จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

ย้ำแดนเมืองหลวง


วันนี้ (กลายเป็นเมื่อวานไปแล้วครับ เพราะบันทึกนี้เริ่มเขียนที่สนามบิน แต่บังเอิญแบ็ตหมดก่อน) ผมมาร่วมการประชุมสัมมนาเกี่ยวกับการประกันคุณภาพภายในสำหรับปี 53 ครับ ประเด็นเหมือนกับตอนที่ทีม มอย. ยกขบวนไปนั่งฟังที่ ม.ทักษิณครับ ดังนั้นการรับฟังวันนี้เหมือนเป็นการตอกย้ำภารกิจที่คนมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องไหวตัวและปรับตัวเพื่อการประเมินในปีหน้าครับ บอกได้เลยครับว่า ถ้าไม่เริ่มแต่ตอนนี้ ไม่มีทางที่เราจะผ่านการประเมินในปี 53 ได้ นั่งฟังไป ครุ่นคิดไปครับ เดิมตั้งใจว่า เสร็จภารกิจสอบแก้ครั้งนี้แล้ว จะขอตัวไปทำภารกิจส่วนตัวบ้าง แต่การฟังรอบสองนี้มันทำให้เสียวสันหลังนิดๆ ครับ เพราะคิดว่าการผ่านการสอบแก้การประเมินครั้งที่สอง อาจจะไม่ใช่ตัวการันตีว่าเราผ่านการประเมินรอบสามได้ด้วย ผมสรุปส่วนตัวว่า การบริหารงานมหาวิทยาลัยโดยเพียงคนๆ เดียว ไม่สามารถสร้างการยอมรับในคุณภาพการศึกษาได้  ไม่มีทางที่จะมีใครคนใดคนหนึ่งเป็นอัศวิน เป็นฮีโร่แล้วสามารถพามหาวิทยาลัยของเราผ่านประกันได้ งานนี้ต้องใช้คำว่า ทีมอย่างเดียว เพราะประเด็นที่ สกอ.จะใช้ในการประเมินคือ กระบวนการบริหารจัดการเชิงคุณภาพ

การบริหารจัดการเชิงคุณภาพ ต้องมองหาคำว่า ระบบก่อนครับ จากนั้นก็วิ่งหากลไกหรือเครื่องมือเพื่อการขับเคลื่อนตามระบบ ต้องแสดงให้เห็นถึงความพยายามของกลไกและคนในระบบเพื่อการขยับขับเคลื่อน เป็นไปไม่ได้เลยที่มหาวิทยาลัยนี้จะผ่านประกันหากผู้บริหารไม่รู้ว่าระบบบริหารจัดการ องค์ประกอบในการประกันมีอะไรบ้าง ทำอย่างไรจึงจะผ่านประกัน ที่สำคัญถ้าแค่คิดว่าจะหาใครก็ได้ที่รู้เรื่องประกันมาทำให้ผ่านได้ ผมฟังธงได้เลยครับว่า ไม่มีทาง เพราะถ้าจะทำอย่างนั้นได้หมายถึงคนๆ นั้นต้องบริหารมหาวิทยาลัยเองคนเดียว ฮือ ใครจะบริหารจัดการมหาวิทยาลัยด้วยลำพังคนเดียวได้ ถึงผมจะอายุน้อย ผมก็ไม่เคยพบว่า มีมหาวิทยาลัยไหนที่มีอธิการบดีคนเดียว โดยไม่มีรองอธิการบดีช่วยในการบริหารเลย ฮิฮิ หรือว่ามีแก่กว่าผม แล้วไปเจอว่า มีมหาวิทยาลัยที่ไม่มีรองอธิการบดีช่วยบริหาร ฮา

ประเด็นรายละเอียดจากที่ประชุมวันนี้ คงเอามาเล่าลำบากครับ ผมขอเสนอปลีกนอกก่อนแล้วกันครับ ส่วนรายละเอียดจะทยอยนำมาคุย ที่สำคัญผมจะถ่ายคู่มือประกันส่งไปทุกหน่วยงานครับ (อาจจะต้องมีเวิร์คช็อปบ้างตามมาหลังจากที่ทุกหน่วยงานได้ศึกษาคู่มือนี้ไปบ้างเป็นการเบื้องต้น)

อย่างแรกที่ต้องเปลี่ยนคือ เวลาการเขียนรายงานที่เดิมกำหนดว่า การรายงานจะต้องทำหลังจากเสร็จสิ้นภาคการศึกษา ไม่เกิน 120 วัน ตอนนี้เปลี่ยนใหม่ครับเป็นต้องประเมินให้เสร็จก่อนปิดภาคการศึกษา    เอ้า โย่  (จะไปดีใจทำไม) แต่วันนี้ที่ฟังผมได้ความรู้ใหม่อย่างหนึ่งครับ คือ การประเมินสาขาวิชาไม่จำเป็นต้องประเมินแบบเดียวกับที่ประเมินคณะ ผมไม่แน่ใจว่าผมเข้าใจผิดในอดีตหรือเปล่า ผมไม่แน่ใจว่า เขาบังคับให้สาขาวิชาเขียน sar กันตั้งแต่เมื่อไร แต่วันนี้ผมฟังแล้วผมกลับเข้าใจว่า มันไม่ต้องเขียนก็ได้นี่หว่า ย้ำว่าที่คิดคือ ไม่ต้องเขียน sar นะครับ แต่... (มีแต่นะครับ) คณะต้องทำการประเมินสาขาวิชา เพื่อนำผลการประเมินมาทำ sar ของคณะอันนี้ใช่ครับ และรายงานของคณะต้องปรากฏใน che qa online ด้วยครับ ผมกำลังคิดว่า เรา (ใครก็ได้ที่ทำกันหลายคน) ต้องมานั่งคิดใหม่ครับสำหรับการประเมินและรายงานของสาขาวิชา ซึ่งตอนนี้ที่ผมคิดได้คือ นำเอาแบบ มคอ. มาใช้หนึ่งละ อีกหนึ่งคือแบบประเมินอาจารย์เอง ซึ่งอย่างหลังนี้อาจจะไม่ต้องละเอียดมาก เพียงแต่อ่านแล้วเห็นประเด็นว่าตลอดปีทำอะไรไปบ้าง หรือว่าชีวิตนี้ข้าพเจ้าสอนเป็นอย่างเดียว ฮา (ถึงแม้บังอรจะเอาแต่นอนได้ แต่อาจารย์ มอย.จะเอาแต่สอนอย่างเดียวไม่ได้นะครับ)

อย่างที่สองคือ มีการปรับตัวบ่งชี้ ซึ่งผมคิดว่าการปรับตัวบ่งชี้ครั้งนี้ดีขึ้นครับ แย่งส่วนชัดเจนของการประเมินของ สกอ. และ สมศ. แต่ทั้งคู่ก็ต้องทำออกมาเป็นรายงานเล่มเดียวกัน จากการประชุมรอบนี้เห็นนโยบายทั้งสองสำนักที่ต้องควบคุมเราครับว่า เขาแบ่งงานกันชัดเจนขึ้น และเห็นความเชื่อมโยงระหว่างกัน เหมือนจะทำให้เราเบาแรงครับ ทั้งนี้ตัวบ่งชี้ของทุกมหาวิทยาลัยจะมีเท่ากัน แต่จะมีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มมหาวิทยาลัย เขาแบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่ หรือ 5 กลุ่มเล็กครับ คือ กลุ่ม ก ข ค1 ค2 และ ง ครับ ของเราก็มีเพียงตัวเลือกเดียวครับคือ มหาวิทยาลัยในกลุ่ม ข ในการอภิปรายสักถามประเด็นนี้น่าสนใจครับ และสะท้อนภาพให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยใหญ่ๆ เขากลัวการตกประกันคุณภาพเหมือนกันครับ ทั้งนี้กลุ่ม ง. จะเป็นกลุ่มเข้มสุดคือมีวงการต่อสู้เพื่อสร้างความเป็นนานาชาติ มีความเห็นหนึ่งจากผู้บริหาร ม.ชั้นนำของประเทศยังแสดงความเห็นว่า ถ้าเข้มขนาดนี้ อยู่กลุ่ม ค. น่าจะเหมาะสมกับเขามากกว่า ฟังแล้วเขาซีเรียสเรื่องผ่านหรือตกประกันคุณภาพมาก (อือ ทำไมเราไม่เห็นซีเรียสกับเรื่องนี้เท่ากับเขาเลย ฮา)

การคิดคะแนนรอบนี้เปลี่ยนไปเยอะเหมือนกันครับ มีโอกาสได้คะแนนตั้งแต่ 0-5 ครับ ในขณะเดียวกันในบางตัวบ่งชี้คะแนนจะเป็นการเทียบบัญญัติไตรยางศ์ครับ คะแนนจึงอาจมีทศนิยมได้ด้วย ถ้าไม่ทำเลย 0 คะแนนแน่ๆ แค่เขาไม่ได้ระบุไว้ในคู่มือ (เขาพูดไว้อย่างนั้น)

ผมเห็นอุปสรรค์หนึ่งของเราสำหรับการขับเคลื่อนงานประกันคุณภาพครับ เพราะหากเรายังไม่มีใครสักคนที่สามารถเป็นผู้ประเมินภายนอกได้ (อันนี้ขั้นต่ำ สูงกว่านี้ คือ) ประธานคณะกรรมการผู้ประเมินภายนอกได้ เราจะมีปัญหาในการตรวจสอบและประเมินภายในของเราเองครับ ทางออกมันก็มีครับ แต่คิดออกมาได้นิดหนึ่ง ยังหาแบบสมบูรณ์ยังไม่ได้ครับ

ประเด็นต่อมา คือ การประเมินคุณภาพรอบปี 53 จะมีผลต่อการรับรองวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยเอกชนครับ นั้นหมายถึง การเปิดสอนทุกหลักสูตรของมหาวิทยาลัยเอกชนจะไม่ได้รับการรับรองไปด้วยหากไม่ผ่านประกัน งานนี้มีคนเห็นแย้งครับ ระบุว่าเป็นการเลือกปฏิบัติของรัฐ หากออกมาจริง มีฟ้องศาลปกครองแน่ๆ (แต่จริงๆ มีระบุในสไลด์นำเสนอชัดเจนแล้วครับ ในคู่มือยังไม่ได้เช็คดู)

ขออนุญาตจบเพียงเท่านี้ก่อนครับ กำลังจะเริ่มการประชุมอีกรายการหนึ่งแล้ว ฮือ มานุษย์ประชุมจริงๆ

คำสำคัญ (Tags): #ประกันคุณภาพ
หมายเลขบันทึก: 378298เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2010 10:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 15:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ขอเป็นกำลังใจให้ครับอาจารย์
  • ขอบคุณสำหรับวันก่อนที่ได้โทรมาเพื่อมีโอกาสได้ฟังแนวคิดดีๆครับ
  • อาจารย์เราจะสอนอย่างเดียวไม่ได้หรอกครับยิ่งสังคมมันก้าวไปไกล ที่น่าเป็นห่วงสำหรับผมคือบางครั้งสอนอย่างเดียวแต่ไม่มีเทคนิคการสอนที่สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เด็กบอกเดียวคำเดียวครับว่า "สงสารเด็กๆครับที่ต้องทนเรียนกับรูปแบบการสอน เนื้อหา แบบเดิมๆ"
  • ขอดุอาอฺให้ทุกอย่างก้าวผ่านด้วยดีครับ 
  • อาจารย์เป็นแบบอย่างคนนึงที่ทำให้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่างครับ
  • สู้ๆๆๆๆๆๆๆ ครับ

ขอบคุณครับอาจารย์ เสียงเล็กๆ فؤاد 

เสียดายที่อาจารย์มาไม่ทันยกแรก ฮิฮิ ผมเข้าใจว่าอาจารย์ได้รับเมลผมที่ตอบไปแล้ว และบังเอิญตลอดช่วงเช้าก็วุ่นๆ กับงานที่สำนักงานครับ เลยไม่ได้โทรไปแจ้ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท