ญาณวิทยาแบบไทย


อาจารย์นิธิ  เอียวศรีวงศ์ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับญาณวิทยาแบบไทยโดยผมได้่ตัดต่อบทความอันนั้นไว้ว่า

"ญาณวิทยาของไทยนับแต่โบราณกาลมาก็คือ ความจริงนั้นมีอยู่ (ไม่ใช่ถูกสร้างขึ้น) และมนุษย์สามารถเข้าถึงความจริงนั้นได้ โดยได้รับการบอกเล่าจากคนที่ได้เข้าถึงความจริงนั้นแล้ว (ซึ่งเรียกว่าครู, ผู้รู้, นักปราชญ์, ทิศาปาโมกข์, พระมนู ฯลฯ) ฉะนั้น การเรียนรู้คือกระบวนการที่จะทำให้เราสามารถจดจำความจริงที่มีผู้บรรลุแล้วเหล่านั้นไว้ ให้กลายเป็นสมบัติของเราเอง และนั่นคือที่มาของการให้ความสำคัญแก่การท่องจำ
ขอให้สังเกตนะครับว่า ในญาณวิทยาแบบนี้ ความจริงย่อมสถิต คือไม่เปลี่ยนแปลง แต่คงที่อยู่อย่างนั้นเสมอไป จึงไม่จำเป็นต้องไปตรวจสอบความจริงนั้นอีก และด้วยเหตุดังนั้น กระบวนการที่จะแสดงหลักฐานและเหตุผลว่า เราอาจบรรลุความจริงดังกล่าวได้อย่างไร (โดยอาศัยการใช้เหตุผล, โดยอาศัยการสังเกตการณ์, โดยอาศัยการใช้ความรู้สึก ฯลฯ) จึงไม่เกี่ยวหรือไม่สำคัญเลย
ความรู้ฝรั่งที่เราให้ความเคารพนับถือนับตั้งแต่ ร.4 ลงมานั้น ไม่ได้เกิดจากญาณวิทยาแบบนี้
ฝรั่งสมัยนั้นยอมรับว่าความจริงมีอยู่ เราอาจจำลองความจริงซึ่งมีอยู่เป็นอิสระจากความคิดของเราได้ โดยอาศัยการสังกตการณ์และเหตุผล แต่การจำลองของเราอาจถูกขัดแย้งได้ เมื่อคนอื่นได้พบอะไรใหม่ในการสังเกตการณ์และใช้เหตุผลคนละชุดกับของเรา ฉะนั้น ความจริงของฝรั่งจึงไม่สถิต อาจเปลี่ยนแปลงไปได้ตามการสังเกตการณ์และการคิดของมนุษย์
การเรียนรู้ที่เหมาะสมในญาณวิทยาแบบนี้ก็คือ การฝึกสังเกตการณ์และใช้เหตุผล ไม่มีความจริงให้ท่องจำ มีแต่กระบวนการบรรลุภาพจำลองความจริงที่ดีที่สุด ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจกระบวนการนั้นๆ ให้กระจ่าง แน่นอนว่า จะประกาศว่าเป็นผู้รู้อยู่คนเดียว โดยไม่แสดงพยานหลักฐานหรือกระบวนการคิดเหตุคิดผลของตัวให้คนอื่นรู้เลย ย่อมเป็นเพียงขี้ฟันที่มีกลิ่นเหม็นในญาณวิทยาแบบนี้เท่านั้น
ตั้งแต่ ร.4 ลงมา เรารับเอาความรู้ฝรั่งมาใช้งานเยอะแยะไปหมด จนอาจกล่าวได้ว่าชนชั้นนำไทยไม่ได้ขัดขวางต่อต้านความรู้ฝรั่งเลย รวมทั้งการจัดการศึกษามวลชนที่อาศัยความรู้ฝรั่งเป็นเนื้อหาหลักในหลักสูตร แต่ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ผมคิดว่าเราไม่เคยละทิ้งญาณวิทยาแบบเก่าของเรา ฉะนั้น ความรู้ฝรั่งสำหรับเราจึงเป็นความจริงที่ต้องท่องจำ และให้ความสำคัญเสียยิ่งกว่ากระบวนการคิดที่อยู่เบื้องหลังความรู้นั้น ฝรั่งเปลี่ยนความรู้ใหม่ เราก็ท่องจำใหม่ ไม่มีปัญหาอะไรครับ
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การรับวัฒนธรรมฝรั่งของไทยนั้น ไม่นำไปสู่การปฏิวัติทางญาณวิทยา
นอกจากนี้ ใครยิ่งใกล้ฝรั่งมากเท่าไร คนนั้นก็ยิ่งใกล้ความจริงหรือบังคับควบคุมความจริงได้มากเท่านั้น ก็ฝรั่งมันรู้ความจริงหรือมีความรู้นี่ครับ ผมคิดว่านี่คือที่มาของความคลั่งปริญญาบัตรในวัฒนธรรมไทยปัจจุบัน (ซึ่งมีลำดับชั้นของ "ศักดิ์และสิทธิ์" ชุดหนึ่ง อันอาจวิเคราะห์ได้ว่าขึ้นอยู่กับความใกล้-ไกลจากความรู้ฝรั่งนั่นเอง)
ยังมีมิติทางสังคมในญาณวิทยาแบบไทยด้วย นั่นก็คือความรู้หรือความจริงนั้นสัมพันธ์กับสถานะทางสังคมและการเมือง พูดกันตรงๆ ก็คือคนที่มีสถานะทางสังคมและการเมืองสูง ย่อมเข้าถึงความจริงหรือมีความรู้สูงตามไปด้วย
ผมไม่ทราบว่าญาณวิทยาแบบไทยทำให้เกิดเงื่อนไขนี้มาแต่โบราณหรือไม่ แต่ญาณวิทยาแบบไทยที่รักษาเอาไว้ท่ามกลางการเรียนความรู้ฝรั่งนั้น ทำให้เกิดเงื่อนไขนี้ขึ้นแน่ เพราะเฉพาะคนที่มีสถานะทางสังคมและการเมืองสูงเท่านั้น ที่มีโอกาสได้รับการศึกษาจนสามารถมีฉลากฝรั่งติดตัวได้
อำนาจและความรู้กลายเป็นเรื่องเดียวกันขึ้นมา
คงจำกันได้นะครับว่า ข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญที่กีดกันคนไม่มีปริญญาลงรับเลือกตั้งนั้น สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญอ้างว่า กว่า 80% ของประชาชนที่ไปสำรวจความเห็นต้องการอย่างนั้น
เมื่อท่านนายกฯ พูดว่า คนที่คิดเห็นไม่เหมือนรัฐบาล "ไม่รู้" โดยไม่ต้องอธิบายว่าข้อเสนอหรือความคิดเห็นของเขาผิดตรงไหนเลย ผมก็เชื่อว่ามีคนไทยกว่า 80% เหมือนกันที่เห็นพ้องกับท่าน ก็ท่านเป็นถึงนายกรัฐมนตรี มีสถานะทางสังคมและการเมืองสูงสุด จะไม่มีความจริงในมือมากกว่าคนอื่นได้อย่างไร
กล่าวโดยสรุปก็คือ ญาณวิทยาแบบไทยที่ถือว่า มีคนบางคนเข้าถึงความจริงสูงสุดนั้น ยังเป็นญาณวิทยาของคนส่วนใหญ่ในประเทศอยู่ ไม่ว่าเราจะรับวัฒนธรรมฝรั่งมามากเพียงใดก็ตาม และญาณวิทยาแบบนี้ยังเป็นฐานของระบบการศึกษาไทย และการเมืองไทยสืบมาจนปัจจุบัน ไม่ว่าเราจะเรียกระบบปกครองของเราว่าประชาธิปไตยหรือไม่ก็ตาม
อันที่จริง ถ้าพูดกันด้วยญาณวิทยาแบบนี้ จะเป็นประชาธิปไตยกันจริงๆ คนไม่รู้นั่นแหละควรพูดมากกว่าคนรู้ ก็คนรู้มีอยู่ไม่กี่คนเท่านั้นนี่ครับ เจ้าของประเทศล้วนเป็นคนไม่รู้เสียเป็นส่วนใหญ่ ถ้าไม่ให้เขาพูดก็ยกประเทศให้ผู้รู้ไม่กี่คนนั้นไปเลยก็แล้วกัน
ผมเชื่อว่า คงมีคนจำนวนไม่น้อยแย้งว่า ถ้าปล่อยให้คนไม่รู้พูดมาก บ้านเมืองก็เละเทะไปหมดสิ เพราะเมื่อไม่รู้แล้วจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการปกครองบ้านเมืองได้อย่างไร ต้องปล่อยให้คนรู้เขาจัดการไปนั่นแหละถูกแล้ว
ถ้าประชาธิปไตยหมายถึงการปกครองของคนไม่รู้ ก็อย่าเป็นมันเลยประชาธิปตงหรือปไตย
ใช่เลยครับ เพราะประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่เรารู้จักนั้น เป็นระบบที่วางอยู่บนญาณวิทยาแบบใหม่ของฝรั่ง (ใหม่กว่าสมัยกลาง) นั่นก็คือความรู้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะอยู่ในมือใครก็ตาม ย่อมอาจถูกตรวจสอบได้เสมอ มี "ศักดิ์และสิทธิ์" เท่าๆ กันหมด เพราะจะเป็นที่ยอมรับได้ก็ต้องแสดงหลักฐานและเหตุผลวิธีคิดมาให้เป็นที่ยอมรับ จะมาประกาศปาวๆ เพราะถือว่าเป็นนายกฯ หรือเป็นผู้มีสถานะสูงอย่างเดียวไม่ได้
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ประชาธิปไตยเป็นระบอบปกครองของคนไม่รู้ด้วยกัน ที่ใครอ้างว่ารู้นั้น คนอื่นอาจเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเขาแสดงกระบวนการคิดของเขาให้เป็นที่เชื่อถือได้หรือไม่ต่างหาก
ปราศจากการปฏิวัติทางญาณวิทยา ประชาธิปไตยไทยย่อมไม่ง่อนแง่นเป็นธรรมดา รัฐธรรมนูญหรือทหารประชาธิปไตยหรือประชาธิปัตย์ก็ไม่สามารถทำให้เกิดความมั่นคงของระบอบนี้ขึ้นมาได้ เพราะลึกลงไปจริงๆ เรายังแสวงหาคนที่กุมความจริงไว้ในมือมาปกครอง มากกว่าจะถกเถียงแลกเปลี่ยนระหว่างคนไม่รู้ด้วยกัน
เช่นเดียวกับการปฏิรูปการศึกษาที่พูดกันมากมายนั้น ต้องมีการปฏิวัติญาณวิทยาเป็นฐานของการปฏิรูป ไม่อย่างนั้นก็ต้องเถียงกันแต่เรื่องอำนาจในการคุมโรงเรียนควรอยู่ในมือใคร กระทรวง, ครู หรือ อบต.
อย่างไรก็ตาม ผมไม่อยากพูดจนดูเหมือนโลกมืดมนไปหมด เพราะผมคิดว่าญาณวิทยาแบบไทยกำลังถูกสั่นคลอนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นั่นคือการแพร่เข้ามาของญาณวิทยาโพสต์มอเดิร์นของฝรั่ง ผมขอสรุปฐานความคิดของโพสต์มอเดิร์นตามความเข้าใจอย่างตื้นเขินของตัวเองว่า ความจริงสูงสุดอาจมีอยู่ก็ได้ แต่เราไม่มีวันเข้าถึงหรอก ที่เรียกกันว่าความจริงหรือความรู้ล้วนเป็นสิ่งก่อสร้างทางสังคมทั้งนั้น เพื่อเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง
ด้วยเหตุดังนั้น จะคว้ามาแต่ "ความรู้" แล้วรักษาญาณวิทยาไว้เหมือนเดิมอย่างที่ไทยเคยทำมากับพวกมอเดิร์นนิสต์จึงไม่ได้ จะคว้าไว้ได้ก็แต่เพียงวิธีวิทยา ไม่ใช่ความจริงที่ตายตัวอันควรแก่การทรงจำไว้
ความแพร่หลายของโพสต์มอเดิร์น โดยเฉพาะในกลุ่มนักวิชาการรุ่นใหม่ ชี้ให้เห็นว่า แล้วในที่สุดมันก็จะขยายไปถึงนักเรียนมัธยม และพอถึงตอนนั้น (หรืออาจจะก่อนนั้นเสียอีก) ญาณวิทยาแบบไทยก็จะถูกท้าทายอย่างหนัก จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติทางญาณวิทยาขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้"

 

คำสำคัญ (Tags): #ความรู#ญาณวิทยา
หมายเลขบันทึก: 38041เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2006 18:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
     ขอบคุณสำหรับความรู้ที่นำมาแบ่งปันกันครับ บทความนี้ผมยังไม่เคยได้อ่าน และผ่านไปเสีย หากไม่ใช่ GotoKnow ขอบคุณอีกครั้ง

สุดยอดเลยครับ แม้จะอ่านยากอยู่สักหน่อย (คือต้องย่อยเป็นประโยคๆ ไปเลย) คงต้องใช้เวลาในการคิดตามและทำความเข้าใจ

ญาณวิทยาของไทย

  • ความจริงนั้นมีอยู่ มนุษย์สามารถเข้าถึงความจริงได้ โดยการบอกเล่าของคนที่ได้เข้าถึงความจริงนั้นแล้ว 
  • ฉะนั้น การเรียนรู้คือกระบวนการที่จะทำให้เราสามารถจดจำความจริงที่มีผู้บรรลุแล้วเหล่านั้นไว้ ให้กลายเป็นสมบัติของเราเอง
  • และนั่นคือที่มาของการให้ความสำคัญแก่การท่องจำ
  • ญาณวิทยาแบบไทย จึงไม่จำเป็นต้องไปตรวจสอบความจริงนั้นอีก การใช้เหตุผลจากการสังเกต, การใช้ความรู้สึก ฯลฯ จึงไม่สำคัญ

ญาณวิทยาแบบฝรั่ง (ที่เราให้ความเคารพนับถือนับตั้งแต่ ร.4 ลงมา)

  • ความจริงซึ่งมีอยู่เป็นอิสระจากความคิดของเราได้ โดยอาศัยการสังเกตและเหตุผล
  • แต่การจำลองของเราอาจถูกขัดแย้งได้ เมื่อคนอื่นได้พบอะไรใหม่ในการสังเกตการณ์และใช้เหตุผลคนละชุดกับของเรา
  • ฉะนั้น ความจริงของฝรั่งจึงไม่สถิต อาจเปลี่ยนแปลงไปได้ตามการสังเกตการณ์และการคิดของมนุษย์
  • การเรียนรู้ที่เหมาะสมในญาณวิทยาแบบนี้คือ การฝึกสังเกตการณ์และใช้เหตุผล ไม่มีความจริงให้ท่องจำ มีแต่กระบวนการบรรลุภาพจำลองความจริงที่ดีที่สุด ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจกระบวนการนั้นๆ ให้กระจ่าง
  • จะประกาศว่าเป็นผู้รู้อยู่คนเดียว โดยไม่แสดงพยานหลักฐานหรือกระบวนการคิดเหตุคิดผลของตัวให้คนอื่นรู้เลย ย่อมเป็นเพียงขี้ฟันที่มีกลิ่นเหม็นในญาณวิทยาแบบนี้เท่านั้น
  • ตั้งแต่ ร.4 ลงมา เรารับเอาความรู้ฝรั่งมาใช้งานเยอะแยะไปหมด รวมทั้งการจัดการศึกษามวลชนที่อาศัยความรู้ฝรั่งเป็นเนื้อหาหลักในหลักสูตร แต่เราไม่เคยละทิ้งญาณวิทยาแบบเก่าของเรา ฉะนั้น ความรู้ฝรั่งสำหรับเราจึงเป็นความจริงที่ต้องท่องจำ และให้ความสำคัญเสียยิ่งกว่ากระบวนการคิดที่อยู่เบื้องหลังความรู้นั้น ฝรั่งเปลี่ยนความรู้ใหม่ เราก็ท่องจำใหม่
  • การรับวัฒนธรรมฝรั่งของไทยนั้น ไม่นำไปสู่การปฏิวัติทางญาณวิทยา
  • ใครยิ่งใกล้ฝรั่งมากเท่าไร คนนั้นก็ยิ่งใกล้ความจริงหรือบังคับควบคุมความจริงได้มากเท่านั้น นี่คือที่มาของความคลั่งปริญญาบัตรในวัฒนธรรมไทยปัจจุบัน ซึ่งลำดับชั้นของ "ศักดิ์และสิทธิ์" ขึ้นอยู่กับความใกล้-ไกลจากความรู้ฝรั่ง
  • มีมิติทางสังคมในญาณวิทยาแบบไทยที่ความรู้หรือความจริงสัมพันธ์กับสถานะทางสังคมและการเมือง คนที่มีสถานะทางสังคมและการเมืองสูง ย่อมเข้าถึงความจริงหรือมีความรู้สูงตามไปด้วย เฉพาะคนที่มีสถานะทางสังคมและการเมืองสูงเท่านั้น ที่มีโอกาสได้รับการศึกษาจนสามารถมีฉลากฝรั่งติดตัวได้
  • อำนาจและความรู้จึงเป็นเรื่องเดียวกันขึ้นมา
  • กล่าวโดยสรุป ญาณวิทยาแบบไทยที่ถือว่า มีคนบางคนเข้าถึงความจริงสูงสุดนั้น ยังเป็นญาณวิทยาของคนส่วนใหญ่ในประเทศอยู่ ไม่ว่าเราจะรับวัฒนธรรมฝรั่งมามากเพียงใดก็ตาม และญาณวิทยาแบบนี้ยังเป็นฐานของระบบการศึกษาไทย และการเมืองไทยสืบมาจนปัจจุบัน ไม่ว่าเราจะเรียกระบบปกครองของเราว่าประชาธิปไตยหรือไม่ก็ตาม
  • ประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่เรารู้จักนั้น เป็นระบบที่วางอยู่บนญาณวิทยาแบบใหม่ของฝรั่ง (ใหม่กว่าสมัยกลาง) นั่นก็คือความรู้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะอยู่ในมือใครก็ตาม ย่อมอาจถูกตรวจสอบได้เสมอ มี "ศักดิ์และสิทธิ์" เท่าๆ กันหมด เพราะจะเป็นที่ยอมรับได้ก็ต้องแสดงหลักฐานและเหตุผลวิธีคิดมาให้เป็นที่ยอมรับ จะมาประกาศปาวๆ เพราะถือว่าเป็นนายกฯ หรือเป็นผู้มีสถานะสูงอย่างเดียวไม่ได้
  • ประชาธิปไตยเป็นระบอบปกครองของ "คนไม่รู้" ด้วยกัน ที่ใครอ้างว่ารู้นั้น คนอื่นอาจเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเขาแสดงกระบวนการคิดของเขาให้เป็นที่เชื่อถือได้หรือไม่ต่างหาก
  • ปราศจากการปฏิวัติทางญาณวิทยา ประชาธิปไตยไทยย่อมง่อนแง่น
  • รัฐธรรมนูญหรือทหารประชาธิปไตยไม่สามารถทำให้เกิดความมั่นคงของระบอบนี้ขึ้นมาได้ เพราะลึกลงไปจริงๆ เรายังแสวงหาคนที่กุมความจริงไว้ในมือมาปกครอง มากกว่าจะถกเถียงแลกเปลี่ยนระหว่างคนไม่รู้ด้วยกัน
  • การปฏิรูปการศึกษาที่พูดกันมากก็ต้องมีการปฏิวัติญาณวิทยาเป็นฐานของการปฏิรูป ไม่อย่างนั้นก็ต้องเถียงกันแต่เรื่องอำนาจในการคุมโรงเรียนควรอยู่ในมือใคร กระทรวง, ครู หรือ อบต.

ญาณวิทยาโพสต์มอเดิร์น 

  • ญาณวิทยาแบบไทยกำลังถูกสั่นคลอนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนจากการแพร่เข้ามาของญาณวิทยาโพสต์มอเดิร์นของฝรั่ง
  • ความคิดของโพสต์มอเดิร์นตาม ความจริงสูงสุดอาจมีอยู่ก็ได้ แต่เราไม่มีวันเข้าถึง ที่เรียกกันว่าความจริงหรือความรู้ล้วนเป็นสิ่งก่อสร้างทางสังคมทั้งนั้น เพื่อเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง
  • ดังนั้น จะคว้ามาแต่ "ความรู้" แล้วรักษาญาณวิทยาไว้เหมือนเดิมอย่างที่ไทยเคยทำมากับพวกมอเดิร์นนิสต์จึงไม่ได้ จะคว้าไว้ได้ก็แต่เพียงวิธีวิทยา ไม่ใช่ความจริงที่ตายตัวอันควรแก่การทรงจำไว้
  • ความแพร่หลายของโพสต์มอเดิร์น โดยเฉพาะในกลุ่มนักวิชาการรุ่นใหม่ ชี้ให้เห็นว่า แล้วในที่สุดมันก็จะขยายไปถึงนักเรียนมัธยม และพอถึงตอนนั้นญาณวิทยาแบบไทยก็จะถูกท้าทายอย่างหนัก จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติทางญาณวิทยาขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผมจำได้ว่าเคยอ่านมาครั้งหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว อ.นิธิ เขียนลงในมติชนรายสัปดาห์ (ถ้าจำไม่ผิด) ตอนนั้นอ่านไม่รู้เรื่องเท่าไร พอมาอ่านใน g2k กลับนี้รู้สึกดีขึ้น(เล็กน้อย) ทุกประเด็นล้วนน่าคิด น่าถกเถียง ...

ผมขอบคุณอาจารย์สุรเชษฐ์ เวชชพิทักษ์ที่สนใจกับการที่ผมนำ

เอาบทความอาจารย์นิธิ ซึ่งมีความน่าสนใจในการนำเสนอคำตอบว่า

ญาณวิทยาแบบไทย ๆเป็นอย่างไร

ผมทิ้งบล๊อคนี้ไปนานทีเดียวเพราะไม่มีเวลาที่จะเขียน
จนอีเมล์มาเตือน ก็แวะมาอีกที  ความรู้ที่ถูกกีดกันไปสู่ชายขอบ ก็ยังคิดไม่เสร็จเลยครับ เป็นอันว่าคำตอบของอาจารย์นิธิได้ตอบปัญหาของผมได้

ผมทำงานเกี่ยวกับ

ความรู้ การจัดการศึกษา มองว่าการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมามันประสบความล้มเหลวนั่น

ก็เพราะเรื่องญาณวิทยา อันที่มันขัดแย้งกันนี่่แหละ

เรื่องเหล่านี้มันจมลึกเป็นอุดมการณ์ จิตสำนึุก ของสังคมและวัฒนธรรมไทยไปจนได้ จนยากที่จะแก้ไข เพราะว่า คำว่าครูในสังคมไทยมันเป็นตัวแทนของความจริงและไม่อาจตรวจสอบความจริงนั้นได

เพราะเราเริ่มทำลายเด็กตั้งแต่การปิดกั้นความคิดของเด็ก

ตั้งแต่เข้าโรงเรียน คำถามต่า่ง ๆ จะหายไป การถูกทำให้เงียบมีความสำคัญมากในการจัดการศึกษา อันนี้เป็นไปตั้งแต่ประถม จนถึงระดับอุดมศึกษานะครับ อันนี้ก็รวมทั้งผู้ที่จบมาแล้วเข้าสู่้ระบบการเป็นครูบาอาจารย์ก็จะมีการสืบทอด

ความเงียบ และ การตั้งคำถามจะหายไป ความขัดแย้งระหว่างญาณวิทยาทั้ง 2 อย่าง ปรากฎตัวอย่างสำคัญในวิธีการจัดการศึกษาแบบเน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง

ความขัดแย้งปรากฎขึ้น สองขั้ว ของความคิด คือ

ญาณวิทยาของไทยอันซึมลึก
ญาณวิทยาของฝรั่งการจัดการเรียนรู้แบบchild center ซึ่งนำเอาเข้ามา เป็นเรื่องใหม่ จากพวกผู้เชี่ยวชาญ และรู้เฉพาะด้าน ก็นำมันมาด้านเดียว และผลักดันกัน

ม้ันจึงเกิดความกึ่งดิบ กึ่งดี ล้มเหลวมาแต่ต้่น 

ซึ่งในประเด็นญาณวิทยา หรือ ทฤษฎีความรู้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็มีการถกเถีึยงกันมาตั้งแต่โบราณแล้วละครับ

 ซึ่งคำถามในระดับพื้นฐาน ก็คือ  ความรู้คืออะไร

คำตอบจึงมีทั้งหลากหลายตามโลกทัศน์แต่ละคน
ตั้งแต่พวกวัตถุนิยม จิตนิยม  Pramatism   คำตอบ
ที่แตกต่างกันเหล่านี้ชวนให้ถกเถียงกันไปไม่มีที่สิ้นสุด

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท