นับตั้งแต่วันแรกที่ผมได้มีโอกาสเข้ามาเป็นสมาชิกของ Gotoknow บันทึกแรกที่ผมใฝ่ฝันและอยากอ่านมากที่สุดก็คือ บล็อคของท่าน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช และผมก็ได้ทำตามความฝันนั้นแล้ว
แต่มาถึงวันนี้ ผมขอเรียนตามตรงเลยครับว่า “ผมอ่านไม่ทันครับ” เพราะ Blog ของท่านนั้น มีบันทึกที่มากมายและหลากหลายประเด็นเพิ่มมากขึ้นทุก ๆ วัน
จากวันนั้นผมก็ได้นั่งเฝ้าครุ่นคิด ว่าทำไมน๊อ คุณหมอถึงได้เขียนบันทึกได้เยอะแยะมากมายถึงขณะนี้
นับตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ ผมก็ได้คำตอบมาคำตอบหนึ่งครับนั่นก็คือ “การเป็นแม่แบบของการจัดการความรู้”
ขอกล่าวย้อนไปถึงครั้งที่ผมเคยได้ฟัง ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด บรรยาย ณ โรงพยาบาลราชวิถี คำพูด ประโยคต่าง ๆ รวมถึงทุกท่วงท่า น้ำเสียงของ ดร.ประพนธ์ ในวันนั้น ผมได้จดจำ และพยายามที่จะถอดสิ่งต่าง ๆ ออกมาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และในวันนี้ผมก็ได้จับคำพูดเรื่องของวิธีการที่ท่านบรรยายให้กับ “นักกำหนดอาหาร” วันนั้นได้ฟังเพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดทำ Work Shop ในช่วงบ่าย ท่านได้เน้นย้ำถึงประเด็นนี้หลายต่อหลายครั้ง ผมก็เลยนำสิ่งที่ท่านเน้นย้ำในวันนั้น ซึ่งเป็นหลักการของการจัดการความรู้ มาลองประยุกต์และตอบคำถามที่ผมคิดอยู่ในใจเกี่ยวกับบล็อคของคุณหมอครับ (ถ้าผิดพลาดพลั้งไปผมขออภัยด้วยนะครับ)
ในวันนั้นสิ่งที่ท่าน ดร.ประพนธ์ เน้นย้ำมากก็คือเรื่องของ “เรื่องเล่าเร้าพลัง” ท่านบรรยายว่า ขอให้เล่าเรื่องที่ประสบความสำเร็จ เป็น Tacit Knowledge เป็นเรื่องเล่า ไม่ใช่เรื่องของการแสดงความคิดเห็น เพราะเรื่องเล่าที่สำเร็จนั้น เป็นสิ่งที่เราทำมาแล้วดีประสบความสำเร็จ ให้เพื่อน ๆ ในกลุ่มตั้งใจฟัง และท่านก็บรรยายต่อว่า สิ่งที่เพื่อน ๆ ในกลุ่มเล่านั้น ไม่ใช่สูตรสำเร็จ ที่แต่ละคนจะนำไปใช้ได้เลย เพราะแต่ละปัญหาแต่ละคนแต่ละอย่างมีปัจจัยและบริบทที่แตกต่างกัน ทุกคนต้องลองคิดและตัดสินใจดูว่า “สิ่งไหนนั้นเหมาะสมกับเรา” และเราก็ลองนำไปใช้ ปรับใช้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ผมก็เลยได้ฉุกคิดขึ้นได้ว่า คุณหมอ กำลังสอนพวกเราอยู่แน่ ๆ เลยครับ ท่านไม่ได้สอนโดยใช้คำพูดโดยตรง แต่ท่านสอนโดยการปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่าง ทำให้ดู ลงบันทึกให้เห็นกันจะ ๆ เลยว่า “การจัดการความรู้” เขาทำกันแบบนี้ “เรื่องเล่าเล้าพลัง” ต้องทำแบบนี้ เพราะผมได้อ่านบันทึกของท่าน บางครั้งผมก็เข้าใจและสามารถนำไปใช้ได้อย่างมากเลยครับ แต่บางบันทึกก็สุดปัญญาที่ผมจะทำความเข้าใจได้ เพราะเป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่งที่ผมไม่มีทุนความรู้มาก่อนเลย ผมเลยเข้าใจว่า ท่านกำลังเล่าเรื่องร่าง ๆ ให้กับพวกเราในทุกสาขาวิชาชีพ เลือกนำไปใช้ให้เหมาะสำหรับทุก ๆ องค์กร มีให้เลือก Shopping กันตามอัธยาศัย แล้วแต่ว่าสิ่งไหนนั้นจะเหมาะสมกับเรา
อีกประเด็นหนึ่งที่ผมคิดได้ในวันนี้ครับ ก็คือเรื่องของ ประโยชน์จากการเล่าเรื่อง ในช่วงก่อนที่น้ำจะท่วมอุตรดิตถ์ ผมได้มีโอกาสพบและรับฟังการบรรยายจากคุณทรงพล ที่ท่านได้เดินทางมาบรรยายให้กับสำนักงานสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ ในเรื่องของ “ร่องความสุข”
ผมลองสังเกตตัวเองครับ เวลาผมพิมพ์บันทึกทีไร ผมก็จะรู้สึกได้ว่าเหมือนตัวเองกำลังยิ้ม หรือบางครั้งยิ้มออกมาโดยไม่รู้ตัว
ผมกำลังมีความสุขในการเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ครับ เป็นเรื่องเล่าที่สามารถเร้าพลังความสุขในตัวออกมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะอย่างนี้ทำให้เหมือนกับหลาย ๆ ท่านในบล็อค ติดยาเสพติดที่ชื่อว่า Blog ใน Gotoknow เพราะเมื่อไรที่เขียนบันทึก สารแห่งความสุขก็จะไหลหลั่งสูบฉีดทั่วร่างกาย ทำให้เรา “ยิ้มได้ทั้งวัน ยิ้มได้ทุกที่ และทุกเวลา” ครับ ผมและทุก ๆ คนก็จะอยู่ในร่องแห่งความสุขตลอดเวลาเลย
ทำให้คนที่อยู่รอบข้างตัวพวกเรารับได้รัศมีแห่งความสุขที่ผ่องถ่ายผ่าน “รอยยิ้ม” “แววตา” และ “เสียงหัวเราะ” ไม่ว่าจะเป็นลูก ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน แม้แต่กระทั่งใครต่อใครที่ไม่รู้จักที่เดินสวนกับเรา เขาก็จะได้เห็นใบหน้าเราที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มจากการที่ได้เขียนบันทึกอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
ผมและทุก ๆ คนได้ต้นแบบมาจากคุณหมอครับ ต้นแบบที่ทำให้พวกเราเข้ามาเขียนบันทึกกัน ต้นแบบที่ทำให้เราอยู่ในร่องของความสุขอยู่ตลอดเวลา เป็นต้นแบบที่มีคุณค่าและทรงพลังอย่างที่สุดเลยครับ
เป็นการสกัดแก่นที่"ใช่เลย" สำหรับตัวเอง เห็นด้วยชอบมากและขอบคุณค่ะ คุณปภังกร