จิบกาแฟสบายคลายเครียดกับกิจกรรม worldcafe


 

World Café อาจแปลเป็นไทยได้ว่าสภากาแฟ กิจกรรมการพูดคุยสนทนายามเช้า ที่ใช้ร้านน้ำชากาแฟเป็นสถานที่เพื่อพบปะ แลกเปลี่ยนทัศนคติ มุมมอง ของสมาชิกภายในชุมชน

       การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของสภากาแฟในชุมชนนั้นอยู่บนพื้นฐานของความใกล้ชิดสนิทสนม เพราะธรรมชาติของชุมชนในประเทศไทยนั้น สมาชิกชุมชนส่วนใหญ่จะเป็นญาติพี่น้องทางสายเลือดเสียส่วนใหญ่ แม้ว่าจะไม่ได้ใกล้ชิดสนิทสนมกันมากนัก แต่หากลำดับเชื้อสายกันตามลำดับครอบครัว อย่างไรก็จะสามารถมาบรรจบพบเป็นญาติพี่น้องกันอย่างแน่นอน

     การแลกเปลี่ยนทัศคติความคิดเห็นในร้านกาแฟดังกล่าว จึงอยู่บนพื้นฐานของความใกล้ชิด การรู้จักนิสัยใจคอ และการเป็นญาติพี่น้องกัน ทำให้แม้จะเกิดทัศนคติที่ขัดแย้งกันอยู่บ้าง ก็มักจะมีการให้อภัยกันได้อย่างไม่ยากลำบาก

  หากเปรียบเทียบหลักการดังกล่าวกับกิจกรรม World Café โดยผู้ที่ร่วมแลกเปลี่ยนสนทนาอาจไม่รู้จักกันเป็นการส่วนตัว แต่ใช้ความเอื้ออารี และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างให้เกียรติ ตลอดจนเคารพในความคิดเห็นของผู้อื่น ผลลัพธ์จากการสนทนาอาจมีมากมายมหาศาลเกินกว่าจะเป็นการพูดคุยธรรมดา

    หัวใจ World Café คือ การเรียนรู้ผ่านการสนทนาที่ผ่อนคลาย ไม่ด่วนตัดสิน และอย่างมีส่วนร่วม ทำให้เกิดกรอบรูปแบบที่ว่าจะต้องเป็นเสวนาวงเล็กๆ ที่ทุกคนต่างมีอะไรมาเล่า อย่างเท่าเทียม ไม่มีบารมีของกูรู แต่มีบรรยากาศแห่งกัลยาณมิตรที่ศักดิ์ศรีทัดเทียมกัน เมื่อทุกคนหมุนเวียนเปลี่ยนกลุ่มกันไปเรื่อยๆ จะเกิดพลวัตรเกลียวของการเจือจุนเผื่อแผ่ความรัก ความคิด ความรู้ให้กันและกันมากขึ้นเรื่อยๆ หัวใจของ World Café  จึงไม่ได้มีเพียง "เราจะรู้อะไรเพิ่ม" หรือที่เนื้อหาสาระอย่างเดียว แต่การเกิดเครือข่ายมนุษย์ผ่านการสนทนาเปิดใจ เป็นอีกหนึ่งประโยชน์ฝังใน (tacit use) ที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าตัวเนื้อหาสาระเลย

        แม้ว่ากระบวนการ World Café จะเป็นกระบวนที่ไม่เป็นทางการ แต่หัวข้อในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้น สามารถเป็นหัวข้อเชิงวิชาการ เชิงสังคม ฯลฯ ซึ่งประโยชน์ของกระบวนการคือไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง

          กิจกรรม World Café ที่ทำในการเสวนาครั้งนี้ประกอบด้วยคำถามที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน 3 คำถาม ได้แก่

คำถามที่  1 จากประสบการณ์ตรง แรงบันดาลใจที่ทำให้ท่านได้ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้คืออะไรและเพราะเหตุใด สุดท้ายท่านได้ทำตามแรงบันดาลใจดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร

คำถามที่  2 จากประสบการณ์ตรง การปฏิบัติงานในองค์กรเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์และพันธกิจ ควรจะมีเครื่องมือหรือแนวทางการแสวงหา รวบรวมองค์ความรู้ บริหารจัดการความรู้ อย่างไร พรรณนาทั้งสิ่งที่ควรจะมี ต้องการให้มี หรือใฝ่ฝันว่าควรจะมี

คำถามที่  3 สิ่งที่ได้จากการสนทนาทั้งหมดในคราวนี้ อะไรเป็นสิ่งแรก ที่ท่านจะเริ่มดำเนินการทันที เพื่อให้องค์กร หน่วยงานของตน เกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้ หรือใช้เครื่องมือ หรือมีการบริหารความรู้ที่ดีร่วมในการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และความคิดเห็น" ในประเด็นที่กลุ่มได้กำหนดไว้

การทำกิจกรรม  World café จะจัดขึ้นภายใต้  "บรรยากาศแห่งมิตรไมตรี" คือบรรยากาศที่ทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมรู้สึกเหมือนกำลังนั่งคุยเรื่องราว ต่างๆ กับกลุ่มเพื่อนสนิทในร้านกาแฟ และผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถเดินแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และความคิดเห็น รวมทั้งต่อยอดความรู้ต่างๆ ตามหัวข้อที่ถูกเปิดประเด็นไว้ กับเพื่อนกลุ่มอื่นๆ ตามได้ ซึ่งจะมีเจ้าบ้าน หรือ Host ประจำโต๊ะที่พร้อมต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่จะหมุนเวียนมาจากโต๊ะอื่นๆ ด้วย

องค์ประกอบของ world café
  • ผู้ดำเนินรายการ
  • เจ้าบ้าน ( Host ) ประจำโต๊ะ แต่ละโต๊ะมีเจ้าบ้านประจำ 1 คน
  • ผู้เข้าร่วมแต่ละกลุ่มย่อย (แต่ละโต๊ะ) ซึ่งแต่ละกลุ่มย่อยนี้จะมีผู้เข้าร่วม 5-6 คน ยิ่งน้อยยิ่งดี เพราะจะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้น (ผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่มาจากหน่วยงานเดียวกันไม่ควรนั่งโต๊ะเดียวกัน)
  • คำถาม หรือประเด็นนำในแต่ละรอบ
  • อุปกรณ์จดบันทึกประจำโต๊ะ เช่น กระดาษแผ่นใหญ่ ปากกาเมจิก ดินสอ สีน้ำมัน หลายๆ สี
  • ระยะเวลาในการแลกเปลี่ยน
  • บรรยากาศผ่อนคลาย มีดนตรีบรรเลง บรรยากาศแห่งมิตรไมตรีและความเท่าเทียม

 

เทคนิคที่ควรใช้ใน World café

1.  เคารพในความเท่าเทียมและให้เกียรติซึ่งกันและกัน

2.  ผู้เข้าร่วมทุกคน คือ เพื่อนที่สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็นกันได้

3.  เปิดใจรับฟัง พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

4.  สิ่งที่ได้ ไม่ได้มีเพียงความรู้เนื้อหาเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของความสัมพันธ์กับผู้ที่เรามาสนทนาด้วย

5.  ฟังอย่างตั้งใจ ฟังจนจบโดยไร้อคติ ไม่ตัดสินถูกผิด

6.  พูดอย่างสร้างสรรค์ ใช้วาจาสุภาพ

7.  มองข้ามปัญหา เน้นการหาหนทางแก้ไข

ผู้เข้าร่วมควรแยกย้ายไปยังโต๊ะอื่นๆ ไม่ควรจับกลุ่มเดียวกันตลอดทุกรอบ

 ที่มา : เนื้อหานี้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้แก่คณะทำงานจัดเวที แลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ศึกษากระบวนการในการใช้เครื่องมือเพื่อนำไปสู่ภาคปฏิบัติ

ขอขอบคุณ  1.พูดคุยประสาสภากาแฟ ร่วมลดความเหลื่อมล้ำทางความรู้

                   http://portal.in.th/worldcafe/pages/10053/

                 2.แนวคิดในการเตรียมสภากาแฟ

                   http://www.prachasan.com/ai/wc.html

 


คำสำคัญ (Tags): #worldcafe#สภากาแฟ
หมายเลขบันทึก: 387060เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2010 05:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มกราคม 2013 12:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

วิธีการทำประชาคมหมู๋บ้านและการอบรมของหน่วยราชการที่ไปจัดอบรมให้กับชาวบ้านเลยค่ะ และการอบรมของราชการก็ใช้วิธีนี้อยู่แต่ก็จะกูรูด้วยเสมอในการอบรมของข้าราชการ (จากประสบการณ์ช่วงเป็นชาวบ้านค่ะ)

ชื่นชอบ สภากาแฟ

ตั้งวง จิบ จอย จูน

สู่งานคุณภาพขากเข้าใจกัน

ความจริงการทำ สภากาแฟ ก็เพื่อให้ คึนได้ โสกัน (Socialization) นั่นเอง...

ตามกลิ่นกาแฟ หอมๆ มาค่ะ อยากจิบบ้างจ้งเลยค่ะ

See full size image

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท