ดร.อุทัย อันพิมพ์
ดร. อุทัย ดร.อุทัย อันพิมพ์ อันพิมพ์

“ ข้าวปลา อาหาร หมู เห็ด เป็ด ไก่ ”


การเพาะเห็ดในท่อนไม้
  ข้าวปลา อาหาร  หมู เห็ด เป็ด ไก่   เป็นสำนวนที่กล่าวกันมาแต่โบราณกาล  ซึ่งไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันได้  นั่นแสดงให้เห็นว่า เห็ด  น่าจะเป็นอาหารที่บริโภคกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ  ซึ่งเดิมทีเดียวเมื่อครั้งธรรมชาติยังอุดมสมบูรณ์  เห็ดป่ายังมีปริมาณมาก เพียงพอต่อประชากร  แต่เมื่อมาถึงยุคปัจจุบัน ต้องแก่งแย่งแข่งขันกัน ธรรมชาติถูกทำลายและส่งผลให้เห็ดที่มีอยู่ในธรรมชาติเริ่มหายากมากยิ่งขึ้น  ด้วยคุณค่าทางโภชนาการของเห็ดและความนิยมชมชอบในการบริโภคจึงเกิดอาชีพการเพาะเห็ดขึ้น  เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภค  ดังนั้นการเพาะเห็ดในท่อนไม้จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งของการผลิตที่เป็นการเลียนแบบธรรมชาติที่น่าสนใจ

                จากแนวทางการพัฒนาอาชีพการเพาะเห็ดในท่อนไม้ที่ผ่านมา พบว่าเห็ดแต่ละชนิดก็จะเกิดดอกในท่อนไม้ที่แตกต่างชนิดกันออกไป  เช่น  เห็ดบด จะเกิดดอกได้ดีในไม้ พะยอม  บาก  พลวง  แคน มะค่าแต้  เต็ง  ก่อเป็นต้น  เห็ดขอนขาว จะเกิดดอกได้ดีในไม้มะม่วง  บาก  เหลื่อม ติ้ว เป็นต้น  และสำหรับเห็ดหูหนู เกิดดอกได้ดีในไม้แค  ขนุน  น้อยหน่า  และไม้ตระกูลไทร  เป็นต้น                 

การเตรียมท่อนไม้ และอุปกรณ์        ในการเพาะเห็ดในขอนไม้นั้น  สามารถใช้ได้ทั้งไม้สดและไม้แห้ง  แต่จากการศึกษาพบว่า  ไม้ที่ยังสดจะสามารถทำได้ง่ายและสะดวกกว่า  แต่ถ้าเป็นไม้แห้งต้องนำไปแช่น้ำก่อน  ประมาณ 1-2  คืน  จึงนำขึ้นมาเพื่อใส่เชื้อเห็ดเข้าไป  หากเป็นไม้สดก็สามารถใส่เชื้อเห็ดเข้าไปได้เลย และช่วงเวลาที่เหมาะสมในการตัดกิ่งไม้มาเพาะเห็ดคือ ฤดูใบไม้ร่วง เนื่องจากต้นไม้จะมีการสะสมอาหารที่มากกว่า  สำหรับวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการเพาะประกอบด้วย อุปกรณ์เจาะรูท่อนไม้ ฆ้อน จุกปิด และเชื้อเห็ดที่ดี มีความแข็งแรง       

ขนาดและความยาวของไม้              ไม้ที่นำมาเพาะเห็ดนั้นสามารถนำมาใช้ได้ทุกขนาดแต่ให้คำนึงถึงความสะดวกในการปฏิบัติงานโดยปกติแล้วจะนิยมใช้ไม้ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ  10-20  ซม.  ยาวประมาณ  1 เมตร  เจาะรูลึกประมาณ  1  นิ้ว  ห่างกันประมาณ  1  ฝ่ามือ  หรือ  ประมาณ 10 ซม.  โดยใช้เหล็กเจาะรู หรือสว่านขนาด  4-5  หุน  หลังจากนั้นใช้เชื้อเห็ดที่เลี้ยงบนขี้เลื่อย  หรือในเมล็ดข้าวฟ่างก็ได้  ใส่ลงไปในรูจนเต็มใช้ไม้ที่สะอาดกดลงไปให้แน่นพอประมาณ  แล้วปิดรูด้วยจุกไม้ที่ได้จากเหล็กเจาะเปลือกออกมา  หรือฝาพลาสติกสำหรับเพาะเห็ดในขอนไม้ที่มีขายโดยเฉพาะ  หรือใช้ฝาจีบขวดน้ำอัดลมหรือเบียร์ปิดแทนก็ได้

การพักและบ่มท่อนเชื้อเห็ด หลังจากใส่เชื้อเห็ดเรียบร้อยแล้วให้พักท่อนเชื้อเพื่อรอให้เชื้อเห็ดเจริญเติบโตเข้าไปในเนื้อไม้มากที่สุด โดยวางพักในพื้นที่สะอาด มีการถ่ายเทอากาศสะดวก ลมไม่โกรก และควรมีความชื้นพอสมควร ซึ่งอาจจะเป็นใต้ร่มไม้ หรือในโรงเรือนที่มีหลังคากันแสงแดดได้ ท่อนเชื้อไม่ควรสัมผัสกับ ดินโดยตรง ควรหาวัสดุรองรับ การวาง ให้วางแบบหมอนรถไฟ โดยเอาท่อนไม้ขนาดใหญ่กว่าไว้ด้านนอก ท่อนเล็กไว้ด้านใน เนื่องจากท่อนไม้เล็กจะแห้งเร็วในระหว่างการพักท่อนเชื้อมีข้อควรระวังคือ อย่าให้เชื้อจุลินทรีย์อื่นขึ้นบนท่อนเชื้อ เช่น ราเขียว วัชเห็ด หรือเห็ดที่เพาะเกิดดอกก่อนในช่วงพักท่อนเชื้อ โดยใช้มีดหรือเหล็กแหลมขูดออกให้หมด นอกจากนี้ข้อควรระวังอีกข้อคือความชื้นในท่อนไม้หลังจากวางท่อนเชื้อไว้ประมาณ 10-15 วัน ให้สังเกตดูความชื้นของท่อนไม้ เพราะเมื่อเห็ดเจริญเข้าไปในเนื้อไม้ ความชื้นของท่อนไม้จะลดลงซึ่งมีผลต่อการเจริญของเห็ด ดังนั้นให้รดน้ำช่วยแต่ไม่มากเกินไป ประมาณสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง จนกว่าเชื้อจะเดินเต็มท่อนไม้  และควรกลับกองทุกครั้งที่รดน้ำโดยเอาท่อนเชื้อที่อยู่ด้านล่างขึ้นด้านบน และท่อนเชื้อที่อยู่ด้านบนลงด้านล่าง ที่อยู่ข้างนอกเข้าด้านใน ที่อยู่ด้านในออกด้านนอก ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้เส้นใยเห็ดเดินทั่วท่อนไม้ได้เร็วยิ่งขึ้น ประมาณ 40-60 วัน เชื้อจะเดินเต็มท่อนไม้

การทำให้เกิดดอก หลังจากเชื้อเดินเต็มท่อนไม้ให้นำท่อนเชื้อไปแช่น้ำทิ้งไว้ 24-48 ชั่วโมง (ถ้าแช่ในน้ำเย็นอุณหภูมิ 15-18 0C จะกระตุ้นให้เกิดดอกเร็วขึ้น) โดยหาวัสดุที่หนัก ๆ มาทับน้ำให้จมน้ำไว้เพื่อให้ท่อนไม้ดูดซึมน้ำได้เต็มที่ จากนั้นใช้ฆ้อนตีแรง ๆ ที่ปลายทั้งสองด้านของท่อนไม้ เพื่อกระตุ้นให้เนื้อเยื่อของไม้ขยายตัว และอากาศเข้าไปในเนื้อไม้ได้ จากนั้นจึงนำไปวางในโรงเรือนแบบเผาข้าวหลาม หากเป็นเห็ดบด เห็ดขอนขาวให้เปิดดอกในโรงเรือนที่ร้อนชื้น สำหรับเห็ดหูหนู ให้เปิดดอกในโรงเรือนที่เย็นชื้น คลุมด้วยผ้าพลาสติกหรือกระสอบปุ๋ย รดน้ำทุกวัน ๆ ละ 2-3 ครั้ง ตอนเช้า บ่าย และเย็น ประมาณ 7-14 วัน จะเกิดตุ่มเห็ดเล็ก ๆ ขึ้นหลังจากนั้นประมาณ 2-5 วัน ก็สามารถเก็บดอกเห็ดได้ และสามารถเก็บผลผลิตไปได้เรื่อย ๆ หากสังเกตเห็นว่าดอกเห็ดเล็กลง และมีจำนวนน้อย ให้ทำการบ่มเชื้อใหม่โดยเอาไปผึ่งลมด้านนอกโรงเรือนไม่ต้องรดน้ำ 10-15 วัน จากนั้นนำไปแช่น้ำตีกระตุ้นด้วยฆ้อน แล้วจึงนำกลับเข้าโรงเรือนเปิดดอกใหม่ ทำเช่นนี้เรื่อยๆ จนกว่าท่อนไม้จะผุหมด       

หมายเลขบันทึก: 36786เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2006 16:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 16:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท