เจ้านางยวงแก้ว


สตรีผู้รักประเพณียิ่งชีพ

เจ้าหญิงฟองแก้ว ณ เชียงใหม่

         เจ้าหญิงฟองแก้ว เป็นธิดาในเจ้าน้อยบัวละวงษ์ ณ เชียงใหม่ พระบิดาถวายให้ตามเสด็จพระราชชายา เจ้าดารารัศมีตั้งแต่ยังเล็ก จึงใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในตำหนักของพระราชชายา ในพระราชวังจนเติบโตเป็นสาวรุ่นงดงาม

         เมื่อเข้าสู่วัยสาว ด้วยความงามอันเลื่องลือของเหล่าข้าหลวงนางใน ตำหนักพระราชชายา ที่แต่งกายงามแบบชาวล้านนา คือ นุ่งซิ่น ผมยาว เกล้ามวย ทั้งยังเล่นดนตรีและร่ายรำได้งดงามอ่อนช้อย จึงไม่พ้นที่จะมีบุรุษมาสนใจและมอบความรักให้ ซึ่งก็คงหนีไม่พ้นเหล่ามหาดเล็กน้อยใหญ่ ไปจนถึงเสนาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เจ้าหญิงฟองแก้วเองก็เช่นกัน โดยเริ่มจากเจ้าจอมมารดาชุ่มได้มาสู่ขอเจ้าหญิงให้แก่พี่ชายของท่าน แต่พระราชชายาทรงปฏิเสธ ด้วยทรงมองว่าไม่เหมาะสม(คิดว่าพี่ชายของเจ้าจอมคงจะสูงอายุพอสมควร) ต่อมากรมหมื่นปราบปรปักษ์ ทรงสู่ของเจ้าหญิงฟองแก้วให้แก่โอรสของพระองค์ คือ ม...ปุ้ม มาลากุล ณ อยุธยา(ขณะนั้นรับราชการ กินตำแหน่งจมื่นภักดีจงขวา) และพระราชชายาทรงอนุญาต ทั้งสองจึงได้สมรสกัน มีบุตรชายหนึ่งคน คือ มล. เทียม มาลากุล ณ อยุธยา

           ด้วยทัศนคติของชาวกรุงสมัยนั้น มองว่าเชื้อสายทางฝ่ายเหนือทั้งหมดนั้นเป็น ลาว และค่อนข้างจะมองไปในแง่ลบ คือเหยียดหยามว่าต่างชั้นและต้อยต่ำกว่าชาวสยาม เพราะเป็นเพียงประเทศราชเท่านั้น ผู้ใหญ่ทางฝ่ายสามีจึงไม่ใคร่จะพอใจในการสมรสกันของทั้งสองนัก ด้วยอับอายที่จะต้องตอบคำถามแก่ผู้คนในสังคม ถึงสาเหตุที่มีสะใภ้เป็นลาว จึงบังคับให้เจ้าหญิงฟองแก้วตัดผมแบบชาวสยามทั่วไป คือ ทรงดอกกระทุ่มจอนยาวและแต่งกายแบบชาวสยามทั่วไป เพื่อขจัดคำครหา แทนที่ม...ปุ้มผู้เป็นสามีจะปกป้องภรรยาของตน กลับยื่นคำขาดแก่เจ้าหญิงฟองแก้วให้ตัดผมทิ้งเสียและเปลี่ยนเครื่องแต่งกายให้เหมือนคนอื่นทั่วไป ไม่เช่นนั้นจะแยกทางกับเจ้าหญิง เพื่อล้างความอับอายที่มี

          เจ้าหญิงฟองแก้วนั้น แม้จะรักบุตรมาก แต่ไม่ทรงคิดจะละทิ้งความเป็นล้านนาของตน จึงนำความกราบทูลพระราชชายา ซึ่งพระองค์ทรงกริ้วมาก และให้เจ้าหญิงแยกทางกับสามี มาอยู่ที่ตำหนักกับพระองค์เช่นเดิม โดยรับหน้าที่เป็นต้นห้องแทนคุณหญิงบุญปั๋น เทพสมบัติที่ออกเรือนไป เจ้าหญิงฟองแก้วจึงกลับมารับใช้พระราชชายาอีกครั้ง และพยายามจะนำบุตรชายมาเลี้ยงเอง แต่  ทางม...ปุ้มไม่ยินยอม ท่านจึงใช้ชีวิตอยู่ในตำหนักและตามเสด็จ พระราชชายา ต่อมาได้สมรสกับ เจ้าวุฒิ ณ ลำพูน แต่ก็ได้แยกกันอยู่อีกครั้ง และท่านก็ใช้ชีวิตเพียงลำพังจนกระทั่งท่านเสียชีวิตลง ด้วยวัย 40 เศษๆเท่านั้น

           การกระทำของเจ้าหญิงฟองแก้วนั้น แสดงให้เห็นถึงความยึดมั่นในประเพณีของตน ไม่คิดจะละทิ้งตามค่านิยมแห่งยุคสมัยที่กร้ำกรายเข้ามา หากคนไทยคิดได้เหมือนเจ้าหญิงแห่งล้านนาท่านนี้ ขนบธรรมเนียมประเพณีความเป็นล้านนาของเรา คงไม่ถูกค่านิยมแห่งยุคสมัยกลืนกินแบบทุกวันนี้แน่นอน

คำสำคัญ (Tags): #จารีตฮีตฮอย
หมายเลขบันทึก: 400723เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2010 02:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 12:50 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท