เยี่ยมชม KM โรงเรียนชาวนา


โดย ศ. ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต และคณะ
เยี่ยมชม KM โรงเรียนชาวนา
เมื่อวันที่ ๑๕ กย. ๔๘ สคส. ได้ติดต่ออำนวยความสะดวกให้คณะของ ศ. ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต     ไปเยี่ยมชมกิจการของ รร. ชาวนาสุพรรณบุรี ของ มขข. (มูลนิธิข้าวขวัญ) 
เราไปกัน ๑๗ คน ใช้รถตู้ ๓ คัน    และ เลขาธิการสภาพัฒน์ ดร. อำพน กิตติอำพน ตามไปสมทบทีหลังในตอนบ่าย     คณะที่ไปมี ๔ ทีม   คือทีมสภาพัฒน์ นำโดย ศ. ดร. สิปปนนท์ และ ดร. อำพน     ทีมสภาการศึกษา นำโดย ดร. สิริพร บุญญานันต์ รองเลขาธิการ    ทีมสถาบันวิจัยโภชนาการ ม. มหิดล นำโดย รศ. ดร.  พัตธนี วินิจจะกูล รอง ผอ.    และทีม สคส. มีน้ำ อ้อม และผม    นอกจากนั้นยังมีทีม อ. ตุ้ม จาก ม. เกษตรกำแพงแสนมาร่วมสมทบด้วย    รวมคนทั้งหมดในคณะกว่า ๒๐ คน
วันที่ ๑๔ ฝนตกตลอดวันทั่วประเทศไทย รวมทั้งที่สุพรรณ    และพยากรณ์อากาศว่าวันที่ ๑๕ ก็จะยังตกอยู่     เราจึงเตรียมไปผจญฝนกันเต็มที่     แต่เหมือนฟ้าโปรด ฝนไม่ตกเลยจนเรากลับเมื่อเวลา ๑๖.๓๐ น. จึงตกอย่างหนัก
KM ทัวร์ ครั้งนี้ประสบผลสำเร็จมาก    คณะผู้ไปเยี่ยมชมเห็นด้วยตนเอง ว่า
1.        ชาวบ้านรวมกลุ่มกันดำเนินการจัดการความรู้ได้    โดยเอาความรู้ฝังลึก (tacit knowledge) ในแต่ละคนมา ลปรร. กัน    และเรียนรู้ความรู้แจ้งชัด (explicit knowledge) จากผู้อื่นแล้วเอาไปทดลองปฏิบัติ หรือปรับใช้ตามบริบทของตน    แล้วเอาความรู้ฝังลึกจากการปฏิบัติของแต่ละคนมา ลปรร. กัน     ก็จะเกิดการยกระดับความรู้ขึ้น    นำความรู้นั้นไปทดลองปรับใช้อีก หมุนเวียนเช่นนี้เรื่อยไป
2.        แกนนำนักเรียน รร. ชาวนา มีความเข้าใจเรื่อง KM ในระดับที่ลึกอย่างน่าแปลกใจ     เนื่องจากเข้าใจจากการปฏิบัติของตนเอง ผสมกับการฟังการบรรยาย
3.        นักเรียนชาวนาสามารถสร้าง “ความรู้” ขื้นใช้เอง ได้มากมาย    เป็นความรู้ราคาถูกแต่ใช้งานได้ดี    ได้แก่ จุลินทรีย์   น้ำหมักชีวภาพ   ปุ๋ยอินทรีย์   ฮอร์โมนบำรุงพืช  มากมายหลากหลายสูตร   รวมทั้งวิธีทำนาแบบอินทรีย์ที่ใช้การได้จริง
4.        การทำนาแบบเกษตรยั่งยืน หรือเกษตรอินทรีย์ ช่วยลดรายจ่าย  ลดความเจ็บป่วย  และเพิ่มความสุข แก่นักเรียน รร. ชาวนาได้จริง    รวมทั้งช่วยสร้างความเข้มแข็งของชุมชน
5.        KM เป็นเครื่องมือของการพัฒนาชุมชนแนวใหม่ได้
6.        รร. ชาวนา มขข. ช่วยให้ชาวนารู้สึกมีเกียรติ และภาคภูมิใจที่เป็นชาวนา

เราไปฟังการบรรยายเรื่อง มขข. โดยคุณเดชา ประธาน มขข.   และเรื่อง รร. ชาวนาแต่ละโรง รวม ๔ แห่ง นำเสนอโดยตัวแทนนักเรียนชาวนา ที่สำนักงาน มขข. ตั้งแต่ ๙.๑๕ น. จนถึงเวลาเที่ยงจึงเดินทางไป อ. ดอนเจดีย์ เพื่อกินอาหารเที่ยงฝีมือชาวนา    และฟังการบรรยายสรุปเรื่องกิจกรรมของ รร. ชาวนา ต. หนองแจง ซึ่งมีลักษณะพื้นที่ต่างจาก รร. ชาวนาอีก ๔ แห่งที่เป็นเขตนาน้ำฝน ไม่มีชลประทาน    นักเรียนชาวนาจึงต้องเรียนปฏิบัติโดยการทดลองปลูกข้าวในกระถาง
นักเรียน รร. ชาวนาบ้านหนองแจง เตรียมตัวต้อนรับคณะเราเต็มที่    คุณชมพู่ (ชลสรวง พลแสน) “คุณอำนวย” ประจำ รร. ถึงกับไปนอนที่นั่นเพื่อเตรียมความพร้อมให้เราไปดูที่จุดทดลอง     แต่ฝนที่ตกหนักในช่วง ๒ วันที่ผ่านมาทำให้รถตู้เช้าไม่ได้    เราเลยฟังการบรรยายสรุปกัน ณ จุดรับประทานอาหารเที่ยงนั่นเอง
ที่ อ. อู่ทอง เราไปเยี่ยมชมกิจกรรมของนักเรียนชาวนา ต. บ้านดอน ๒ บ้าน คือบ้านของ คุณประทิน ห้อยมาลา กับคุณ --    ได้เห็นวิธีเตรียมหัวเชื้อจุลินทรีย์หลากหลายวิธี    ทั้งแบบใช้ใบไผ่ และใช้ดินปลวกผสมรำทำเป็นก้อน     เราได้มีโอกาสดมกลิ่นหอมของหัวเชื้อจุลินทรีย์แต่ละแบบซึ่งหอมต่างกัน     และได้รับแจกน้ำหมักจุลินทรีย์  ฮอร์โมน  สารกำจัดเชื้อรา  ข้าวสาร  ที่นักเรียน รร. ชาวนาผลิตเองทั้งสิ้น    นอกจากนั้นยังได้ไปชมแปลงนาพัฒนาพันธุ์ข้าวที่นักเรียนชาวนาดำเนินการตามแบบของ มขข. ซึ่งเพิ่งดำนาไปเพียง ๗ วัน    โดยดำที่ละต้นเดียวตามที่ มขข. บังคับ    เราได้เห็นสาหร่ายที่ชาวบ้านเรียกว่าเทา อยู่ในแปลงนา     ชาวบ้านบอกว่าถ้าดินไม่สมบูรณ์จะไม่มีเทา     เทานี้เอามายำกินได้
ผมดีใจที่วันนี้ผมได้ทำตามสัญญากับนักเรียนชาวนา ต. บ้านดอน และ บ้านหนองแจง ว่าจะไปเยี่ยม    บัดนี้ผมได้ไปเยี่ยม รร. ชาวนาครบทั้ง ๔ แห่งแล้ว    แต่ยังเสียดายที่ไม่ได้ลงพื้นที่ของบ้านหนองแจง     ผมจะหาโอกาสไปเยี่ยมถึงที่ให้ได้ 
คุณเดชา ศิริภัทร ย้ำอีกว่าอยากให้ “บัณฑิตชาวนา” ที่จบ ระดับ “อุดมศึกษา” ได้รับ “ปริญญา” จากสมเด็จพระเทพฯ    ผมคิดว่าความฝันนี้อาจใกล้ความจริงเข้ามา เพราะว่าผู้ที่ไปเยี่ยมและชื่นชมต่อผลงานของ รร. ชาวนาในวันนี้เป็นผู้ใกล้ชิดพระยุคลบาท สามารถกราบบังคมทูลได้     ผมได้มีโอกาสกำชับนักเรียนชาวนาที่บ้านหนองแจงว่าให้ตั้งใจเรียนให้ดี    อาจได้รับ “ปริญญา” จากพระหัตถ์สมเด็จพระเทพฯ
ดร. ศิริพร บอกว่า สกศ. (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา) จะหาทางไปทำวิดีโอกิจกรรมของ รร. ชาวนา     เพราะเป็นเรื่องภูมิปัญญา     และได้ขอให้ผมเขียนเรื่องสั้นๆ เกี่ยวกับความซาบซึ้งของนักเรียน รร. ชาวนาที่ได้เข้าเฝ้าถวายรายงานในงานนิทรรศการที่สถาบันวิจัยโภชนาการ เมื่อวันที่ ๑๖ สค. ๔๘ ลงในหนังสือที่ สกศ. กำลังจัดพิมพ์เฉลิมฉลองพระชนมายุ ๕๐ พรรษา สมเด็จพระเทพฯ     ดร. ศิริพร ตั้งข้อสังเกตว่านักเรียนชาวนาทุกคนมีสีหน้าที่แสดงความสุข
ศ. ดร. สิปปนนท์ แนะนำว่า จะให้ KM ได้เป็นประโยชน์แก่ชุมชน – ประชาสังคมไทย จะต้องหาทางให้กระทรวงมหาดไทย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าใจ   ท่านยังให้ความเห็นว่าควรทำความตกลงการใช้คำภาษาไทยแทน tacit knowledge และ explicit knowledge ให้ใช้ตรงกันได้แล้ว     จะได้ไม่สับสน    ท่านชอบ "ความรู้ฝังลึก" มากกว่า ความรู้ซ่อนเร้น เพราะคำว่าซ่อนเร้นดูจะจงใจซ่อนและมีเจตนาไม่ดี   แต่คำว่าฝังลึกมีความหมายไปทางธรรมชาติของความรู้นั้นเอง   ส่วน explicit knowledge ท่านชอบคำว่า "ความรู้แจ้งชัด"
นายก อบต. ซึ่งเป็นบัณฑิตเทคนิคการแพทย์จาก ม. มหิดล และกำลังเรียนปริญญาโทเกี่ยวกับการบริหาร อบต. กับ มข. แต่เรียนที่กาญจนบุรี บอกว่าการที่มีผู้ใหญ่มาเยี่ยมชมและให้กำลังใจเช่นนี้มีประโยชน์มาก    ทำให้นักเรียนชาวนาเกิดความมั่นใจ และภูมิใจ ยิ่งขึ้น
คุณเดชาเล่าว่า ผวจ. สุพรรณบุรีเรียกไปคุย และบอกว่าต้องการให้ช่วยขยายงานส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ออกไปให้เต็มพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี  ต้องการงบประมาณเท่าไรให้เสนอมา     มขข. ได้เสนอที่จะดำเนินการ รร. ชาวนา ๑๐๐ โรง   มีชาวนาเข้าโครงการ ๕,๐๐๐ คน  พื้นที่นา ๒๕,๐๐๐ ไร่    ผลิตพันธุ์ข้าวอินทรีย์ สำหรับไปใช้กับแปลงนา ๑๕๐,๐๐๐ ไร่   
เลขาธิการสภาพัฒน์ ดร. อำพน สนใจเรื่องเงิน SML ที่รัฐบาลส่งลงไปให้ชุมชนเป็นพิเศษ    คอยสอบถามชาวบ้านว่ามีการปรึกษาหารือเพื่อนำไปใช้ทำประโยชน์จริงจังต่อส่วนรวมแค่ไหน    ดูท่านจะอยากให้เอามาใช้ส่งเสริมกิจกรรมเกษตรอินทรีย์และการเรียนรู้แบบ รร. ชาวนานี้
อ. สุวรรณี พรหมจันทร์ จากสถาบันวิจัยโภชนาการ มม.  ศูนย์จังหวัดอุบลฯ บอกว่ามองเห็นพลังของ KM ที่จะไปใช้เป็นเครื่องมือทำงานของนักพัฒนาชุมชนในภาคอีสาน    และอยากให้ สคส. ช่วยฝึกให้     เรายินดีนะครับ    คุณอ้อมจะเป็นผู้ประสานงานครับ
ค่ำวันนี้  (๑๗ กย.) ผมนั่งเครื่องบินกลับจากหาดใหญ่     มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งบอกผมว่า ศ. ดร. สิปปนนท์ เอาเรื่อง รร. ชาวนาไปเล่าในการประชุมในสภามหาวิทยาลัยทักษิณในวันนี้
นับว่าการพาผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไปเยี่ยม รร. ชาวนา ครั้งนี้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี
วิจารณ์ พานิช
๑๗ กย. ๔๘

หมายเลขบันทึก: 4026เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2005 21:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท