จิตตปัญญาเวชศึกษา 140: อะไรที่ห้ามพลาดในการสนทนา


ถ้าเราได้อะไรจากการสนทนาเหลือเพียง short note หนึ่งเล่มกับ powerpoint file หนึ่ง file ก็เป็นอะไรที่น่าเสียดายอย่างยิ่งยวด

อะไรที่ห้ามพลาดในการสนทนา

คนบางคนเป็นคน "ไวกระแส" เราหันหางเสือตามลมได้รวดเร็ว รับของใหม่ๆได้ฉับพลันทันที (ทิ้งของเก่าๆในพริบตา) ถ้าอยู่ห่างกระแสหน่อยก็จะขวนขวายหาช่องทางตามกระแสอย่างขมีขมัน อะไรจะบาดเจ็บเสีย self เท่ากับถูกหาว่าล้าสมัยเป็นไม่มี

social network จึงกลายเป็นคำตอบที่ "โดนใจ" เอามากๆ กระแสข่าวใน social network tool เดี๋ยวนี้เร็วสุดๆ ข่าว (ลือ) ล่าสุดเป็นยังไง ใครๆเขาพูดกันเรื่องอะไร ไปถึงไหนแล้ว มีให้ติดตามกันบานตะเกียง อ่านไม่หวาดไม่ไหว (ข้อดีคืออาจจะแก้ปัญหาที่ว่าเด็กไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยปีละ 6 บรรทัดได้) แม้ว่าอาจจะเกิดช่องว่างมหาศาลระหว่างผู้ใช้และผู้ไม่ใช้ internet แต่ใครจะสนใจ เพราะเราสนแต่ว่า "เรารู้อะไร" มากกว่าคนอื่นรู้อะไร และสนน้อยที่สุดอาจจะเป็น "คนอื่นรู้สึกอย่างไร"

สองสามปีที่แล้ว อีกคำที่ยอดฮิตติดนิยมก็คือ KM มาจาก knowledge management ที่มาฮิตมาก (ที่จริงคงจะก่อนนี้นานแล้ว แต่เอาว่าผมได้ยินหนาหูก็แล้วกัน) ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณยุค IT ที่ความรู้จากทุกๆมุมโลกไม่ได้อยู่่ตามมุมอีกต่อไป สามารถเข้าสู่กระแสหลัก หรือกระแสการรับรู้ชีพจรโลกได้ในพริบตาเดียว แต่พอปริมาณมันเยอะๆ นั่นก็อยากรู้ นี่ก็อยากฟัง แถมมันเยอะขนาดนี้จะเชื่ออันไหนดี การจัดการความรู้จึงไม่ได้เป็นเพียงของสูง ของหรูเท่านั้นอีกต่อไป หากกลายเป็นยาสามัญประจำบ้านของทุกๆคนไปเลย

อ่าน journal เดี๋ยวนี้ก็ต้องทราบวิธีอ่าน (เรียกว่า appraisal) เพื่อจะได้ทราบว่าเชื่อมันดี ไม่เชื่อมันดี เพราะมันเขียนน่าเชื่อกันไปหมด เรื่องเดียวกันสรุปไปคนละอย่างก็มี

ในยุคหนึ่งการอ่านวารสารความรู้เหล่านี้ เราอ่านข้อสรุป ข้อคิดเห็น แล้วพาลเชื่อเอาดื้อๆ ด้วยการ assume ว่าเขียนดีขนาดได้ลง journal ล่ะก็ มันน่าจะดี บรรณาธิการเขาอุตส่าห์กรองมาแล้ว ตอนหลังๆ มาแอบพบว่าการได้ลงตีพิมพ์ มันไม่ได้ขึ้นกับ knowledge merit หรือคุณค่าทางวิชาการอย่างเดียว มันอาจจะขึ้นกับ "ค่าธรรมเนียม" ในการที่ผู้ประพันธ์อาจจะส่งมอบให้ editor พอเล็กๆน้อยๆ (เพื่อได้ลงตีพิมพ์เร็วๆ) ความจำเป็นของทักษะการคัดกรอง journal กลายเป็น life-saving tool ไปโดยอัตโนมัติ

ปัญหาก็คือ พอเราเพ่งเล็งไปที่ "เนื้อหา" มากๆเข้า เราเลยเผลอคิดไปว่า "เนื้อหาคือทั้งหมดที่เราพึงได้จากการสนทนา"

ในเวที KM ไม่ว่าจะเป็น world cafe (WC), open-space technology (OST), dialogue, ประชุม สัมมนา หรือแม้แต่กิจกรรม OD (organizational development) เราจะพากันไปเน้นที่เนื้อหาความรู้ว่าได้อะไรบ้าง ได้ยินใครพูดอะไร ก็เหมือนเสือหิว เข้าไปนั่งจด นั่งจำ อัดเทป ถ่ายวิดีโอ เดี๋ยวนี้กล้องดิจิตอลเล็กๆ กำลังขยายเยอะๆ กลายเป็นอุปกรณ์การฟังสัมมนา พอใครฉาย powerpoint ขึ้นจอปุ๊บ ฉันไม่จดก็ได้ แต่ยกกล้องถ่ายฉับๆ เสร็จทั้งแผ่นในนิ้วกระดิก

พวกไม่ hi-tech ก็ยังใช้ปากกาดินสอกันอยู่ จดกันยิกๆชนิดถ้าถูกถามว่าคนพูดใส่ชุดอะไรก็จะตอบไม่ได้ เพราะตั้งหน้าตั้งตาก้มหน้าจดลูกเดียว ใครอย่ามาชวนคุยให้เสียสมาธิเชียวนา จะบึ้งใส่เป็นสถานเบา

OK นั่นเป็นพฤติกรรมปกติในห้องบรรยาย (อืม... อาจจะไม่ถึงกับปกติ แต่พอมองเห็นเหตุผลที่ทำ) เพราะได้ 100% หมายถึง "ได้ทุกคำ ทุกรูป" ของที่อาจารย์พูดมา แต่ถ้าในวงการ social network ถ้าเราได้อะไรจากการสนทนาเหลือเพียง short note หนึ่งเล่มกับ powerpoint file หนึ่ง file ก็เป็นอะไรที่น่าเสียดายอย่างยิ่งยวด

มนุษย์มีความมหัศจรรย์หลายประการ และหนึ่งในนั้นก็คือ "ภาษา และการสื่อสาร" ความหลากหลายและประสิทธิภาพการสื่อสารของ Homo sapiens sapiens เป็นจุดสำคัญที่ทำให้เผ่าพันธุ์ของเราพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดด เพราะความรู้ทุกยุคทุกสมัยสามารถถูกบันทึกให้ยั่งยืน และคนรุ่นหลังๆเข้าใจได้ ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ เราพูดคุย ล้อมวงรอบกองไฟ รอบโต๊ะอาหาร ตั้งวงสนทนา พึงพอใจกับ "ฉันมีเธอ เธอมีฉัน เรามีเรา" โดยไม่ต้องมีคนมาถอดความรู้ ถอดเสื้อถอดผ้า หรือถอดสาระว่ามีหรือไม่มีสาระแต่อย่างใด

เพราะถึงแม้จะไม่มีเนื้อหาสาระ แต่ความพึงใจที่เกิดขึ้นจากวงสนทนากลับเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่ง แถมยังยั่งยืนกว่าความรู้ต่างๆที่ไม่ช้าไม่นานก็ล้าสมัยไป

ในวงการ KM ยุค fast-food หรือ "แดกด่วน" บางครั้งบางคราวเราก็ "กังวล" วิตกจริต (เกือบเสียจริต) ไปกับว่าเราจะถอดได้ไม่ได้ เราจะได้อะไรบ้างจากการสนทนาครั้งนี้ ใครจะได้อะไรบ้าง ได้เท่าเราไหม ทำไมเราไม่ได้อย่างเขา ทำไมเขาไม่ได้อย่างเรา คนจัดจะพอใจไหม คนมาร่วมจะพึงใจไหม ฯลฯ เรียกว่าเป็นการ "ภาวนาเพื่อจิตตก" อย่างขะมักเขม้นทีเดียว

ตัวหนังสือ อักขระต่างๆ ดูจะรกรุงรัง ฟุ่มเฟือย เสียเวลา ก็ไปสรรหาเอา code เอารหัสมาใช้ for you ก็เขียนแค่ 4U ก็พอ มีการไหว้ (ซึ่งสมัยก่อนเขาใช้ในการประกวดการมีมารยาท ประกวดวัฒนธรรม) ก็เหลือแค่ _ /| |\ _ ก็พอ ในความดีนั้นก็มีอยู่เยอะครับ แต่คนใช้ต้องทราบและตระหนักให้ดีว่ามันต่างจาก "ของเดิมเต็มๆตรงไหน และอย่างไร" ด้วย และมี emoticons มากมายที่คนหลงคิดว่ามาทดแทนอวจนภาษา ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างแรง

อวจนภาษานั้นเสริมการแสดงออกได้ และดีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอวจนภาษาที่ออกมาแบบอัตโนมัติ ไม่รู้ตัว แต่พวก emoticons นั้น ไม่ได้จำเป็นต้องสื่อสิ่งที่เรารู้สึก (และแสดงออกมาทางแววตา ท่าทาง น้ำเสียง) แต่เพียง "สื่ิอสิ่งที่เราอยากจะให้คนฟังคิดว่าเรารู้สึก" มากกว่า

สมัยก่อนเราคุย สนทนา อยู่ด้วยกันเพื่อ "ความสัมพันธ์" เพราะมนุษย์นั้นเป็นสัตว์สังคม

เราต้องสื่อสารกัน เราจึงทำอะไรได้เต็มศักยภาพที่แท้ของสัตว์สังคม และเราสื่อสารไม่เพียงเฉพาะ "อะไร" เท่านั้น เราสื่อสารเพื่อเสริม สร้าง หล่อเลี้ยง ความสัมพันธ์ที่มั่นคง ยั่งยืนด้วย

ในการทำกิจกรรม social network โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบ face-to-face ที่ไม่ใช่การ chatting ผ่าน SMS หรือโปรแกรม chat ทาง internet ถ้าเราดันไปเน้นเรื่อง contents มากเกินไป แสวงหามองหาจะ "ดูด" ความรู้สาระออกมา คั้น เค้น รีด ออกมามากเกินไป เราจะจิตตก และมองไม่เห็นความมหัศจรรย์ ความงดงามของมิตรภาพที่กำลังผลิดอกออกผลอยู่ตรงหน้านั้นเอง เราจะมองไม่เห็นแววตาของผู้เล่า (เพราะมัวก้มหน้าจด) เราจะไม่ได้ยินเสียงถอนหายใจ (เพราะมันไม่สำคัญ) และไม่เคยรับรู้ซาบซึ้งถึงความเงียบที่สื่อถึงอารมณ์ลึกซึ้ง (เพราะมันไม่มีอะไรจะจด) ความสุนทรีย์ที่ขาดหายไป จะไม่มีวันเรียกกลับมาได้อีก เป็น one-time show เป็น privilege ของผู้ที่ "อยู่ร่วม" กับวงสนทนานั้นๆเท่านั้นที่จะมีสิทธิได้ ไม่มีเทปอัดเสียงยี่ห้อไหน วิดีโอคลิปเรคอร์ดมุมใด จะสามารถชดเชยสิ่งที่เราพึงได้จากการสนทนาแต่ละครั้งในเรื่องเหล่านี้ได้

เราลองวางปากกา ปิดสมุด ผ่อนคลาย ตั้งจิตอธิษฐาน พร้อมจะซึมซับรับรู้ความงดงามของผู้คน ความโชคดีของตนเอง และสิ่งดีๆที่จะเกิดขึ้นกับโลกใบนี้ภายหลังการสนทนา

แล้วมันก็จะ "สุนทรีย์" เอง

หมายเลขบันทึก: 382806เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2010 10:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 15:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)
  • โห โดนใจ จริงๆ
  • เพราะ ส่วนใหญ่ อยากได้แต่ ppt และ ขอดููด Clip
  • ไม่ได้ใส่ใจ กระบวนการ
  • มิติที่เราได้คลุกกับ ชีวิต ฅ ฅน ที่มาร่วมเรียนรู้ ครับ
  • สาธุ สาธุ

เป็นการ download การฟังบรรยายแต่เดิมน่ะครับ ไม่ได้กางสมุด จับปากกา รู้สึกเหมือนสมองจะไม่เปิด แต่พอเปิดก็เปิดแต่ซึกซ้าย ซีกขวาปิดสนิท (หรือฝ่อไปแล้วไม่ทราบ)

ขาดทุนครับ ขาดทุนเยอะ หึ หึ

หลายแห่ง ไล่ตามจับ KPI ไม่ได้ จดจ้องที่เป้าหมาย นิ ท่าน อาจารย์

เรียน อ.P Phoenix ค่ะ

  • รูปแบบการเรียนรู้ของแต่ละคนมีความต่าง โดยส่วนตัวแล้วเป็น "คนขี้ลืม" บางคราวความคิด "ปิ๊งแว๊บ" มาแป๊บเดียวแล้วหายไปจริงๆ จึงเป็นบุคคลหนึ่งที่ทำอย่างที่อาจารย์บอกเด๊ะ!เลยค่ะ คือ... "...พอใครฉาย powerpoint ขึ้นจอปุ๊บ ฉันไม่จดก็ได้ แต่ยกกล้องถ่ายฉับๆ เสร็จทั้งแผ่นในนิ้วกระดิก..." อิ...อิ... เพราะเป็นคนที่ฟังหรืออ่านอะไรไม่เข้าใจเลยในครั้งเดียว เพราะคิดตามไม่ทัน จึงมักจดเก็บไว้อ่านซ้ำ... ประมาณเรียนรู้ช้าเพราะชราภาพ อิ..อิ..อิ..
  • ... ต่อมาเริ่มเห็นประโยชน์ว่า ฟังคนเดียว รู้คนเดียว...น่าเสียดาย ก็เลยนำกลับมาเล่าต่อให้น้องๆที่ไม่มีโอกาสได้ฟังเหมือนเราได้ทราบบ้าง.. จึงมักเล่าและวิเคราะห์ในมุมมองของตนเองบ้าง.. แต่บางคราวเกรงว่าจะเล่าและวิเคราะห์พลาด ไม่ตรงกับเนื้อหา เล่าช้า เล่าไม่ทันก็จะขอนำมาให้ดูทั้งสไลด์ดีกว่า ^_^
  • ... ต่อมามีรูปแบบของ BAR AAR ซึ่งบทบาทของตนเองในบางสถานการณ์ที่ต้องกระทำนั้นถูกบังคับโดยบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ไม่ได้เป็นผู้เข้าร่วมในกิจกรรมนั้นๆดังเช่นบันทึกนี้ค่ะ... :)  การถ่ายทอดจึงเป็นการมองจาก "คนวงนอก" เอ๊ย! "คนนอกวง"ค่ะ  การสรุปเนื้อหาก็ยังจำเป็นต้องทำ(เพราะไม่งั้นเดี๋ยวถูกตีก้น...) บางบรรยากาศจึงมิสามารถวางปากกา กระดาษ หรือกล้องดิจิตอลได้เลยค่ะ อิ..อิ..อิ..
  • ขอบคุณอาจารย์อย่างมากมาย(จริงจริ๊งงง...ค่ะ) ^_^

      *   ผมไปฟังที่ใหน ยังใส่ใจกับการ "จด" อยู่ครับ 

       *  ส่วนใหญ่   ก็จะ "ดูข้อความเพื่อจด"   มากกว่า  "ฟังเขาพูดเพื่อเข้าใจ"

               ขอบคุณบันทึกดีๆที่นำมาฝากครับ

อ.JJ

ที่จริง KPI มันก็ยังเน้นที่ perform อยู่นะ แต่คนไปเห็นแต่ indicator ทำไมก็ไม่ทราบเหมือนกัน สงสัยมันชัดกว่า

พี่ติ๋วครับ

จดได้ครับ แต่ต้องยอมรับ consequence ว่าเราจะ "ขาดอะไรไปเยอะ" จากการสนทนานั้นๆ ถ้าจำเป็นก็จดเถอะครับ

ตั้งข้อสังเกตว่าเวลาเรารับรู้อะไรอย่าง relax อย่างเพลิดเพลิน เราไม่เห็นต้องจด เช่น ไปดูภาพยนต์ ชมละคร เสร็จแล้วก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์โดยละเอียดได้ทั้งเรื่องเลยนิ

ตอนหลังบางทีผมก็จดบ้างครับ แต่จดแค่ key word คำสองคำพอ จะได้เหลือเวลาอยู่กับเขามากขึ้น

อวจนภาษา...สุนทรียแห่งการสนทนา

กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่น่าสนใจครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีท่านอาจารย์ครับ

บางครั้งถ้าฟังแล้วเข้าใจ จดแค่ keyword แล้วนำมาคิดต่อได้

ถ้ามัวแต่จดไม่ให้ขาด ตกหล่น ก็คงจะขาดสุนทีย์เหมือนที่ท่านอาจารย์กล่าวนะครับ...

อาจจะเป็นเพราะความ "กลัวลืม" ที่ทำให้เราไม่กล้าวางดินสอปล่อยปากกา

และที่เป็นเช่นนั้นเพราะเราใช้วิธีจำแบบนกแก้ว นกขุนทองจนเคยชิน เพราะถ้าเราจำแบบเข้าใจ เราจะไม่ต้องจดกันถี่ยิบ เอาแค่คำบางคำก็พอ เนื่องเพราะเราสามารถนำไปขยายเป็นภาษาเราเองต่อไปได้ (เทคนิกนี้เรียก elaboration)

ในการเรียนแบบ rote learning (ซึ่งใกล้เคียงกับ rotten learning มาก) เราไม่ค่อยคิด ไม่ค่อยจินตนาการ ไม่ต้องพูดถึงที่จะรู้สึกร่วม หรือ in ไปกับเนื้อหา ทำให้เราขาดทักษะการสร้างเรื่องราวประกอบคำสำคัญ จะเห็นได้จากการเรียนในปัจจุบันเด็กแทบจะกาตัวเลือกเป็นหลัก เขียนความเรียง ย่อความ กันไม่่ค่อยจะเป็น ให้เขียนทีก็มึนไปหมด โยงซ้ายป้ายขวา เด็กบางคนเขียนแบบไม่มีย่อหน้าก็มี หรือย่อหน้าแบบตามใจฉันก็มี วรรคตอนดูแปลกประหลาดไปหมด

ขอบคุณอาจารย์มากๆค่ะที่นำเทคนิคการรับรู้และการเรียนรู้หลายๆแบบให้ได้ทราบ

จะพยายามฝึกหัดและเชื่อว่าน่าจะทำให้ดีขึ้นได้ค่ะ

ขอบคุณมากๆนะคะ

พี่ติ๋วครับ

ที่ ม.อ.เราทำ learning styles test กับนศพ.เพราะเราทราบว่าวิธีการรับรู้และแสดงออกของนักเรียนนั้นมีหลากหลาย แล้วแต่ใครถนัดอย่างไร ไม่จำเป็นต้องเหมือนๆกัน แต่ละ style ก็มีจุดแข็งของตนเอง และไม่ได้การันตีผลลัพธ์ว่าอย่างไรจะเหนือกว่าด้อยกว่าแบบไหน

ที่จริงในประเด็นประสิทธิภาพ ผมคิดว่าคงจะไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ที่แน่ๆก็คือ การฟังเพื่อ contents กับการฟังเพื่อ relationship นั้น มี focus คนละที่ เราอาจจะเน้นทั้งคู่ เน้นอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วแต่บริบท ขอเพียงขณะที่เราเน้น ให้เราทราบว่าเรากำลังต้องลดสมาธิอีกฝ่ายลงไปบ้างแค่นั้นเอง ข้อสำคัญคือ awareness ขณะที่เราทำเท่านั้น

พี่ได้เข้าไปอ่าน Learning Styles Test ที่อาจารย์กล่าวถึง

ไม่เข้าใจการแบ่งเป็น Visual Learning Styles, Auditory Learning Styles และTactile Learning Styles ค่ะ

หากพอมีเวลากรุณาอธิบายให้ทราบด้วยค่ะว่าแต่ละอย่างมันอย่างไร

ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

 

ผมใช้ของ Anthony Gregorc ครับ เขียนไว้ที่นี่ และที่นี่ สาเหตุเพราะแบบสอบถามสั้น แค่ 15 ข้อ และแบ่งแค่ 4 กลุ่ม simple ดี ไม่ละเอียดเกินไป แต่ก็ใช้งานได้ตามมุ่งหมาย

Learning styles มีเยอะมาก คงจะขึ้นกับการนำไปใช้ครับ ว่าแบบไหนจะเหมาะสำหรับอะไร ในบริบทเช่นไร

ไล่ตามมาศึกษาเรื่องคนอีกในรอบดึก...โอ...มีให้เรียนรู้มากมาย

นี่แหละพวกหนูเฮฮา...เอ๊ย!...หนู AR

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท