เอฟทีเอในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐ
สหรัฐฯเริ่มทำ FTA กับอิสราเอลเป็นประเทศแรกในปี 2528 จากนั้นได้ทยอยทำ FTA กับอีก 13 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา เม็กซิโก จอร์แดน ชิลี สิงคโปร์ ออสเตรเลีย โมรอคโค เอลซัลวาดอร์ นิการากัว ฮอนดูรัส บาห์เรน โดมินิกัน และคอสตาริก้า อีก 3 ความตกลงอยู่ในระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา ได้แก่ โอมาน เปรูและโคลัมเบีย และกำลังเจรจากับอีก 11 ประเทศ เช่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และไทย รวมถึงกำลังสถาปนาเขตและอเมริกาใต้ และนอกจากนี้สหรัฐฯยังสนใจทำ FTA กับสมาชิกกลุ่มอาเซียนทั้ง 10 ประเทศด้วย
เหตุผลที่สหรัฐฯทำ FTA ก็เช่นเดียวกับหลายประเทศ คือ การเจรจาในกรอบองค์การการค้าโลก (WTO) มีความล่าช้า สหรัฐฯยังใช้ FTA ด้วยเหตุผลทางการเมืองด้วย เช่น กรณีการทำ FTA กับอิสราเอล FTA กับกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง
ไทยควรจัดตั้งเขตการค้าเสรีร่วมกับสหรัฐหรือไม่
สหรัฐฯ เป็นหนึ่งในคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของไทย และเป็นประเทศที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงที่สุดในโลก กล่าวคือ 1, 250 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การทำ FTA จะช่วยให้ไทยรักษาส่วนแบ่งตลาดเดิม และขยายตลาดสำหรับสินค้าที่มีศักยภาพในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทย มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ของมูลค่าสินค้าส่งออกของไทยทั้งหมด (ประมาณ 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) นอกจากนั้น การที่สหรัฐฯ กำลังทำ FTA กับหลายประเทศ ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในตลาดสหรัฐฯ หากไทยไม่ทำ FTA กับสหรัฐฯ ไทยก็อาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาดสินค้าไทยให้ประเทศคู่แข่งเหล่านี้ FTA กับสหรัฐฯ จะครอบคลุมทุกประเด็น ไม่จำกัดแต่เพียงเรื่องการลดภาษีนำเข้า แต่รวมถึงการขจัดหรือลดอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) และการแก้ปัญหามาตรฐานสุขอนามัย พืชและสัตว์ (SPS) และยังรวมถึงความร่วมมือด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถของ SMEs ไทย และความร่วมมือด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมการผลิตของไทยมีความพร้อมที่จะเข้าสู่ตลาด
พิจารณาในแง่ผลกระทบต่อสินค้าด้านการเกษตร
หากพิจารณาสินค้าเกษตรหลักๆ ที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ เช่น เนื้อสัตว์ พืชผัก ผลไม้ น้ำตาล จะเห็นว่า ล้วนแต่ถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงทั้งสิ้น กล่าวคือ ผักและผลไม้ สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีกว่า100 % สับปะรดประมาณ 30 % น้ำตาล สหรัฐฯ เก็บภาษีมากกว่า 100 % จากสินค้านอกโควตา และจะเห็นได้ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปสู่สหรัฐสูงเป็นอันดับ 2รองจาก ญี่ปุ่น แต่ในขณะเดียวกันไทยก็นำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐมากกว่าจากประเทศอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตามในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามูลค่าการค้าสินค้าเกษตรระหว่างทั้ง 2 ประเทศมีแนวโน้มผันผวนมาก กล่าวคือ สินค้าส่งออกของไทยไม่สามารถรักษาส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐได้ และในขณะที่สินค้าส่งออกจากสหรัฐก็ไม่สามารถรักษาส่วนแบ่งในตลาดไทยได้เช่นเดียวกัน ปรากฎการณ์นี้เกิดจากสาเหตุหลายประการ โดยส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการกีดกันด้านการค้า ซึ่งการทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างทั้งสองประเทศอาจช่วยลดอุปสรรคดังกล่าวได้
ประโยชน์ที่เราจะได้รับอย่างค่อนข้างแน่นอน คือ ทางด้านการลด หรือการยกเลิกภาษี สินค้านอกจากประโยชน์ทางด้านภาษีแล้ว ไทยยังจะได้ประโยชน์ทางด้านมาตรการสุขอนามัย (SPS) จาก FTA อีกด้วย ซึ่ง SPS นี้เป็นอุปสรรคที่สำคัญมากของสินค้าเกษตรไทยในตลาดสหรัฐฯ อาจจะถือได้ว่ามีผลต่อการส่งออกของไทยมากกว่าเรื่องภาษีด้วยซ้ำ โดยปัจจุบันสินค้าเกษตรของไทยที่ประสบปัญหาด้านสุขอนามัย เช่น ผลไม้ ได้แก่ มังคุด มะม่วง ลำไย ลิ้นจี่ สับปะรด และยังมีไก่ปรุงสุก FTA จะเป็นโอกาสให้สหรัฐฯ พร้อมดำเนินการเร่งรัดให้สินค้าไทยเหล่านี้เข้าตลาดสหรัฐฯ ได้สะดวกขึ้น โดยภายใต้ FTA จะมีการจัดตั้งกลไกในการร่วมมือด้าน SPS เพื่อแก้ปัญหา SPS / food safety ระหว่างกัน / การจัดทำความตกลงการยอมรับมาตรฐานระหว่างกัน (MRA) ตลอดจนในการจัดทำ capacity building ส่วนที่เกรงกันว่า สินค้าเกษตรสหรัฐฯ จะเข้ามาตีตลาดไทยนั้น โดยที่สินค้าเกษตรของสหรัฐฯ เป็นสินค้าในเขตอบอุ่น จึงไม่น่าจะเป็นคู่แข่งของไทยซึ่งปลูกผลผลิตเมืองร้อน นอกจากนี้ ก่อนไทยเปิดตลาดให้กับสหรัฐฯ ไทยได้เปิดตลาดสินค้าเหล่านี้ให้กับประเทศที่มีโครงสร้างการผลิตสินค้าเช่นเดียวกับสหรัฐฯ เช่น ออสเตรเลียแล้ว จึงไม่น่าจะกระทบสินค้าเกษตรไทย
แม้ความตกลงการค้าเสรีไทย–สหรัฐจะช่วยเพิ่มปริมาณการค้าและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้บริโภคและผู้ผลิตที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบ แต่ก็อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อเกษตรกรจำนวนมาก โดยเฉพาะเกษตรกรที่ผลิตสินค้าที่แข่งขันกับสินค้าส่งออกของสหรัฐ เช่น ไก่ และผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปบางรายการ รัฐบาลไทยจึงควรเร่งปรับโครงสร้างภาษีและกระบวนการศุลกากร เพื่อให้สินค้าไทยมีต้นทุนวัตถุดิบลดลง และเร่งเพิ่มผลิตภาพในภาคเกษตร ตลอดจนช่วยเหลือให้เกษตรกรรายย่อยสามารถปรับตัวได้
ในการเจรจา รัฐบาลไทยควรให้ความสนใจกับการต่อรองเพื่อรักษาผลประโยชน์จากการส่งออกสินค้าสำคัญของไทย เช่นในเรื่องโควต้าน้ำตาล การตรวจสินค้าตามมาตรการด้านสุขอนามัย และการลดมาตรการกีดกันด้านอื่นๆ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยควรมุ่งลดผลกระทบด้านลบต่อเกษตรกรไทย เช่น การชะลอการลดอัตราภาษี การแก้ปัญหาเรื่องการอุดหนุนการส่งออก ตลอดจนปรับปรุงมาตรการคุ้มครองการค้า (safeguards) ต่างๆ ให้มีประสิทธิผล
ที่มา www.ftawatch.org