ช่วยลูกเรียนรู้


ช่วยลูกเรียนรู้ได้อย่างไร

 

 

 พัฒนาการที่เพิ่มทักษะการเคลื่อนไหว และประสาทการรับรู้ที่ดีขึ้น ทำให้ลูกวัยเตาะแตะเริ่มต้นการเรียนรู้ของตัวเองด้วยการทดลองจากประสบการณ์จริง พฤติกรรมอยากรู้อยากเห็นที่แสดงออกมาในลักษณะของความซุกซนตาม      ความเข้าใจของผู้ใหญ่ ถือเป็นจุดแรกเริ่มของความหาญกล้าที่เจ้าหนูโชว์ออกมาให้คุณพ่อคุณแม่ได้เห็น
เสียแต่ว่าหลายครั้งความหาญกล้านั้น ก็สร้างความหวาดหวั่นให้กับพ่อแม่ ด้วยเกรงว่าลูกน้อยจะได้รับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้จากความไร้เดียงสา บ่อยครั้ง เสียงดุ ขู่ ห้ามปรามด้วยเสียงตกใจอันดังของผู้เป็นพ่อแม่ ทำให้เจ้าหนูพลอยตกใจ และหยุดชะงักการกระทำนั้น โดยไม่รู้ความหมายที่คุณพ่อคุณแม่ตั้งใจจะบอกกับเขา และยังเป็นผลให้กระบวนการเรียนรู้ของเจ้าหนูหยุดสะดุดลงไปอย่างน่าเสียดาย ยิ่งไปกว่านั้น ก็คือ สมองน้อยๆ ของเจ้าหนูจะบันทึกเหตุการณ์นี้ เป็นความหมายในทางลบที่ผลักไสให้เจ้าหนูเกิดความขยาดที่จะลองสัมผัสเพื่อเรียนรู้อย่างถูกต้องอีกครั้ง และ บ่อยครั้งความกล้าหาญอย่างไร้เดียงสา เพราะขาดประสบการณ์ในการไตร่ตรองถึงผลร้ายที่ตามมาก็เป็นสาเหตุสร้างประสบการณ์ที่ไม่ดี ที่จะทำให้เขาขาดความเชื่อมั่น ในการพัฒนาความกล้าเก่ง

ความจริงแล้ว.. ลูกน้อยมีสัญชาตญาณของความกล้าเก่งแต่ตั้งเล็กๆ เมื่อกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายแข็งแรงขึ้น ธรรมชาติจะกำหนดให้เขากระตือรือร้นที่จะควบคุมกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายเพื่อใช้งานอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าเป็นการฝึกฝนทักษะให้เพิ่มขึ้น เหตุผลนี้เองที่ทำให้เขาซุกซนอยู่ตลอดเวลา ในสายตาของคุณ
การห้ามปราม หรือเข้าช่วยเหลือลูกอยู่ตลอดเวลา เป็นพฤติกรรมที่จะทำให้พัฒนาการกล้าเก่งของเจ้าหนูหยุดชะงักลงได้ ดังนั้น คุณควรดูแลให้เขาได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวด้วยตัวของเขาเอง โดยมีคุณเฝ้าดูอยู่ห่างๆ จะดีกว่า เปิดโอกาสให้เขาได้ภูมิใจในความสำเร็จของตัวเอง แล้วเขาจะค่อยๆ เรียนรู้ถึงความสามารถของตัวเอง และเคารพในตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเจ้าหนูเริ่มมีความคล่องตัวในการเคลื่อนไหว หยิบ จับ เดิน วิ่งได้แล้ว ความซุกซนของเขาอาจเสี่ยงทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ ซึ่งจะเป็นผลให้เกิดประสบการณ์ไม่ดีที่จะฝังใจเขาจนกลายเป็นปมขวางพัฒนาการกล้าเก่งได้เช่นกัน


ในกรณีนี้ คุณมี 2 วิธีในการดูแลเขาค่ะ
1.ป้องกันเจ้าหนูจากอันตราย ดูแลเขาอยู่ห่างๆ เมื่อเห็นว่าเหตุการณ์ทำท่าไม่ดี หรืออาจเกิดอันตรายกับเขาขึ้นแน่ ให้พาเขาออกมาจากสถานการณ์ตรงนั้น เช่น อุ้มเขาออกมาจากริมฟุตบาธ, พาเขาออกมาจากครัว

2.เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับเขา เข้าไปโอบกอด และปลอบโยนเขาในทันที บอกให้เขารู้ว่าเหตุการณ์นี้สามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าหากเขาประมาท และในครั้งหน้าถ้าเขาระวังมากขึ้น เหตุการณ์แบบนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น เช่น เขาขี่จักรยานชนประตูรั้วบ้านแล้วล้ม เข่าถลอก หลังจากเข้าไปปลอบโยน และทำแผลให้กับเขาแล้ว ให้คุณกอดเขาแล้วอธิบายให้เขาฟังว่า ถ้าในครั้งหน้าเขาไม่ขี่จักรยานเร็ว และระวังมากกว่านี้ เขาก็จะไม่ล้มจนเข่าถลอกเจ็บได้

หมายเลขบันทึก: 39439เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2006 13:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากค่ะ ข้อแนะนำ จะจำไปใช้กับหลานค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท