โรงพยาบาล (พัฒนา) ชุมชน 3 : ลูกหลานเทวดาอ่อนหวาน


เครือข่ายยิ้มสดใส เด็กสระใครไม่กินหวาน อำเภอสระใคร จังหวัดหนองคาย ถือฤกษ์ดี ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 วันที่ 19 ส่งผ่านความรักให้ลูกหลานนักเรียน ด้วย “เครื่องดื่มอ่อนหวาน” ให้ “ลูกหลานเทวดา” กลับมาเป็น “ลูกหลานคนธรรมดา”

ในเมื่อยังไม่มีกลยุทธ์ใดเด็ดขาด  ที่จะสามารถตัดอาหารหวาน  น้ำอัดลม  น้ำหวาน  น้ำผลไม้ผสมเจือจางแต่หวานเชื่อมบาดคอ  ออกจากชีวิต  ซึ่ง “ความหวาน” เป็นสิ่งเสพติดแรก ๆ ที่คุ้นชินของลิ้น  ผ่านลำคอสู่กระเพาะ  เส้นเลือด  และวันละเล็กวันละน้อยที่สมองรับรู้ระดับความหวาน  มีความสุขเมื่อได้รับสารที่เปลี่ยนสภาพจากน้ำตาล  เป็นโครงสร้างกลุ่ม Opioid คล้ายฝิ่น  ความสุขที่เพิ่มขึ้นทำให้สมองต้องการน้ำตาลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นที่มาของการติดรสชาติหวาน  ในขณะที่องค์การอนามัยโลกมีข้อแนะนำการรับประทานน้ำตาลให้น้อยที่สุด 

 

เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน  ด้วยความร่วมมือของหลายภาคส่วน  ทั้งภาครัฐ  เอกชน  และสนับสนุนงบประมาณจาก สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ)  แนะนำว่าคนไทยไม่ควรกินน้ำตาลเกิน  6  ช้อนชา (24  กรัม)  ต่อวัน  แล้วรู้ไหมคะ?  ปัจจุบันคนไทยกินน้ำตาลประมาณวันละ  20 ช้อนชา  ไม่ได้หมายถึงแค่น้ำตาลทราย (Sucrose) เป็นเม็ด ๆ ที่เราคุ้นเคย  แล้วฉีกซองหรือตักเติมกาแฟ  เติมก๋วยเตี๋ยวเท่านั้นนะคะ  น้ำตาลที่มาในรูปการถนอมอาหารและผสมในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม  ขนมกรุบกรอบและขนมหวานนี่แหละค่ะ  ที่มองไม่เห็นเป็นเม็ด ๆ แต่มาพร้อมกับแป้งและไขมัน 

อย่าได้แปลกใจเลย  ปี 2551 – 2552  อำเภอสระใครจึงยับยั้งอัตราการเกิดโรคฟันแท้ผุในนักเรียนประถมศึกษา  17  โรงเรียนได้เพียงร้อยละ  2.4   ทุกวันนี้เด็กนักเรียน ป.1 – ป.6  ฟันแท้ผุประมาณ  1  ใน  4   ส่วนประชากรทั้งอำเภอสระใครประมาณ  25,000  คน  ในปี 2552  โรงพยาบาลสระใครมีผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่เพิ่มขึ้น  100  กว่าคน  คาดว่าพอหมดปี 2553  ผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่น่าจะเพิ่มขึ้นจากปี 2552  รวมทั้งหมดสะสมมาประเดี๋ยวต้องถึง  700  คน แน่นอนเลย   ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย  แล้วทรวดทรงองค์เอวนะคะ  ใครทายได้บ้าง ?  อ้วนหรือผอมมากกว่ากัน   โถ ๆ ไม่ต้องกลัวหมอ ๆ ตกงานหรอกนะคะ....คิดสักนิดก่อนจะหยิบอะไรเข้าปาก  (ย่อหน้านี้แค่เกริ่นนำ  ดังนั้น ยังไม่พูดถึงเบาหวานและคณะ “ภาวะแทรกซ้อน”)

 

โดยเฉพาะถ้าเป็นผู้เลี้ยงดูเด็กหรือเป็นคนจ่าย “เงินค่าขนม” ไปโรงเรียน  ทำอย่างไรจะสร้าง “ภูมิคุ้มกันความหวาน” ให้เกิดขึ้นได้  ถ้ามีแบบฉีดเข้าต้นแขนปุ๊บ....ป้องกันการติดหวานได้  คงจะดีมาก ๆ  (อีกแหละ พึ่งพา High technology ก็เม็ดเงินทั้งนั้น)  ตอนนี้ยังไม่มี  ทำอย่างไรจะใช้ “ความรัก”  เป็นภูมิคุ้มกัน  ในทิศทางที่เหมาะสมต่อการลดการติดรสชาติหวาน

 

ชีวิตเด็กน้อยที่ผ้าขาวเริ่มจะถูกตั้งใจแต่งแต้มสี  ให้เป็นภาพสวยงามตามฝันของพ่อแม่ปู่ย่าตายาย  ถือว่าทำบุญมาดี  แต่ก็มีไม่น้อย  ถูกทำให้เกิดมาโดยไม่มีแผนการเลี้ยงดูรองรับ  ไม่ใช่แค่ปากกัดตีนถีบ  เพราะผืนดินแหล่งน้ำที่พอจะเป็นทรัพยากรเริ่มต้นสำหรับครอบครัวน้อย  ๆ ก็ยังไม่มี  ต้องระเหเร่ร่อนจากบ้านไปทำงานไกล  ฝากลูกไว้กับพ่อแก่แม่เฒ่า  แม้ไม่อ้างว้างนักเพราะยังมีอกเหี่ยว ๆ คอยโอบอุ้ม  แต่ตีสักแผะก็ไม่กล้า  เงินที่ส่งกลับมา  หลานเรียกร้องจะเอาอะไรก็ต้องให้  แค่พ้นช่วงเวลาเฉพาะหน้า  ทำให้หยุดร้องเอาแต่ใจไปได้ก็พอ  จะคิดยาวคิดไกลไปถึงการปลูกฝังสิ่งดีดี  ลำพังตัวเองก็เจ็บออด ๆ แอด ๆ  พูดมาก ๆ ก็เหนื่อย  “ลูกเทวดา”  หรือ “หลานเทวดา”  ช่างสรรหามาเรียกได้เข้ากับยุคสมัยแท้ ๆ

 

มิเพียงไม่ได้ตั้งใจแต่งแต้มสี  แต่ผ้าขาวผืนนี้ถูกป้ายเปรอะเลอะเทอะจากสิ่งสัมผัสรอบตัว  โดยผู้เลี้ยงดูก็ไม่ได้รู้เท่าทันการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ผ้าผืนนี้  เพื่อให้ยังพอจะเป็นภาพสวยงามตามฝัน  ไม่ง่ายที่จะฝึกและฝืนเลี้ยงให้แตกต่างจากลูกหลานบ้านอื่น ๆ ที่ลูกเทวดาหรือหลานเทวดาพอ ๆ กัน 

 

ด้วยธรรมชาติของร่างกายที่ต้องการพลังงาน  ตั้งแต่โบราณเก่าแก่ที่มนุษย์เรียนรู้ว่าความหวานจากพืชผัก  ผลไม้ป่า  รวงผึ้ง  เพิ่มความชื่นใจ  หายเหนื่อยมีเรี่ยวแรงขึ้นมาทันใด  มีความสุขขึ้นมาทันที  “ความสุข”  จึงเป็นตัวกลางเชื่อมร้อย “ความหวาน” เกาะเกี่ยวเข้าคู่กับ “ความรัก”  ปรากฏเป็นหลักฐานในวรรณกรรมทั้งเทศและไทยมากมาย  ยามรักน้ำต้มผักยังหวาน  แล้วขนมหวานก็ถูกใช้เป็นสื่อของความรักในแทบทุกวัฒนธรรม  รักลูกรักหลานจึงป้อนขนม  เรียกให้กินขนม  แวะซื้อขนมก่อนไปศูนย์เด็ก  ให้เงินค่าขนมไปโรงเรียน    

 

ขนมไทยในอดีตไม่ได้มีให้กินง่าย ๆ  น้ำตาลอ้อย  น้ำตาลปึก  น้ำตาลปี๊บต้องไปซื้อหามา  ต้นมะพร้าวมีในสวนก็จริง  แต่ก็ต้องใช้เวลาและขั้นตอนหลายอย่าง (จำภาพติดตา “มะหมี่” นั่งขูดมะพร้าวในเรื่อง “แม่เบี้ย” ได้ไหมคะ?)  วันพระ  มีงานบุญ  โอกาสเหมาะ ๆ  แม่จึงจะระดมพลทำของหวาน  ข้าวต้มมัด  ข้าวต้มผัด  ขนมเทียนไปถวายพระที่วัด  แบ่งจากพระมาน่ะแหละ  เด็ก ๆ ในบ้านจึงจะได้กิน  ไปโรงเรียนก็ห่อข้าวที่แม่ทำให้  แทบไม่ได้ใช้เงิน  จะมีบ้างก็ขนมใส่ไส้  ขนมตาล  ลอดช่อง  จนโรงเรียนมัธยมนั่นแหละ  ของกินมากมาย  ข้าวราดแกงมีให้ซื้อ  รวมทั้ง รวมมิตร  น้ำแข็งใส  ขนมถุง  ขนมห่อ  น้ำหวาน  น้ำอัดลม ฯลฯ 

 

ปัจจุบันถ้าจะทำของหวานเองก็แสนง่าย  น้ำตาลทราย  กะทิกล่อง  แสนสะดวก  หรือตามตลาดสด  ข้างทาง  ในซอย  มีแผงของหวานทั้งนั้น  ที่ง่ายยิ่งกว่า คือ ขนมกรุบกรอบ  ขนมถุง  ช็อกโกแลต  หมากฝรั่ง  ลูกอม  อมยิ้ม  ทอฟฟี่  น้ำอัดลม  ส่งตรงถึงห้างใหญ่  ร้านค้าทุกหัวเมือง  ทุกหมู่บ้าน  ข้างรั้วโรงเรียน  บางโรงเรียนยังมีขายในรั้วอีกต่างหาก  แม้แต่สหกรณ์ของโรงเรียน

 

นอกจากน้ำเปล่า คือ เครื่องดื่มที่ดีที่สุด  ส่วน “เครื่องดื่มอ่อนหวาน” อร่อย  ดี  มีประโยชน์  หวานน้อยเพื่อสุขภาพระยะยาว  คือ ทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้เลี้ยงดู  และโรงเรียนที่เห็นความสำคัญ  พอจะเข้าใจและเห็นคุณค่าตรง ๆ ต่อสุขภาพ  ส่วนคุณค่าทางอ้อม  การสร้างสภาวะแวดล้อมและเงื่อนไขที่เหมาะสม  ให้เด็กได้เลือกอย่างถูกต้อง  เป็นภูมิคุ้มกันความหวาน  ที่ผู้ใหญ่ทั้งหลายควรจะร่วมมือกัน

เครือข่ายยิ้มสดใส  เด็กสระใครไม่กินหวาน  อำเภอสระใคร  จังหวัดหนองคาย  จึงจัดกิจกรรมอบรมครูอนามัย  ผู้ประกอบการอาหารในโรงเรียน  แกนนำทีมชุมชน  อสม.  ผู้สนใจการทำ “เครื่องดื่มอ่อนหวาน”  เมื่อวันพฤหัสบดีที่  19  สิงหาคม  2553   สนับสนุนโดยโรงเรียนประถมศึกษา  ที่ว่าการอำเภอสระใคร  โรงพยาบาลสระใคร  สำนักงานสาธารณสุขอำเภอสระใคร  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองคาย  และเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน 

ส่วนภาคต่อ “ขนมไทยอ่อนหวาน” ต้องอดใจรอสักครู่  มีสูตรขนมในมือแล้ว  ต้องฝึกฝนอีกหน่อย  จึงจะเผยแพร่กลเม็ดเคล็ดลับ  ให้ทั้งสวยดึงดูดน่ากิน  เร้าความสนใจของเด็ก ๆ  พอที่คุณครูจะใช้ผสมผสานในหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างน่าสนใจ  เด็ก ๆ เห็นคุณค่าและประโยชน์  หรือแม่ค้าแม่ขายทำแล้วขายให้เด็ก ๆ ได้  โดยยังพอมีกำไร  ทุกฝ่ายได้ประโยชน์

นี่แค่เพียงเริ่มต้นของกิจกรรมหนึ่งในโครงการยิ้มสดใส  เด็กสระใครไม่กินหวาน  ยังต้องติดตามต่อไป  คุณครู  ผู้ประกอบการใน  7  โรงเรียนที่สมัครใจมา  จะริเริ่มสร้างกิจกรรมดีดีที่โรงเรียนหรือหมู่บ้าน  หาแนวร่วมจากพ่อแม่ปู่ย่าตายายผู้เลี้ยงดู  ส่งผ่านความรักให้ลูกหลานนักเรียนกลับมาเป็น “ลูกหลานคนธรรมดา”  ได้มากน้อยเพียงใด  ความแน่นแฟ้นของเครือข่ายจะเพิ่มขึ้น  ก็ด้วยการติดต่อสื่อสารกันอย่างต่อเนื่อง  มีกิจกรรมให้ทำร่วมกัน....จึงต้องถือฤกษ์ดี  ขึ้น  9  ค่ำ  เดือน  9  วันที่  19  เป็นกำลังใจเริ่มต้นสิ่งดีดี  เพื่อลูกหลานเติบโตเป็นคนอำเภอสระใครอ่อนหวานต่อไป

หมายเลขบันทึก: 387053เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2010 02:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สวัสดีค่ะคุณหมอ

แวะมารับแนวคิดดีๆยามเช้าค่ะ เห็นด้วยค่ะปัจจุบันเด็กๆหาอาหารหวานๆทานได้ง่าย โอกาสเสี่ยงฟันผุก็เพิ่มขึ้นด้วย ทำอย่างไรจะเพิ่มภูมิคุ้มกันความหวานได้ ผู้ใหญ่ใจดีจะช่วยเด็กๆได้อย่างไร

ชื่นชมกิจกรรมดีๆค่ะ ทำเครื่องดื่มอ่อนหวาน น่าทานนะค่ะ มีประโยชน์ด้วย

ขอบคุณบันทึกดีๆนี้ค่ะ

สวัสดีครับคุณ หมอ ดูแลลูกเทวดาให้อ่อนหวาน แล้ว ปีต่อไปขอ สสส.ต่อยอดไปถึงเทวดาด้วยครับ

เทวดาหวานจนเชื่อมแล้วครับ

สวัสดีค่ะคุณถาวร

  • เครื่องดื่มอ่อนหวานเป็นทางเลือกหนึ่งค่ะ  ยืนยันค่ะว่าอร่อย  นมถั่วเหลือง  น้ำนมข้าวโพด  น้ำโกโก้  น้ำมะพร้าว  น้ำมะตูม  น้ำกระเจี๊ยบ ... ยังไม่ได้ลองแช่เป็นหวานเย็น  ทดสอบว่าเด็ก ๆ จะชอบไหม?
  • ขอขอบคุณผู้ใหญ่ใจดี  วิทยากรอำเภอสระใคร อ.ธนัญญา  ทรงทันตรักษ์  โรงเรียนบ้านโพนสวรรค์  และ อ.สุภาภรณ์  เมืองเหลา  โรงเรียนบ้านหนองบัวเงิน  ไปฝึกอบรมปฏิบัติการกับเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน  สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  มาตั้งแต่  24  มิถุนายน  2553 
  • ขอบคุณคุณณัฐจิรัตนันท์  โสตะวงศ์  สำนักงานสาธารณสุขอำเภอสระใคร  วิทยากรหัวข้อสุขาภิบาลและโภชนาการในโรงเรียน 
  • ขอบคุณผู้บริหารโรงเรียนต้นสังกัดของอาจารย์ทั้งสอง 
  • ขอบคุณเจ้าของสถานที่  หอประชุมที่ว่าการอำเภอสระใคร
  • ขอบพระคุณคุณถาวรที่แวะมานะคะ  มีคำแนะนำใด ๆ เช่น จิตวิทยาและพัฒนาการเด็ก  พร้อมน้อมรับฟังนะคะ

สวัสดีค่ะท่านลุงบัง

  • ขอบพระคุณที่มาทักทายนะคะ....อยากไปกระบี่ด้วยจัง
  • แล้วหนูต้องทำไงละเนี่ย....จึงจะคุยกับเทวดารู้เรื่อง

สวัสดีค่ะคุณหมอ

○แวะมาเยี่ยมอ่านบันทึกค่ะ

○ดีใจจังค่ะ ที่วันนี้แวะมาเยี่ยมคนบ้านๆกินข้าวยำ....ขอบคุณค่ะ

หมอครับไม่ต้องทำอะไรมาก ใช้ลูกเทวดานั้นแหละไปบังคับเมวดาให้ "อ่อนหวาน"

  • ยินดีที่ได้รู้จักนะคะ คุณหนูรี
  • ขอบคุณที่  คนทำขนมมาเยี่ยม

 

ท่านลุงบัง

  • สมัยนี้ลูกเทวดาบังคับเทวดาซินะคะ
  • เล่นกับลูกเทวดาให้ได้ก่อนใช่ไหมคะ...แล้วค่อย ๆ ชักชวนเทวดามาด้วยกัน

เรียน คุณหมออ้อ

อร่อยมาก ได้ชิมแล้ว 2 ขวดรวดเดียว อยากชิมอีก ขอสนับสนุนให้คนไทยได้ดื่มสิ่งดีๆ อย่างนี้ อิ..อิ

พี่บัน

สวัสดีค่ะ...ท่านรองบัน

  • น้ำข้าวโพด...อ่อนหวาน...อร่อย  ดี  มีคุณค่า...ติดใจใช่ไหมคะ ?
  • พุธหน้า...ยังไม่ได้ถามน้องศุภิสรา (ผู้ทำน้ำอ่อนหวาน)  ว่าจะทำน้ำอะไรให้คลินิกเบาหวาน)
  • ถ้ามีโอกาส...จะฝากไปให้ชิมนะคะ
  • ขอบพระคุณนะคะ...ที่ท่านรองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหนองคายมาเยี่ยม
  • วันใด สสจ.หนองคาย ต้องการสั่งเครื่องดื่มอ่อนหวานสำหรับผู้เข้าประชุม...สั่งทำได้นะคะ

นานๆมาชมที มีสิ่งดีดีให้ได้ชื่นชม อิ่มใจที่ได้อ่าน จะเบิกบานเมื่อได้ปฏิบัติ วันที 1 ตุลาคมนี้ ขอสั่งอาหารว่าง เครื่องดื่มอ่อนหวานสำหรับงานประชุมสรุปผลงานและตลาดนัดวเทีส่งเสริมสุขภาพช่องปาก นะตรับ เป้าหมายร้อยกว่าคน เป็นการปฏิบัตให้เห็นด้วยของจริง ฝากวางแผนและประสนพี่แอ็ดได้เลยนะครับ......เวทีนี้จะอ่อนหวานทั้งกายและใจ ขอเทวดาโปรดสนับสนุนและอวยพร

  • พี่ล่าคะ  ขอบคุณที่แวะมา  เก็บภาพงานประชุมสรุปผลงาน  เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลงานเด่นสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองคาย  เมื่อ  1  ตุลาคม 2553  ที่โรงแรมไทยลาวริเวอร์ไซด์ไว้พอควร  เสาร์อาทิตย์นี้น่าจะเขียนบันทึกย้อนหลังได้
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท