การวิจารณ์งานวิจัยเชิงคุณภาพ


ได้มีประเด็นสนทนากันว่า แล้วเราจะดูคุณภาพและความน่าเชื่อถือของงานวิจัยได้อย่างไร ซึ่งทำให้ผมนึกถึงรายงานฉบับนี้ขึ้นมา

     เอกสารนี้ผมหยิบขึ้นมาจากรายงานเมื่อครั้งที่ผมกำลังศึกษาอยู่ เนื่องจากเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2548 ได้มีประเด็นสนทนากันว่า แล้วเราจะดูคุณภาพและความน่าเชื่อถือของงานวิจัยได้อย่างไร ซึ่งทำให้ผมนึกถึงรายงานฉบับนี้ขึ้นมา สำหรับวันนั้นก็เป็นการพูดคุยกันสั้น ๆ ไม่ได้ข้อยุติอะไร ทั้งนี่เพราะในกระบวนการว่าจะใช้เกณฑ์อะไรตัดสินผลงานทางวิชาการนั้นน่าจะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ที่แต่งตั้งขึ้น หากมีการร้องขอเอกสารอ้างอิง หรือข้อมูลจึงจะได้ส่งมอบให้ ทั้งนี้ด้วยเข้าใจว่าในระบบราชการเรานั้น หาความเป็นอิสระทางวิชาการได้จริง ๆ ยังน้อยอยู่

     รายงานฉบับนี้เป็นการวิจารณ์งานวิจัยเชิงคุณภาพ เรื่อง การยอมรับการรักษาครบถ้วนของผู้ป่วยวัณโรค: กลุ่มผู้ป่วยที่รับการรักษาระบบ DOTS (Comply และ Non – comply) ซึ่งมีรายละเอียดของรายงานดังนี้ ครับ

ประเด็นแบบวิจัยและวิธีวิจัย
     1. แบบวิจัย ผู้วิจัยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) โดยมีปัญหาการวิจัย คือ “การยอมรับการรักษาครบถ้วนของผู้ป่วยวัณโรคเป็นอย่างไร” เนื่องจากการยอมรับในการรักษาครบถ้วนของผู้ป่วยวัณโรคโดย DOTS ในแต่บริบทของสังคมนั้นมีความแตกต่างกัน และผู้วิจัยต้องการได้คำตอบตัวแปรที่เป็นปัจจัยของการยอมรับและไม่ยอมรับ ซึ่งยังไม่มีทฤษฎีที่เหมาะสม (Lefferts R, 1978) กับบริบทของประเทศไทยในด้านนี้มาก่อน (การรักษาวัณโรคโดยใช้กลวิธี DOTS ต้องอาศัยการมีพี่เลี้ยงดูแลและกำกับการรับประทานยา) จากลักษณะดังกล่าวข้างต้นการวิจัยเชิงคุณภาพจะสามารถตอบปัญหาการวิจัยนั้นได้ (มยุรี  พลางกูล, พันเอกหญิง, 2529) กล่าวโดยสรุปสำหรับประเด็นปัญหาการวิจัยของผู้วิจัย และผู้วิจัยเลือกการวิจัยเชิงคุณภาพนั้น มีความเหมาะสมแล้ว

     2. วิธีวิจัย โดยแยกเป็นประเด็นย่อยต่าง ๆ ดังนี้
        2.1 การระบุปัญหาและความสำคัญของปัญหาการวิจัย โดยมีปัญหาการวิจัย คือ “การยอมรับการรักษาครบถ้วนของผู้ป่วยวัณโรคเป็นอย่างไร” ซึ่ง ความสำคัญของการยอมรับฯ   ดังกล่าว ผู้วิจัยบอกแต่เพียงว่ามีความสำคัญต่อโครงการป้องกันและควบคุมวัณโรค และเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญมากต่อความสำเร็จของการควบคุมวัณโรค ทั้ง ๆ ที่ควรจะบอกเพิ่มเติมว่าหากรักษาไม่ครบแล้ว จะเกิดผลที่ตามมาอย่างไร (การดื้อยา/ต้นทุนในการรักษาสูงขึ้น) มีผลกระทบที่สำคัญอย่างไรบ้าง (เชื้อที่ดื้อยาแล้วแพร่กระจายไป/อุบัติการณ์จะเพิ่มขึ้นในชุมชน) (จำเริญ  บุณยรังษี และสายัณห์ แก้วเกตุ, ผู้แปล, มปป.) ซึ่งจะเป็นการระบุปัญหาได้ตรงจุด และมองเห็นได้ถึงความสำคัญจริง ๆเหมาะสมที่จะมีการวิจัย (มยุรี  พลางกูล, พันเอกหญิง, 2529; Dempsey, P.A. and Dempsey, A.D, 2000; สุธีระ  ประเสริฐสรรพ์, 2544) งานวิจัยนี้จึงขาดส่วนนี้ไป
        2.2 ชื่อเรื่องในการวิจัย ผู้วิจัยกำหนดชื่อเรื่องโดยใช้ภาษาต่างประเทศแทนคำในภาษาไทยทั้ง ๆ ทีมีคำในภาษาไทยใช้อยู่แล้วอย่างเป็นสากล เช่น DOTS หรือ comply และ non – comply หากจะทดแทนคำเหล่านี้เสียใหม่ด้วยภาษาไทย และภาษาต่างประเทศวงเล็บไว้ด้วยก็ได้เช่น “การยอมรับการรักษาครบถ้วนของผู้ป่วยวัณโรคที่รับการรักษาด้วยระบบการมีพี่เลี้ยงดูแลและกำกับการรับประทานยา (DOTS)” จากนั้นจะทำการศึกษาในกลุ่มเฉพาะ comply และ non – comply ก็ระบุไว้ในส่วนของวิธีดำเนินการวิจัย จะทำให้ดูมีความกระชับ ครอบคลุมสิ่งที่ต้องการศึกษาและมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น (ชญาดา  ศิริภิรมย์, 2536)
        2.3 วัตถุประสงค์การวิจัย สำหรับในการวิจัยเชิงคุณภาพนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาที่ให้ความสำคัญแก่การค้นหาองค์ประกอบที่เป็นนามธรรมของมนุษย์ เช่นความรู้สึกนึกคิด ค่านิยม ฯ โดยศึกษาถึงความสัมพันธ์ของสิ่งเหล่านี้กับสภาพแวดล้อมของมัน (สุนันธา โปตะวนิช, 2541) สำหรับการวิจัยนี้ ผู้วิจัยได้กล่าวถึงไว้ในคำนำ โดยบอกไว้ว่า “เพื่อศึกษาถึงปัจจัยที่สัมพันธ์กับการยอมรับการรับประทานยาของผู้ป่วยวัณโรค” ซึ่งหากพิจารณาจากปัญหาและความสำคัญของการวิจัยแล้วพบว่า เป็นการกำหนดวัตถุประสงค์ของการวิจัยไว้สอดคล้องกัน และมีความเหมาะสมแล้ว (เพชรน้อย  สิงห์ช่างชัย, 2536; เยาวภา  ปิ่นทุพันธ์, 2543) ซึ่งผู้วิจารณ์จะใช้วัตถุประสงค์ของการวิจัยเป็นหลักในการวิจารณ์รายงานการวิจัยฉบับนี้ในประเด็นต่อไปด้วย
        2.4 การตั้งสมมติฐาน ในการวิจัยเชิงคุณภาพไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักในการตั้งสมมติฐาน แต่จะเป็นการเริ่มต้นที่ปัญหาหรือประเด็นที่ต้องการศึกษา โดยมีแนวคิดทฤษฎีอย่างกว้าง ๆ เมื่อได้เริ่มเก็บข้อมูลบ้างแล้วจึงเริ่มสร้างสมมติฐาน ทั้งนี้เพื่อเป็นการกำหนดแนวทางและเป้าหมายให้เด่นชัดขึ้น (มยุรี  พลางกูล, พันเอกหญิง, 2529; สุนันธา โปตะวนิช, 2541) ซึ่งในรายงานการวิจัยฉบับนี้ไม่ได้กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวเลย
        2.5 กลุ่มตัวอย่าง โดยส่วนใหญ่จะเป็นการศึกษากับชุมชนขนาดเล็ก มีความจำเพาะในบริบท และผู้วิจัยสามารถมองเห็นโครงสร้างได้อย่างชัดเจน (มยุรี  พลางกูล, พันเอกหญิง, 2529; สุนันธา โปตะวนิช, 2541) แต่ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้ให้ข้อมูลมากกว่า และเนื่องจากมีข้อจำกัดของจำนวนผู้ให้ข้อมูล และพื้นที่ในการศึกษา (ขณะศึกษาโครงการนำร่องมีในบางจังหวัดเท่านั้น) ขอบเขตของการศึกษา ในประเด็นพื้นที่จึงเป็นภูมิภาคของประเทศ และการคัดเลือกผู้ให้ข้อมูล จึงเป็นกลุ่มผู้ที่เข้ารับการรักษาวัณโรคตามโครงการ DOTS เท่านั้น(จะเป็นผู้ป่วยที่มีที่อยู่จังหวัดอะไรก็ได้ในภูมิภาคนั้น ๆ) ผู้วิจัยใช้การคัดเลือกแบบเจาะจงโดยพยายามที่จะแยกกลุ่มออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม comply และ non – comply แต่มีข้อจำกัดในกลุ่มผู้ให้ข้อมูลอีกเช่นกัน จึงมีกลุ่มผสมด้วย กล่าวโดยสรุปแล้ว ก็มีความเหมาะสมในการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่าง เพื่อให้สามารถตอบวัตถุประสงค์การวิจัยได้ แต่ผู้วิจารณ์เห็นว่าควรจะได้ดำเนินการในภาคใต้ด้วย ทั้งนี้ภาคใต้ก็ได้มีการดำเนินงานตามโครงการนำร่องนี้ด้วย คือจังหวัดยะลา ตามที่ผู้วิจัยได้นำเสนอใน คำนำไว้ จึงจะทำให้งานวิจัยครั้งนี้มีคุณค่ามากยิ่งขึ้น
        2.6 เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ในการใช้เครื่องมือเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลนั้น จะมีการใช้เครื่องมือหลายชนิดร่วมกัน (multi – instrument approach) ในการที่จะพยายามทำให้ผู้อ่านเห็นภาพเหมือนผู้วิจัยเห็นเอง (มยุรี  พลางกูล, พันเอกหญิง, 2529) โดยตัวผู้วิจัยมีความสำคัญมากที่สุด เพราะจะเป็นผู้เก็บข้อมูล จัดทำบันทึกภาคสนาม และการระบุรายละเอียดในการศึกษา (มยุรี  พลางกูล, พันเอกหญิง, 2529; สุนันธา โปตะวนิช, 2541) ซึ่งในด้านตัวผู้วิจัยและคณะนั้นพบว่า เป็นผู้ที่มีความชำนาญ และประสบการณ์ในการวิจัยเชิงคุณภาพ และประสบการณ์ในการดำเนินงานด้านการรักษาผู้ป่วยโรควัณโรคอยู่แล้ว จึงมีความน่าเชื่อถือในผลการวิจัย ส่วนการใช้เครื่องมืออื่นที่เหมาะสมตามวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลแต่ละประเภท ซึ่งผู้วิจัยได้นำเสนอไว้ 2 ชนิดคือ แบบสอบถามชนิดตอบด้วยตนเอง และการสนทนากลุ่ม ซึ่งเครื่องมือทั้ง 2 ชนิดดังกล่าว ไม่พบว่าผู้วิจัยได้ตรวจสอบคุณภาพของเครื่องอย่างไรเลย จึงทำให้เป็นจุดอ่อนในการพิจารณาความน่าเชื่อถือของงานวิจัย (ไพฑูรย์  สินลารัตน์ และ สำลี  ทองธิว, บรรณาธิการ, 2535) ซึ่งจะได้วิจารณ์ในประเด็นต่อไป
        2.7 การเก็บรวมรวมข้อมูล ในการเก็บรวมรวมข้อมูลนั้น มีวิธีการหลายวิธี เช่น  การสังเกต การสัมภาษณ์โดยใช้แบบสัมภาษณ์ชนิดผู้ถูกสัมภาษณ์ตอบเอง การสัมภาษณ์เจาะลึก หรือการสนทนากลุ่ม เป็นต้น ซึ่งในการวิจัยครั้งนี้ผู้ใช้แบบสอบถามชนิดให้ผู้ตอบกรอกข้อมูลเอง และการสนทนากลุ่ม ซึ่งประเด็นความเหมาะสมนั้น ประการแรก คือ การใช้แบบสอบถามชนิดให้ผู้ป่วยกรอกข้อมูลเองนั้น ผู้วิจารณ์ไม่เห็นด้วย เนื่องจากเป็นที่ยอมรับกันว่าระดับการศึกษาที่ต่ำกว่าจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการป่วยเป็นวัณโรคสูงกว่าผู้ที่มีระดับการศึกษาสูงกว่า (จำเริญ  บุณยรังษี และสายัณห์  แก้วเกตุ, ผู้แปล, มปป.) ฉะนั้นการให้ผู้ป่วยกรองแบบสอบถามเอง ย่อมมีโอกาสที่จะเกิดเกิดความผิดพลาดในการตีความแตกต่างกันออกไป และก็จะมีความคลาดเคลื่อนของข้อมูลที่ได้สูงตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ปรากฏว่าผู้วิจัยได้ตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ผู้วิจารณ์ไม่เห็นด้วยในประเด็นนี้ ซึ่งควรจะใช้แบบสอบถามชนิดใช้ผู้สัมภาษณ์แทน และมีการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องทั้งด้านความตรง (validity) และความเที่ยง (reliability) (เยาวภา  ปิ่นทุพันธ์, 2543) ประเด็นที่สอง คือ การใช้การสนทนากลุ่มเป็นวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลนั้น ผู้วิจารณ์ก็มีความเห็นแย้งว่า โดยกระบวนการในการรักษาผู้ป่วยวัณโรคนั้น จะมีการรักษาในแนวปัจเจกบุคคล ถึงแม้จะมีการใช้พี่เลี้ยงกำกับดูแล ไม่ใช่เป็นการรักษาโดยกลุ่มอย่างโรคอื่น ๆ เช่น กลุ่มผู้ติดยาเสพติด กลุ่มโรคเอดส์ หรือกลุ่มผู้ป่วยวิตกกังวล เป็นต้น การยอมรับการรักษาครบถ้วนในการรักษาวัณโรคก็เป็นการยอมรับของความเป็นตัวเอง (individual) ซึ่งการสนทนากลุ่มนั้นเป็นการแสวงหาข้อมูลในภาพรวม หรือข้อความเห็นในภาพรวมของกลุ่มมากกว่า การสนทนากลุ่มนั้นจะทำให้เกิดความเห็นคล้อยตามกันไป ทั้งที่ไม่ใช่ความเห็นหรือความคิดของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดในเชิงลบ (negative) (เพชรน้อย  สิงห์ช่างชัย, มปป.) เช่นการสนทนาในประเด็นความพอใจต่อเจ้าหน้าที่ หรือพี่เลี้ยงในการกำกับดูแลการรับประทานยา เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลในเชิงบวกมาทั้งหมด แต่เป็นข้อมูลที่ไม่จริงก็เป็นได้ ข้อมูลบางส่วนก็อาจจะถูกปกปิดไว้ ที่สำคัญในการสนทนากลุ่มผู้ป่วยที่เป็นกลุ่ม non – comply ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไปรักษาโดยมีการขาดยาบางช่วงเวลาอยู่แล้ว จึงควรจะใช้การสัมภาษณ์เจาะลึกในรายบุคคลมากกว่า หรือใช้การสนทนากลุ่มร่วมด้วย (ชญาดา  ศิริภิรมย์, 2536)
        2.8 การวิเคราะห์ข้อมูล ไม่พบว่าผู้วิจัยใช้รูปแบบใดในการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการตอบแบบสอบถามและจากการสนทนากลุ่ม ซึ่งผู้วิจัยควรจะบอกไว้ในรายงานการวิจัยฉบับตีพิมพ์ในวารสารอย่างย่อด้วย จะทำให้มีความเชื่อมั่นในข้อมูลมากขึ้น (Dempsey, P.A. and Dempsey, A.D, 2000)
        2.9  จรรยาบรรณนักวิจัย ประเด็นนี้มีความสำคัญมากในการดำเนินการวิจัย  (สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2541) ผู้วิจัยไม่ได้นำเสนอไว้อย่างชัดเจน แต่สังเกตได้จากการเขียนรายงานการวิจัยว่าผู้วิจัยได้มีการสงวนชื่อและที่อยู่ของผู้ให้ข้อมูลทุกรายเป็นอย่างดี สำหรับจรรยาบรรณผู้วิจัยในขณะเก็บรวบรวมข้อมูลหรือดำเนินการภาคสนามนั้นไม่มีข้อมูลจากรายงานวิจัยที่บ่งบอกไปถึงได้

คุณค่าความน่าเชื่อถือได้ของงานวิจัย
     1. ด้านความน่าเชื่อถือ (credibility) ซึ่ง เลนนินเจอร์ (Leininger, Madeleine, 1994) กล่าวไว้ว่า ผลการวิจัยเชิงคุณภาพนั้น ผู้วิจัยต้องดำเนินการวิจัยในทุกขั้นตอนให้เกิดความน่าเชื่อถือและไว้วางใจได้ (Isaac S. and Michael W.B, 1977) ว่าประสบการณ์ ข้อมูล หรือความรู้ที่ค้นพบนั้นเป็นความจริงจากการศึกษาในพื้นที่จริงหรือ เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง ๆ โดยสรุปจากรายงานวิจัยฉบับนี้พบว่า มีมีความน่าเชื่อถือได้ โดย ผู้วิจัยได้นำเสนอในส่วนของคำนำแล้วว่าได้ดำเนินการวิจัยโดยการเก็บรวบรวมข้อมูลจากการดำเนินงานตามโครงการวิจัยคุณภาพเรื่อง “Factor associated with ‘compliance’ among tuberculosis patients in Thailand”  ซึ่งเป็นโครงการวิจัยของคณะแพทย์ศาสตร์และวิทยาลัยประชากรศาสตร์   จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนขององค์การอนามัยโลก ในการวิจัยนั้นได้มีการเก็บ   ข้อมูลจากประชากรเป้าหมาย  3 กลุ่ม เป็น 3 โครงการย่อย คือ กลุ่มผู้ป่วย กลุ่มผู้ให้บริการ และกลุ่มผู้กำกับการรับประทานยา (พี่เลี้ยง) และโครงการวิจัยย่อยนี้ เป็นการดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลเฉพาะกลุ่มผู้ป่วย ทั้งนี้คณะผู้ดำเนินการวิจัยก้ประกอบไปด้วยกลุ่มผู้ชำนาญการที่มีประสบการณ์ในการวิจัยเชิงคุณภาพ สาขาการแพทย์ และสาขาประชากรศาสตร์ จากข้อมูลเชิงประจักษ์ที่สนับสนุนดังกล่าว จึงเชื่อได้ว่าข้อค้นพบในรายงานการวิจัยเป็นความจริงจากการศึกษาในพื้นที่จริงหรือ เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริงๆ
     2. ด้านการได้รับการยืนยัน (conformability)  ซึ่ง เลนนินเจอร์ (Leininger, Madeleine, 1994) กล่าวไว้ว่า การได้รับการยืนยันนั้นคือ การให้การยอมรับถึงผลที่เกิดขึ้น และรับรองได้ว่าจะเกิดขึ้นอีก หรือเกิดขึ้นอยู่อย่างธรรมชาติ ถึงแม้จะมีการตรวจสอบซ้ำอีกกี่ครั้ง ซึ่งผู้วิจัยก็ได้ตรวจสอบมาก่อนแล้ว ซึ่งในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้เก็บข้อมูลจากการสนทนากลุ่ม 6 กลุ่มโดยเป็นกลุ่ม comply 3 กลุ่ม non – comply 2 กลุ่ม และผสมทั้งกลุ่ม comply และ non – comply อีก 1 กลุ่ม ใน 3 ภูมิภาคของประเทศ ได้ผลสรุปในประเด็นการยอมรับการรักษาครบถ้วนของผู้ป่วย ที่ได้รับการยืนยันได้  เช่น พบว่ากลุ่ม comply จะให้การยอมรับการมีผู้ดูแลกำกับการรับประทานยา และมีความสัมพันธ์ระหว่างกันดี แต่ในกลุ่ม non – comply นั้นจะไม่ยอมรับและจะเชื่อตนเองในการรับประทานยามากกว่า เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ สามารถยอมรับได้ว่าผู้วิจัยได้ดำเนินการตรวจสอบเพื่อให้สามารถได้รับการยืนยันได้ แต่ผู้วิจัยมักจะสรุปอ้างในระดับประเทศเสมอ ทั้ง ๆ ผู้วิจัยไม่ได้ดำเนินการในภาคใต้ด้วย ผู้วิจารณ์จึงถือว่า ไม่ควรกล่าวสรุปในภาพรวมของประเทศ แต่กล่าวสรุปเฉพาะในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะทำให้งานวิจัยนี้มีคุณค่า
     3. ด้านการให้ความหมายตามบริบทนั้น ๆ (meaning-in-context) การให้ความหมายตามบริบทนั้น ๆ คือ ความถูกต้อง ความเข้าใจตรงกันในบริบทนั้น ๆ ว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมีความหมายอย่างไร และได้รับการตรวจสอบแล้วก็ไม่ได้เข้าใจกันผิดเพี้ยนไปจากเดิม แต่ต้องหมายถึงสถานการณ์สภาพแวดล้อมนั้น ๆ เท่านั้น (Leininger, Madeleine, 1994) ซึ่งจากการรายงานการวิจัยนี้ พบว่าผู้วิจัยได้พยายามสรุปผลการวิจัยในแต่ละบริบทย่อยที่ศึกษา (ในแต่ละภูมิภาค) แต่ก็มีหลายครั้งที่ผู้วิจัยได้สรุปถึงบริบทรวมทั้งประเทศ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ทำการศึกษาในภาคใต้ และในขั้นตอนการเลือกตัวอย่างของการวิจัยเชิงคุณภาพนั้น ก็ไม่เน้นการเป็นตัวแทน (represent)  ซึ่งไม่ถูกต้องนักในการที่จะสรุปและอนุมานไปยังพื้นที่อื่น (generalization) (มยุรี  พลางกูล, พันเอกหญิง, 2529)
     4. ด้านการคงสภาพหรือรูปแบบอยู่ตามธรรมชาติ (recurrent patterning)  หมายถึง แม้นว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนไป ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นก็จะยังคงเดิม (Leininger, Madeleine, 1994) ในรายงานวิจัยฉบับนี้ พบว่ามีความเป็นไปได้ในการคงสภาพของข้อมูลในระดับหนึ่ง เช่น การยอมรับว่าผลของการเข้มงวดในการรับประทานยา จะทำให้หายขาดได้ดี เป็นต้น แต่เนื่องจากปัจจัยที่ทำให้เกิดการยอมรับในการรักษาครบถ้วนนั้น ขึ้นอยู่กับอิทธิพลอื่น ๆ อีกมากเช่นกัน เช่นอิทธิพลจากสภาพของสังคมที่เปลี่ยนไป พี่เลี้ยงอาจจะมีเวลาในการดูแลผู้ป่วยน้อยลง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อการคงสภาพของข้อมูล กล่าวโดยสรุปก็คือ ผู้วิจัยไม่ได้แยกแยะออกมาให้ชัดเจน ในประเด็นข้อค้นพบที่จะสามารถอธิบายได้อย่างคงสภาพ หรือประเด็นใดที่อาจจะเปลี่ยนไปบ้าง หากมีอิทธิพลอื่นที่เกี่ยวข้องกับมิติแห่งเวลา ทั้งนี้เนื่องจากผู้วิจัยไม่ได้มีการอภิปรายผลเหล่านี้เลย
     5. ด้านการอิ่มตัวของข้อมูล (saturation) หมายถึง การเก็บรวบรวมข้อมูลปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมีความชัดเจน และไม่มีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญอีกแล้ว ไม่ว่าจะใช้เวลาในการเก็บรวบรวมเพิ่มขึ้นหรือเปลี่ยนวิธีการเก็บรวบรวมไปเป็นแบบอื่น ๆ (Leininger, Madeleine, 1994) ซึ่งในประเด็นดังกล่าวนี้ พบว่าการดำเนินการของผู้วิจัยนั้นมีข้อมูลที่อิ่มตัวแล้วก่อนที่จะนำมาวิเคราะห์ และสรุปเป็นรายงาน ดังเช่น “ผู้ป่วยทุกรายมีความพอใจระบบผู้กำกับมาก เพราะนอกจากจะดูแลการรับประทานยาแล้วยังได้รับการดูแลช่วยเหลือในทุกเรื่อง ผู้ป่วยมีความพอใจที่จะเก็บยาไว้กับตัวเองมากกว่าที่จะเก็บไว่ที่ผู้กำกับ” หรือ “ความพอใจของผู้ป่วยอยู่ที่การมีผู้กำกับดูแลคอยเตือนให้รับประทานยาและเป็นห่วงต้องการให้ผู้ป่วยหายจาการป่วย” เป็นต้น ประกอบกับผู้วิจัยได้ทำการสนทนากลุ่มถึง 6 กลุ่ม และการคัดเลือกผู้ให้ข้อมูลในแต่ละคนก็เป็นคนที่ สามารถให้ข้อมูลได้มากที่สุดจริง ๆ (สุภางค์  จันทวานิช, 2537) คือ ทุกคนเป็นผู้ป่วยวัณโรคที่รักษาด้วย DOTS และสิ้นสุดการรักษาแล้ว ครอบคลุมทั้งส่วนที่เป็นกลุ่ม comply และ non – comply จึงสรุปว่ามีความน่าเชื่อถือได้ในความอิ่มตัวของข้อมูล
     6. ด้านความเหมือนกันในสถานที่เปลี่ยนไปแต่สถานการณ์ตามบริบทเหมือนหรือคล้ายกัน (transferability) หมายถึงการที่สามารถสรุปไปตามหลักตรรกศาสตร์ว่า ถึงแม้จะเปลี่ยนสถานที่ไปจากที่ได้ศึกษาไว้ ถ้าหากสภาพแวดล้อมหรือบริบทที่เหมือนกันปรากฏการณ์จะเกิดขึ้นในแบบแผนเดียวกัน (Leininger, Madeleine, 1994) ในประเด็นดังกล่าวข้างต้นนั้นพบว่า ผู้วิจัยได้ศึกษาใน 3 ภูมิภาค ยกเว้นภาคใต้ ซึ่งในบริบทนั้น ๆ มีความแตกต่างกันทางด้านสังคม วัฒนธรรม แต่ในบริบทเดียวกันมีความคล้าย ๆ กัน จึงน่าจะใช้ผลการวิจัยนี้อธิบายแทนได้ เช่น “ผู้ป่วยและผู้กำกับทั้งกลุ่ม comply และ non – comply มีความเข้าใจซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะผู้กำกับทุกรายมีความเป็นห่วงและต้องการให้ผู้ป่วยหายจากการป่วย” เป็นต้น
การเขียนรายงานวิจัย
     1. ด้านความกระจ่าง ชัดเจน (clarity) พบว่าผู้วิจัยเขียนรายงานยังมีความไม่กระจ่างชัดเจนในหลาย ๆ จุด เช่น
          “ในทุกภาค เชื่อว่า...” น.61,62 ทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจผิดได้ง่ายว่าอนุมานไปยัง ทั้ง 4 ภูมิภาค (ทั้งประเทศ) ทั้ง ๆ ที่ได้ศึกษาเพียง 3 ภูมิภาคเท่านั้น จึงควรใช้ “ในทุกภาคที่ทำการศึกษา เชื่อว่า...” แทน
           “ผู้ป่วยบางรายเชื่อว่า...” น.61 ไม่ทราบจำนวนที่เชื่ออย่างที่กล่าวถึง กี่คน จากจำนวนของกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา ซึ่งผู้วิจัยควรจะบอกจำนวน และคุณลักษณะของประชากรเหล่านั้นไปเลย ทั้ง ๆ ที่ในส่วนอื่นของรายงานพบว่าผู้วิจัยได้กล่าวถึงอย่าละเอียด
           “การตรวจเสมหะใช้เวลาไม่นานอย่างช้า 1 ชั่วโมง-การตรวจเสมหะจะรู้ผลตรวจ 3 วัน” น.62 ซึ่งทั้ง 2 ประโยคมีการขัดแย้งกันเองในการอ่าน ทั้ง ๆ ที่ผู้วิจัยพยายามที่จะบอกว่าประโยคแรกนั้นหมายถึงขั้นตอนของการเก็บเสมหะเพื่อส่งตรวจ ส่วนประโยคที่ 2 นั้นเป็นขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ห้องชันสูตรในการตรวจเสมหะ (มาลี  เกิดพันธุ์ และ มนัส  กุณฑลบุตร, 2543) ซึ่งถ้าหากผู้ที่อ่านรายงานวิจัยไม่ทราบขั้นตอนที่แท้จริงของการดำเนินงานตามโครงการ DOTS แล้วจะเกิดข้อสงสัย หรืออาจจะทำให้เข้าใจผิดในการตีความเอาก็อาจจะเป็นไปได้ (สุภางค์  จันทวานิช, 2537)
           “ใช้เวลา 8.00 –10.00 น.” น.63 การใช้ภาษาขาดความชัดเจนทำให้ต้องอ่านซ้ำ ควรจะใช้ “ใช้เวลาระหว่าง 08.00 – 10.00 น.” แทน ซึ่งพบในทุกครั้งที่ผู้วิจัยกล่าวถึงเวลาในลักษณะนี้
           “การจัดยาเป็นชุด ๆ” น.63 เป็นลักษณะเฉพาะของการจัดยาวัณโรคตามโครงการ DOTS ซึ่งผู้วิจัยน่าจะขยายความในประเด็นนี้ให้ละเอียด อาจจะใช้ข้อความในวงเล็บก็ได้
           “ผู้ป่วยพอใจการตรวจของแพทย์เพราะดีมาก” น.63 หรือ “ผู้ป่วย...ในภาคเหนือทุกรายเห็นว่าสถานพยาบาลดีมาก” น.69 ผู้อ่านอ่านแล้วมีคำถามที่ต้องการอยากรู้ต่อว่า “ดี” อย่างไร แต่ไม่มีคำตอบในการอ่านต่อ ๆ ไปซึ่งเป็นส่วนที่ขาดหายไปทำให้ไม่กระจ่างชัดเจนในความหมาย
           “ผู้กำกับรู้หน้าที่เพราะมาฟังนายแพทย์ที่โรงพยาบาลพร้อมกับผู้ป่วย” น.64 ควรใช้คำว่า “แพทย์” หรือ “เจ้าหน้าที่คลินิกวัณโรค” แทน หรือหาว่าจะเป็นการยกข้อความคำพูดของผู้ให้ข้อมูลก็ได้ แต่พบว่ารายงานทั้งฉบับ ไม่มีการยกคำพูดของผู้ให้ข้อมูลมาอ้างถึงเลย
     กล่าวโดยสรุปแล้ว จะเห็นได้ว่าผู้วิจัยนั้นยังมีการใช้ภาษา หรือลักษณะการเขียนที่ยังไม่กระจ่างชัดเจน มีคำถามต่ออยู่ตลอดเวลาในการอ่านทั้ง ๆ ที่ข้อมูลนั้นมีอยู่แล้วในการที่จะอธิบายเพิ่มอีกเพียงเล็กน้อย และที่สำคัญข้อมูลบางข้อมูลนั้นผู้วิจัยสามารถนำเสนอด้วยตารางได้ เช่น ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งจะทำให้ดูง่าย และเข้าใจได้ง่ายกว่าการนำเสนอด้วยการพรรณา (Miles, B. Matthew. and Huberman, A. Micheael, 1994)
     2. ด้านความดึงดูดใจ (force) ในการเขียนรายงานการวิจัยครั้งนี้ พบว่า ผู้วิจัยเลือกใช้การนำเสนอด้วนการพรรณาทั้งหมด และมีการแบ่งเป็นข้อย่อยในการนำเสนอ ซึ่งควรจะมีความเชื่อมโยงกันในแต่ละประเด็น (สุภางค์  จันทวานิช, 2537) แต่รายงานฉบับนี้ไม่มีความเชื่อมโยงทำให้ขาดความต่อเนื่องในการนำเสนอ ผู้อ่านไม่เกิดความดึงดูดใจที่จะอยากรู้ อยากอ่านในประเด็นถัดไป ทำให้เกิดการอ่านแบบข้ามไปข้ามมา สูญเสียอรรถรสในการอ่าน และรับรู้ข้อมูล อีกทั้งการเขียนไม่มีการอ้างอิงถ้อยคำจากการให้ข้อมูลของผู้ให้ข้อมูลเลย
     3. ด้านความง่ายในการใช้ภาษาสื่อความหมาย (easy) สำหรับภาษาที่ใช้นั้น ถึงแม้ว่าผู้วิจัยจะใช้ภาษาต่างประเทศ (อังกฤษ) ร่วมในการอธิบายด้วย แต่ก็เนื่องมาจากการให้ง่ายและกระชับซึ่งก็อนุโลมให้ใช้ได้ แต่ต้องมีการอธิบายความหมายไว้ก่อนในเบื้องต้น (สุภางค์ จันทวานิช, 2537) ซึ่งผู้วิจัยก็ได้อธิบายไว้แล้วในส่วนของระเบียบวิธีวิจัย สำหรับประเด็นระดับของภาษาในการใช้ของผู้วิจัยนั้นผู้วิจัยได้ใช้ในระดับที่อ่านง่าย สื่อให้เข้าใจได้ดี แต่ก็มีข้อจำกัดคือ บางครั้งผู้วิจัยไม่ได้ตระหนักถึงความคลุมเครือของคำบางคำที่ใช้ ทำให้ยากต่อการตีความบ้างเหมือนกันและเกิดความไม่กระจ่างชัดเจนตามมา ฉะนั้นการใช้ภาษาในระดับที่ทำให้ผู้อ่านในทุกระดับอ่านเข้าใจง่าย โดยพยายามหลีกเลี่ยงศัพท์เทคนิคเฉพาะ ก็จะทำให้เกิดปัญหาคือการตีความในความหมายไม่เป็นการเฉพาะ ซึ่งอาจจะผิดความหมายไปก็ได้

บรรณานุกรม
           จำเริญ  บุณยรังษี และสายัณห์  แก้วเกตุ, ผู้แปล.  มปป.  การใช้กลยุทธ์ DOTS ให้กว้างขวาง. กรุงเทพฯ : ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
           ชญาดา  ศิริภิรมย์.  2536.  การวิจัยสาธารณสุขศาสตร์ประยุกต์.  กรุงเทพฯ: คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
           เพชรน้อย  สิงห์ช่างชัย.  มปป. เอกสารการสอนการออกแบบวิจัยและวิธีวิจัย 2: การสนทนากลุ่ม. เอกสารประกอบการสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิจัยและพัฒนาระบบสาธารณสุข คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สำเนา). 
           ________.  2536.  “การวิจารณ์ผลงานวิจัยทางการพยาบาล”.  วาราสารพยาบาลสงขลานครินทร์. 13 (1) (มกราคม – มีนาคม 2536). 18 – 27.
           ไพฑูรย์  สินลารัตน์ และ สำลี  ทองธิว, บรรณาธิการ.  2535.  การวิจัยทางการศึกษา : หลักและวิธีการสำหรับนักวิจัย.  พิมพ์ครั้งที่ 4.  กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
           มยุรี  นกยูงทอง.  2542.  “การยอมรับการยอมรับการรักษาครบถ้วนของผู้ป่วยวัณโรค: กลุ่มผู้ป่วยที่รับการรักษาระบบ DOTS (Comply และ Non-comply)”. วารสารประชากรศาสตร์. 15 (2) (กันยายน 2542). 57 – 73.
           มยุรี  พลางกูล ,พันเอกหญิง.  2529.  เอกสารประกอบการสัมมนาย่อยแพทยศาสตร์ศึกษา: การวิจัยเพื่อการ สาธารณสุขของประเทศ ระหว่างวันที่ 23 – 25 กรกฎาคม  2529 ณ ห้องประชุม  ชั้น 1อาคารเรียนรวม วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า. กรุงเทพฯ : คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล.
           มาลี  เกิดพันธุ์ และ มนัส  กุณฑลบุตร.  2543.  “ประเมินผลการดำเนินงานควบคุมวัณโรคแนวทางใหม่ และการรักษาแบบมีพี่เลี้ยง พื้นที่สาธิตในเขต 3 : กรณีศึกษาจังหวัดจันทบุรี ปีงบประมาณ 2540 – 2542”. วารสารสาธารณสุขมูลฐาน ภาคกลาง.  16 (6) (สิงหาคม – กันยายน 2543).  54 – 64.
           เยาวภา  ปิ่นทุพันธ์.  2543.  คู่มือการวิจารณ์รายงานการวิจัย.  พิมพ์ครั้งที่ 1.  กรุงเทพฯ : บ. แปลนพริ้นท์ติ้ง จำกัด.
           สภาการวิจัยแห่งชาติ.  2541.  แนวทางปฏิบัติ จรรยาบรรณนักวิจัย.  กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม.
           สุธีระ  ประเสริฐสรรพ์.  2544.  สนุกกับงานวิจัย.  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.  (สำเนา)
           สุนันทา  โปตะวนิช.  2541.  “การวิจัยเชิงคุณภาพ : Qualitative Research”.  วารสารวิทยาการจัดการ.  15 (1) พิเศษ (มกราคม – มิถุนายน 2541). 13 – 17.
           สุภางค์  จันทวานิช.  2537.  วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ.  พิมพ์ครั้งที่ 5.  กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

           Dempsey, P.A. and Dempsey, A.D.  2000.  Using nursing research process, critical evaluation and  utilization.  Philadelphia: Lippinrott.
           Isaac S. and Michael W.B.  1977.  Handbook in research and evaluation.  California: Edits Publishers.
           Lefferts R.  1978.  Getting a grant how to write successful grant proposals.  Englewood Cliffs, New Jersey: Prentice-Hall.
           Leininger, Madeleine.  1994. “Evaluation Criteria and Critique of Qualitative Research Studies”. Critical Issue in Qualitative Research Methods. Morse, Janice M, editor.  California: SAGE Publication.
           Miles, B. Matthew. and Huberman, A. Micheael.  1994.  Qualitative Data Abnalysis.  2 nd ed. Thousand Oaks: SAGE Publication.

หมายเลขบันทึก: 4023เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2005 15:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ลองอ่านเนื้อหาและบทวิจารณ์นี้ดู ว่าที่เขาพูดนะถูกต้องมั้ย

"...เราจะดูคุณภาพและความน่าเชื่อถือของงานวิจัยได้อย่างไร ..."

อย่างที่คุณชายขอบ..ได้บันทึกนั้นในมุม..เชิงวิชาการ...แต่หากเติม..ด้านจิตวิญญาณ คือ "ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง..ในสิ่งที่ทำของผู้วิจัย..." ก็น่าจะเป็นอีกสิ่งยืนยันหนึ่งได้ว่า...งานวิจัยชิ้นนั้น..มีคุณภาพ...เพราะเมื่อเข้าใจอย่างลึกซึ้งแล้ว..นั่นสะท้อนให้เห็นได้ว่าผู้วิจัย..ได้ลงมือศึกษา...ด้วยตนเองอย่างถ่องแท้...

ขอขอบคุณ Dr.Ka-poom ที่มาเติมเต็มให้ในทุกสถานการณ์ครับ ขอบคุณจริง ๆ "เพื่อนที่รักคนดีคนหนึ่ง" ของผม ไม่เคยทอดทิ้งกันเลย ห่วงแต่ว่า "คุณโอเล่" ยังเป็นเพียงผู้เสพ หากได้หัดร่วม ลปรร.ด้วย จะขอบคุณมาก ๆ เพราะถ้อยคำนี้ "ลองอ่านเนื้อหาและบทวิจารณ์นี้ดู ว่าที่เขาพูดนะถูกต้องมั้ย" อ่านแล้วผมห่อเหี่ยวใจยังไงไม่ทราบ ขอโทษที่เอ๋ยออกมาตรง ๆ แต่ก็ยืนยันว่ารู้สึกเช่นนั้นจริง ๆ หากจะวิพากษ์ที่ผมวิพากษ์ไว้ต่อ จะดีไม่น้อยเลยเชิงไหนก็ได้เพื่อเติมเต็มให้กันและกัน คุณโอเล๋ คงต้องทบทวนบทบาทตัวเองดู "การให้" เป็นสิ่งจำเป็นในการเริ่มต้น ลปรร. ครับ

ลปรร. "ต่อเติมเพิ่มจากคุณชายขอบ"

สิ่งสำคัญที่ "มนุษย์" เราก้าว..เข้ามาสู่...การ  "ลปรร."
นั่นคือ...การพยายามที่..จะดึง "กึ๋น"..ที่เรามี...ออกมา
หรือภาษาที่นิยมกันมากนัก..คือ Tacit  Knowledge
ต่อภูมิรู้นั้นที่เรามี...สู่ Explicit  Knowledge...
และควรที่จะทำ...เพื่อให้เกิดเป็นนิสัย...ไปจนถึง...วัฒนธรรม
จนกลายเป็นความคุ้นชิน..(สำนวนคุณชายขอบน่ะคะ...)
...
สังคม..เราก็คงจะน่าอยู่ยิ่งขึ้นนะคะ (เจริญ)

ลปรร. "ต่อเติมเพิ่มจากคุณชายขอบ"

สิ่งสำคัญที่ "มนุษย์" เราก้าว..เข้ามาสู่...การ  "ลปรร."
นั่นคือ...การพยายามที่..จะดึง "กึ๋น"..ที่เรามี...ออกมา
หรือภาษาที่นิยมกันมากนัก..คือ Tacit  Knowledge
ต่อภูมิรู้นั้นที่เรามี...สู่ Explicit  Knowledge...
และควรที่จะทำ...เพื่อให้เกิดเป็นนิสัย...ไปจนถึง...วัฒนธรรม
จนกลายเป็นความคุ้นชิน..(สำนวนคุณชายขอบน่ะคะ...)
...
สังคม..เราก็คงจะน่าอยู่ยิ่งขึ้นนะคะ (เจริญ)

ลปรร. "ต่อเติมเพิ่มจากคุณชายขอบ"

สิ่งสำคัญที่ "มนุษย์" เราก้าว..เข้ามาสู่...การ  "ลปรร."
นั่นคือ...การพยายามที่..จะดึง "กึ๋น"..ที่เรามี...ออกมา
หรือภาษาที่นิยมกันมากนัก..คือ Tacit  Knowledge
ต่อภูมิรู้นั้นที่เรามี...สู่ Explicit  Knowledge...
และควรที่จะทำ...เพื่อให้เกิดเป็นนิสัย...ไปจนถึง...วัฒนธรรม
จนกลายเป็นความคุ้นชิน..(สำนวนคุณชายขอบน่ะคะ...)
...
สังคม..เราก็คงจะน่าอยู่ยิ่งขึ้นนะคะ (เจริญ)

     ขอบคุณ Dr.Ka-poom อีกครั้ง เน้นย้ำว่า "เพื่อนที่รักคนดีคนหนึ่งคนนี้" ของผม ไม่เคยทอดทิ้งกันจริง ๆ และยิ่งทำให้เห็นภาพการถ่ายโอน โยนผ่าน ไป-มา Tacit  Knowledge สู่ Explicit  Knowledge ชัดขึ้น

เป็นความรู้ที่ดีมากเลย ขอบคุณนะคะ กำลังเรียนวิชาวิจัยเชิงคุณภาพอยู่จึงมีประโยชน์มากๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท