นปส.55 (13): รู้จักมักคุ้น


ชุมชนเริ่มเรียนรู้ เพื่อแก้ไขปัญหาซึ่งกันและกัน ใช้ข้อเท็จจริงนำมาสร้างข้อมูลผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิมจนเกิดองค์ความรู้เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกันตลอดจนความร่วมมือของชุมชนอื่นๆ

(13): รู้จักมักคุ้น

การเข้าหลักสูตรอบรมที่ต้องกินนอนอยู่ในที่เดียวกัน ช่วยเป็นสะพานที่ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนมกันได้ง่ายขึ้น ผมอดคิดเรื่องพลังงานที่ได้ฟังบรรยายจากอาจารย์มนูญเมื่อวานไม่ได้ คนไทยใช้น้ำมันและไฟฟ้ากันอย่างสะดวกสบาย เนื่องจากราคาน้ำมันถูกบิดเบือน มีกองทุนน้ำมันมาช่วยทำให้ใช้น้ำมันราคาถูกลง จึงไม่รู้สึกถึงผลกระทบที่เกิดจากวิกฤตพลังงาน ส่วนเรื่องการประหยัดไฟฟ้า เมื่อนึกถึงหน่วยงานก็พบว่า ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นทุกปี ติดเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้น คอมพิวเตอร์เปิดไว้ตลอดเวลาทำงานแม้ไม่ได้ใช้งาน

ความตระหนักในเรื่องประหยัดพลังงานของคนไทยน่าจะน้อย ผมพักกับนายอำเภอธีระชัย หรือพี่เล็ก ท่านเป็นตัวอย่างที่ดีมากในเรื่องการประหยัดไฟฟ้า เปิดไฟในห้องเฉพาะที่ใช้เท่านั้น เมื่อปิดทีวีก็จะปิดสวิทซ์ด้วย ไม่ใช่แค่ปิดจากรีโมทอย่างเดียว

ปลายสัปดาห์ที่สามของการฝึกอบรม เริ่มเข้าสู่โปรแกรมการศึกษาดูงานในประเทศครั้งแรก ด้วยการไปศึกษาดูงานจังหวัดในภาคกลาง 2 แห่งคือสุพรรณบุรีและสมุทรสงคราม โดยได้รับฟังคำบรรยายยุทธศาสตร์เด่นของจังหวัดโดยผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งสองแห่งและได้ลงศึกษาเรียนรู้จากสถานที่จริง 4 แห่งคือจังหวัดสุพรรณบุรี ไปศึกษาดูงานอนุสรณ์ดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ วัดป่าเลไลย์วรวิหาร อำเภอเมืองและตลาดสามชุก อำเภอสามชุกและที่จังหวัดสมุทรสงคราม ได้ฟังบรรยายพิเศษจากวุฒิสมาชิกจังหวัดสมุทรสงครามและลงพื้นที่ชุมชนแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา เดิมจะไปดูงานในกรุงเทพฯด้วย แต่เนื่องจากสถานการณ์ไม่ค่อยสงบจึงต้องงดไป

การศึกษาดูงานดังกล่าวนี้อาจารย์กำหนดให้นำข้อมูลจากการฟังคำบรรยาย เอกสารที่ได้รับคำบอกเล่าของผู้เกี่ยวข้องและการได้สังเกตการณ์จากการสัมผัสพื้นที่จริง มาวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆ 4 ประเด็น คือ

ประเด็นที่ 1 วิเคราะห์มุมมองและแนวทางในการแก้ไขปัญหาในแต่ละสถานที่ที่ได้เข้าไปศึกษาดูงาน พร้อมทั้งวิจารณ์และวิเคราะห์ถึงข้อดีและข้อเสียที่ได้จากการศึกษาดูงาน

ประเด็นที่ 2 ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารงาน การบริหารคนและการบริหารทรัพยากรในพื้นที่ที่ได้เข้าไปศึกษาดูงานว่าดีหรือไม่อย่างไร พร้อมทั้งยกตัวอย่างประกอบ

ประเด็นที่ 3 วิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการบริหารจัดการในพื้นที่ที่ได้เข้าไปศึกษาดูงานว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ และมีปัจจัยใดที่ส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนในระบบการบริหารจัดการนั้น

ประเด็นที่ 4 สรุปบทเรียนที่ได้รับจากการศึกษาดูงานในครั้งนี้

วันพุธที่ 5 พฤษภาคม 2553 ถูกปลุกกันแต่เช้าเหมือนเดิม รีบทานอาหารเช้า แล้วนั่งรถบัสออกจากวิทยาลัยมหาดไทยตอน 6.30 น. ด้วยรถบัสของบริษัทไร่หนึ่งทัวร์ ราว 10.30 ก็ถึงสุพรรณบุรี เข้าศึกษาดูงานด้านการศาสนาและการท่องเที่ยวที่วัดป่าเลไลย์ หลังจากนั้นไปรับประทานอาหารกลางวันที่ร้านนพรัตน์ภัตตาคาร ช่วงบ่ายเดินทางต่อไปดูงานตลาดโบราณร้อยปีสามชุก ซึ่งเป็นตลาดที่ได้รับรางวัลมรดกโลกประเภทอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมแห่งเอเชียแปซิฟิก อำเภอสามชุก สุพรรณบุรี

อากาศร้อน แดดจัดจ้ามาก ทางเทศบาลฯได้จัดที่นั่งพักหลบร้อนที่ลานประจำตลาด เพื่อรับฟังคำบรรยายการพัฒนาตลาดสามชุกแห่งนี้ กว่าจะมาถึงวันนี้ชาวบ้านชุมชนต้องร่วมแรงร่วมใจกันอย่างมาก เมื่อเดินเที่ยวชมในตลาดก็พบความประทับใจหลายอย่างทั้งสินค้า ร้านค้าและความคงอยู่ของวัฒนธรรมดั้งเดิม ผมเดินดูสินค้านานาชนิด ผ่านร้านขายขนมหลายเจ้า แวะทานไอติมอร่อยๆอย่างเพลิดเพลิน

หลังจากนั้นเดินทางเข้าที่พักโรงแรมศรีอู่ทอง ในตัวจังหวัด ช่วงอาหารเย็นมีบรรยายพิเศษโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เกี่ยวกับภาพรวมในการบริหารจังหวัดและยุทธศาสตร์เด่นของจังหวัด ทางจังหวัดจัดงานเลี้ยงรับรองให้พวกเรา และมีกิจกรรมสนุกสนานกันโดยมีนายอำเภอวิสาห์ (พี่เหม่ง) รับหน้าที่เป็นพิธีกร เชิญพวกเราขึ้นไปร้องเพลงกันจนเกือบครบทุกคน การเดินทางมาด้วยกันทำให้มีความสนิมสนมกันมากขึ้น

จังหวัดสุพรรณบุรี มีคำขวัญคือ “เมืองยุทธหัตถี วรรณคดีขึ้นชื่อ เลื่องลือพระเครื่อง รุ่งเรืองเกษตรกรรม สูงล้ำประวัติศาสตร์ แหล่งปราชญ์ศิลปิน ภาษาถิ่นชวนฟัง” อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 107 กิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบต่ำติดชายฝั่งแม่น้ำ มีทิวเขาขนาดเล็กอยู่ทางเหนือและทางตะวันตก ด้านตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่ราบลุ่มของแม่น้ำสุพรรณบุรี (แม่น้ำท่าจีน) ใช้เป็นพื้นที่ปลูกข้าว

มีประวัติศาสตร์เป็นเมืองโบราณ อายุไม่ต่ำกว่า 3,500-3,800 ปี เดิมชื่อทวารวดีศรีสุพรรณภูมิหรือพันธุมบุรี เป็นเมืองหน้าด่านและอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญต้องผ่านศึกสงครามหลายครั้งสภาพเมืองโบราณจึงถูกทำลายเป็นซากปรักหักพัง เป็นดินแดนที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้กระทำยุทธหัตถีทรงมีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชาที่ถือเป็นมหาวีรกรรมคชยุทธ์อันยิ่งใหญ่และเป็นเมืองต้นกำเนิดแห่งตำนาน “ขุนช้างขุนแผน”

การปกครองแบ่งเป็น10 อำเภอ 110 ตำบล 977 หมู่บ้าน 2 เทศบาลเมือง 25 เทศบาลตำบล 100 อบต.ขนาดพื้นที่5,358.008 ตร.กม. (อันดับที่ 40) ประชากร844,590 คน (พ.ศ. 2552)(อันดับที่ 28) มีจุดดึงดูดใจทางการท่องเที่ยวคือ วัดป่าเลไลย์วรวิหาร อนุสรณ์ดอนเจดีย์ บึงฉวาก หอคอยบรรหาร-แจ่มใส ตลาดร้อยปีสามชุก สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลย์วรวิหาร

จุดแข็งคืออยู่ใกล้กรุงเทพฯ การเดินทางสะดวก มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีสิ่งดึงดูดใจจากการสร้างขึ้นของมนุษย์ มีมหาวิทยาลัยหลายแห่ง มีบุคคลที่มีชื่อเสียงในหลายวงการ สำเนียงภาษาถิ่นเป็นเอกลักษณ์ มีนักการเมืองระดับอดีตนายกรัฐมนตรีที่มีบทบาทในการพัฒนาจังหวัดอย่างต่อเนื่อง

จุดอ่อนคือการเดินทางสะดวกทำให้โรงแรมใหญ่ๆเกิดได้ยาก ถูกคุกคามจากนายทุนจากเมืองใหญ่มากว้านซื้อที่ดิน ขาดการนำจุดแข็งทางตำนาน ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นมาเป็นจุดขาย สถานที่ท่องเที่ยวจึงมักขาดความลุ่มลึกทางวัฒนธรรม การทำนาข้าวที่ใช้สารเคมีสร้างมลภาวะระยะยาว ยุทธศาสตร์เด่นสร้างสิ่งท่องเที่ยวใหม่ด้วยฝีมือมนุษย์ (Man-made) ที่ตื่นตาตื่นใจ

วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม 2553 ออกเดินทางไปจังหวัดสมุทรสงคราม เยี่ยมคารวะท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและรับฟังยุทธศาสตร์เด่นของจังหวัด ท่านผู้ว่าฯ บรรยายได้เก่งและทำให้มีความเข้าใจในการพัฒนาจังหวัดสมุทรสงครามอย่างมาก มื้อกลางวันไปทานอาหารอร่อยๆที่ร้านแดงริมทะเล ช่วงบ่ายกลับไปฟังบรรยายด้านสภาพเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดสมุทรสงครามรวมทั้งการบริหารจัดการชุมชนลุ่มน้ำแม่กลอง โดยคุณสุรจิต ชิรเวทย์ ซึ่งมีความรอบรู้เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ภูมิสังคมของสมุทรสงครามอย่างมาก ช่วงเย็นไปพักที่รีสอร์ทริมแม่น้ำแม่กลอง ภาคค่ำมีกิจกรรมสนุกสนานสร้างสัมพันธ์ร่วมกันอีก สนุกมาก บรรยากาศริมแม่น้ำแม่กลองยามค่ำคืน งดงามไปอีกแบบหนึ่ง

สมุทรสงคราม มีคำขวัญคือ “เมืองหอยหลอด ยอดลิ้นจี่ มีอุทยาน ร.2 แม่กลองไหลผ่าน นมัสการหลวงพ่อบ้านแหลม” อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 65 กิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศติดทะเลปากอ่าวแม่กลอง ชายฝั่งยาว 23 กิโลเมตร มีน้ำขึ้นน้ำลงวันละ 2 เวลา เป็นเมืองสามน้ำคือน้ำทะเล น้ำกร่อย น้ำจืด ท่ามกลางระบบนิเวศน์ที่หลากหลายทางชีวภาพ มีลำคลอง 366 สาย ทำให้ผู้คนมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ไม่มีภูเขาหรือเกาะ

มีประวัติศาสตร์ในชื่อเดิมเมืองแม่กลอง ดินแดนแห่งอารยธรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเกี่ยวพันกับพระราชประวัติของรัชกาลที่ 2 ที่ทรงได้รับการยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลกจากUNESCO เป็นเมืองต้นกำเนิดราชนิกูลบางช้าง แหล่งผลิตพืชผักผลไม้ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น การปกครองแบ่งเป็น 3 อำเภอ 36 ตำบล 284 หมู่บ้าน 1 เทศบาลเมือง 3 เทศบาลตำบล 30 อบต.ขนาดพื้นที่416.707 ตร.กม. (อันดับที่ 76) ประชากร193,647 คน (พ.ศ. 2552)(อันดับที่75) มีจุดขายสำคัญคือ ลิ้นจี่ ส้มโอ น้ำตาลมะพร้าว ตลาดน้ำยามเย็นอัมพวา ตลาดหุบร่ม

จุดแข็งคืออยู่ใกล้กรุงเทพฯ การเดินทางสะดวก มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ มีบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นจุดขาย ขนาดพื้นที่เล็กแต่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีกลุ่มบุคคลที่อนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น

จุดอ่อนคือการเดินทางสะดวกทำให้โรงแรมใหญ่ๆเกิดได้ยาก ถูกคุกคามจากนายทุนจากเมืองใหญ่มากว้านซื้อที่ดิน เกิดวิถีชีวิตที่แตกต่างของคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ทำให้ขาดคนสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นในครัวเรือน ธรรมชาติถูกคุกคาม ความหนาแน่นประชากรสูง (อันดับ 7 ของประเทศ)

ยุทธศาสตร์เด่นทำสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติให้โดดเด่น (ธรรมชาติและวิถีชีวิต)สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองหลวงพ่อบ้านแหลม วัดเพชรสมุทรวรวิหารหรือวัดบ้านแหลม

วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม 2553 เดินทางไปศึกษาดูงานที่ชุมชนแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา ฟังบรรยายเกี่ยวกับ กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหาชุมชนและการจัดสวัสดิการชุมชน ทานมื้อกลางวันร่วมกับชาวบ้านและไปดูการทำเขื่อนกั้นน้ำเค็มของหมู่บ้านซึ่งชาวบ้านร่วมกันคิดขึ้นเองอย่างเหมาะกับบริบทของพื้นที่และแก้ไขปัญหาของพื้นที่น้ำจืดและพื้นที่น้ำเค็มในบริเวณนั้นได้อย่างดี

ราวบ่ายสามก็เดินทางกลับ ผมลงรถบัสแล้วไปขึ้นรถโดยสารที่สถานีขนส่งหมอชิตสองเพื่อเดินทางกลับจังหวัดตาก อุตส่าห์เลือกรถเที่ยวสี่โมงเย็นแต่เป็นรถ ป. สอง กว่าจะถึงบ้านได้เกือบเที่ยงคืนเนื่องจากรถจอดรับส่งผู้โดยสารเกือบทุกจังหวัดแทนที่จะเร็ว กลับช้ากว่ารถ ป. 1 ที่ออกทีหลังกว่าชั่วโมง

ขณะนั่งรถทัวร์กลับตาก ผมยังคงนึกถึงหมู่บ้านแพรกหนามแดง ที่ได้ไปเยี่ยมชมมา คำบอกเล่าของผู้นำชุมชนและชาวบ้านถึงการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของชุมชน ที่เกิดจากการปิดเปิดประตูน้ำของชุมชนที่กระทบต่อนาข้าวน้ำจืดและกระทบต่อนากุ้งน้ำเค็ม ปัญหาของชุมชนต้องให้ชุมชนร่วมกันแก้ไขปัญหาเองเพื่อการสร้างกระบวนการเรียนรู้ในท้องถิ่น โดยค้นหาข้อเท็จจริง ข้อมูลนำไปสู่องค์ความรู้ในการแก้ปัญหาของชุมชนด้วยตัวชุมชนเอง นำไปสู่งานวิจัยชุมชนเพื่อท้องถิ่น “สร้างสรรค์ปัญญาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น” เกิดเป็นวงจรการเรียนรู้ของชุมชนที่เริ่มจากโจทย์ประเด็นมาจากชุมชน มีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน เน้นการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องโดยมีกลุ่มผู้ก่อการดีที่เอาจริงแล้วเอา “ความล้มเหลวกลับมาเป็นครูเรา

งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น เดินเรื่องโดยการคุยเรื่องประวัติศาสตร์ชุมชน เข้าหาคนเฒ่าคนแก่ให้เล่าประสบการณ์ คำพูดจากปากผู้นำชุมชนที่เล่าอย่างภาคภูมิใจที่สามารถสร้างนวัตกรรมประตูกั้นน้ำเค็ม ที่เป็นนวัตกรรมชาวบ้านแต่มีคุณค่ามหาศาลต่อชุมชน “ชุมชนเริ่มเรียนรู้ เพื่อแก้ไขปัญหาซึ่งกันและกัน ใช้ข้อเท็จจริงนำมาสร้างข้อมูลผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิมจนเกิดองค์ความรู้เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกันตลอดจนความร่วมมือของชุมชนอื่นๆ

ความพยายามของชาวบ้านในชุมชนเป็นไปตามคำพูดที่ว่า “ผึ้งใช้เท้าแตะเกสรดอกไม้ทีละนิดๆได้น้ำผึ้งเป็นขวดเป็นโหล ปลวกใช้เท้าหยิบดินทีละน้อยๆสร้างจอมปลวกใหญ่โตไม่หักไม่โค่น” การทำงานของชาวบ้านจะเน้นทำแบบ "เอาปัญญานำหน้า เอาเงินตราตามหลัง" ซึ่งตรงข้ามกับภาครัฐเลย

หมายเลขบันทึก: 383028เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2010 08:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2019 17:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท