ทบทวนวรรณกรรม "ไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน" #1


เจตจำนงค์เพื่อรวบรวมวรรณกรรมไว้ให้เครือข่ายสมาชิกที่ร่วมวิจัยด้วยกันในทุกพื้นที่ตามโครงการ "ไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน" ได้เสพ และได้แสดงข้อคิดเห็นต่อประเด็นไว้ไว้ ก่อนที่จะนำไปถก (เถียง) กัน และตกผลึกได้กับบริบทของเราเอง จากนั้นจะนำมาสรุปต่อท้ายไว้อีกในภายหลัง ขอขอบคุณกัลยาณมิตรทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องและได้สร้างปัญญานี้ไว้ให้...ด้วยใจจริง...จากเครือข่ายวิจัยและร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน (คนชายขอบ)

เรื่องแผนแม่บทชุมชนในจังหวัดสงขลา

  • การทำแผนแม่บทชุมชนนั้น เป็นกระบวนการเรียนรู้ของชาวบ้าน มีประโยชน์ที่เกิดขึ้น 3 ประการคือ
          1. การได้เรียนรู้และเกิดองค์ความรู้จากการถกเถียงกัน
          2. การได้เพื่อน ซึ่งเกิดจากปฏิสัมพันธ์ในกระบวนการเรียนรู้
          3. มีพลังที่สามารถนำไปปฏิบัติจริงได้
     • กระบวนการของการร่วมกันทำงานของชาวบ้านไม่ยากนัก แต่กระบวนการของการทำให้เกิดการคิดร่วมกันนั้นยากมาก เพราะวัฒนธรรมการจับเข่าคุยกันในหมู่บ้านได้หายสาบสูญไป จากระบบราชการที่ใช้การสั่งการเข้าตลอดเวลา ชาวบ้านไม่ต้องคิดไม่ต้องวิจารณ์ เช่นเดียวกับเพลงผู้ใหญ่ลีที่ว่า " ทางการเขาสั่งมาว่าให้เลี้ยงเป็ดและสุกร " โดยที่ผู้ใหญ่ลีเองก็ไม่รู้ว่าสุกรนั้นคืออะไร แต่ไม่กล้าถามนายอำเภอ พอกลับมาชี้แจงลูกบ้าน ถูกลูกบ้านถามว่า " สุกรนั้นคืออะไร " ผู้ใหญ่ลีรีบตอบเร็วไว " สุกรนั้นไซร้ หมาน้อยธรรมดา " ชาวบ้านปัจจุบันยังเข้าใจว่า การมีส่วนร่วมคือการมานั่งฟัง ไม่มีสิทธิที่จะร่วมคิด ไม่กล้าถาม ไม่กล้าแสดงความเห็น
     • กระบวนการร่วมคิดอย่างมีส่วนร่วมที่ดีนั้น ต้องเป็นเวทีที่มีความหลากหลายของความคิด เป็นบรรยากาศของการแลกเปลี่ยน ด้วยศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน ไม่แบ่งรวยจน หรือข้าราชการและชาวบ้าน รวมทั้งผู้ที่พูดไม่เก่ง เขียนไม่เป็น ก็ควรต้องได้โอกาสในการแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมด้วย จนเกิดจิตวิญญาณของการเอื้ออาทรต่อกัน หลอมใจเป็นหนึ่งเดียว และที่สำคัญคือเป็นการคิดบนพื้นฐานการพึ่งตนเองไม่ใช่คิดว่าจะขออะไรจากหน่วยงานภายนอก หรือรอดูว่าเขาจะเอาอะไรมาให้
     • แผนชุมชนต้องเป็นแผนที่กินได้ ไม่ใช่เป็นแผนในกระดาษที่เลิศหรู เย็บเล่มสวยงามไว้โชว์นายอำเภอ แต่ต้องเป็นแผนที่ที่มีเนื้อหาประกอบด้วย แผนพัฒนาอาชีพและรายได้ , แผนวิสาหกิจชุมชน คือรวมผลิตภัณฑ์ทำการตลาดเพื่อขาย , แผนสุขภาพชุมชน , แผนการออมทรัพย์ เกิดเป็นธนาคารหมู่บ้าน , แผนสวัสดิการ ช่วยเหลือคนชรา คนด้อยโอกาส , แผนพัฒนาเด็ก เยาวชนและสตรี , แผนการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ,แผนการจัดสรรทรัพยากรชุมชน , แผนการส่งเสริมการเรียนรู้ , แผนด้านสาธารณูปโภค เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ได้จากการการระดมความคิดจากชุมชนอย่างเป็นกระบวนการ แต่ก็มีข้อเสนอว่า การแยกภาคราชการออกจากการทำแผนชุมชน อาจเป็นการตัดส่วนที่มีพลังออกไป
     • การได้มาซึ่งแผนชุมชน มีกิจกรรมกระบวนการหลายกิจกรรมอย่างเป็นขั้นตอนเช่น เริ่มด้วยการเปิดเวทีเรียนรู้หลายๆครั้ง, ประชาสัมพันธ์ให้คนในหมู่บ้านทราบ แต่จะมีคนเพียงบางส่วนเท่านั้นที่สนใจมาทำแผน, จัดกิจกรรมให้เรียนรู้ทุนทางสังคมที่ตนมีอยู่, จัดทำข้อมูลของชุมชน, จัดเวทีวิเคราะห์ปัญหา โดยเน้นการคุยกลุ่มย่อย, แล้วจัดเวทีสังเคราะห์ทางเลือกในการแก้ปัญหาโดยเน้นที่การพึ่งตนเอง, จัดเวทีผนึกแผน ประสานแผนกับแผน อบต. แผนของอำเภอเป็นต้น และสุดท้าย จัดเป็นมหกรรมเรียนรู้แผนแม่บทชุมชน เหมือนจัดงานฉลองให้ชาวบ้านส่วนใหญ่มารับรู้ร่วมกันเมื่อแผนเสร็จแล้ว
     • แผนทุกแผนที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นจริงไม่ได้ทั้งหมด ซึ่งก็เป็นเหมือนการหว่านเมล็ดพืชลงดิน อันไหนงอกก็สานต่อให้ยั่งยืน อันไหนไม่งอกก็รอต่อไป จากประสบการณ์การทำแผนพบว่า ในหมู่บ้านที่มีความเข้มแข็งนั้น ชาวบ้านไม่สนใจถนนดำเลย และมักมีแผนในการฟื้นฟูภูมิปัญญาพื้นบ้านและจริยธรรมชุมชน และจะเอื้ออาทรคิดถึงผู้ยากไร้ด้อยโอกาสในหมู่บ้าน ให้เขามีทางออกในชีวิตมากขึ้นด้วย
     • ถนนถึงที่ไหน ความจนถึงที่นั่น เพราะเมื่อถนนไปถึง เงินของชาวบ้านจะไหลออกจากชุมชนมากกว่าไหลเข้าชุมชน จากการบริโภคที่ไม่เคยได้คิดทบทวน ดังนั้นการเพิ่มรายได้ไม่ใช่แต่การหารายได้เท่านั้น แต่ต้องหมายถึงการลดรายจ่ายด้วย มิเช่นนั้นหาเท่าไรก็ไม่พอ หากมีการทำรายจ่ายออกมาเป็นข้อมูลที่ชัดเจนแล้ว จะทำให้คนในชุมชนตระหนักได้ เช่นเกิดความคิดถึงโรงสีชุมชน เพราะค่าข้าวสารนั้นสูงมาก หรือพบว่า ค่าน้ำปลาเป็นรายจ่ายที่สูงอันดับ 2 จึงคิดถึงโรงงานน้ำปลาของชุมชน ที่จะนำปลากะตักที่จับได้มาทำน้ำปลา แทนการขายปลากะตักแล้วซื้อน้ำปลาที่ผลิตจากระยอง
     • ชาวนาที่ทำนารอบทะเลสาบสงขลาเคยขายข้าวเปลือกแล้วมาซื้อข้าวสารกิน เมื่อเขาตามรอยข้าวสารพบว่า เมื่อข้าวเขาสุก จะมีโรงสีจากสุพรรณบุรีมารับซื้อข้าวเปลือกไปในราคากิโลกรัมละ 3.5 บาท แล้วนำกลับมาวางขายในชุมชนในราคาข้าวสารกิโลกรัมละกว่า 10 บาท ชาวบ้านเองเป็นชาวนาแต่ต้องกินข้าวสารที่แพงขึ้นถึง 3 เท่าของราคาข้าวเปลือก เขาจึงคิดถึงโรงสีชุมชน แม้ว่าจะสีแล้วข้าวหักไปบ้าง ไม่ได้เม็ดเรียวสวยเหมือนโรงสีใหญ่ แต่รำข้าวและแกลบยังเป็นสิ่งที่เขาเป็นเจ้าของและนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้
     • การทำแผนแม่บทชุมชนของ SIF ไม่ได้เน้นไปที่การเพิ่มรายได้แก่ชุมชนเหมือนอย่างเกือบทุกโครงการพัฒนาของรัฐมุ่งหวังไว้ แต่ การทำแผนแม่บทชุมชนนั้นมุ่งหวังให้ชาวบ้านได้เพื่อน ได้เครือข่าย เกิดเป็นองค์กรชุมชนที่เข้มแข็ง , ได้กระบวนการเรียนรู้ ทั้งรู้จักตนเอง รู้จักการใช้กระบวนการกลุ่มในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยไม่ต้องพึ่งวิทยากรภายนอก และสุดท้ายคือให้ชาวบ้านเกิดความสุข ความเอื้ออาทรร่วมกัน และเกิดความภูมิใจและร่วมใจในการพัฒนาชุมชนของเขาต่อๆไป

ที่มา : สรุปเสวนาประจำสัปดาห์ ของวิทยาลัยวันศุกร์ (บทความ)
วิทยาลัยวันศุกร์ ครั้งที่ 73 วันที่ 11 พฤษภาคม 2544
โดยคุณศิริพล สัจจาพันธุ์ ธนาคารออมสินภาค 9 คณะอาสาทำงานSIF จังหวัดสงขลา

หมายเลขบันทึก: 4027เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2005 21:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท