หลังจากที่เรียนจบในรายวิชากฎหมายสนธิสัญญาที่อาจารย์นพนิธิสอนได้จบลง การนัดเลี้ยงอาหารเย็น ซึ่งพวกเรานักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาในสาขากฎหมายระหว่างประเทศถือเป็นประเพณีที่อาจารย์นพจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี ดังนั้น ในเย็นวันหนึ่งท้ายภาคการศึกษาลูกศิษย์ในแต่ละรุ่น จึงมักได้ยินอาจารย์นพในฐานะโต้โผใหญ่ที่จะนัดเลี้ยงพวกเราลูกศิษย์วิชากฎหมายสนธิสัญญา
และคราวนี้ก็อีกเช่นกัน หลังจากเราเรียนจบวิชากฎหมายสนธิสัญญา ซึ่งวิธีการเรียนการสอนเน้นกระบวนการการแสวงความรู้ผ่านสนธิสัญญาจริงๆ ลงไปศึกษาและนำมานำเสนอหน้าชั้นเรียน แล้วให้นักศึกษาร่วมห้องช่วยกันตั้งคำถาม อันที่จริงการเรียนแบบนี้ เรารู้สึกว่าแปลกมาก เพราะเราจะต้องเป็นทำหน้าที่เป็นฝ่ายถาม ถาม แล้วก็ถาม แล้วในวันต่อมา เราในฐานะผู้นำเสนอก็ต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำเสนอ เสนอ แล้วก็เสนอ ทักษะในการฟังอย่างตั้งใจ ทักษะการถามอย่างมีเหตุผล ทักษะในการค้นคว้าความรู้ และทักษะในการแสวงหาคำตอบล่วงหน้า จึงกลายเป็นทักษะที่เราจะต้องฝึกฝนตลอดเวลาของการเรียน จนเราเกิดความคุ้นชินและได้กลายเป็นทักษะในการทำงานของพวกเราในเวลาต่อมา
เย็นวันศุกร์ก็คือวัดนัดหมาย เวลาประมาณหนึ่งทุ่ม จำได้ว่าฝนตกมาตลอดทั้งวัน และไม่มีทีท่าว่าจะหยุดซะด้วย จนกระทั่งใกล้ถึงเวลานัดหมาย ฝนก็ยังไม่ยอมหยุดตก เรานัดกันที่ร้านต้นโพธิ์ แถวท่าพระอาทิตย์อีกหนึ่งร้านที่อาจารย์นพมักจะแนะนำในฐานะร้านเก่าแก่อีกร้านหนึ่งในย่านนี้
อาหารจานเด็ดที่อาจารย์นพแนะนำในวันนั้น ก็คือ ยำไข่แมงดาทะเล แมงดาทะเลตัวใหญ่ พร้อมไข่นับร้อยฟอง เสริฟพร้อมกับนำจิ้มรสจัด คำแรกแค่ลองเพียงหนึ่งฟองเล็กๆหลังจากนั้นทุกคนบนโต๊ะก็ติดใจและไม่นานนักไข่ก็หมดไปจากแมงดาทะเลตัวนั้นและคาดว่าหลังจากนั้น แมงดาทะเลคงใกล้จะสูญพันธุ์ ในอีกไม่นาน
ในช่วงสนทนาระหว่างมือนั้น จะได้ยินเสียงหัวเราะของนักศึกษาอยู่ไม่ขาดสาย เพราะอาจาย์นพมักจะมีมุขตลกมาพูดคุยกับพวกเราเสมอ สังเกตได้อย่างหนึ่งว่า อาจาย์นพเป็นอาจารย์ผู้ใหญ่ที่อารมณ์ดี เป็นกันเองกับนักศึกษา (แต่เวลาสอบก็เป็นคนละเรื่องกัน) และหลังจากที่อาหารคาวและหวานได้หมดไปจากโต๊ะ อาจารย์นพ ก็เรียกพนักงานเพื่อเก็บเงิน
พนักงานคิดเงินเสร็จจึงส่งบิลค่าอาหารให้กับผู้ที่ทรงคุณวุฒิมากที่สุด ก็คือ อาจารย์นพ อาจารย์นพจึงหยิบกระเป๋าสตางค์ขึ้นมาเพื่อจ่ายค่าอาหารให้กับร้าน สิ่งที่สร้างความฉงนให้กับพวกเราทั้งหมดก็คือ กระเป๋าสตางค์ของอาจารย์นพ ........
อันที่จริงจะเรียกว่ากระเป๋าสตางค์ก็ไม่เชิงจะถูกต้องนัก เพราะภาพที่เห็นตรงหน้าก็คือ ถุงพลาสติก หรือที่เรียกว่า ถุงร้อน ที่ทนความร้อนได้ระหับหนึ่งสำหรับใส่อาหารร้อน หรือ ถุงเย็นสำหรับใส่อาหารเย็น โดยกระเป๋าสตางค์ของอาจารย์นพก็คือ ถุงเย็น พร้อมด้วยการมัดให้แน่นด้วยหนังยาง
อาจารย์ให้คำตอบกับคำถามเกี่ยวกับกระเป๋าสตางค์ว่า ทนดีและสามารถเปลี่ยนได้บ่อยๆ
หลังจากนั้น เราก็เฝ้าติดตามและสังเกตกระเป๋าสตางค์ของอาจารย์อยู่เสมอ อาจารย์เป็นคนที่เปลี่ยนกระเป๋าสตางค์ค่อนข้างบ่อย อันที่จริงจะบอกอย่างนั้นก็ไม่ถูกนัก ต้องบอกว่าเปลี่ยนถุงพลาสติกบ่อย
ภาพนี้เป็นอีกหนึ่งภาพที่สะท้อนความสมถะของอาจารย์ได้เป็นอย่างดี อาจารย์นพเป็นคนเรียบง่าย อารมณ์ดี เป็นกันเอง ทีสำคัญ กระเป็าสตางค์แปลกดี เพราะฉะนั้น เวลานึกถึงอาจารย์นพจึงมักอดนึกถึงกระเป๋าสตางค์ของอาจารย์ไม่ได้ทุกที
อ.โก๋
อิทธิพล ปรีติประสงค์
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็ก
มหาวิทยาลัยมหิดล
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย รศ. นพนิธิ สุริยะ ใน อาจารย์นพในสายตาของลูกศิษย์
เอ...ไม่ได้สังเกตว่า ในราวปี พ.ศ.๒๕๒๐ อาจารย์นพใช้ถุงพลาสติก แทนกระเป๋าสตางค์หรือไม่ ?
แต่การสอนแบบให้เราต้องถกเถียงกันเองนี่นะ อ.แหววก็เคยโดน ตอนเรียนกะท่านในปี พ.ศ.๒๕๒๔
เอ..อ.โก๋อายุกี่ขวบล่ะ ? ตอนนั้น ? ได้ A ด้วยนะ จะคุยซะหน่อย