น้ำหวานๆ กับความอ้วน


ข้อมูลล่าสุดพบว่าคนไทยกินน้ำตาลกันมากถึง ๒๙ กิโลกรัม/ปี หรือประมาณ ๑๖ ช้อนชา/วัน

 

           ปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างให้ความสนใจรณรงค์ให้คนไทยลดการกินหวาน หรือลดการกินน้ำตาลให้น้อยลง เนื่องจากการกินน้ำตาลมากเกินไปมีผลทำให้อ้วน และความอ้วนก็เป็นบ่อเกิดของปัญหาสุขภาพต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ไขมันในเลือดสูง และมะเร็งบางชนิดได้

          มีการคำนวณปริมาณน้ำตาลที่คนไทยบริโภคในแต่ละปี พบว่าแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลล่าสุดพบว่าคนไทยกินน้ำตาลกันมากถึง ๒๙ กิโลกรัม/ปี หรือประมาณ ๑๖ ช้อนชา/วัน

          เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณของน้ำตาลที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำว่าควรกินน้ำตาลไม่เกินวันละ ๖ ช้อนชา จะ เห็นว่าคนไทยกินน้ำตาลเกินถึงวันละ ๑๐ ช้อนชา เท่ากับเราได้พลังงานเพิ่มขึ้นถึง ๒๐๐ แคลอรี/วัน และจะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ถึง ๑ กิโลกรัม/เดือน

          ท่านที่กำลังฟังอยู่ในขณะนี้อาจจะกำลังคิดว่า ทุกวันนี้เราใช้น้ำตาลประกอบอาหารกันถึง ๑๖ ช้อนชาเชียวหรือ ดูเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่มีสิ่งหนึ่งที่เราอาจนึกไม่ถึงหรือไม่ทันระมัดระวังก็คือ น้ำตาลในเครื่องดื่มไงคะ ไม่ว่าจะเป็นน้ำผลไม้ น้ำอัดลม ชาเชียวชนิดต่างๆ หรือแม้กระทั่งขนมหวาน เช่น เฉาก๊วย รวมมิตร ลอดช่องไทย สิงคโปร์ ก็ล้วนเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตไปหมดแล้ว

          คำถามคือแล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าเครื่องดื่มต่างๆ ให้น้ำตาลมากน้อยแค่ไหน ในวันนี้ดิฉันจะแนะนำวิธีง่ายๆ ด้วยการให้คุณเริ่มสังเกตจากเครื่องดื่มกระป๋อง เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้กล่อง หรือชาเขียว ขนาดบรรจุ ๒๐๐-๓๐๐ ซีซี โดยให้คุณสังเกตข้อมูลปริมาณน้ำตาลในฉลากโภชนาการที่ติดมากับกระป๋อง    ซึ่งปริมาณน้ำตาลที่แสดงตรงนั้นจะเท่ากับปริมาณของน้ำตาลของทั้งกล่องหรือ กระป๋องนั้น เลย คุณไม่ต้องมานั่งบวกลบคูณหารให้ยุ่งยาก

ตัวอย่างเช่น:

 
ถ้า คุณดื่มน้ำอัดลม 1 กระป๋อง ๓๒๕ ซีซี ให้คุณมองหาฉลากโภชนาการ และให้ดูปริมาณน้ำตาลทีระบุไว้ หากที่ฉลากระบุปริมาณน้ำตาลไว้เท่ากับ ๔๐ กรัม คุณสามารถแปลงเป็นปริมาณช้อนชาที่คุ้นเคยได้ เพราะน้ำตาล ๑ ช้อนชา เท่ากับ ๕ กรัม ดังนั้นน้ำตาล ๔๐ กรัมจึงเท่ากับ ๘ ช้อนชา 

หากคุณดื่มชาเชียว ๑ ขวด มีส่วนผสมน้ำตาล ๒๐ กรัม แสดงว่าคุณกินน้ำตาลไปแล้ว ๔ ช้อนชา
 


          จะเห็นว่าหากคุณดื่มน้ำที่มีส่วนผสมของน้ำตาลแทนการดื่มน้ำเปล่า คุณก็มีสิทธิ์กินน้ำตาลในปริมาณที่เกินกว่าที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ คือ ๖ ช้อนชาแน่นอน ดังนั้นสำหรับผู้ที่ต้องการรักษาสุขภาพ รักษาน้ำหนักตัว ควบคุมระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ และน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสม การดื่มน้ำเปล่าจะดีกับสุขภาพที่สุด แต่ถ้าหากท่านต้องการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนของน้ำตาล ถึงแม้จะใช้ในปริมาณที่ไม่เกิน ๖ ช้อนชาต่อวัน ก็จำเป็นต้องเรียนรู้ในเรื่องของหมวดอาหารแลกเปลี่ยนเพื่อปรับลดปริมาณอาหาร โดยเฉพาะอาหารประเภทข้าว ขนมปัง เส้นก๋วยเตี๋ยว เผือก มัน ฟักทองและผลไม้ชนิดต่างๆ เพราะอาหารเหล่านี้ เมื่อย่อยแล้วก็ให้น้ำตาลเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อควบคุมปริมาณพลังงานจากอาหารโดยรวมทั้งวันไม่ให้รับมากจนเกินไป<p>          ดังนั้นท่านควรปรึกษารายละเอียดต่างๆ เพิ่มเติมจากนักกำหนดอาหาร เพื่อการวางแผนการรับประทานอาหารที่เหมาะสมค่ะ</p><p>บันทึกโดย:  จุรีย์พร จันทรภักดี
  ;                  นักกำหนดอาหาร โรงพยาบาลเทพธารินทร์
</p>

หมายเลขบันทึก: 36677เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2006 11:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท