ทบทวนวรรณกรรม "ไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน" #3


เจตจำนงค์เพื่อรวบรวมวรรณกรรมไว้ให้เครือข่ายสมาชิกที่ร่วมวิจัยด้วยกันในทุกพื้นที่ตามโครงการ "ไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน" ได้เสพ และได้แสดงข้อคิดเห็นต่อประเด็นไว้ไว้ ก่อนที่จะนำไปถก (เถียง) กัน และตกผลึกได้กับบริบทของเราเอง จากนั้นจะนำมาสรุปต่อท้ายไว้อีกในภายหลัง ขอขอบคุณกัลยาณมิตรทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องและได้สร้างปัญญานี้ไว้ให้...ด้วยใจจริง...จากเครือข่ายวิจัยและร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน (คนชายขอบ)

เรื่องมองโลกด้วยทฤษฎีความซับซ้อน

     • ทฤษฎีความซับซ้อนเป็นการพัฒนาวิธีคิดที่เป็นองค์รวม เป็นการมองโลกด้วยการสังเคราะห์ ( Synthetic Science) ต่างจากทัศนะทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รับอิทธิพลจากโลกทัศน์แบบจักรกลของนิวตันที่มองโลกด้วยการวิเคราะห์อย่างแยกส่วน ( Analytic Science)
     • มี 3 ทฤษฎีที่คล้ายกัน พัฒนาต่อยอดกันมาอย่างแยกกันไม่ออกได้แก่
          1. ทฤษฎีระบบ ( Systemic Theory) ได้รับการพัฒนามาก่อน จากพื้นฐานวิชา Cybernetic กลศาสตร์การควบคุมกลไก หนังสือ จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ ของ ฟริตจ๊อฟ คาปร้า เป็นการมองอย่าง System Theory ที่ชัดเจน
          2. ทฤษฎีไร้ระเบียบ ( Chaos Theory ) ตัวอย่างที่โด่งดังของทฤษฎีนี้คือ “ ผลกระทบผีเสื้อ หรือ Butterfly Effect ” กล่าวคือ ผีเสื้อใหญ่ตัวหนึ่งกระพือปีกที่ฮ่องกง สามารถทำให้ดินฟ้าอากาศที่แคลิฟอร์เนียเปลี่ยนแปลงได้เมื่อ 1 เดือนให้หลัง หรือ สาเหตุเบื้องต้นเพียงนิดเดียว ในเงื่อนไขที่เหมาะสม สามารถก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่หลวงได้
          3. ทฤษฎีความซับซ้อน ( Complexity Theory ) ลักษณะที่สำคัญของระบบซับซ้อนคือ การผุดบังเกิด ( Emergence ) ซึ่งหมายถึง คุณสมบัติของระบบรวมที่แตกต่างไปจากผลรวมของส่วนประกอบย่อยทั้งหมด เช่น สมองมีเซลสมองนับล้านเซล แต่ละเซลไม่มีคุณสมบัติที่จำอะไรได้ แต่เมื่อรวมกันเป็นระบบสมองสามารถมีความจำได้ เป็นต้น นี่เรียกว่าการผุดบังเกิด
     • ทฤษฎีระบบ หรือการคิดอย่างกระบวนระบบ ( Systemic Thinking)นั้น เป็นการมองโลกอย่างเป็นองค์รวม เป็นพื้นฐานของทั้ง 3 ทฤษฎี มีคุณสมบัติที่สำคัญ 5 ประการคือ
          1. ระบบใหญ่ไม่ใช่ผลรวมของส่วนประกอบย่อย แต่เป็นคุณภาพใหม่ที่เกิดจากปฏิสัมพันธ์ขององค์ประกอบย่อย ซึ่งไม่สามารถเข้าใจจากการแยกศึกษาทีละส่วนประกอบได้
          2. ระบบมีโครงสร้างที่ซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ ( Hierarchy ) เช่น คนประกอบด้วยส่วนย่อยคือเซลที่รวมกันเป็นระบบ แต่คนก็เป็นองค์ประกอบย่อยของระบบนิเวศน์ ระบบซับซ้อนจะซ้อนกันเป็นชั้น และทุกอย่างสามารถเชื่อมโยงถึงกันทั้งหมด ท่าน ติช นัท ฮัน จึงตอบว่า กระดาษหนึ่งแผ่นที่ให้ดูนั้น มองเห็นดวงอาทิตย์และก้อนเมฆในกระดาษนั้นด้วย
          3. การจะเข้าใจระบบนั้นต้องมองบริบท(Context)หรือปัจจัยแวดล้อมโดยรอบด้วย โดยเฉพาะระบบเปิดที่มีชีวิตนั้น ไม่อาจมองเป็นเส้นตรงได้ ต้องมองอย่างเชื่อมโยงและสัมพันธ์กันทั้งหมด
          4. ต้องเข้าใจความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ ( Feedback ) การจะเข้าใจปรากฏการณ์ใดต้องเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆที่เข้ามาเกี่ยวข้อง 
          5. การย้ายวิธีคิดแบบโครงสร้าง ( Structure) มาสู่กระบวนการ ( Process) ถ้าประยุกต์ใช้ในเชิงสังคม การมองแบบโครงสร้างเราจะเห็นกรอบอันเข้มแข็งยากจะเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าหันมามองกระบวนการ เราจะเห็นจุดอ่อน ช่องทางของความสัมพันธ์ที่จะเข้าไปปรับเปลี่ยนได้
     • Peter Senge ได้เขียนหนังสือ The Fifth Discipline ซึ่งใช้ในการพัฒนาองค์กร โดยมี การคิดอย่างกระบวนระบบ เป็น 1 ใน 5 ข้อด้วย ได้แก่
          1. Personal Mastery ความคิดในการฝึกฝนตนเองให้สูงขึ้นเรื่อยๆ
          2. Shared Vision การมีวิสัยนทัศน์ร่วมกัน
          3. Communication การสื่อสารให้คนในองค์กรเข้าใจ และร่วมคิดร่วมทำ
          4. Team Learning การเรียนรู้และทำงานร่วมกันเป็นทีม
          5. System Thinking การคิดอย่างเป็นกระบวนระบบ
     • ในทฤษฎีไร้ระเบียบบอกว่าจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงจะเริ่มจากชายขอบก่อน คนเพียง 5 % ก็สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เดิมเราคาดหวังมหาบุรุษในการนำการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่กระบวนทัศน์ในการมองโลกได้เปลี่ยนไป ( Paradigm Shift) โดยมองว่าพลังของมนุษย์เล็กๆที่เป็นปัจเจกชนที่มีปฏิสัมพันธ์กันนั้น มีพลังสร้างสรรค์ และเป็นจุดเล็กๆมากมายที่จะมารวมกันในการเปลี่ยนแปลงสังคมในที่สุด เมื่อระบบเข้าสู่สภาวะที่ไร้ระเบียบและทางเลือก( Bifurcation ) มาถึง
     • ระบบซับซ้อน ( Complex System ) จะมี 3 สถานะ คือ
          1. ภาวะสมดุล ( Order ) 
          2. ใกล้จุดสมดุล กล่าวคือมีการกวัดแกว่งบ้าง แต่ยังรักษาสภาพเดิมไว้ได้
          3. ไกลจุดสมดุล ถ้าได้รับการกระทบ จะมีผลใหญ่หลวงต่อการเปลี่ยนแปลงหรือการล่มสลายของระบบได้ ดังนั้นถ้าเราประเมินว่า สถานการณ์อยู่ห่างไกลจุดสมดุลมากแล้ว การกระแทกด้วยเหตุการณ์เล็กๆ จะเกิดทางแยกที่ให้เลือกเดิน ( Bifurcation ) ขึ้นมา ซึ่งอาจเป็นในทางที่ดีขึ้นหรือฉิบหายก็ได้ เช่นการที่เยอรมนีแพ้สงคราม กลับทำให้ประเทศก้าวสู่ความเจริญก้าวหน้าได้ แต่เปเรสทรอยก้า กลับส่งผลให้โซเวียตล่มสลาย
     • เราไม่สามารถแก้ปัญหาสังคมที่มีอยู่มากมายในทุกจุดได้ อีกทั้งเรายังมีกำลังคนกำลังเงินที่จำกัด แต่ถ้าเราจับ Pattern ของปัญหาได้ เราจะรู้ว่าจะงัดตรงจุดไหน งัดเมื่อไหร่ ซึ่งจะแก้ปัญหาได้อย่างมาก ถ้าเราหาพบจุดคานงัด แล้วทุ่มกำลังลงไปแก้ไขที่จุดสำคัญ แทนการกระจายกำลังแก้ทุกจุด เราจะแก้ปัญหาสังคมนั้นๆได้
     • การเปลี่ยนแปลงสังคมต้องการปัจเจกชนที่เป็นอิสระ ไม่ใช่การจัดตั้งที่เหมือนกันหมด เพราะความเป็นอิสระทางความคิดและการกระทำ ภายใต้กติกาของการสื่อสารและการอยู่ร่วมกัน จะทำให้เกิดคุณภาพในการเปลี่ยนแปลงสังคม เป็นการผุดบังเกิด ( Emergence ) อย่างเฉียบพลัน

ที่มา: สรุปเสวนาประจำสัปดาห์ ของวิทยาลัยวันศุกร์ (บทความ)
วิทยาลัยวันศุกร์ ครั้งที่ 9 วันที่ 7 มกราคม 2543
โดย อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ บางกอกฟอรั่ม

หมายเลขบันทึก: 4030เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2005 23:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท