พบนักจัดการความรู้กลุ่มโรงเรียนไชโยบูรพา


การแลกเปลี่ยนเรียนรู้หลากหลายลีลานานาสาระ

เกริ่นนำ

             เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๙ ผมได้มีโอกาสไปจัดกิจกรรม"แลกเปลี่ยนเรียนรู้" แนวทางการจัดการความรู้ร่วมกับคณะครู ผู้บริหาร กรรมการสถานศึกษา และนักเรียน รวมทั้งสิ้น  ๒๗ คน (ในจำนวนนี้มีนักเรียนระดับชั้นป.๒-๖ ชั้นละ ๒ คน)  กิจกรรมนี้จัดขึ้นที่โรงเรียนวัดมหานาม อำเภอไชยโย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอ่างทอง โดยมีท่าน ผอ.ณรงค์ศักดิ์ ฉัตรเจริญพร ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดมหานามซึ่งเป็นคนหนุ่มไฟแรงทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานให้กระผมได้มีโอกาสไปทำหน้าที่ออกแบบการจัดการความรู้ในครั้งนี้
             สำหรับสถานที่จัดกิจกรรม ณ วัดมหานาม แห่งนี้ จากการสอบถามประวัติความเป็นมาของวัด ท่านเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน กล่าวว่าบริเวณแห่งนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ตั้งของปูชนียวัตถุสำคัญตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา นั่นคือ "หลวงพ่อขาว" ที่ชาวบ้านให้ความศรัทธาเลื่อมใส เคารพนับถือยิ่งนัก
            ท่านเจ้าอาวาสเล่าให้ฟังว่าเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงทำกลศึกหลอกล่อแม่ทัพนายกองพม่าที่ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา โดยพระองค์ได้จัดกองทหารไปตั้งรับทัพพม่าที่บริเวณทุ่งบางขันธ์ อันเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยพลศึกษาอ่างทองในปัจจุบัน เมื่อครั้นถึงวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือนเมษายน เวลาประมาณตีสามทหารพม่าได้รุกไล่ตามทหารไทยที่ไปทำกลลวงยกทัพจากอินทร์บุรี พรหมบุรี มุ่งหน้ามาตีกรุงศรีอยุธยา พอมาถึงบริเวณทุ่งบางขันธ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงให้ทหารนำผ้าสีขาวมาคาดที่ต้นแขนขวา เพื่อเป็นสัญญลักษณ์ให้รู้ว่าเป็นพวกเดียวกัน การต่อสู้ครั้งนั้นในท่ามกลางเดือนหงายทหารไทยซึ่งมีกำลังน้อยกว่าได้ฆ่าฟันทหารพม่าล้มตายเป็นจำนวนมาก  และสมเด็จพระนเรศวรได้ขับไล่กองทัพพม่าถอยทัพกลับไป พอรุ่งเช้าบรรดาแม่ทัพนายกองฝ่ายไทยได้ไปอาบนำชำระล้างร่างกาย คราบเลือดที่แปดเปื้อนอาวุธในลำน้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดมหานาม ส่วนองค์สมเด็จพระนเรศวร ทรงสรงนำในสระที่วัดเกษไชยโย ใกล้กับบริเวณวัดมหานาม (ข้อมูลที่ได้เป็นส่วนหนึ่งจากหนังสือโบราณที่ท่านเจ้าอาวาสวัดมหานาม ค้นพบในขณะทำการบูรณะกุฏิเจ้าอาวาส สภาพตัวอักษรเลือนลางพอถอดความได้บ้างและอยู่ในสภาพชำรุด ต่อมาได้เกิดอันตรธานหายไป)


ดำเนินเรื่อง
            การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนได้ทดลองนำกระบวนการจัดการความรู้มาทดลองใช้กับกลุ่มที่มีความหลากหลาย จะเห็นได้ว่ามีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ครูและผู้บริหาร ชาวบ้านและผู้ทรงคุณวุฒิ (ภูมิปัญญาท้องถิ่น) ดังนั้นการดำเนินกิจกรรมจึงเป็นสิ่งที่ท้าทาย โดยได้ดำเนินการดังนี้
            ขั้นแรกเป็นการสร้างความคุ้นเคย ซึ่งสมาชิกทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรมจะนั่งล้อมวงเป็นรูปครึ่งวงกลม ผู้เขียนนั่งอยู่ข้างหน้า
            - เริ่มต้นการสนทนา ผู้เขียนได้แนะนำตัวว่าเป็นใคร มาจากไหน มาทำอะไรที่นี่ และมีวัตถุประสงค์ เป้าหมายอย่างไร (พูดย่อๆ)
           - ต่อมาให้สมาชิกแต่ละคนแนะนำตนเองว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน ทำอะไร ชอบหรือถนัดในเรื่องใดมากที่สุด ตั้งแต่คนแรกจนถึงคนสุดท้าย
           - เมื่อแนะนำตัวเสร็จแล้ว ผู้เขียนในฐานะผู้ประสานงาน(KF)
ได้ขอความร่วมมือให้สมาชิกที่มีความสนใจ/ถนัด/ชอบในเรื่องคล้ายๆกันไปยู่ในกลุ่มเดียวกัน
           - จากการจัดกลุ่มปรากฏว่ามี ๔ กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
              
              ๑) กลุ่มกีฬา                               ๒) กลุ่มรักการอ่าน
              ๓) กลุ่มศิลปวัฒนธรรม              ๔) กลุ่มรักธรรมชาติ

          - เมื่อจัดกลุ่มได้แล้วให้สมาชิกภายในกลุ่มเลือก "คุณอำนวย" และ "คุณลิขิต" เพื่อช่วยกันคิดระดมสมองตอบโจทย์ทีว่า "จะทำอย่างไรจึงจะให้ผู้เรียนเป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุข"
          -
ปรากฏว่าบางกลุ่มมีนักเรียนเป็นคุณลิขิต และกรรมการสถานศึกษา เป็นคุณอำนวย  แต่ละกลุ่มมีเวลาพูดคุย เล่าเรื่องความสนใจ หรือความสำเร็จของแต่ละคน ตัวอย่างเช่น กลุ่มกีฬาสมาชิกส่วนใหญ่เป็นนักเรียน  มีนักเรียนคนหนึ่งเล่าว่าทุกวันตอนเช้ามาถึงโรงเรียนจะหัดเดาะบอล และกลางวันหลังทานข้าวก็จะเล่นบอลรู กับเพื่อนๆ พอตกเย็นกลับถึงบ้านทำการบ้านเสร็จแล้วจะออกมาเล่นฟุตบอลกับพี่ๆ เพื่อนๆที่สนามฟุตบอลของโรงเรียนวัดมหานาม ทำเช่นนี้ตั้งแต่เรียน ป.๓ ปัจจุบันเรียนอยู่ ป.๖ สาเหตุที่ชอบเล่นฟุตบอลเพราะมีความชอบประกอบกับเห็นรุ่นพี่บางคนเรียนจบจากวิทยาลัยพลศึกษาอ่างทองได้เป็นนักฟุตบอลทีมชาติ  ดังนั้นอนาคตจึงอยากเล่นฟุตบอลทีมชาติบ้าง

            - การพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เริ่มตั้งแต่เช้า ประมาณสิบโมงมาถึงเที่ยง จากการสังเกตพบว่าทุกคนมีความกระตือรือร้น สนใจฟังเรื่องเล่า และได้เล่าเรื่องที่ตนเองถนัดอย่างสนุกสนานไม่มีทีท่าว่าจะเบื่อหน่ายดังจะเห็นได้จากถึงเวลาพักเที่ยงแล้วก็ไม่หยุดเล่า

            - ช่วงพักเที่ยงสมาชิกทุกคนได้ไปรวมตัวกันที่โรงอาหารเล็กๆในโรงเรียน บรรยากาศการรับประทานอาหารเป็นไปด้วยไมตรีจิตมิตรภาพ ทั้งคนทำ (แม่ครัว) และคนทาน (สมาชิก) ต่างก็ได้มาร่วมรับประทานอาหารพื้นบ้านร่วมกัน เช่น ผัดไทย (โบราณ) มีลูกมะเฟืองเป็นเครื่องจิ้ม และกับข้าวประเภทแกง ผัดผักเอร็ดอร่อยมาก ส่วนของหวานเป็นขนมพื้นบ้าน เช่น ขนมขี้หนู เป็นต้น

           - บ่ายโมงตรงทุกคนมาพร้อมกันที่ห้องสมุดเพื่อมาจัดกิจกรรมต่อเนื่อง  ก่อนเริ่มต้นทำกิจกรรมผู้เขียนได้ให้สมาชิกทุกคนฝึกบริหารสมอง (Brain Gym) โดยการกดจุด นวดคลึงบริเวณใบหน้า ศีรษะ และท้ายทอย เพื่อให้ร่างกายเกิดความสดชื่นกระปรี้กระเปร่า ไม่ง่วงเหงาหาวนอน อันเนื่องมาจากการรับประทานอาหารมาก ทำให้หนังท้องตึง หนังตาหย่อน

           - สมาชิกทุกกลุ่มใช้เวลาพูดคุยสรุปประเด็นที่เล่าเรื่อง และช่วยกันตอบโจทย์ที่ตั้งไว้ตอนเช้าว่า "จะทำอย่างไรจึงจะให้ผู้เรียนเป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุข"


เฟื่องฟูแนวคิด
           
เมื่อแต่ละกลุ่มพูดคุยภายในกลุ่มเรียบร้อยแล้ว กิจกรรมต่อมาเป็นการนำเสนอผลการประชุมกลุ่มย่อยต่อที่ประชุมกลุ่มใหญ่ โดยแต่ละกลุ่มได้นำเสนอแนวความคิดอย่างหลากหลาย เช่น
              ๑) กลุ่มกีฬา      สมาชิกจะร่วมกันจัดกิจกรรมชมรมกีฬาในโรงเรียน เช่นชมรมฟุตบอล ชมรมตะกร้อ เป็นต้น                         
              ๒) กลุ่มรักการอ่าน จะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมนิสัยรักการอ่านในโรงเรียน มีกิจกรรมยอดนักอ่าน เป็นต้น
              ๓) กลุ่มศิลปวัฒนธรรม     จะมีการฝึกซ้อมกลองยาว ซึ่งเป็นดนตรีพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงของอำเภอไชยโย โดยมีครูฝึกเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นเช้ามาช่วยฝึกซ้อมให้นักเรียน         
             ๔) กลุ่มรักธรรมชาติ จะมีการปลูกพืชผักสมุนไพรในโรงเรียนและส่งเสริมให้ผู้ปกครอง ชุมชนปลูกด้วย ส่วนผลผลิตที่ได้จะนำมาแปรรูปเป็นอาหาร หรือขนม และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ต่อไป

ติดอาวุธทางปัญญา
             
การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ แม้ว่าจะมีเวลาค่อนข้างน้อยแต่ได้ประโยชน์มากมายเกินคาด ดังจะเห็นได้จากการแสดงความรู้สึก ความคาดหวังของสมาชิกในช่วงสุดท้ายของการจัดกิจกรรม AAR (After Action Review) ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ารู้สึกพึงพอใจ ประทับใจ และจะนำประสบการณ์ ความรู้ที่ได้จากการจัดกิจกรรมครั้งนี้ไปประยุกต์ใช้ต่อไป

เสาะหาความเป็นเลิศ
            ก่อนจากกันคณะครู ผู้บริหารและกรรมการสถานศึกษาในกลุ่มโรงเรียนไชยโยบูรพา รวมทั้งผู้เขียน มีความเห็นตรงกันว่า เด็กนักเรียนในอำเภอไชยโย เป็นผู้ที่มีศักยภาพ ความรู้ ความสามารถไม่น้อยเลยทีเดียว เห็นได้จากการแสดงความคิดเห็นในระหว่างการจัดกิจกรรมและการนำเสนอผลงาน เพียงแต่ยังไม่มีโอกาสส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่เท่านั้น  แต่ผมมีความเชื่อมั่นว่า สักวันหนึ่งเพชรที่ผ่านการเจียรนัย จะส่องแสงเปล่งประกายแวววาวบนหัวแหวนอย่างแน่นอน
             การจัดการความรู้ เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการเจียรนัยเพชรเม็ดงาม กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ และท้าทายความรู้ ความสามารถของทุกๆท่านที่เกี่ยวข้องใช่ไหมครับ
            "กิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับวันนี้ได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่ การจัดการความรู้ ยังคงดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่องไม่มีวันจบสิ้น" จนกว่าชีวิตจะหาไม่

หมายเลขบันทึก: 36781เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2006 16:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 15:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท