มน. กับเป้าหมายการเป็น Top ten มหาวิทยาลัยไทย


ถ้าผู้บริหาร มน.ทุกระดับ ทุกท่าน คิดและทำทำนองเดี่ยวกันกับท่านรองชาลี ผมว่าเป้าหมายการเป็นหนึ่งในสิบสุดยอดมหาวิทยาลัยไทยคงไม่ไกลเกินฝัน

         ช่วงเช้าของวันศุกร์ที่ 16 ก.ย.48 ท่านอธิการบดีเรียกประชุมรองอธิการบดีนัดพิเศษ เพื่อแบ่งงาน แบ่งความรับผิดชอบกันใหม่ อันเนื่องมาจากการเสียชีวิตของท่านรองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรม (รศ.เฉลิม พงศ์อาจารย์) ตามที่ผมเคยเขียนอาลัยรักไว้ (Link)

         สรุปภาพรวม ๆ ของผลการประชุมคือ จะไม่มีการตั้งรองอธิการบดีใหม่ขึ้นแทน แต่ได้มีการแบ่งงานเดิมของท่านรองเฉลิม ไปให้กับท่านรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต (ผศ.ชาลี ทองเรือง) และท่านรองอธิการบดีฝ่ายส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัย (ผศ.สุรพล ภานุไพศาล) เพื่อให้ช่วยกันแบ่งความรับผิดชอบต่อไป

         หลังเลิกประชุม ท่านรองชาลีได้มาขอรายละเอียด KPI ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของ สมศ. และ กพร. จากผม และแสดงความคิดเห็นว่า นี่เป็นเรื่องแรกที่ควรศึกษา และเป็นขั้นต่ำสุดที่จะต้องเร่งคิด เร่งทำ เร่งดำเนินการ สิ่งนี้เป็นตัวกระตุ้นความหวังของผมขึ้นมาอย่างแรงอีกครั้ง เกี่ยวกับความพยายามที่จะต้องช่วยกันพัฒนาให้ มน. เป็น Top ten มหาวิทยาลัยไทย ให้ได้ภายในปี 2552 ตามที่ท่านอธิการบดี (รศ.ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี) ได้เคยตั้งเป้าหมายไว้ตอนเข้ามารับตำแหน่งอธิการบดี

         ถ้าผู้บริหาร มน.ทุกระดับ ทุกท่าน คิดและทำทำนองเดี่ยวกันกับท่านรองชาลี ผมว่าเป้าหมายการเป็นหนึ่งในสิบสุดยอดมหาวิทยาลัยไทยคงไม่ไกลเกินฝัน

         วิบูลย์ วัฒนาธร

หมายเลขบันทึก: 4037เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2005 12:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
อยากจะถามว่า  ไอ้การรับแต่นิสิต มากมาย จนไม่ได้ดูว่าพร้อมจะรับรึเปล่าเนียะ

มันจะทำให้มน  ดีขึ้นได้อย่างไรครับ

แค่จำนวนอาจารย์  ระบบลงทะเบียน
สาธารณูปโภค  หอพัก

เอาแค่หลักๆ

ลองถามนิสิตนะครับ ว่าพอใจกับมันหรือยัง
อย่าถามอาจารย์ด้วยกันเองครับ

ขออภัยที่ก้าวร้าวครับ

แต่หวังดีจริงๆ

การตั้งคำถาม เรื่องการรับนิสิตจำนวนมากเกินไปนั้น นับว่าเป็นคำถามที่น่าสนใจในสถานภาพของมหาวิทยาลัยที่ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับการกระจายโอกาสทางการศึกษาให้เป็นไปอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น

การกระจายโอกาสทางการศึกษา เป็นสิ่งที่ต้องทำและต้องรีบดำเนินการ ซึ่งหลายภาควิชาได้เร่งดำเนินการเปิดหลักสูตรเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว เพื่อตอบสนองนโยบายของมหาวิทยาลัย ทำให้บางครั้งเราเองต้องแสร้งทำเป็นไม่สนใจ ในเรื่องของความพร้อมและขีดจำกัดของทรัพยากรที่คณะมีอยู่ ซึ่งสถานการณ์แบบนี้จะมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรทุกสายงานในคณะ

ในมุมมองของผู้บริหารนั้น มักจะเป็นมุมมองที่แต่ต่างกับระดับผู้ปฏิบัติตามนโยบาย ถ้ามองในเรื่องหลักสูตรที่ตนเองยังอยู่ในสภาพที่มีทรัพยากรไม่เพียงพอ และพยายามเปิดหลักสูตรใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยม เพื่อที่วิ่งตามกระแสให้ทันนั้น ควรคิดให้รอบคอบมากขึ้นและไม่น่าจะดำเนินการอย่างรีบร้อน

นอกจากนี้ การที่อาจารย์มีภาระงานสอนมากเกิน จะไม่เป็นการส่งเสริมการทำหน้าที่หลักของอาจารย์หรือครับ  ที่ว่า "หน้าที่หลักของอาจารย์ไม่ใช่การสอนแต่เป็นการเรียนรู้และการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุด คือ การเรียนรู้จาก “ข้อมูลปฐมภูมิ” (Primary Data) ซึ่งหมายถึงการเรียนรู้จากการศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลด้วยตัวเอง นำมาวิเคราะห์แยกแยะและสังเคราะห์ขึ้นเป็นองค์ความรู้ใหม่ โดยดำเนินการเป็นกระบวนการที่มีระบบ คือ การสร้างองค์ความรู้หรือการวิจัยนั่นเอง" (ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช; หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ปีที่ 9 ฉบับที่ 2795 (105) 16 พ.ค.39 พิเศษ 6)

ในปัจจุบันนี้ ม.นเรศวรจำเป็นหรือไม่ ที่ต้องมีหลักสูตรให้ครบหรือคลอบคลุมทุกสาขาวิชา หรือเพียงต้องการแย่งกลุ่มลูกค้ามาจากสภาบันอื่นก่อน (ที่เปิดวิทยาเขตกระจายเกือบทั่วประเทศ) เพื่อสร้างรายได้เข้าสู่องค์การ สำหรับสถาบันการศึกษานั้นมีวัฒนธรรมและเป้าหมายในการสร้างผลผลิตที่แตกต่างกับบริษัทแสวงผลกำไรอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามการเปิดหลักสูตรเพิ่มก็เป็นสิ่งที่ต้องกระทำในอนาคต เมื่อมีความพร้อมอย่างน้อยก็ด้านบุคลากร (ที่มีอยู่และกำลังจะสำเร็จการศึกษา)

หลายปีมาแล้ว บุคลากรในมหาวิทยาลัยมักจะได้ยินคำว่า ความเป็นเลิศทางวิชาการ อยู่เสมอ จะดีกว่าหรือไม่ที่มหาวิทยาลัยควรเพิ่มบรรยากาศเพื่อสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในสาขาที่มีอยู่แล้ว การสนับสนุนและสร้างแรงบันดาลใจให้บุคลากรทุกสายงาน ที่ไม่ใช่เฉพาะสายอาจารย์เท่านั้น มีส่วนร่วมและส่งเสริมในระบบการเรียนการสอนและการทำวิจัย ซึ่งนั่นก็คงเป็นแนวทางที่หลายมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการอยู่

สำหรับการตั้งเป้าหมายเพื่อเป็น Top ten มหาวิทยาลัยไทย ของม.นเรศวรในระยะเวลาที่กำหนดนั้น เป็นไปได้มาก เนื่องจากที่ผ่านมาผลงานของทั้งนิสิตและบุคคลากรในมหาวิทยาลัยได้แสดงสู่สังคมไว้แล้ว และเป็นที่ยินดีที่ปัจจุบันบุคลากรสายวิชาการสนใจที่จะทำวิจัยมากขึ้น หลังจากนั้นความภูมิใจกับตัวเลขการจัดอันดับจะมากน้อยแค่ไหน ก็เป็นสิ่งรู้กันดีอยู่แก่ใจของแต่ละคน

ในขณะที่สถาบันการศึกษาอื่นก็มีเป้าหมายเช่นเดียวกัน ทำให้การคงสถานภาพเพื่อเป็น Top ten มหาวิทยาลัยไทย หรือก้าวให้สูงขึ้น เป็นสิ่งที่ต้องร่วมแรงร่วมใจกันของบุคลากรทุกคน ผมคิดว่าคณะผู้บริหารทุกระดับควรสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายหรือแผนต่างๆ ระหว่างระดับสายงาน  เนื่องจากจะทำให้ความขัดแย้งทางความคิดระหว่างผู้บริหารและผู้ปฏิบัติลดลง เป็นผลให้บุคลากรในหน่วยงานเกิดความเต็มใจ มีแรงจูงใจและเกิดความรักในการทำงานเพื่อองค์การมากขึ้น ฉะนั้นโอกาสที่จะก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นไปไม่ได้เลยทีเดียว

อ่านแล้วงงๆ ครับ

ในปัจจุบันนี้ ม.นเรศวรจำเป็นหรือไม่ ที่ต้องมีหลักสูตรให้ครบหรือคลอบคลุมทุกสาขาวิชา หรือเพียงต้องการแย่งกลุ่มลูกค้ามาจากสภาบันอื่นก่อน (ที่เปิดวิทยาเขตกระจายเกือบทั่วประเทศ) เพื่อสร้างรายได้เข้าสู่องค์การ สำหรับสถาบันการศึกษานั้นมีวัฒนธรรมและเป้าหมายในการสร้างผลผลิตที่แตกต่างกับบริษัทแสวงผลกำไรอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามการเปิดหลักสูตรเพิ่มก็เป็นสิ่งที่ต้องกระทำในอนาคต เมื่อมีความพร้อมอย่างน้อยก็ด้านบุคลากร (ที่มีอยู่และกำลังจะสำเร็จการศึกษา)

 

สรุปว่าตอนนี้  มน.  แตกต่างจากบริษัทที่แสวงหากำไรยังไงครับ


     ผมอยากร่วม ลปรร.ด้วย เมื่อเห็นข้อคิดเห็นนี้วนกลับมาอีกรอบ (พลาดไปตอนข้อคิดเห็นที่ 1-2) ดังนี้ครับ 

     1. การรับนิสิตจำนวนมากของมหาวิทยาลัย (ไม่ว่าที่ใด) ผมคิดว่าสงสารคนชายขอบ ที่ขาดโอกาสเถอะครับ ยังมีอีกมากมาย ท่านมีโอกาสแล้ว ก็ขอได้นึกถึงเขาบ้าง เมื่อมหาวิทยาลัยของรัฐไม่รับ ก็เหลือทางเลือกไม่มากนักหรอก (ไม่คิดม.รามฯ กับ มสธ.) ก็คงเป็นเอกชน คนจน ๆ จริง ๆ เข้าไม่ถึงครับ ยังไงของรัฐก็ยังมีค่าใช้จ่ายถูกกว่า นี่เขียนถึงเพื่อเรียกหาความเป็นธรรมในระบบการศึกษาของสังคมครับ แต่ถ้าท่าน (นิสิต) จะบอกว่าช่วยไม่ได้ที่เกิดมาจน ผมก็ยอมครับ

     2. ประสิทธิภาพ คุณภาพ และความเป็นธรรม เป็นสิ่งที่อยู่คนละมุมกัน เหมือนตาชั่งจีน การทำให้สมดุลเป็นเป้าประสงค์สูงสุด จึงไม่ได้หมายความถึงจะต้องมี ประสิทธิภาพที่สุด คุณภาพที่สุด และความเป็นธรรมที่สุด อย่างใดอย่างหนึ่งได้ หรือ คู่ใดคู่หนึ่งได้ หรือแม้แต่ทั้ง 3 ส่วนนี้ ...ที่สุดพร้อมกัน ท่ามกลางทรัพยากรที่มีความขาดแคลน (limited) ที่เกิดขึ้นจริง {ขอใช้คำนี้ตามความหมายทางเศรษฐศาสตร์ครับ}

     3. ผมเชื่อว่า "มน. กับเป้าหมายการเป็น Top ten มหาวิทยาลัยไทย" เป็นการตั้งเป้าหมายเพื่อ ความสมดุลของประสิทธิภาพ คุณภาพ และความเป็นธรรม จึงกำลังใจให้ทุกท่าน

     ปล. การที่นิสิตตั้งคำถามได้ลึกขนาดนั้น จึงบ่งบอกถึงคุณภาพการศึกษาของ มน.ได้ส่วนหนึ่งครับ เพียงแต่ต้องดูน้ำหนักของคำ และภาษาที่ใช้นิดนึง (ข้อคิดเห็นที่ 1) สำหรับผมแล้ว เจ้าของ blog ทราบได้โดยไปดูที่ E-mail และ website ครับ

เรียน ทีมงาน มน

 ดีใจครับที่ มน.มีเป้าหมายชัดเจน ที่จะเป็น Top Ten U in Thailand.

 ให้กำลังใจครับ อย่าท้อถอยครับ "ทีมงาน ม.นเรศวร"

JJ

 

เอ่อ
ค่าลงทะเบียนม นเรศวรนี่ผมคิดว่าจัดอยู่ในเกณสูงระดับต้นๆ ของมหาวิทยาลัยของรัฐเลยนะครับ  เผลอๆ  พอๆ กับเอกชนด้วยซ้ำครับ

นเรศวรให้โอกาศคนจนด้วยการเก็บค่าเรียนแบบเหมาจ่ายหรอครับ
นรศวรให้โอกาศคนจนด้วยการเปิดรับภาคพิเศษหรอครับ
(ไม่เห็นว่าพวกภาคพิเศษเค้าจะจนตรงไหน)


ท่ามกลางทรัพยากรที่มีความขาดแคลน<<<

เคยทราบข้อมุลมาว่าม นเรศวรเคยได้งบประมาณเป็นอันดับสองจากมหาวิทยาลัยรัฐทั้งหมด
แล้วขาดแคลนตรงไหนครับ

ถ้าไม่มุ่งแต่เปิดคณะ  ขยายวิทยาเขต(เป็นมหาวิทยาลัยใหม่)


คิดว่าเพียงพอต่อการพัฒนาให้มน  ติดท๊อปเทนได้แน่ครับ
ดีใจที่มีจุดมุ่งหมายชัดเจนครับ แต่ขออย่างเดียวว่าต้องมุ่งมั่นกับสิ่งที่ทำครับและทำทุกอย่างเพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่ามน.ต้องการทำอย่างนั้นจริงๆ แต่ผมเป็นห่วงนะครับ เห็นอาการไม้หลักปักขึ้เลนของผู้ใหญ่ของท่านแล้ว ทำให้เหนื่อยใจครับ หลายๆโปรแกรมที่เป็นส่วนสำคัญระดับชาติ ก็เป็นข้อพิสูจน์อันหนึ่งของคำพูดด้านบนครับว่ามน.กลืนน้ำลายตัวเอง น่าเสียดายครับ แต่อย่างไรก็ตามผมให้กำลังใจอ.วิบูลย์นะครับ เพราะว่าศรัทธาอ. และเชื่อว่าอ.จะทำให้มน.บรรลุเป้าหมายนี้ได้ แต่คงเหนื่อยหน่อยครับ เพราะนายของอ. อันนี้อ.คงรู้ดีกว่าใครครับ
มน  ออกนอกระบบ  ????

ช่างกล้าดีนะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท