เจ้าครอกฟ้าศรีอโนชา


เจ้านายเชื้อสายลำปาง

หลังจากเชียงใหม่ตกเป็นของพม่าตั้งแต่สมัยพระเจ้าบุเรงนอง เมื่อ พ.ศ.2101 เป็นต้นมามีความพยายามเคลื่อนไหวเพื่อ "ฟื้นม่าน" (ต่อต้านพม่า) ภายในเชียงใหม่เป็นระยะซึ่งประสบผลสำเร็จบ้างในช่วงพม่ามีปัญหาการเมืองภายในเช่น ช่วง พ.ศ.2270-2306 ภายใต้การนำของเทพสิงห์แห่งเมืองยวม แต่ไนนานพม่าก็มาปราบได้อีก จน ถึง พ.ศ.2317 กองทัพหลวงจากกรุงธนบุรีได้ร่วมกับขุนนางในท้องถิ่นนำโดยพญาจ่าบ้าน(บุญมา)เจ้ากาวิละพร้อมน้องๆ ก็สามารถขับพม่าออกจากเชียงใหม่ได้สำเร็จเมื่อคืนวันเพ็ญ เดือน 5(เหนือ)ตรงกันคืนวันเสาร์ที่ 14 มกราคม-15 มกราคม พ.ศ.2317 พม่าต้องถอยกำลังไปตั้งมั่นที่เชียงแสน

ถวายนัดดานารีครั้งที่หนึ่ง
พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม)บันทึกเรื่องราวหลังฟื้นม่านในเชียงใหม่สำเร็จแล้วตอนหนึ่งดังนี้

"วันพฤหัสบดี เดือน ยี่ แรม 3 ค่ำ เสด็จอยู่ ณ พระตำหนักริมน้ำเมืองเชียงใหม่
ทรงตรัสว่า พระยาลาวมีชื่อสวามิภักด์เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ได้ทำราชการช่วยรบพม่ามีความชอบ ทรงพระราชทานพระแสงปีนยาว ปืนสั้น หอก เสื้อผ้าแก่พระยาจ่าบ้านให้ถือพระราชอาชญาสิทธิ์เป็นพระยาวิเชียรปราการครองเมืองเชียงใหม่....ในวันนั้นพระยาวิเชียรปราการถวายนัดดานารีเป็นบาทบริจาริกาผู้หนึ่ง ( พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีและจดหมายเหตุรายวันทัพสมัยกรุงธนบุรี ประชุมพงศาวดาร เล่ม 40 กรุงเทพ:คุรุสภา 2512 หน้า 67-68 ) แต่พระเจ้าตากไม่ทรงรับเพราะถือว่า"เป็นการพรากลูกเขา"
จึงพระราชทานคืนพร้อมเงิน 1 ชั่ง และผ้า 1 สำรับ ดังพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีบันทึกว่า " ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเงิน 1 ชั่ง ผ้าสำรับหนึ่งแล้วส่งตัวนารีผู้นั้นคืนให้พระยาวิเชียรปราการ" (
เรื่องเดียวกัน หน้า 68)

ถวายนัดดานารีครั้งที่สอง
ทัพหลวงกรุงธนบุรีออกเดินทางจากเชียงใหม่มาถึงลำปางซึ่งมีพระยากาวิละรอรับเสด็จพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีบันทึกว่า "ครั้นรุ่ง ณ วันอังคาร เดือนยี่ แรม 8 ค่ำ ยกจากห้างฉัตรมาประทับแรมลำปาง เพลาบ่าย 4 โมงเสด็จมานมัสการลาพระบรมธาตุ บูชาด้วยดอกไม้ทอง เงินแล้วโปรยเงินพระราชทานแก่ลาวเป็นอันมาก...อนึ่งพระยากาวิละถวายนัดดานารีเป็นบาทบริจาริกาผู้หนึ่ง

พระเจ้าตากโปรดให้นำนัดดานารีคืนพระยากาวิละและพระราชทานเงิน 1 ชั่งพร้อมผ้าสำรับหนึ่งเพราะไม่ประสงค์"พรากลูกเขา" เหมือนดังได้พระราชทานให้พระยาวิเชียรปราการที่เชียงใหม่ แต่พระยากาวิละ
และพระยาอุปราชาแห่งลำปางกราบทูลดังบันทีกว่า "บัดนี้เจ้าตัวก็สมัคร บิดามารดาญาติพี่น้องทั้งปวงก็ยอมพร้อมกันอันจะเป็นโทษด้วยพลัดพรากจากบิดามารดา" พระเจ้าตากจึงทรงรับไว้

ดังพระราชพงศาวดารบันทึกว่า"ทรงพระดำริเห็นว่าตั้งใจสวามิภักดิ์เป็นแท้แล้วจึ่งพาตามเสด็จฯมาด้วย"

นัดดานารีจากนครลำปางก็เข้าสู่ราชสำนักกรุงธนบุรีตามความประสงค์ของเจ้ากาวิละแห่งนครลำปาง
ความรักของแม่ทัพเอก ช่วงเวลาที่พระยากาวิละรับเสด็จทัพหลวงแห่งกรุงธนบุรีและถวายนัดดานารีเป็นบาทบริจาริกานั้น แม่ทัพเอกแห่งกรุงธนบุรีคือเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ(บุญมา)ได้มีโอกาสเห็นโฉมของแม่นางศรีอโนชาน้องสาวของพระยากาวิละรู้สึกต้องใจ จึงให้คนมาทาบทามขอนางดังพงศาวดารบันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า

"..เจ้าพระยาสุรสีห์ ก็มีใจรักใคร่ยังนางศรีอโนชาราชธิดาอันเป็นน้องเจ้ากาวิละ จึงใช้ขุนนางผู้ฉลาดมาขอเจ้าทั้ง 7 พระองค์พี่น้องมีเจ้าชายแก้ว พระบิดาเป็นประธานรำพึงเห็นกัลยาณมิตรอันจักสนิทต่อไปภายหน้าก็เอายังนางศรีอโนชาถวายเป็นราชเทวีแห่งเจ้าพระยาเสือคือเจ้าพระยาสุรสีห์นั้นแล.."

(ดู พงศาวดารสุวรรณหอคำนครลำปาง ตำนานเจ้าเจ็ดพระองค์ กับหอคำมงคลฉบับสอบทานเอกสารโดยศักดิ์ รัตนชัย อ้างในทิว วิชัยขัทคะ "พระอัครชายาเธอเจ้าศรีอโนชา" เจ้าหลวงเชียงใหม่ กรุงเทพ:คณะทายาทสายสกุล ณ เชียงใหม่ 2539 หน้า226 )

เมื่อเจ้าพระยาสุรสีห์(บุญมา)ได้รับเจ้าศรีอโนชาจากเจ้าชายแก้วผู้เป็นพ่อและเจ้ากาวิละผู้เป็นพี่พร้อมเจ้านายแห่งนครลำปางแล้วก็"เสด็จเมือ"ทางเมืองสวรรคโลก
กลับกรุงธนบุรีให้เจ้าศรีอโนชาเป็นท่านผู้หญิงแห่งบ้านปากคลองบางลำพู กล่าวได้ว่า หลังศึกฟื้นม่านที่เชียงใหม่ปี พศ.2317สาวงามจากนครลำปางก็ได้ติดตามเป็นบาทบริจาริกาจอมทัพแห่งกรุงธนบุรี 1
คนและติดตามเป็นเทวีของแม่ทัพแห่งกรุงธนบุรีอีก 1 คนโดยทั้งสองต่างได้"ถวายงาน"เพื่อแผ่นดิน
สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกรุงธนบุรีกับล้านนา เรื่องราวของนัดดานารีผู้ติดตามพระเจ้าตากไม่พบบันทึกสืบต่อ แต่เรื่องราวของเจ้าศรีอโนชามีปรากฏอย่างโดดเด่นยิ่ง

ความรักที่บ้านปากคลองบางลำพูในสมัยกรุงธนบุรี บ้านพักหรือตำหนักของพระยาสุรสีห์(บุญมา)
แม่ทัพเอกอยู่ที่ปากคลองบางลำพู ใกล้วัดตองปุหรือวัดชนะสงคราม เจ้าศรีอโนชาได้อยู่ที่บ้านพักแห่งนี้และมีธิดาด้วยกัน 1 คนเมื่อ พศ.2320 ต่อมาเมื่อบิดาได้รับสถาปนาเป็นวังหน้า จึงเรียกธิดาว่าเจ้าฟ้าพิกุลทอง

ความรักแผ่นดินของคนยวน ปากเพรียว
หลักฐานร่วมสมัยกรุงธนบุรีคือจดหมายเหตุควาทรงจำกรมหลวงนรินทรเทวีกล่าวว่าปลายรัชกาลกรุงธนบุรี"เกิดโกลี" เมื่อธิดา(เจ้าฟ้าพิกุลทอง)อายุได้ 4 ขวบนั้น กรุงธนบุรีก็มีเหตุร้าย ขณะแม่ทัพใหญ่ 2
พี่น้องคือเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ไปราชการทัพที่เวียตนามและเขมร พระยาสรรค์และพวกไปยกกำลังเข้าปล้นบ้านพระยาสุริยอภัย หลานพระเจ้ากรุงธนบุรีเพื่อก่อกบฎ

หนังสือไทยรบพม่าได้บันทึกบทบาทของเจ้าศรีอโนชาหรือเจ้าศิริรจนาตอนนี้ว่า "เมื่อเกิดการรบขึ้นนั้น เจ้าศิริรจนา ท่านผู้หญิงของพระยาสุรสีห์อยู่ที่บ้านปากคลองบางลำภู รู้ข่าวว่าข้าศึกมาปล้นบ้านเจ้าพระยาสุริยอภัยจึงคิดอ่านกับพระยาเจ่ง พระยาราม นายกองมอญเพื่อปราบกบฎ ขณะเดียวกันตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ บันทึกว่า "เจ้าศรีอโนชาได้ใช้ดั้น(จดหมาย)ไปหาชาวปากเพรียวเข้ามา แล้วมีอาชญาว่าคันสูยังอาษาพระยาสิงพระยาสันได้ ในมื่อกูมีชีวิตกูบ่หื้อสูได้ทำการบ้านเมือง จะหื้อสูสะดวกค้าขายตามสะบายเท่าเว้นไว้แต่การกูต้องประสงค์ว่าฉันนั้น

ชาวปากเพรียวอาษาเข้ายับ(จับ)เอาพระยาสิงห์พระยาสันได้แล้วฆ่าเสีย เจ้าศรีอโนชา"หงายเมือง"ได้ไว้แล้วไปเชิญเจ้าพระยาจักรีพระยาสุรสีห์สองพี่น้องเข้ามาผ่านพิภพขึ้นเสวยราชย์.." (ดู ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ 700 ปี 2539 หน้า118)

ปากเพรียวในเอกสารก็คือสระบุรี
ชาวปากเพรียวที่อาสาเข้ามาคงเป็นคนลาวหรือยวนในสังกัดของเจ้าศรีอโนชาจึงสามารถมีจดหมาย(ดั้น)สั่งไปมาปราบกบฎได้

บริเวณปากเพรียวนี้ต่อมาเป็นที่อยู่ของชาวยวนเชียงแสนจำนวนมากหลังจากพระเจ้ากาวิละพี่ชายของเจ้าศรีอโนชานำทัพตีเชียงแสนแตกเมื่อ พศ.2347 หลักฐานดังกล่าวแสดงถึงบทบาทของเจ้าศรีอโนชาในฐานะเป็นอยู่เบื้องหลังของการสถาปนาราชวงศ์จักรีอย่างชัดเจน

ความรักที่วังหน้า "ท่าพระจันทร์"
หลังจากปราบดาภิเษกและสถาปนาราชวงศ์จักรีเมื่อ พศ.2325 แล้ว เจ้าพระยาจักรี(ทองด้วง)ก็สถาปนาเป็นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ส่วนพระอนุชาคือเจ้าพระยาสุรสีห์(บุญมา)ก็ได้รับสถาปนาเป็นกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท(พศ.2286-2366) กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาทโปรดฯให้สร้างพระราชวังบวรอย่างใหญ่โตบน"พื้นที่ท่าพระจันทร์"ประกอบด้วยพระราชมณเฑียรที่ประทับสร้างเป็นวิมาน 3 หลัง พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน พระพิมานดุสิดาโปรดให้สร้างพระที่นั่งสุทธาสวรรย์เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ที่ทรงนำไปจากเชียงใหม่โปรดให้สร้างทุกอย่างในวังหน้าบนพื้นที่ท่าพระจันทร์เหมือนในวังหลวงเช่นโรงช้าง โรงม้า ศาลาลูกขุน คลัง วัดพระแก้ววังหน้าฯลฯ ต่างกันตรงที่ตำหนักข้างในวังหลวงสร้างด้วยไม้ แต่ตำหนักชั้นในวังหน้าสร้างเป็นตึก

โดยเฉพาะตำหนักของเจ้ารจจาหรือเจ้าศรีอโนชาพระอัครราชา
สร้างเป็นหมู่ตำหนักยกหลังคาเป็นสองชั้น และตำหนักของเจ้าฟ้าพิกุลทองพระราชธิดา รอบวังหน้ามีป้อม 10 ป้อมเช่นป้อมพระจันทร์ ป้อมพระอาทิตย์ฯลฯ นอกกำแพงพระราชวังบวรฯด้านใต้มีวัดแห่งหนึ่ง เดิมชื่อวัดสลัก กรมพระราชวังบวรฯโปรดให้เรียกว่าวัดนิพพานราม และเมื่อจะทำสังคายนาพระไตรปิฎกใน พ.ศ.2331 โปรดให้เรียกว่าวัดพระศรีสรรเพชญ์ ทรงออกผนวชวัดนี้ 15 วัน ปี พศ.2345 พม่ายกทัพมาตีเชียงใหม่ กรมพระราชบวรฯยกทัพขึ้นปราบ แต่เมื่อถึงเมืองเถินอาการนิ่วกำเริบทรงมอบอำนาจให้กรมพระราชวังหลังคุมทัพแทนแล้วทรงกลับกรุงเทพเมื่อ พ.ศ.2346 และสวรรคตที่พระที่นั่งบูรพาภิมุข พระชนมายุ 60 พรรษา (ดู มรว.แสงโสม เกษมศรีและวิมล พงศ์พัฒน์ ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่1ถึงรัชกาลที่ 3(พศ.2325-2394) กรุงเทพ:คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี 2515 หน้า 20-21,34-36)

พระอัครชายาเจ้าศรีอโนชากับความรักเพื่อแผ่นดิน
หลังจากกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาทสวรรคตแล้ว ไม่พบบันทึกเรื่องราวของพระอัครชายาเจ้าศรีอโนชา แต่คงอยู่ในพระราชบวรจนสิ้นพระชนม์และคงมีการนำอัฐิมาไว้ที่นครลำปาง เพราะปัจจุบันยังที่ประดิษฐานพระอัฐิของพระอัครชายาเจ้าศรีอโนชาที่วัดพระธาตุลำปางหลวง นครลำปาง ส่วนพระราชธิดาคือเจ้าฟ้าพิกุลทอง ได้ทรงกรมเป็นกรมขุนศรีสุนทรเมื่อปีมะโรง พศ.2351 และสิ้นพระชนม์เมื่อปีมะเมีย
พ.ศ.2353 พระชันษา 34 ปี นับเป็นนัดดาของพระเจ้ากาวิละแห่งนครเชียงใหม่

พระอัครชายาเจ้าศรีอโนชา"แม่หญิงแห่งล้านนา"ได้สร้างวีรกรรม"หงายเมือง"ให้สองพี่น้องแม่ทัพเอกแห่งกรุงธนบุรีผู้เป็นอดีตขุนนางแห่งกรุงศรีอยุธยาได้ปราบดาภิเษกและสถาปนาราชวงศ์ใหม่ ซึ่งสองพี่น้องผู้เป็น"วังหลวง"และ"วังหน้า"แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ตระหนักและยกย่อง พระนางจึงเป็นพลังสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสัมพันธ์อันดีระหว่างราชวงศ์จักรีกับตระกูลเจ้าเจ็ดตนแห่งล้านนา

ความรักของเจ้าศรีอโนชาจึงเป็นความรักเพื่อแผ่นดินที่ยิ่งใหญ่และพิเศษสุดคือเป็นความรักเพื่อสองแผ่นดินทั้งแผ่นดินของพ่อแม่พี่น้องคือล้านนาและแผ่นดินของฝ่ายสวามีคือกรุงรัตนโกสินทร์
ความรักเพื่อแผ่นดินของ"วังหน้า" บริเวณที่ตั้งพระราชวังบวรสถานมงคลหรือ"วังหน้า"ซึ่งเป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาทและพระอัครชายาเธอเจ้าศรีอโนชาเป็น"แผ่นดินทางการเมือง"ที่มีประวัติศาสตร์ระทึกใจตลอด 2 ศตวรรษนับแต่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ใน พศ.2325เป็นต้นมา

เพราะราชธรรมเนียมที่กำหนดไว้คือ"เมื่อสิ้นพี่ก็จะต้องเป็นของน้อง" ดังนั้นทั้งวังหลวงและวังหน้าจึงมีทุกอย่างเสมอเหมือนกัน การถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองก็ต้องมี 2 ชุดทั้งวังหลวงและวังหน้า แต่น้องผู้เป็น"วังหน้า"ต้องสิ้นพระชนม์ก่อนพี่ผู้เป็น"วังหลวง" ดังนั้นจึงมีเรื่องเล่าว่าระหว่างทรงประชวร
กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทโปรดฯให้เชิญพระองค์ขึ้นเสลี่ยงเสด็จออกไปวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์(ต่อมาเรียกวัดมหาธาตุ)เพื่อนมัสการพระประธานในพระอุโบสถทรงจับพระหัตถ์อุทิศถวายพระแสงเพื่อเป็นพุทธบูชาเพื่อให้ทำเป็นราวเทียน เป็นที่มาของรูปแบบพระบวรอนุสาวรีย์หน้าวัดมหาธาตุในปัจจุบัน
ครั้งนั้นเล่ากันว่าทรงบ่นว่า"ของนี้กูอุตสาห์ทำด้วยความคิดและเรี่ยวแรงเป็นหนักหนา...ต่อไปก็จะเป็นของท่านผู้อื่น..และทรงแช่งตอนหนึ่งว่า"..นานไปใครที่มิใช้ลูกกู ถ้ามาเป็นเจ้าของเข้าครอบครอง
ขอผีสางเทวดาจงบันดาลอย่าให้มีความสุข.."(สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ"ตำนานวังหน้า"
ประชุมพงศาวดารภาค 13 อ้างในสมโชติ อ๋องสกุล "วังหน้า:ประวัติศาสตร์เมื่อ 200 ปี บนดินแดนธรรมศาสตร์" 2525)

การเมืองที่พลิกผันชุดแรกของดินแดนนี้เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญทิวงคตในวันที่ 28 สิงหาคม พศ.2428 รัชกาลที่ 5 ก๋โปรดฯให้ยุบเลิกตำแหน่งวังหน้าและสถาปนาตำแหน่งพระบรมโอรสาธิราชขึ้นแทนเพื่อเปลี่ยนธรรมเนียมการสืบราชสมบัติ"จากพี่มายังน้อง"เป็น"จากพ่อมายังลูก"เรื่องราวของ"วังหน้า"ก็กลายเป็นตำนานที่ไม่ค่อยเปิดเผยตั้งแต่นั้นมา พื้นที่อาคารส่วนหนึ่งของดินแดนนี้ก็ถูกปรับเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โรงละคอนแห่งชาติ

ส่วนตำหนักฝ่ายในเช่นตำหนักของเจ้าฟ้าพิกุลทองซึ่งอยู่ด้านท่าพระจันทร์ต่อมาถูกรื้อเป็นที่สมบัติของกระทรวงกลาโหมเป็นที่ตั้งทหารกองต่างๆตามลำดับคือเป็นที่ตั้งกองทหารเรือ เป็นที่ตั้งกองทหารรักษาพระองค์ราบที่ 11 เป็นกองพันทหารราบที่ 4 และ 5

คำสำคัญ (Tags): #เจ้าศรีอโนชา
หมายเลขบันทึก: 400725เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2010 02:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 19:36 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท