนโดยเฉลี่ย ๓๐ หน้าต่อคน สูงกว่าอัตราการอ่านเขียนหนังสือโดยเฉลี่ยของพลเมืองประชากรของประเทศกว่า ๑๒๐ เท่า รูปแบบการเรียนรู้ชุมชนท้องถิ่นโดยเครือข่ายความร่วมมืออย่างผสมผสานในลักษณะดังกล่าวของเวทีคนหนองบัวนี้ จึงมีความสามารถพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้และสังคมแห่งการแปรความรู้สู่การปฏิบัติในกระบวนทรรศน์การพัฒนาใหม่ๆได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการผสมผสานพื้นฐานความเข้มแข็งภายในชุมชนกับความก้าวหน้าของวิทยาการและเทคโนโลยีของประเทศและของสังคมโลกอย่างสมดุล โดยมีความเป็นชุมชนท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง

ในแง่การเชื่อมโยงความเป็นท้องถิ่นกับสังคมวงกว้าง รวมไปจนถึงความเป็นสากลอย่างไร้พรมแดนนั้น เวทีคนหนองบัวเป็นสื่อการเรียนรู้ทางสังคมซึ่งทำให้ชุมชนหนองบัวซึ่งเป็นชนบทและห่างไกลการรับรู้ทางข่าวสาร มีสื่อสำหรับเผยแพร่สื่อสารกับสังคม สามารถเห็นและเข้าถึงได้จากทั่วประเทศไทยและทั่วโลก โดยในรอบ ๑ ปีนับแต่การเริ่มทำเวทีขึ้นมา ได้มีผู้อ่านโดยเฉลี่ยวันละ ๔๗ คน ร้อยละ ๙๘ เป็นผู้อ่านจากทั่วประเทศไทย และอีกร้อยละ ๒ ซึ่งเป็นผู้อ่านจากต่างประเทศนั้น ประกอบด้วยผู้อ่านจากประเทศต่างๆ ๓๐ ประเทศในทุกภูมิภาคของโลก รวมไปจนถึงประเทศในภูมิภาคแอฟริกา ก่อให้เกิดเครือข่ายการเรียนรู้และการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเชิงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างบูรณาการของความเป็นท้องถิ่นชนบทไทยกับความเป็นสากลและความเป็นนาชาติ มีความเกื้อหนุนส่งเสริมกันในเชิงสร้างสรรค์ของความเป็นท้องถิ่นและความเป็นโลกาภิวัตน์

กล่าวได้ว่า เวทีคนหนองบัวเป็นอีกแนวหนึ่งของการเรียนรู้ทางสังคมและการพัฒนาความเป็นสากลผ่านการเรียนรู้ท้องถิ่น นำร่องให้เห็นถึงอีกมิติหนึ่งของการถักทอสังคมวัฒนธรรมและการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ทางสังคมอย่างเป็นตัวของตัวเอง พร้อมกับเชื่อมโยงกับความเป็นนานาชาติและความเป็นสากล โดยวิธีถ่ายทอดสื่อสารแบบผสมผสานผ่าน Glocalization Interactive Webblog ซึ่งก่อเกิดและพัฒนาการขึ้นด้วยรูปแบบที่เป็นธรรมชาติได้อย่างน่าสนใจ.

...............................................................................................................................................................................

   หมายเหตุและเชิงอรรถบทความ   

[๑] อ่านเพิมเติม ใน วิรัตน์ คำศรีจันทร์. สุขาภิบาลและสาธารณสุขชุมชนบ้านตาลิน : http://gotoknow.org/blog/civil-learning/238004
[๒] อ่านเพิ่มเติม ใน วิรัตน์ คำศรีจันทร์. โรงเรียนวันครูและบ้านตาลิน อำเภอหนองบัว : http://gotoknow.org/blog/civil-learning/233623
[๓] พระมหาแล อาสโย (ขำสุข). ทุนสังคมวัฒนธรรม อ.หนองบัว : ข้อมูล | เรียนรู้ชุมชน..พระมหาแล ขำสุข(อาสโย). ใน วิรัตน์ คำศรีจันทร์. ประชากรและประชาสังคมศึกษา : http://gotoknow.org/blog/civil-learning
[๔] ขอขอบคุณ Flag Counter : http://s07.flagcounter.com/more/Kb9

หมายเลขบันทึก: 407200เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2010 22:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

อาจารย์ครับ

เรื่องราวของความเป็นสากลกับโลกของการเรียนรู้ ความเป็น "หมู่บ้านโลก" ของ "หนองบัว" ในโลกออนไลน์ น่าสนใจมาก ประเด็นนี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งประเด็นในการพูดคุย "ยิ่งให้ ยิ่งได้รับ" ในมหกรรม KM แห่งชาติ ครั้งที่ ๕ ที่จะถึงนี้ครับ

รายละเอียด "ยิ่งให้ ยิ่งได้รับ"

http://www.facebook.com/event.php?eid=165355513486277

รายละเอียด กิจกรรมเสวนา "ยิ่งให้ ยิ่งได้รับ" ใน มหกรรม KM แห่งชาติ ครั้งที่ ๕

คลิ้กตาม Link นี้ครับ >  กิจกรรมเสวนาที่เทือกเขาปันปัน 

สวัสดีค่ะ

         เป็นการเชื่อมต่อความรู้ด้วยอินเทอร์เน็ตที่น่าสนใจมากค่ะ เป็นแหล่งความ

 รู้ที่ดี การเรียนรู้ชุมชนในท้องถิ่นสู่ความเป็นสากล น่าทึ่งจริงๆค่ะ

                         

                          

                              ทำบุญทอดกฐินที่วัดศรีบุญยืน ลำพูนค่ะ

สวัสดีครับเอก

  • พยายามทำให้เห็นว่า เริ่มเดินก้าวเล็กๆทีละเล็กละน้อยนั้น นอกจากจะก่อให้เกิดความเติบโตงอกงามอย่างสะสมด้วยแล้ว ก็มีความเข้มแข็งและมีภูมิรู้ที่พอเพียงแก่การปฏิบัติตนได้เป็นอย่างดีที่คืบหน้าไปกับประสบการณ์และการทำได้ของทุกคนที่เกี่ยวข้อง
  • ชาวบ้านโดยทั่วไปที่สนใจการเรียนรู้ ก็จะเห็นพัฒนาการไปด้วยเรื่อยๆว่า เดินจากจุดที่เราเป็นนั้น ก็สามารถงอกงามไปเชื่อมโยงกับโลกกว้างได้อย่างงดงามเช่นกัน เห็นความหมายของการทำด้วยตนเองอย่างง่ายๆแล้วก็ค่อยๆพัฒนาตนเองไป ผมเชื่อว่าคุณเสวก ใยอินทร์ ท่านพระมหาแล คุณฉิก และท่านอื่นๆ จะเริ่มเห็นมรรคผลของสิ่งที่ตนเองทำมากับมือสบายๆ แล้วสักวันท่านเหล่านี้ก็จะเป็นครูให้แก่คนอื่นๆ นับแต่ลูกหลานและคนรอบข้างของตนเอง แต่ที่มากกว่านั้นก็คือ ชาวบ้านและชุมชนทั่วไป
  • ได้เห็นลางๆ ของ การศึกษาเรียนรู้ ๓ ด้าน ที่ซึ่งทั้งความรู้ การปฏิบัติ และการมุ่งทำให้เกิดมรรคผลได้จริงๆ : หรือปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวท เกิดขึ้นอย่างบูรณาการและสมดุลไม่เก็งกำไรเอาแต่ผลเลิศจนเกินไป และก็ไม่คิดคาดหวังจนเกินไป พอดีๆ  เป็นการเรียนรู้ที่เป็นธรรมชาติ
  • แต่พอลองวิเคราะห์ออกมาแล้วก็น่าสนใจมากเหมือนกัน หลายเรื่องน่าสนใจมากเชียวแหละ
  • เข้าไปแล้วเจ้าเอก มันเป็น facebook น่ะสิ
  • ตอนนี้ครูเหมียวกับครูโม่งยังไม่ได้สอนให้เข้า facebook น่ะสิครับ
  • ประเดี๋ยวรอสองหน่อเขาเข้าไปดูแล้วมาเล่าให้ฟังสักหน่อย

สวัสดีคับคุณครูดาหลาครับ

  • เป็นการเชื่อมโยงความเป็นท้องถิ่นสู่ความเป็นสากลที่ผมอยากเรียกว่า หมู่บ้านโลก ตามทรรศนะของจอห์น ไนซ์บิต ใน Megatrend กับอัลวิน ทอล์ฟเลอร์ ใน The Third Wave ที่คุณเอก-จตุพรได้กล่าวถึงเลยละครับ
  • ชอบดูรูปงานบุญ-งานประเพณีของชาวบ้านมากครับ
  • ขอบคุณที่นำมาฝากและแบ่งปันกันให้ได้ชื่นชมครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

เป็นการเชื่อมโยงหลากหลายมิติ..ที่ลงตัวนะคะ..ความเป็นครอบครัวโลกของหมู่บ้านหนองบัวเป็นแบบอย่างในชุมชนออนไลน์ได้เป็นอย่างดี แม้จะอยู่กันคนละมุมโลกแต่คนก็เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้พร้อมๆกัน เป็นชุมชนใหม่ที่มีความสนใจร่วมกัน มีปัญหาและทางออกร่วมกัน ความดี ความงาม ความจริงโดยรวมแล้วล้วนเป็น"แก่น"ที่เป็น"สากล"ไม่มีพรมแดน ไม่มีเส้นแบ่ง ...ขอชื่นชมความเป็นสากลด้วยชุมชนแห่งการเรียนรู้ท้องถิ่น...นะคะ

...นำรูปงานบุญมาฝากด้วย...บุญบั้งไฟชาวอิสานค่ะ...

  • ป๊าาาดดดดโท่ะ คักแท้น้อ ม่วนหลายมาตายีเอ๋ย
  • ลืมสังเกตไปว่านามสุกลพูลลาภ...ตระกูลหมอลำ
  • ครบสูตรเลยนะครับ งามครับ เล่นครบทั้่งวิชาการ ผู้นำท้องถิ่น นักการเมืองท้องถิ่น ผู้นำทางวัฒนธรรม แล้วก็เข้ามาเป็นเสียงสะท้อนจากท้องถิ่นเข้ามาเขียนสื่อสารกับสังคมในบล๊อกนี้ เอาโลด-เอาโลด
  • ผมอยากร้องหมอลำกับเพลงโคราชเป็น ซื้อเพลงมาฟังและแกะเองแล้วยังจับทางไม่ได้ครับ...มีเครือข่ายสื่อพื้นบ้านที่เขามาเป็นเครือข่ายวิจัยกับอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดลอยู่นะครับ ว่าจะลองตีสนิทแล้วฝากตัวเป็นศิษย์ให้หัดให้สักหน่อย
  • ขอบคุณค่ะ..พี่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการรักษ์สิ่งแวดล้อม มาฝากจากกัลยาณมิตรท่านนี้ค่ะ..หากจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาบนเวทีคนหนองบัวของอาจารย์ ..

     

    Ico32
    ต้นกล้า
    เมื่อ 09 พฤศจิกายน 2553 00:14
    #2244503 [ ลบ ]

     

    ลดโลกร้อน ต้องช่วยกันลดก๊าชมีเทน ในข้าวด้วยนะครับ ควรแนะนำให้เกษตรกรทำนา จัดการน้ำ ในเเปลงนา อย่างถูกวิธีด้วยครับ ช่วยลดโลกร้อนได้

    ภาพจากhttp://www.niaes.affrc.go.jp/magazine/114/mgzn11412.html

    ซึ่งก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยจากนาข้าว ส่วนใหญ่คือก๊าซมีเทน ซึ่งเกิดจากการย่อยสลายสารอินทรีย์โดยจุลินทรีย์ที่อยู่ในดินนา ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดก๊าซมีเทน คือ สภาพไร้อากาศ(anaerobic)ในนาข้าว และสารอินทรีย์ที่อยู่ในนาข้าว โดยจากการทำวิจัยเรื่อง “อิทธิพลของการระบายน้ำต่อการปล่อยก๊าซมีเทนและก๊าซไนตรัสออกไซด์จากนาข้าว” ของบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) พบว่าช่วงเวลาที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด คือ ช่วงที่ต้นข้าวเริ่มออกดอก ออกรวง
     
    “จุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในดินนาเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดก๊าซมีเทน โดยจุลินทรีย์ชนิดนี้จะย่อยสลายสารอินทรีย์ที่ต้นข้าวและ รากข้าวปล่อยลงสู่ดินในช่วงออกรวง และจะย่อยสลายได้ในสภาพไร้อากาศ ซึ่งแปลงนาที่มีการปล่อยน้ำมาท่วมดินนาจะทำให้เกิดสภาพไร้อากาศ ในดินนา ก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้นจะถูกปลดปล่อยสู่บรรยากาศมากที่สุดโดยผ่านทางช่องว่างในลำต้นของข้าว แต่อย่างไรก็ดี หากชาวนามีความต้องการลดการปล่อยก๊าซมีเทน ก็สามารถทำได้โดยการเลื่อนการปล่อยน้ำออกจากนาไปในช่วงที่ต้นข้าวกำลังออกดอก ออกรวง เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการปล่อยก๊าซมีเทนมากที่สุด การดึงน้ำออกจากนาจะทำให้ดินนากลับคืนสู่สภาพมีออกซิเจน ทำให้จุลินทรีย์ไม่สามารถย่อยสลายสารอินทรีย์ได้ จากนั้นจึงสูบน้ำกลับเข้านาภายใน 3 วัน วิธีการเช่นนี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนได้ประมาณร้อยละ 30-40 จากปริมาณการปล่อยเดิม”

     

    และ สองกฎหมาย ข้อบังคับ เรื่องการเผาฟาง ในข้าว ต้องแรง เพราะเราสามารถมีวิธีการอื่นๆในการจัดการฟางในนาข้าวได้ เพิ่มมูลค่าฟางได้ด้วย ครับ

    http://gotoknow.org/blog/nongnarts/406695#2245001

    ขอบพระคุณครับพี่นงนาทครับ

    • เป็นองค์ความรู้ที่จะเป็นประโยชน์สำหรับชาวนา
    • ทำให้พัฒนาวิธีการผลิตที่สร้างความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศไปด้วย
    • เป็นองค์ความรู้ที่แหล่งจัดการน้ำ ทั้งใต้เขื่อนและในพื้นที่ระบบชลประทานของพื้นที่เพาะปลูกและทำเกษตรกรรม สามารถใช้เป็นแนวคิดในการปล่อยน้ำให้เกษตรกรอีกด้วยนะครับ
    • แต่สำหรับชาวบ้านที่ต้องอาศัยระบบน้ำตามฤดูกาลและในแหล่งธรรมชาติซึ่งเป็นเกษตรกรชาวนาข้าวส่วนใหญ่ของประเทศนั้น น้ำจะมีให้ไขเข้านาตั้งแต่ข้าวเริ่มตั้งกอ ต้องไขน้ำเข้าให้พอก่อน ในช่วงข้าวออกดอก-ออกรวง หากไขน้ำออกเพื่อไขเข้าใหม่ ระบบก็จะไม่เอื้อให้ทดน้ำสำรองไว้ ไขออกแล้วก็จะหมดโอกาสใช้น้ำอีก จึงต้องหาวิธีปรับปรุงไปได้อีกนะครับ
    พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)
    • อยากเห็นสถานศึกษาหรือคุณครูในพื้นที่หนองบัวที่สอนวิชาคอมพิวเตอร์ ใช้ช่องทางนี้ในชั่วโมงเรียนวิชาคอมฯหรือนอกเวลาเรียน แนะนำเด็กๆให้เข้ามาเรียนรู้เรื่องหนองบัวที่เป็นเรื่องใกล้ๆตัว แล้วช่วยพาเด็กๆเข้าไปเรียนรู้เรื่องราวที่ไกลตัวออกไป อีกหลายประเทศที่เป็นเพื่อนบ้านชาวหนองบัวโดยตรงในเวทีฯแห่งนี้
    • ชุมชนหนองบัว ตอนนี้เป็นเหมือนห้องสมุดเล็กๆประจำหมู่บ้าน มีผู้คนแวะเวียนเข้ามาศึกษาเรียนรู้ ทั้งคนในพื้นที่ คนทั่วไป รวมทั้งจากต่างประเทศอีกหลายทวีป นี่ย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้คนจำนวนไม่น้อย ให้ความสนใจเรื่องชุมชน วิถีชาวบ้าน เรื่องราวท้องถิ่นชนบท บ้านนอก
    • หลายเรื่องในที่นี้ชาวบ้านยังเข้าไม่ถึงเลย
    • ชอบ ห้องสมุดประจำหมู่บ้าน อีกชื่อหนึ่งแล้วครับ ฟังดูเป็นบ้านๆ และถ่อมตนดีครับ
    • ช่วงนี้ดูแล้วคนเข้ามาเยอะ บางวันมากกว่า ๕๐ คน-ครั้ง ถึงมากกว่า ๑๐๐ คนเลยนะครับ อาจจะเป็นเด็กๆหรือกลุ่มการอบรมและการประชุมได้เหมือนกันนะครับ
    • เชื่อว่าต่อไปเวทีคนหนองบัวคงเป็นทรัพยากรความรู้ สื่อ และข้อมูลท้องถิ่น ที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของชุมชนในด้านต่างๆได้มากขึ้นเรื่อยๆนะครับ
    • คนอื่นๆที่จะไปทำงานหรือทำมาค้าขาย ทำมาหากิน และอยู่อาศัยเป็นคนหนองบัว ก็เชื่อว่าจะสามารถใช้แห่งข้อมูลชุมชนแนววิถีชาวบ้านอย่างนี้ สำหรับเรียนรู้และเตรียมตนเองให้เป็นคนหนองบัวได้ดีขึ้น
    • ตอนทำเวทีมหิดล-คนหนองบัว ผมจะพยายามทำสื่อและจัดนิทรรศการเผยแพร่เวทีคนหนองบัวนี้ด้วยครับ ดูๆแล้วตอนนี้ทั้งทรัพยากรความรู้ วัตถุดิบการทำงาน ทักษะ ประสบการณ์ ทีม มีพอทำงานได้พอสมควรครับ
    • ปีหน้า ก็อาจจะลองเชื่อมโยงกับองค์กรท้องถิ่น โรงเรียน และคนในพื้นที่ดู เพื่อลองขยายผลให้เราใช้วิธีนี้สร้างข้อมูลชีวิตชาวบ้านให้ได้ทุกชุมชนเต็มพื้นที่อำเภอหนองบัว ทำผ่านการสร้างคนทุกพื้นที่ให้เก็บข้อมูลในหมู่บ้านและเขียนบันทึกบทความลงในเทีคนหนองบัวนี้ได้ จะลองทำเป็นบทเรียนเพื่อหาความรู้วิธีทำงานอย่างนี้ในเงื่อนไขของสังคมไทยดูนะครับ ลองทำอำเภอหนองบัวให้เป็นพื้นที่นำร่องและสาธิตแนวดำเนินการอย่างนี้ดูกันดีไหมครับ

    เรียนท่านอ.วิรัตน์

    ยิ่งอ่านยิ่งสนุกค่ะ

    สงสัยว่าจะต้องมีตำรา"หนึ่งเดียวในประเทศไทยที่หนองบัว"

    ใครเป็นนักเรียนหมายเลข001 ของโรงเรียนหนองบัว...อยากรู้จัง

    ใครทำเมาะเป็นคนแรก ใครสอบได้ที่หนึ่ง...................

    สวัสดีครับครูต้อยติ่งครับ
    ไม่เลวครับแนวคิดนี้ ขอทดเอาไว้ในใจอีกหนึ่งความคิดครับ
    ทำให้เรื่องทั่วๆไปมีเรื่องราวที่น่าสนใจขึ้นอีกมากมายเลยนะครับ

    ตอนนี้เวทีคนหนองบัวมีผู้อ่านปลายทางจากต่างประเทศ เพิ่มขึ้นเป็น ๓๔ ประเทศแล้ว
    ประเทศที่เพิ่มขึ้นมาจากเดือนพฤศจิกายนต่อจากประเทศอินเดียคือ ฮังการี และล่าสุดในเดือนนี้คือประเทศคาซัคสถาน ซึ่งเป็นประเทศสถาปนาขึ้นใหม่หลังการสลายสหภาพโซเวียต จัดว่าเป็นประเทศแรกในภูมิภาคนี้ที่มีคนเข้ามาเยือนเวทีคนหนองบัว

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท