ฟื้นฟูชูชาติลาว บำรุงพระพุทธศาสนา


ฟื้นฟูชูชาติลาว บำรุงพระพุทธศาสนา

ฟื้นฟูชูชาติลาว  บำรุงพระพุทธศาสนา

          พระเจ้าโพธิสารราช พ.ศ.๒๐๖๓ - ๒๐๙๐  ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ลาวที่ฉลาดหลักแหลม มีพระทัยเลื่อมใสหลักธรรมในพระพุทธศาสนา และเป็นกุศลยิ่ง  ทรงห้ามการบูชาไหว้ผีต่างๆ  และยังได้ทรงทำนุบำรุงศิลปะ และวรรณกรรมอีกด้วย

          ในด้านความมั่นคง ได้นำอาณาจักรล้านช้างแผ่อิทธิพลเข้าไปในอาณาจักรล้านนา  ทั้งนี้เนื่องจากล้านนาได้อ่อนแอลง เนื่องจากได้ทำศึกกับอาณาจักรอยุธยาเป็นเวลายาวนาน  และรุกรานเชียงตุงไม่สำเร็จ  ทางล้านช้างและหงสาวดีจึงแผ่อิทธิพลเข้าไปในล้านนา

          ใน พ.ศ.๒๐๘๘  พระเจ้าเกศเชษฐราช แห่งอาณาจักรล้านนา สวรรคต ไม่สามารถสรรหาผู้สืบราชสมบัติได้   เหล่าขุนนางแคว้นล้านนาจึงต้องอัญเชิญ เจ้าไชยเชษฐา โอรสพระเจ้าโพธิสารราช และเจ้าหญิงแห่งล้านนา  ให้ครองอาณาจักรล้านนา

          พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช   พ.ศ.๒๐๙๑ - ๒๑๑๔  ทรงเป็นกษัตริย์ลาวที่ชาวไทยคุ้นพระนามมากกว่ากษัตริย์ลาวพระองค์อื่น   ในสมัยของพระองค์ทรงได้อาณาจักรล้านนาไว้ในอำนาจ  ทรงเจริญพระราชไมตรี กับ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แห่งกรุงศรีอยุธยา    และได้ทรงสร้างพระธาตุศรีสองรักเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งพระราชไมตรีและระหว่างสองอาณาจักร   และได้ทรงสร้างพระธาตุหลวง  กับบูรณะพระธาตุพนมอีกด้วย

          ตรงกับสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ.๒๐๙๑ - ๒๑๑๑), สมเด็จพระมหินทราธิราช  (พ.ศ.๒๑๑๑ - ๒๑๑๒)    และสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช  (พ.ศ.๒๑๑๒ - ๒๑๓๓)

          และในสมัยนี้พระเจ้าบุเรงนองได้เป็นกษัตริย์ครองอาณาจักรหงสาวดี ที่เข้มแข็งมาก       จึงใน พ.ศ.๒๑๐๓ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงย้ายเมืองหลวงของอาณาจักรล้านช้างลงไปที่เมืองเวียงจันทน์ ทางใต้เมืองหลวงพระบาง ประมาณ   ๒๕๐ กิโลเมตร  เป็นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำโขง  ตั้งชื่อใหม่ว่า พระนครจันทบุรีศรีสัตนาคนหุตอุดมราชธานี   ซึ่งชาวเราคุ้นเคยกันในชื่อ กรุงศรีสัตนาคนหุต

          พ.ศ.๒๑๐๗  กองทัพพม่า เข้ารุกรานและยึดกรุงศรีสัตนาคนหุต  แต่พระเจ้าไชยเชษฐามิได้ประทับอยู๋  กองทัพพม่าได้กวาดต้อนผู้คนกลับไป รวมทั้งอุปราชวรวังโส พระอนุชา ด้วย  

          ต่อมา ในพ.ศ.๒๑๑๔  พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เสด็จออกปราบกบฏที่เมืองรามรักองการ   และไม่ปรากฏพระองค์อีก  เจ้าหน่อแก้ว  พระโอรสซึ่งเพ่งประสูติจึงได้ราชสมบัติสืบต่อไป

 และใน พ.ศ.๒๑๑๔  พระยาแสนสุรินทร์ลือชัย เห็นว่าพระเจ้าหน่อแก้วนั้นยังเยาว์มากนัก   จึงถอดออกเสียและตั้งตนเป็นกษัตริย์ครอบครองกรุงศรีสัตนาคนหุตต่อไป   เป็นกษัตริย์อยู่ได้ ๔ ปี

          กระทั่ง พ.ศ.๒๑๑๘   กองทัพพม่าก็มาตี และยึดกรุงศรีสัตนาคนหุตได้อีก  แล้วแต่งตั้งพระมหาอุปราชวรวังโส ซึ่งพม่านำตัวไปกรุงหงสาวดี เมื่อครั้งการศึก พ.ศ.๒๑๐๗   ให้เป็นกษัตริย์ครองอาณาจักรล้านช้าง   และนำตัวพระยาแสนสุรินทร์ลือชัยกลับไปกรุงหงสาวดี

          ต่อมาใน พ.ศ.๒๑๒๓   เกิดกบฏขึ้นในเวียงจันทน์พระมหาอุปราชฯสู้ไม่ได้ จึงเสด็จหนีไป แต่เสียชีวิตในระหว่างทาง   ฝ่ายพม่าจึงเข้ามาปราบกบฏ และแต่งตั้งพระยาแสนสุรินทร์ลือชัย ให้เป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีสัตนาคนหุตอีก  จนกระทั่งถึงแก่พิราลัยใน พ.ศ.๒๑๒๕  

          พระยานครน้อย โอรสได้เป็นกษัตริย์สืบต่อ   แต่ประชาราษฎร์ไม่นิยม  จึงถูกขุนนางปลดออก และไม่ทราบว่าจะสรรหาผู้ในมาเป็นกษัตริย์  และเวียงจันทน์ หรือ กรุงศรีสัตนาคนหุต ก็ไม่มีกษัตริย์อยู่ถึง ๘ ปี    บรรดาขุนนางลาวที่มีอำนาจ ปลดกษัตริย์ แต่ไม่มีปัญญา หาผู้มาเป็นกษัตริย์จึงขอร้องคณะสงฆ์ให้เดินทางไปเฝ้าพระเจ้าบุเรงนอง เพื่อ
ขอพระหน่อแก้ว โอรสพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ให้มาเป็นกษัตริย์ลาวสืบต่อไป    (พระเจ้าบุเรงนองน่าจะนำพระหน่อแก้วไปพม่าพร้อมกับพระยาแสนสุรินทร์ลือชัย เมื่อ พ.ศ.๒๑๑๘)

          พระหน่อแก้วได้เป็นกษัตริย์ลาว ตั้งแต่ พ.ศ.๒๑๓๔   ถึง พ.ศ.๒๑๓๙    ก็สวรรคต    พระวรวงศาธรรมิกราช ซึ่งเป็นพระญาติได้รับราชบัลลังก์ต่อไป

          ใน พ.ศ.๒๑๖๔  พระวรวงศาธรรมิกราช เกิดข้อขัดแย้งกับพระอุปยุวราช ผู้เป็นโอรส จนถึงขั้นเข้าต่อสู้กัน  พระอุปยุวราชสังหารพระบิดาได้  และได้ราชสมบัติ   แต่เพียงปีเศษๆ ก็สวรรคต     

          ประชาชนจึงเชิญพระยามหานาม ขุนนางผู้ใหญ่ท่านหนึ่งให้รับเป็นกษัตริย์  ทรงพระนามว่า พระยาบัณฑิตโพธิสาร  ครองราชย์ได้ ๔ ปี เศษก็สวรรคต     

          ประชาชนจึงเชิญพระหม่อมแก้ว โอรสพระวรวงศาธรรมิกราช (ที่ถูกโอรสสังหาร) ให้ครองราชย์ จวบจน พ.ศ.๒๑๗๐  จึงสวรรคต     

          จากนั้น  พระอุปยุวราช  (คนละคนกับที่สังหารพระบิดา) ได้ครองบัลลังก์   และเมื่อสวรรคต  พระองค์มีพระโอรส ๒ พระองค์  คือ  ท้าวต่อนคำ และ ท้าววิชัย  ก็ได้ครองราชสมบัติร่วมกัน   จนกระทั่งท้าววิชัย สวรรคต  เมื่อ พ.ศ.๒๑๗๙

 

 

หมายเลขบันทึก: 400720เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2010 02:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 09:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พระครูสุทธิธรรมญาณ

ขอข้อมูล คัมภีร์ฮีต12คลอง14 แต่งขึ้นในสมัยใด ใครเป็นผู้แต่ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท