ทำอย่างไรให้คนเข้าวัด...?


ช่วงบ่ายของเมื่อวานนี้ (๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๓) มีกัลยาณมิตรท่านหนึ่งมาถามว่า "จะทำอย่างไรให้ญาติของเขาเข้าวัด...?"

ตอนนั้นเราตอบเข้าไปตรง ๆ สั้น ๆ และง่าย ๆ ว่า "รอให้ใกล้ตายก่อนแล้วเขาจึงจะเข้าวัด...!"

ทำไมเราถึงตอบเขาไปอย่างนั้น...

เรื่องนี้ต้องขอเล่าย้อนกลับไปว่า ในกรณีนี้ญาติ ๆ ของเขานั้นเคยพูดกับเขาหลายครั้งว่าตอนที่เจ็บป่วยไม่สบายนี้ให้เข้าไปวัดนะ ไปทำบุญ ไปสร้างกุศล ก่อนนั้นเขาก็เคยมาครั้งหนึ่ง จะมาด้วยเหตุบังเอิญ หรือว่าถูกจัดฉากให้มา หรือว่าจะมาด้วยความจำเป็น เขาก็มา มาแล้วก็หาย เพราะเขาไม่ได้ศรัทธาอะไร

คนเรานั้นถ้าไม่ทุกข์เจียนตายก็ไม่คิดเข้าวัด ไม่ซาบซึ้งใน "รสพระธรรม"

คนที่ยังมีวัยหนุ่ม วัยสาว ซึ่งยังคิดว่าตนเองอยู่ไกลจากความตาย ยังไม่มีอาการเจ็บป่วยใด ๆ มารบกวน แขนขายังมีกำลัง ลุกนั่งเดินเหิรสบายนั้น บุคคลที่อยู่ในวัยนี้ถือได้ว่า เป็นวัยที่ยังมี "ความประมาท" อยู่

เขาก็ใช้ชีวิตของเขาไปเรื่อย ๆ แล้ววางแผนว่า "แก่ ๆ" ค่อยเข้าวัด เกษียณแล้วค่อยมาทำบุญ

สัจธรรมข้อนี้เป็นสิ่งเที่ยงแท้ในจิตใจของบุคคลผู้ประมาท เพราะใครจะรู้ได้เล่าถึงความตายแม้นพรุ่งนี้

หรืออย่างวัยรุ่นหลาย ๆ คนที่เข้าวัดกัน ส่วนใหญ่แล้วก็ "ใกล้จะตาย" ไม่ได้ตายเพราะโรค หรือสังขารภัย แต่ใกล้ตายเพราะความทุกข์ ซึ่งเป็น "ความทุกข์จากความรัก" เรียกง่าย ๆ ว่าวัยรุ่นเหล่านี้เข้าวัดเพราะ "อกหัก"

ตอนที่วัยรุ่นอกหักนี้เรียกได้ว่า "เจ็บเจียนตาย" หรือ "ทุกข์อย่างแสนสาหัส"

 

คนเราเมื่อเจอทุกข์ จิตใจก็จะสอดส่ายหาทางดับทุกข์ และทางดับทุกข์ที่เป็นรูปธรรมหรือเป็นสิ่งที่มองเห็นทางด้านกายภาพก็คือวัด

แต่แท้ที่จริงแล้ว การดับทุกข์ที่แท้จริงนั้น "อยู่ที่จิตที่ใจ"

จิตใจที่รู้แจ้งเห็นจริงซึ่งกฎแห่งไตรลักษณ์ "อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา" สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเป็นของธรรมดา

ไม่ว่าจะเป็นความรัก ทรัพย์สิน เงินทอง หรือแม้กระทั่งร่างกายที่คิดว่าเป็นของเรานี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เยื่อมมีวันเสื่อมสลาย สูญไปเป็น "ธรรมดา"

ดังนั้น คนในปัจจุบันนี้หลาย ๆ คน จึงพยายาม "สวนกระแส" หรือพยายามวืนกฎแห่งธรรมชาติ ด้วยการไม่ยอมแก่บ้าง ไปดึงหน้า ดึงตา กินโน่น เสพนี่ เพื่อที่จะฝืนให้ร่างกายไม่เหี่ยว ไม่แก่

หรือหนุ่ม ๆ สาว ๆ ก็พยายามอัพเกรดตนเอง สร้างตนเอง เสาะหามูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้ตนเอง เพื่อที่ดึง ฉุด ยั้ง คนที่ตนเองรัก หรือที่เรียกว่าแฟน ซึ่งในปัจจุบันนี้อาจจะเรียกว่า "กิ๊ก" ให้อยู่กับตนเองไปนาน ๆ

แต่พอฉุดไม่ไหว ด้วยเหตุแห่งสังขาร อาจจะไม่สวยพอ ไม่หล่อพอ ก็ต้องไปเสาะแสวงหาทรัพย์สินไปแต่งโน่น เสริมนี่ แล้วก็ฉุดรั้งเวลาไว้ได้อีกนิดหน่อย แต่สุดท้ายก็ต้องสิ่งทั้งหลายก็ต้องจากไปเป็นธรรมดาไม่เว้นแม้กระทั่ง "กิ๊ก"

คนที่จะน้อมใจกลับมาพิจารณากฎแห่งไตรลักษณ์ได้นั้น มักจะต้องมีสาเหตุจาก "ความมทุกข์" ซึ่งเป็นหลักข้อแรกของ "อริยสัจ ๔"

คนไม่ใกล้ตายยังไม่เจอทุกข์ คนใกล้ตายจึงได้พบทุกข์ พบทุกข์มากก็มีโอกาสพิจารณาสัจธรรมแห่งชีวิตได้มาก

คนที่จะมีศรัทธาต่อหลักธรรมในพระพุทธศาสนาคือคนที่มีความทุกข์ทั้งสิ้น

แท้ที่จริงแล้วคนเราที่เกิดมาก็ทุกข์กันทั้งนั้น ๆ  แต่ทว่าเทคโนโลยีสมัยนี้ ได้มาสร้างความหลงให้เราคิดว่าหนีทุกข์ได้ แก้ทุกข์ได้ ด้วยการแพทย์ การท่องเที่ยว หรือการเสพความบันเทิงต่าง ๆ แต่แท้ที่จริงแล้ว การเสพความสุขแบบนี้ถือว่าเป็น "ความทุกข์อย่างละเอียด"

สิ่งเสพติดของคนสมัยก่อนนั้นคือ ฝิ่น กัญชา ยาบ้า เฮโรอีน แต่สิ่งเสพติดของคนสมัยนี้คือ "ความสุข" ความสุขซึ่งฉาบแท้ไว้ด้วยยาพิษแห่งความทุกข์ ที่ค่อย ๆ กัดกินหัวใจให้ห่างไกลจาก "ความสงบ" อันเป็นความสุขที่เที่ยงแท้

เมื่อมีทุกข์ใหรู้จักน้อมนำความทุกข์มาพิจารณาให้เกิดปัญญา แล้วชีวิตนี้หนาจะไม่คงอยู่ด้วย "ความประมาท..."

หมายเลขบันทึก: 365910เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2010 07:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 19:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ครับ หลักพุทธธรรมชัดเจน มาจากการปฏิบัติ

เสียดายเพียงแต่ วัยรุ่นเรา มีโอกาสปฏิบัติธรรมน้อย อาจต้องแสวงหาวิธีการโน้มน้าวให้เข้าหาธรรมด้วยวิธีการที่หลากหลายครับ

ผมก็ว่าเหมือนกันและคับ มีทุกข์เท่านั้นแหละจะเข้าวัด เข้ามาก็มาปล่อยทุกข์ไว้กับวัดพอได้สุขไม่เคยมาหาวัดเลยยยยยย

ประเทศไทยมีคำสุภาษิตที่เคยใช้ได้มาหลายยุคหลายสมัยคือ "ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา" แต่ในปัจจุบันคำสุภาษิตนี้เชย ล้าสมัย ใช้ไม่ได้กับคนในปัจจุบัน

เมื่อวานก่อนมีข้าราชชั้นผู้ใหญ่นำศพ "พ่อ" ของตัวเองมาเผาที่วัด พอประชุมเพลิงเสร็จแล้วก็หายจ้อยไปในเวลาไม่ทิ้ง 10 นาที "หายไปไหน...?"

เจ้านายมาจากต่างจังหวัด ต้องไปเลี้ยงดูเจ้านาย ปล่อยพ่อให้นอนอยู่กับกองไฟข้าง ๆ กับเรา ขอบคุณมากครับที่ช่วยให้ผมสร้างบารมี ผมก็ได้แต่คิดว่าเป็นพ่อผม ปู่ผม ผมก็ดูแลเผาท่านอย่างเต็มที่

ก็เอาเถอะนะ พ่อที่ตายไปแล้วคงจะให้ "ผลประโยชน์" กับตัวเองไม่ได้ สู้ไปเลี้ยงดูเจ้านาย เผื่อจะได้ตำแหน่งขึ้นไปในอนาคต

แต่ทว่า สิ่งน่าอดสูใจที่สุดเกิดขึ้นตอนเก็บกระดูก มาแบบรีบ ๆ ตอนนั้นกระดูกส่วนใหญ่ยังร้อน ๆ อยู่ "ท่านฯ" ยืนดูสักพักแล้วประมาณว่ารีบ เผอิญ เราไปหยิบกระดูกอีกส่วนหนึ่งที่ตกอยู่ด้านนอกมา ท่านฯ ก็เลยพูดว่า "เอาอันนี้แหละ" อื่ม... รักพ่อจริง ๆ

แล้วกระดูกที่เหลือไปไหน ให้เราขุดหลุมฝังไว้แถว ๆ นั้น

พอได้กระดูกนิด ๆ หน่อย ก็หายแซ่บ ไปแล้ว ไปเลี้ยงดูเจ้านายต่อ

นั่นก็เถอะนะ นั่นไม่ใช่โลงศพของตัวเอง ถึงแม้นว่าเป็นพ่อตัวเองก็ยังไม่ "หลั่งน้ำตา..."

ช่วงเปิดเทอมแรกนี้ ครูพาเด็ก ๆ ไปเข้าวัดเยอะ กระทรวงศึกษาธิการคงจะมี KPI บังคับไว้ ครูก็เลยพาเด็กไปจัดกิจกรรมกันใหญ่ วุ่นวายกันไปหมด

เห็นแล้วก็ท้อใจ คนในสังคมก็หวังจะพึ่งพาคนที่สมมติตนว่าเป็น "พระ"

พระมาวุ่นวายกับทางโลกมาก ๆ ก็หลงไปกับค่านิยมทางโลกอีก

พระก็เลยต้องการเป็นนักวิชาการ เป็นผู้นำวิชาการทางธรรมะ

เด็กที่มาวัดก็ได้รู้ประวัติพระ ประวัติพุทธศาสนา ประวัติอะไรต่าง ๆ นานา รู้เพื่อไปสอบ รู้เพื่อใช้ตอบคำถามของ "ครู"

ตามระบบแล้ว ครูก็หวังพึ่งพระให้เป็นผู้นำจากจิตใจ เพราะพระถ้าหากปฏิบัติดีแล้วก็ใช้ปัญญาที่บ่มเพาะออกมาจาก "ศีล" ถ่ายทอดคำสอนทางพระพุทธศาสนากับเด็กและเยาวชนได้

ตอนนี้คนที่สมมติว่าพระก็ปฏิบัติได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ต้องยืนอยู่ในฐานะ "ผู้นำทางจิตวิญญาณ" ก็นำไปตามทางของแต่ละท่าน แต่ละองค์

พระที่ท่านปฏิบัติดี ท่านก็ไม่มายุ่งกับเรื่องพวกนี้ แต่บางคนก็รู้ดีหาเรื่องเข้าไปยุ่งวุ่นวายกับท่าน

คนที่น่าจะพึ่งพาได้มากที่สุดคือ "ครู" ครูต้องมี "ศีลธรรม" ต้องมีศีลเป็นเครื่องนำพาชีวิต

เพราะครูอยู่กับนักเรียนทุกวัน นักเรียนจะมาหาพระเพียงปีละครั้ง หรืออย่างมากก็แค่สัปดาห์ละครั้ง (ถ้าพ่อแม่พามา)

ครูดี นักเรียนก็ดี ครูเลว นักเรียนก็เลว ครูมีศีล นักเรียนก็มีศีล ลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้นฉันใด เด็กนักเรียนไทยจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับ "ครู..."

เรียน อาจารย์ปภังกร

ผมมีความเห็นว่า การสร้างความรู้สึกให้อยากไปวัดต้องเริ่มที่ครอบครัว ถ้าพ่อแม่ มีลูก แล้วไม่เคยพาลูกไปวัดเลย

เด็กคนนั้นถ้าเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็คงไม่คิดอยากจะไปวัด เพราะไม่ได้อยู่ในวิถีชีวิต อาจเป็นเรื่องแปลกเสียด้วยซ้ำ

สถาบันครอบครัวจึงมีบทบาทสำคัญต่อการปูพื้นฐานของผู้คนในอนาคต ถ้าพ่อ แม่ พาลูกไปวัดตลอดที่มีโอกาส

เป็นการสร้างความคุ้นเคย พาไปทำบุญ พาไปเที่ยวชมสิ่งสวยงาม พาไปศึกษาหาความรู้จากในวัด ซึ่งมีอยู่มากมาย (ถ้าสอนเป็น)

เมื่อเป็นวิถีชีวิต บุคคลนั้นจะไม่อยู่ไกลวัดเลย

การที่คนไม่ไปวัด ก็มีหลายกรณีน่ะครับ

๑. ชอบอ้างว่าไม่มีเวลา แต่ไปห้างสรรพสินค้า มีเวลามากมาย

๒. ไม่ได้ถูกปูพื้นฐานไว้ (ตามที่กล่าวขั้นต้น)

๓. มีภาพลบของการปฏิบัติตนของสงฆ์ ทำให้ไม่ศรัทธา รู้สึกต่อต้าน สงฆ์จำนวนไม่น้อย ปฏิบัติตนไปในทางเสื่อมพระวินัย โลภมาก

อยากได้แต่เงินทอง แต่ไม่สอนคน สร้างถางรวัตถุ มากกว่าสร้างธรรม

๔. ไปวัดไม่ตรงตามหลักที่ควรจะเป็น เช่น ไปเพื่ออยากได้วัดถุมงคล ของขลัง ของที่เป็นไปในทางเสื่อมของจิต

๕. วิธีการสอนธรรมของสงฆ์ (บางรูป) สอนผิดๆ สอนแต่อิทธิปฎิหาร บางครั้งสอนในสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ได้สอน ผิดหลักธรรม

หลายคนเลยไม่ชอบสงฆ์ไปเลย

หมายเหตุ เรื่องความเสื่อมของพระพุทธศาสนา มีผู้รู้เขียนเป็นตำรา มีรายงานศึกษาวิจัยไว้มากมาย (ผมได้รวบรวมไว้พอสมควร)

ทางแก้ไขที่ดีที่สุดผมจึงคิดว่าอยู่ที่ครอบครัว ถ้าครอบครัวนั้นเป็นครอบครัวที่ปฏิบัติธรรม รับรองได้ว่า คนในครอบครัวนั้นก็จะไม่ห่างไกล พุทธธรรมอย่างแน่นอน

ด้วยความปรารถนาดีจาก

นายรักษ์ ปริกทอง

กลุ่มธรรมรักษ์

เป็นความคิดที่ยอดเยี่ยมมากครับคุณรักษ์ เพราะครอบครัวเป็นพื้นฐานของชีวิต

คนเรามีปัจจัยแวดล้อมหลาย ๆ องค์ประกอบ บุคคลใด ครอบครัวใดมีจริตเข้ากับสภาพแวดล้อมใดก็ควรที่จะเลือกน้อมนำธรรมะสอดแทรกเข้าไปในชีวิตให้ตรงกับจริตของครอบครัวนั้น

อย่างเช่นในขณะนี้ ผมได้เห็นกระบวนการย้อนกลับ ที่เริ่มต้นจากลูกที่ชักชวนพ่อแม่เข้าวัด

เด็ก ๆ กลุ่มนี้ที่พาพ่อแม่เข้าวัดเขาตั้งชื่อกันว่า "ต้นกล้าคุณธรรม" ตามบันทึกที่ผมได้นำเสนอไว้ใน บล็อคโลกแห่งธรรม http://gotoknow.org/blog/dhamma-world

สาเหตุที่พ่อแม่มาวัดก็เพราะลูกมา ลูกมาก็เป็นห่วง เป็นห่วงก็ต้องมาดูแล มาแล้วได้พบ ได้เห็นก็ติดใจ ลูกไม่ชวนก็ชวนลูกมา คราวนี้ชวนพี่ป้าน้าอา ชวนมากันใหญ่

สภาพแบบนี้อาจจะเรียกได้อย่างที่โบราณท่านกล่าวไ้ว้ว่า ลูกจะเป็นคนที่เปิดประตูสวรรค์ให้กับพ่อแม่

ลูกไปไหน พ่อแม่ไปด้วย ลูกไปดี พ่อแม่ก็ตามดีไปด้วย...

  • วัดก็ต่างจากโรงพยาบาลมากนะครับ
  • แต่จะเข้าต้องรอให้ใกล้ตาย เฮ้อ..!
  • จริงครับที่ว่ากระทรวงศึกษาเขากำหนดให้โรงเรียนพาเด็กเข้าวัด
  • วันนี้ลูกก็ไปเข้าค่ายคุณธรรมที่วัดมา
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท