หญ้าคา : วัชพืชศัตรูในนาข้าวและวิธีแก้ปัญหาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม*


หญ้าคาเป็นพืชที่มีคุณประโยชน์มาก ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและด้านสมุนไพร** แต่ในที่นี้ฉัน***จะขอกล่าวถึงหญ้าคาในด้านที่เคยสัมผัสเกี่ยวข้องมาบ้าง ถึงจะไม่มากมายนักก็ตาม  

  หญ้าคา  Thatch Grass 

หญ้าคาจัดเป็นวัชพืชหรือศัตรูอย่างหนึ่งของชาวนา  หน้าฝนก็จะขึ้นเขียวระบัดแตกใบอ่อน ตอนยังเป็นใบอ่อนนี้วัวควายชอบกิน แต่เมื่อโตเต็มที่แล้วใบจะคมมาก วัวควายไม่อยากกิน เพราะถ้าไปและเล็มใบแก่ที่คมๆนั้น ก็จะเจอดีใบบาดปากเอาได้  หญ้าคาสูงกว่าต้นข้าวนิดหน่อย(ประมาณ ๒ เมตร) ใบของมันเวลาบาดจะแสบ ๆ คัน ๆ

ช่วงที่แตกหน่ออ่อน หน่อก็จะแหลมเปี้ยบ ถ้าไม่ใส่รองเท้าอย่าเดินผ่าเข้าไปในบริเวณกลุ่มที่หญ้าคาขึ้นอย่างหนาแน่นเป็นอันขาด หน่ออ่อนก็จริงแต่ทิ่มฝ่าเท้าแล้วละก็ถึงเลือดได้ ฤดูแล้งหญ้าคาก็จะเหี่ยวแห้งตาย  ตายจากความร้อน ไฟป่า(รากใต้ดินไม่ตาย) พอถึงฤดูฝนก็แตกหน่อขึ้นมาใหม่

  หญ้าคากับการทำนา 

ด้วยความทนทานตายยากนี่แหละ เมื่อถึงหน้าทำนา ทำให้ชาวนาหนักใจที่จะต้องเหน็ดเหนื่อยในการกำจัด ไถดะพลิกหน้าดินก็จะเป็นเหมือนขุดรากหญ้าคาขึ้นมาตากแดด แต่การกำจัดด้วยวิธีไถก็ยังไม่ค่อยได้ผลนัก เพราะการไถก็ไถได้ระดับความลึกไม่มาก ด้วยรากหญ้าคานั้นทั้งแน่นทั้งลึก ถ้าจะให้ดีต้องลงแรงขุดซ้ำอีกครั้ง ขุดชนิดถึงรากถึงโคน

มีจำนวนน้อยๆ ก็พอรับมือไหว ถ้ามากๆ สักครึ่งงานแค่นั้น ก็เล่นเอาเราท้อเลยเหมือนกัน ขุดหญ้าคาเหมือนใช้แรงสองเท่า คือขุดดินก็หนักอยู่แล้วนี่มีหญ้าคาที่รากแน่นมากๆเพิ่มขึ้นอีก เหนื่อยเลยงานนี้

ทั้งไถทั้งขุดรากขึ้นมาแค่นี้ จะถือว่าหมดภาระแล้วยังไม่ได้นะ  เพราะหญ้าคายังอยู่เช่นเดิม ยังไม่ตาย ต้องถึงเผาไฟโน่นแหละถึงจะวางใจได้ ก่อนจะที่เผาไฟ ก็ต้องนำรากมาตากแดดให้แห้งดีเสียก่อน บริเวณไหนมีหญ้าคา ข้าวก็จะไม่งาม เพราะหญ้าคาจะข่ม-แย่งอาหาร จนข้าวไม่โตหรือต้นข้าวจะเหลือน้อย เหลือบางๆ

  หญ้าคา : วัสดุทำบ้านและเครื่องใช้สอยจากธรรมชาติ 

ที่กล่าวมาเหมือนหญ้าคาจะดูไร้ประโยชน์สิ้นดี  แต่อย่างไรก็ตามหญ้าคานั้น ก็ยังมีคุณค่าอยู่ไม่น้อยใช้มุงหลังคาบ้าน มุงเล้าไก่ เล้าเป็ด คอกหมู มุงหลังคากระท่อม มุงหลังคายุ้งข้าว มุงหลังคาห้างนา เมื่อก่อนนี้จะมีบ้านมุงแฝก บ้านหลังคามุงหญ้าด้วย

หลังฤดูเก็บเกี่ยว  ฉันกับพ่อก็จะไปหาเกี่ยวหญ้าคากันละ ตามท้องนาไม่มีก็ต้องไปหาตามชายป่า ริมทุ่ง ตามโนน ตามหัวปลวก ถ้าเป็นตามโนน ตามชายป่าก็ไม่ใช่มีเฉพาะหญ้าคาอย่างเดียว แต่จะมีหญ้าแฝกด้วย บางทีก็จะพูดกันว่าไปเกี่ยวแฝกเกี่ยวคา

เกี่ยวแฝกเกี่ยวคาก็เกี่ยวเหมือนกันกับเกี่ยวข้าว แต่เกี่ยวแฝกเกี่ยวคาต้องเกี่ยวทั้งต้นเลย เพื่อให้ได้ลำต้นยาวๆ แล้วมัดเป็นกำๆ โดยขนาดมือกำรอบ เมื่อได้ปริมาณเต็มตู้(เรือน)เกวียน (แค่นี้ก็พอเพราะที่บ้านจะใช้ไม่มากมีมุงห้างนาและคอกหมู ยุ้งถ่าน) บางปีก็ไม่ต้องลุหลังคาห้างนาคือไม่เปลี่ยนหลังคาใหม่ ก็เข็นกลับบ้าน ตากแดดให้แห้ง  แล้วพ่อแม่ฉันจะช่วยกันสางต้นที่หักและเศษหญ้าออกทีละกำมือ สางได้หลายๆกำมือ แล้วนำมารวมกันเป็นมัดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางสัก ๒๐ เซนติเมตร(ขนาดประมาณต้นกล้วย)เพื่อเตรียมกอง(ไพ-ถักทอ)เป็นตับแฝก ตับคาต่อไป

  การไพหญ้าจากหญ้าคา เพื่อทำแฝกมุงหลังคาบ้าน ห้างนา และสิ่งปลูกสร้าง 

กิจกรรมกรรมกองแฝก-กองคา(คนบ้านฉันเรียกกองแฝก)จะเกิดขึ้นประมาณเดือนสี่เดือนห้า(มีนาคม-เมษายน) งานหน้าแล้งที่มีสีสันของชาวบ้านที่เห็นเด่นชัดสำหรับแม่บ้านและสาวๆก็คือการกองแฝกนี่เอง เพราะทุกบ้านก็มีความจำเป็นจะต้องใช้เหมือนกัน ไปบ้านไหนก็จะพบเห็นคนนั่งกองแฝกตามใต้ถุนบ้านบ้าง ใต้ร่มไม้บ้าง

วิธีการกองแฝก อุปกรณ์ คือไม้ไผ่ไม้ลวกผ่าซีกแบนๆ ยาว ๒ เมตร กว้างสัก ๑ นิ้ว(ขนาดเท่าหน้ากว้างไม้บรรทัด) ไม้ตอก,ปอกระเจา,ต้น-เครือย่านาง,ปอกล้วย,ปอแก้ว,เชือกฟาง,ใบจากกับหญ้าคา-หญ้าแฝก นำหญ้าคามาวางเรียงไว้ด้านหน้า ไม้ตับคาวางข้างตัวด้านซ้าย ปอจากธรรมชาติดังกล่าวก่อนจะนำมาใช้ ต้องแช่น้ำให้อ่อนตัว จะทำให้ปอนั้นเหนียว และไม่หักเวลานำมาผูกมัด

ผู้นำนาญการในเรื่องกองแฝก จะหยิบจับหญ้าคา-หญ้าแฝก มาพาดไม้ซีก(ไม้ตับ) พับ หัก ให้ก้านหญ้าอยู่ด้านเดียวกัน ส่วนใบจะอยู่ตรงข้าม ใช้ปอผูกมัดทีละเปลาะ จนสุดปลายไม้ แล้วก็เปลี่ยนไม้อันใหม่ต่อไป  คนที่ทำจนคล่องแคล่วแล้วนั้น ขณะทำก็เคี้ยวหมากไปพูดคุยกันไปด้วย ไม่มีผิดพลาด ไม่ผิดคิว เสียหาย ทำได้เร็วดูเพลินดี  แต่ผู้ฝึกใหม่ๆ ต้องค่อยๆทำไปอย่างช้าๆ

  ไพหญ้าคา 

หญ้าคาที่สำเร็จรูปเป็นตับแล้ว ก็จะนำไปตากแดดให้ปอที่มัดนั้นแห้ง แล้วก็จะนำไปเก็บไว้ที่เพิงเก็บแฝกข้างยุ้งข้าว

เวลาเปลี่ยนหลังคาใหม่แต่ละครั้ง นอนกลางคืนจะหอมกลิ่นหญ้าคาโชยมาตามสายลม ปลายหญ้าคาจะถูกมัดเป็นจุก เพื่อรองน้ำฝน พอฝนตก น้ำฝนก็จะไหลจากหลังคาทั้งหมดมารวมที่ปลายจุก เพียงแต่เอาถังหรือโอ่งน้ำไปรองน้ำฝนมาไว้กินได้ตลอดปี ถ้าจะให้ดีแล้วละก็ ก่อนรองน้ำฝน ควรให้น้ำฝนชะล้างหลังคาสักสองสามครั้ง แล้วเราก็จะได้น้ำฝนบริโภคที่ปลอดภัย  จากวัชพืชที่มองเห็นเป็นศัตรูร้ายไม่มีคุณค่า ก็กลับกลายมาเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ใช้งานได้อย่างดี

จะเห็นได้ว่าการกำจัดวัชพืชด้วยแรงงานของคนและสัตว์(ไถ)นั้นเป็นวิธีทางธรรมชาติง่ายๆที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก พูดให้ทันสมัยเท่ ๆ หน่อยก็คือทำอยู่ ทำกินทุกอย่างล้วนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั่นเอง

โดยปรกติบ้านหลังคามุงแฝก จะเย็นกว่าบ้านมุงหลังคาสังกะสี วันฝนตกก็จะได้ยินเสียงเม็ดฝนตกใส่หลังคาแฝก มีเสียงเบา ๆ ฟังเพลิน ๆ ไม่น่ารำคาญเหมือนหลังคาสังกะสี เป็นบรรยากาศที่อบอุ่น นอนหลับสนิทท่ามกลางเสียงกบเขียดที่ร้องดังระงมในท้องทุ่งนา.

...............................................................................................................................................................................

  หมายเหตุและเชิงอรรถ 

* บทความนี้เขียนและบันทึกถ่ายทอดไว้ในเวทีคนหนองบัว โดย ท่านพระคุณเจ้า พระมหาแล ขำสุข(อาสโย) ในชื่อหัวข้อเดียวกันนี้ที่ dialogue box 763 ของเวทีคนหนองบัว เพื่อให้เป็นแหล่งรวบรวมและค้นหาอ่านได้ง่าย รวมทั้งเพิ่มพูนศักยภาพการเขียนสะสมความรู้ สร้างวัฒนธรรมการอ่านและใช้ความรู้ในวิถีชีวิต ส่งเสริมให้ชาวบ้านและคนทั่วไปเข้าถึงความรู้ของท้องถิ่นที่เขียนขึ้นจากประสบการณ์ของคนจากชุมชน ผ่านระบบค้นหาความรู้และข้อมูลทางเทคโนโลยี IT บูรณาการมิติชุมชนเข้ากับเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมความรู้ผสมผสาน ต่อยอดขึ้นจากพื้นฐานชนบท ซึ่งจะส่งเสริมให้ชุมชนมีภูมิปัญญาปฏิบัติในชีวิตและเป็นองค์ประกอบการก่อเกิดสุขภาวะและสังคมเข้มแข็งในชุมชน ผมจึงขอนำมารวบรวมไว้เป็นหัวข้อเฉพาะนี้อีกครั้งหนึ่ง และเพื่อให้ความเคารพในความสร้างสรรค์และมีส่วนร่วมเขียนข้อมูลความรู้จากเรื่องราวในวิถีชีวิตสะสมเป็นภูมิปัญญาสาธารณะ ผมจึงขอรักษาความเป็นต้นฉบับไว้โดยจัดย่อหน้าให้ง่ายต่อการอ่านและปรับแต่งเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

** หญ้าคา ชื่ออื่น : หญ้าคา, คาหลวง (ทั่วไป), ลาลาง (มะลายู), สาแล (มลายู-ยะลา-ตานี) : แปะเม่ากึง, เตี่ยมเซากึง (จีน-แต้จิ๋ว); Thatch Grass ชื่อวิทยาศาสตร์ Imperata Cylindrica Beauv วงศ์ Gramineae (อ่านและศึกษาความรู้การใช้หญ้าคาเพื่อสุขภาพ : ข้อมูลเกี่ยวกับหญ้าคาของมูลนิธิหมอชาวบ้าน [คลิ๊กที่นี่]  :  วิรัตน์ คำศรีจันทร์)

*** หมายถึงผู้เขียนบันทึก พระมหาแล ขำสุข (อาสโย)

  ข้อมูลภาพถ่ายประกอบบทความ 

ภาพชาวบ้านนั่งไพหญ้า : แม่บุญมา คำศรีจันทร์ บ้านตาลิน อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ทำไพหญ้าจากหญ้าคา เพื่อเป็นวัสดุทำหลังคามุงแฝก  ภาพกระต๊อบหรือห้างนา : ห้างนาของชาวบ้านหนองบัว กลางท้องนาบริเวณห้วยน้อย สะพานหนึ่ง ใกล้กับอำเภอหนองบัว ถ่ายภาพโดย : วิรัตน์ คำศรีจันทร์

หมายเลขบันทึก: 387235เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2010 18:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระมหาแล ขำสุข (อาสโย) และสวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์

  • ตั้งแต่เด็กจะรับรู้เพียงว่าหญ้าคาเป็นวัชพืชที่ไม่มีประโยชน์เลย ..
  • พอโตขึ้นมานิดก็เริ่มรู้จักว่าสามารถเอามาทำแฝกมุงหลังคา ฝากั้นห้อง และสามารถปลูกเพื่อเป็นทำนบกั้นดินไม่ให้ดินริมเขื่อนถูกชะไป ..
  • วัชพืชที่ถูกมองว่ามาแย่งน้ำ แย่งอาหารพืชผักของเรา กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีประโยชน์มิใช่น้อยเหมือนกันค่ะ ..
  • ขอบพระคุณสำหรับข้อมูลและภาพสวยๆ ค่ะ ..

  • เห็นบันทึกนี้ของอาจารย์ รีบไปค้นภาพหลังคาภายในงานวัดมาร่วมแจม เป็นงานปิดทองฝังลูกนิมิตร ที่วัดเด่นโบสถ์โพธิ์งาม ต.บ้านกร่าง อ.เมือง จ.พิษณุโลก ซึ่งตนเองรับผิดชอบนำนักเรียนบางส่วนไปช่วยงานเมื่อภาคเรียนที่แล้ว..อาจารย์คงสบายดีนะครับ
  • ขอบคุณความรู้จากท่านพระคุณเจ้า พระมหาแล ขำสุข(อาสโย) และภาพประกอบสวยๆของอาจารย์

เจริญพรอาจารย์วิรัตน์

  • ภาพประกอบและข้อมูลเพิ่มเติมของอาจารย์ทำให้ได้ความรู้ขึ้นอีกเยอะแยะ อนุโมทนาขอบคุณอาจารย์

เจริญพรอาจารย์ณัฐพัชร์

  • อาตมาเขียนจากประสบการณ์ชาวบ้านล้วนๆเลย ความรู้เหมือนกับที่อาจารย์กล่าวนั่นแหละ คือมองเห็นหญ้าคาเป็นวัชพืชที่สร้างความลำบากเหนื่อยยากแก่ตอนทำนามากๆ
    ช่วงที่อาตมาทำนาอยู่นั้น ไม่มียาฆ่าหญ้า หรือมีแล้วก็ไม่รู้ แต่ตนเองไม่เคยใช้ ไม่เคยเห็น และก็ไม่เห็นมีใครใช้กันเลย มีแต่ขุด ไถ ถอน ใช้จอบสับ
  • หญ้าคามี่ตรงบริเวณไหน ข้าวจะถูกข่มให้ไม่โต เหมือนขาดอาหาร และเกือบจะไม่ได้ผลเลย
  • แต่อีกด้านหนึ่งก็เห็นประโยชน์จากการนำมากองแฝก(ที่บ้านเขาเรียกกองแฝก-เรียกไพเขาจะไม่รู้จักแน่)ใช้มุงหลังคาบ้าน ห้างนา และอื่นๆอีกมากมาย

เจริญพรอาจารย์ธนิต

  • เห็นภาพถ่ายนี้แล้วนึกถึงบรรยากาศงานวัดทั่วๆได้เลย โดยเฉพางานฝังลูกนิมิตรจะขาดไม่ได้เลยทีเดียว
  • วัดจะต้องจัดสิ่งปลูกสร้างเพื่อใช้งานนี้หลายจุด จำเป็นต้องสร้างปรัมพิธีขึ้นมา จึงทำให้ตับแฝกตับคา เข้ามามีบทบาททุกแห่งทุกที่ ที่จัดงาน แล้วหลังคามุงแฝกนี้ก็เย็นสบายมาก เย็นเท่าๆกับอยู่ใต้ต้นไม้นั่นแหละ
  • อนุโมทนาอาจารย์ธนิตที่เข้ามาเยี่ยมเวทีคนหนองบัว 

สวัสดีค่ะ

จะแนะนำให้เด็ก ๆ เข้ามาอ่านหาความรู้เพิ่มเติมค่ะ เพราะที่ชุมชนบ้านของเด็ก ๆ เขามีอาชีพการกองและไพหญ้าคาขายค่ะ

มีวางขายข้างถนนสองฝั่ง  มีนายทุนรับซื้อและจ้างไพหญ้าคาด้วยค่ะ  เด็ก ๆ ส่วนมากทำเป็นและมีรายได้เสริมค่ะ

เจริญพรคุณครูคิม

  • ได้ข้อมูลความรู้จากคุณครูคิมอีกแล้ว นักเรียนก็กองแฝกเป็นอีกด้วย เป็นเด็กที่พึ่งตนเองได้ ช่วยพ่อแม่ทำงานให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ชอบตรงที่เด็กทำเป็นนี่แหละ
  • เพิ่งทราบจากคุณครูคิมว่า มีนายทุนมารับซื้อและจ้างกองแฝก
  • จากวัชพืชมาเป็นพืชเศรษฐกิจ และสร้างรายได้เสริมแก่นักเรียนอีก
  • ขอบคุณ คุณครูคิมที่ได้แบ่งปันความรู้

นมัสการพระคุณเจ้าพระมหาแล

ป่าแก ป่าคาจริง ๆ นั้นพี่ครูยังไม่เคยเห็นเจ้าค่ะ  แต่ที่โรงเรียนเคยให้เด็กไปขุดมาจากไหนไม่ทราบ นำมาปลูกกั้นไม่ให้ดินพังทลาย  สังเกตว่ามันเติบโตและขายพันธุ์รวดเร็วมากค่ะ

นายทุนคือคนมีฐานะในหมู่บ้าน  เขามาปรึกษาพี่ครูก่อนว่า  จะรับซื้อหญ้าคา และจ้างกอง จ้างไพหญ้าคาด้วย  และจำหน่ายที่หน้าบ้านเขาเลย "ทำแบบนี้ดีไหมครู"

พี่คิมเสนอให้เขารวมกลุ่มกัน และจัดทำซุ้มไม้ไผ่มุงหญ้าคาไว้ขายด้วย  มีการเก็บออมรายได้ด้วย แต่ไม่ทราบเขาทำได้แค่ไหน  เพราะพี่คิมไม่ได้ติดตาม ได้แต่ไปโรงเรียนเช้าและกลับเย็น

ด้วยปีนี้ได้ลาออกจากราชการแล้วเจ้าค่ะ รอการอนุมัติอย่างเป็นทางการ ๑ ตุลาคมเจ้าค่ะ 

สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ

  • คนบ้านนอกและทำนานั้น เห็นหญ้าคานี่ก็จะปวดหัวหลายอย่างอย่างที่ท่านพระอาจารย์มหาแลท่านว่านั่นเลยละครับ ที่สำคัญคือมันบาด ตำเท้า และพวกหนูก็ชอบกินหอย ปู แล้วคันนาที่มีป่าหญ้าคาก็มักจะเป็นที่ทิ้งเปลือกหอยและปูเป็นกองๆ พอเดินเข้าไปก็ต้องเหยียบและได้แผล ชาวบ้านเมื่อก่อนไม่มีรองเท้าใส่รองครับ
  • แต่อีกแง่หนึ่ง หญ้าคาก็เป็นหญ้าในพุทธประวัติและถือเป็นหญ้าศักดิ์สิทธิ์สำหรับใช้ในพิธีกรรมต่างๆด้วยนะครับ เช่น ใช้ทำกำหญ้าสำหรับพรมน้ำมนต์ และกำหญ้าเพื่อเป็นแส้หวดไล่ผีหรือสิ่งที่ไม่ดีออกจากคน
  • สมัยที่พวกผมเป็นเด็กนั้น หญ้าคาจะใช้เป็นยาสำหรับรักษาและบำบัดหลายอย่างด้วยครับ โดยเฉพาะใช้รากตำกับเมล็ดต้นดูก หรือเคี่ยวกับกะลามะพร้าวให้น้ำมันออก แล้วใช้ทาหน้าและมือเท้าแตกในหน้าหนาว

สวัสดีครับอาจารย์ธนิตย์ครับ

  • ผมสบายดีพอประมาณครับ ขอบพระคุณครับ
  • ภาพถ่ายของอาจารย์นี่มีทั้งความสวยงามของศิลปะการถ่ายภาพ พลังการเล่าเรื่อง และสะท้อนสายตากับวิธีคิดของคนถ่ายเป็นด้วยมากจริงๆครับ

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

  • รูปชุดนี้ผมถ่ายเก็บไว้นานพอสมควรครับ พอดีพระคุณเจ้าเขียนถึงก็เลยได้ใช้พอดีเลย เนื้อเรื่องกับรายละเอียดของภาพไปกันได้อย่างลงตัวพอดีครับ

สวัสดีครับคุณครูคิมครับ

  • ขอสนับสนุนชาวบ้านของคุณครูคิมที่คิดจะส่งเสริมให้ชาวบ้านได้นั่งไพหญ้าแล้วนำมากองขายให้คนเดินทางผ่านได้ซื้อหาไปใช้นะครับ
  • บ้านนอกเดี๋ยวนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อนครับ คนอยู่ด้วยกันน้อยลง ทำอะไรก็เหงาหงอย ที่สำคัญคือ พอมีของซื้อขายจากภายนอกเข้าไปใกล้ชิดมากขึ้น ความสะดวกสบายและต้องการซื้อหาสิ่งใดก็ได้ไปหมด มันทำให้หลายอย่างที่เป็นแรงกายแรงใจของชาวบ้านไม่มีคุณค่า ไม่อยากออกไปไหนจากชุมชน แต่ธาตุของชาวบ้านนั้น หากอยู่อย่างไม่มีงานและกิจกรรมชีวิตให้ได้ทำ ชีวิตมันก็เฉา
  • การไพหญ้านี่ได้นั่งฟังนิยายและนั่งคุยกันเพลิดเพลิน อุ่นใจและสนุกครับ

ขอบคุณค่ะสำหรับเรื่องราวดีๆของ "หญ้าคา" ... ธรรมชาติสร้างประโยชน์ในทุกสิ่ง..หากมนุษย์รู้จักค้นหา..

..ที่บ้านมี "หญ้าหนวดแมว " ขึ้นตามซอกซีเมนต์..สังเกตว่าแมวชอบไปเล็มกินแล้วสำรอก เพื่อบำบัดโรคบางอย่าง..จึงไม่อยากถอนทิ้งเพราะเกรงใจแมวค่ะ..

                                          

หญ้าคานี้ก็เหมือนกันครับ ที่บ้านนอกนั้น พวกแมวและสุนัขก็มักจะไปเล็มปลายใบหญ้าคาแล้วก็สำรอกอาหารออกมา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท