จดทะเบียนการเกิด ไม่ได้หมายถึงสัญชาติ


อันที่จริง การจดทะเบียนการเกิด กับเรื่องสัญชาติ ไม่ได้เป็นเรื่องเดียวกัน แต่พอเข้าใจว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ปัญหาในการรับแจ้งเกิดจึงมักถูกปฏิเสธ และในที่สุด เด็กที่เกิดมา จึงไม่ได้รับการบันทึกความมีสภาพบุคคลและตัวตนในที่แห่งใดในโลก

               จดทะเบียนการเกิด ไม่ได้หมายถึงสัญชาติ

              เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้รับจดหมายเชิญไปร่วมงานห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับการจดทะเบียนการเกิด สงสัยเป็นอย่างยิ่งว่า "การจดทะเบียนการเกิด (Birth Registration)" หมายถึงอะไร และเพื่อค้นหาคำตอบให้แก่ตัวเอง การเดินทางเพื่อค้นหาความรู้จึงได้เริ่มต้นขึ้น

            ระหว่างการเดินทางไปจังหวัดเชียงรายตามคำเชื้อเชิญขององค์การแพลน  ประเทศไทย อีกหนึ่งองค์กรระหว่างประเทศ ที่เข้ามาทำงานด้านเด็กไร้รัฐและไร้สัญชาติ แต่ที่น่าสนใจสำหรับองค์กรนี้ก็คือ ความพยายามในการจัดการปัญหาที่จุดเริ่มต้นของชีวิตของเจ้าของปัญหา เพราะคนเหล่านี้ ไม่ได้พูดถึง ประเด็น สัญชาติ แต่กำลังพูดถึง การแจ้งให้สังคมได้รับรู้ถึงสภาพบุคคลของเด็ก ที่กำลังเกิดมาในฐานะเจ้าของสิทธิ ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชน

                ผมสงสัยเหลือกำลังเลยว่า เด็กหนึ่งคนเกิดมาบนโลกใบนี้ จำเป็นที่จะต้องมีเอกสารอะไรบ้างที่แสดงสถานภาพของความเป็นตัวตน (ความเป็นบุคคล) ของตน และ เอกสารที่ว่านี้ มันมีความยุ่งยาก ขนาดที่ต้องพาพวกเรามานั่งคุยกันเลยเหรอ และที่แปลกใจเป็นหนักหนาก็คือ แล้วทำไมคนที่ลุกขึ้นมาเจ้ากี้เจ้าการในเรื่องนี้ ถึงเป็นองค์การระหว่างประเทศ อย่างเช่น แพลน ประเทศไทย

            ในที่สุดเมื่อมาถึงงานซึ่งใช้ชื่อว่า โครงการสัมมนาการรณรงค์เรื่องการจดทะเบียนเด็กแรกเกิดในจังหวัดเชียงราย ได้คำตอบเบื้องต้นสำหรับคำถามที่ผมสงสัยในใจ ก็คือ เมื่อเด็กเกิดมาจะต้องมีเอกสารชิ้นแรกที่เรียกว่าหนังสือรับรองการเกิด ซึ่งเข้าใจง่ายๆว่า ก็เป็นเอกสารที่บอกว่า มีการเกิดขึ้นแล้ว หรือที่ทางราชการเรียกว่า ทร.๑/๑ ซึ่งออกโดยผู้ทำคลอด หรือ สถานพยาบาล ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ แต่หากเด็กเกิดโดยหมอตำแย จะทำอย่างไร หมอตำแย จะเป็นคนออกหนังสือรับรองการเกิดได้หรือไม่

                ถ้าหากเป็นเช่นนั้น จำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการในการแจ้งการเกิดต่อบุคคลที่ได้รับการยอมรับตามกฎหมาย ก็คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือ เดินทางไปยังอำเภอ ซึ่งก็จะได้รับ เอกสารอีกชิ้นหนึ่งก็คือ ใบรับแจ้งการเกิด  หรือที่เรียกว่า ทร๑ ตอนหน้า ซึ่งก็คือเอกสารที่บอกให้รู้ว่า ทางราชการได้รับแจ้งการเกิดแล้ว

                และในขั้นต่อมานี้เอง ทางราชการก็จะคัดกรองการให้ใบเกิด หรือ สูติบัตร ซึ่งเป็นเอกสารที่ระบุถึงการมีสัญชาติอยู่ในเอกสารชิ้นนี้ แต่เอกสารชิ้นนี้ ไม่ได้เป็นเอกสารที่ทำให้ได้สัญชาติ เพราะสัญชาติต้องเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติ

                สิ่งที่เป็นประเด็นหลักของการปะชุมครั้งนี้ก็คือ การให้มีเอกสารชื้นที่หนึ่ง ในชีวิตก็คือ การรับแจ้งการเกิด ซึ่งหมายถึง การยอมรับความมีตัวตนของเด็กที่เกิดมาในฐานะ มนุษย์

                และที่เข้าใจอย่างแจ่มชัดก็คือ  เอกสารชิ้นนี้ ยังมีหลายคนเข้าใจว่า เป็นปัจจัยที่จะทำให้ได้สัญชาติ

                ความจริง ไม่ได้เป็นเช่นนั้น

                แต่ความไม่เข้าใจนี้เอง ทำให้ การปฏิเสธการรับจดทะเบียนการเกิด เพื่อรองรับความเป็นมนุษย์ เกิดขึ้น

                ถึงเวลาที่เราต้องเปลี่ยนแปลงความเข้าใจนี้เสียใหม่        

หมายเลขบันทึก: 36837เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2006 00:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 00:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ในประการแรก ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การจดทะเบียนการเกิดในกฎหมายระหว่างประเทศคืออะไร ?

ในประการที่สอง ต้องทราบว่า สิ่งที่มีอยู่ในกฎหมายไทยนั้น มีอะไรบ้าง

ในประการที่สาม ต้องกำหนดจุดยืนว่า อะไรเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยมากที่สุด

จะบอกว่า Birth registration (BR) ไม่ส่งผลทำให้ได้สัญชาติไทยเลย ก็ไม่ใช่ มันมีผลต่อกันเหมือนกัน

มันยากเหมือนกันที่จะแยกออกจากงานด้านสัญชาติ อย่างที่เราเห็น เขาเซๆ ไป เซๆ มา ระหว่าง BR และสัญชาตินั่นแหละ

หนูก็เป็นคนนึงที่..เคยงงอยู่กับเรื่องการจดทะเบียนการเกิดนี้อยู่มาก ทั้งในแง่ของขั้นตอนและความสำคัญ

แต่พอได้ไปร่วมโครงการสัมมนานี้..ภาพในหัวก็ชัดขึ้นอีกมากมาย เพราะได้ฟังทั้งหลักทฤษฎีจากฝ่ายวิชาการ และแนวทางในการปฏิบัติจริงจากนายทะเบียนด้วย

ตอนนี้..หนูก็คิดเหมือนกับพี่โก๋

สิ่งที่สำคัญ คือ การปรับทัศนคติ

คุยเล่นเล่นนะครับ(เพื่อขายไอเดีย/อย่าเพิ่งว่าบ้านะครับ ) คือเราเคยดูภาพยนต์เรื่องหนึ่ง มีคนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งแก้ปัญหาเรื่องคนไร้สัญชาติด้วยการตั้งชาติ ขึ้นมาใหม่  เป็นvirtual country และจดทะเบียนกับสหประชาชาติ ( ตามอายุชาติและcriteria ของ un ) เพื่อทำกิจกรรมที่พวกเขาอยากทำ อาทิรับรองการเกิด รับรองสภาพบุคคล บัญชีสวสัดิการ อื่นอื่น

 

ในทางข้อเท็จจริง เราจะพบชาติใหม่ใหม่เกิดขึ้นมากมายในรอบห้าปี-สิบปีที่ผ่านมา และบางชาติได้มีสัมพันธภาพทางการทูตกับประเทศไทยแล้วด้วย อย่างสวาซิแลนด์เป็นต้น

กลับมาในภาพยนตร์ คือเขาไปจมเรือในทะเลให้มีบางส่วนโผล่ออกมาจากน้ำและประกาศความเป็นรัฐชาติจากเสากระโดงเรือนั้น ผ่านสื่ออินเทอร์เน็ต เขามีรายได้จากการทำjurrisdiction คล้ายนoffshore country ทั้งหลาย  ออกใบอนุญาตให้บริษัททำการวิจัยในบางเรื่องที่ประเทศแม่นั้นไม่ยอมให้วิจัย โดยใช้พื้นที่ในประเทสอื่นในรูปการเช่า หรือ วิถีการทางทูต

 

ประเด็นของเราคืออย่าให้กฎหมายอยู่เหนือคน คนเป็นผู้สร้างกฎหมาย กฎหมายมีหน้าที่รับใช้คน ในประวัติศาตร์มีคนสร้างชาติมามากมาย ในปัจจุบันมีชาติใหม่เกิดขึ้นทุกห้าปี

 

ถ้ากฎหมายไม่เอื้อและอุปสรรคมากนัก ลองทำเหมือนในภาพยนตร์ดูสิครับ สร้างชาติใหม่ขึ้นมาเลยซื้อที่ดินจากพม่าหรือลาวในแม่น้ำโขง สักสิบตารางวาใช้เทคโนโลยี่ให้เป็นประโยชน์ การจัดรูปองคกรที่ดีเพียงพอ ผู้นำที่มีฐานานุรูระดับสากลอย่างคนอินเดียที่ได้รางวัลโนเบลสหกรณ์ มีธรรมนูญชัดเจนว่าชาตินี้ประเทศนี้ไม่แสวงหากำไรเพื่อชนในชาติแต่เพื่ออุดมการอะไรก็ว่าไป

 

พลิกนิดเดียวเรื่องมหาหินกลายเป็นง่ายนิดเดียว เราว่าง่ายกว่าคุณธนินทร์ซีพีไปลงทุนในจีนอีกนะ

ขออ่านด้วยคน krutoiมีลูกๆไร้สัญชาติ ไม่รู้มันเกิดมาอย่างไร ....ล้อเล่น

เป็นเด็กพม่า มอญ กระเหรี่ยง ลาว เขมร จะตั้งชาติใหม่ดีใหมคะ ก็คิดจะตั้งโรงเรียนนานาชาติเหมือนตามมหา'ลัยเขาตั้งกัน แต่กลัวสันติบาลเล่นเอา เลยยุติไว้ก่อน เป็นความรู้ที่ผู้ที่เกี่ยวข้องทางการศีกษา เช่น บริหารโรงเรียน ครู และผูปกครอง และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ควรรับทราบ จะได้มีการนำปัญหามาแก้ไขพร้อมๆกัน นับเป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ในการแก้ปัญหา คนพลัดถิ่น คนไม่มีทะเบียนบ้าน คนไม่มีใบเกิด คนไม่มีที่มา อาศัยอยู่ริมขอบ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท