กรอบความคิด ประสบการณ์ กับความรวดเร็วของการเรียนรู้


กรอบความคิดที่แคบ ประสบการณ์จำกัด จึงพัฒนาความรู้ได้แค่นั้น ในอัตราที่ผมมองดูแล้วแทบจะ “หยุดนิ่ง”

ในกระบวนการเรียนรู้ของเรา มักพบคำว่า “กรอบความคิด” เป็นปัจจัยเริ่มต้นที่สำคัญ ที่กล่าวถึงกันมากที่สุด

เช่น การทำงานใดๆ ก็มักเริ่มกันที่ “กรอบความคิด” ที่กล่าวกันเสมอว่า ถ้ากรอบความคิดไม่ชัด ก็พัฒนายาก

แต่สำหรับบางท่านอาจเดินข้ามจุดนี้ไปแล้วก็อาจจะตั้งสมญานามตัวเองว่า “ไร้กรอบ”

ที่ผมคิดตามภาษาของคนที่ยังไม่บรรลุว่า

ไม่น่าจะไร้กรอบความคิด แต่น่าจะเป็นว่า กรอบความคิดที่มีอยู่ไม่เป็นขีดจำกัด หรือสามารถปิดกั้นความคิดและจินตนาการของท่านนั้นได้

ผิดถูกอย่างไร ระดับความคิดของผมก็เข้าใจได้แค่นี้ครับ

ดังนั้น เมื่อกลับเข้ามาสู่ประเด็น “กรอบความคิด” ที่ผมพบว่าเป็นอุปสรรคต่ออัตราการพัฒนาความรู้นั้น

ผมมีความคิดว่า

 กรอบความคิดที่กว้างจะสามารถหาประสบการณ์ได้มากและรวดเร็วกว่ากรอบความคิดที่แคบ

เช่น

  • สมัยผมเป็นเด็ก ผมพยายามคบคนหลากหลายแต่ก็คบแบบ “ยืนระยะ” ที่ไม่ให้มีปัญหากับตัวเรา และระหว่างคนที่เราคบ ทำให้ผมได้รู้จักวิถีชีวิตและความคิดของคนแบบต่างๆในสังคมที่ผมอาศัยอยู่
  • พอสมัยเรียนผมก็มีโอกาสพบคนมากขึ้น กว้างขวางขึ้น ด้วยความที่เป็นเด็กวัด อยู่วัดมานานมาก ทำให้ผมได้พบตั้งแต่ระดับเศรษฐีจนถึงยาจกที่เข้ามาพึ่งพาวัดในรูปแบบและวัตถุประสงค์ของตัวเอง
  • เมื่อไปเรียนที่ประเทศออสเตรเลีย ผมก็พยายามเรียนรู้โดยไปเช่าบ้านร่วมกับนักเรียนต่างชาติ และนักเรียนชาวออสเตรเลียแทนที่จะจับกลุ่มอยู่กับนักเรียนไทย ซึ่งทำให้ผมรู้จักคนกว้างมากขึ้น อันรวมถึงเพื่อนที่เป็นชนเผ่าดั้งเดิมของทวีปออสเตรเลีย
  • การได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมนักเรียนไทยในรัฐควีนส์แลนด์ ทำให้ผมได้มีโอกาสพบปะคนไทยทุกระดับที่ทั้งเดินทางไปเที่ยว ทำงาน และอาศัยอยู่ในประเทศออสเตรเลีย
  • เมื่อผมกลับมาเมืองไทย ผมก็พยายามทำงานกับคนทุกระดับ ตั้งแต่เกษตรกรยากจน ไปจนถึงระดับรัฐมนตรี จากชุมชนที่ด้อยโอกาสไปจนถึงนานาชาติ ตามแต่กรอบงานจะเปิดช่องให้ทำได้
  • เมื่อผมทำงานก็พยายามขยายกรอบงานให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่งานวิชาการแบบลึกๆ จนถึงงานวิจัยและพัฒนาแบบกว้างๆ จากระดับชุมชนถึงระดับนานาชาติ
  • เมื่อพัฒนาชีวิตก็พยายามเป็นทั้ง “ครู” และ “นักวิชาการ” สำหรับนักวิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน นักพัฒนาเชิงนโยบาย นักวิเคราะห์ระบบทรัพยากร เกษตรกร โดยทำงานเชื่อมโยงทุกอย่างแบบ “บูรณาการ”
  • ปัจจุบัน ได้ศึกษาเชื่อมโยงความรู้ทางวิชาการสู่การปฏิบัติในทุกด้านเท่าที่ทำได้ ตั้งแต่
    • การวิจัยในชุมชน
    • การวิจัยเชิงนโยบาย
    • การทำเกษตรอินทรีย์ การพัฒนาเกษตรยั่งยืน
    • การปรับใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การพึ่งตนเอง
    • การพัฒนาการเรียนรู้
    • การพัฒนาความเป็น “ครู”
    • การเชื่อมโยงวิชาการทางทรัพยากรเข้ากับประวัติศาสตร์
    • การพัฒนาความรู้ให้กับสังคม ที่รวมถึง การศึกษาภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ของสุวรรณภูมิ และประเทศไทยผ่าน “พระกรุโบราณ” และ
    • การพัฒนาความรู้เพื่อการพึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง

ที่ผมได้ก้าวผ่านกรอบความคิดที่กว้างพอสมควร และประสบการณ์หลายรูปแบบ ที่พบว่าเป็นส่วนช่วยให้ผมพัฒนาความรู้ในบางประเด็นที่สามารถก้าวทันคนที่ศึกษามาก่อน

 จนอาจพูดได้ว่า

หลายๆอย่างก็ไม่น้อยหน้า “รุ่นพี่” ที่ผมเคยใช้ท่านเหล่านั้นเป็น “ครู” และต้นแบบในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

เมื่อผมก้าวผ่านท่านเหล่านั้นมาระยะหนึ่ง ผมก็พยายามมองย้อนกลับไปว่า ท่านเหล่านั้นที่เคยนำทางให้ผม และนำหน้าผมไปไกลมาก ปัจจุบันท่านเหล่านั้นก็แทบจะอยู่ที่เดิม อย่างน้อยก็ในความรู้สึกของผม

ผมจึงพยายามวิเคราะห์และพยายามเข้าใจ “อดีตครู” ของผม ก็พอสรุปประเด็นได้ว่า

  • “ครู” ท่านเหล่านั้น มีกรอบความคิดที่แคบ ประสบการณ์จำกัด จึงพัฒนาความรู้ได้แค่นั้น ในอัตราที่ผมมองดูแล้วแทบจะ “หยุดนิ่ง”

ตัวอย่างชัดๆ ใกล้ๆ ก็คือท่านที่เคยเป็น “ครู” สอนให้ผมดูพระกรุ ว่าต่างจากพระโรงงานอย่างไร ท่านยังมีกรอบชุดความรู้ที่แคบ ที่ผมเปรียบเทียบอุปมาอุปมัย ของกรอบความคิดที่แคบ (แต่ปลอดภัย) ว่า

“กรุงเทพฯคือประเทศไทย”

ถ้าเริ่มจะเดินทางออกจากเขตกรุงเทพฯก็เริ่มจะไม่สบายใจแล้ว เพราะเกรงว่าจะเดินทางออกนอกประเทศไทย

แต่ผมคิดว่ากรอบความคิดของเราน่าจะกว้างกว่านั้นอีกสักหน่อย เพื่อจะได้เรียนรู้ได้กว้างขวางและมากขึ้น แม้จะชัดเจนน้อยลง หลากหลายมากขึ้น และมีอัตราเสี่ยงที่จะผิดพลาดมากขึ้นก็ตาม

ที่ถ้าเป็นใจผม

ผมจะไม่ใช้หลักเขตกรุงเทพฯเป็นตัวแบ่ง แต่จะพยายามสังเกตระบบโครงสร้างพื้นฐาน ภาษา การแต่งตัว และระบบสังคมมากกว่าใช้เกณฑ์แคบๆแค่หลักเขตกรุงเทพฯ (หรือตำราต่างๆ) ในการพิจารณา

ที่น่าจะทำให้สามารถรู้ความจริงของขอบเขตประเทศไทยออกจากประเทศเพื่อนบ้านได้ ดังอุปมาอุปมัยที่กำหนดข้างต้น

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมจริงๆก็อาจขอยกกรณีการแยกพระกรุออกจากพระโรงงานนั้น มีหลายท่านที่ติดกรอบความคิดแคบๆ

โดยไปท่องจำตำรา จำเนื้อ จำพิมพ์พระที่ “นักพุทธพานิช” กำหนดไว้ตามใจเขา ตามประเภทพระที่เขามีและสะสมไว้มาก เพื่อการปั่นตลาด และการปั่นราคา ก็เลยทำให้พลาดโอกาสที่จะศึกษาพระกรุแท้ๆ ที่ไม่อยู่ในกระแสการปั่นและไม่อยู่ในมือของ “นักพุทธพานิช” เหล่านั้น

เมื่อความคิดไปติดกรอบที่ “พ่อค้า” กำหนดไว้ จึงกลายเป็นอุปสรรคของการพัฒนาความรู้ที่กว้างและครอบคลุมความเป็นจริงที่เหลือ แบบที่ว่า “พอออกนอกกรุงเทพฯ ก็เริ่มกลัวว่าจะออกนอกประเทศไทย” นั่นแหละครับ

ในทางวิชาการทางด้านการเกษตรก็อยู่ในลักษณะเดียวกัน

การศึกษาเพื่อเป็นเหยื่อของธุรกิจอุตสาหกรรมเคมีทางการเกษตร

พอเปิดประเด็นด้านการทำการเกษตร ก็ให้ท่องจำว่า

ปลูกพืชอะไร จะต้องใช้ปุ๋ยเคมีสูตรไหน กี่ครั้ง ครั้งละเท่าไหร่

โดยแทบไม่พูดถึงการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อการเกษตรยั่งยืน ที่เป็นแก่นสาระของการพัฒนาทรัพยากรดินและที่ดิน

ที่ทำให้การพัฒนาการทางความคิดติดกรอบแคบๆ กับประสบการณ์แบบแคบๆ ที่ตอบสนองความต้องการของ “พ่อค้า” มากกว่าตัวเองและทรัพยากร

หรือการพัฒนาชุมชนก็เน้นการพัฒนา “รายบุคคล” ให้เป็นเหยื่อของระบบใหญ่กว่า โดยไม่ค่อยได้เน้น “การพัฒนา” ทรัพยากร ความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิต และการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

ที่เป็นกรอบความคิดที่แคบ ภายใต้ประสบการณ์แคบๆ จึงทำให้การเรียนรู้ “ติดกรอบ” และพัฒนาได้ยาก พัฒนาได้ช้า แบบแทบจะเรียกได้ว่า ไม่ย่ำอยู่ที่เดิม ก็ ถอยหลัง

เพราะเมื่อเราอยู่ที่เดิม แต่โลกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ก็เท่ากับว่าเรากำลังถอยหลัง

ดังนั้น การพัฒนาการเรียนรู้ที่ดีน่าจะมาจากกรอบความคิดที่กว้าง หลากหลาย และประสบการณ์ที่เป็นจริง อยู่กับความจริง

จึงน่าจะเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ดีได้

นี่คือแนวคิดที่สกัดมาจากประสบการณ์ตรงๆแบบชัดๆล้วนๆ เลยครับ

ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ

 

หมายเลขบันทึก: 400729เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2010 05:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 12:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ขอบคุณบันทึกอาจารย์ ผมขออนุญาตต่อยอดต่อครับ>>

ผมเห็นด้วยครับ ประเด็น "ไร้กรอบ" ในความเป็นจริงก็ไม่ได้ไร้กรอบ เพียงเเต่ทะลุกรอบที่เเคบในระดับหนึ่ง สู่อีกระดับหนึ่ง ในความเป็นจริงก็มี "กรอบ" ที่คลุมเป็นชั้นๆไป

โดยส่วนตัวของผมเอง ก็พยายามเรียนรู้ ความเปลี่ยนเเปลง-พัฒนาการการเรียนรู้ของตนเอง พยายามคิดเชิงวิเคราะห์กับปรากฏการณ์เสมอๆ เมื่อคิดใคร่ครวญได้ระดับหนึ่ง เราก็เรียนรู้ว่า เรายังคับเเคบมากสำหรับความคิดเริ่มต้น เดินไม่หลุดกรอบสักที เเต่ก็เห็นทาง อย่างนี้ก็เรียกได้ว่า "พอมีหวัง" ใช่ไหมครับ 

ผมให้ความสำคัญกับกระบวนการมากขึ้น ให้ความสำคัญกับ วิธีคิด (Views) เเละ มุมมอง (Concepts) มากขึ้น เพราะเเต่ก่อนก็มักอัตตาสูงเฉพาะ Action ที่ทำเป็นกิจกรรม-วิธีการต่างๆ เเต่เรียนรู้อีกว่า ทำเเต่ Actions หากปราศจาก Views & Concepts ที่ดี ทำให้ตายก็ได้เเค่เสร็จ.

ขอบคุณครับผม

ขอขอบคุณทุกถ้อยคำในสาระที่นำเสนอคะ

กรอบความคิดที่มีอยู่เดิมๆสามารถพัฒนาให้เกิดกรอบความคิดใหม่ได้ตลอดเวลา

วิธีคิดที่สร้างขึ้นใหม่ไม่ยึดติดกับความคิดเก่าๆทำให้โลกเราเปลี่ยนและพัฒนาได้ด้วยเช่นเดียวกันนะคะ

การคิดนอกกรอบไม่ได้หมายถึงการคิดแบบไร้ระเบียบวินัยทางความคิด บางครั้งก็ต้องกล้าหาญในการคิด

การมีอัตตาสูงก็มักเหนี่ยวรั้งมิให้คิดนอกกรอบคะ แต่ทุกอย่างมักขึ้นกับกระบวนการทางความคิดที่ถูกหล่อหลอมมาแต่อ้อนแต่ออดคะ

สวัสดีครับอาจารย์...

เพิ่งเข้าใจว่าที่ยังไม่ค่อยจะฉลาดกะเขาเนี่ย เป็นเพราะกรอบความคิดคับแคบนั่นเอง

นี่กระมังครับที่ทำให้คนคนหนึ่งที่เห็นปรากฏการณ์เดียวกันกับเรา เขาอธิบายและเข้าใจมันได้อย่างลุ่มลึกและคมชัด

แต่เราอธิบายได้เพียงผิวเผินประมาณว่า "ทื่อ มัว ตื้น"

ว่าจะถามหาซื้อกรอบความคิดอีก กลัวโดนเคาะกระโหลกอีก

แหะ แหะ แต่ถามหน่อยครับ การขยายกรอบความคิดเนี่ยทำไงครับอาจารย์...

กรอบความคิดมาจากประสบการณ์ และการเรียนรู้

คนมีประสบการณ์แต่ไม่เรียนรู้ ตามศัพท์ แปลว่า "โกหก"

เพราะถ้าไม่เรียนรู้เขาให้ใช้คำว่า "ประสพ" แทน

แต่ คนชอบโกหกตัวเอง ไม่ยอมใช้คำที่ถูกต้อง

ก็เลยต้องมาเพิ่มคำใหม่ว่า "การเรียนรู้" เข้าไปอีก

และคำนี้ก็กำลังถูกทำลาย ให้เหลือความหมายแค่ "เรียน" แต่ไม่จำเป็นต้องรู้ แค่คิดว่าตัวเองรู้ จะรู้จริงหรือไม่ก็ใช้ทันที

ภาษาก็วิบัติ และหาคำใหม่มาทดแทนไปเรื่อยๆ อย่างนี้แหละครับ

ฉะนั้น ประสพการณ์ (ความหมายเดิม) ก็ใช้ได้แล้วครับ

ถ้าความหมายใหม่ ต้องว่ากันอีกยาวเลยครับ

และหาที่จบยากเสียด้วยซิ

อิอิ

เรียนท่านIco64

  ขอบคุณเรื่องราวดีๆที่นำมาแบ่งปันนะคะ

หวังว่าจะมีประโยชน์นะครับ

อิอิ

สวัสดีครับอาจารย์เเสวง

     เป็นประโยชน์มากครับท่าน ขออนุญาตินำไปทำเอกสารเเจกเจ้าหน้าที่ในสำนักได้ไหมครับ เพราะคิดว่าน่าจะเกิดประโยชน์กับพวกเค้าเป็นอย่างมาก อันนี้หละเขาว่า  " กกฮ้างๆ ปลายซันสู้ลู่ " อิอิ

good.

narrowed mind is serious problem in TH today.

Esp. it was happen to teachers.

Recently a teacher refused to students seminar simply because she don't know on that topic.

regards,

zxc555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท