แนวทางการพัฒนาศูนย์ข้อมูลชุมชน/ท้องถิ่น


สรุปผลการสัมมนา

เรื่อง แนวทางการพัฒนาศูนย์ข้อมูลชุมชน/ท้องถิ่น

วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน 2548 ณ โรงแรมดีลักษณ์เพลส

จัดโดย ศูนย์ข้อมูล สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

เกริ่นนำ

การสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาศูนย์ข้อมูลท้องถิ่น/ชุมชน ผู้เข้าร่วมเป็นผู้นำชุมชน นักพัฒนาจากองค์กรพัฒนาจากองค์กรพัฒนาเอกชนนักวิชาการ และผู้แทนจากหน่วยงานภาคต่าง ๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับข้อมูลชุมชนรวมทั้งสิ้น 50 คน ช่วงเช้าเป็นการเสนอประสบการณ์การจัดการศูนย์ข้อมูลจากจังหวัดสระแก้ว (บ้านบ่อลูกรัง อ.วังน้ำเย็น) พัทลุง (ต.โคกสัก อ.บางแก้ว) และราชบุรี (บ้านมะกรูด) ช่วงบ่ายเป็นการประชุมกลุ่มย่อย ผลการสัมมนาโดยสรุปเป็นดังนี้

ปัญหาและจุดอ่อนของการจัดการข้อมูลชุมชนที่ผ่านมา

  1. การรวบรวมข้อมูลชุมชนที่ผ่านมาเป็นการจัดการรวบรวมโดยหน่วยงานภายนอก เพื่อประโยชน์ของหน่วยงานนั้น ๆ ชาวบ้านหรือองค์กรชุมชนไม่มีส่วนร่วม ไม่ทราบวัตถุประสงค์ที่แน่ชัดและไม่ทราบผล/ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่รวบรวมไปแล้ว ชุมชนมีหน้าที่แค่การให้ข้อมูลเท่านั้น

  2. กระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูลทำกันไม่ถูกต้อง มีการเขียนข้อมูลเองโดยคนที่รวบรวม ทำให้ข้อมูลผิดพลาด ไม่น่าเชื่อถือ ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

  3. มีการนำข้อมูลของชุมชนไปใช้เพื่อประโยชน์เฉพาะกลุ่ม เฉพาะบุคคล เช่น การเขียนโครงการเสนอขอทุนโดยที่ชุมชนไม่รับรู้

  4. การรวบรวมข้อมูลไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน เพราะไม่ทราบวัตถุประสงค์ที่แน่ชัดและชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมในการทำงาน ชาวบ้านเกรงว่าจะเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการทำงาน การจ่ายภาษีหรือการแทรกแซงอื่น ๆ ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องสนับสนุนทำงาน

  5. หน่วยงานท้องถิ่น เช่น อบต. ไม่มีข้อมูลชุมชนที่ถูกต้อง ทันสมัยในการวางแผนพัฒนาต่าง ๆ ทำให้ชุมชนเสียประโยชน์

  6. ชุมชนไม่มีข้อมูลในการวางแผนการพัฒนาของตนเอง การจัดทำโครงการต่าง ๆ มักมาจากความคิดความรู้สึกมากกว่าข้อมูลที่มาจากการสำรวจ ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด

  7. หน่วยงานต่าง ๆ ต่างเก็บข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ กัน ไม่ประสานงานกัน เป็นภาระของชุมชน

  8. ชุมชนไม่มีศูนย์กลางที่จะรวบรวมข้อมูลของตนเองเสนอต่อภายนอก

แนวคิด ทฤษฎี วิธีคิดทั่วไปเกี่ยวกับศูนย์ข้อมูลท้องถิ่น

  1. ศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นหรือการจัดการระบบข้อมูลของชุมชนเป็นการเพิ่มอำนาจในการจัดการตนเองของชุมชน

  2. ลำดับขั้นและความสัมพันธ์ของระบบข้อมูลคือ การรวบรวมข้อมูล (data) จำนวนมากมาประมวลเป็นสารสนเทศ (information) สารสนเทศจำนวนมาก สามารถประมวลเป็นความรู้ (knowledge) และความรู้จำนวนมากสามารถประมวล กลั่นกรองเป็นภูมิปัญญา (wisdom) ถ้าข้อมูลผิดพลาดตั้งแต่ต้น การประมวลขึ้นมาเป็นลำดับจนถึงภูมิปัญญาก็จะผิดพลาดไปด้วย

  3. ศูนย์ข้อมูลหรือการจัดระบบข้อมูลเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนไปสู่ความยั่งยืน ระบบข้อมูลจึงเป็นส่วนหนึ่งของขบวน/กระบวนการพัฒนาทั้งหมด รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น

เป้าหมายของศูนย์ข้อมูลชุมชน

  1. เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้และสร้างกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนทางด้านต่าง ๆ เป็นศูนย์เรียนรู้ตลอดชีพของคนในชุมชน

  2. เพื่อสืบค้นเรื่องรวมที่ชุมชนอยากรู้ ควรรู้และต้องรู้และเผยแพร่ข้อมูล ศิลปะวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาสู่ภายนอก

  3. เพื่อใช้ข้อมูลประกอบการวางแผนการพัฒนาชุมชน

  4. เพื่อค้นหาและสั่งสมวิธีแก้ปัญหาต่าง ๆ ของชุมชนร่วมกัน

  5. เพื่อให้ชุมชนรู้จักตนเอง รู้จักชุมชนและรู้ข้อมูลข่าวสารจากภายนอกที่มีผลกระทบกับชุมชน

ศูนย์ข้อมูลที่เราอยากเห็น

  1. เป็นศูนย์ที่รวบรวมข้อมูลของกลุ่มองค์กรชุมชนทุกเรื่อง ทั้งปัญหาและแนวทางแก้ไข รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวออกไปสู่ภายนอก

  2. การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ในงานพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน

  3. มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อการวางแผนการทำงานต่าง ๆ โดยชุมชนเองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศูนย์หนังสือเป็นเครื่องมือนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงของชุมชน

  4. มีการปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยอยู่เสมอ เป็นศูนย์ที่มีชีวิต มีกิจกรรมเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

  5. อยู่ในพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้สะดวก ชุมชนมีส่วนร่วมในการเลือกจุดที่ตั้ง

  6. มีหน่วยงาน/ภาคีต่าง ๆ หนุนเสริมการทำงานของศูนย์

  7. คนในชุมชนเป็นเจ้าของ ดำเนินการร่วมกันและพึ่งตนเองมากที่สุด โดยการสนับสนุนจากกลุ่ม องค์กรต่าง ๆ ที่มีอยู่ในชุมชน ไม่แสวงหากำไร

  8. มีสื่อเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ของศูนย์ออกไปสู่ภายนอก

  9. ระบบของข้อมูลให้คนเข้าออกง่าย สืบค้นง่าย ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ข้อมูลชุดต่าง ๆ มีความสัมพันธ์กัน เรียกข้อมูลมาประมวลผลร่วมกันได้ และควรทำงานเป็นระบบเครือข่ายเพื่อที่จะสืบค้นหรือป้อนข้อมูลพร้อมกันหลายเครื่องได้ ระบบฐานข้อมูลสามารถรองรับข้อมูลขนาดใหญ่ได้ ไม่มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์

กระบวนการทำงานและทรัพยากรที่ต้องการ

  1. ศูนย์ข้อมูลต้องการวัสดุอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟท์แวร์ ต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ต้องการการบริหารจัดการที่ดี ต้องการการมีส่วนร่วมของคนและองค์กรต่าง ๆ ในชุมชนและต้องการการสนับสนุนจากภาคีต่าง ๆ

  2. มีการเชื่อมโยงระหว่างศูนย์ข้อมูลชุมชนต่าง ๆ เพื่อประสานงานและช่วยเหลือกัน

  3. ข้อมูลต่าง ๆ ที่จะเผยแพร่ต้องพิจารณาความเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อชุมชน

  4. ควรมีการบูรณาการข้อมูลของชุมชนกับของหน่วยงานต่าง ๆ

  5. หน่วยงานที่จะสนับสนุนมีหลายหน่วยงาน เช่น กศน. กรมการพัฒนาชุมชน สาธารณสุข กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการเกษตร โรงเรียน อบต. สถาบันราชภัฏ องค์กรพัฒนาเอกชน ฯลฯ หน่วยงานต่าง ๆ ต้องมา “ช่วยคิด ช่วยทำ ช่วยบริหารและช่วยใช้”

  6. ศูนย์ข้อมูลควรมีข้อมูลลึกระดับครัวเรือน

  7. มีข้อมูลทั้งข้อมูลชุมชนและข้อมูลความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ต่าง ๆ ข้อมูลชุมชนต้องเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพ

  8. มีคณะทำงานพัฒนาระบบข้อมูลชุมน เป็นตัวขับเคลื่อนงานและมีบุคคล องค์กรที่เกี่ยวข้องเป็นที่ปรึกษา

  9. กระบวนการจัดทำข้อมูลชุมชนที่บ้านบ่อลูกรัง อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว คือ เตรียมคน เตรียมความคิด เตรียมเครื่องมือ พัฒนานักจัดการความรู้ร่วมกับนักวิชาการท้องถิ่น ปฏิบัติการในชุมชน ทบทวน สรุปบทเรียน ถ่ายทอดขยายผล ร่วมมือกับเครือข่ายและพันธมิตร

  10. ข้อมูลที่ควรมีในศูนย์ข้อมูลคือ ข้อมูลทั่วไป เช่น ประวัติชุมชน สภาพทางกายภาพ ประชากร พื้นที่ ฯลฯ ข้อมูลกลุ่มและองค์กรชุมชน ซึ่งอาจจะแยกเป็นประเภทต่าง ๆ ข้อมูลผู้รู้และภูมิปัญญาของชุมชน ข้อมูลองค์ความรู้ที่สามารถนำไปแก้ปัญหาต่าง ๆ ของชุมชนข้อมูลโครงการ/กิจกรรมการพัฒนาในชุมชน

  11. ควรพัฒนากองทุนสนับสนุนอาสาสมัครที่มาทำงานในศูนย์ข้อมูลและพัฒนาบุคลากรของชุมชนให้มาทำงานเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

  12. จัดวางกติการ่วมในการใช้ประโยชน์จากศูนย์ข้อมูล เพื่อให้ทุกกลุ่มสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียมกัน

หมายเลขบันทึก: 38695เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2006 08:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 21:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

การพัฒนาและยกระดับข้อมูลที่ชุมชนมีอยู่ให้เป็นศูนย์ข้อมูลของท้องถิ่น กำลังเป็นเรื่องที่พวกเราสนใจจะขยายการทำงานให้มากกว่าปัจจุบันและอยากได้พื้นที่รูปธรรมในการทำงานด้านศูนย์ข้อมูลท้องถิ่น ถ้าทาง ม.วลัยลักษณ์ เห็นดีงามในการพัฒนาหรือจะทำศูนย์ข้อมูลที่ไหน ยินดีร่วมงานด้วยครับ

ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศชุมชนออมบุญฯ บ้านดอนไชย

ผมสนใจจะจ้ดตั้งศุนย์ข้อมูลองค์กรการเงินและสวัสดิการชุมชนระดับตำบล โดยมีพื้นที่ตำบลล้อมแรด อำเภอเถิน จังหวัดลำปางเป็นกรณีศึกษา จะสอบถามรายละเอียดได้ไหมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท