โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

ชีวิตกับการป่วยไข้


อาการป่วยไข้เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ปรารถนา “ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น” ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วไม่เคยมีใครที่ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยเลยแม้สักคนเดียว

ชีวิตกับการป่วยไข้

โสภณ  เปียสนิท

 

 

                วันเสาร์ที่ 4 ตุลาคม 2546 ผมตื่นขึ้นมาตอนเช้าด้วยอาการปวดศีรษะทั้งที่เมื่อคืนวันที่ 3 ที่ผ่านมาผมเข้านอนราวเที่ยงคืนด้วยอาการปกติ พยายามใคร่คราญหาสาเหตุแห่งการปวดศีรษะ แต่ก็ไม่มีสิ่งใดผิดปกติ จะว่านอนดึก ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะทุกคืนผมมักเข้านอนตามเวลานี้ สิ่งอื่นที่ผิดปกติอันเป็นสาเหตุแห่งการป่วยไข้ก็ยังมองไม่เห็น แปลกจัง คนเราอยู่ดี ๆ เกิดเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาได้

                ผมมีภารกิจประจำในทุก ๆ วันเสาร์คือต้องพาครอบครัวไปทำบุญที่วัด ระหว่างที่ผมนอนซมเพราะอาการปวดศีรษะ แม่บ้านของผมจัดแจงอาหารคาวหวานสำหรับถวายพระเสร็จเรียบร้อยแล้ว ลูกสาววัยเกือบสี่ขวบ วิ่งมาเขย่าปลุกผมให้ลุกขึ้นเตรียมตัวพากันไปทำบุญ แล้วผมจะทำอย่างไร

                ไม่มีทางเลือก ผมตัดสินใจข่มความป่วยไข้ล้างหน้าแปรงฟัน ทำทีเหมือนว่าไม่เป็นอะไรมากนัก ในใจนึกภาวนาว่า ขอให้อาการไข้ทุเลาลงสักเล็กน้อยพอให้เดินทางไปถึงวัดเสียก่อนแล้วจะเจ็บป่วยใหม่ก็ไม่ว่ากัน  แม้ว่าระหว่างทาง ผมขับมอเตอร์ไซด์ไป พร้อมกับมีอาการปวดศีรษะเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปตลอดทาง แต่ก็ถึงวัดด้วยความปลอดภัย

                ตามปกติ หลังจากถวายภัตตาหารพระสงฆ์แล้ว ผมและครอบครัวมักพากันมานั่งที่ศาลา อ่านหนังสือบ้าง คุยกันผู้ใจบุญอื่น ๆ บ้าง บางทีมีโอกาสได้สนทนาธรรมกับหลวงพ่อเจ้าอาวาส ส่วนมากผมจะทำตัวเป็นศิษย์วัด รับประทานอาหารที่พระสงฆ์มอบให้ตามนิสัยของคนเคยอาศัยวัดมายาวนาน

                วันนี้ผมรู้สึกมึนศีรษะวิงเวียนจนต้องล้มตัวลงนอนตะแคงบนศาลา หวังว่าจะช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนลงได้บ้าง แต่ไม่สมหวังครับ อาการมึนงงวิงเวียนยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอนได้พักเดียว อาการไข้รุมเร้าจนผมลุกขึ้นมาอาเจียรน้ำเปล่าที่เพิ่งจะดื่มเข้าไปออกมาหมด

                ผมลุกขึ้นนั่งพนมมือไหว้แสดงอาการเคารพหลวงพ่อเจ้าอาวาส เมื่อท่านเดินลงมาที่ศาลารับแขก หลังเสร็จภัตกิจแล้ว สนทนาธรรมกับท่านได้สักครู่อาการอาเจียรก็กำเริบอีกครั้ง “หมอหน่อย” นักแสวงบุญที่มักจะมาทำบุญในวันเสาร์อาทิตย์เป็นประจำ เห็นอาการค่อนข้างแย่ของผมเข้า จึงให้ความอนุเคราะห์จ่ายยาให้ผมหนึ่งชุด แหม สอดคล้องกับกวีพระราชนิพนธ์แปลของล้นเกล้ารัชกาลที่6 ที่ว่า “อันความกรุณาปรานี จะมีใครบังคับก็หาไม่ หลั่งมาเองดั่งน้ำฝนอันชื่นใจ จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน”

                อีกครั้งที่ผมต้องข่มความรู้สึกวิงเวียนขับรถพาครอบครัวกลับบ้าน หลังเสร็จภารกิจการทำบุญ ระหว่างทาง แม้ว่าจะมีอาการวิงเวียนอยู่บ้างแต่ไม่มากจนเกินทน ถึงบ้านพักราชมงคล (เขต 3 เขาพิทักษ์) ผมนอนลงต่อสู้กับอาการเสียดแทงของโรคอย่างใจเย็น และยอมรับชะตากรรมด้วยความเข้าใจว่า “ชีวิตก็เป็นเช่นนี้”

                อาการป่วยไข้เป็นเรื่องปกติของชีวิต เหมือนที่เกิดขึ้นกับผมในวันนี้ หากคิดให้ดีจะเห็นว่า ทุกคนเป็นเช่นเดียวกัน แต่คนเราโดยทั่วไปมักมองผ่านสิ่งเหล่านี้โดยไม่สะดุดใจ เห็นแล้วก็เท่านั้น ถ้าอาการป่วยไข้เช่นนี้เกิดขึ้นกับบุคคลที่เป็นญาติหรือคนใกล้ชิด อาจทำให้เกิดความวิตกกังวลห่วงใย ทุกข์ร้อนใจ มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ ผู้ที่ป่วยไข้เป็นที่รักมากหรือน้อยเพียงใด รักและห่วงใยมากก็ทุกข์มาก รักและห่วงใยน้อยก็ทุกข์น้อย ดังคำสอนที่ว่า “ความทุกข์เกิดจากของที่รัก”

                อาการป่วยไข้เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ปรารถนา “ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น” ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วไม่เคยมีใครที่ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยเลยแม้สักคนเดียว นับแต่มีมนุษย์คนแรกเกิดขึ้นบนโลก เอ๊ะ ห้ามถามนะครับว่า มนุษย์คนแรกที่แกว่านั้นเกิดขึ้นเมื่อใด เพราะผมจะตอบว่า “ไม่ทราบ” โธ่ ใครจะทราบได้เล่าครับ

                แต่มีเรื่องเล่าไว้ในพระไตรปิฎก อัคคัญสูตร สามัญผลว่า หลังจากที่โลกพินาศไปหมดสิ้นเพราะกรรมของมนุษย์ โลกนี้เกิดขึ้นอีกครั้งจากการรวมตัวกันของเทหะวัตถุในอาวกาศ หรือหมอกเพลิง (Nebular) โดยกาลผ่านไปนับล้าน ๆ ปี เมื่อภายนอกหรือเปลือกผิวของกลุ่มหมอกเพลิงนั้นเริ่มเย็นลง และเป็นที่รวมของน้ำโดยส่วนมาก มีพรหมประเภทหนึ่งเรียกว่า อาภัสสระพรหม แปลว่า ผู้มีแสงสว่างในตัวเอง (มีทั้งองค์นะครับไม่ใช่มีเฉพาะตรงก้นเหมือนหิ่งห้อย) ล่องลอยผ่านไปมาในอากาศ นานเข้าเห็นว่าเหนือแผ่นน้ำมีง้วนดิน (ฝ่าที่จับบนผิวน้ำมีรสชาติดี เขาว่ากันนะครับ ผมไม่เคยชิม) เกิดขึ้น จึงได้ทดลองชิมดู และติดใจในรสชาติเข้า เกิดกิเลสตัณหากำเริบขึ้น ร่างกายหนักขึ้น แสงสว่างค่อย ๆ หมดไป ร่างกายค่อย ๆ หยาบขึ้น เพราะอำนาจของกิเลส ในที่สุดจึงกลายเป็นมนุษย์รุ่นแรกในโลก อันนี้ผมไม่ได้ว่าเองนะครับ เท็จจริงว่ากันตามคัมภีร์

                ตามหลักฐานดังที่ว่ามา คนเราจึงเป็นผลิตผลจาก “กิเลสตัณหา” ชีวิตนี้จึงมีแต่ทุกข์ (ซึ่งอาจหมายถึงความเปลี่ยนแปลงได้ด้วย) แต่ที่เรารู้สึกสุขนั้นเพราะทุกข์ลดลง คล้าย ๆ กับคำว่า “โลกนี้ไม่มีความเย็น ที่เรารู้สึกเย็น เพราะอุณหภูมิลดลง”

                ที่เขียนมาดังนี้อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่า ทัศนคติเช่นนี้เป็นเรื่องของคนที่มองโลกในแง่ร้าย (pessimism) นะครับ นักปราชญ์ชาวพุทธให้เรียกว่า เป็นการมองโลกในแง่ของความเป็นจริง (realism) และชาวพุทธเรียนรู้เรื่องของความทุกข์เพื่อการกำหนดรู้ ไม่ใช่เพื่อการต่อสู้หรือการหนี ให้มองทุกข์เป็นเรื่องธรรมดาของโลก

                คำว่า “โรค” แปลว่า “ความเสียดแทง” นี่แปลตามภาษาวัดนะครับ ไม่เชื่อถามพระท่านดู ใครก็ตามมีโรคหมายถึงว่าผู้นั้น “มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเสียดแทง” อยู่ และที่คนเราจำเป็นต้องรู้คือ “ร่างกายของเรานี่คือรังของโรค” หมายถึงว่าตราบใดก็ตามที่ยังมีร่างกายอยู่ คนเราไม่อาจหนีพ้นความเป็นโรคไปได้ ช้าหรือเร็ว มากหรือน้อยเท่านั้นที่ต่างกัน

                เมื่อเล็กร่างกายยังมีความแข็งแรง โรคเหมือนว่าจะมีอยู่ไม่มากนัก เมื่อสูงอายุขึ้นทุกวันดูเหมือนว่าโรคค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้น เป็นโรคได้ง่ายขึ้น เป็นโรคแต่ละที ใช้เวลานานยิ่งขึ้นกว่าจะรักษาให้หายไปได้ ถึงที่สุดแล้ว ร่างกายนี้จะค่อย ๆ อ่อนแอลงจนไม่อาจต้านทานโรคต่าง ๆ ที่รุมล้อมอยู่ได้ วิญญาณจะค่อย ๆ แยกออกจากร่างกายที่ชราและสะบักสะบอมจากโรคนานาชนิด

                ใช่ ที่สุดของ โรค คือความตาย ไม่เกินไปกว่านี้ แต่ความตายใช่ที่สุดของชีวิตโดยสิ้นเชิงหรือไม่  ยังเป็นอีกคำถามหนึ่งที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

                เมื่อร่างกายทนต่อการเสียดแทงของโรคไม่ได้วิญญาณออกจากร่างไป ลมหายใจสิ้นสุดลง ธาตุไฟคือความอบอุ่นในร่างกายค่อยหมดไป เย็นชืดตลอดร่าง ไม่นานนักธาตุน้ำแตกออกเพราะไม่อาจควบคุมได้อีกต่อไป ท้ายสุด ธาตุดินคือส่วนที่เป็นของแข็งในร่างกายเช่น กระดูก ฟัน ผม เล็บ ค่อย ๆ ย่อยสลายไป

                วิญญาณไปไหน? ตอบตามหลักว่า ไปตามกรรม กรรมดีคือ “ทาน ศีล ภาวนา” ทำให้ใจเบา ใสสะอาด สว่างไปสู่สุขคติภูมิ เทวดา พรหม นิพพาน ส่วนกรรมไม่ดี ชักพาวิญญาณหนัก ดำ เศร้าหมอง ไปสู่ทุกข์คติภูมิ เปรด อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน นรก

                พูดถึงความตายใคร ๆ ก็กลัว ผมเองก็กลัวเหมือนคนอื่น ๆ แม้แต่จะเอ่ยคำนี้ขึ้นมาคนทั่วไปมักถือว่าเป็นคำอัปมงคล เหตุใดหลักคำสอนในพุทธศาสนาจึงเน้นย้ำให้ศาสนิกชนคำนึงถึงความตายไว้โดยสม่ำเสมอ หรือที่เรียกด้วยคำศัพท์ทางวัดว่า “มรณานุสติ” ถือความตายเป็นอารมณ์ เพราะคนที่ถือความตายเป็นอารมณ์มักไม่ประมาทในการดำรงชีวิตครับ

               

หมายเลขบันทึก: 363860เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2010 22:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ตุลาคม 2012 08:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

สวัสดีค่ะ

มูนเคยได้ยินว่า  เมื่อเราได้ทำบุญ สร้างกุศลใดๆ  ก็ให้แผ่เมตตา และส่วนบุญ ให้ร่างกายของเราเองด้วยค่ะ  ขอพรพระคุ้มครองให้ท่านมีความสุข มีสุขภาพแข็งแรงนะคะ 

อะหัง สุขิโต โหมิ ขอให้ข้าพเจ้า จงมีความสุข
อะหัง นิททุกโข โหมิ ขอให้ข้าพเจ้า จงปราศจากความทุกข์
อะหัง อะเวโร โหมิ ขอให้ข้าพเจ้า จงปราศจากเวร
อะหัง อัพยาปัชโฌ โหมิ ขอให้ข้าพเจ้า จงปราศจากความลำบาก
อะหัง อะนีโฆ โหมิ ขอให้ข้าพเจ้า จงปราศจากอุปสรรค
สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิ ขอให้ข้าพเจ้า จงมีความสุขกายสุขใจ
รักษาตนของตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งหลายทั้งสิ้น
และอยู่เย็นเป็นสุขเถิด

ขอบคุณครับ ขอให้ได้บุญเยอะๆนะครับ

เกิดแก่เจ็บตาย....เหมือนเทียนแท่งเดียวกันจากต้นถึงปลาย

  • ได้เวลาฝึก....อีกแล้วค่ะครู

 

Ico32เรียนคุณอุ้มบุญครับ

ขยันมาตามหาถึงที่นี่เลยนะนี่ 

การป่วยไข้เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต ความตายเป็นส่วนหนึ่งของการเกิด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท