วิธีรับมือ...หากเกิดแผ่นดินไหว


เตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ

http://www.geography-site.co.uk/pages/physical/earth/images/rof.gif

          แม้เหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเฮติ จะมิได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย แต่ก็สร้างความสะเทือนใจให้กับประชาชนชาวไทยไม่น้อย ซึ่งเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้นับเป็นสัญญาณเตือนทางธรรมชาติครั้งสำคัญ ที่กระตุ้นให้มวลมนุษยชาติเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ทวี ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

 

          จากการตรวจสอบสภาพความเสี่ยงแผ่นดินไหวของไทย พบว่า ประเทศไทยตั้งอยู่บนรอยเลื่อนที่สามารถก่อให้เกิดแผ่นดินไหวจำนวน ๑๓ รอยเลื่อน พาดผ่านพื้นที่ ๒๒ จังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันตก โดยจังหวัดที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวมากที่สุด ได้แก่ กาญจนบุรี ตาก แม่ฮ่องสอน และเชียงราย ส่วนจังหวัดที่เสี่ยงภัยรองลงมา ได้แก่ สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ เชียงใหม่ ลำพูน พะเยา น่าน ลำปาง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร เพื่อความปลอดภัยขอแนะนำวิธีรับมือและการปฏิบัติตนให้ถูกต้องและปลอดภัยจาก แผ่นดินไหวให้กับประชาชน ดังนี้

 

          ก่อนเกิดแผ่นดินไหว

 

          ตรวจสอบสภาพความปลอดภัยของบ้านและสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ทำการยึดอุปกรณ์ที่อาจก่อให้เกิดอันตราย เช่น ตู้ ชั้นหนังสือ ไว้กับพื้นหรือผนังบ้านอย่างแน่นหนา ไม่วางสิ่งของไว้บนหลังตู้หรือที่สูง ศึกษาการใช้อุปกรณ์ดับเพลิง วิธีปิดวาล์วแก๊ส วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น และจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องใช้ที่จำเป็นไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน รวมถึงเรียนรู้วิธีปฏิบัติตนอย่างถูกต้องและปลอดภัย เพื่อเตรียมพร้อมรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

 

          ระหว่างเกิดแผ่นดินไหว

 

          ตั้งสติให้มั่น อย่าตื่นตระหนกตกใจ ให้หาที่หลบกำบังในจุดที่มีโครงสร้างแข็งแรง หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้สิ่งของที่มีโอกาสหล่นลงมาหรือวัสดุตกใส่ ถ้าอยู่นอกอาคาร ให้อยู่ห่างจากอาคารสูง เสาไฟฟ้า หรือต้นไม้ใหญ่ให้มากที่สุด เพื่อป้องกันสิ่งปลูกสร้างล้มทับ หากอยู่บริเวณชายทะเลและได้รับประกาศแจ้งเตือน ให้รีบอพยพขึ้นที่สูงหรืออยู่ห่างจากชายฝั่งให้มากที่สุด เพราะอาจเกิดสึนามิได้ ผู้ที่อยู่ในรถให้หยุดรถและอยู่ภายในรถ รอจนกระทั่งแผ่นดินไหวสงบลง ไม่ควรจอดรถใกล้อาคาร สะพาน เสาไฟฟ้า หรือไหล่ถนน เพราะอาจเกิดแผ่นดินถล่ม

 

          ผู้ที่อาศัยอยู่ในอาคารสูง ให้หลบอยู่บริเวณจุดที่มีโครงสร้างแข็งแรง และอยู่ห่างจากประตู หน้าต่างที่มีลักษณะเป็นกระจก หลีกเลี่ยงการใช้ลิฟท์และบันไดหนีไฟในการหนีออกจากตึก เนื่องจากโครงสร้างของตึกอาจได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว ห้ามจุดเทียน ไม้ขีดไฟ หรือประกอบกิจกรรมที่ทำให้เกิดประกายไฟ เพราะอาจมีแก๊สรั่วไหลอยู่บริเวณดังกล่าว ทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ และควรหาที่หลบให้พ้นจากสิ่งของหล่นทับ เช่น ใต้โต๊ะที่แข็งแรงหรืออยู่ชิดใต้เสา รอจนกว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวสงบลงจึงค่อยออกจากตึก

 

          หลังจากแผ่นดินไหวสงบลง  

 

          ตรวจ สอบว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือไม่ ถ้าพบผู้ได้รับบาดเจ็บให้รีบทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และรีบออกจากอาคารที่เสียหายทันที เพราะอาจเกิดอาฟเตอร์ช็อคทำให้อาคารถล่มลงมาได้ ควรสวมรองเท้าหุ้มส้น เพื่อป้องกันเศษแก้ว หรือวัสดุแหลมคมอื่นๆ แทงจนได้รับบาดเจ็บ ตรวจสอบสายไฟ ท่อน้ำ ท่อแก๊ส หากแก๊สรั่วให้ปิดวาล์วถังแก๊ส และยกสะพานไฟ ห้ามอยู่ใกล้บริเวณที่มีสายไฟขาดหรือวัสดุสายไฟพาด เพราะอาจโดนไฟฟ้าดูด และเปิดวิทยุรับฟังคำแนะนำฉุกเฉิน ตลอดจนหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์โดยไม่จำเป็น ไม่เข้าไปในเขตที่มีความเสียหายสูงหรืออาคารที่เสี่ยงต่อการถล่มลงมา เพราะอาจได้รับอันตรายได้ ที่สำคัญ อย่าหลงเชื่อข่าวลือ ควรติดตามรับฟังประกาศแจ้งเตือนภัยจากหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น

 

          จะ เห็นได้ว่า แม้แผ่นดินไหวจะเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มนุษย์ไม่สามารถคาดการณ์ระยะ เวลาการเกิด และสถานที่เกิดได้ แต่การเตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหวเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความรุนแรงและ ความสูญเสีย ดังนั้น ทุกคนจึงควรศึกษาและเรียนรู้วิธีการป้องกันภัยจากแผ่นดินไหว เพื่อเตรียมพร้อม

รับสถานการณ์แผ่นดินไหวที่ อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

 

          ต้องตระหนักอยู่เสมอว่าภัยพิบัติเป็นเรื่องใกล้ตัว โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหว ต้องตั้งสติให้มั่น ปฏิบัติตามคำแนะนำในข้างต้นอย่างเคร่งครัด จะช่วยลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินได้ในระดับหนึ่ง 

ที่มา : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

 

           สังเกตลางร้ายธรณีพิบัติ

 

          ที่ผ่านมา หลายประเทศ มีความพยายามศึกษา ค้นคว้า ทำความเข้าใจถึงกลไกการเกิดแผ่น ดินไหว เพื่อการพยากรณ์ล่วงหน้า แต่ยังไม่ ประสบ ความสำเร็จ ทำให้ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถพยากรณ์การเกิดแผ่นดินไหวได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่ง ขนาด และช่วงเวลาการเกิด แต่ก็มักมีการสันนิษฐานกันว่า หากสัตว์มีพฤติกรรมที่ผิดปกติ ถือเป็นสัญญาณเตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้าได้ เช่น...แมลงสาบ สุนัข เป็ด ไก่ หมู หมี ตื่นตระหนกตกใจ หนู งู หนีตายออกมาจากรู หรือปลากระโดดขึ้นจากผิวน้ำ

 

            นอกจากนี้ การเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กๆ ในบริเวณเดียวกันหลายสิบครั้ง หรือหลายร้อยครั้งในระยะเวลาอันสั้น อาจเป็นสิ่งบอกเหตุได้ว่าจะเกิดเหตุธรณีพิบัติตามมาได้ในไม่ช้า หรือในบางพื้นที่ ที่เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอดีต สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าว่าอาจเกิดแผ่นดิน ไหวขนาดเท่าเทียมกันในอนาคตได้ หากบริเวณนั้นว่างเว้นช่วงเวลาการเกิดแผ่นดินไหวเป็นระยะ เวลายาวนานหลายสิบปี หรือ หลายร้อยปี ยิ่งมีการสะสมพลังงานที่เปลือกโลกในระยะ เวลายาว นานเท่าใด การเคลื่อนตัวโดยฉับพลันเป็นแผ่นดินไหว ก็จะยิ่งรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

 

            เปิดตำรา"รับมือแผ่นดินไหว"

 

          ทั้งนี้ในคู่มือ "รับมือแผ่นดินไหว" ที่จัดทำโดย กรุงเทพมหานคร ได้แนะนำวิธีเตรียมรับมือแผ่นดินไหว เช่น ต้องเตรียมไฟฉาย นกหวีด กระเป๋ายาประจำบ้าน น้ำดื่ม อาหารสำเร็จรูป เครื่องนอนสนาม พร้อมเสื้อผ้า 2-3 ชุด ไว้ในบ้านในจุดที่หยิบฉวยได้ง่าย เพื่อเตรียมพร้อมยามฉุกเฉิน อย่าวางสิ่ง ของที่แตกหักง่าย เช่น เครื่องแก้ว สิ่งของหนัก ๆ บนหิ้งหรือชั้นสูง ๆ ควรวางไว้ชั้นต่ำสุด ตรึงเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ติดโครงสร้างอาคาร ติดเครื่องดับเพลิงไว้ประจำจุดเสี่ยง ซักซ้อมสมาชิกในครอบครัวเพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติเมื่อเกิดแผ่นดินไหว และจุดนัดพบที่ปลอดภัยนอกบ้าน อยู่ห่างจากบริเวณที่อาจมีวัสดุหล่นใส่ หลบลงใต้โต๊ะหรือมุมห้อง ถ้าอยู่ในที่โล่งแจ้งให้อยู่ห่างจากป้ายโฆษณา เสาไฟ อาคาร และต้นไม้ใหญ่ ระวังเศษอิฐ กระจกแตก และชิ้นส่วนอาคารหล่นใส่

 

          สำหรับผู้อยู่ตึกสูง ถ้าอาคารมั่นคงแข็งแรงให้หลบในอาคารนั้น ถ้าอาคารเก่าไม่มั่นคงแข็งแรงให้หลบออกจากอาคารเร็วที่สุด หลังการสั่นสะเทือนให้รีบออกจากอาคาร ถ้าไม่อยู่ใกล้ทางออกให้หมอบลงกับพื้น หาทางหลบใต้โต๊ะหรือมุมห้อง ป้องกันตนเองโดยใช้แขนปกป้องศีรษะและคอ ยึดเกาะโต๊ะให้แน่นและเคลื่อนตัวไปพร้อมโต๊ะ รอจนความสั่นไหวหยุดลง หรือปลอดภัยแล้วจึงไปหาที่ปลอดภัย ห้ามใช้ ลิฟต์เด็ดขาด หลังเกิดแผ่นดินไหว รีบออกจากอาคารที่เสียหาย ตรวจสายไฟ ท่อน้ำ ท่อแก๊ส ถ้าแก๊สรั่ว ให้ปิดวาล์วถังแก๊ส เปิดประตูทุกบานระบาย ยกสะพานไฟ อย่าจุดไม้ขีดไฟหรือก่อไฟออกจากที่สาย ไฟขาด หรือสายไฟพาดถึง อย่าเป็นไทยมุงเข้าไปในเขตที่เสียหาย หรือปรักหักพัง ฯ

          ภัยธรรมชาติ เป็นสิ่งที่มนุษย์ตัวเล็กๆ มิอาจเอาชนะสิ่งที่พึ่งกระทำคือการเฝ้าระวังและเตรียมตัวให้พร้อมที่สุด ก่อนที่พิบัติภัยจะมาถึงตัว

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า


หมายเลขบันทึก: 365909เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2010 07:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 23:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

 

คุณควรทำตัวอย่างไร ขณะเกิดแผ่นดินไหว?

เมื่อเกิดแผ่นดินไหว คุณควรตั้งสติไว้ให้ดี อย่าตกใจ และพยายามปลอบคนข้างเคียงให้อยู่ในความสงบ

ส่วนควรจะทำตัวอย่างไรให้เหมาะสม ก็แล้วแต่ว่าคุณอยู่ที่ไหน เช่น

  • ถ้าคุณอยู่ในอาคาร : ให้ระวังสิ่งของที่อยู่สูงจะตกใส่ศีรษะ เช่น โคมไฟ ชิ้นส่วนของอาคาร เศษอิฐเศษปูนที่แตกออกจากเพดาน และระวังตูหนังสือ ตู้โชว์ ชั้นวางของ โต๊ะ ทีวี ตู้เย็น และเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ จะเลื่อนมาชนหรือล้มทับ คุณควรพยายามอยู่ห่างหน้าต่าง ประตู และกระจก

 

 

ถ้า การสั่นไหวรุนแรง ก็ควรหลบอยู่ใต้โต๊ะ ใต้เตียง หรือมุมห้อง ซึ่งห่างจากหน้าต่าง อย่าวิ่งออกมานอกอาคาร

  • ถ้าคุณอยู่ในอาคารสูง : ให้หลบอยู่ใต้โต๊ะ อย่าวิ่งลงทางออกฉุกเฉิน เพราะบันไดอาจจะหักไปแล้ว หรือมีคนจำนวนมากแย่งกันลง

ที่ สำคัญคืออย่าใช้ลิฟต์ เพราะลิฟต์อาจจะเสีย เนื่องจากไฟฟ้าดับ หรืออุปกรณ์บางส่วนได้รับความเสียหาย

  • ถ้าคุณอยู่ในห้างสรรพสินค้าที่มีคนจำนวนมาก : อย่าแย่งกันออกจากอาคาร เพราะคนจำนวนมากจะมีความคิดอย่างเดียวกัน คือ รีบหนีออกจากอาคาร

แต่หากเกิดไฟไหม้ หรืออาคารพัง ให้หาทางออกที่สะดวกและปลอดภัยที่สุด

 

  • ถ้าคุณอยู่นอกอาคาร : ควรอยู่ในที่โล่งแจ้ง ห่างจากอาคารสูง กำแพง เสาไฟฟ้า และสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่อาจจะโค่นล้มลงมาได้ อย่าวิ่งไปตามถนน


        แต่ถ้าคุณอยู่ในรถ ให้หยุดรถในที่ปลอดภัย (ไม่มีสิ่งใดที่ล้มลงมาทับ) และอยู่ภายในรถจนกระทั่งการสั่นสะเทือนหยุดลง

        อย่าจอดรถใต้สะพาน ต้นไม้ เสาไฟ หรืออะไรก็ตามที่อาจล้มทับใส่รถของคุณ

  • ถ้าคุณอยู่ในเขตภูเขา : ให้ระวังก้อนหินและดินถล่ม รวมทั้งต้นไม้ซึ่งอาจล้มลงมาทำอันตรายได้

  • ถ้าคุณอยู่ใกล้ชายทะเล และแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในทะเล : ให้ออกจากชายฝั่ง เพราะอาจมีคลื่นยักษ์สึนามิซัดเข้าหาฝั่งได้

 

 



คุณควรทำตัวอย่างไร หลังเกิดแผ่นดินไหว?


หลังจากนาทีวิกฤติแล้ว คุณควรปฏิบัติตนดังนี้

  • ออก สำรวจโดยรอบ เพื่อสำรวจดูว่ามีใครได้รับบาดเจ็บบ้างหรือไม่ ถ้ามีคนที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส ก็อย่ารีบเคลื่อนย้าย (นอกจากจำเป็นต้องหนีภัยฉุกเฉิน)
  • ระวัง สิ่งต่อไปนี้เป็นพิเศษ ได้แก่
    • เศษวัสดุมีคม : คุณควรสวมถุงมือ หรือรองเท้าเพื่อป้องกันเศษวัสดุมีคมต่างๆ เช่น เศษแก้ว
    • สายไฟ : อยู่ห่างจากบริเวณที่สายไฟขาดและวัตถุที่สายไฟพาดถึง
    • ท่อแก๊ส : หากแก๊สรั่ว ก็ต้องปิดถังแก๊ส และอย่าจุดไฟจนกว่าจะมั่นใจว่าไม่มีแก๊สรั่ว
    • สารเคมี : หากบริเวณไหนมีสารเคมี (เช่น ยาฆ่าแมลง) หกเลอะเทอะอยู่ ก็ควรทำความสะอาดให้เรียบร้อย
    • อาหาร & เครื่องดื่ม : หากไม่มีฝาปิดมิดชิด ก็ไม่ควรนำมารับประทาน เนื่องจากอาจมีเศษวัสดุตกลงไปปะปนได้
  • อย่าเป็น ‘ไทยมุง’ หรือเข้าไปในอาคารหรือบริเวณที่มีความเสียหายมาก ๆ
  • เตรียมตัวเตรียมใจกับแผ่นดินไหวตาม (aftershock - อาฟเตอร์ช็อค) ที่อาจเกิดขึ้นอีกหลังจากนั้น
  • อย่าปล่อยข่าวลือซ้ำเติม เหตุการณ์ (เช่น ข่าวลือที่ว่าเขื่อนแตก ดังเช่นที่เคยปรากฏมาแล้ว)

 

ที่มาข้อมูล http://gotoknow.org/blog/science/92203


                                  ดาวน์โหลด 

กฎความ ปลอดภัยจากแผ่นดินไหว สำหรับผู้อาศัยอยู่ในอาคารสูง

  ของ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมป์

            เพื่อนำไปพิมพ์ติดไว้ในอาคารของคุณ

 

ดีจังครับพี่ เป็นการเตรียมที่ดีมากเลยครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท