องค์ธรรมจากนิทาน "ยายกะตาปลูกถั่วงาให้หลานเฝ้า"


จากนิทานเรื่อง ยายกะตาปลูกถั่วงาให้หลานเฝ้า ในบันทึกที่แล้ว เราอาจจะแทรกการสอนหลักธรรมในพุทธศาสนาไปด้วยขณะเล่าให้เด็กฟังได้ แม้ว่าจะไม่ง่ายนัก

หากมองในแง่พุทธศาสนา จะพบว่าทั้งหลานและตัวละครในเรื่องขาดธรรมในหลายองค์ธรรมด้วยกัน

ในแง่ของหลาน  

พบว่าหลานขาดการนำธรรมะมาใช้ในชีวิต คือ ขาดการคิดแบบโยนิโสมนสิการ (ซึ่งมี 10 วิธีคิด),  ขาดสัปปุริสธรรม 7,ขาดอิทธิบาท 4 ขาดคิหิวินัย และขาดธรรมที่ทำให้เป็นบุคคลที่หาได้ยาก

1 ขาดการคิดแบบโยนิโสมนสิการ เช่น

การคิดแบบวิภัชชวาท สามารถนำการพูดการคิดแบบนี้มาประยุกต์กับการแก้ไขสถานการณ์ปัจจุบันได้โดย แยกเป็นหลายๆแนวทาง หลายๆแง่มุม แล้วจึงหาข้อสรุป เช่น หากคิดว่า การช่วยยายกับตาเฝ้าถั่วงา ส่งผลดีและผลเสียอย่างไร

จะได้ว่า

คิดในทางที่เกิดคุณต่อตายาย ตายายชื่นใจที่หลานกตัญญู ตอบแทนบุญคุณที่เลี้ยงดูมาด้วยการเป็นหูเป็นตา ดูแลทรัพย์สินของครอบครัว  

คิดในแนวที่เกิดคุณแก่หลาน เกิดความภาคภูมิใจในตนเองที่ทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย ได้ทำในสิ่งที่ควรทำ จนถึงการได้รับการยกย่องจากบุคคลทั่วไป

การคิดในทางที่เกิดโทษต่อหลาน  หลานหมดโอกาสที่จะได้เล่นสนุกกับเพื่อน ลดโอกาสได้เรียนรู้โลกกว้าง

หากหลานได้คิดว่าผลจะเป็นอย่างไรตามวิธีต่างๆแล้ว เมื่อนำมาประเมิน หลานคงตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง ซึ่งผลอาจไม่ได้เป็นตามที่เกิดในนิทานก็ได้ (เช่น อาจรับอาสาเฝ้าถั่วงาอย่างเต็มใจ เอาใจใส่ แต่ขอแบ่งเวลาจากตายายเพื่อไปวิ่งเล่นบ้าง)

การคิดแบบสืบสวนต้นเค้า หรือสืบสาวหาปัจจัย ตามหลักธรรมอิทัปปัจยตา ปฎิจจสมุปบาท เช่น เมื่อคิดจากผลที่หลานถูกตี ย้อนลงไป จะพบว่าเป็นเพราะการไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายนั่นเอง หรือจากการที่แมงหวี่ไปตอมตาช้าง ส่งผลต่อกาอย่างไร เป็นต้น

(วิธีคิดที่เหลือคือ วิธีคิดแบบแยกองค์ประกอบ, วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์ หรือรู้เท่าทันธรรมดา,วิธีคิดแบบอริยสัจจ์,วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์, วิธีคิดแบบเห็นคุณโทษและหาทางออก, วิธีคิดแบบรู้คุณค่าแท้ คุณค่าเทียม,วิธีคิดแบบเร้าคุณธรรม และวิธีคิดแบบปัจจุบันธรรม)

2 ขาดบางข้อในองค์ธรรม สัปปุริสธรรม 7 เช่น

ไม่ รู้จักเหตุ ไม่รู้ว่าการไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่จะส่งผลต่อตนอย่างไร

ไม่ รู้จักผล ไม่รู้ว่าที่ตนถูกตีมาจากเหตุอะไร

ไม่ รู้จักตน ไม่รู้ว่าตนมีศักยภาพอย่างไร มีหน้าที่อะไร

ไม่ รู้จักกาล ไม่รู้ว่าเวลาไหนควรทำอะไร

(องค์ธรรมที่เหลือคือ รู้จักประมาณ เช่น ประมาณในการรับประทานอาหาร ไม่ให้อิ่มมากเกินไป ประมาณระยะเวลาในการทำงานใดงานหนึ่ง, รู้จักบุคคล คือรู้ว่าบุคคลใดมีอุปนิสัยอย่างไร ควรปฏิบัติตอบอย่างไร และรู้จักบริษัท คือรู้จักสังคมของตน การปฏิบัติตนตามหน้าที่ ฐานะ ที่มีในสังคมด้วยความรับผิดชอบ)

3 ขาดอิทธิบาท 4

คือขาดฉันทะ วิระยะ จิตตะ และวิมังสา เพราะขาดความรักในงาน จึงขาดความอุตสาหะ ขาดการเอาใจใส่ และการตรวจสอบงานให้ได้รับผลดีอยู่เสมอ จึงได้ปล่อยปละละเลยงานที่ได้รับมอบหมายจนเกิดความเสียหายขึ้น อันนำไปสู่ความเดือดร้อนของทั้งตนเอง และผู้อื่น

4 ขาดคิหิวินัย

คือมีความเกียจคร้าน ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสเป็นประพันธ์คาถาใน สิงคาลกะสูตร ว่า

          “ประโยชน์ทั้งหลายย่อมล่วงเลย

หนุ่มสาวที่ละทิ้งการงาน

โดยอ้างว่า “เวลานี้หนาวเกินไป

เวลานี้ร้อนเกินไป เวลานี้เย็นเกินไป” เป็นต้น

          ส่วนผู้ใดทำหน้าที่ของบุรุษ

ไม่ใส่ใจความหนาว ความร้อน ยิ่งไปกว่าหญ้า

ผู้นั้นย่อมไม่เสื่อมไปจากความสุข”

 

5 สำหรับบุคคลที่หาได้ยาก 2 นั้น คือ บุพการี อันหมายถึงผู้อุปการะก่อน ผู้ทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน และ กตัญญูกตเวที อันหมายถึงผู้รู้อุปการะที่เขาทำแล้ว ผู้รู้จักคุณค่าแห่งการกระทำดีของผู้อื่น และแสดงออก เพื่อบูชาความดีนั้น หรือกระทำการตอบเพื่อทดแทนบุญคุณ หากหลานรู้ถึงบุญคุณที่ตายายได้เลี้ยงดูมา ก็คงรับอาสาทำงานให้ด้วยความเต็มใจ

ในแง่ของตัวละครอื่นๆ

ตัวละครทั้งหมด ขาดบางข้อในกัลยาณมิตรธรรม เป็นมิตรเทียมตามคิหิวินัย และขาดพรหมวิหาร 4 และสังคหวัตถุ 4

1 ขาดกัลยาณมิตรธรรม คือ

ขาด  การรู้จักพูดให้ได้ผล การพูดอธิบายเหตุผลให้เข้าใจ การเป็นที่ปรึกษาที่ดี

ขาด การอดทนต่อถ้อยคำ พร้อมที่จะรับฟัง ซักถาม เสนอ และวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่ฉุนเฉียว

(องค์ธรรมอื่นๆคือ น่ารัก ในฐานเป็นที่สบายใจ ชวนให้อยากเข้าไปใต่ถาม, น่าเคารพ ในฐานประพฤติประพฤตสมควรแก่ฐานะ ทำให้รู้สึกว่าเป็นที่พึ่งได้, น่าเจริญใจ หรือน่ายกย่อง ในฐานที่มีความรู้และเป็นผู้อบรมตนอยู่เสมอ ควรเอาอย่างและอ้างถึง, แถลงเรื่องลึกล้ำได้ ในฐานที่อธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อนให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่ายๆ และไม่ชักนำในอฐาน คือไม่แนะนำเรื่องเหลวไหล หรือชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย)

และเพราะช่วยเหลือเพื่อนเมื่อตนมีภัย จึงจัดเป็นมิตรเทียม ตามคิหิวินัย (ตามที่ปรากฏในสิงคาลกะสูตรเช่นกัน)

2 ขาดพรหมวิหาร 4

แมงหวี่ ได้ชื่อว่าขาดธรรมในข้ออุเบกขา เพราะเมื่อเพื่อนทำผิด นอกจากจะไม่เป็นกัลยาณมิตร ไม่อธิบายเหตุผลให้เข้าใจ เพื่อแก้ไขพฤติกรรม ยังช่วยเหลือให้ได้ทำผิดต่อไป ไม่วางใจเป็นกลาง ปล่อยให้เป็นไปตามธรรม

ส่วนเพื่อนคนอื่นๆ ถือว่าขาดกรุณา คือ เมื่อเห็นเพื่อนมีทุกข์ ไม่มีความปรารถนาให้เพื่อนพ้นทุกข์ นิ่งดูดาย ไม่ให้แม้คำพูดอธิบายให้เข้าใจเหตุผล อันนำไปสู่การขาดสังคหวัตถุ 4 ตามมา

3 ขาดสังคหวัตถุ 4

หรือธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวใจบุคคล หลักในการสงเคราะห์ อันประกอบด้วย ทาน การให้ คือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่, ปิยวาจา พูดจาด้วยถ้อยคำอันอ่อนหวาน มีวาจาเป็นที่รัก, อัตถจริยา ขวนขวายช่วยเหลือผู้อื่น, และสมานัตตตา ความมีตนเสมอ คือเสมอต้นเสมอปลาย (ที่จริงนายพรานมีอัตถจริยานะคะ แต่เป็นไปในทางที่ไม่พึงประสงค์)

4 เป็นมิตรเทียม

เพราะช่วยเหลือเพื่อนเฉพาะเมื่อมีภัย ตามที่พระพุทธองค์เทศนาแก่สิงคาลกมาณพดังนี้

[๒๕๕] คหบดีบุตร คนที่ถือเอาแต่ประโยชน์จากผู้อื่นฝ่ายเดียว เธอพึงทราบว่า ไม่ใช่มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม โดยเหตุ ๔ ประการ คือ

๑.เป็นผู้ถือเอาแต่ประโยชน์จากผู้อื่นฝ่ายเดียว

๒.เสียน้อย ปรารถนาได้มาก

๓.เมื่อตัวเองมีภัยจึงทำกิจของเพื่อน

๔.คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์

คหบดีบุตร คนที่ถือเอาแต่ประโยชน์จากผู้อื่นฝ่ายเดียว เธอพังทราบว่า ไม่ใช่มิตรแท้ เป็นมิตรเทียม โดยเหตุ ๔ ประการนี้แล

เหล่านี้เป็นองค์ธรรมที่สัมพันธ์กับนิทานเท่าที่นึกออกในขณะนี้ค่ะ

เหตุที่เขียนบันทึกนี้ขึ้น เพราะอยากเสนอว่า หากเราสอนพุทธศาสนาเด็กๆด้วยนิทาน โดยชวนเด็กคิดตาม อาจจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยให้เด็กๆนำพุทธศาสนามาใช้ในชีวิตประจำวันได้

การนำองค์ธรรมมาสัมพันธ์กับนิทานนั้น ไม่ยากค่ะ แต่ที่ยากคือ ทำอย่างไร เด็กๆจึงจะสนุกกับการฟังนิทานที่มีการแจกธรรมอย่างนี้

ปัญหานี้ บางที ข่าวกิจกรรมนี้อาจช่วยแก้ไขได้ค่ะ

กรุงเทพมหานคร  ศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม (นิด้า) และองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย จัดหลักสูตร “โตไปไม่โกง”โดย  “ เน้นกิจกรรมที่ให้ทั้งความสนุกสนานและสร้างสรรค์แก่เด็ก ผ่านการเล่านิทาน เกมการละเล่นต่างๆ การร้องเพลง กิจกรรมศิลปะ บทกวีและคำคล้องจองสำหรับเด็ก รวมทั้งกิจกรรมสร้างประสบการณ์อื่นๆ  เพื่อกระตุ้นให้เด็กคิดอย่างมีเหตุผลและซึมซับคุณค่าแห่งความดีอย่างเป็นธรรมชาติ  และสร้างความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ภูมิใจในการทำความดี รังเกียจคนโกงและคนเก่งแต่โกง"

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม เชิญแวะไปที่ http://growinggood.org นะคะ

หมายเลขบันทึก: 403791เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2010 01:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

นิทานเรื่องยายกะตาปลูกถั่วแลกงาให้หลานเฝ้า   ผมว่านำมาสอนหลักธรรมเรื่อง

                  อิทัปปัจจยตา   ได้นะครับ

ขอบคุณบันทึกทางธรรม ดี ดี ที่มีมาให้อ่านอย่างสม่ำเสมอ นะครับ คุณ ณัฐรดา

หากเราสอนพุทธศาสนาเด็กๆด้วยนิทาน โดยชวนเด็กคิดตาม อาจจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยให้เด็กๆนำพุทธศาสนามาใช้ในชีวิตประจำวันได้

การนำองค์ธรรมมาสัมพันธ์กับนิทานนั้น ไม่ยากค่ะ แต่ที่ยากคือ ทำอย่างไร เด็กๆจึงจะสนุกกับการฟังนิทานที่มีการแจกธรรมอย่างนี้

ขอบคุณมาก นะครับ

คุณณัฐรดาวิเคราะห์ได้น่าสนใจมากครับ สิ่งที่ควรสอนเด็กๆ มากคือวิธีคิดทั้ง 10 วิธีแนวพุทธ ซึ่งหากเป็นการร์ตูนเพื่อเด็กจะน่าสนใจมาก

จากนิทาน...คุณณัฐรดาIco64แจกแจงสาระธรรมได้เยี่ยมมากครับ
อนุโมทนาและขอบคุณครับ

* ขอบคุณค่ะ..หลากหลายมุมมองน่าสนใจมาก..และภาพประกอบน่าร้กค่ะ..

* พี่มีดอกกล้วยไม้กลีบอาบหยาดฝน ที่บ้านมาฝากให้สดชื่นค่ะ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท